Skip to main content
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน)
 
คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอาวัฒนธรรมอาหารตนเองไปเป็นตัววัดอาหารคนอื่น
ข้อเขียนของเพจ อดีตกินได้ ล่าสุด (ติดตามอ่านที่นี่) ชี้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างตรงไปตรงมา เข้าประเด็นอย่างแรง
ข้อเขียนนั้นทำให้ผมคิดถึงเรื่องผัสสะที่ไกลไปกว่าเรื่องอาหารไปได้อีกมาก ด้วยการใช้มโนทัศน์ต่างๆ ข้างต้นนั้น ผมจึงอยากขยายความเพิ่มอีกสักเล็กน้อยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน
 
เคยมีนักวิชาการอาหารคนสำคัญของไทยเล่าถึงอาหารชุดหนึ่งในเวียดนาม ที่เวียดนามเองก็ไม่มีคำเรียกรวม แต่นักวิชาการท่านนี้เรียกอาหารกลุ่มนี้ว่า ขนมครก ด้วยความที่ต่างก็ปรุงสุกด้วยภาชนะปรุงอาหารที่เป็นถาดหลุมมีฝาปิดตั้งไฟ
 
แต่ถ้าไล่เรียงดูอาหารที่ปรุงด้วยภาชนะนี้ของเวียดนาม แต่ละจานล้วนแตกต่างกันอย่างยิ่งในวิธีกิน เครื่องปรุง มื้ออาหาร และความคาวความหวาน รวมทั้งการใช้ความร้อนที่อาหารบางจานก็นึ่งไม่ใช่กึ่งอบกึ่งทอด อาหารเหล่านี้จึงเทียบกันไม่ได้เลยกับขนมครกในความเข้าใจของชาวสยาม
การเปรียบเทียบอาหารในประเทศไทยเองแต่ต่างถิ่นกัน ซึ่งเรารู้กันอยู่ว่าไม่ได้มีเอกภาพทางวัฒนธรรม และไม่ได้มีเอกภาพทางภาษา รวมไปถึงว่ายังมีความหลากหลายของความคิดความอ่านความเชื่อและอำนาจทางการเมือง ก็ต้องระวังอย่างยิ่งเช่นกัน
 
หากเราเชื่อในการรักษาไว้ซึ่งความเฉพาะถิ่น เชื่อในสุนทรียะของความแตกต่าง เชื่อในคุณค่าของการเรียนรู้ที่จะเข้าใจความแตกต่าง เราก็ไม่ควรละเลยการเข้าใจประเด็นอัตวิสัยของผัสสะ (sensory subjectivity) อย่างลึกซึ้ง ทั้งในเชิงปรากฏการณ์วิทยาของการลิ้มรส และการเมืองของผัสสะ
พ้นไปจากเรื่องอาหาร 
 
ประเด็นเดียวกันนี่โยงไปได้ถึงเรื่องการมอง อย่านำเกณฑ์ความงามตามจริตของเราไปตัดสินคนอื่น (ว่าชาติอื่นว่าแต่งตัวลิเก เท่ากับดูถูกทั้งลิเกและชาติอื่น) อย่านำเกณฑ์การฟังของตนเองไปตัดสินคนอื่น (เพลงแรปฟังไม่รู้เรื่อง หนวกหู) อย่านำเกณฑ์การดม รสชาติ การสัมผัส ไปตัดสินคนอื่น อย่าเอาวิธีจัดความสัมพันธ์ผัสสะของเราไปวัดคนอื่น อย่าติดกับดัก 5 ผัสสะที่เรารับอิทธิพลมาจากชาวกรีกโบราณ
 
ดังนั้น สำหรับผู้ที่ทำงานด้านวัฒนธรรม หากไม่ต้องการผลิตซ้ำอาณานิคมทางผัสสะ ก็ไม่ควรใช้ระบบการจัดประเภทผัสสะของเราเอง (sensory categories) ไปจัดประเภทผัสสะของผู้อื่น ควรตระหนักและระแวดระวังการเอาผัสสะตนเองเป็นศูนย์กลาง (sensory ethnocentrism) ด้วยการเข้าใจผัสสะอื่นๆ ผ่านฐานความเข้าใจผัสสะตนเองไปเสียทั้งหมด ระวังการใช้อคติทางผัสสะ (sensory bias) ในการเข้าใจจัดการผัสสะคนอื่น
 
หากไม่ตระหนักถึงปัญหาทั้งหมดนั้น ก็อาจนำมาซึ่งหรือแฝงอยู่ด้วยโครงสร้างอำนาจแบบมีกรุงเพทฯ สยาม ภาคกลางเป็นศูนย์กลางอำนาจ และการสถาปนากรุงเทพฯ สยาม ภาคกลางเป็นเจ้าอาณานิคมทางผัสสะ (sensory colonization)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์