Skip to main content

เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไรจากบทสนทนา ผมจับได้ว่าเธอคงคาดหวังให้ผมตอบอะไรประเภทที่ว่า สังคมควรช่วยกันตรวจสอบการสะกดผิด และคนใช้ภาษาควรใช้ภาษาให้ถูกต้องไม่วิบัติ แต่ผมกลับตอบไปตรงกันข้าม จนทำให้ผมต้องบอกเธอว่า "นี่เป็นความเห็นของผม คุณจะไม่เอาไปพิมพ์ในวารสารของคุณก็ได้นะ"

ผมตอบว่า หนึ่ง สังคมคาดหวังกับเรื่องนี้มากเกินไป การพิมพ์ผิดไม่ได้มีแต่การพิมพ์คะ ค่ะ แต่คำง่ายๆ อื่นๆ อย่าง "เพิ่ง" ก็พิมพ์เป็น "พึ่ง" หรือแม้แต่ผมเอง บางทีก็เขียน "มั้ย" เป็น "ไม๊" ซึ่งผิดหลักการเขียนภาษาไทย แต่คนก็พิมพ์ผิดกันเป็นประจำอยู่แล้ว

ผมว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะมันเป็นการใช้ภาษาอย่างไม่เป็นทางการ ภาษาที่ไม่เป็นทางการ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน มันไม่จำเป็นต้องถูกต้องตรงตามหลักอะไรชัดเจนหรอก ผมถามนิสิตคนนั้นดูว่า "คุณคิดว่าถ้าในระหว่างที่มีการสนทนากัน แล้วใครมาคอยบอกคุณทุกคำควบกล้ำและการออกเสียง "ร" ว่าต้องออกเสียงให้ชัดทุกคำ คุณจะอยากคุยกับเขามั้ย" แล้วผมถามอีกว่า "คุณพิมพ์ "การันต์" ทุกตัว ทุกคำ ในการเขียนบทสนทนากับเพื่อนคุณเหรอ"

ความคาดหวังนี้ ผมว่ามาจากการที่สังคมเรามีสำนึกอำนาจนิยมในการใช้ภาษา ต้องการสร้างความมาตรฐานของภาษาแล้วเอามาตรฐานนั้น ที่กำหนดโดยคนบางกลุ่ม ในกรุงเทพฯ ไปครอบคนใช้ภาษาปากทั่วๆ ไป และคนใช้ภาษาถิ่นอื่นๆ

อีกประเด็น ผมว่าการแยกคำว่า "คะ" กับ "ค่ะ" เป็นภาระของผู้หญิงมากเกินไป ทำไมผู้ชายไม่ใช้ "ครับ" "ขรั่บ" บ้างล่ะ ออกเสียงให้ต่างกันและเขียนให้ต่างกันในการถามและตอบรับบ้างสิ ผมว่ามันเป็นภาระของผู้หญิงที่จะต้องทำเสียงให้แตกต่างออกไป ส่วนผู้ชายสบายกว่า ไม่ว่าจะออกเสียงอย่างไร ก็เขียนแบบเดียวพอ อันนี้เป็นอุดมการณ์เพศที่แบ่งแยกหญิง-ชายในภาษา แยกเพศแบบมีแค่คู่หญิง-ชายเท่านั้นยังไม่พอ ยังไปคาดคั้นให้ผู้หญิงมีความลำบากในการใช้ภาษามากกว่าอีก

ประเด็นสุดท้าย ผมถามเธอว่า "แล้วคุณคิดว่าทำไม "ไ" กับ "ใ" ถึงเขียนไม่เหมือนกัน" เธอตอบว่า "คงเพราะเป็นเอกลัษณ์ของภาษาไทย" ผมบอก ถ้าตอบแค่นั้นมันไม่พอ คุณต้องลองค้นคว้าดูแล้วจะพบว่า "ไ" กับ "ใ" เดิมทีมันออกเสียงไม่เหมือนกัน แล้วคุณจะไปบอกว่าปู่ย่าตาทวดคุณทำไมไม่อนุรักษ์ภาษาไทย ทำไมทำลายภาษาไทย ไม่คงความแตกต่างของเสียงไว้แล้วมาทำให้คนรุ่นหลังสับสนทำไม อย่างนั้นหรือ

เธอถามผมว่า "แล้วอาจารย์คิดว่าเราไม่ต้องทำอะไรเหรอคะ" ผมตอบว่า "ตราบใดที่มันเป็นการเขียนแบบไม่เป็นทางการ ก็ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย ถ้าในการเขียนแบบเป็นทางการ ค่อยว่ากัน มันแค่เป็นคนละบริบทการใช้ภาษากัน ก็ใช้ภาษาไม่เหมือนกัน เท่านั้นเอง"

ภาษาเปลี่ยนแปลงตลอด เราไม่ได้พูดแบบเดียวกันกับที่คนเมื่อร้อย สองร้อยปีที่แล้วพูดหรอก เราไม่ได้เขียนแบบเดียวกับที่คนเมื่อก่อนเขียนเหมือนกันหรอก อย่าไปใช้อำนาจนิยมภาษากับอุดมการณ์ความเป็นเพศแบบตายตัวกำหนดอะไรในภาษาให้มากนักเลย ไม่ต้องคาดคั้นให้คนใช้ภาษาแบบเดียวตลอดเวลาหรอก สังคมไทยมันไม่ล่มสลายเพราะภาษาเปลี่ยนไปทุกวันหรอก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน