Skip to main content

อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น

 
การได้รู้จักโรงเบียร์นี้ก็เป็นความบังเอิญอย่างมาก คือเริ่มจากคืนแรกที่ไปถึงโตรอนโต ซึ่งก็ดึกดื่นแล้ว แต่เป็นคืนที่หนาวเหน็บพอสมควร แถมเมื่อไปถึงก็เท่ากับเป็นเวลาเที่ยงวันของประเทศไทย ก็ย่อมหิวโหยเป็นธรรมดา ผมก็เลยเลือกเข้าบาร์ ซึ่งเปิดถึงตีหนึ่งและตีสอง บาร์แห่งหนึ่งอยู่ตรงข้ามที่พักเป็นที่เดียวที่ยังเปิดอยู่
 
นั่งสักพัก ผมก็สั่งเบียร์ชื่อเตะตาชื่อ Steam Whistle ในใจนึกถึงความเป็นเมืองท่าเพราะติดทะเลสาบออนทาริโอ หนึ่งในทะเลสาบขนาดยักษ์ 5 แห่งของทวีปอเมริกาเหนือ ทีแรกนึกว่าชื่อเชื่อมโยงกับเรือกลไฟ ที่ไหนได้ เมื่อจิบไป ดูข้อมูลเบียร์ในอินเตอร์เน็ตไป ก็กลายเป็นว่าที่ตั้งของโรงเบียร์นี้อยู่บริเวณที่เป็นศูนย์กลางสถานีรถไฟของแคนาดามาก่อน แล้วเขามีทัวร์ด้วย ก็เลยคิดว่าต้องไปเยี่ยมชมให้ได้
 
ที่ตั้งโรงเบียร์นี้เป็นอาคารเก่าที่เลิกใช้แล้ว เดิมทีเป็นอาคารที่จอดซ่อมบำรุงหัวรถไฟ* ของศูนย์รถไฟของประเทศเลยทีเดียว เรียกว่าเรือนกลม (Round House) ปัจจุบันเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ในบริเวณนั้นก็คือที่ตั้งหอคอยโตรอนโต ซึ่งถือว่าเป็นหอคอยสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่งทีเดียว
 
การได้นั่งรถรางแล้วเดินไปยังโรงเบียร์แห่งนี้ทำให้ได้เห็นสภาพแวดล้อมบริเวณใกล้ทะเลสาบออนทอริโอ พร้อมๆ กับได้เห็นบรรยากาศที่พักหรูๆ ริมทะเลสาบ หากแต่เมืองก็ไม่ได้ปิดกั้นการใช้พื้นที่หรูหรานี้แต่อย่างใด บริเวณนั้นมีทั้งร้านอาหาร ร้านของชำที่ไม่ได้ราคาโหดร้าย แถมมีโรงเบียร์ที่ราคาปกติกว่าคราฟเบียร์ไทยตั้งอยู่แห่งหนึ่งด้วย
 
เมื่อเข้าไป ก็จะเจอบาร์ของโรงเบียร์ ซึ่งก็ขายเบียร์ชนิดเดียว กับขายของกินเล่นและเอบร์เกอร์ของที่นี่เอง ผมไม่กินอะไรเพราะอิ่มแล้ว เลยซื้อทัวร์ 12 เหรียญแคนาดา จะได้ดื่มแก้วเล็กชิมก่อน แล้วระหว่างเดินก็จะได้ถือเดินจิบไปอีกขวดนึง เดินชมเสร็จก็ได้ชิมแบบไม่กรองอีกแก้วนึง
 
โรงเบียร์แห่งนี้ตั้งโดยคนรุ่นใหม่ อายุสี่สิบกว่าๆ ในปี 1998 สิ่งที่น่าสนใจของสตีมวิสเทิ่ลมีหลายอย่าง
 
