Skip to main content

ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 

 
ความดีแบบไทยๆ มีลักษณะเฉพาะอย่างไร 
 
1. ทำดีเพื่อใครบางคน คนไทยมักต้องหาเหตุที่จะทำดี ปกติไม่จำเป็นต้องดี แต่เมื่อสูญเสียคนที่รัก จึงคิดอยากทำดีขึ้นมา การทำดีเพื่อใครบางคนส่วนมากก็ไม่ได้จะต้องก่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง เพียงการไปบริจาคทาน แจกของทั้งที่ผู้รีบแจกไม่ได้ขาดแคลนจริงๆ ก็กลายเป็นความดีได้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะคนไทยแค่อยากทำอะไรดีๆ เพื่อคนที่รัก โดยไม่ได้คำนึงว่าสิ่งที่ทำนั้นดีจริงแล้วหรือ เหมาะสมแล้วหรือ
 
2. ทำดีเพื่อตนเอง การทำดีของคนไทยโดยมากจึงเป็นการทำดีเพื่อตนเอง คนไทยให้ทานโดยไม่ได้หวังให้คนรับได้ประโยชน์เท่ากับอยากได้บุญมาสะสมไว้ คนไทยทำบุญเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง อย่างหยาบหน่อย ทำบุญเสร็จแล้วก็ต้องขอพร ขออะไรจากการทำบุญ หรือไม่ก็ติดสินบนผี ต้องได้สิ่งที่ต้องการก่อนจึงจะทำบุญ อย่างละเอียดขึ้นก็เก็บไว้เป็นบุญคุณของเอง คิดหนี้ให้ผู้รับ บางครั้งทึกทักว่าเป็นหนี้คนไปทั่วแผ่นดิน ทั้งๆ ที่คนรับไม่มีอำนาจปฏิเสธบุญคุณที่ถูกยัดเยียดมานั้น 
 
3. ความดีเฉพาะหน้า ความดีแบบไทยมักเป็นความดีแบบฉับพลัน ทำแล้วได้ดีเลย ไม่คิดถึงผลดีในระยะยาว ในวงกว้าง ความดียากๆ อย่างการคิดถึงระบบสังคมที่เป็นธรรมขึ้น ด้วยการเคารพความเท่าเทียมกัน อันนั้นเป็นความดีที่ยากเกินไป ทำไปแล้วไม่รู้จะได้อะไรกับตนเองหรือเปล่า ไม่สุขใจทันทีเหมือนเอาน้ำขวดหนึ่งยัดใส่มือคนที่เดินไปเดินมาโดยที่เขาไม่ได้ขอ ไม่เหมือนเอาอาหารไปแจกคนในที่ชุมนุมชนทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นไม่ได้เดือดร้อนอดอยากอะไร ความดีแบบนี้ตรงไปตรงมา คนไทยเข้าใจได้มากกว่า
 
4. ความดีแบบแสดงตน ความดีฉับพลันจึงต้องการการรับรู้จากคนอื่น ทำแล้วต้องมีคนเห็น ทำดีก็ต้องมีคนชื่นชมทันที ต้องมีคนทำข่าว ต้องมีรางวัล ความดีแบบไทยสร้างรางวัลให้คนมากมาย การทำอะไรดีๆ ไม่เพียงพอ แต่ต้องเป็นคนดีที่สาธารณชนรับรู้ ทำดีแล้วคนเห็นสำคัญกว่าทำดีตามหลักความดีแล้วก่อผลดีแม้คนไม่รับรู้ ทำดีแล้วคนเห็นกลบเกลื่อนความชั่วร้ายที่คนไม่เห็นได้
 
5. ความดีแบบสงเคราะห์ ความดีแบบไทยจึงเป็นทำดีแบบสงเคราะห์ ไม่เป็นระบบ เน้นการให้ แจกจ่าย ไม่สนใจว่าผู้รับจะได้ประโยชน์หรือไม่ ผู้รับจะต้องการหรือไม่ แค่ได้ให้ก็ดีแล้ว เครื่องสังฆทานจึงไม่จำป็นต้องเป็นของจำเป็นจริงๆ เพราะขอแค่ได้ถวายพระก็พอแล้ว อาหารถวายพระจึงเหลือเฟือ เพราะถวายพระได้บุญกว่าให้คนยากคนจน แล้วคนจนอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ยุ่งยากที่จะทำทาน
 
6. ความดีที่ถูกยัดเยียด ความดีแบบไทยจึงเป็นความดีฝ่ายเดียว เป็นความดีที่ถูกยัดเยียดจากคนให้ บางทีการเปิดเพลงสวดมนต์ดังๆ ก็เป็นความดีแล้ว เพราะถือว่าให้สิ่งดีๆ ส่วนคนฟัง คนรับ จะต้องการหรือไม่ ไม่จำเป็น ความดีแบบนี้จึงเป็นความดีจากเบื้องบน เป็นความดีที่คนรู้ดี คนมั่งมีกว่า เป็นคนกำหนดว่าอะไรดี แล้วพวกเธอก็จงก้มหน้าก้มตารับสิ่งที่ฉันคิดว่าดีไป ไม่ต้องไต่ถามว่าสิ่งที่ผู้ให้คิดว่าดีนั้น ดีสำหรับผู้รับด้วยหรือไม่ ความต้องการของผู้รับไม่สำคัญเท่ากับความกระสันอยากทำดีของผู้ให้
 
7. ไม่ใช่ความดีเชิงโครงสร้าง ความดีแบบไทยๆ ไม่มีคติเรื่องความเท่าเทียม การลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ความดีแบบนี้ส่งเสริมกันเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น เพราะความดีเหล่านี้เป็นความดีเชิงโครงสร้าง ต้องสร้างระบบสังคมที่ดี จึงจะเกิดได้ ต้องเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เคารพผู้อื่น รักเพื่อนมนุษย์อย่างเสมอหน้ากัน จึงจะ้กิดขึ้นได้ ความดีแบบนี่เข้ากันไม่ได้กับสังคมไทย ความดีแบบไทยจึงไม่นำไปสู่สังคมที่ดีขึ้นได้
 
ความดีแบบไทยวางอยู่บนระบบอำนาจนิยม ระบบอาวุโส ระบบเงินเป็นใหญ่ ระบบศรัทธาเชื่อมั่นตัวบุคคลอย่างงมงาย ระบบยึดมั่นแต่ประโยชน์ของผู้ให้ซึ่งเป็นคนชนชั้นบนของสังคม
 
ความไม่สากลของความดีแบบไทย จนกระทั่งรวมไปถึงว่า ตกลงความดีนั้นดีจริง ดีในขอบเขตของสังคม ดีเฉพาะเมื่อบางคนทำและทำเพื่อบางคนเท่านั้นหรือเปล่า ทำให้สังคมคนดีแบบไทยๆ ไม่ใช่สังคมที่ดีของทุกๆ คนอย่างเสมอหน้ากัน เป็นเพียงสังคมที่ดีของเหล่าคนทำดีแบบไทยๆ บางคนเท่านั้น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน