Skip to main content

ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้

 

นอกเหนือจากงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสารคดีจำนวนค่อนข้างมากแล้ว งานวิชาการที่พยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากมุมมองทางสังคม-วัฒนธรรมยังคงมีค่อนข้างจำกัด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เรายังไม่ค่อยเข้าใจกันดีนักว่าสังคมแบบไหนกันที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างเลือดเย็นกลางเมืองได้ขนาดนี้ เท่าที่ผมรู้ ผมนึกถึงงานอยู่ 3 ชิ้น  

 

ชิ้นแรกต้องถือว่าออกมาทันเหตุการณ์มากที่สุด โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นงานที่ทำให้ความรุนแรงในสังคมไทยเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ก็คือบทความของ Benedict Anderson ชื่อ Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup (1977) ที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริแปลและตั้งชื่อภาษาไทยให้อย่างเฉียบคมว่า "บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม" (http://www.openbase.in.th/…/ebo…/textbookproject/tbpj198.pdf) บทความนี้ให้ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้น ที่สังคมไทยสร้างชนชั้นใหม่ขึ้นมา แล้วพวกเขาก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วก็ถูกปราบปรามในที่สุด  

 

บทความนี้เป็นงานคลาสสิกทั้งในแง่กรอบการวิเคราะห์ชนขั้นแบบมาร์กซิสม์ และการให้ภาพความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเมื่อ 4 ทศวรรษที่ยังคงเป็นพื้นฐานให้กับความเข้าใจสังคมไทยปัจจุบันได้อย่างดี

 

งานอีกชิ้นหนึ่งเป็นผลงานจากวิจัยของอาจารย์ธงชัย วินิจจกูล ออกมาเป็นหนังสือแล้วชื่อ "6 ตุลา : ลืมไม่ได้ จำไม่ลง" (2558) (http://www.sameskybooks.net/books/6oct1976/) จัดพิมพ์โดยฟ้าเดียวกัน หนังสือนี้เป็นผลจากการทำวิจัยและเรียบเรียงยาวนานหลายปีของอาจารย์ธงชัย (https://www.academia.edu/…/2011_2554_6_ตุลาในความทรงจําของฝ…) ที่โดดเด่นคือการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา เป็นมุมมองจากซีกของ "ฝ่ายขวา" ข้อท้าทายในแง่ของการวิจัยคือ เป็นการศึกษาฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับผู้ศึกษา เป็นการเผชิญหน้ากับผู้ก่อความรุนแรงของเหยื่อความรุนแรง ที่กลายมาเป็นผู้วิจัยผู้ก่อความรุนแรง

 

แต่งานอีกชิ้นหนึ่งที่อยากแนะนำให้หามาอ่านคืองานของ Katherine Bowie (แคทเธอรีน บาววี่) ที่เป็นหนังสือชื่อ Rituals of National Loyalty: An Anthropology of the State and the Village Scout Movement in ail and. (1997) น่าเสียดายที่ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ของอาจารย์แคท แต่เป็นผลพลอยได้จากการเก็บข้อมูลระหว่างที่อาจารย์มาทำวิจัยภาคสนามในหมู่บ้านที่เชียงใหม่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 อาจารย์แคทเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องประวัติศาสตร์ชาวนาในภาคเหนือปลายศตวรรษที่ 19 แต่อาจารย์ยังไม่ยอมพิมพ์ผลงานวิทยานิพนธ์ เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยกับท่านเอง จากนั้นหลังศึกษาจบ อาจารย์ก็เก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้

 

หนังสือเล่มนี้บทแรกกล่าวถึงทฤษฎีที่ใช้ศึกษา บอกตามตรงว่าเมื่ออ่านแรกๆ ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์แคทโดยตรง ผมตั้งข้อกังขากับแนวคิดมาร์กซิสม์ที่อาจารย์แคทใช้เป็นแกนนำของหนังสืออย่างมาก ในช่วงที่ผมไปเรียน คือปี 1998 หนึ่งปีหลังหนังสือนี้ออกมา งานวิชาการละทิ้งแนวคิดมาร์กซิสม์และการวิเคราะห์ชนชั้นไปหมดแล้ว ความคิดที่ใหม่กว่าในการเข้าใจประวัติศาสตร์ นอกจากแนวคิดแบบฟูโกต์ที่ว่าด้วยการประกอบสร้างความรู้ ก็ต้องเป็นเรื่องการศึกษาความทรงจำ ที่อาจารย์ธงชัยใช้เป็นส่วนใหญ่ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ข้อที่น่าสนใจของแนวคิดที่อาจารย์แคทใช้คือมโนทัศน์เรื่อง efficacy ที่ใช้อธิบายว่าทำไมอุดมการณ์ "ความจงรักภักดี" จึงได้ผลนัก ในแง่นี้งานอาจารย์แคทก็ขยับจากการใช้มาร์กซิสม์แบบเน้นเศรษฐกิจไปสู่เรื่องอุดมการณ์มากขึ้น

 

ถัดจากบททฤษฎี อีกสามบทต่อมาว่าด้วยประวัติศาสตร์ แต่อาจารย์เน้นบุคคลที่มีบทบาทในการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งเป็นมวลชนกลุ่มหลักที่อาจารย์ให้ความสำคัญในหนังสือเล่มนี้ และก็แน่นอนว่าเป็นมวลชนฝ่ายขวาที่มีบทบาทหลักในช่วงสงครามเย็น หรือสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แม้ว่าสามบทนี้จะเป็นการเรียบเรียงจากข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มักเข้าถึงได้ทั่วไป แต่ผมว่ามีข้อโดดเด่นอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ รวมรวมข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง ตรงไปตรงมา อ่านแล้วรู้เลยว่าใครเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ใครต้องรับผิดชอบกับความสูญเสีย แต่ใครเหล่านั้นกลับได้ดิบได้ดีหลังเหตุการณ์ สองคือ การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ที่เรียกได้ว่าเป็นการชี้บทบาทของผู้กระทำการในการเมืองระดับประเทศ

 

บทที่น่าตื่นเต้นอยู่ใน Part Two เป็นสามบทที่ว่าด้วยหมู่บ้านเชียงใหม่ที่อาจารย์มีส่วนได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ชวนติดตามที่สุดคือการบันทึกให้เห็นการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้าน อาจารย์แคทใช้แนวคิดการวิเคราะห์พิธีกรรมมาเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงการอบรมลูกเสือชาวบ้านกับอุดมการณ์ของรัฐ การอบรมลูกเสือชาวบ้านจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสถานะของชาวบ้านในหมู่บ้านชนบท จากประชาชนธรรมดา ให้กลายเป็นมวลชนผู้จงรักภักดีอย่างสุดจิตสุดใจต่อประเทศชาติ อันมีสถาบันกษัตริย์เป็นองค์สัญลักษณ์สำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์แคทชี้ให้เห็นว่า พิธีกรรมนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พิธีกรรมอบรมลูกเสือชาวบ้านใช้ได้ดีกับคนบางกลุ่มในหมู่บ้านเท่านั้น นั่นคือกับคนชั้นกลางและชนชั้นนำในหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนกับชนชั้นล่าง คนจนในหมู่บ้าน พวกเขาไม่ได้ "อิน" กับการอบรมลูกเสือชาวบ้านจนถึงขนาดฟูมฟายปลาบปลื้มจนร้องห่มร้องไห้อย่างตื้นตันที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้จงรักภักดีในตอนท้ายของการอบมเท่ากับพวกที่ชนชั้นกลางและชนชั้นนำรู้สึก  

 

โดยรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้ถือเป็นการศึกษารัฐในแนวทางแบบมานุษยวิทยาเล่มแรกๆ ของการศึกษารัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไปไกลกว่างานของ Clifford Geertz เรื่อง Negara: The Theatre State in Nineteenth-Century Bali. (1981) (ที่อาจารย์สมเกียรติ วันทะนะแปลว่า "นาฏรัฐ") มากโข ทั้งในเชิงแนวทฤษฎีและวิธีการเก็บข้อมูลภาคสนาม อีกทั้งมีการวิเคราะห์ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน  

 

นอกจากนั้นงานอาจารย์แคทยังเป็นบทบันทึกของเหตุการณ์ในอดีตที่แทบจะไม่มีการบันทึกกันไว้ก่อน นั่นคือการอบรมลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้าน ข้อมูลที่อาจารย์เองก็ไม่นึกว่าจะมีประโยชน์จึงกลับเผยให้เห็นภาพการทำงานของรัฐในระดับจิตสำนึก อุดมการณ์ และกระทั่งอารมณ์ ผ่านพิธีกรรมที่ได้ผลลึกซึ้ง แต่กระนั้นก็ตาม ความรู้สึกนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงมวลชนรากหญ้าอีกมาก ด้วยข้อจำกัดของความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รัฐไม่ได้พยายามแก้ไขอย่างจริงจัง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"