Lawyers would have a hard time making a living if people behaved themselves and kept their promises
Anonymous
ประเทศสุดท้ายที่เราจะพูดถึงเกี่ยวกับระบบการศึกษากฎหมายก่อนที่จะมาเป็นทนาย คือประเทศจีนค่ะ
ปัจจุบันความเคลื่อนไหวของจีนกำลังเป็นที่น่าจับตาและอยู่ในความสนใจของนานาประเทศ นับแต่จีนเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศโดยประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยว ผิง เมื่อปี 1978 จวบจนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 ที่กำลังจะมาถึง ตลอดระยะเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา จากการศึกษาสถิติและตัวเลขจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคของชาวจีนเป็นไปอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ
ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากถึง 1,300 ล้านคน ปัจจุบันจีนกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาคุณภาพของประชากรเหล่านี้ให้มีความกินดีอยู่ดีและมีความรู้เพิ่มขึ้น จากสถิติพบว่าปัจจุบันมีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในจีนโดยเฉลี่ยปีละเกือบ 3 ล้านคน และมีนักศึกษาที่จบจากต่างประเทศทั้งหมดเกินกว่า 1 ล้านคน
การศึกษากฎหมายในประเทศจีนเริ่มต้นจากระดับมหาวิทยาลัย โดยเด็กนักเรียนชั้นมัธยมของเขาต้องผ่านระบบการสอบเอ็นทรานซ์ (National Matriculation Test- NMT) เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย คล้ายๆ กับของบ้านเรา
นักเรียนเหล่านี้จะต้องตัดสินใจเลือกสาขาวิชาก่อนเข้าสอบ ส่วนว่าจะได้เรียนในสาขาวิชาหรือมหาวิทยาลัยที่ดีหรือตามต้องการหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคะแนนสอบ NMT เป็นสำคัญ
การเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยใช้เวลาทั้งสิ้นสี่ปี นอกจากนี้นักศึกษายังต้องผ่านการฝึกงานด้านกฎหมายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนในช่วงปีที่สามหรือสี่ ส่วนในปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา นักศึกษายังต้องส่งรายงานที่เขียนขึ้นเองอีกหนึ่งฉบับด้วย
จีนมีระบบการสอบ “เนติบัณฑิต” เช่นเดียวกับประเทศไทยและเกาหลีใต้ โดยทนายความของเขาถูกบังคับว่าทุกคนจะต้องสอบไล่ได้ความรู้ชั้นเนติบัณฑิตเสียก่อน จึงจะสามารถประกอบวิชาชีพทนายความได้
และหลังจากสอบเนติบัณฑิตได้แล้ว ยังต้องผ่านการฝึกงานหนึ่งปีอีกต่างหาก ถึงจะครบถ้วนกระบวนความ มีสิทธิได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความโดยสมบูรณ์
ระบบการสอบเนติบัณฑิตของจีนยังมีส่วนคล้ายกับเกาหลีใต้ประการหนึ่งคือ ผู้ที่จะมีสิทธิสมัครสอบเนติบัณฑิตนั้น จะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษากฎหมายได้ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตเสมอไป ส่วนสถิติของผู้ที่สอบไล่ได้เนติบัณฑิตในประเทศจีนนั้นอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับของประเทศไทยเราเลยทีเดียว
ปัจจุบันจีนกำลังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสอบเนติบัณฑิตให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น โดยจะกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสอบให้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่จบนิติศาสตร์บัณฑิตเท่านั้น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของระบบการคัดเลือกทนายความในต่างประเทศ ซึ่งบอกให้เรารู้ว่า กว่าจะมาเป็นทนายไม่ว่าในที่ไหนๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
นอกจากความแตกต่างในเรื่องของระบบการคัดเลือกแล้ว ค่าตอบแทนของทนายความในแต่ละประเทศ ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก
เป็นที่รู้กันว่าทนายความในประเทศมหาอำนาจมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 60,000 – 100,000 เหรียญต่อปี ดังนั้น สำหรับโจทย์ที่ตั้งไว้ในตอนแรกว่า “เป็นทนายที่ไหนดี” หลายคนจึงตอบได้อย่างไม่ต้องลังเลใจเลยว่า “ที่ไหนตังค์เยอะ ที่นั่นแหละดี”
สำหรับในประเทศไทย พระราชบัญญัติทนายความกำหนดคุณสมบัติของผู้สามารถยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตทนายความไว้ว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ส่วนในประเทศจีนไม่มีข้อห้ามในทำนองนี้ แต่เป็นที่รู้กันว่าทนายความที่จะว่าความในศาลได้ต้องเป็นผู้มีสัญชาติจีน ส่วนทนายความที่รับให้คำปรึกษาไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติจีนก็ได้
ดังนั้น สำหรับชาวต่างชาติที่เห็นว่าทนายความในประเทศเหล่านี้มีรายได้ดีเหลือเกิน อยากจะมาเป็นบ้าง ขอบอกไว้ตรงนี้ว่าหมดสิทธิค่ะ