ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
Public morals are natural complements of all laws: they are by themselves an entire code.Napoleon Bonaparte ปัจจุบัน ถ้าจะพูดถึงกฎหมายหลักที่ใช้บังคับอยู่ในบ้านเราซึ่งหลายต่อหลายคนคุ้นเคยกันดี ก็คงหนีไม่พ้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายอาญาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2466 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขอีกหลายครั้ง กระทั่งนับถึงปัจจุบัน เรามีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับมาแล้วถึง 84 ปีส่วนประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ประกาศใช้ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นับถึงบัดนี้เป็นเวลาเกือบหนึ่งร้อยปีถ้าดูแค่เพียงตัวเลข อาจรู้สึกว่าประวัติศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายในบ้านเรามีความเป็นมาย้อนหลังกลับไปไม่ไกลเท่าไรนัก แค่เพียงหนึ่งชั่วอายุคนเท่านั้นแต่นั่นเป็นเพียงประวัติศาสตร์ของการมีกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้อย่างเป็นสากลรูปธรรม หากมองกันตามข้อเท็จจริงแล้ว ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยกลับมีความเป็นมาย้อนหลังไปไกลกว่านั้น จากหลักฐานที่พบเริ่มแรกตั้งแต่คัมภีร์พระธรรมศาสตร์สมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781) หรือประมาณ 700 กว่าปีล่วงมาแล้วตั้งแต่เมื่อ 700 ปีก่อน ระบบกฎหมายดั้งเดิมของไทยใช้หลักการตัดสินคดีความโดยอ้างอิงคำตัดสิน(พระบรมราชวินิจฉัย)เป็นหลัก แต่ปัจจุบันเราเดินอยู่บนเส้นทางของระบบกฎหมาย Civil Law ซึ่งเป็นหนี่งในสองระบบกฎหมายหลักของโลกCivil Law คืออะไร?การจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องอธิบายถึงระบบกฎหมายหลักทั้งสองระบบเสียก่อนค่ะระบบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกทุกวันนี้มีที่มาจากสองระบบกฎหมายหลัก นั่นคือ ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) และระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law)ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) มีวิวัฒนาการจากกฎหมายโรมัน ซึ่งภายหลังได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในอิตาลี ระบบกฎหมายนี้ยึดถือหลักกฎหมายที่ได้จากจารีตประเพณีและตัวบทกฎหมายที่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ตัวอย่างประเทศในยุโรปที่ใช้ระบบนี้ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน ในเอเชีย เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย คำว่ายึดถือตัวบทกฎหมายที่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หมายความว่า ในการวินิจฉัยคดี ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมายตามที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายหรือพระราชบัญญัติเป็นหลัก โดยอาศัยการตีความกฎหมายเหล่านี้ซึ่งได้มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นจึงนำหลักกฎหมายที่ได้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับคดี ในระบบนี้อำนาจการออกกฎหมายขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลไม่มีอำนาจในการสร้างหลักกฎหมาย แต่มีสถานะเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลก็ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย เป็นแต่เพียงแนวทางในการวินิจฉัยคดีเท่านั้นระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) ระบบนี้พัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่ใช้อยู่ใน อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ โดยมีวิวัฒนาการจากการที่ศาลในอังกฤษสมัยก่อนนำหลักเกณฑ์ในจารีตประเพณีมาเป็นมาตรฐานในการตัดสินคดี จากนั้นศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีต่อๆ มาจึงได้ยึดถือคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนหน้าเป็นบรรทัดฐาน เกิดเป็นหลักเกณฑ์ทางกฎหมายสืบต่อกันมาในระบบนี้ถือว่าผู้พิพากษาเป็นผู้ออกกฎหมาย (Judge made law) ด้วยเหตุนี้ ในระบบนี้จึงไม่มีการตรากฎหมายขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะอาศัยเทียบเคียงหลักกฎหมายจากคำพิพากษาของศาลที่เคยตัดสินไว้ก่อนหน้า โดยในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน ศาลซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยในคดีหลังจะถูกผูกพันโดยคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินไว้ก่อน (Stare decisis) อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่ยังไม่เคยมีคดีเกิดขึ้นมาก่อน ก็อาจมีการตรากฎหมายขึ้นมาใช้สำหรับกรณีนั้นๆ เป็นการเฉพาะได้ ระบบนี้ถือว่าคำพิพากษาของศาลมีสถานะเป็นกฎหมายในตัวเอง โดยหลักกฎหมายเหล่านั้นมีที่มาจากจารีตประเพณี ศาสนา คำพิพากษา หลักความยุติธรรม (equity) และความเห็นของนักกฎหมายสำหรับระบบกฎหมายของประเทศไทย ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าเราใช้ระบบกฎหมายที่เรียกว่า "ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร" หรือระบบ Civil Law ค่ะเหตุใดไทยจึงใช้ระบบกฎหมาย Civil Law?สาเหตุหลักที่ไทยเลือกใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร แทนที่จะใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรากำลังมีการปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชาติตะวันตก ปรากฏว่าพัฒนาการทางกฎหมายจารีตประเพณีของเราในยุคนั้นยังไม่อาจนำมาปรับใช้ใด้ทันกับกฎเกณฑ์และวิธีคิดแบบฝรั่ง ผลจากการสูญเสียอธิปไตยทางการศาลหรือการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รัชกาลที่ห้าประกาศใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ตามแบบฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมัน ทั้งนี้ เพราะการตรากฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการง่าย สะดวก ชัดเจน และรวดเร็วกว่าการรอให้เกิดวิวัฒนาการของกฎหมายจารีตประเพณีอันเกิดจากคำพิพากษาของศาลปัจจุบันเรามีประมวลกฎหมายใช้บังคับอยู่ 7 ฉบับ ได้แก่ 1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2. ประมวลกฎหมายอาญา 3. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 4. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 5. ประมวลกฎหมายที่ดิน 6. ประมวลรัษฎากร 7. ประมวลกฎหมายอาญาทหารประมวลกฎหมายเหล่านี้ออกโดยอาศัยอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ มีลำดับศักดิ์และกระบวนการจัดทำเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ ส่วนที่แตกต่างคือ ประมวลกฎหมายเป็นการนำหลักกฎหมายทั่วไปในหลายเรื่องมารวมบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยจัดแบ่งหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปบังคับใช้ค่ะ
ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
