Doctors are the same as lawyers; the only difference is that lawyers merely rob you,
whereas doctors rob you and kill you too.
Anton Chekhov*
เคยได้ยินไหมคะ ที่ใครๆเขาว่าทนายเป็นอาชีพที่ทำมาหากินบนความทุกข์ของคนอื่น
ในฐานะคนข้างเคียงในวงการ จะออกอาการว่าเห็นด้วยเสียเหลือเกินก็คงไม่ได้ แต่จะให้ปฏิเสธว่าไม่ใช่ก็ดูจะขัดแย้งกับความรู้สึกยังไงอยู่
เอาเป็นว่าขอเถียงแทนเพื่อนนิดหนึ่งก็แล้วกัน ว่าการเป็นทนายไม่ใช่เรื่องของการทำมาหากินบนความทุกข์ของคนอื่นหรอกนะคะ
แต่เป็นการแบกรับความทุกข์ของคนอื่น ไว้บนความทุกข์ของตัวเองอีกทีต่างหาก (ฮา)
ปัจจุบันทนายความในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 53,236 คน (ข้อมูลจากสภาทนายความฯ) กว่าจะมาเป็นทนายในประเทศไทยต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง นับแต่ผ่านด่านเอนทรานซ์ครั้งแรกเมื่อตอนอายุสิบแปด ผ่านกระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างน้อยๆ อีกสี่ปี หรืออาจจะมากกว่านั้นสำหรับบางคน ผ่านการฝึกงานในสำนักงานทนายความ ทั้งแบบที่ได้รับเงินเดือนและไม่ได้รับเงินเดือนอีกหนึ่งปี
สุดท้าย ยังต้องฝ่าด่านอรหันต์ในการสอบ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ตั๋วทนาย” ซึ่งใช้เวลาประมาณปีหนึ่งเป็นอย่างน้อย สำหรับคนที่สอบครั้งเดียวผ่าน รวมๆ แล้วกว่าจะได้มาเป็นทนาย กินระยะเวลาในชีวิตอย่างน้อยๆ ก็ 5-6 ปี เกือบๆ เท่าหมอหรือสถาปนิกนั่นเชียว
ที่กล่าวมาทั้งหมดคือขั้นตอนคร่าวๆ สู่การประกอบวิชาชีพทนายความในประเทศไทย
แล้วทนายความในประเทศอื่นเขามีความเป็นมากันอย่างไร ลองมาดูกันนะคะ
ในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อนบ้านซึ่งกำลังโด่งดังเหลือเกินในหมู่วัยรุ่นบ้านเราเวลานี้ ทนายความในเกาหลีใต้เริ่มเรียนกฎหมายในระดับมหาวิทยาลัยเหมือนกันกับของบ้านเรา ระยะเวลาการเรียนก็เท่าๆกัน คือสี่ปีโดยประมาณ แต่กว่าจะได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทนายความอย่างเต็มภาคภูมินั้น การสอบ “เนติบัณฑิต” ให้ผ่าน ถือเป็นปราการด่านสำคัญ ที่น้อยคนนักจะเอาชีวิตรอดผ่านไปได้
สำหรับประเทศไทย การสอบ “เนติบัณฑิต” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” แยกออกจากกันอย่างชัดเจน นั่นหมายความว่า หลังจบนิติศาสตร์บัณฑิตแล้ว หากคุณมีความประสงค์จะประกอบอาชีพทนายความในประเทศไทย สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณต้องสอบ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” ให้ได้เสียก่อน ส่วน “เนติบัณฑิต” นั้น เป็นเรื่องที่ค่อยว่ากันไป จะสอบหรือไม่สอบก็ได้ จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ได้ ไม่เกี่ยวกัน
ตรงกันข้าม หากคุณสอบไล่ได้ความรู้ชั้น “เนติบัณฑิต” แล้ว แต่ทำยังไงๆ ก็สอบ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” ไม่ผ่านเสียที จะยังไงเสียคุณก็ไม่มีโอกาสเป็นทนายเข้าไปความว่าความในศาลได้แน่นอน
สำหรับนักกฎหมายไทย ตามความเป็นจริง หรือแม้กระทั่งในความรู้สึกของหลายๆคน กล่าวกันว่า การสอบ “เนติบัณฑิต” นั้น ยากเย็นแสนเข็ญหนักหนาสาหัสกว่าการสอบ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” หลายต่อหลายเท่า ทำให้เกิดมโนทัศน์แปลกๆ ว่า
ทนายความที่มีตรา “เนติบัณฑิต” พ่วงท้ายมาด้วย จะมีความสามารถเหนือกว่าทนายความที่มีแต่ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ” อย่างเดียว
แต่ในความเป็นจริง ทนายใบอนุญาตที่ประสบความสำเร็จสูงกว่าทนายเนติบัณฑิต มีให้เห็นออกถม!
กลับมาที่เกาหลีใต้กันต่อนะคะ การประกอบอาชีพทนายความในบ้านเราแยกออกเป็นสองระบบอย่างนี้ แต่ในเกาหลีเขามีระบบเดียว คือ “เนติบัณฑิต”
การวัดคะแนนของผู้ที่จะสอบผ่านเนติบัณฑิตในเกาหลีใต้ ใช้ระบบอิงกลุ่ม ไม่อิงเกณฑ์ ดังนั้นการที่คุณจะสอบผ่านหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่า คนที่นั่งข้างๆ คุณทำได้ดีแค่ไหนด้วย ผู้ที่รอดชีวิตผ่านการสอบเนติบัณฑิตในประเทศเกาหลีใต้มาได้ มีจำนวนประมาณ 5% ของผู้เข้าสอบทั้งหมด
ทั้ง 5% นี้ ต้องไปเข้ารับการฝึกอบรมโดยกระทรวงยุติธรรมอีกสองปี โดยได้รับเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาล โดยผู้ที่ทำคะแนนได้สูงสุดจำนวน 30% ของผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมทั้งหมดจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ ส่วนพวกที่ทำคะแนนได้ท้ายๆ ลงมานั้น ถึงจะมีสิทธิเป็นทนายความ
ที่พิเศษอย่างยิ่งคือ การสอบเนติบัณฑิตที่นี่ไม่จำกัดวงเฉพาะผู้ที่จบ “นิติศาสตร์บัณฑิต” เท่านั้น
นี่คือคำตอบที่ว่าเหตุใดการสอบเนติบัณฑิตในประเทศนี้จึงยากเย็นยิ่งนัก เนื่องจากมีผู้เข้าสอบจำนวนมากมายมหาศาล และใช้ระบบการวัดคะแนนแบบอิงกลุ่ม
นายโนห์ มูเฮียน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน จบการศึกษาแค่ระดับ High school เท่านั้น แต่สามารถสอบเนติบัณฑิตผ่านได้ จึงเป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับคนเกาหลีค่ะ
*Anton Chekhov นักเขียนบทละครและเรื่องสั้นสมัยใหม่ ชาวรัสเซีย ค.ศ.1860-1904