Skip to main content

ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย

สรุปคือมาเที่ยวนี้มีสองเรื่องที่ต้องทำ

 

เรื่องแรก มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ โดยนำเอามุมมองทั้งทางการแพทย์ ทางสังคม และทางมานุษยวิทยามาแลกเปลี่ยนกัน เขาเน้นคำว่ามานุษยวิทยากันหลายครั้ง ผมก็เลยเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องให้เขารู้จักว่า มานุษยวิทยาเขาทำอะไรกันกับเรื่องอาหาร

 

เรื่องที่สอง มาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวรรณกรรมคนไทดำในประเทศไทย ที่เรียกกันว่า "ลาวโซ่ง" ที่จังหวัดเพชรบุรีและนครปฐม

 

ขอเล่าเรื่องแรกก่อน

 

การประชุมจัดขึ้นด้วยทุนของกองทุนขนาดใหญ่อายุร้อยกว่าปีของอังกฤษ เป็นการร่วมมือกันระหว่างสองมหาวิทยาลัยสำคัญของอังกฤษ กับมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง ที่สนุกยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือพวกแพทย์ กับนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

 

การประชุมมีสองวันครึ่ง วันแรก ฝ่ายหมอและนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เสนองานวิจัยให้เห็นปัญหา 10% ของคนติดพยาธิในตับเป็นมะเร็จถุงน้ำดี ที่ถ้ารู้ช้า รักษาไม่ทันก็จะตาย ถ้ารู้เร็ว รักษาทัน ก็มีโอกาสรอดสูง  

 

ที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยมีคนที่ตายจากโรคนี้มากที่สุดในโลก ตายปีละเป็นหมื่นคน และพื้นที่ที่พบคืออีสานกลางค่อนลงมาทางใต้ ก็สอดคล้องกับพื้นที่ระบาดของพยาธิใบไม้ในตับ ที่มีสาเหตุหลักมาจากกินปลาชนิดหนึ่งคือพวกปลาซิวดิบๆ ย้ำว่าปลาชนิดเดียว (แต่ในทางวิทยาศาสตร์นับได้จริงๆ 22 สปีชีส์)

 

วันที่สอง ฝ่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดมมุมมองเกี่ยวกับการกินของดิบและมิติต่างๆ ของอีสาน มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย นอกจากกลุ่มที่ไปเก็บข้อมูลท้องถิ่นอย่างจริงจัง ดูเครือข่ายทางสังคมของการกินปลาก้อยที่ทำจากปลาตัวเล็ก แล้วไล่มาเรื่องศาสนา เช่น ผู้เชี่ยนชาญอีสาน-ลาวคนหนึ่งมาเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่ทำปลาแดกขาย 

 

เรื่องภาษา การสื่อสารของหมอ มุมมองจากนักการศึกษาที่ให้ความสำคัญการการศึกษาแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการนำนักวิชาการอีสานผู้เติบโตมาในวัฒนธรรมการกินของดิบมาบอกเล่าประสบการณ์การกินของตัวเอง

 

ท้ายสุดคือมุมมองสังคมศาสตร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่ชัดเจน แต่เป็นมุมมองสำหรับเข้าใจปัญหาคนปัจจุบัน ผมเองเสนอเรื่องการกินของดิบในเกาหลี เวียดนาม และญี่ปุ่น  

 

ผมเสนอสองประเด็นคือ การเข้าใจอาหารที่แตกต่างกันต้องอาศัยการก้าวข้ามพรมแดนวัฒนธรรมที่ซับซ้อนลึกซึ้งมาก การแปลทางวัฒนธรรมอาจช่วยได้ สองคือ การบริหารจัดการการกินของดิบไม่ใช่ด้วยการกำจัดการกินดิบ แต่จะทำอย่างไรให้การกินดิบปลอดภัย ดังตัวอย่างในญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนามที่ผมประสบมาด้วยตัวเอง

 

ที่ผมเสนออย่างนี้เพราะ จากที่ฟังมาวันแรก ผมได้ยินแต่หมอพูดว่าพวกเขาพยายามรณรงค์ต่อสู้กับโรคนี้มานานหลายสิบปีแล้ว ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที ก็แสดงว่าเขายังไม่เข้าใจความลึกซึ้งของที่มาของโรคที่มันไม่ได้อยู่แค่โรคกับนิสัยการกิน แต่ยังมีโครงสร้างสังคมใหญ่โตมากมาย

 

ที่ผมดักคอว่าต้องแก้ที่การทำความเข้าใจแล้วแก้ระบบให้เอื้อการกินของผู้คนไม่ใช่แก้นิสัยการกิน เพราะผมฟังหมอพูดว่าเขาพยายามจะแก้นิสัยการกินของคน เมื่อแก้ผู้ใหญ่ไม่ได้แล้วก็จะแก้เด็ก โดยหวังพึ่งการศึกษา ที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ และด้วยเพราะที่ผมเห็นอยู่คือ การจัดการกับการดื่มแอลกอฮอล์แบบหมอไทย ก็คือการเน้นการกำจัด มากกว่าการจัดการให้ดื่มอย่างปลอดภัย ซึ่งอย่างหลังยุ่งยากกว่ามากแน่นอน

 

ช่วงสรุปของวันที่สอง หมออังกฤษที่เป็นโต้โผใหญ่ของการจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งหวังว่าจะก่อตั้งโครงการความร่วมมือกันขนาดใหญ่ ระยะยาว เพื่อไปขอทุนวิจัยที่เชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ลุกขึ้นมาบอกว่าการนำเสนอเรื่องการกินของดิบของผม "ไม่เข้าเรื่อง" แล้วก็วนเวียนพูดย้ำข้อเท็จจริงที่บรรดาหมอเล่ามาในวันแรกอีกว่า ประเทศไทยประสบปัญหานี้มาก พวกเราอยากมาช่วย ช่วยเสนออะไรให้เข้าเรื่องหน่อย

 

แล้วไม่นานนักก็มีหมออีกคนที่ไม่ได้ถูกเชิญมาแต่แรกในการประชุมครั้งนี้ เป็นคนละกลุ่มหมอ คนละแนวคิดกัน เป็นหมออเมริกันที่แนะนำตัวเองว่าอยู่ไทยมา 4 ปีแล้ว รู้ว่าปัญหามันมากกว่าแค่ตัวโรคและนิสัยการกิน แล้วจึงเกิดการโต้เถียงกันและบริภาษใส่กัน ก็ไม่ถึงกับใช้คำหยาบคาย แต่แสดงทัศนคติที่รุนแรงต่อกันอย่างที่ไม่มีใครในห้องประชุมทั้ง 30 คนที่ต่างก็มีประสบการณ์ทางวิชาการมามากมายจะเคยพบเห็นมาก่อน

 

อีกครึ่งวันที่สาม หมอที่เถียงกันทั้งสองคนไม่ปรากฏตัว ฝ่ายหมอเริ่มพูดก่อนอย่างอารีอารอบเหมือนรู้ตัวว่าหัวหน้าทีมพวกเขาพลาดไปแล้วที่บอกปัดข้อเสนอของผู้ที่รับเชิญมาเสนอมุมมองที่แตกต่างไปจากพวกเขา ในการคุยกันรอบสุดท้ายนี้ วัตถุประสงค์คือเพื่อพัฒนาโครงการวิจัยขึ้นมา

 

เสียดายที่ผมอยู่ได้ไม่ทันจบ ต้องกลับออกมาเสียก่อน แต่ก็ดูว่าทิศทางของการสนทนาจะไปด้วยดีมากขึ้น ผมก็ได้แต่หวังว่าโครงการวิจัยนี้จะเกิดขึ้นจริง โดยที่ไม่ต้องมีนักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องอาหารอยู่ในนั้นเลยก็ได้ หรือจะเป็นใครคนอื่นแทนก็ตาม

 

ขณะนี้ผมกำลังอยู่ในการจัดการกับมิชชั่นที่สอง มาเก็บข้อมูลที่เพชรบุรี ได้รู้เรื่องน่าตื่นเต้น เรื่องใหม่ๆ พบเรื่องที่คิดว่าน่าจะเจอ ซึ่งก็ได้เจอจริง แต่เจอมากกว่าที่คิดอีก เอาไว้จะหาเวลามาเขียนเล่าใหม่ครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน