Skip to main content

เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไรจากบทสนทนา ผมจับได้ว่าเธอคงคาดหวังให้ผมตอบอะไรประเภทที่ว่า สังคมควรช่วยกันตรวจสอบการสะกดผิด และคนใช้ภาษาควรใช้ภาษาให้ถูกต้องไม่วิบัติ แต่ผมกลับตอบไปตรงกันข้าม จนทำให้ผมต้องบอกเธอว่า "นี่เป็นความเห็นของผม คุณจะไม่เอาไปพิมพ์ในวารสารของคุณก็ได้นะ"

ผมตอบว่า หนึ่ง สังคมคาดหวังกับเรื่องนี้มากเกินไป การพิมพ์ผิดไม่ได้มีแต่การพิมพ์คะ ค่ะ แต่คำง่ายๆ อื่นๆ อย่าง "เพิ่ง" ก็พิมพ์เป็น "พึ่ง" หรือแม้แต่ผมเอง บางทีก็เขียน "มั้ย" เป็น "ไม๊" ซึ่งผิดหลักการเขียนภาษาไทย แต่คนก็พิมพ์ผิดกันเป็นประจำอยู่แล้ว

ผมว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะมันเป็นการใช้ภาษาอย่างไม่เป็นทางการ ภาษาที่ไม่เป็นทางการ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน มันไม่จำเป็นต้องถูกต้องตรงตามหลักอะไรชัดเจนหรอก ผมถามนิสิตคนนั้นดูว่า "คุณคิดว่าถ้าในระหว่างที่มีการสนทนากัน แล้วใครมาคอยบอกคุณทุกคำควบกล้ำและการออกเสียง "ร" ว่าต้องออกเสียงให้ชัดทุกคำ คุณจะอยากคุยกับเขามั้ย" แล้วผมถามอีกว่า "คุณพิมพ์ "การันต์" ทุกตัว ทุกคำ ในการเขียนบทสนทนากับเพื่อนคุณเหรอ"

ความคาดหวังนี้ ผมว่ามาจากการที่สังคมเรามีสำนึกอำนาจนิยมในการใช้ภาษา ต้องการสร้างความมาตรฐานของภาษาแล้วเอามาตรฐานนั้น ที่กำหนดโดยคนบางกลุ่ม ในกรุงเทพฯ ไปครอบคนใช้ภาษาปากทั่วๆ ไป และคนใช้ภาษาถิ่นอื่นๆ

อีกประเด็น ผมว่าการแยกคำว่า "คะ" กับ "ค่ะ" เป็นภาระของผู้หญิงมากเกินไป ทำไมผู้ชายไม่ใช้ "ครับ" "ขรั่บ" บ้างล่ะ ออกเสียงให้ต่างกันและเขียนให้ต่างกันในการถามและตอบรับบ้างสิ ผมว่ามันเป็นภาระของผู้หญิงที่จะต้องทำเสียงให้แตกต่างออกไป ส่วนผู้ชายสบายกว่า ไม่ว่าจะออกเสียงอย่างไร ก็เขียนแบบเดียวพอ อันนี้เป็นอุดมการณ์เพศที่แบ่งแยกหญิง-ชายในภาษา แยกเพศแบบมีแค่คู่หญิง-ชายเท่านั้นยังไม่พอ ยังไปคาดคั้นให้ผู้หญิงมีความลำบากในการใช้ภาษามากกว่าอีก

ประเด็นสุดท้าย ผมถามเธอว่า "แล้วคุณคิดว่าทำไม "ไ" กับ "ใ" ถึงเขียนไม่เหมือนกัน" เธอตอบว่า "คงเพราะเป็นเอกลัษณ์ของภาษาไทย" ผมบอก ถ้าตอบแค่นั้นมันไม่พอ คุณต้องลองค้นคว้าดูแล้วจะพบว่า "ไ" กับ "ใ" เดิมทีมันออกเสียงไม่เหมือนกัน แล้วคุณจะไปบอกว่าปู่ย่าตาทวดคุณทำไมไม่อนุรักษ์ภาษาไทย ทำไมทำลายภาษาไทย ไม่คงความแตกต่างของเสียงไว้แล้วมาทำให้คนรุ่นหลังสับสนทำไม อย่างนั้นหรือ

เธอถามผมว่า "แล้วอาจารย์คิดว่าเราไม่ต้องทำอะไรเหรอคะ" ผมตอบว่า "ตราบใดที่มันเป็นการเขียนแบบไม่เป็นทางการ ก็ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย ถ้าในการเขียนแบบเป็นทางการ ค่อยว่ากัน มันแค่เป็นคนละบริบทการใช้ภาษากัน ก็ใช้ภาษาไม่เหมือนกัน เท่านั้นเอง"

ภาษาเปลี่ยนแปลงตลอด เราไม่ได้พูดแบบเดียวกันกับที่คนเมื่อร้อย สองร้อยปีที่แล้วพูดหรอก เราไม่ได้เขียนแบบเดียวกับที่คนเมื่อก่อนเขียนเหมือนกันหรอก อย่าไปใช้อำนาจนิยมภาษากับอุดมการณ์ความเป็นเพศแบบตายตัวกำหนดอะไรในภาษาให้มากนักเลย ไม่ต้องคาดคั้นให้คนใช้ภาษาแบบเดียวตลอดเวลาหรอก สังคมไทยมันไม่ล่มสลายเพราะภาษาเปลี่ยนไปทุกวันหรอก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้