Skip to main content

วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผมไม่ใช่ว่าผมไม่มีแม่หรอก ไม่ใช่ว่าแม่ผมไม่ดีหรอก ไม่ใช่ว่าผมโตมาโดยไม่ได้ถูกเลี้ยงโดยแม่หรอก ผมมีพ่อมีแม่และโตมากับครอบครัวที่พ่อ-แม่-ลูกอยู่ด้วยกันมาตลอดนี่แหละ แต่แม่ในอุดมคติน่ะดูดีเกินกว่าที่ลูกอย่างผมและอาจจะลูกอีกหลายๆ คนเห็นเป็นความขาดแคลนของตนเอง แต่ที่จริงแม่ในอุดมคติอาจเป็นความฟุ่มเฟือยของชีวิตจริงก็ได้

แน่นอนไม่มีใครรู้ว่าตอนยังแบเบาะเคยกินนมแม่ตัวเองหรือเปล่า แต่แม่ผมไม่ได้ให้นมลูกแน่นอน เพราะผมจำได้ว่าน้องชายผมที่อายุน้อยกว่าผม 4 ปี ไม่ได้กินนมแม่อย่างแน่นอน ยิ่งกว่านั้น แม่ผมยืนยันว่าไม่ได้ให้ลูกกินนมตัวเอง เธออธิบายว่า “แม่มีนมไม่พอ” จะจริงไม่จริงอย่างไรก็ตาม ผมจึงรู้สึกถึงความเป็นลูกต่ำมาตรฐานที่ไม่ได้กินนมแม่มาตลอด

ชีวิตคนปัจจุบันมีมากมายที่แม่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ยิ่งในสังคมครอบครัวขยาย คนทั้งก่อนและก้ำกึ่งกับยุคสมัยใหม่ย่อมรู้ดีว่า ครอบครัวแบบ "พ่อ-แม่-ลูก" น่ะ มันแสนจะเป็นความโรแมนติก (แปลว่า เป็นความฝันหวานแหวว) ของคนชั้นกลางในเมือง

แม่ผมโตขึ้นมาในสังคมกลางเก่ากลางใหม่ ยายผมเล่าว่าเธอเคยนั่งเรือจากบ้านแพน อยุธยา มาท่าเตียนเพื่อไปเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญที่ถนนราชดำเนิน ฉะนั้น จะว่ายายผมและแม่ผมอยู่ในยุคเก่าก็ไม่ถูกนัก แต่แม่ผมทั้งปฏิเสธความเป็นยุคเก่าของแม่เธอ (ยายผม) และก็ยังสานต่อความเป็นยุคเก่าคือภาวะครอบครัวขยาย

แม่ผมโตขึ้นมาในช่วงที่สามียาย คือตาผมซึ่งผมไม่เคยเจอ เสียชีวิตไปแล้วทิ้งลูก 7 คนไว้กับภรรยาเขาคือยายผม ลูกคนเล็กเด็กแฝดสองคนเสียชีวิตไปหนึ่ง (ที่จริงเขามีอีกคนที่เป็นแฝดและเสียชีวิตไปก่อนหน้าหนึ่งคน) เด็กทั้ง 6 คนโตขึ้นมาไม่ใช่ด้วยมือยายผมคนเดียว ยายผมฝากลูกไปอยู่กับญาติๆ สามคนรวมทั้งแม่ผมเคยไปอยู่วัดกับ "หลวงตา" คือพี่ชายตาผมที่บวชเป็นพระตั้งแต่เด็ก

การเป็นเด็กวัดของแม่ผมไม่น่าจะลำบากนักหรอก เพราะหลวงตาผมเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยที่ลำพูน เรื่องราวหลวงตาผมน่าสนใจไปอีกแบบ เอาไว้หาโอกาสอื่นเล่า แต่เรื่องชีวิตแม่ผมคือ เธอเป็นเด็กวัดระดับหลานเจ้าคุณ จึงน่าจะมีชีวิตสะดวกสบายทีเดียว หลังจากนั้นเธอก็ย้ายไปอยู่กับญาติห่างๆ อีกคนที่กรุงเทพฯ แล้วพบกับพ่อผมที่มาเป็นเด็กวัดที่วัดราชา แต่เขาอยู่คนละฐานะกับแม่ผมที่ลำพูนแน่นอน

ถ้าใช้มาตรฐานเพลงค่าน้ำนมและจินตกรรมแม่ที่สร้างกันขึ้นมาทุกวันนี้ ครอบครัวแม่ผมล้มเหลวแน่นอน แต่เพราะเธอไม่ได้โตมากับการโหมประโคมโฆษณาความเป็นแม่แบบเดียวอย่างทุกวันนี้ อย่างที่รุ่นผมถูกกรอกใส่หัวมา แม่ผมก็เลยเลือกรับและปฏิเสธความเป็นแม่เธอได้อย่างที่เธอเองต้องการ

ผมเองโตมากับการที่แม่บอกว่าเธอไม่อยากเลี้ยงลูกแบบยายเลี้ยง คือเต็มไปด้วยความรุนแรง เต็มไปด้วยการด่าทอด้วยคำหยาบคาย ความรุนแรงของยายผมรับรู้มากระทั่งผมกับพี่สาวโตแล้วจนยายเลิกใช้ความรุนแรง ยายผมไม่ค่อยด่าว่าหรือตีหลานหรอก ที่จริงผมกับพี่สาว ซึ่งยายเลี้ยงมาตั้งแต่วัยแบเบาะ (เพราะอะไรเดี๋ยวค่อยเล่าต่อ) ถูกยายตามใจอย่างค่อนข้างมากทีเดียว แต่บางครั้งเวลาที่ยายลงโทษ ก็นึกได้ถึงคำแม่ที่มาบอกทีหลังว่า ทำไมเธอจึงไม่อยากเลี้ยงลูกแบบยายเลี้ยงเธอมา ความเป็นแม่แบบยายผม กับความเป็นแม่แบบแม่ผม จึงแตกต่างกันมากทีเดียว

แต่ด้วยความที่ยายเลี้ยงมาในวัยเด็กด้วย ผมก็เลยคิดว่ายายเป็นแม่อีกคนหนึ่งเสมอมา เมื่อพ่อกับแม่ผมตัดสินใจจะมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เขาไม่มีเวลาและไม่มีที่อยู่อาศัยเพียงพอที่จะให้คนหลายคนมาอยู่ที่บ้านได้ ไม่มีเวลาเลี้ยงผมกับพี่สาวในช่วงโรงเรียนปิดเทอม แล้วสมัยก่อนก็ไม่มีที่รับฝากเลี้ยงเด็ก ถึงมี ก็ไม่มีสวัสดิการรัฐ ไม่มีเงินส่วนตัวพอจะจ่ายให้ใครดูแลเด็กเล็ก

ในช่วงวัยเด็กตั้งแต่ก่อนจำความได้ ผมกับพี่สาวจึงถูกยายเลี้ยงดูมาในเขตชนบทของอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อโตถึงวัยเข้าโรงเรียนแล้ว พ่อกับแม่ก็ย้ายผมกับพี่มาอยู่กรุงเทพฯ แต่เมื่อไหร่ปิดเทอมใหญ่ ก็จะส่งผมกับพี่ไปอยู่กับยาย ไม่ก็ไปอยู่กับย่าและป้าๆ ลุงๆ พี่ๆ ลูกป้าๆ ลุงๆ ที่ริมทะเลบ้านหน้าสตน หัวไทร นครศรีธรรมราช ความที่อยู่กับยายมาตั้งแต่แบเบาะ ตั้งแต่คลานมุดผ้าถุงยายบ้าง น้าๆ บ้าง ก็จึงคิดว่ายายเป็นแม่อีกคนหนึ่ง แล้วก็โตมากับนมผง นมกระป๋อง รู้จักแต่ค่าน้ำนมวัว

เด็กอย่างผมไม่ได้มีความยุ่งยากกับการเผชิญหน้ากับจินตกรรมแม่มากเท่ากับเด็กอีกหลายๆ ที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่มีแม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ แล้วแม่ที่แม่ผมโตมาด้วย กับแม่ของแม่ที่ผมรู้จักก็ต่างกัน ส่วนแม่ผมก็ไม่เป็นแม่แบบยายแน่นอน แต่ความเป็นแม่ที่คับแคบของจินตกรรมแม่ก็คงจะกีดกันความเป็นแม่และครอบครัวที่ไม่ได้ต้องมีแม่ได้เสมอไปหรอก

เมื่อใดที่วันแม่เลิกมีไว้เพื่อลำเลิกบุญคุณอย่างหยาบโลนเพียงเพื่อโยงไปกับแม่อุดมคติบางคนที่ก็อาจจะล้มเหลวในการเป็นแม่ในชีวิตจริงเท่านั้น ลูกจำนวนมากคงนึกสบายใจขึ้นที่จะร่วมระลึกถึงความรักความผูกพัน ความเสียสละ ความเอาใจใส่ดูแล ของคนที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูเรามาในวัยเด็กจนแม้กระทั่งเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"