Now is the time to make real the promise of democracy.
Martin Luther King, Jr.
เพิ่งเริ่มปีใหม่มาหมาดๆ เงินเดือนแรกของปีหนูถีบจักรยังไม่ทันโอนเข้ากระเป๋า แต่ดูเหมือนว่าโลกหลังปีใหม่ ทั้งในบ้านเขา และบ้านเรา จะหมุนเร็วเสียจนไล่กวดแทบไม่ทันแน่ะค่ะ
ตามธรรมเนียมของการเริ่มต้นศักราชใหม่ ใครๆ ตั้งใจอยากจะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ เพิ่มสีสันให้ชีวิต ความตั้งใจตอนปีใหม่แบบนี้ ฝรั่งเรียกว่า New Year’s resolution ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนสาวคนหนึ่ง เธอตั้ง New Year’s resolution สำหรับปี 2008 ไว้ว่า หนึ่ง จะตื่นเช้าขึ้นครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาริสสีแดงได้จอดในร่มทุกวัน สีจะได้ไม่ซีดและดู cool ตลอดเวลา, สอง ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น วิ่งย้อนศรที่สวนลุมฯ วิ่งพร้อมเต้นแอโรบิค กินเจ ฯลฯ
คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองแบบนี้ เรียกว่าตั้งใจดีไว้ก่อน ทำได้หรือไม่ได้ก็เห็นไม่เสียหาย ต้นปีหน้าค่อยมาว่ากันใหม่ จะตั้งแล้วตั้งอีกสักกี่ข้อก็ยังได้ (ฮา)
ในทางกฎหมาย คำมั่นที่ได้ให้ไว้ต่อบุคคลอื่นถือเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา พูดเป็นภาษากฎหมายฟังแล้วเข้าใจยากจังค่ะ แต่โดยสรุปหมายความว่า คำมั่นที่ได้ให้ไว้นั้นจะมีผลผูกพันตัวผู้ให้คำมั่นในทำนองเดียวกับคำเสนอก่อนมีการทำสัญญา
นั่นก็แปลว่า หากภายหลังผู้รับคำมั่นได้แสดงเจตนาตอบรับคำเสนอนั้น สัญญาตามคำมั่นจะเกิดขึ้นทันทีโดยผู้ให้คำมั่นไม่อาจปฎิเสธ
เรื่องคำเสนอคำสนองซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อให้เกิดสัญญา ไว้เรามาว่ากันคราวหลังนะคะ วันนี้คุยเรื่องคำมั่นกันก่อน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องของคำมั่นไว้ในหลายมาตรา เช่น คำมั่นจะให้รางวัล มาตรา 362-365 คำมั่นจะซื้อจะขาย มาตรา 454 และ 456 คำมั่นจะให้ มาตรา 526 คำมั่นในสัญญาเช่าซื้อ มาตรา 572
เฉพาะในส่วนของคำมั่นจะให้รางวัลตามมาตรา 362-365 ถือเป็นคำมั่นที่มีต่อบุคคลทั่วไป โดยไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งผู้ที่เข้าข่ายสามารถแสดงเจตนาตอบรับคำมั่นประเภทนี้ได้ คือบุคคลทั่วไป ใครก็ตามที่สามารถกระทำการตามที่มีประกาศโฆษณาให้รางวัลนั้นได้สำเร็จก่อนบุคคลอื่น
ส่วนคำมั่นในมาตราอื่นๆ ตามที่ปรากฏอยู่ในเอกเทศสัญญาประเภทต่างๆ (ซื้อขาย ให้ เช่าซื้อ) จัดเป็นคำมั่นที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ที่จะสามารถแสดงเจตนาตอบรับต่อผู้ให้คำมั่นในฐานะผู้รับคำมั่นในกรณีดังกล่าว ได้แก่บุคคลตามที่ผู้ให้คำมั่นได้แสดงเจตนาระบุไว้นั่นเอง
นอกจากคำมั่นที่ได้ระบุไว้ในเอกเทศสัญญาดังกล่าวแล้ว ในส่วนของคำมั่นประเภทอื่นซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หากการแสดงเจตนาในคำมั่นนั้นไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 151) คำมั่นนั้นก็ย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย โดยตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยเรื่องคำเสนอคำสนองในการก่อให้เกิดสัญญา
ยกตัวอย่างเช่น คำมั่นจะให้เช่า
คำพิพากษาฎีกาที่ 748/2533 วินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า ผู้ให้เช่าสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้แล้ว ผู้ให้เช่าก็จะให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้ โดยผู้ให้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้เช่าเช่าที่ดินดังกล่าวแล้วในค่าเช่าเดือนละ 800 บาท โดยผู้เช่ามิต้องจ่ายเงินเป็นก้อนเพิ่มเติม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นของฝ่ายผู้ให้เช่าที่จะให้ผู้เช่าเลือกจะบังคับผู้ให้เช่าให้ต้องยอมทำสัญญาเช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปีหรือไม่ และตามข้อตกลงนี้มีผลทำให้ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายลูกหนี้ที่ผู้เช่ามีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับเอาได้ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า ผู้เช่าได้แจ้งความจำนงขอเช่าต่ออีก 10 ปี ผู้ให้เช่าจะไม่ยอมให้เช่าไม่ได้
คำพิพากษาฎีกานี้วินิจฉัยรับรองว่า คำมั่นจะให้เช่า แม้จะไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย ก็ย่อมมีผลผูกพันตัวผู้ให้คำมั่นโดยมิอาจปฎิเสธ
ในกรณีนี้ดูเหมือนว่าผู้รับคำมั่นจะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ สำหรับกรณีคำมั่นเกี่ยวกับเรื่องเช่าทรัพย์ใช่ไหมคะ
อย่าเพิ่งชะล่าใจไป
แม้คำมั่นจะมีผลบังคับได้ แต่ในส่วนของตัวผู้รับคำมั่นเอง การแสดงเจตนาตอบรับคำมั่นในเรื่องเช่าทรัพย์ มีข้อพึงระวังสำคัญอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ ผู้รับคำมั่นต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาคำมั่นนั้นก่อนผู้ให้คำมั่นถึงแก่ความตาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้รับคำมั่นรู้อยู่ก่อนว่าผู้ให้คำมั่นได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว การแสดงเจตนาในภายหลังผู้ให้คำมั่นถึงแก่ความตายย่อมเป็นอันไร้ผล
คำพิพากษาฎีกาที่ 1213/2517 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3, 4/2517)วินิจฉัยว่า คำมั่นจะให้เช่าทรัพย์มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ในหนังสือสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนาย จ. ข้อ 5 ที่มีข้อความว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่ายินยอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้แก่ผู้เช่าอีกสิบปีตามสัญญาเดิม เป็นแต่เพียงคำมั่นของนาย จ. ว่าจะให้โจทก์เช่าต่อไปเท่านั้นยังมิได้ก่อให้เกิดสัญญาแม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนไว้ คำมั่นนี้ก็ไม่มีผลผูกพันนาย จ. เพราะโจทก์ไม่ได้สนองรับก่อนนาย จ. ตาย และเมื่อโจทก์ได้รู้อยู่แล้วว่านาย จ. ตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดสิบปี กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 130 วรรคสอง (มาตรา 169 ใหม่) มาใช้บังคับ คำมั่นของนาย จ. ย่อมไม่มีผลบังคับไม่ผูกพันจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินส่วนที่โจทก์เช่าให้ต้องปฏิบัติตาม โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่จดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้โจทก์อีกสิบปีไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1602/2548 โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทโดยได้รับมรดกจาก ป. ซึ่ง ป. ได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาท กำหนดอายุสัญญาเช่า 15 ปี โดยมีข้อตกลงในสัญญาเช่าข้อ 11 ระบุว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าจะต่อสัญญาเช่าให้ทุก ๆ 3 ปี ซึ่งข้อความตามข้อตกลงดังกล่าว เป็นเพียงคำมั่นของ ป. ว่าจะให้ผู้เช่าต่ออายุสัญญาครั้งต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แต่คำมั่นนี้ยังไม่มีผลผูกพัน ป. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยได้สนองรับก่อน ป. ถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อจำเลยได้รู้อยู่ว่า ป. ผู้เสนอตายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 ก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดคือวันที่ 31 ธันวาคม 25438 กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่าห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองมาใช้บังคับ ดังนั้น คำมั่นของ ป. ดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1599 และมาตรา 1600 หนังสือขอต่อสัญญาของจำเลยจึงไร้ผล และไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าใหม่ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากตึกพิพาทได้
นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับเรื่องคำมั่นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งค่ะ
คำพิพากษาฎีกาที่ 8692/2549 วินิจฉัยว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 10. ระบุว่า ก่อนที่สัญญาฉบับนี้จะสิ้นสุดลงผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่าว่ามีความประสงค์ที่จะเช่าทรัพย์สินที่เช่านี้ โดยจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนสัญญานี้สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 15 วัน ส่วนค่าเช่าจะเป็นอย่างใดนั้นให้เป็นไปตามข้อตกลงใหม่ระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า และตามคำมั่นให้เช่าที่ดิน ข้อ 1. ระบุว่า ผู้ให้คำมั่นตกลงยินยอมให้ผู้รับคำมั่นเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี ค่าเช่าในอัตราปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาเช่านั้นด้วย แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะมีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นนั้น โจทก์และจำเลยจะต้องทำความตกลงกันในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อน ซึ่งระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่านั้นมิได้มีการกำหนดกันไว้อย่างแน่นอนตายตัว แต่ให้เป็นไปตามความตกลงของโจทก์และจำเลยที่จะเจรจาและทำความตกลงกันอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอัตราค่าเช่านั้นโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าให้เป็นไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือตอบรับคำมั่นของโจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็หาได้ทำให้มีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นและมีผลบังคับตามกฎหมายในทันทีดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อโจทก์จำเลยไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าและไม่ได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ต่อกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินที่เช่าอีกต่อไป
คำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้คำมั่นจะมีผลผูกพันตัวผู้ให้คำมั่นตามกฎหมาย แต่ตัวผู้รับคำมั่นเองก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในคำมั่นด้วย มิฉะนั้นคำมั่นก็อาจสิ้นผลไป ตัวอย่างเช่นกรณีนี้ แม้ผู้รับคำมั่นจะมีหนังสือแสดงเจตนาสนองรับคำมั่น แต่เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังมิได้มีการตกลงกันในเรื่องของค่าเช่าอันเป็นเงื่อนไขสำคัญ เมื่อเงื่อนไขนั้นไม่อาจสำเร็จลงได้ คำมั่นจึงสิ้นผลลงในที่สุด
ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่ผ่านมา เลือกตั้งเพิ่งผ่านไป รัฐบาลเก่าจากไป รัฐบาลใหม่กำลังมา...ใครเป็นใครไม่ว่า ทั้งเก่าทั้งใหม่ อย่างน้อยขอให้รักษาคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชนบ้างก็แล้วกัน
สุดท้าย มีคำมั่นสวยๆ ของคนที่กำลังตกหลุมรักมากฝากค่ะ เอ...ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าทำไม่ได้ตามที่กล่าวไว้ทั้งหมดนี่ ผู้รับคำมั่นจะไปฟ้องร้องเอากับใครที่ไหนดีน้อ...
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
(สุนทรภู่ ตอน พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง)