Skip to main content

เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้ ส่วนตัวผมเอง ระหว่างนั่งดูไป ก็หาวิธีที่จะดูละครเรื่องนี้หลายวิธีด้วยกัน วิธีแรกเลยคือ ผมดูละครเรื่องนี้แบบอ่านนิยายนักสืบแนวแฟนตาซีเพราะเรื่องราวเดินเรื่องด้วยการสืบหาตัวละครตัวหนึ่งที่หายไป วิธีการสืบหามีความแฟนตาซีที่ ทั้งตัวละครเองก็แฟนตาซี และวิธีการเข้าไปสู่เส้นทางของการค้นหาก็แฟนตาซี ลองไปดูกันแก็แล้วกันครับว่าเขาค้นหาใครกัน แล้วสุดท้ายเจอกันหรือไม่ แล้วอย่างไรต่อ 

อีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้ดูคือ ดูว่าละครเรื่องนี้เป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ของอะไรที่นอกเหนือไปจากเนื้อหาตรงไปตรงมาของละคร ละครพูดเรื่องความทรงจำ ละครพูดเรื่องการค้นพบตัวตนด้านอื่นของตัวละคร ละครพูดเรื่องอัตภาวะของคนที่มักไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ละครพูดเรื่องภาวะ disillusion ความตาสว่างเมื่อได้ค้นพบกับอีกด้านหนึ่งของสังคมที่ไม่ได้ถูกเล่า และนั่นชวนให้คิดไปถึงได้ทั้งเรื่องส่วนตัว สังคม และกระทั่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

แต่วิธีที่ผมอ่านอีกแบบคือ อ่านจากคนอ่านนิทาน เพราะละครเรื่องนี้เขียนบทให้เป็นนิทานและมีตัวละครจากนิทานเป็นเค้าโครงเรื่องหลัก ถ้าจะเล่าคร่าวๆ โดยที่จะไม่พยายามเปิดเผยเนื้อเรื่องมากนักก็คือ ในเรื่องมีตัวละครหลักเป็นตัวละครหญิงจากนิทานสี่คนสี่เรื่อง ตัวละครเดินทางเข้าไปในโลกของเรื่องราวในอีดตของตนเองที่ตัวละครบางตัวเองก็ไม่รับรู้ หากแต่เมื่อเข้าไปรับรู้โลกนั้นแล้ว ตัวละครก็มีปฏิกิริยาต่างๆ กันไป 

นักคติชนและนักมานุษยวิทยาอ่านนิทานหลายแบบ เช่น แบบฟรอยด์ที่มุ่งหาปมขัดแย้งทางเพศ หรือแบบหนึ่งคือการแยกชิ้นส่วนของนิทานออกเป็น motif แล้วดูว่าโมทิฟต่างๆ กระจายตัวไปในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างไร อีกแบบคืออ่านหาโครงสร้างของการดำเนินเรื่องของนิทาน คนที่ประสบความสำเร็จในการอ่านวิธีหลังนี้มากที่สุดคือโคลด์ เลวี่-สโตรทส์  

เลวี่-สโตรทส์หาโครงสร้างและความขัดแย้งของตัวละครและโครงเรื่อง เขาพบว่านิทานที่มักดูไร้สาระไม่เป็นเรื่องเป็นราวไม่มีเหตุผล แท้จริงแล้วมีโครงสร้างที่ดูมีเหตุมีผลกำกับอยู่ นิทานมักจะดำเนินเรื่องไปแล้วเกิดความขัดแย้ง หากความขัดแย้งประนีประนอมได้ลงตัว นิทานก็จะดำเนินต่อไป หากไม่เกิดการประนีประนอม ซึ่งมักจะเกิดการตายลงของตัวละคร หรือเกิดเหตุบางอย่างที่แก้ปัญหาไม่ได้ นิทานก็จะจบลง 

ยังมีวิธีอ่านนิทานอีกแบบคืออ่านโดยโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของนิทาน ซึ่งผมมักจะใช้อ่าน ผมจึงดูละครพร้อมอ่านนิทานด้วยวิธีที่ว่า ละครเรื่องนี้ไม่ได้แค่เอา 2 โลกของ fairy tales นั้นมาเจอกัน แต่ยังสร้างโลกใหม่ คือโลกที่ตีความ โลกที่อ่าน โลกที่ประเมินคุณค่าโลกในนิทานทั้งสองนั้นจากทัศนะของผู้ประพันธ์และผู้กำกับละครเรื่องนี้เอง มันจึงเป็นอีกโลกหนึ่ง คือโลกที่ 3 ของการอ่านนิทาน ผมจึงตั้งคำถามว่า ทำไมผู้เล่านิทานทั้งสองด้านนี้จึงตีความ จึงประเมินนิทานแบบนั้น 

นิทานที่ละครเรื่องนี้เอามาเล่าเป็นนิทานพื้นบ้านของยุโรป ส่วนใหญ่มาจากนิทานพื้นบ้านของชาวเยอรมัน เหตุใดพี่น้องกริมม์จึงเก็บนิทานเหล่านี้มาเป็นสิ่งที่คนอ่านนิทานกริมม์มักไม่ค่อยสนใจกันนัก อันที่จริงพี่น้องกริมม์ (วิลเฮล์มและเจคอบ ) ทำงานทางวิชาการด้านคติชนวิทยาและภาษาศาสตร์ ทั้งสองมีชีวิตอยู่ในปลายศตวรรษที่ 18 ถึงกลางศตวรรษที่ 19  

ระยะนั้นมีการศึกษาค้นหาความเป็นชาติเยอรมันจากชีวิตสามัญของชาวเยอรมัน ภายใต้แนวทางของแฮรเดอร์ นักปรัชญาเยอรมันที่เสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมแห่งชนชาติ จนกลายมาเป็นพื้นฐานของแนวคิดชาตินิยมและเป็นพื้นฐานของสาขาวิชาสำคัญ 3 สาขาคือคติชนวิทยา ภาษาศาสตร์ และมานุษยวิทยา พูดง่ายๆ คือ คอลเล็คชั่นนิทานกริมม์เป็นพื้นฐานสำคัญของการค้นหารากเหง้าความเป็นเยอรมันจากคนสามัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา 

ประเด็นคือ เราจะอ่านนิทานกริมม์อย่างไร กริมม์เองใน ค.ศ. ที่ 19 อ่านจากมุมของนักคติชนและนักภาษาศาสตร์ ถือว่านิทานเป็นรากเหง้าของชาติ ไม่ว่ามันจะมีความรุนแงโหดร้าย ป่าเถื่อนในทัศนะของคน ค.ศ. ที่ 21 อย่างไร แต่คนในโลกของนิทานนั้นเองเล่า คนใน ค.ศ. 18-19 หรือก่อนหน้านั้น เขาอ่านหรือฟังนิทานเรื่องเหล่านี้กันอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก ส่วนดีสนีย์ใน ค.ศ. ที่ 20 คงอ่านนิทานที่พวกกริมม์เก็บมาอีกแบบแล้วคิดว่า เล่าเรื่องแบบนี้ไปขายคนอเมริกันที่ฝันเผื่อนอยู่ในชีวิตที่ "ดีงาม" (เฉพาะแต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) เขาจึงดัดแปลงนิทานเหล่านั้นให้เข้ากับบริบทอเมริกันดรีม  

แล้วคนปัจจุบันอ่านนิทานทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นอย่างไร เท่าที่ผมเห็น วิธีอ่านนิทานกริมม์ของละครเรื่องนี้เป็นวิธีอ่านที่ "ปัจจุบัน" จากมุมมอง "สตรีนิยม (สายหนึ่ง)" เป็นการตัดสินนิทาน บทบาทในนิทาน ตัวละครในนิทาน กระทั่งการตีความของตัวละคร "ในละครเรื่องนี้" เองไปสักนิด  

อย่างเช่น การที่ตัวละครบางตัวตกตะลึงเมื่อพบว่าเรื่องดั้งเดิมของเธอนั้น ไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม อีกตัวละครจำต้องจมปลักอยู่กับอดีตอันมืดมนของตนเองจนไม่สามรถกลับไปมีชีวิตในโลกนิทานแสนหวานของเธออีกต่อไปได้ อีกตัวละครเลือกเข้าใจอดีต "อันโหดร้าย" ของเธอแล้วอยู่อย่างตระหนักถึงความจริงพร้อมๆ กับโลกเสมือนแสนหวาน อีกตัวละครลังเลที่จะอยากหรือไม่อยากรู้จักตัวเอง 

ละครเรื่องนี้จึงนำเอาโลกของนิทาน 2 โลก คือโลกของนิทานที่สดใสงดงามจบลงอย่างชื่นมื่น มาปะทะกับโลกของนิทานที่ไม่ได้สวยงามและมักจะจบลงอย่างโหดร้าย พูดง่ายๆ คือ เอานิทาน fairy tales ในเวอร์ชั่นของวอลดีสนีย์ที่คนสมัยนี้คุ้นเคยกันไปทั่วโลก มาวางตัดกับนิทานเรื่องเดียวกันในเวอร์ชั่นเก่าแก่ของพี่น้องกริมม์ เวอร์ชั่นของดีสนีย์ที่จบอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งเสมอ เมื่อมาเจอกับเวอร์ชั่นเก่าที่มีเพียงเค้าโครงบางอย่างของตัวละครเท่านั้นที่ใกล้เคียงกัน แต่บทบาทและเนื้อหาของเรื่องราวที่ดำเนินไปต่างกันลิบลับ 

แต่ไม่เท่านั้น ผู้เล่านิทานสองเวอร์ชั่นนั้นเองก็ยังนำเสนอการตีความ การประเมินคุณค่านิทานทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นแทรกเข้าไปด้วย จนทำให้นิทานทั้ง 4 เรื่องที่ผสมกันออกมาเป็นละครเรื่องนี้เชื่อมโยงไปสู่ระบบคุณค่าใหม่ๆ ของสังคมในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งยังทำให้นิทานทั้ง 2 เวรอ์ชั่นนั้นเป็นอุปมาอุปมัยเล่าเรื่อง เล่าประเด็นอื่นๆ ที่คนในโลกปัจจุบันสนใจ  

จะชอบมุมมองเหล่านั้นของคนทำละครและผู้แสดงหรือไม่ก็ตาม ผมก็ยังคิดว่าละครเรื่องนี้เสนอการอ่านและเล่านิทานอย่างสร้างสรรค์ไปอีกแบบหนึ่ง และท้าทายให้คนดูคิดต่อได้อีกมากทีเดียว 

ละครยังเล่นอีก 2 รอบสุดท้ายในวันนี้ (1 ตุลาคม 2560) ไปสนับสนุนกันได้นะครับที่ Democracy Theatre ถนนพระราม 4

#TheDarkFairyTales #นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 การที่ประธานรัฐสภาปัดข้อเรียกร้องของประชาชนกว่า 3 หมื่นคน ที่นำโดยคณะนิติราษฎร์และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ด้านหนึ่งนับเป็นความขลาดเขลาของประธานรัฐสภา ด้านหนึ่งสะท้อนความขลาดเขลาของพรรครัฐบาลที่บอกปัดข้อเสนอนี้มาตั้งแต่ ครก.112 เริ่มรณรงค์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่า “เหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะ” ในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี