Skip to main content

หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 

แต่อย่างที่อาจารย์และสังคมไทยทราบดี ว่าในทางการเมือง ผมมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับอาจารย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่การเดินขบวนของ กปปส. และมวลชนที่สนับสนุนแนวทางเดียวกัน อาจารย์คงไม่ได้ใส่ใจอะไรกับข้อวิจารณ์ของผมมากนัก มาจนวันนี้ ในโอกาสที่อาจารย์พูดได้มากกว่าผม แต่ผมก็ยังไม่เห็นว่าอาจารย์ได้สนใจข้อท้วงติงที่ผ่านมาของผมเลย เพราะดูเหมือนอาจารย์จะยังคงสนับสนุนทิศทางของประเทศที่ไปคนละทิศกับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน 

เอาล่ะ ผมจะไม่อ้อมค้อม ผมขอวิจารณ์ข้อเสนอของอาจารย์ในปาฐกถามเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาตามข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/95994) อย่างตรงมาว่า นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่อาจารย์ใช้วิชาชีพมานุษยวิทยาในการผลักให้สังคมไทยไม่เพียงหันเหออกไปจากเส้นทางของประชาธิปไตย แต่ยังต้องตกไปสู่หุบเหวของอำนาจเผด็จการทหาร นี่เป็นอีกครั้งที่อาจารย์ไม่ได้ใช้โอกาสที่อาจารย์มีมากกว่าหลาย ๆ คน ช่วยเตือนสติผู้มีอำนาจให้เคารพอำนาจของประชาชน เคารพบุญคุณที่ประชาชนเลี้ยงดูเขามา 

ในข้อสรุปตามข่าว แม้ว่าอาจารย์จะเสนอปัญหาข้อสำคัญของสังคมไทยว่าเป็นปัญหาเรื่องความอยุติธรรม แต่อาจารย์ก็โยนความผิดให้นักการเมืองฝ่ายเดียว ส่วนกับข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการทหาร แม้แต่จะกล่าวถึงความฉ้อฉลของทหารในอดีต มาบัดนี้อาจารย์ก็ยังไม่กล้า ส่วนความฉ้อฉลของทหารในปัจจุบันเล่า ผมคงไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องบัดสีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งผู้คนในครอบครัวรับตำแหน่ง การเข้าไปรับตำแหน่งกรรมการบริหารองค์กรต่าง ๆ หรือเรื่องด่างพร้อยที่หาทางกลบเกลื่อนกันไปอย่างหน้าด้าน ๆ แต่ผมจะกล่าวถึงเฉพาะเรื่องที่เห็นตำตาว่าเลวร้าย แต่อาจารย์ก็หลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึง 

อาจารย์ครับ อาจารย์เชื่ออย่างนั้นจริง ๆ หรือว่าระบบอุปถัมภ์ของชาวบ้านและนักการเมืองเป็นปัญหาสำคัญจนถูกมองว่าเป็นต้นตอของการซื้อเสียง เอาล่ะ นั่นก็เป็นปัญหาสำคัญแน่ ๆ แต่ปัญหาตำตาขณะนี้มีอะไรทำไมอาจารย์ไม่กล่าวถึง แล้วการอุปถัมภ์ในวงราชการล่ะ การสร้างระบบอุปถัมภ์ให้ข้าราชการกลายเป็นผู้อุปถัมภ์ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเป็นเบี้ยล่างล่ะ เป็นปัญหาไหม แล้วที่เราระบบการบริหารประเทศ กระบวนการยุติธรรม ระบบการออกกฎหมายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร มันไม่ใช่การหวนกลับไปสร้างระบบอุปถัมภ์ที่มีข้าราชการอยู่บนยอดของการเป็นผู้อุปถัมภ์หรอกหรือ  

นอกจากนั้น ผมคงไม่ต้องยกชื่องานและไล่เรียงทบทวนวรรณกรรมทางวิชาการในระยะเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาจำนวนมากให้อาจารย์อ่านนะครับว่ามีงานของใครบ้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งผมเอง ที่ศึกษาแล้วเสนอว่า ก่อนการรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมานั้นระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว ระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นลดทอนพลังลงไปมากแล้ว การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชน ชาวบ้านเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว อาจารย์ไม่คิดว่าข้อเสนอเหล่าน้ีเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่จะต้องมาพิจารณากันหรอกหรือ  

อาจารย์ครับ มวลชนที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านนักการเมืองน่ะ ไม่ได้มีแต่ฝ่ายที่อาจารย์เห็นอกเห็นใจเท่านั้นหรอกนะครับ มวลชนที่เขาตื่นรู้แล้วลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบบอุปถัมภ์ที่มีข้าราชการประจำอยู่บนยอดสุดน่ะ ก็มีไม่น้อยหรืออาจจะมากกว่ามวลชนที่สนับสนุนอำนาจอุปถัมภ์ของข้าราชการด้วยซ้ำ นั่นย่อมแสดงว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยไม่ได้มีเฉพาะการลดทอนพลังลงของระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่น แต่ยังมีการต่อต้านท้าทายระบบอุปถัมภ์ที่เคยอยู่ในอำนาจของข้าราชการประจำด้วย  

อาจารย์ไม่คิดว่ามวลชนที่เรียกร้องให้มีการรัฐประหารคือมวลชนที่ฟื้นฟูระบบอุปถัมภ์ของข้าราชการประจำเหรอครับ แล้วข้อเรียกร้องที่มีแนวโน้มค้ำจุนอำนาจทหารแบบของอาจารย์ล่ะ จะไม่กลับไปเรียกอำนาจที่อาจารย์เคยท้าทายให้กลับมาครอบงำประเทศอีกหรอกหรือ หรือเพราะขณะนี้อาจารย์เข้าไปอยู่บนยอดของระบบอุปถัมภ์นี้ด้วยแล้ว ก็เลยเลิกคิดจะท้าทายมันแล้ว 

เอาล่ะ ถ้าจะเข้าประเด็นใหญ่ของอาจารย์ว่า ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือปัญหาเรื่องความอยุติธรรม แต่ความอยุติธรรมน่ะแสดงออกแค่ในเรื่องการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม อย่างคนจนติดคุก กับเรื่องการมองว่าชาวบ้านเป็นปัญหา อย่างเรื่องการจัดระเบียบปากคลองตลาด แค่นั้นเหรอครับ  

ผมว่าข้อเสนอของอาจารย์ประหลาดมากตรงที่ว่า ปัญหาที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบมองเห็นคือปัญหาเรื่องความอยุติธรรม แต่อาจารย์กลับเสนอแนวทางการแก้ไขจากมุมมองของผู้ที่ประท้วงเรียกร้องให้ทหารเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ แต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่พวกเขาเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่หรือ คนเหล่านี้ส่วนมากเขาอยู่บนยอดหรือเป็นชนชั้นกลางระดับบนไม่ใช่หรือ แล้วข้อเรียกร้องของเขาวางอยู่บนการดูถูกประชาชนระดับล่างลงมาไม่ใช่หรือ ถ้าอย่างนั้นคนเหล่านี้ไม่ใช่เหรอครับที่เป็นกลุ่มคนซึ่งค้ำจุนความอยุติธรรมอยู่ คนเหล่านี้ไม่ใช่เหรอครับที่กินอยู่ได้บนความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย 

แต่ส่วนประชาชนอีกส่วนที่เขาได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรม เป็นบรรดาคนจนที่ติดคุก เป็นคนที่ถูกไล่ที่ ถูกจัดระเบียบ เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เป็นชนชั้นกลางระดับล่างไม่มีเงินเดือนประจำน่ะ พวกเขาเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่ใช่เหรอ พวกเขาไม่ได้อยากให้มีการปฏิรูปไม่ใช่เหรอ พวกเขาอยากให้มีการเลือกตั้ง อยากให้นักการเมืองที่พวกเขาควบคุมได้ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศไม่ใช่เหรอ 

ข้อเสนอของอาจารย์ประหลาดก็ตรงนี้แหละครับ อาจารย์มองปัญหาในมุมคนกลุ่มหนึ่ง แต่เลือกทิศทางการแก้ปัญหาจากมุมคนอีกกลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มแรกคือผู้รับผลจากปัญหาโดยตรง แต่เขาเสนอทางแก้ปัญหาที่อาจารย์ไม่ยอมรับ ตรงกันข้าม อาจารย์กลับเลือกทางแก้ปัญหาของคนกลุ่มหลัง ซึ่งเป็นกลุ่มคนซึ่งมีส่วนสร้างระบบความอยุติธรรมขึ้นมา เป็นกลุ่มคนที่ก่อปัญหาให้คนกลุ่มแรก ทำไมอาจารย์ไม่เลือกฟังบ้างล่ะครับว่าคนที่ถูกความอยุติธรรมกระทำกับเขาทุกเมื่อเชื่อวันนั้น เขาสรุปบทเรียนมาว่าอย่างไร แล้วทหารจะแก้ปัญหาพวกเขาได้จริงหรือ ในเมื่อทุกวันนี้พวกเขาก็ยังถูกความไม่ยุติธรรมรังแกอยู่ตลอด แต่คนกลุ่มที่อาจารย์ฟังเขาน่ะ เขาไม่ได้มีปัญหา เขาต่างหากที่ก่อปัญหา 

ความประหลาดยิ่งกว่านั้นคือ อาจารย์ไม่สนใจความอยุติธรรมที่คณะรัฐประหารเองสร้างขึ้นมา บรรดาการใช้อำนาจซึ่งชาวโลกเขาประณามกันทุกเมื่อเชื่อวันตลอดระยะเวลาจนจะสองปีแล้วน่ะ ไม่สมควรนับว่าเป็นความอยุติธรรมที่ก่อปัญหากับสังคมไทยหรอกหรือ ยกตัวอย่างเช่น 

1. คำสั่งคสช. ที่ 13/2559 มีความยุติธรรมอย่างไร 

2. การดำเนินคดีประชาชนด้วยศาลทหาร มีความยุติธรรมอย่างไร 

3. การเรียกตัวบุคคลต่าง ๆ ไปปรับทัศนคติ การจับกุมตัวนักศึกษาโดยพลการไม่แสดงหมายจับ การคุกคามการจัดประชุม เสวนา การแสดงความเห็นสาธารณะที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการชุมนุมทางการเมือง หากแต่ละเว้นการจับกุมกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนทหารหากแต่ก็เป็นการชุมนุมทางการเมือง มีความยุติธรรมอย่างไร  

4. การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ฉีกกฎหมายสูงสุดของประเทศ แล้วตั้งรัฐบาลเองตามอำเภอใจของกลุ่มคณะรัฐประหาร แล้วนิรโทษกรรมตนเองไปทั้งข้างหน้าและย้อนหลัง เป็นความยุติธรรมอย่างไร  

ภายใต้อำนาจเผด็จการเหล่านี้ อาจารย์คิดว่าจะเกิดการปฏิรูปให้เกิดความยุติธรรมได้หรือครับ การปิดปากประชาชน ปิดปากนักการเมือง คุกคามสื่อมวลชน ด้วยอำนาจเผด็จการเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานที่ดีให้เกิดความยุติธรรมได้หรือครับ การที่มีเพียงคนแบบอาจารย์ธีรยุทธกับบรรดาทหาร ที่สามารถพูดอย่างไรก็ได้โดยไม่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาจากผู้ที่เห็นต่าง จะก่อให้เกิดการปฏิรูปที่นำมาซึ่งสังคมที่ยุติธรรมได้อย่างไรครับ  

อาจารย์ครับ อาจารย์ไม่เพียงไม่วิจารณ์การกระทำเหล่านั้นของทหาร แต่อาจารย์ยังส่งเสริมระบอบรัฐประหารให้เดินหน้าการปฏิรูปต่อไป ให้กระทำอย่างเร่งด่วนไม่ต้องขยายเวลาไปอีกนาน (ตามข่าว http://prachatai.org/journal/2016/04/65087) แล้วอาจารย์ยังเสนอกระบวนการที่ปูทางให้เกิดระบอบอภิสิทธิ์ชน นำข้อเสนอจากรายชื่อบุคคลที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากประชาชน แล้วนี่เป็นระบบที่แสดงความศรัทธาต่อชาวบ้านอย่างไร หรือชาวบ้านที่น่าเลื่อมใสมีแต่บรรดาปราชญ์ชาวบ้าน บรรดาผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ล้วนแต่อยู่ในข่ายใยของระบบอุปถัมภ์ขององค์กรพัฒนาที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าใครบ้างที่เป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ไม่กี่คนเหล่านั้น ส่วนชาวบ้านที่เขาต่อต้านการรัฐประหาร เป็นชาวบ้านที่อยู่ใต้ระบบความอยุติธรรม ความเห็นของพวกเขาไม่น่ารับฟังเพราะล้วนตกอยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมืองอย่างนั้นหรือ แล้วจะมีกระบวนการอย่างไรให้เขาได้มีส่วนร่วมถ้าไม่ยกเลิกอำนาจของคณะรัฐประหารไปโดยเร็วเสียที  

ผมคิดมาตลอดว่าสักวันหนึ่งจะต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่ามีนักวิชาการคนใดที่สนับสนุนการรัฐประหาร แล้วผมจะไม่เริ่มจากใครอื่นไกล แต่จะเริ่มจากบรรดานักวิชาการที่อยู่ในสายอาชีพเดียวกัน ก็คือนักมานุษยวิทยาและสถาบันทางวิชาการที่ใช้ชื่อมานุษยวิทยานี่แหละ เพียงแต่คอยโอกาสว่าจะได้นำเสนอในเวทีวิชาการสากลให้ชาวโลกเขารับรู้กัน   

แต่ไม่ทันต้องรอโอกาสนั้น ในระหว่างที่สังคมไทยกำลังครุกรุ่นด้วยปัญหารุมเร้าต่าง ๆ นานา ก็มีนักวิชาการที่นิยมเผด็จการเสนอหน้ากันออกมาปกป้องประคับประคองการรัฐประหาร เพียงแต่ผมก็ไม่นึกเลยว่า นักวิชาการคนแรก ๆ ที่จะต้องกล่าวถึงว่าเป็นนักมานุษยวิทยาที่พยายามประคับประคองเผด็จการทหาร ก็คืออาจารย์ธีรยุทธ บุญมีนั่นเอง 

 

6 เมษายน 2559

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์