Skip to main content

คนรุ่นใหม่ครับ... 

ข้อแรก ในยุคของการต่อสู้ของพวกคุณ ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งคือ คุณมีสื่อมวลชนของคุณเอง คือ social media คนรุ่นคุณคือคนที่รู้พลังของมันดีที่สุด คุณรู้ดีว่าลักษณะพิเศษของสื่อใหม่นี้คือการที่คุณสร้างการรวมตัวทางไกลได้ คุณสร้างความเคลื่อนไหวที่เผด็จการไม่สามารถเด็ดหัวทิ้งง่านๆ ได้ เพราะมันเป็นการเคลื่อนไหวแบบ "รากฝอย" (ถ้าอ่านหนังสือบ้างก็คงรู้นะว่าที่มามันมาอย่างไร) การเคลื่อนไหวของคนรุ่นคุณมันจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่ป่วนเผด็จการได้ดีกว่าคนรุ่นเก่าด้วยซ้ำ

 

ข้อสอง แต่คุณอย่าไปอ่อนไหวกับสื่อใหม่นี้มาก คุณอย่าไปหล่อเลี้ยงตัวตนคุณด้วยสื่อนี้เลย คุณอย่าไปคิดว่าการเป็น influential persons ต้องได้มาด้วยการเป็น celebrity สิ คุณอยากทำแค่ดังชั่วช้ามคืนแล้วดับไปอีกนานเหรอ คุณทำอะไรได้ไกลและลึกกว่านั้นเยอะ ขอให้คุณคิดถึงขบวนการระยะยาว ค่อยๆ สู้ไป ถ้าริจะทำงานใหญ่แล้วก็อย่าอ่อนแอสิครับ ขออย่าได้คอยออดอ้อนมวลชนด้วยโซเชียลมีเดียจนเสียขบวนการสิครับ คิดถึงคนอื่นและโลกที่คุณคาดหวังระยะยาวให้มากเข้าไว้ คุณไม่ได้อยากจะมีชีวิตอยู่แค่ชั่วดราม่าที่ปัจจุบันนี้ไม่เกินสัปดาห์เดียวกับหมดอายุไขแล้วไม่ใช่เหรอ  

 

ข้อสาม เราต่างรู้กันดีกว่าเราต่อสู้เพื่ออนาคตของเราเอง และในบางจุด เราปะทะกันบ้าง แต่ถึงจุดของการเคลื่อนไหวที่ต้องการขบวนการขนาดใหญ่ เราต้องยอมอ่อนข้อกับการสร้างแนวร่วมขยายเครือข่ายบ้าง อย่าจุกจิกกับเรื่องเล็กน้อยมาก อย่าทำตัวเป็นไม้บรรทัดกับทุกสิ่ง คุณดูสิ คนที่ทำตัวเป็นไม้บรรทัดทุกสิ่งน่ะ ทุกวันนี้เขาสร้างขบวนการอะไรได้ เขาเองยังแทบเอาตัวไม่รอด ถ้าจะสู้กับอะไรใหญ่ๆ ก็ขอให้รู้จักฟังบ้าง และบางครั้งก็ต้องกล้ำกลืนเก็บหลักการอันแข็งแกร่งของตัวเองไว้ในใจบ้าง อย่างน้อยก็ในระยะที่เรายังอหังการที่อาจจะเป็นไปอย่างผิดๆ ว่าหลักการอันแข็งแกร่งของเรายังไม่มีใครหยั่งรู้กี่มากนัก

 