Lawyers would have a hard time making a living if people behaved themselves and kept their promises Anonymousประเทศสุดท้ายที่เราจะพูดถึงเกี่ยวกับระบบการศึกษากฎหมายก่อนที่จะมาเป็นทนาย คือประเทศจีนค่ะ ปัจจุบันความเคลื่อนไหวของจีนกำลังเป็นที่น่าจับตาและอยู่ในความสนใจของนานาประเทศ นับแต่จีนเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศโดยประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยว ผิง เมื่อปี 1978 จวบจนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 ที่กำลังจะมาถึง ตลอดระยะเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา จากการศึกษาสถิติและตัวเลขจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคของชาวจีนเป็นไปอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจด้วยจำนวนประชากรที่มีมากถึง 1,300 ล้านคน ปัจจุบันจีนกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาคุณภาพของประชากรเหล่านี้ให้มีความกินดีอยู่ดีและมีความรู้เพิ่มขึ้น จากสถิติพบว่าปัจจุบันมีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในจีนโดยเฉลี่ยปีละเกือบ 3 ล้านคน และมีนักศึกษาที่จบจากต่างประเทศทั้งหมดเกินกว่า 1 ล้านคนการศึกษากฎหมายในประเทศจีนเริ่มต้นจากระดับมหาวิทยาลัย โดยเด็กนักเรียนชั้นมัธยมของเขาต้องผ่านระบบการสอบเอ็นทรานซ์ (National Matriculation Test- NMT) เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย คล้ายๆ กับของบ้านเรา นักเรียนเหล่านี้จะต้องตัดสินใจเลือกสาขาวิชาก่อนเข้าสอบ ส่วนว่าจะได้เรียนในสาขาวิชาหรือมหาวิทยาลัยที่ดีหรือตามต้องการหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคะแนนสอบ NMT เป็นสำคัญการเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยใช้เวลาทั้งสิ้นสี่ปี นอกจากนี้นักศึกษายังต้องผ่านการฝึกงานด้านกฎหมายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนในช่วงปีที่สามหรือสี่ ส่วนในปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา นักศึกษายังต้องส่งรายงานที่เขียนขึ้นเองอีกหนึ่งฉบับด้วย จีนมีระบบการสอบ “เนติบัณฑิต” เช่นเดียวกับประเทศไทยและเกาหลีใต้ โดยทนายความของเขาถูกบังคับว่าทุกคนจะต้องสอบไล่ได้ความรู้ชั้นเนติบัณฑิตเสียก่อน จึงจะสามารถประกอบวิชาชีพทนายความได้ และหลังจากสอบเนติบัณฑิตได้แล้ว ยังต้องผ่านการฝึกงานหนึ่งปีอีกต่างหาก ถึงจะครบถ้วนกระบวนความ มีสิทธิได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความโดยสมบูรณ์ระบบการสอบเนติบัณฑิตของจีนยังมีส่วนคล้ายกับเกาหลีใต้ประการหนึ่งคือ ผู้ที่จะมีสิทธิสมัครสอบเนติบัณฑิตนั้น จะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษากฎหมายได้ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตเสมอไป ส่วนสถิติของผู้ที่สอบไล่ได้เนติบัณฑิตในประเทศจีนนั้นอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับของประเทศไทยเราเลยทีเดียวปัจจุบันจีนกำลังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสอบเนติบัณฑิตให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น โดยจะกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสอบให้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่จบนิติศาสตร์บัณฑิตเท่านั้นทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของระบบการคัดเลือกทนายความในต่างประเทศ ซึ่งบอกให้เรารู้ว่า กว่าจะมาเป็นทนายไม่ว่าในที่ไหนๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นอกจากความแตกต่างในเรื่องของระบบการคัดเลือกแล้ว ค่าตอบแทนของทนายความในแต่ละประเทศ ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่มีความแตกต่างกันอย่างมากเป็นที่รู้กันว่าทนายความในประเทศมหาอำนาจมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 60,000 – 100,000 เหรียญต่อปี ดังนั้น สำหรับโจทย์ที่ตั้งไว้ในตอนแรกว่า “เป็นทนายที่ไหนดี” หลายคนจึงตอบได้อย่างไม่ต้องลังเลใจเลยว่า “ที่ไหนตังค์เยอะ ที่นั่นแหละดี”สำหรับในประเทศไทย พระราชบัญญัติทนายความกำหนดคุณสมบัติของผู้สามารถยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตทนายความไว้ว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ส่วนในประเทศจีนไม่มีข้อห้ามในทำนองนี้ แต่เป็นที่รู้กันว่าทนายความที่จะว่าความในศาลได้ต้องเป็นผู้มีสัญชาติจีน ส่วนทนายความที่รับให้คำปรึกษาไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติจีนก็ได้ดังนั้น สำหรับชาวต่างชาติที่เห็นว่าทนายความในประเทศเหล่านี้มีรายได้ดีเหลือเกิน อยากจะมาเป็นบ้าง ขอบอกไว้ตรงนี้ว่าหมดสิทธิค่ะ
ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
A Lawyer will do anything to win a case, sometimes he will even tell the truth.Patrick Murray ครั้งที่แล้วเล่าถึงกระบวนการกว่าจะมาเป็นทนายในประเทศเกาหลีใต้ไปแล้วคราวนี้ลองมาดูในประเทศอื่นกันบ้างนะคะในประเทศเยอรมันนี ซึ่งใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) เหมือนกับบ้านเรา (อันที่จริงต้องบอกว่าเราไปเหมือนเขาต่างหาก) หลังจบชั้นมัธยม เด็กนักเรียนในเยอรมันสามารถเลือกเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ นี่เป็นข้อดีที่เห็นได้ชัดที่สุดประการหนึ่งของระบบการศึกษาเยอรมันนอกจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแล้ว อีกประการหนึ่งที่เด็กไทยน่าจะชอบก็คือ การเรียนกฎหมายในเยอรมันสามารถจัดตารางเรียนได้เอง และไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องเข้าห้องเรียนด้วยดูเหมือนจะง่ายๆ อย่างนี้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว กว่าจะเป็นทนายในเยอรมันได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยการเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยที่เยอรมันใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี แต่ก่อนที่จะออกว่าความเป็นทนายได้เต็มตัว นักเรียนกฎหมายในเยอรมันต้องผ่านกระบวนการสอบที่สำคัญสองขั้นตอนที่เรียกว่า First State Exam และ Second State Exam รวมถึงการฝึกงานต่างๆ คิดเป็นระยะเวลาในการเรียนและการสอบทั้งสิ้นประมาณ 6-7 ปีFirst State Exam เป็นการทดสอบครั้งแรกหลังจากจบมหาวิทยาลัย เงื่อนไขการมีสิทธิสอบ First State Exam ง่ายๆ มีอยู่ว่า ระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัย นักเรียนกฎหมายทุกคนต้องผ่านการสอบข้อเขียนครั้งใหญ่ก่อนสองครั้ง ต้องเขียนรายงานหนึ่งฉบับความยาวประมาณ 35 หน้า ประกอบกับพรีเซนเตชั่นในชั้นเรียนความยาวประมาณ 25 นาที รวมถึงสอบปากเปล่าในสาขาวิชาที่ตัวเองสนใจอีกหนึ่งครั้ง และมีระยะเวลาฝึกงานในสองสาขาวิชากฎหมายที่แตกต่างโดยไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงอีก 12 สัปดาห์ ทั้งหมดนี้คิดเป็นส่วนหนึ่ง หรือประมาณ 30% ของคะแนนสอบ First State Exam ทั้งหมด หลังผ่านบททดสอบข้างต้นเรียบร้อยแล้ว นักศึกษาจึงจะมีสิทธิเข้าสอบ First State Exam โดยเป็นการสอบข้อเขียนในวิชากฎหมายแพ่ง 3 ครั้ง ครั้งละห้าชั่วโมง, วิชากฎหมายมหาชน 1 ครั้ง และกฎหมายอาญาอีก 1 ครั้ง แล้วยังต้องสอบปากเปล่าในสามสาขาวิชานี้รวมกันอีกครั้งหนึ่งด้วย ทั้งหมดนี้คือคะแนนในส่วน 70% ที่เหลือหลังหลุดรอดจากการสอบ First State Exam มาได้ ต่อไปก็มาถึงการสอบ Second State Examก่อนมีสิทธิสอบ Second State Exam นักศึกษาทุกคนต้องผ่านการฝึกงานในสถาบันกฎหมายเสียก่อนเป็นระยะเวลาสองปีโดยได้รับเบี้ยเลี้ยง อาจเป็นหน่วยงานของรัฐ ศาล อัยการ หรือสำนักงานทนายความก็ได้การสอบ Second State Exam จะเป็นตัวชี้วัดว่า นักศึกษาคนนั้นจะได้ประกอบวิชาชีพอะไร โดยผู้ที่ทำคะแนนได้สูงสุด จำนวนประมาณ 1% ของผู้เข้าสอบทั้งหมด จะได้เป็น Notary* ส่วนผู้ที่ทำคะแนนได้ในลำดับรองลงมาอีก 15% จะเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ ส่วนที่เหลืออีก 85% ก็จะเป็นทนายความ มีสิทธิว่าความได้ตามระเบียบมาตรฐานข้อสอบ รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆในการทดสอบทางกฎหมายครั้งสำคัญทั้งสองครั้งนี้ อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานของรัฐที่ชื่อว่า “Landesjustizpruefungsamt”ชื่อยาวๆ อย่างนี้ พยายามยังไงก็อ่านไม่ออกค่ะ... แต่แปลเป็นไทยได้ง่ายๆ ว่า “หน่วยงานของรัฐสำหรับการทดสอบทางกฎหมาย” นั่นเอง* Notary Public ผู้มีอำนาจทำคำรับรองทั้งในทางข้อเท็จจริงและทางกฎหมาย เช่น รับรองความถูกต้องของลายมือชื่อ รับรองสำเนาเอกสาร คำพยาน บันทึกคำให้การที่ต้องมีการสาบาน หรือเอกสารอื่นๆ ในบางประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) โนตารีพับลิคอาจมีอำนาจในการรับรองนิติกรรมด้วย โนตารีในยุโรปมีความสำคัญมาก เพราะสามารถมีอำนาจเทียบเท่าศาลในบางเรื่อง และยังเป็นเจ้าพนักงานของรัฐในการเก็บเอกสารสำคัญต่างๆ กฎหมายโนตารีพับลิกมีใช้ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิตาลี ออสเตรเลีย ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับโนตารี แต่สภาทนายความฯ ได้มีความพยายามจัดให้มีบริการในลักษณะเดียวกันที่เรียกว่า Notarial Services Attorney
ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
Doctors are the same as lawyers; the only difference is that lawyers merely rob you, whereas doctors rob you and kill you too.Anton Chekhov*เคยได้ยินไหมคะ ที่ใครๆเขาว่าทนายเป็นอาชีพที่ทำมาหากินบนความทุกข์ของคนอื่นในฐานะคนข้างเคียงในวงการ จะออกอาการว่าเห็นด้วยเสียเหลือเกินก็คงไม่ได้ แต่จะให้ปฏิเสธว่าไม่ใช่ก็ดูจะขัดแย้งกับความรู้สึกยังไงอยู่เอาเป็นว่าขอเถียงแทนเพื่อนนิดหนึ่งก็แล้วกัน ว่าการเป็นทนายไม่ใช่เรื่องของการทำมาหากินบนความทุกข์ของคนอื่นหรอกนะคะ แต่เป็นการแบกรับความทุกข์ของคนอื่น ไว้บนความทุกข์ของตัวเองอีกทีต่างหาก (ฮา)ปัจจุบันทนายความในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 53,236 คน (ข้อมูลจากสภาทนายความฯ) กว่าจะมาเป็นทนายในประเทศไทยต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง นับแต่ผ่านด่านเอนทรานซ์ครั้งแรกเมื่อตอนอายุสิบแปด ผ่านกระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างน้อยๆ อีกสี่ปี หรืออาจจะมากกว่านั้นสำหรับบางคน ผ่านการฝึกงานในสำนักงานทนายความ ทั้งแบบที่ได้รับเงินเดือนและไม่ได้รับเงินเดือนอีกหนึ่งปีสุดท้าย ยังต้องฝ่าด่านอรหันต์ในการสอบ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ตั๋วทนาย” ซึ่งใช้เวลาประมาณปีหนึ่งเป็นอย่างน้อย สำหรับคนที่สอบครั้งเดียวผ่าน รวมๆ แล้วกว่าจะได้มาเป็นทนาย กินระยะเวลาในชีวิตอย่างน้อยๆ ก็ 5-6 ปี เกือบๆ เท่าหมอหรือสถาปนิกนั่นเชียวที่กล่าวมาทั้งหมดคือขั้นตอนคร่าวๆ สู่การประกอบวิชาชีพทนายความในประเทศไทยแล้วทนายความในประเทศอื่นเขามีความเป็นมากันอย่างไร ลองมาดูกันนะคะในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อนบ้านซึ่งกำลังโด่งดังเหลือเกินในหมู่วัยรุ่นบ้านเราเวลานี้ ทนายความในเกาหลีใต้เริ่มเรียนกฎหมายในระดับมหาวิทยาลัยเหมือนกันกับของบ้านเรา ระยะเวลาการเรียนก็เท่าๆกัน คือสี่ปีโดยประมาณ แต่กว่าจะได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทนายความอย่างเต็มภาคภูมินั้น การสอบ “เนติบัณฑิต” ให้ผ่าน ถือเป็นปราการด่านสำคัญ ที่น้อยคนนักจะเอาชีวิตรอดผ่านไปได้ สำหรับประเทศไทย การสอบ “เนติบัณฑิต” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” แยกออกจากกันอย่างชัดเจน นั่นหมายความว่า หลังจบนิติศาสตร์บัณฑิตแล้ว หากคุณมีความประสงค์จะประกอบอาชีพทนายความในประเทศไทย สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณต้องสอบ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” ให้ได้เสียก่อน ส่วน “เนติบัณฑิต” นั้น เป็นเรื่องที่ค่อยว่ากันไป จะสอบหรือไม่สอบก็ได้ จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ได้ ไม่เกี่ยวกันตรงกันข้าม หากคุณสอบไล่ได้ความรู้ชั้น “เนติบัณฑิต” แล้ว แต่ทำยังไงๆ ก็สอบ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” ไม่ผ่านเสียที จะยังไงเสียคุณก็ไม่มีโอกาสเป็นทนายเข้าไปความว่าความในศาลได้แน่นอน สำหรับนักกฎหมายไทย ตามความเป็นจริง หรือแม้กระทั่งในความรู้สึกของหลายๆคน กล่าวกันว่า การสอบ “เนติบัณฑิต” นั้น ยากเย็นแสนเข็ญหนักหนาสาหัสกว่าการสอบ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” หลายต่อหลายเท่า ทำให้เกิดมโนทัศน์แปลกๆ ว่าทนายความที่มีตรา “เนติบัณฑิต” พ่วงท้ายมาด้วย จะมีความสามารถเหนือกว่าทนายความที่มีแต่ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” อย่างเดียว แต่ในความเป็นจริง ทนายใบอนุญาตที่ประสบความสำเร็จสูงกว่าทนายเนติบัณฑิต มีให้เห็นออกถม!กลับมาที่เกาหลีใต้กันต่อนะคะ การประกอบอาชีพทนายความในบ้านเราแยกออกเป็นสองระบบอย่างนี้ แต่ในเกาหลีเขามีระบบเดียว คือ “เนติบัณฑิต” การวัดคะแนนของผู้ที่จะสอบผ่านเนติบัณฑิตในเกาหลีใต้ ใช้ระบบอิงกลุ่ม ไม่อิงเกณฑ์ ดังนั้นการที่คุณจะสอบผ่านหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่า คนที่นั่งข้างๆ คุณทำได้ดีแค่ไหนด้วย ผู้ที่รอดชีวิตผ่านการสอบเนติบัณฑิตในประเทศเกาหลีใต้มาได้ มีจำนวนประมาณ 5% ของผู้เข้าสอบทั้งหมดทั้ง 5% นี้ ต้องไปเข้ารับการฝึกอบรมโดยกระทรวงยุติธรรมอีกสองปี โดยได้รับเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาล โดยผู้ที่ทำคะแนนได้สูงสุดจำนวน 30% ของผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมทั้งหมดจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ ส่วนพวกที่ทำคะแนนได้ท้ายๆ ลงมานั้น ถึงจะมีสิทธิเป็นทนายความที่พิเศษอย่างยิ่งคือ การสอบเนติบัณฑิตที่นี่ไม่จำกัดวงเฉพาะผู้ที่จบ “นิติศาสตร์บัณฑิต” เท่านั้นนี่คือคำตอบที่ว่าเหตุใดการสอบเนติบัณฑิตในประเทศนี้จึงยากเย็นยิ่งนัก เนื่องจากมีผู้เข้าสอบจำนวนมากมายมหาศาล และใช้ระบบการวัดคะแนนแบบอิงกลุ่มนายโนห์ มูเฮียน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน จบการศึกษาแค่ระดับ High school เท่านั้น แต่สามารถสอบเนติบัณฑิตผ่านได้ จึงเป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับคนเกาหลีค่ะ *Anton Chekhov นักเขียนบทละครและเรื่องสั้นสมัยใหม่ ชาวรัสเซีย ค.ศ.1860-1904