Skip to main content

อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น

 
การได้รู้จักโรงเบียร์นี้ก็เป็นความบังเอิญอย่างมาก คือเริ่มจากคืนแรกที่ไปถึงโตรอนโต ซึ่งก็ดึกดื่นแล้ว แต่เป็นคืนที่หนาวเหน็บพอสมควร แถมเมื่อไปถึงก็เท่ากับเป็นเวลาเที่ยงวันของประเทศไทย ก็ย่อมหิวโหยเป็นธรรมดา ผมก็เลยเลือกเข้าบาร์ ซึ่งเปิดถึงตีหนึ่งและตีสอง บาร์แห่งหนึ่งอยู่ตรงข้ามที่พักเป็นที่เดียวที่ยังเปิดอยู่
 
นั่งสักพัก ผมก็สั่งเบียร์ชื่อเตะตาชื่อ Steam Whistle ในใจนึกถึงความเป็นเมืองท่าเพราะติดทะเลสาบออนทาริโอ หนึ่งในทะเลสาบขนาดยักษ์ 5 แห่งของทวีปอเมริกาเหนือ ทีแรกนึกว่าชื่อเชื่อมโยงกับเรือกลไฟ ที่ไหนได้ เมื่อจิบไป ดูข้อมูลเบียร์ในอินเตอร์เน็ตไป ก็กลายเป็นว่าที่ตั้งของโรงเบียร์นี้อยู่บริเวณที่เป็นศูนย์กลางสถานีรถไฟของแคนาดามาก่อน แล้วเขามีทัวร์ด้วย ก็เลยคิดว่าต้องไปเยี่ยมชมให้ได้
 
ที่ตั้งโรงเบียร์นี้เป็นอาคารเก่าที่เลิกใช้แล้ว เดิมทีเป็นอาคารที่จอดซ่อมบำรุงหัวรถไฟ* ของศูนย์รถไฟของประเทศเลยทีเดียว เรียกว่าเรือนกลม (Round House) ปัจจุบันเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ในบริเวณนั้นก็คือที่ตั้งหอคอยโตรอนโต ซึ่งถือว่าเป็นหอคอยสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่งทีเดียว
 
การได้นั่งรถรางแล้วเดินไปยังโรงเบียร์แห่งนี้ทำให้ได้เห็นสภาพแวดล้อมบริเวณใกล้ทะเลสาบออนทอริโอ พร้อมๆ กับได้เห็นบรรยากาศที่พักหรูๆ ริมทะเลสาบ หากแต่เมืองก็ไม่ได้ปิดกั้นการใช้พื้นที่หรูหรานี้แต่อย่างใด บริเวณนั้นมีทั้งร้านอาหาร ร้านของชำที่ไม่ได้ราคาโหดร้าย แถมมีโรงเบียร์ที่ราคาปกติกว่าคราฟเบียร์ไทยตั้งอยู่แห่งหนึ่งด้วย
 
เมื่อเข้าไป ก็จะเจอบาร์ของโรงเบียร์ ซึ่งก็ขายเบียร์ชนิดเดียว กับขายของกินเล่นและเอบร์เกอร์ของที่นี่เอง ผมไม่กินอะไรเพราะอิ่มแล้ว เลยซื้อทัวร์ 12 เหรียญแคนาดา จะได้ดื่มแก้วเล็กชิมก่อน แล้วระหว่างเดินก็จะได้ถือเดินจิบไปอีกขวดนึง เดินชมเสร็จก็ได้ชิมแบบไม่กรองอีกแก้วนึง
 
โรงเบียร์แห่งนี้ตั้งโดยคนรุ่นใหม่ อายุสี่สิบกว่าๆ ในปี 1998 สิ่งที่น่าสนใจของสตีมวิสเทิ่ลมีหลายอย่าง
 
อย่างแรกคือ เขายืนยันที่จะทำเบีบร์ชนิดเดียวคือ pilsner ผมเพิ่งสงสัยกับเพื่อนดื่มในกรุงเทพฯ ว่า พิลสเนอร์คือเบียร์อย่างไรกันแน่ พอมาที่นี่ก็เจอกับพิลสเนอร์มากมายของหลายโรงเบียร์ แต่ละแห่งทำรสไม่เหมือนกัน ถามคนนำทัวร์ในโรงเบียร์นี้ เขาก็ให้คำตอบแค่ว่า "ก็เป็นลาเกอร์อย่างหนึ่งนั่นแหละ"
 
ที่สำคัญคือ เขายืนยันว่าจะใช้วัตถุดิบเพียง 4 อย่างคือ น้ำ (จากแหล่งน้ำแห่งหนึ่ง ต้องขนมา) มอลต์ ฮอบ และยีส เท่านั้น ไม่ปรุงแต่งอะไรอีกเลย เมื่อเดินชม ได้ดมกลิ่นมอลต์กับฮอบแล้ว จึงได้รู้ว่า ความสด หอมกลมกล่อม และชวนหลงไหลของเบียร์ของเขา มาจากวัตถุดิบง่ายๆ แค่นี้เอง
 
เบียร์ของที่นี่จึงรสชาติซื่อตรงกับวัตถุดิบมาก ดื่มแล้วสดชื่น ยิ่งความสดใหม่ที่เขาประดันว่าต้องไม่เกิน 3 เดือนหลังบรรจุแล้ว ยิ่งทำให้กลิ่นวัตถุดิบชัดเจน ยิ่งหากดื่มแบบไม่กรอง ซึ่งน้ำขุ่น (ดูจากรูปเทียบกับที่กรองแล้ว ซึ่งปกติเขาจะขายแบบกรองแล้ว) ยิ่งได้รสวัตถุดิบ ได้ความแน่นของเนื้อเบียร์
 
นอกจากนั้น ที่นี่ยังยืนยันที่จะใช้ขวดแก้ว เขาบอกว่าต้นทุนการล้างขวดแก้ว การใช้ขวดแก้วซ้ำนั้น ถูกกว่าการใช้กระป๋อง ขวดแก้วยังน่าจะเป็นภัยกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า แถมยังได้อารมณ์ของความเก๋าของเครื่องดื่มรุ่นเก่าด้วย แต่เขาก็ส่งเบียร์สดตามบาร์ด้วย นอกจากกระป๋องและขวดแล้ว ก็ยังหาดื่มได้ตามแทปเบียร์ในบาร์ทั่วเมือง
ดูจากขนาดแล้ว โรงเบียร์แห่งนี้ผลิตไม่มาก น่าจะแค่พอขายในประเทศแคนาดา ไม่มีการผลิตที่ไหนอีก แต่ราคาเขาก็ปกติของเบียร์ที่แคนาดา คือถ้าเบียร์สดในบาร์แก้วขนาด 500-600 cc ก็ราวๆ 6-7 เหรียญแคนาดา (150-180 บาท) ถ้าใส่กระป๋องหรือขวด ก็ถูกลงไปครึ่งหนึ่ง
 
ความมึนเมาถ้าฉลาดจัดการ ก็ไม่เห็นเป็นปัญหาที่ตรงไหน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่กับวัฒนธรรมการกินดื่มของมนุษย์มานานกว่าศาสนาไม่กี่ศาสนาที่มาห้ามการดื่มกิน แต่ก็คงอีกนานที่ประเทศไทยจะเลิกดัดจริตกับเรื่องการดื่ม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"