ข้อสี่ พวกคุณควรประเมินสถานการณ์ของตนเอง สร้างประวัติศาสตร์ของตนเอง การเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ไม่มีทางเหมือนกัน โลกปัจจุบันนี้แค่ 10 ปีก็จำกันไม่ได้แล้วว่า 10 ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น เพราะเงื่อนไขไม่เคยเหมือนกัน แต่แน่นอน เราสรุปบทเรียนจากที่อื่นหรือยุคอื่นมาเพื่อการเคลื่อนไหวของเราเองได้ แต่อย่ายึดติดข้อสรุปอย่างตายตัว เรื่องแบบนี้มันไม่ต่างจากการทำงานทางวิชาการ หรือการทำงานสร้างสรรค์ต่างๆ เราต้องรู้แนวทางทั่วไปพร้อมๆ กับรู้ข้อจำกัดเฉพาะตัวของเรา ต้องคิดว่าเงื่อนไขเฉพาะของเราคืออะไร แล้วจะเอาบทเรียนจากคนในอดีต จากคนที่อื่น มาต่อยอดพัฒนาการเคลื่อนไหวของเราเองอย่างไร

 

คนรุ่นเก่าครับ...  

 

ข้อแรก ขอทีเถอะครับ อย่าถามซ้ำซากว่า "คนรุ่นใหม่ทำอะไร" "คนรุ่นใหม่หายไปไหนในการต่อสู้ทางการเมือง" คนทุกรุ่นเขามีแนวทางการดิ้นรนของเขาเอง คนแต่ละรุ่นมีการเมืองในขอบเขตของเขาเอง พวกคุณคงตกยุคแล้วที่ไม่รู้ว่าการเมืองมันมีมากกว่าที่คุณเข้าใจ การเมืองทางการมันเป็นแค่การเมืองเดียวที่คนรุ่นคุณคาดหวัง  

 

ถ้าคุณก้าวผ่านยุคการเมืองของ "ซ้ายใหม่" มา คุณน่าจะรู้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1970 มาแล้วที่การเมืองมันกระจัดกระจายและเป็นเรื่องระยะยาว คุณจะคาดหวังว่าคนรุ่นใหม่จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันในแบบคนรุ่นคุณทำน่ะเหรอ นั่นแสดงว่าคุณไม่เข้าใจว่าการเมืองสมัยนี้มันซับซ้อนกว่ายุคของคุณมากแล้วล่ะ ไม่มีการโค่นล้ม การปฏิวัติใด ที่นำไปสู่สังคมที่ดีกว่าในทุกด้านอย่างแท้จริงอีกต่อไป ถ้าคุณยังคาดหวังให้คนรุ่นใหม่ลุกฮือต่อสู้ในแนวทางที่คุณต้องการ แสดงว่าคุณล้มเหลวในการประเมินการเมืองปัจจุบัน

 

ข้อสอง แทนที่คุณจะถามคนรุ่นใหม่ คุณควรจะถามตัวเองว่า "แล้วคุณล่ะทำอะไรบ้าง" "แล้วพวกคุณหดหัวไปอยู่ที่ไหนล่ะ" สำหรับคนรุ่นเก่าที่คอยฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่น่ะ พวกคุณเป็นคนไม่รับผิดชอบต่อสังคมที่คุณอยู่ไม่น้อยไปกว่าคนรุ่นใหม่ที่เฉยเมยหรอก  

 

ทุกวันนี้คนเราไม่ตายกันง่ายๆ สักที พวกคุณคนรุ่นเก่าจะเป็นประชากรหลักของสังคมชราภาพ อนาคตอันใกล้และอีกไกลมันไม่ใช่อนาคตของคนรุ่นใหม่เท่านั้นหรอก แต่มันจะมันอนาคตของพวกเราที่กำลังก้าวสู่ภาวะชรานี่แหละ ถ้าคุณไม่ออกมาสู้ด้วยตนเอง ก็อย่าผลักภาระเสี่ยงให้กับคนรุ่นใหม่ ขอร้องว่า ถ้าคุณไม่เรียกร้องกับตนเองเสียก่อน ก็ไม่ต้องไปคาดหวังคนรุ่นใหม่

 

ไม่ว่าจะรุ่นไหน ถ้าไม่ร่วมกันสู้ เราก็จะต้องอยู่ใต้เงื่อนไขกะลาแคบๆ กันต่อไป

 

ด้วยรักและนับถือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน