Skip to main content
จีรนุช เปรมชัยพร
26 มิถุนายน 2552 เป็นอีกวันที่ต้องตื่นเช้า เพื่อเตรียมพบกับประสบการณ์ใหม่ การรายงานตัวที่สำนักงานอัยการตามนัดหมายการสั่งคดี หลังจากที่เจ้าพนักงานสอบสวน(ตำรวจกองปราบ) ได้นัดหมายส่งสำนวนคดีให้กับอัยการเมื่อวันทีี่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ประสบการณ์การรายงานตัวเพื่อรับฟังการสั่งคดี รวดเร็วเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที เนื่องด้วยอัยการได้สั่งสอบข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้เลื่อนการสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 29 กรกฎาคม แทน (เร็วชนิดที่เพื่อนๆที่จะตามมาเป็นเพื่อนมาให้กำลังใจมากันไม่ทันค่ะ เลยต้องเปลี่ยนเป็นการกินอาหารเช้าร่วมกันแทน) ในฐานะที่ตกเป็นผู้ต้องหา และต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ใกล้ชิดแบบคิดไม่ถึงเช่นนี้ ถือเป็นโอกาสที่จะบันทึกเป็นเรื่องเล่าและเรื่องราว เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง สำหรับท่านอื่นๆที่ต้องจับพลัดจับผลูไปอยู่เฉียด ๆ คุกตะราง นับจากวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2552 วันยากจะลืมของตัวเองจากประสบการณ์ถูกบุกจับถึงสำนักงานประชาไท เป็นปฏิบัติการเงียบชนิดที่ตัวเองยังงง ๆ เลยว่า จากสถานะของการเป็นพยานอยู่ดี ๆ ได้แปรเปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาไปเสียแล้ว ด้วยข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 15 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คือ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมา โชคดีที่การจับกุมตัวเองได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแล้วเสร็จภายในสองทุ่มเศษของวันนั้นจึงไม่ต้องไปแกร่วค้างคืนในห้องขัง เนื่องจากหมดเวลาราชการและตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์พอดี ดังที่ได้ยินเรื่องเล่าในลักษณะสะเทือนขวัญมามาก (มีเพื่อนต่างชาติบอกด้วยว่า ทริคแบบนี้มีเกือบทุกประเทศ ไม่เฉพาะเมืองไทยของเรา..ฟังแล้วเศร้า) อันที่จริงการได้สิทธิประกันตัวโดยไม่ติดเงื่อนไขระบบราชการควรเป็นสิทธิพื้นฐานปกติที่ไม่ต้องให้ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาต้องสวดภาวนาหาโชคเป็นการพิเศษ ผ่านไปเกือบเดือนพนักงานสอบสวนแจ้งผ่านมาทางทนายความเพื่อนัดหมายไปพบอีกครั้ง โดยทั้งทนายและตัวเองสะดวกวันที่ 7 เมษายน จึงแจ้งยืนยันว่าจะไปพบตามที่พนักงานเจ้าของคดีแจ้งมา แล้วก็เป็นอีกครั้งที่ต้องเกิดอาการเข็มขัดสั้น เพราะจากที่คิดว่าคงเป็นการสอบปากคำเพิ่มเติมเท่านั้น กลับกลายเป็นแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 9 กระทง โดยสาเหตุมาจากกระทู้ในเว็บบอร์ดประชาไทจำนวน 9 กระทู้ ที่โพสต์ไว้ตั้งแต่ช่วง เมษายน-สิงหาคม 2551 และทั้งหมดก็ถูกลบออกไปนานแล้ว รวมทั้งสิ้นข้อกล่าวหาที่มีติดตัวทั้งหมดมี 10 กระทง ในข้อหาเดียวกัน (ลองนับนิ้วดูกับเพื่อน ๆ ถ้าถูกตัดสินด้วยโทษสูงสุดชนิดคูณสิบ ก็จะได้ประมาณว่าจำคุกไม่เกิน 50 ปี และปรับเต็มที่ไม่เกินล้านบาท - -" โชคดีได้ยินมาว่าเขาไม่ใช้วิธีคูณหรือบวกโทษแบบนี้) ล่วงเลยมาอีกเดือนเศษพนักงานสอบสวนได้แจ้งผ่านมาทางทนายเพื่อจะนัดหมายส่งสำนวนคดีและผู้ต้องหา(ซึ่งคือข้าพเจ้าเอง -_-' ) ให้แก่อัยการ โดยตกลงกับทางพนักงานสอบสวนได้วันที่ตรงกับวันสะดวกผู้ต้องหา, ทนาย และที่สำคัญของอาจารย์ฉันทนา บรรพศิริโชค หวันแก้ว ผู้กรุณาเป็นนายประกันให้ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวน ได้ข้อสรุปว่าจะไปรายงานตัวให้พนักงานสอบสวนส่งมอบตัวให้อัยการแต่โดยดีในวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา บ่ายสองโมงวันที่ 1 มิถุนายน ตัวเองพร้อมทนายความ, อ.ฉันทนา ผู้เป็นนายประกัน, พี่สาวที่เตรียมหลักฐานมาเผื่อจะต้องเป็นนายประกันสำรอง หากมีการกำหนดวงหลักประกันในชั้นอัยการเพิ่มขึ้นจากในชั้นพนักงานสอบสวน และเพื่อน ๆ ที่มาเป็นกำลังใจอีกกว่าสิบคน กระบวนการเริ่มต้นจากการไปลงลายมือชื่อเพื่อรายงานตัว พร้อมนายประกัน โดยทางสำนักงานอัยการได้ดำเนินการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอัยการ รออยู่ที่สำนักงาน(จำชื่อฝ่ายงานไม่ได้แล้ว) ที่ดูเหมือนจะเป็นด่านหน้าของการรับคดีและจ่ายคดีไปยังฝ่ายย่อย ๆ ให้ดำเนินการอีกที ผ่านไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ไปติดต่อที่สำนักงานอัยการพิเศษผ่ายคดีอาญา 8 ซึ่งเป็นส่วนงานที่จะรับผิดชอบในคดี  นิติกรของฝ่ายอาญา 8 รับสำนวนและดำเนินการทั้งการประกันตัว พร้อมนัดหมายเพื่อมารายงานตัวในการนัดสั่งคดี ได้ข้อสรุปว่าเป็น 9 โมงเช้า วันที่ 26 มิถุนายน 2552 กระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงอีกเช่นกัน ก่อนหน้าวันนัดสั่งคดีหนึ่งวันได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอยู่แถวสนามหลวง อันที่จริงตั้งใจจะดำเนินการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้เร็วกว่านี้ แต่เนื่องจากภารกิจงานที่ติดพันทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงได้เร็วกว่านี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้และยังงง ๆ อยู่บ้างกับการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากมีประสบการณ์ขลุกขลักบางประการ เพราะทันทีที่หนังสือร้องความเป็นธรรมเรียบร้อยพร้อมยื่น ตัวเองก็ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการ ในฝ่ายที่รับผิดชอบคดีเพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม โดยในหนังสือระบุ "เรียน อัยการสูงสุด (ผ่านพนักงานอัยการเจ้าของคดี)" ซึ่งเจ้าหน้าที่ของฝ่ายในขณะนั้น แจ้งว่า หากยื่นถึงอัยการสูงสุด ต้องไปยื่นที่สำนักงานอัยการสูงสุด ที่อยู่ใกล้กับสนามหลวง แต่ถ้ายื่นที่นี่ต้องเป็นการยื่นตัวหัวหน้าสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 หลังจากโทรปรึกษากับทนายและเห็นว่ายังน่าจะทันเวลาทำการของสำนักงานอัยการสูงสุด จึงตัดสินใจเดินทางดิ่งตรงจากอัยการที่ถนนรัชดาภิเษกสู่สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ใกล้สนามหลวง ก่อนยื่นหนังสือเพื่อให้เอกสารเรียบร้อย เดินข้ามคลองหลอด (ครั้งแรกอีกเช่นกัน ให้ความรู้สึกแปลก ๆ) มุ่งตรงสู่ 7-11 เพื่อซื้อปากกาน้ำยาลบความผิด เอ๊ยย !!! คำผิด เพื่อมาลบข้อความวงเล็บต่อท้ายในเอกสาร บ่ายสามโมงนิด ๆ เอาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยื่น เจ้าหน้าที่ถามหาเอกสาร 'สำเนาคู่ฉบับ' ชี้ให้เจ้าหน้าที่ดู เขาก็หยิบมาประทับตรารับเรื่อง ส่งสำเนากลับคืนมาให้ ทั้งหมดเสร็จสิ้นในเวลาไม่ถึงนาที (ไม่นับรวมการเดินทางและตามหาซื้อน้ำยาลบคำผิดอีกเกือบชั่วโมง) ก่อนที่จะมาได้รับคำชี้แจงจากนิติกรของฝ่ายคดีอาญา 8 ว่า "ยื่นที่นี่ได้ เพราะยื่นอัยการสูงสุดก็ต้องส่งมาที่อัยการเจ้าของคดีอยู่ดี" ในที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงมืออัยการแน่ ๆ เลยถ่ายสำเนา และยื่นสำเนาต่ออัยการเจ้าของคดีอีกทางหนึ่งไว้ด้วย) บทเรียน ผู้ต้องหา 101 พอสรุปได้คร่าว ๆ ว่า: เบื้องต้นหากมีเจ้าพนักงานตำรวจมาแสดงตัวและแสดงหมายค้น หรือหมายจับจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอให้เจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัว การให้แสดงบัตรเป็นการป้องกันไม่ให้มีการหลอกลวงเกิดขึ้นได้ และเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าใจในสิทธินี้ย่อมไม่รู้สึกโกรธ หรือคิดว่าเป็นเรื่องไม่ไว้ใจ ในวันที่มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองท่านซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหลักในการสอบสวนและจับกุมได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าที่โดยที่ไม่ต้องรอให้ถามหา และถ้าสามารถทำได้การขอให้มีทนายความมาอยู่ร่วมด้วยในระหว่างการตรวจค้น หรือจับกุม ช่วยทำให้อุ่นใจขึ้น ยังไม่รวมถึงเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่มาเป็นกำลังใจ ก็ช่วยให้อบอุ่นใจอย่างมาก และเรื่องยาก ๆ หนัก ๆ ในวันนั้นก็ผ่อนคลาย เป็นเครื่องประกันสิ่งที่ใครบางคนพูดไว้ว่า "ความทุกข์มันแบ่งเบากันได้" สิทธิอีกประการที่ผู้ต้องหาทุกท่านควรรู้ว่ามีคือในการสอบปากคำ ผู้ต้องหาสามารถยืนยันที่จะให้มีทนายมาอยู่ร่วมในการสอบปากคำ และยืนกรานที่จะไม่ให้ปากคำหากไม่มีทนายอยู่ด้วยได้ ที่สำคัญเป็นสิทธิที่สามารถร้องขอทนายประชาชน ซึ่งเป็นทนายอาสาที่รัฐมีหน้าที่จัดหาให้ ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีทนายของตนเอง ทั้งด้วยไม่รู้จักใคร หรือไม่มีเงินค่าทนาย กระบวนการยุติธรรมแบ่งเป็นขั้นตอนตามลำดับ เริ่มจากขั้นพนักงานสอบสวนซึ่งดำเนินการจับกุมและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสรุปสำนวนคดีและผู้ต้องหาส่งต่ออัยการ(เข้าใจว่ามีระยะเวลากำหนดไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการจับกุมว่าต้องสรุปสำนวนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้) จากนั้นพนักงานอัยการก็จะรับสำนวนคดีพร้อมรับตัวผู้ต้องหา ซึ่งก็ต้องมีการดำเนินการขอปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ในขั้นของอัยการ ตามปกติวินิจฉัยก็จะเป็นไปในทางเดียวกับขั้นพนักงานสอบสวน รวมทั้งสามารถใช้หลักประกัน/นายประกันเดิมได้ ในขั้นของอัยการสิ่งที่ผู้ต้องหาสามารถกระทำได้ ก็คือการทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการสูงสุดได้ หลังจากที่อัยการรับคดีมาจากพนักงานสอบสวนแล้ว ก็จะนัดผู้ต้องหาพร้อมนายประกันมาตามนัดการสั่งคดี จนกว่าอัยการจะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด คือสั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งฟ้อง หากมีการสั่งฟ้องก็จะต้องไปดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ในขั้นศาลต่อไป รวมถึงการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง ประสบการณ์ร่วมสี่เดือนของการเป็นผู้ต้องหามีคดี ท่ามกลางวิถีชีวิตการงานที่เป็นอยู่และเป็นไปตามปกติ ตอบอย่างซื่อสัตย์กับตัวเองก็ต้องบอกว่าไม่อาจรู้สึกเป็นปกติสุข และเข้าใจชัดเจนถึงความรู้สึกของคนที่มีหนี้แบกไว้บนบ่า แต่แม้รู้สึกยากจะเป็นสุข ทว่าการทำใจยอมรับให้ได้ว่านี้คือราคาที่ต้องจ่ายของเสรีภาพ..ก็น่าจะคุ้มกัน
boobie7547
เดชาธร เศรษฐรัตน์ 1 สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง      
beerlaw
  สวัสดีท่านผู้อ่านที่รักและเคารพ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ยูงทองได้มีโอกาสมาพบกับท่าน ณ จุลสารฉบับนี้ (เป็นทางการไปหรือเปล่านี่ ) เอาละงั้นเริ่มคุยเรื่องของเรา เอ๊ย เรื่องที่ได้รับมอบหมายให้มาพูดคุยกับท่านผู้อ่านเลยแล้วกันนะครับ อ้อ ลืมไป ก่อนจะไปต่อก็ต้องแนะนำตัวให้รู้จักกันเสียก่อนตามมารยาทแห่งอารยะชน อันตัวกระผมนี้มีนามที่อยากจะให้ท่านทั้งหลายได้รู้จักไว้ว่า “ นายยูงทอง รักธรรม “ ส่วนที่ว่าตัวของยูงทองเป็นใคร มาจากไหน ประวัติความเป็นมามีอะไรบ้างถ้าจะบรรยายละก็คงต้องใช้พื้นที่หน้ากระดาษมากพอควรละครับ เพราะฉะนั้นก็ขอแจ้งให้ทราบเฉพาะแค่ชื่อนามสกุลก็พอนะครับ          คราวนี้ก็มาถึงเรื่องที่อยากบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังตามประสานักกฎหมายที่ไม่ค่อยมีสาระ (หมายถึงว่า ไม่มีสาระจนเครียด ) เสียที ในช่วงที่ผ่านมาคงไม่มีเหตุการณ์ใดที่อยู่ในความสนใจของทุกท่านเท่ากับเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวชุมนุมกันในนามของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย “ โดยอ้างเอาสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักดิราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖๓ ส่วนรายละเอียดของมราตรา ๖๓ บัญญัติไว้ว่าอย่างไรนั้นยูงทองจะไม่ขอกล่าวไว้ ณที่นี้ก็แล้วกัน จะกล่าวเฉพาะสาระสำคัญที่ควรจะทราบไว้ดังนี้คือ มาตรา ๖๓ ได้บัญญัติให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ในการชุมนุมกันโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งกลุ่มคณะบุคคลดังกล่าวก็ได้อ้างเอาประโยคนี้ละครับชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกไป คำถามต่อมาก็คือว่า การกระทำดังกล่าวสามารถกระทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ ยูงทองขอฟันธง เอ๊ย ขอตอบว่าย่อมกระทำได้ครับ เพราะกฎหมายได้ให้อำนาจไว้ให้มีสิทธิ์กระทำได้ ข้ออ้างของกลุ่มคณะบุคคลนี้ถ้าพูดตามภาษาของศาลก็ต้องบอกว่า “ฟังขึ้น “ ส่วนที่ว่า กลุ่มคณะบุคคลคณะนี้ได้กระทำการที่พวกเขาบอกใครต่อใครว่าเป็น การกระทำที่เรียกว่า “อาริยะขัดขืน “ นั้น อันนี้ตอบแบบฟันธง เหมือนคำถามแรกไม่ได้นะ เพราะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า อาริยะขัดขืนคืออะไร ซึ่งความหมายของคำคำนี้ดูจะเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทยก็ว่าได้ และถ้าจะให้อธิบายความหมรายแบบแจกแจงสี่เบี้ย ห้าเบี้ย ยูงทองว่าคงใช้เวลาเป็นหลายวัน และที่สำคัญท่านบรรณาธิการคงไม่ชอบใจเนื่องจากใช้พื้นที่เกินกว่าที่มอบให้เพียงหนึ่งหน้ากระดาษเท่านั้น ก็เลยจะขอสรุปให้เข้าใจเลยแล้วกันนะว่า อาริยะขัดขืนต้องเป็นการกระทำที่ต่อต้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล และที่สำคัญต้องไม่กระทบถึงสิทธิหรือไปละเมิดสิทธิ์คนอื่นเขา เช่น เมื่อไม่พอใจการให้บริการของหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่ง สมมุติว่าเป็นกรมรถไวก็แล้วกันนะ เราก็ไปขวางทางที่รถไว ถ้ามีการจับกุมก็ยอมให้จับไป พอปล่อยมาก็ไปขวางใหม่ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นอาริยะขัดขืน ไม่ใช่การขู่ตัดน้ำตัดไฟของบ้านคนที่เราไม่พอใจการกระทำของเขา แบบนี้ยูงทองรู้สึกว่าจะเป็นการตีความคำว่าอาริยะขัดขืนผิดไป แต่อย่างไรก็ตามอดันนี้ก็เป็นความเห็นของยูงทองนะ ใครจะเห็นต่างเห็นด้วยก็ไม่ว่ากัน           เอาละ พอหอมปากหอมคอนะคราวนี้ เอาไว้มีโอกาสคงได้มาพบท่านผู้อ่านอีก ด้วยจิตคารวะ           ยูงทอง รักธรรม  
หัวไม้ story
“การคุมประชากรด้วยข้อมูลและแนวคิดที่โกหกอาจจะไม่นำไปสู่ประเทศไทยที่สำเร็จได้ แต่กลับเป็นการทำลายการพัฒนาและอนาคตของสังคมไทยเอง”ธงชัย วินิจจะกูล3 มี.ค. 2552
suchana
  ใครจะเชื่อว่าคนอย่างพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรและครอบครัวที่ร่ำรวยเงินทองและอำนาจอย่างมหาศาลต้องขึ้นศาลในคดีฉ้อโกงและคดีอื่นๆมากมาย    ใครจะคาดคิดว่าคนอย่างพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องเดินเชิดหน้าขึ้นศาลจังหวัดสงขลาในฐาน "จำเลย" บุคคลทั้งสองได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของขบวนการต่อสู้ของพี่น้องภาคประชาชนในการคัดค้านโครงการยักษ์ใหญ่ กรณีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย  อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลานับช่วงเวลาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่  ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ จนถึงวันนี้ร่วมระยะเวลาห้าปีเศษ  หากนึกย้อนหลังไปหลายคนคงจำภาพข่าวเหตุการณ์ในวันนั้นได้ดี ภาพการชุมนุมของชาวบ้านอำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชนจากการรุกรานของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ในนามของโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ดำเนินการโดยบริษัทปตท.และบริษัทปิโตรนาส  ร่วมทุนเป็นบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย(ประเทศไทย)จำกัด            เหตุการณ์วันนั้นท่ามกลางการนั่งชมละครทีวีหลังข่าวภาคค่ำกันอย่างเพลิดเพลิน แต่ผู้คนต้องมึนงงเมื่อๆอยู่ภาพละครหลังข่าวถูกแทนที่ด้วยภาพเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวาย ประจันหน้าระหว่างชาวบ้านผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจปืนบนรถยนต์หกล้อของผู้ชุมชนทุบตีกระจกหน้ารถ  ทุบตีทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมและมีการจับกุมผู้ชุมนุมในเหตุการณ์  หลังเหตุการณ์วุ่นวายผ่านไม่ไม่กี่นาทีมีนายตำรวจระดับสูงคือพลตำรวจเอกสันต์  ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลานั้นออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "ได้ใช้ความอดทน ความพยายามและละมุนละม่อมอย่างที่สุดแล้ว" มีเสียงนักข่าวถามสวนทันทีว่า "อย่างนี้หรือค่ะที่เรียกว่าละมุนละม่อม"  และในวันรุ่งขึ้นได้ออกมาให้สัมภาษณ์อีกว่าภาพผู้หญิงที่อยู่ในเหตุการณ์เสื้อด้านหลังขาดจนเห็นเสื้อชั้นในนั้นผู้ชุมนุมสร้างสถานการณ์ฉีกเสื้อผ้าตนเอง แล้วใส่ร้ายว่าตำรวจเป็นคนทำ  อนิจานั่นคือเป็นบทสัมภาษณ์นายตำรวจผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ            เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจประกาศเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โดยไม่ชี้แจงเหตุผลใดๆตามที่รับปากกลุ่มคัดค้านเมื่อลงมารับฟังข้อมูลที่ลานหอยเสียบ อำเภอจะนะ ดังนั้นเมื่อพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร จัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรมาประชุมที่โรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีคณะรัฐมนตรีจากประเทศมาเลเซียมาร่วมประชุมด้วย  ทางกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาจึงได้ประสานงานผ่านนายวัชรพันธุ์  จันทรขจร ผู้ประสานงานฝ่ายรัฐบาล  เพื่อแจ้งความประสงค์เดินทางมายื่นหนังสือขอให้พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร  ยุติและทบทวนโครงการนี้ใหม่ ที่อย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยและตกลงกำหนดจุดที่จะไปพักชุมนุมเพื่อรอยื่นหนังสือ            แต่ปรากฏว่าในบ่ายวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ หลังจากที่ชาวบ้านเคลื่อนขบวนออกจากบ้านโคกสัก ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามายื่นหนังสืออย่างน้อยสองจุดโดยนำรถยนต์ที่ใช้คุมขังผู้ต้องหามาจอดขวาง  จนกระทั่งมีการเจรจาและตำรวจย่อมเปิดทางและมีรถตำรวจนำขบวน แต่เมื่อมาถึงบริเวณสะพานจุติบุญสูงอุทิศ กลุ่มคัดค้านไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากตำรวจตั้งแผงเหล็กปิดกั้นกถนน และมีตำรวจหลายกองร้อยตั้งแถวสกัด จนกระทั่งกลุ่มตัดค้านฯต้องหยุดรอการประสานงาน  ระหว่างนั้นพี่น้องประชาชนกลุ่มคัดค้านจึงได้หยุดพักกินข้าวและทำพิธีละหมาดตามหลักการศาสนาอิสลาม             ในที่สุดเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อตำรวจชั้นผู้สูงเป่านกหวีดและโบกมือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินอ้อมแผงเหล็กข้ามมายังฝั่งกลุ่มคัดค้านฯและเดินหน้าผลักดันผู้ชุมนุมจนนำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวาย มีผู้บาดเจ็บพี่น้องประชาชนและถูกจับกุมดำเนินคดีในฐานะจำเลย            กลุ่มคัดค้านฯต้องขึ้น-ลงศาลเป็นสัปดาห์ละสองถึงสี่วันในระยะสองปีสำหรับคดีชุดแรกและอีกหลายชุดหลายคดี  แต่ผลจากการกระทำสิ่งที่ถูกตามสิทธิส่งผลให้ศาลพิพากษายกฟ้องกลุ่มพี่น้องชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี   ซึ่งในคำพิพากษาศาลจังหวัด ระบุว่า "โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียเป็นโครงการขนาดใหญ่ทางด้านพลังงานที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพ  สิ่งแวดล้อม สุขภาพ  อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ชุมชนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๕ ประชาชนย่อยมีสิทธิในการนำเสนอความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าว" "ประชาชนหรือจำเลยย่อมมีสิทธิร่วมชุมนุมกันแสดงพลังพลังมวลชนคัดค้านโครงการดังกล่าวภายในขอบเขตแห่งกฎหมายเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการนี้ได้"            และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค๙ ระบุว่า"จะเห็นได้ว่าที่มาและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวในรัฐธรรมนูญได้นำหลักการสำคัญ และเป็นหลักสากลที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมีและใช้สิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพื่อกำหนดวิถีชีวิต  แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง  รวมทั้งมีสิทธิเข้าร่วมกับรัฐจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยมีสิทธิดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน  การที่จำเลยที่ ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติ  และชุมชนดั้งเดิมในท้องถิ่นร่วมกับประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย  ที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่โดยตรง  สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวของจำเลย กับพวกย่อมมีอยู่แม้ยังไม่มีการออกกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  ในเมื่อสิทธิเหล่านี้มนุษย์มีและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติควบคูกับทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของมนุษย์ทุกคน  ในส่วนของกลุ่มคัดค้านฯจำนวน ๒๕ คนได้ร่วมยื่นฟ้องกลับตำรวจที่ใช้กำลังและความรุนแรงสลสายการชุมนุมในวันนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค๙ได้รับฟ้องตำรวจระดับผู้สูง ๖ นายใน  โดยคำพิพากษาบางส่วนระบุ  ข้อเท็จจริงไต่สวนว่า โจทย์ทั้งยี่สิบห้าและประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านได้รวมตัวชุมนุมกันโดยมีมูลเหตุมาจากรัฐบาลตัดสินใจดำเนินการตามโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนที่ได้อนุมัติไว้ โดยโครงการดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยาชายฝั่งทะเลและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และอาจก่ออันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาคชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวและโจทก์ทั้งยี่สิบห้าย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของทางราชการก่อนการดำเนินการ ตามโครงการท่อส่งก๊าซฯ ดังที่กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา  ๕๙  รับรองไว้ แต่ปรากฏจากการแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕   ซึ่งไม่มีการชี้แจง อธิบายข้อมูลและเหตุผลของการพิจารณาตัดสินใจให้ดำเนินการตามโครงการท่อส่งก๊าซฯ ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนแต่อย่างใดและก่อนหน้านี้ได้ความจากโจทก์ที่ ๑๕ เบิกความยืนยันว่า ชาวบ้านเคยรวมกลุ่มยื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการแต่ไม่ได้รับคำตอบเลย เมื่อครั้งพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางมารับฟังความเห็นจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่บริเวณลานหอยเสียบ ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นายกรัฐมนตรีรับว่าจะให้คำตอบที่ชัดเจนแก่ชาวบ้าน แต่ในที่สุดไม่ได้ให้คำตอบเช่นกัน ดังนี้ การร่วมชุมนุมของโจทก์ทั้งยี่สิบห้าและประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซฯ จึงเป็นการใช้สิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐเพื่อที่จะแสดงเจตนารมณ์ ในการจัดการบำรุงรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ประชาชนดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง  ดังนั้น การใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในส่วนได้เสียของตนหรือของชุมนุมซึ่งรัฐบาลต้องรับฟังชาวบ้านก่อนการตัดสินใจ ดำเนินการโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนดังที่ได้รับรองไว้ในบทบัญญัติ มาตรา ๔๖,๕๖ และ ๕๙ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ดังกล่าว กรณีจึงเป็นที่ประจักษ์ว่าโจทก์ทั้งยี่สิบห้าและประชาชนได้ชุมนุมกันในวันเกิดเหตุมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะแสดงมติของกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซฯ โดยยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลทบทวนการตัดสินใจดำเนินการโครงการท่อส่งก๊าซฯ ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนซึ่งหาได้มีเจตนาก่อความรุนแรงหรือขัดขวางการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรแต่อย่างไรโจทก์ทั้ง ๒๕ และประชาชนที่คัดค้านและใช้สิทธิเรียกร้องที่พวกตนมีส่วนได้เสียและมีผลกระทบต่อตนสำหรับโครงการที่รัฐจะดำเนินการต่อเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๔๔ ในเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่มีเจตนากีดขวางทางสาธารณะ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกและดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมเพื่อมิให้เกิดชนวนนำไปสู่ความวุ่นวาย แต่จากทัศนคติในเชิงลบชองพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ ซึ่งมีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านดังกล่าว ดังจะเห็นได้ตามคำให้การพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  ที่ให้ข้อมูลต่อคระกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มที่มีความขัดแย้งต่อการตัดสินใจของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ "ที่พูดอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง" ต่างกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประท้วงหน้าสถานทูตกัมพูชาในประเทศไทยเป็นกลุ่มผู้รักชาติ "พูดแป๊บเดียวเข้าใจ" ประกอบกับพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  นำข้อเท็จจริงที่เกิดเหตุรุนแรงในวันทำประชาพิจารณ์สองครั้งที่หอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ และที่สนามกีฬาจิระนคร มาคาดคะเนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้นเตรียมกานำแนวทางความรุนแรงมาใช้เมื่อพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  เป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าพนักงานตำรวจในระดับสูงในขณะเกิดเหตุ อันเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มีหน้าที่ปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหายบ้านเมือง เพื่อให้สังคมในบ้านเมืองเกิดความสงบสุขและเป็นระเบียบเรียบร้อย จำเลยที่ ๑ จึงมีความรับผิดชอบดูแลทุกข์สุขของประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน เป็นผู้มีความเดือดร้อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซ จึงได้รวมตัวชุมนุมกันสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลทราบ พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  ยิ่งต้องใช้ความรอบคอบดูแลบุคคลดังกล่าวบนพื้นฐานหลักความเมตตาธรรม ควบคู่กับหลักยุติธรรม โดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลังเพื่อให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย และลุกลามบานปลายอันนำมาซึ่งความสูญเสียถึงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่าย   ที่ยากแก่การควบคุมได้     ในเรื่องนี้พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจในระดับสูง ในการสั่งการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงต้องออกมาตรวจดูเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุด้วยตนเองในทันทีก่อนที่จะสั่งการอย่างใดเพื่อหาทางแก้ไข  เพราะที่เกิดเหตุอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมเจบีซึ่งสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลาไม่เกินสามนาที ดังที่ พลตำรวจเอกประทิน  เบิกความยืนยันพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ออกมาตรวจสอบด้วยตนเอง    ก็จะได้ความจริงอันจะทำให้พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  มีโอกาสเลือกใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมต่อเหตุการณ์ที่เป็นจริงว่ามีความรุนแรงหรือไม่เพียงใดและทำให้เห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะสลายการชุมนุมแต่อย่างไร ดังที่พลตำรวจเอกธวัชชัย ภัยลี้ให้การต่อกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา  ดังนั้นคำสั่งของพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  ที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง  แต่อยู่บนพื้นฐานจากรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จของพลตำรวจตรีสัณฐาน  ชยานนท์ ซึ่งคำสั่งของพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  ที่สลายการชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พลตำรวจเอกสันต์  ศรุตานนท์ จะอ้างว่าได้รับรายงานเท็จจากผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมฟังไม่ขึ้น  ส่วนพลตำรวจเอกสุรชัย  สืบสุข  ร้อยตำรวจเอกเล็ก  มียัง  ร้อยตำรวจโทบัณฑูรย์  บุญเครือ ร้อยตำรวจโทอภิชัย  สมบูรณ์  ได้ความว่าขณะนั้นพลตำรวจเอกสุรชัย  สืบสุข  ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา หลังจากได้รับคำสั่งจาก พลตำรวจตรีสัณฐานแล้ว  ได้มีคำสั่งให้  จำเลยที่ ๕  ถึง ๓๘กับเจ้าพนักงานตำรวจอื่นเข้าสลายการชุมนุมตามที่ร้อยตำรวจเอกอภิชัย สมบูรณ์ เบิกความเห็นว่าพ.ต.อ.สุรชัย  สืบสุข  จำเลยที่ ๔  ร.ต.อ.เล็ก  มียัง จำเลยที่ ๖  ร.ต.ท.บัณฑูรย์  บุญเครือ จำเลยที่ ๑๓  และร.ต.ท.อธิชัย สมบูรณ์  ๑๔         ต่างเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาการของพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ และพลตำรวจตรีสัณฐาน  ปฏิบัติราชการตามคำสั่งของพลตำรวจตรีสัณฐาน  ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่งให้สลายการชุมนุม  โดยรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จต่อพลตำรวจเอกสันต์  จนเป็นเหตุให้พลตำรวจเอกสันต์ ให้ความเห็นชอบต่อการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม  ซึ่งจำเลยที่ ๔ , ๖,๑๓,๑๔ ต่างอยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน ย่อมรู้เห็นเหตุการณ์และเข้าใจโดยตลอดว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด  แต่ยังกระทำตามคำสั่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย  โดยการใช้กำลังสลายการชุมนุมดังกล่าว จึงต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๐ ที่โจทก์ทั้ง ๒๕ นำสืบในชั้นต้น  ข้อหาดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ ๑,๔ ,๖,๑๓,๑๔ จึงมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ๑๕๗,๒๙๕,๓๘  วันนี้เราหวังว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจทั้งหกนายคงได้ทบทวนทิศทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมในทุกประเด็นปัญหาทุกกรณี  คงไม่มีใครหรือกลุ่มคนใดอยู่ดีๆอยากออกมาชุมนุมเรียกร้องกินนอนบนท้องถนน  หากเขาไม่ได้รับความเดือดร้อน เอาเปรียบหรือไม่ได้รับความยุติธรรมจริงๆ เพราะที่ผ่านมารัฐไม่เคยสนใจเพราะเขา อ้างเพียงการชุมนุมเรียกร้องของพวกเขามีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง หรือเป็นคนกลุ่มน้อยที่ต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวต้องเห็นกับผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก  โดยบางครั้งลืมไปว่าพวกเขาเป็นคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่จะเลือกอยู่ เลือกเป็นเท่าเทียมกับคนอื่นๆในสังคมเช่นกัน        
หัวไม้ story
นับแต่รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง การฟ้องร้องอันเนื่องมาจากการเมือง และการฟ้องร้องอันมีผลทางการเมืองก็ดาหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทย และองค์กรอิสระ เสมือนเป็นโหมโรงสำหรับ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ก็ไม่ปาน เพื่อเป็นหมุดหยุดพักสำหรับความสับสนในคดีที่เยอะแยะ อีรุงตุงนังกันอยู่ขณะนี้  "ประชาไท" รวบรวมคดีที่มีการฟ้องร้องกัน ภายใต้เงื่อนเวลาเริ่มต้นคือรัฐบาลชุดนี้ ให้ดูกันว่ายุคนี้ ศาลนั้น "งานเข้า" ขนาดไหน  
หัวไม้ story
ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองไทยขณะนี้ ได้ก่อให้เกิดความกังวล 2 ประการคือ รัฐจะใช้ความรุนแรงกับผู้เคลื่อนไหวในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอีกประการคือ การรัฐประหารซึ่งสื่อกระแสหลักยังคงต้องเกาะติด ‘น้ำเสียง' และ ‘ท่าที' ของนายทหารระดับสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อย้อนดูสถิติการรัฐประหารของไทยจะพบว่า ความถี่ในการรัฐประหารของไทยคือ ประมาณ 7 ปีต่อการรัฐประหาร 1 ครั้ง การรัฐประหารที่เว้นช่วงสั้นที่สุดคือการรัฐประหารครั้งที่ 7 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 - 20 ตุลาคม 2520 ( 1 ปีกับอีก 15 วัน)ช่วงที่เว้นระยะนานที่สุดคือ 23 ก.พ. 2534 - 19 กันยายน 2549 เว้นช่วงนาน 15 ปี 6 เดือน กับอีก 28 วัน ตารางการรัฐประหารที่สำเร็จในประเทศไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 - ปัจจุบันวัน เดือน ปีผู้นำการรัฐประหารผู้ถูกทำรัฐประหาร1 เมษายน 2476พระยามโนปกรณ์นิติธาดารัฐประหารตัวเองโดยงดใช้รัฐธรรมนูญ20 มิถุนายน 2476พระยาพหลพลพยุหเสนาพระยามโนปกรณ์นิติธาดา8 พฤศจิกายน 2490จอมพลผิน ชุณหวัณพลเรือเอก ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 29 พฤศจิกายน 2494จอมพล ป. พิบูลสงครามรัฐประหารตัวเอง16 กันยายน 2500จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จอมพลป. พิบูลสงคราม20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จอมพลถนอม กิตติขจร17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรรัฐประหารตัวเอง 6 ตุลาคม 2519พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช20 ตุลาคม 2520พลเรือเอกสงัด ชลออยู่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร23 กุมภาพันธ์ 2534พลเอกสุนทร คงสมพงษ์พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ 19 กันยายน 2549พลเอกสนธิ บุณยรัตกลินพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หมายเหตุ: แก้ไข 7 มิ.ย. 51 -- 17.34น. ตามการท้วงติงของธนาพล อิ๋วสกุล บางที การเว้นช่วงครั้งหลังสุดที่ยาวนานกระทั่งทำให้สังคมไทยตายใจว่า ทหารกลับเข้ากรมกรองไปทำหน้าที่ ทหารอาชีพ แล้วนั้น อาจจะเป็นเพียงข้อยกเว้นอย่างไรก็ตาม การรัฐประหารที่ผ่านก็ยังได้รับการยอมรับกันว่าเป็นไปโดยสงบไม่มีการเสียเลือดเนื้อ และซ้ำคณะทหารที่ขึ้นมาคุ้มครองประเทศก็ยังมีสายใยและความร่วมมืออันดีกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวภาคประชานเป็นอย่างดี นับเป็นสิ่งที่ต่างออกไปจากการรัฐประหารที่เคยมีมาครั้งใดๆ ในประเทศนี้แน่นอนว่าปัจจัยส่วนหนึ่งคือ ทหารเรียนรู้มากขึ้นที่จะอยู่ร่วมกับประชาสังคมไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนที่เข้มแข็งและไม่เปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารได้ควบคุมความรับรู้ทุกอย่างในสังคมนี้ก็คือโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ที่อำนาจรัฐและคณะรัฐประหารใดๆ ไม่เคยเผชิญมาก่อนการควบคุมความรับรู้หรือการแสดงออกของประชาชนภายหลังการรัฐประหารนั้น เป็นสูตรสำเร็จที่จะต้องทำทันทีเมื่อมีการยึดอำนาจ ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นตัวกำหนดความรับรู้และท่าทีของประชาชน ดังจะเห็นได้ว่า ในการรัฐประหารใดๆ ก็ตาม ผู้ทำรัฐประหารต้องเข้ายึดพื้นที่ที่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสมัยก่อนได้แก่ สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ ทั้งการควบคุมการแสดงออกของประชาชนก็อาจทำได้โดยการออกกประกาศและใช้กองกำลัง แต่ สำหรับโลกไซเบอร์แล้ว นั่นอีกเรื่องที่ต่างออกไป มันหมายถึงความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ต้องไล่กวดกันเหมือนแมวไล่จับหนูภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 24 ก.พ. 2534 และหลังเกิดเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทองได้จับพิมพ์หนังสือ ‘ต้านรัฐประหาร' ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของภาคประชาชนในการต่อสู้กับการต้านรัฐประหารโดยผู้เขียนคือนักสันติวิธีนาม จีน ชาร์ป แน่นอนว่าหนังสือเล่มนั้นพูดถึงเรื่องการปฏิบัติในโลกจริงซึ่งอาจจะเชยไปสักหน่อยสำหรับมนุษย์ยุคไซเบอร์ แต่หากใครสนใจก็ยังหาซื้ออ่านได้ นั่นเป็นแนวทางการต้านรัฐประหารโดยประชาชนซึ่งขณะนี้ คงจะต้องเพิ่มเติมวิธีการสำหรับประชากรไซเบอร์เข้าไปด้วย ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยทันที มีเว็บไซต์อย่างน้อย 2 แห่งกำเนิดขึ้นในโลกไซเบอร์นั่นก็คือ http://www.19sep.org/ และ http://www.dcode.net/ ทั้งสองเว็บเป็นต่อต้านการรัฐประหารแต่เห็นต่างในรายละเอียด โดยเว็บไซต์หลังนั้นเป็นกลุ่มนักเล่นเน็ต ที่ชื่นชมในนโยบายของพรรคไทยรักไทยและทักษิณ ชินวัตร แต่เว็บแรกนั้นไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 เว็บไซต์ได้พัฒนามาสู่การจัดตั้งมวลชนผ่านโลกไซเบอร์และได้เคลื่อนตัวจากพื้นที่ในโลกไซเบอร์สู่สนามหลวง ในชื่อของ กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ และกลุ่มประชาชนต้านรัฐประหารในที่สุดผลพวงอันเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน ต่อความตื่นตัวของประชาชนที่เข้าถึงเว็บไซต์ ยังได้ก่อให้เกิดเว็บไซต์และบล็อกเกอร์อีกจำนวนมากในการติดต่อสื่อสารกัน ทั้งในฐานะผู้รับและส่งสาร กระทั่งทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ใหม่ในการแย่งชิงความรับรู้ แต่ก็ยังคงเป็นสิ่งยากสำหรับภาครัฐ แม้จะมีกฎหมายอา๙ญากรรมว่าด้วยการกระทำความผิดด้วยคอมพิวเตอร์ออกมาก็ตาม เพราะ....ย้ำ...นี่คือเรื่องของเทคโนโลยีที่รัฐต้องคอยวิ่งไล่จับให้ทัน ‘ผมคิดว่าอินเทอร์เน็ตมันจะทำให้ความคิดของคนมันวิ่งไปมาหากันได้เร็วขึ้น ทำให้เกิดการสทนาแลกเปลี่ยนได้อย่างกว้างขว้างขึ้น มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น และเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมก็เป็นได้. ซึ่งรัฐอาจจะกลัวตรงนี้ ก็เลยต้องการเข้ามาควบคุมจัดระเบียบ. พวกเราพลเมืองและพลเมืองอินเทอร์เน็ตทุกคน ก็ต้องพยายามรักษาพื้นที่ของเราตรงนี้ไว้ให้ปลอดจากการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐและอำนาจอื่น ๆ. ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ พื้นที่สื่อพวกนั้นเราพลเมืองธรรมดาเข้าถึงได้ยากมาก. พวกเราพลเมืองจึงต้องรักษาพื้นที่ที่เรามีอยู่ไม่มากนักในอินเทอร์เน็ตเอาไว้. ไม่ใช่เพื่อตัวอินเทอร์เน็ตหรือตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเอง แต่เพื่อสังคมทั้งหมด' อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์จากสถาบันเทคโนโลยี SIIT มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขียนไว้ให้สัมภาษณ์วาวสร ‘ปฏิรูปสื่อ' เมื่อปลายปีที่แล้ว เขาตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่รัฐพยายามทำกับพื้นที่อินเตอร์เน็ตปัจจุบันนี้คือ 1) สั่งปิดเว็บไซต์ โดยติดต่อไปที่เว็บโฮสติ้ง (ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตสำหรับสร้างเว็บไซต์) ขอหรือสั่งให้ปิดเว็บไซต์นั้นลง หรือหาทางเจาะระบบเข้าไปทำลายเว็บไซต์ลง ผลก็คือเว็บไซต์นั้นก็จะหายไปจากอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ไม่ว่าจากประเทศไหนก็จะเข้าไม่ได้อีกแล้ว.2) ปิดกั้นเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่าการบล็อค (block) ซึ่งก็ทำกันได้หลายระดับ ทั้งที่ระดับเกตเวย์ (gateway - เป็นประตูเชื่อมเครือข่ายภายในประเทศออกสู่อินเทอร์เน็ต) ที่ระดับไอเอสพี หรือที่ระดับองค์กรอย่างสถานศึกษาหรือบริษัทบางแห่งก็พบว่ามี. ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการหรือองค์กรนั้น ๆ ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคได้. หรือถ้าเป็นการบล็อคที่เกตเวย์ระดับประเทศ ก็จะมีผลทำให้ผู้ใช้ในประเทศทั้งประเทศไม่สามารถเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นได้ - อย่างไรก็ตามผู้ใช้อื่น ๆ ก็จะยังเข้าได้อยู่. วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐของไทยใช้กันมาก เพราะสะดวกไม่ต้องขอความร่วมมือจากใคร ทำได้เองเลย หรือว่าสามารถกดดันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ทำได้ไม่ยาก, ซึ่งก็อาจจะเกี่ยวกับเรื่องใบอนุญาตประกอบธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย.3) ระดมโจมตีก่อกวนเว็บไซต์ 3.1 ให้ทำงานช้าลงมาก ๆ จนใช้งานไม่ได้ หรือที่เรียกว่า DoS (Denial of Service). หรือ3.2 คัดกรองเนื้อหา วิธีนี้จะเนียนกว่า คือยังเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ตามปกติอยู่ แต่เนื้อหาบางส่วนในเว็บไซต์จะหายไป ซึ่งแบบนี้จะทำให้สังเกตได้ยากกว่าวิธีแรก.ตัวอย่างเช่นในประเทศจีนที่เสิร์ชเอนจิ้นหลายเจ้า ยอมกรองเว็บไซต์บางอย่างออกจากผลลัพธ์การค้นหา. คือถ้าเรารู้ที่อยู่ของเว็บไซต์นั้น ก็ยังอาจจะพิมพ์เข้าไปได้เอง แต่มันจะไม่ปรากฎอยู่ในรายการผลลัพธ์ของเสิร์ชเอนจิ้นเลยถ้าค้นหาจากประเทศจีน. ซึ่งถ้าพิจารณาว่าปริมาณการจราจรส่วนใหญ่ของเว็บนั้น วิ่งผ่านเสิร์ชเอนจิ้น, วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก อีกทั้งสังเกตได้ยากกว่าการทำให้เข้าเว็บไซต์ไม่ได้หรือกรณีประเทศไทย ที่ขอความร่วมมือจากกูเกิ้ลให้บล็อคคลิปบางคลิปใน YouTube ไม่ให้ผู้ใช้จากประเทศไทยเห็น ก็เข้าข่ายนี้3.3 บิดเบือนเนื้อหา ปล่อยข่าว หรือก่อกวนสร้างความปั่นป่วนในกระดานสนทนาออนไลน์ เว็บไซต์บางแห่งถูกก่อกวนด้วยโปรแกรมหรือคนที่ถูกจ้างมาโพสต์ข้อความไร้สาระซ้ำ ๆ กัน หรือโพสต์ข้อความบิดเบือนเบี่ยงประเด็นต่าง ๆ หรือล่อให้เกิดการทะเลาะกัน ที่เรียกว่า "ล่อเป้า" ทำให้คุณภาพของข้อมูลข่าวสารโดยรวมในอินเทอร์เน็ตลดลง4 วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือการสร้างความเชื่อ หรือความกลัว เพื่อทำให้เกิด "การเซ็นเซอร์ตัวเอง". ทำหผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ไม่อยาก/ไม่กล้าโพสต์ไม่อยาก/ไม่กล้าเปิดดู ไม่อยาก/ไม่กล้าพูดถึง. ผมคิดว่าอันนี้น่ากลัวที่สุด และมีผลกว้างขวางมากกว่าแค่ในอินเทอร์เน็ต แต่รวมถึงทั้งสังคมเลยการสร้างความกลัวนี่ รวมถึงการใส่มาตราบางมาตราลงมาใน พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี่ด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาในคอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เน็ต. มาตรา 14, 15, 16. ซึ่งกว้างมาก แล้วแต่เจ้าหน้าที่รัฐจะตีความอย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ในปี 2550 นอกเหนือจากลุ่มต้านรัฐประหารและรัฐบาลที่ไม่ได้มาตามิถีทางประชาธิปไตย จะสร้างข่ายใยเติบโตขึ้นในพื้นที่อินเตอร์เน็ตของไทยแล้ว กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตก็ทำงานไปพร้อมๆ กันด้วย กลุ่มเล็กๆ ที่ชื่อว่า FACT ได้ทำหน้าที่นี้อย่างแข็งขันในช่วงกว่าขวบปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่การพยายามเผยแพร่เรื่องราวการถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ต และรวมถึงการแจกจ่ายแปรแกรม ‘มุด' เพื่อให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูก ‘บล็อก'ในเรื่องร้ายมีเรื่องให้เรียนรู้ และก็คงต้องจับตากันต่อไปว่า พัฒนาการของประชากรในโลกไซเบอร์ของไทยจะถูกเร่งให้เติบโตขึ้นอีกหรือไม่.... แต่หากพื้นที่ในโลกไซเบอร์ของไทยได้เติบโตไปแบบไม่ต้องมีตัวเร่ง และแรงเสียดทานแบบเอาประเทศเป็นตัวประกัน...นั่น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
หัวไม้ story
หลังจากทำงานขับรถบรรทุกส่งแก๊สกับบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) มาได้ร่วมปี “สุรชัย” ถูกเรียกเข้าสำนักงานใหญ่ หวังใจว่าจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ หลังจากถูกต่ออายุทดลองงานมาเกือบปี แต่เมื่อไปถึงสำนักงานใหญ่ เขากลับได้รับการแนะนำให้รู้จักกับบริษัทอเดคโก้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัททีไอจีอ้างว่า เป็นบริษัทจัดหางานระดับโลก ที่มีพนักงานกว่าเจ็ดหมื่นคนทั่วโลก ทีละคน ทีละคน... เขาและเพื่อนๆ ทยอยเซ็นสัญญาที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทบอกว่าจะกรอกรายละเอียดให้ เขาบอกว่า ปัญหาใหญ่ คือทุกคนไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานหรือสัญญาเลย ทั้งยังไม่มีเวลาอ่าน โดยเมื่อฟังดูเผินๆ สวัสดิการก็ได้เหมือนกับทีไอจี หลังจากนั้นมีอีกฉบับมาให้เซ็นเป็นรายคน คนแรกเซ็นทั้งที่ยังไม่ได้อ่าน คนต่อไปก็อ่านผ่านๆ แล้วก็เซ็น เพราะผู้บริหารระดับสูงบอกว่าทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ว่าคนที่อยู่ก่อนได้อะไร พวกเขาก็จะได้เหมือนกันหมด ต่อเมื่อเซ็นไปแล้ว ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ จึงได้รู้ว่าโดนหลอก ในสัญญามีข้อหนึ่งบอกว่าพนักงานสัญญาว่าจะไม่เรียกร้องสิทธิต่างๆ จากทีไอจี ทั้งยังมีอีกหลายข้อที่ทำให้รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตการทำงาน อาทิ ป่วยเกิน 30 วันใน 1 ปีก็ถูกปลดได้ ต้นปีถัดมา สุรชัยและเพื่อนถูกเรียกเข้าสำนักงานใหญ่อีกครั้ง คราวนี้พวกเขาถูกให้เซ็นสัญญาเป็นลูกจ้างเหมาช่วงของบริษัทเอสสตีมจำกัด ที่เพิ่งตั้งได้ไม่กี่เดือน (ซึ่งภายหลังพบว่า ผู้จัดการ บ.อเดคโก้ ลาออกไปตั้ง บ.นี้ และเมื่อไปที่ทำการบริษัทก็พบว่าอยู่ระหว่างก่อสร้าง) “ถ้าไม่เซ็นก็ออกจากงาน” นี่คือเงื่อนไข จากการเซ็นสัญญาคราวก่อน ทำให้คราวนี้สุรชัยและเพื่อนซึ่งเป็นพนักงานเหมาค่าแรงของอเดคโก้ ไม่ยอมเซ็นสัญญา ส่งผลให้พวกเขาถูกเลิกจ้าง... ดีที่พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ที่ช่วยกันเคลื่อนไหว ผ่านการนัดชุมนุมเรียกร้อง นอกจากนี้ยังได้รับกำลังใจจากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก คอยสนับสนุนการเคลื่อนไหวมาตลอด ระหว่างทางต่อสู้นั้น หนแรก บริษัททีไอจี ซึ่งถือเป็นนายจ้าง ไม่ยอมเจรจากับตัวแทนจากสหภาพ เพราะมองว่าพนักงานจ้างเหมาไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพ โดยมีเพียงข้อเสนอเดียวคือให้ทั้ง 9 คนกลับเข้ามาทำงานโดยเซ็นสัญญากับบริษัทรับเหมาค่าแรงใหม่ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว พนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 9 คนก็ได้กลับเข้าทำงาน หลังจากถูกเลิกจ้างเกือบ 1 เดือนเต็มๆ แม้ตัวแทนฝ่ายบริหารยังยืนยันให้ทั้ง 9 คน เซ็นสัญญาจ้างงานเป็นคนงานเหมาช่วงของบริษัทเอสสตีมจำกัด ก่อน จนถึงเดือนมิถุนายน 2552 แล้วในปีต่อไป ทางทีไอจีจะรับพวกเขาเป็นพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวและยืนยันว่าจะรับพวกเขาเข้าเป็นพนักงานประจำไม่เกินเดือนมิถุนายน 2554 หรือเร็วกว่านี้ หากปัญหาฟ้องร้องทางกฏหมายระหว่างนายจ้างกับสหภาพฯ มีข้อยุติ และยืนยันว่าจะไม่ติดใจ กลั่นแกล้งหรือโยกย้ายคนงานทั้ง 9 คนโดยเด็ดขาด ความคุ้มครองที่เปลี่ยนไปจากการต่อสู้ของพนักงานจ้างเหมาค่าแรงทั้ง 9 คน บางคนบอกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ฉบับแก้ไข (หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้ โดย ลาวัลย์ ดาราพัฒนภัค นิติกร 8 ว. ผู้แทนกองนิติการ ได้กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง กฎหมายแรงงานฉบับใหม่: โฉมหน้าของการจ้างงานแบบใหม่ในสังคมไทย” ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ใน พ.ร.บ. ที่แก้ไขใหม่นี้ ได้คุ้มครองลูกจ้างรับเหมาค่าแรงมากขึ้น โดยมีมาตรา 11/1 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ ที่รับคนงานมาจากบริษัทจ้างเหมาค่าแรง โดยที่การทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว โดยต้องจัดให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน อย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ เธอมองว่า มาตรานี้จะทำให้ลูกจ้างที่ถูกจ้างมาโดยรับเหมาค่าแรง มีสิทธิเรียกร้องกับผู้ประกอบการได้เท่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากที่ผ่านมา ลูกจ้างที่ทำงานลักษณะเดียวกันกลับถูกปฎิบัติต่างกัน เพราะสถานะที่เป็นลูกจ้างประจำ และลูกจ้างเหมาช่วง ดังนั้น การมีมาตรานี้จะส่งให้ปฎิบัติต่อลูกจ้างทั้งสองกลุ่มโดยเป็นธรรมและไม่เลือกปฎิบัติ นอกจากนี้แล้ว ในมาตรา 14/1 ซึ่งระบุว่า ศาลสามารถมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ ของนายจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีความเป็นธรรมมากขึ้น “บางคนบอกว่า เรื่องนี้มีบังคับใช้แล้วตั้งแต่ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่อันนั้นเฉพาะสัญญาสำเร็จรูป ที่เป็นสัญญาตายตัว แต่สัญญาจ้างแรงงานไม่ต้องขึ้นกับลายลักษณ์อักษร อาจตกลงด้วยวาจาถือเป็นสัญญาจ้าง เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่ครอบคลุมถึงสัญญาจ้างแรงงาน” ในกรณีที่นายจ้างจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุสุดวิสัย มาตรา 15 ได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน จากเดิมจ่ายเพียงร้อยละ 50 นอกจากนั้นแล้ว ลาวัลย์ กล่าวว่า มีการแก้ไขกฎหมายให้ยืดหยุ่นต่อการทำงานด้วย อาทิ มาตรา 23 ซึ่งกำหนดว่า หากการดำเนินธุรกิจนั้นเกิดข้อขัดข้อง ต้องให้ออกจากงานก่อนเวลา 8 ชั่วโมงทำงาน เช่นอาจมีไฟฟ้าดับ ภัยธรรมชาติ หรือเครื่องจักรเสีย ต้องให้ลูกจ้างกลับก่อน ตรงนี้มีการแก้ไขให้เกิดความยืดหยุ่น โดยนำชั่วโมงที่เหลือไปทบกับวันทำงานถัดไปได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าวันละ 9 ชั่วโมง โดยที่อยู่ในกรอบ 48 ช.ม. ต่อสัปดาห์ โดยได้กำหนดค่าแรงไว้ว่า ลูกจ้างจะได้เงินหนึ่งเท่าครึ่งของค่างจ้างต่อวัน ก็น่าจะเป็นประโยชน์ จากที่ผู้แทนของกระทรวงแรงงานชี้แจงมา กรณีมาตรา 11 ที่ระบุว่า การจ้างงานจากบริษัทจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเป็นนายจ้างของลูกจ้างเหมาค่าแรงนั้น ต้องเป็นการทำงานที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วหากพนักงานจ้างเหมาค่าแรง ที่ทำหน้าที่ขับรถ เช่นเดียวกับสุรชัย จะถือว่าทำงานที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตหรือไม่ แล้วจะตีความอย่างไร หรือพนักงานที่ทำหน้าที่บรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์จะเรียกว่า อยู่ในส่วนการผลิตหรือไม่ ในเวทีเดียวกันนี้ บุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แสดงความเห็นต่อคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานว่า มาตรา 11/1 เขียนไว้แต่ก็มีช่องว่างทางกฎหมาย เนื่องจากกำหนดว่า ลูกจ้างเหมาค่าแรงต้องทำงานอย่างเดียวกับลูกจ้างประจำ จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเท่ากันกับลูกจ้างประจำ ซึ่งปรากฎว่า บริษัทยานยนตร์แห่งหนึ่งในอีสเทิร์นซีบอร์ด จ้าง รปภ. จากบริษัทหนึ่ง ฝ่ายผลิตอีกบริษัทหนึ่ง สรุปแล้วในบริษัทมีแต่พนักงานเหมาค่าแรงทั้งโรงงาน ไม่มีพนักงานประจำเลย แล้วจะไปเปรียบเทียบกับใคร ล่าสุด ทราบมาว่า ในอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิต มีการซิกแซกเพื่อเลี่ยงมาตรา 11/1 กันแล้ว โดยผู้ประกอบการซอย แบ่งงานของลูกจ้างที่ทำงานในสายการผลิตเดียวกันออกเป็นส่วนๆ “คนที่หนึ่งมีหน้าที่ขันน็อตตัวนี้ ได้เงินเดือนเท่านี้ เป็นพนักงานประจำ คนที่สองมีหน้าที่พ่นสี ยืนเรียงกันแต่เขียน job description (ลักษณะการทำงาน) ซอยออกมา” บุญยืนกล่าวและถามว่า ที่กำหนดไว้ว่าสวัสดิการควรได้เท่ากัน จะเป็นจริงได้อย่างไร เพราะถูกเบี่ยงเบน ตามการมีความของนักกฎหมาย ว่าเป็นงานคนละอย่าง สัญญาจ้างที่นายจ้างได้เปรียบเกินสมควร !?ด้าน บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงานอิสระ แสดงความเห็นต่อมาตรา 14/1 ว่า คำว่า นายจ้าง ได้เปรียบเกินสมควร จะมีความหมายมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องพิสูจน์ได้ว่า ข้อบังคับทำให้นายจ้างได้เปรียบเกินสมควร โดยที่ศาลมีหน้าที่เพียงแค่สั่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้าง ได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี –ไม่มีอำนาจยกเลิกสัญญาจ้าง – นอกจากนี้แล้ว ยังให้ศาลแรงงานใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง โดยไม่ได้ให้ลูกจ้างเสนอความเห็นอีกด้วย อีกทั้งขั้นตอนกว่าจะไปถึงศาลนั้นมีระยะเวลาค่อนข้างนาน มีคำสั่งของนายจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวนมาก ที่ลูกจ้างไม่กล้าร้องเรียน จนเมื่อใช้มาเกิน 1 ปี ศาลเคยตีความว่า ถือว่า ลูกจ้างยอมรับได้ นอกจากนี้ โรงงานจำนวนมาก นายจ้างเป็นผู้ออกข้อบังคับฝ่ายเดียว หลายโรงงานไม่ปิดประกาศ ใช้วิธีให้รู้กันเอง หรือแม้แต่เมื่อเรื่องไปถึงศาลแรงงานแล้ว บัณฑิตแสดงความเห็นว่า เมื่อถึงตอนนั้น ลูกจ้างจะได้รับผลกระทบพอสมควร โดยลูกจ้างจำนวนมากเสี่ยงต่อการตกงาน ในแง่นี้ พนักงานตรวจแรงงานอาจต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นก่อนไปถึงศาล โดยพนักงานตรวจแรงงานนั้นมีวินิจฉัยให้นายจ้างปรับปรุบแก้ไขระเบียบข้อบังคับได้ แต่เท่าที่ทราบไม่ค่อยทำ รวมทั้งนายจ้างไม่เชื่อถือหรือเห็นว่าต้องปฎิบัติตาม กฎหมายกระทบการรวมตัวต่อรองของแรงงานนอกจากนี้ บัณฑิตเห็นว่า ยังมีมาตราที่จะถูกใช้เป็นกลยุทธ์กดดันไม่ให้สมาชิกสหภาพเคลื่อนไหว และไม่ต่างจากการเลิกจ้างทางอ้อม นั่นคือ มาตรา 15 ที่ให้นายจ้างที่มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุสุดวิสัย จ่ายเงินแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน ตรงนี้แม้จะเพิ่มจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 75 และกำหนดให้นายจ้างแจ้งกับลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงาน ก่อนเริ่มหยุด สามวันทำการ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุว่า เหตุจำเป็นหรือสำคัญที่จะกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนนำไปสู่หยุดงานชั่วคราวคืออะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ฉบับเดิมเปิดช่องไว้ว่าจะกำหนดในกฎกระทรวง แต่ฉบับใหม่ไม่มีระบุไว้ เนื่องจากเกรงกระทบกับการตีความของศาล “การให้นายจ้างต้องแจ้งก่อน 3 วัน เพื่ออะไร เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานรับทราบ? เพื่อตรวจความจำเป็นว่ามีเหตุผลพอหยุดงานไหม? ควรให้ชัดเจนว่า เข้าไปตรวจสอบว่า จำเป็นไหม” บัณฑิตตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายยังเปิดช่องไว้ด้วยว่า เมื่อนายจ้างจำเป็นต้องหยุด นายจ้างมีอำนาจสั่งลูกจ้างหยุดชั่วคราวกี่ครั้งกี่วันก็ได้ ซึ่งจะเป็นปัญหามากกับสหภาพแรงงาน ที่ต่อรองเรียกร้อง เพราะหากนายจ้างสั่งหยุดหลายวันเข้า ก็อาจกระทบต่อค่าจ้างเงินเดือนที่ต้องนำไปใช้จ่าย นอกจากนี้แล้ว เขาให้ข้อมูลว่า เคยมีกรณีที่การหยุดงานดังกล่าว ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิในประกันสังคม เพราะนายจ้างไปตีความว่า เงินที่จ่ายในช่วงหยุดงานนั้นไม่ถือเป็นค่าจ้าง นายจ้างจึงไม่ต้องหักเงินสมทบส่งประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างขาดเงินสมบท และเสียสิทธิบางอย่างไป เช่น สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิชราภาพ ฉัตรชัย ไพรเสน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส แสดงความเห็นต่อมาตรา 23 ว่า จะทำให้ “เรากำลังเข้าสู่ยุคทาส การกำหนดเวลาทำงานที่ทำให้มีการทดเวลา ราวกับฟุตบอล มีทดบาดเจ็บ ถ้าทดไปวันอื่นต้องจ่าย 1.5 เท่า เท่ากับบังคับให้ทำล่วงเวลาได้ เมื่อก่อนต้องลูกจ้างต้องยินยอม” จากข้อถกเถียงต่างๆ ดูเหมือนฝ่ายแรงงานไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขนี้ เนื่องจากยังมีช่องโหว่อีกมาก ที่อาจถูกฉวยใช้เพื่อเอาเปรียบพวกเขา ทั้งยังกระทบต่อสิทธิการรวมตัวเพื่อเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นอกการต่อสู้ในกฎหมายแรงงานยังมีลูกจ้างอีกประเภทที่ไม่ถูกรวมไว้ ลูกจ้างที่ไม่ถูกนับรวมอาริยา แก้วประดับ สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม เล่าถึงลูกจ้างชั่วคราวในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขว่า จากโรงพยาบาลของรัฐ 800 กว่าแห่งนั้น มีลูกจ้างชั่วคราวถึง 86,000 คน บางโรงพยาบาลมีลูกจ้าง 60-70%พวกเขาถูกนับเป็นลูกจ้างชั้นสอง เพราะได้ค่าแรงจากเงินนอกงบประมาณ หรือเงินบำรุงที่แต่ละโรงพยาบาลรับไปจัดสรรบริหารงานภายใน ทั้งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ทั้งที่ต้องใช้แรงงานเหมือนกับคนอื่นๆ นอกจากลูกจ้างชั่วคราวในกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีคนที่ตกขอบของกฎหมายอีกมาก ทั้งในกระทรวงแรงงาน และกระทรวงเกษตร สัญญาเป็นแบบปีต่อปี บางคนต่อมา 20 ปีแล้ว บางคนเป็นลูกจ้างชั่วคราวยันเกษียณ บางคน “ได้รับพัดลม 16 นิ้วหนึ่งตัว ตอนเกษียณ” อาริยา บอก ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรมได้ช่วยเจรจาเรียกร้องร่วมกับลูกจ้างชั่วคราว จนปัจจุบันได้ปรับอัตราค่าจ้าง 3% 2 ปี จนเงินเดือนอยู่ที่ 5,360 บาท อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขายังไม่ได้ก็คือ สิทธิการลาคลอด ไม่ได้เงินชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ก่อนจบ อาริยาทิ้งท้ายด้วยจดหมายของคณาพันธุ์ ปานตระกูล ลูกจ้างชั่วคราว อายุงาน 17 ปีที่ตัดสินใจปลิดชีวิตของตัวเองลงเมื่อ 2 ปีก่อน ส่งถึง สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย เรื่อง เป็นคนตาย การกระทำของกระผมในครั้งนี้ ถ้าท่านใดหรือหน่วยงานใดได้รับผลกระทบ กระผมขออโหสิกรรมไว้ด้วย ถ้าหากเป็นไปได้กระผมอยากจะขอกราบเท้าท่านนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้อำนวยการ, ฝ่ายบริหาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของทุกโรงพยาบาลทุกท่านกระผมตอนยังมีชีวิตอยู่ กระผมรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์กับบุคคลรอบข้างน้อยมาก จึงคิดว่าถ้าตายไปคงจะมีประโยชน์กับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่และยังอยากสู้ชีวิตต่อไป ชีวิตของกระผมคงจะกระตุ้นพวกท่านให้อยากช่วยเหลือ หรือมีความอนุเคราะห์ พวกลูกจ้างชั่วคราวบ้าง พวกท่านมีอำนาจ มีบารมี มีความรู้ พวกท่านคงมีหนทาง คิดพิจารณา หานโยบาย สร้างขวัญและกำลังใจให้กับลูกจ้างชั่วคราวให้มาก ขอความกรุณาเถอะครับ ลูกจ้างชั่วคราวบางคนทำงานมา 5 – 20 ปี เงินเดือน 5,360 บาท หักส่วนอื่นแล้ว เหลือประมาณ 4,900 บาท แต่ละเดือน ไม่พอใช้จ่ายหรอกครับ พวกกระผม ไม่มีกฎหมายรองรับ สู้แรงงานต่างด้าวยังไม่ได้เลย พวกกระผมก็ต้องกิน ต้องใช้เหมือนพวกท่าน ต้องการความมั่นคงในชีวิต เหมือนพวกท่าน และที่สำคัญงานที่พวกผมกระทำ มันไม่ใช่งานชั่วคราว มันเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ทำจนตายอย่างนี้ ไม่น่าที่จะเรียกว่างานชั่วคราว ขอความกรุณาโปรดพิจารณาช่วยเหลือลูกจ้างชั่วคราวที่ยังอยากสู้ชีวิตต่อไปด้วยเถิด * การตายของกระผมคงจะเป็นประโยชน์แด่ลูกจ้างชั่วคราวทั้งหลายทุกโรงพยาบาล * งานที่พวกเรากระทำไม่ใช่งานชั่วคราว คณาพันธุ์ ปานตระกูล การต่อสู้ผ่านช่องทางกฎหมายที่ชื่อ “คุ้มครองแรงงาน” ดูเหมือนจะแคบลงเรื่อยๆ ช่องทางเดียวที่เหลือ คงไม่พ้นการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน ดังที่ ฉัตรชัย สรุปเอาไว้ในเวทีวันนั้น ...  หมายเหตุ ดาวน์โหลด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 ได้ที่นี่  จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์  
Hit & Run
   จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์ ตลอดสัปดาห์นี้ ดูเหมือนเรื่องร้อนๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องจะ ‘แก้-ไม่แก้' รัฐธรรมนูญ บางคนบอกว่า ไม่ควรแก้กันตอนนี้ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เรียบร้อย ผู้เขียนกลับเห็นว่า ควรจะแก้เสียตอนนี้เลย เพราะแม้ว่า รัฐธรรมนูญไทยจะถูกฉีกเป็นว่าเล่น ต้องร่างใหม่กันบ่อยๆ จนตอนนี้ปาเข้าไปฉบับที่ 18 คำนวณอายุโดยเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญก็ตกอยู่ราวๆ ฉบับละ 4 ปีนิดๆ พอๆ กับอายุบัตรนักศึกษามหาวิทยาลัย สั้นกว่ากฎหมายและระเบียบว่าด้วยการแต่งกายของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[1] หรือแม้กระทั่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับเก่า ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2473 (ที่ตอนนี้ ได้ฉบับใหม่มาประกาศใช้แทนเรียบร้อย ร.ร. สนช. ไปแล้ว) แต่ก็นับว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของประชาชน เพราะได้กำหนดถึงวิธีการได้มาซึ่งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ที่จะมาทำหน้าที่บริหารประเทศ ออกกฎหมาย และควบคุมไม่ให้การกระทำของฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมาย หรือไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ แทนเรา (ซึ่งจะขอพูดถึงในลำดับต่อไป)ยิ่งมาตรา 237 ที่ว่าด้วยเรื่องของการยุบพรรคการเมือง ยิ่งสำคัญกับเราทุกคน ตามที่ 5 อาจารย์แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ไม่เห็นด้วยกับการตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เพื่อยุบพรรคการเมือง เพราะเท่ากับความผิดของบุคคลคนเดียวนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนมากซึ่งไม่ได้ทำผิด อีกทั้งการเอาผิดกับบุคคลซึ่งไม่ได้กระทำ ยังขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรงด้วย หากรัฐธรรมนูญไม่สามารถตีความครอบคลุมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ เรื่องอื่นๆ ที่คงจะหวังได้ยาก... อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนจะขอหยุดการแสดงความเห็นเรื่องมาตรา 237 ไว้ตรงบรรทัดนี้ เพราะได้มีผู้แสดงความเห็นไปแล้วหลาย คน (และผู้เขียนเห็นด้วย)เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทันทีที่ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร กลุ่มพันธมิตรฯ ก็จะมีความชอบธรรมและจะชัดเจนว่าจะเคลื่อนไหวโดยการชุมนุมหรือไม่ เพราะมีจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่ามาตราใดๆ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องสำคัญ โดยเห็นว่า รัฐบาลควรจะแก้ไขปัญหาอื่นของประเทศชาติก่อนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญผู้เขียนเห็นต่างว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน เพราะการออกแบบการได้มาซึ่ง ส.ส. ส.ว. รวมถึง ศาล และองค์กรอิสระนั้น ออกจะบิดเบี้ยวไม่น้อย เริ่มตั้งแต่ ส.ว. การสรรหา ส.ว. เกือบครึ่งหนึ่ง (74 คน) มาจากคณะกรรมการ 7 คน ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตัวแทนที่ประชุมศาลฎีกา และตัวแทนที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด (โดยที่ ส.ว. ทั้งสรรหา และเลือกตั้ง นั้น สามารถถอดถอน ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้  และมีอำนาจแต่งตั้ง-ถอดถอนองค์กรอิสระ หรือก็คือบุคคลที่เลือกตนเองมาได้ด้วย) ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะได้มาจากการสรรหาโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มาจากการสรรหาโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มาจากการสรรหาโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนที่ประชุมศาลฏีกา ตัวแทนที่ประชุมศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาจากการสรรหาโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนที่ประชุมศาลฏีกา ตัวแทนที่ประชุมศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรผู้ตรวจการแผ่นดิน สรรหาโดยโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนที่ประชุมศาลฏีกา และตัวแทนที่ประชุมศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร[2]นอกจากนี้ ขณะที่รัฐธรรมนูญห้ามกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญลงสมัคร ส.ส. ส.ว. แต่กลับไม่ห้ามดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ[3] ทั้งยังไม่มีการห้าม ส.ส.ร. และ สนช. ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว.[4] ทั้งที่ ส.ส.ร. มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐธรรมนูญ ที่ออกแบบการได้มาซึ่ง ส.ส. ส.ว. และ สนช.ก็เป็นผู้ผ่าน พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว.หลักการไขว้กันขนาดนี้ ไม่แก้คงไม่ได้? [1] ดู ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ : ฐานะและบทบาททางประวัติศาสตร์ของรธน.ในระบบประชาธิปไตยไทย[2] ดู ตารางเปรียบเทียบจำนวน ที่มา ของศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี2540และ2550[3] จรัญ ภักดีธนากุล และสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้รับการสรรหาเป็นว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ[4] คำนูณ สิทธิสมาน และสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา  
ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
TANSTAAFL- There ain't no such thing as a free lunch.Milton Friedmanเคยได้ยินใช่ไหมคะที่เขาว่ากันว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ประโยคนี้มีที่มาจากไหนใครเป็นคนริเริ่มไม่ปรากฏแน่ชัด ว่ากันว่ามีที่มาจากร้านอาหารอเมริกันในศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดึงดูดผู้มีรายได้น้อยด้วยการประกาศเลี้ยงอาหารกลางวันฟรี แต่มีข้อแม้อยู่ว่าใครจะกินต้องจ่ายค่าเครื่องดื่มอีกต่างหากอย่างน้อยหนึ่งอย่างต่อมาจึงเป็นที่มาของแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ส่งผลให้ประโยคที่ว่านี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางภายใต้ชื่อของศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก Milton Friedmanแนวคิดที่ว่านี้คือ การได้มาซึ่งสิ่งใดก็ตามในโลก ย่อมต้องแลกมาด้วยบางสิ่งบางอย่างเสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีข้อแลกเปลี่ยน”ในทางกฎหมาย เวลาที่ “บุคคลสองฝ่าย” ตกลงแลกเปลี่ยนสิ่งใดก็ตามระหว่างกัน หากทั้งสองฝ่ายมีคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน เราเรียกว่าคำเสนอและคำสนองนั้นก่อให้เกิด “สัญญา” ค่ะในกรณีเช่นนี้ หากการแลกเปลี่ยนนั้น เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของกับสิ่งของ สัญญานั้นเรียกว่า “สัญญาแลกเปลี่ยน” แต่หากเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของและเงิน สัญญานั้นเรียกว่า “สัญญาซื้อขาย” โดยหลักแล้ว แม้ว่า “สัญญาแลกเปลี่ยน” และ “สัญญาซื้อขาย” จะมีลักษณะเฉพาะต่างกันดังกล่าว แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติในเรื่องซื้อขายมาใช้บังคับกับการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 519) ขอแถมนิดหนึ่งว่า ในกรณีที่กล่าวถึงการเข้าทำสัญญาไม่ว่ากรณีใด ทางกฎหมายจะไม่ใช้คำว่า “คนสองคน” นะคะ เนื่องจากในการทำสัญญาแต่ละครั้ง คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งอาจประกอบด้วยบุคคลมากกว่าหนึ่งคนก็ได้ คำว่า “คนสองคน” จึงขออนุญาตเก็บไว้ใช้ในโอกาสอื่นๆ ที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับกฎหมายจะดีกว่ากลับมาที่สัญญาซื้อขายและสัญญาแลกเปลี่ยนกันอีกครั้งค่ะ  เมื่อปรากฏว่าสัญญาแลกเปลี่ยน คือการแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของกับสิ่งของ และสัญญาซื้อขาย คือการแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของกับเงินแล้วทราบไหมคะว่า สิ่งของอะไรในโลกนี้ที่สามารถใช้แลกกับเงินได้บ้าง?ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 ระบุประเภทของทรัพย์ที่สามารถทำสัญญาซื้อขาย ได้แก่ “อสังหาริมทรัพย์” และ “สังหาริมทรัพย์”อสังหาริมทรัพย์ (มาตรา 139) หมายถึง ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น ไม้ยืนต้น โรงเรือน อาคาร สิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน แร่ธาตุ กรวด หิน ดิน ทรายขณะยังอยู่ในที่ดิน (ไม่ใช่ขุดออกมาแล้ว) ส่วนทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่มีโฉนด สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย ส่วนไม้ล้มลุก หรือทรัพย์อื่นๆซึ่งติดกับที่ดินเพียงชั่วคราวไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรานี้ทรัพย์ที่อาจทำการซื้อขายได้อีกประเภทหนึ่งคือ สังหาริมทรัพย์ (มาตรา 140) หมายถึงทรัพย์สิน “อื่น” นอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย ส่วนทรัพย์ที่ไม่สามารถทำสัญญาซื้อขาย ได้แก่ “ทรัพย์นอกพาณิชย์” (มาตรา 143)  ซึ่ง หมายถึงทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้ และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือทรัพย์สินอื่นซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนตามมาตรา 1700 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในการทำสัญญาซื้อขาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 458 กำหนดว่า กรรมสิทธิในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันพูดแบบนี้อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า เพียงแค่เอ่ยปากเจรจาตกลงทำสัญญาซื้อขาย กรรมสิทธิในทรัพย์ที่ขายนั้นก็จะตกเป็นของผู้ซื้อทันทีโดยไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่นอีก  เกือบจะใช่ แต่ก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียวค่ะที่จริงแล้ว ในการทำสัญญาซื้อขาย กรรมสิทธิในทรัพย์นั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อโดยสมบูรณ์หรือไม่  ขึ้นอยู่กับว่า ทรัพย์ที่ซื้อขายกันนั้นเป็นทรัพย์ชนิดใด และต้องดูด้วยว่าผู้ซื้อผู้ขายได้ทำสัญญากันถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่กล่าวคือ ถ้าเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายนั้นตกเป็นโมฆะ คือสิ้นผลไปทั้งหมด กรรมสิทธิไม่โอนไปยังผู้ซื้อส่วนการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้ โดยปกติเพียงแค่ตกปากรับคำซื้อขาย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อขายย่อมโอนไปเป็นของผู้ซื้อทันที เว้นแต่คู่กรณีจะได้ระบุเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไว้เป็นอย่างอื่น ตัวอย่างเช่น  คำพิพากษาฎีกาที่ 60/2524 รถยนต์ไม่ใช่ทรัพย์ที่อยู่ในบังคับตามมาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกันโดยมิต้องไปโอนทะเบียน ส่วนการโอนทะเบียนรถยนต์ตามกฎหมาย เกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่จะควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์ มิใช่แบบของนิติกรรมแต่อย่างใดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2546 จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยชำระราคาด้วยเช็คหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนและได้รับมอบรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้ว แม้เช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระราคารถยนต์พิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์โอนไปยังจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อตั้งแต่ขณะที่เมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 ส่วนการชำระราคาไม่ใช่เงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6289/2549 ข้อความในหนังสือสัญญาซื้อขาย แม้จะระบุว่าผู้ขายได้รับชำระค่ามัดจำเป็นเงินจำนวนหนึ่งและยอมให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลือภายใน 1 ปี พร้อมกับการส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายก็ตาม แต่ก็ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าหากผู้ซื้อชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ซื้อและผู้ขายจะไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลังต่อไป หนังสือสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจนำหนังสือสัญญาซื้อขายมาฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทได้
ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
Now is the time to make real the promise of democracy. Martin Luther King, Jr.เพิ่งเริ่มปีใหม่มาหมาดๆ เงินเดือนแรกของปีหนูถีบจักรยังไม่ทันโอนเข้ากระเป๋า แต่ดูเหมือนว่าโลกหลังปีใหม่ ทั้งในบ้านเขา และบ้านเรา จะหมุนเร็วเสียจนไล่กวดแทบไม่ทันแน่ะค่ะตามธรรมเนียมของการเริ่มต้นศักราชใหม่ ใครๆ ตั้งใจอยากจะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ เพิ่มสีสันให้ชีวิต ความตั้งใจตอนปีใหม่แบบนี้ ฝรั่งเรียกว่า New Year’s resolution ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนสาวคนหนึ่ง เธอตั้ง New Year’s resolution สำหรับปี 2008 ไว้ว่า หนึ่ง จะตื่นเช้าขึ้นครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาริสสีแดงได้จอดในร่มทุกวัน สีจะได้ไม่ซีดและดู cool ตลอดเวลา,  สอง ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น  วิ่งย้อนศรที่สวนลุมฯ วิ่งพร้อมเต้นแอโรบิค  กินเจ ฯลฯคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองแบบนี้ เรียกว่าตั้งใจดีไว้ก่อน ทำได้หรือไม่ได้ก็เห็นไม่เสียหาย ต้นปีหน้าค่อยมาว่ากันใหม่ จะตั้งแล้วตั้งอีกสักกี่ข้อก็ยังได้ (ฮา) ในทางกฎหมาย คำมั่นที่ได้ให้ไว้ต่อบุคคลอื่นถือเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา พูดเป็นภาษากฎหมายฟังแล้วเข้าใจยากจังค่ะ แต่โดยสรุปหมายความว่า คำมั่นที่ได้ให้ไว้นั้นจะมีผลผูกพันตัวผู้ให้คำมั่นในทำนองเดียวกับคำเสนอก่อนมีการทำสัญญา
Music
"ถึงรู้ว่ามันจะต้องเกิดขึ้น แต่ก็ยากจะทำใจ"คำๆ นี้ใช้ได้ดีกับสถานการณ์ในช่วงวันที่ 19-21 ที่ผ่านมา กับการที่พวก Elite ทั้งหลายที่นั่งเออออห่อหมกกับร่างกฏหมายที่จะมีผลกับประชาชนทั้งประเทศ ดูตัวเลขก็รู้แล้วว่าพวกเขาเออออห่อหมกกันขนาดไหน ไม่โปร่งใสมากขนาดไหน และเผด็จการกันขนาดไหน!เป็นที่รู้กันว่า พวก Elite ทั้งหลายนี้มาจากการคัดเลือกแต่งตั้งกันเองของคนบางกลุ่ม ซึ่งทำให้ได้กลิ่นคณาธิปไตยตุๆ แล้ว กระบวนการพิจารณากฏหมาย ที่พากันออกถี่ระรัว จนราวกับว่าพวกเขาไม่ได้คลอด กม.ลูกทั้งหลายอย่างมีสติ แต่เหมือนคนเมาสำรอกอาเจียนเอาทุกสิ่งทุกอย่างในใส้ในพุงออกมา!ใช่แล้ว! สภาหน้าด้านพวกนี้สำรอกกฏหมายออกมาอย่างไม่ใยดีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากกฏหมายเหล่านั้นเลย!Where is justice in this hell?Where is liberty - I paid the priceMy life blood runs drySlowly drained from me- In This Shallow Grave -ผมยอมรับว่าตอนนี้ผมก็อยากสำรอกกลับไปยังพวกมันด้วยความโกรธแค้น (ก่อนที่ต่อไปเราอาจแม้แต่จะไม่สามารถแสดงอารมณ์โกรธแค้นได้อีก) แบบเดียวกับที่ Angela Gossow นักร้องนำหญิงวง Arch Enemy ร้องอย่างดุดันเอาไว้ในอัลบั้ม Rise of the Tyrant ซึ่งนับได้ว่าเป็นการร้องที่จากเสียงที่เป็นธรรมชาติที่สุดของเธอมันช่างเป็นอัลบั้มที่ออกมาได้พอเหมาะพอเจาะกับสถานการณ์บ้านเราจริงๆ ในช่วงปีที่กลิ่นอายอำนาจทหารคุโชน เหล่า Elite ชุดใหม่ที่หลายคนได้พื้นที่นี้มาจากการช่วงชิงจาก Elite ชุดเก่า ออกมาทำตัวเป็นพี่เลี้ยง ป้อนนั่นป้อนนี่ให้ประชาชน ร่างกฏหมายที่คอยแต่จะลบเลือนความเป็นธรรมและฉกชิงเสรีภาพออกไปจากพลเมืองไม่ว่าจะต่อต้านกันยังไง ก็ยังหน้าด้านหน้าทนกันอยู่ในที่ประชุม!ไม่ว่าเราจะมีใช้เหตุใช้ผลแค่ไหน มันก็จะโต้กลับด้วยเหตุผลข้างๆ คูๆ พร้อมกับความชอบธรรมลวงๆBlind my eyes, I hate the lightDespair, frustration, regretFighting - fighting for what?Lies, your lies - I feel dead insideMy pain is all I leave behind- The Great Darkness -มันไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เป็นความเจ็บแค้นจนต้องระบายออกกับดนตรีที่มีทั้งความดุดัน หนักหน่วง และทำนองสละสลวย อย่างแนว Melodic Death Metal ซึ่งในอัลบั้ม Rise of the Tyrant แม้แต่เพลงที่เมโลดิกและโหดน้อยที่สุดในคือ I Will Live Again ก็บอกว่าเรายังไม่แพ้I will live again you'll see - tomorrow's not scaring meFar away from yesterday - just take this pain away- I Will Live Again - ในช่วงต้นเพลง Rise of the Tyrant ไตเติ้ลแทรกของอัลบั้มนี้ มีเสียงพูดที่เอามาจากภาพยนตร์เรื่อง Caligula ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับจักรพรรดิ์โรมันผู้ทำตัวเป็นพระเจ้าของคนในประเทศ บทพูดที่ตัดมานี้สิ่งที่ Caligula พูดมันช่างฟังดูน่าหัวร่อ แล้ววุฒิสมาชิกทั้งหลายพากันเออออตาม Aye! Aye! Aye! ฟังดูน่าหัวร่อพอๆ กันCaligula: I have existed from the morning of the world and I shall exist until the last star falls from the night.Although I have taken the form of Gaius Caligula, I am all men as I am no man and therefore I am a God.I shall wait for the unanimous decision of the Senate Claudius...Claudius: All those who say aye, say aye.Caligula: Aye... Aye!Senators: Aye! Aye! Aye!..Chaerea: He's a god now...- (บทพูดต้นเพลง) Rise of the Tyrant -แม้จะเป็นเมทัลที่เคล้าด้วยความเหี้ยมเกรียม แต่หลายเพลงในอัลบั้มนี้ก็มีความซับซ้อนอย่างเพลง Vulture หรือเพลงที่ท่วงทำนองผสานกลมกลืนไปกับริฟฟ์หนักหน่วงสะใจอย่าง Blood on Your Hands ; Michael Amott มือกีต้าร์และผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของอัลบั้มนี้บอกว่าเป็นงานชุดที่พวกเขาทำออกมาจากความคิดจิตใจส่วนลึกของวงแล้วใครจะเชื่อล่ะว่า Angela นักร้องนำเสียงโหดของวงนี้จะชอบหนังการ์ตูนแสนเศร้าอย่าง The Grave of Fireflies (หนังที่พูดถึงชะตากรรมของเด็กชายหญิงชาวญี่ปุ่นสองพี่น้อง ท่ามกลางการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่สอง) และถึงขั้นได้แรงบันดาลใจเขียนเป็นเพลง The Day you Died แต่เพลงนี้มีจุดด้อยคือลีดกีต้าร์ที่ไม่ชวนให้รู้สึกเจ็บปวดมากนักเมื่อเทียบกับเนื้อเพลงThey day you died my tears ran dryI feel you, I hear you echo in my soulI failed you, I miss you soThe day you died echoes in my soul- The Day You Died -ถึงแม้ว่าเงือมมือของเผด็จการจะค่อยๆ คลืบคลานเข้ามาอีกระยะ แต่อย่างที่บอกว่านี่ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ พวกขี้โกงในสภาฯ มันแค่รวมหัวกันตั้งกติกากันเอง ความน่ากลัวของกฏหมายพวกมันน่ะมีอยู่ แต่ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมเป็นลูกไก่ในกำมือ แม้ในเวทีนี้พวกมันจะยึดครองไว้ได้ หนทางข้างหน้าก็ไม่แน่ว่าพวกมันจะปิดเราไว้ได้หมดWho are they to tell you what to do?The stage is not set, the road is not chosenYou fate not preordainedThey are losing control - every step of the way- Revolution Begins -