Skip to main content

คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 

งานเริ่มด้วยการฉายหนังสยองขวัญที่มีชั้นเชิงพอสมควรเรื่อง "ผีสามบาท ตอน ท่อนแขนนางรำ" ที่สร้างจากเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ แล้วนักศึกษาก็ชวนแลกเปลี่ยนเรื่องหนัง ว่าจะลองวิเคราะห์ได้อย่างไรบ้าง  

 

ผมก็ลองวิเคราะห์ไป ด้วยวิธีแบบโครงสร้างนิยมบ้าง ด้วยแนวคิดแบบความขัดแย้งเชิงชนชั้นบ้าง ด้วยแนวคิดแบบผีขวัญในของกำนัลบ้าง จะเล่าให้ครบก็จะยืดยาวเกินไป ขอเล่าเรื่องอื่นดีกว่า

 

แต่เริ่มแรกเลยก่อนสนทนาเรื่องหนัง นักศึกษาถามว่า "อาจารย์ศึกษาเรื่องเวียดนาม ทำวิจัยที่เวียดนาม ที่นั่นมีผีไหมคะ" 

 

นี่เป็นคำถามใหญ่มาก แน่นอนว่าเวียดนามมีผี ทุกที่ผมก็ว่ามีผีทั้งนั้นแหละ เพราะทุกที่มีคนตาย เพียงแต่ ผมพยายามนึกดู นึกย้อนกลับไปว่า ผมเคยเจอผีไหม ผมคิดว่าผมไม่เคยเจอผี เจอแต่ปรากฏการณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจอคนวิเศษที่เหนือมนุษย์ธรรมดา อะไรแบบนี้เคยเจอ แต่ไม่เคยเจอปรากฏการณ์ผี

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่กลัวผี ผมกลัวผี ผมบอกว่า ถ้าจะถามว่าผมนับถือศาสนาอะไร ศาสนาที่ผมอยากนับถือที่สุดคือศาสนาผีนี่แหละ ผมถือผี เมื่อก่อนผมเคยเจอปรากฏการณ์ผีอำอยู่บ่อยๆ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเป็นแล้ว ผมว่าส่วนหนึ่งมาจากความเครียด ส่วนหนึ่งมาจากร่างกาย 

 

แต่เวลาผีอำแต่ละที ผมก็ตกใจนั่นแหละ เพียงแต่ไม่คิดว่ามันเป็นการกระทำของผี แล้วผมก็จะพยายามสะกดความคิดตัวเองว่า ไม่ให้ท่องบทสวดของพุทธศาสนา เพราะผมกลัวพุทธศาสนาครอบงำมากกว่ากลัวผีอำ

 

กลับไปที่มานุษยวิทยา เมื่อคืนวานผมพยายามยกตัวอย่างสั้นๆ ความรู้มานุษยวิทยาทุกยุคทุกสมัยหมกมุ่นกับผีมากอย่างไร เช่น ย้อนไปถึงยุคเจมส์ เฟรเซอร์ เขาอธิบายว่าผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อที่คนสมัยก่อนมีเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พวกเขาเข้าใจเอาเองว่ามันเป็นอย่างนั้น คือ ผีเป็นวิธีหนึ่งที่คนสมัยก่อนอธิบายโลก เมื่อมีวิทยาศาสตร์แล้ว วิทยาศาสตร์ก็มาอธิบายโลกแทน

 

ยุคต่อมา ปรมาจารย์อย่างเอมิล เดอร์ไคม์เขียนหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตเขาว่าด้วยเรื่องศาสนา ซึ่งแท้จริงก็คือเรื่องผีนั่นแหละ ว่าผีก็คือสังคม สมการผี=สังคมมาจากการที่ผีคือพลังลึกลับของสังคม เ็นสัญลักษณ์ที่มีพลังดึงดูดทางจิตวิทยาในระดับชุมชน ระดับสังคม แล้วถูกถ่ายทอดให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์ที่เป็นรูปบูชา 

 

เดอร์ไคม์ในภาคนี้เป็นภาคที่เซอร์เรียล เด็มไปด้วยสัญวิทยาและการตีความ ต่างจากเดอร์ไคม์ภาควิทยาศาสตร์และสถิติ ที่นักสังคมวิทยามักให้ความสำคัญกัน เดอร์ไคม์ภาคนี้ส่งอิทธิพลต่อนักมานุษยวิยารุ่นต่อๆ มาอีกหลายคน ที่ขบคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์แะลสิ่งสาธารณ์ต่อจากเขา 

 

เช่น มาร์เซล โมส ที่พูดเรื่องของขวัญ ซึ่งมีวิญญาณของเจ้าของอยู่ หรือแมรี ดักลาส ที่พูดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากการรับรู้ต่อสิ่งที่อยู่ในสภาวะกำกวม ก้ำกึ่ง ไม่เสถียร สุ่มเสี่ยง 

 

ไปจนกระทั่งนักคิดอย่างจอร์จ บาไตล์ ที่เสนอความคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจทั่วไป ซึ่งต้องนับรวมทั้งการทำลายล้างหรือการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยไร้เหตุผล ว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าการผลิตและการคิดคำนวณอย่างสมเหตุสมผล แนวคิดนี้น่าจะมีอิทธิพลต่อปิแอร์ บูดิเยอร์ในยุคต่อมาไม่น้อยทีเดียว

 

ทางด้านของการต่อต้านการควบคุมของสังคมเองก็ใช่ย่อย เช่น มาร์กซ ที่เสนอว่าศาสนา ซึ่งผีก็เป็นหนึ่งในนั้น ถูกใช้เป็นยาฝิ่นหลอกลวงเพื่อควบคุมคน แต่สำหรับงานแนวฟูโกเดียน หรือนักรัฐศาสตร์ที่นักมานุษยวิทยาชองเอางานเขามาใช้อย่างเจมส์ สก็อตต์ ก็เสนอว่า ผู้ถูกกดขี่ก็อาจพลิกผีกลับมาใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านอำนาจได้เช่นกัน 

 

ในงานยุคหลังจากหลังโครงสร้างนิยม อย่างบรูโน ลาตูร์, ฟิลลิป เดสโกลา, และดอนนา ฮาราเวย์ ผีเป็นภาวะพ้นมนุษย์ที่ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ โดยไม่ควรพยายามลากเข้าสู่วิธีคิดที่ยังยึดเอามนุษย์และวิธีคิดแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง นอกเหนือจากการเข้าใจโลกจากมุมของสัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ มากกว่าจากมุมของมนุษยนิยมแล้ว การหามุมมองของผีที่หลุดออกจากวิธีคิดแบบเดิมเป็นความมุ่งมั่นของพวกเขา

 

สำหรับงานของผมเอง ไม่ว่านักมานุษยวิทยาคนอื่นจะทำงานกับอะไร แต่ผมเอง งานเขียนเกี่ยวกับคนไตของผมอยู่กับผีตลอด ผมชอบไปป่าช้า ผมชอบไปงานศพ อะไรที่เกี่ยวกับความเข้าใจเฉพาะตนของชาวไต มักจะเกี่ยวกับผี ผีอยู่ทั้งในชีวิตประจำวันและยิ่งอยู่ในพิธีกรรมของชาวไตที่ผมรู้จัก ผมคิดว่า โลกคนกับผีของชาวไตเป็นโลกแบบ magical realism อย่างยิ่ง

 

มาร์กซกับเองเกลส์พูดเป็นประโยคแรกใน "คำประกาศพรรคคอมมิวนิสม์" ว่า "ผีตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป นั่นคือผีคอมมิวนิสม์" มาร์กซและเองเกลส์คงไม่รู้ว่า ใน พ.ศ. นี้ ผีตนนั้นยังหลอกหลอนชนชั้นนำไทยอยู่เลย ภาวะผีจึงเป็นภาวะที่พ้นการจัดการของสังคม ตราบใดที่ยังมีภาวะเหนือการจัดการของมนุษย์อยู่ ก็ยังมีภาวะผี ไม่ว่าผีตนนั้นจะอยู่ในรูปใด

 

ผมว่า ที่นิชเชอบอกว่า "พระเจ้าตายแล้ว" น่ะ ก็คงจริงอยู่กับคนส่วนน้อยมากๆ อยู่นั่นเอง เพราะความสำนึกต่อการมีอยู่ของผียังคงหลอกหลอนผู้คนอยู่เสมอ ที่แน่ๆ คือ สำหรับนักเรียนมานุษยวิทยา ผีหลอกหลอนวิชานี้ตลอดเวลา นี่ทำให้ผมเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยประการหนึ่งคือ วิชามานุษยวิทยานั้นหมกมุ่นกับผีมาก ถ้าไม่มีผี วิชามานุษยวิทยาคงอยู่ไม่ได้  

 

แต่นอกจากความกลัวที่คนมีต่อผีแล้ว ผมว่าผีเป็นสิ่งน่ากลัวที่พิเศษอยู่อย่างคือ คนกลัวผีแต่ก็ชอบผี เรากลัว แต่ก็อยากเจอ อยากเห็น คนชอบเรื่องผี คนพึ่งพิงผี คนไม่อยากอยู่ใกล้ แต่ไม่ได้รังเกียจผีขนาดที่จะต้องกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วเลิกกลัวผีกันไปหมด เป็นไปได้ที่ผีจะมีพลังเร้นลับบางอย่างที่อาจจะคอยแอบสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยู่เงียบๆ ไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมมนุษย์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน