Skip to main content

ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 

ผมในวันนี้ วัยย่าง 56 ขวบปี ผ่านช่วงวัยที่ต่อสู้กับความล้าหลังของคนรุ่นก่อนหน้ามามาก ผมโชคดีหน่อยที่บรรดาครูของผมจำนวนหนึ่ง ลงแรงเรียนรู้ไปกับศิษย์ แต่ก็มีครูจำนวนมากที่ล้าหลังเหนี่ยวรั่งการเรียนรู้ของศิษย์ 

ในทศวรรษ 2530 ที่เริ่มเรียนบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโท ด้วยการเรียนในไทยใต้บรรยากาศกดทับของคนรุ่นเก่ามากมาย (จะมียกเว้นก็แต่ครูของผมจำนวนหนึ่ง) 

ผมจึงปวารณาตนเองว่า เมื่อมาเป็นครูผู้สอนแแล้ว จะต้องไม่ทำแบบเดียวกับที่ผมและเพื่อนๆ รุ่นพี่รุ่นน้องใกล้เคียงกันถูกกระทำมาอย่างเด็ดขาด 

เมื่อเรียนจบกลับมา ผมถูกคำถามใหม่ๆ มากมายจากนักศึกษาทุกระดับชั้นปี ผมเห็นอดีตของตัวเองในพวกเขาเหล่านั้นว่า คนรุ่นใหม่ๆ เขาหิวกระหายความแปลกใหม่ที่ตอบโจทย์ของชีวิตเขาอยู่เสมอทุกรุ่น 

สมัยผม ผมกับเพื่อนๆ อ่านหนังสือล้ำหน้าอาจารย์ไปนับสิบปี นี่ไม่ใช่จะคุยโม้ แต่มันมีเหตุผลที่อธิบายได้ว่า นั่นเป็นเพราะ 

(1) อาจารย์ยุ่งกับงานสอน งานวิจัย และงานบริหารมากกว่านักศึกษา จึงเห็นอะไรใหม่ๆ ช้ากว่านักศึกษา 

(2) การเรียนรู้ของอาจารย์ต้องมีการวางรากฐานอย่างมั่นคง จึงมักอาศัยเวลามากกว่านักศึกษา 

(3) อาจารย์สนใจสานต่อโจทย์วิจัยในยุคเก่าของตนเอง มากกว่านักศึกษาที่มุ่งแสวงหาอะไรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ในรุ่นของตนเองเสมอ

อย่างไรก็ตาม สมัยเป็นนักศึกษา ผมและเพื่อนๆ ก็ยังไม่มีทักษะและพื้นฐานที่ดีพอที่จะเข้าใจงานใหม่ๆ ในสมัยนั้น 

แต่ครูอาจารย์ที่สอนเราอยู่ก็มีน้อยเกินไปที่จะมาร่วมเรียนรู้และชี้นำเราได้ ยิ่งที่จะเสี่ยงมาดั้นด้นหาความรู้ใหม่ยิ่งน้อยยิ่งกว่า

เมื่อจบปริญญาเอกจากอเมริกากลับมา นักเรียนผมไม่ว่าจะในระดับการศึกษาไหน มีคำถามมากมายที่ผมตอบไม่ได้ ยิ่งระดับ ป. โท ป.เอก ยิ่งถามอะไรที่ซับซ้อนเกินกว่าความรู้ของผม 

เช่น ในยุคอินเทอร์เน็ต มีนักศึกษาถามผมว่านักมานุษยวิทยาจะศึกษาสังคมออนไลน์ได้อย่างไร คำถามนี้อาจารย์ผมคนหนึ่งที่เป็นหนึ่งในปรมจารย์ด้านสื่อศึกษาในทศวรรษ 1990 ยังตอบไม่ได้เลย

ทางที่ผมเลือกคือ ขอเรียนรู้ร่วมไปกับพวกเขา ไม่ว่าจะในแง่ข้อมูล วิธีการศึกษา ทฤษฎี และหลักปรัชญาพื้นฐาน 

สิ่งที่คนผ่านการเรียนปริญญาเอกมาแล้วมีคือ อย่างน้อยในสาขาวิชาที่เราจบมา เรารู้ว่าจะปูพื้นฐานให้คนอย่างไร และสำคัญที่สุดคือ จะนำความรู้จากแนวคิดใหม่ๆ ไปสู่การวิจัยที่ได้ความรู้ใหม่ๆ อย่างไร

เพียงแต่ว่า เมื่อเจอกับปรากฏการณ์ที่เกินความรู้ของเรา เจอกับวิธีคิดใหม่ๆ ที่เราไม่ได้เรียนมา คำถามคือ ฐานความรู้ของเราครูบาอาจารย์รุ่นเก่า จะส่งเสริมให้เกิดความรู้ใหม่ๆ แก่นักวิชาการรุ่นใหม่ๆ อย่างไร 

วิธีหนึ่งที่ผมทำคือ ปล่อยให้นักศึกษาเป็นตัวของตัวเองตามความสนใจของเขาอย่างเต็มที่ แต่วิธีที่ควรทำควบคู่กันคือ สร้างคนให้พร้อมเรียนรู้ตั้งแต่มัธยมปลาย

อีกวิธีคือ ผมจะลงแรงเรียนพร้อมพวกเขา บ่อยครั้งที่ผมให้ นศ.เลือกเองว่าจะเรียนอะไร แล้วมาจัดตารางสอนร่วมกัน

ฝากถึงอาจารย์รุ่นเก่าว่า ขออย่าดูถูกความรู้ของนักเรียนรุ่นใหม่ๆ เลย ขอให้พยายามผลักดันให้นักเรียนก้าวหน้าไปไกลกว่าตนเองด้วยฐานความรู้ที่ท่านมี 

ขออย่าเอาขีดจำกัดความรู้ของตนเอง มาปิดกั้นความกระหายใคร่รู้และแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่ทันโลกวิชาการและปรากฏการณ์ปัจจุบันเลย
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์