Skip to main content
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies) 

 
ที่ไปที่นี่และงานนี้ก็เพราะผมมีนักศึกษาปริญญาเอกมานุษยวิทยาคนหนึ่งเป็นคนเกาหลี เขาได้ทุนการศึกษาแล้วเมื่อศึกษาจบก็จะไปเป็นอาจารย์ประจำที่นี่ เขาก็จึงอยากให้ผมไปร่วมโอกาสพิเศษนี้ การมาร่วมงานนี้ทำให้ผมก็ได้รู้จักส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่นี่ แล้วก็ยังได้สัมผัสวัฒนธรรมการเรียนภาษาไทยที่ประเทศเกาหลี
 
เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยไปเสนองานวิชาการที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ทางใต้ของเกาหลีใต้อีกทีหนึ่ง แต่ไปคราวนี้เองจึงค่อยได้เรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยในเกาหลีนั้น ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยของรัฐจริงๆ มีจำกัดมาก ที่แน่ๆ คือบรรดา “มหาวิทยาลัยแห่งชาติ” เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนว่าก็มีหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้มากมายจนกลบจำนวนมหาวิทยาลัยเอกชน 
 
เมื่อถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น คนที่มีคำตอบเล่าว่า สมัยที่เกาหลีใต้ยังยากจน รัฐบาลมีรายได้น้อย จึงส่งเสริมให้เอกชนตั้งมหาวิทยาลัยเอง ทั้งบริษัทเอกชนและบรรดาโบสถ์คริสต์ ต่างก็ลงทุนด้านการศึกษากัน ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเอกชนในเกาหลีมีจำนวนมากกว่ามหาวิทยาลัยรัฐ และจำนวนมากก็มีคุณภาพสูงไม่ด้อยกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐด้วย แม้แต่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนก็มีเช่นกัน ไม่เหมือนประเทศไทยซึ่งค่อนข้างกีดกันการที่มหาวิทยาลัยเอกชนเปิดสอนด้านการแพทย์
 
ส่วนมหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศนั้น ก็มีหลายแห่ง แต่ละแห่งบริหารแยกกันเอง ได้ทุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน รัฐก็ให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งเช่นกัน รัฐบาลจะมีตัวชี้วัดต่างๆ ให้มหาวิทยาลัยแข่งขันกัน หากบรรลุเป้าหมาย ก็จะได้ทุนตามกรอบของการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย ในแง่นี้ก็ถือว่าระบบมหาวิทยาลัยเกาหลีบริหารเข้มงวดกว่ามหาวิทยาลัยไทยมากนัก เนื่องจากเอาผลการประเมินมาเป็นตัวชี้วัดการให้ทุนกับมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ที่จริงข้อนี้ค่อนข้างคล้ายกับมหาวิทยาลัยรัฐในสหรัฐอเมริกา
 
มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กฯ นี้เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ภาษาที่เขาสอนที่นี่มี 40 กว่าภาษา ภาษาไทยเป็นกลุ่มภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่มแรกๆ เปิดแทบจะพร้อมๆ กับภาษาอินโดนีเซียและภาษาเวียดนาม สำหรับภาษาไทย เปิดสอนครั้งแรกปี 1966 คือ 50 ปีที่แล้วนั่นแหละ แต่ละปีจะมีอาจารย์จากประเทศไทยมาสอน อาจารย์ไทยรับเชิญเหล่านี้จะอยู่ 2-3 ปี แล้วก็จะเปลี่ยนมีอาจารย์คนใหม่มา ผมจำไม่ได้แน่ว่านอกจากอาจารย์ไทยแล้ว ที่นี่เขายังมีอาจารย์เกาหลีเองอีกกี่คน เท่าที่นึกๆ ดูเท่าที่เจอก็น่าจะมีไม่น้อยกว่าอีก 5 คน ส่วนนักเรียน มีทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก แต่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี ปีละประมาณ 30 คน
 
จากที่ผมได้ฟังและแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์บางท่าน ก็ต้องตื่นตะลึงกับความรู้เรื่องภาษาและวรรณคดีไทย ของอาจารย์ที่นี่ อาจารย์ที่เป็นหัวหน้าภาคอยู่ในขณะนี้เป็นอาจารย์ผู้หญิง จบปริญญาเอกภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าใจว่ามาศึกษาภาษาไทยแล้วทำวิทยานิพนธ์ด้านภาษาศาสตร์เกี่ยวกับภาษาไทย นักศึกษาที่เรียนกับผมก็จบการศึกษาจากที่นี่มา แล้วมาเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ จากนั้นก็ย้ายมาเรียนปริญญาเอกที่สาขามานุษยิวทยาของคณะผม ส่วนอาจารย์ท่านอื่นๆ 
 
มีท่านหนึ่งผมสนทนาด้วย ท่านก็จบปริญญาเอกด้านวรรณคดีไทย ถ้าจำไม่ผิดคือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เหล่านี้เรื่องความสามารถในการพูดภาษาไทยนี่ไม่ต้องพูดถึง คล่องแคล่วชัดเจนมาก ส่วนความรู้เรื่องไทยก็ดีมากเช่นกัน อย่างอาจารย์ที่เรียนวรณคดีก็ศึกษาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาก่อน แล้วเมื่อผมชวนคุยเรื่อง “คู่กรรม” ก็แลกเปลี่ยนกันได้อย่างสนุกสนาน ผมมั่นใจว่าท่านรู้จักวรรณคดีไทยดีกว่าคนไทยจำนวนมากแน่นอน
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเท่าที่พูดคุยแลกเปลี่ยนด้วย ดูว่าอาจารย์ที่นี่จะมีความก้าวหน้าในเชิงวัฒนธรรมพอสมควร อย่างหัวหน้าภาควิชาก็เป็นผู้หญิง แล้วจำนวนอาจารย์ผู้หญิงก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละคนก็จบปริญญาเอกกัน นับว่าวัฒนธรรมการศึกษาแบบนี้ยังเห็นได้ยากในญี่ปุ่น เวียดนาม หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา หากแต่ว่าที่น่าตกใจคือ การศึกษาวัฒนธรรมการไทยที่สังเกตเห็นได้ชัดว่าที่นั่นเขายังต้องเดินตามกรอบของไทยกรุงเทพฯ เป็นกรอบอนุรักษนิยมค่อนข้างสุดโต่ง และนี่ชวนให้คิดว่า การเผยแพร่ภาษาไทยในต่างประเทศจำเป็นด้วยหรือไม่ที่จะต้องทำไปพร้อมๆ กับการเผยแพร่ไทยแบบอนุรักษนิยม คร่ำครึ และคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางสังคม 
 
ที่เป็นอย่างนี้ เป็นไปได้ว่าเพราะสถาบันการศึกษาในเกาหลีใต้อาจไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งเกาหลีใต้เป็นมิตรประเทศกับไทยและเคยได้รับความช่วยเหลือจากไทยอย่างสูง ข้อต่อมาคือ มีนักลงทุนเกาหลีในไทยจำนวนไม่น้อย เกาหลีต้องประนีประนอมกับอนุรักษนิยมไทยก็เพราะต้องรักษาความสัมพันธ์กับเครือข่ายทางการมากมาย 
 
นอกจากนั้น เกาหลีอาจจำเป็นต้องสอนให้นักศึกษาเขาเองเข้าใจความอนุรักษนิยมของไทย ซึ่งมันเป็นความจริงอย่างหนึ่งของประเทศไทย ที่เขาต้องสอนเรื่องคร่ำครึของไทยๆ ไม่ใช่ว่าเพื่อให้คนเกาหลีเป็นคนแบบนี้ แต่เพื่อให้รู้ว่าคนไทยมีคนแบบนี้มาก ต้องเข้าใจ เพราะเท่าที่ผมรู้จักคนเกาหลี คนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนอนุรักษนิยม แม้ว่าเขาจะชาตินิยม แต่ไม่ได้รังเกียจประชาธิปไตยแบบคนไทยจำนวนมากแน่นอน เขาจึงไม่น่าจะนิยมความอนุรักษนิยมแบบไทยมากนักหรอก
 
ข้อนี้แตกต่างกับการเรียนการสอนภาษาไทยในสหรัฐอเมริกา แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การศึกษาภาษาไทยจะตามมาด้วยการศึกษาความอนุรักษนิยมแบบไทยไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เมื่อไหร่ที่มีอาจารย์ภาษาไทยจากประเทศไทยไปสอนในต่างประเทศ อาจารย์จากประเทศไทยก็มักจะเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยมไปด้วยโดยอัตโนมัติ เพราะการศึกษาภาษาไทยคือการศึกษาความอนุรักษนิยมแบบไทยไปด้วย 
 
ต่างจากอาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ในมาเลเซีย มักจะเป็นคนก้าวหน้า มีแนวคิดล้ำหน้าชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีทางคุยกับอาจารย์สอนภาษาไทยจากประเทศไทยได้เลย สิ่งที่น่าเบื่อคือการที่วิชาประวัติศาสตร์ วิชามานุษยวิทยา และวิชาอื่นๆ ที่เรียนเกี่ยวกับประเทศไทยในสหรัฐอเมริกา จะต้องมาคอยแก้ความเข้าใจประเทศไทยแบบผิดๆ ที่ถูกเผยแพร่โดยครูภาษาไทยเหล่านั้น
 
นอกจากสถาบันการศึกษา ซึ่งขอเน้นอีกครั้งว่า รัฐเขาไม่บังคับให้นักเรียนและนักศึกษาแต่งชุดนักศึกษา โรงเรียนไหนจะแต่ง ขึ้นกับว่าจะบังคับหรือไม่ แล้วส่นใหญ่เขาก็ไม่บังคับกัน เกาหลีที่ผมรู้จักมีพิพิธภัณฑ์มากมาย ทั้งเล็กและใหญ่ ประเทศไทยก็มีพิพิธภัณฑ์มาก แต่พิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยที่ส่งเสริมโดยรัฐนั้น เทียบกันไม่ได้กับพิพิธภัณฑ์ในหลายๆ ประเทศรวมทั้งในปะเทศเกาหลี พิพิธภัณฑ์มากที่ว่านี้ไม่ใช่เล่าเรื่องซ้ำๆ กัน แต่มีพิพิธภัณฑ์ประเภทต่างๆ แล้วพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งก็ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ใช่ตั้งอยู่ไกลจนกว่าจะเดินทางไปถึงก็อยากเดินทางกลับแล้วอย่างพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของประเทศไทย 
 
ภาพที่เอามาให้ดูมีนิทรรศการถาวรและชั่วคราวจากพิพิธภัณฑ์คติชาวบ้านและพิพิธภัณฑ์การศึกษา แต่บริเวณเดียวกันนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์พระราชวังกีอองบุ๊กคุง พิพิธภัณฑ์เด็ก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ คิดว่าถ้าไปอีกครั้งก็จะต้องหาโอกาสไปเช้าชม ที่น่าสังเกตคือ แต่ละแห่งมีคนเกาหลีเองเข้าชมจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนและนักศึกษา จะด้วยการบังคับหรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่ดูเหมือนการไปพิพิธภัณฑ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเกาหลีมากกว่าคนไทย
 
นักศึกษาเกาหลีเท่าที่ผมเคยเจอ ส่วนใหญ่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด นักศึกษามหาวิทยาลัยมีความคิดก้าวหน้า มีวิธีการตั้งคำถามที่คล้ายกับนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าระบอบการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เน้นความเป็นประชาธิปไตย เน้นสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมการแสดงออกของปัจเจก น่าจะมีส่วนเกื้อหนุนให้ระบบการศึกษาและผลผลิตของการศึกษาเป็นอย่างที่เห็น ส่วนประเทศไทย เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นต่อไปเถอะครับ เพราะเรานิยมกันว่าแค่นี้ดีแล้ว ไม่ว่าชนชั้นนำของสังคมจะไปเรียนเมืองนอกเมืองนา จบการศึกษาจากที่ไหนมา เราก็กลับมามุดเข้ากะลาและก่อกะลากันต่อไปอย่างนี้แหละ
 

ชมภาพได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/edit/a.785216044950115.1073741846.173987589406300/

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"