อย่างแรกคือ เขายืนยันที่จะทำเบีบร์ชนิดเดียวคือ pilsner ผมเพิ่งสงสัยกับเพื่อนดื่มในกรุงเทพฯ ว่า พิลสเนอร์คือเบียร์อย่างไรกันแน่ พอมาที่นี่ก็เจอกับพิลสเนอร์มากมายของหลายโรงเบียร์ แต่ละแห่งทำรสไม่เหมือนกัน ถามคนนำทัวร์ในโรงเบียร์นี้ เขาก็ให้คำตอบแค่ว่า "ก็เป็นลาเกอร์อย่างหนึ่งนั่นแหละ"
 
ที่สำคัญคือ เขายืนยันว่าจะใช้วัตถุดิบเพียง 4 อย่างคือ น้ำ (จากแหล่งน้ำแห่งหนึ่ง ต้องขนมา) มอลต์ ฮอบ และยีส เท่านั้น ไม่ปรุงแต่งอะไรอีกเลย เมื่อเดินชม ได้ดมกลิ่นมอลต์กับฮอบแล้ว จึงได้รู้ว่า ความสด หอมกลมกล่อม และชวนหลงไหลของเบียร์ของเขา มาจากวัตถุดิบง่ายๆ แค่นี้เอง
 
เบียร์ของที่นี่จึงรสชาติซื่อตรงกับวัตถุดิบมาก ดื่มแล้วสดชื่น ยิ่งความสดใหม่ที่เขาประดันว่าต้องไม่เกิน 3 เดือนหลังบรรจุแล้ว ยิ่งทำให้กลิ่นวัตถุดิบชัดเจน ยิ่งหากดื่มแบบไม่กรอง ซึ่งน้ำขุ่น (ดูจากรูปเทียบกับที่กรองแล้ว ซึ่งปกติเขาจะขายแบบกรองแล้ว) ยิ่งได้รสวัตถุดิบ ได้ความแน่นของเนื้อเบียร์
 
นอกจากนั้น ที่นี่ยังยืนยันที่จะใช้ขวดแก้ว เขาบอกว่าต้นทุนการล้างขวดแก้ว การใช้ขวดแก้วซ้ำนั้น ถูกกว่าการใช้กระป๋อง ขวดแก้วยังน่าจะเป็นภัยกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า แถมยังได้อารมณ์ของความเก๋าของเครื่องดื่มรุ่นเก่าด้วย แต่เขาก็ส่งเบียร์สดตามบาร์ด้วย นอกจากกระป๋องและขวดแล้ว ก็ยังหาดื่มได้ตามแทปเบียร์ในบาร์ทั่วเมือง
ดูจากขนาดแล้ว โรงเบียร์แห่งนี้ผลิตไม่มาก น่าจะแค่พอขายในประเทศแคนาดา ไม่มีการผลิตที่ไหนอีก แต่ราคาเขาก็ปกติของเบียร์ที่แคนาดา คือถ้าเบียร์สดในบาร์แก้วขนาด 500-600 cc ก็ราวๆ 6-7 เหรียญแคนาดา (150-180 บาท) ถ้าใส่กระป๋องหรือขวด ก็ถูกลงไปครึ่งหนึ่ง
 
ความมึนเมาถ้าฉลาดจัดการ ก็ไม่เห็นเป็นปัญหาที่ตรงไหน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่กับวัฒนธรรมการกินดื่มของมนุษย์มานานกว่าศาสนาไม่กี่ศาสนาที่มาห้ามการดื่มกิน แต่ก็คงอีกนานที่ประเทศไทยจะเลิกดัดจริตกับเรื่องการดื่ม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 การที่ประธานรัฐสภาปัดข้อเรียกร้องของประชาชนกว่า 3 หมื่นคน ที่นำโดยคณะนิติราษฎร์และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ด้านหนึ่งนับเป็นความขลาดเขลาของประธานรัฐสภา ด้านหนึ่งสะท้อนความขลาดเขลาของพรรครัฐบาลที่บอกปัดข้อเสนอนี้มาตั้งแต่ ครก.112 เริ่มรณรงค์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่า “เหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะ” ในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี