ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน ไม่รู้จักสิ้นสุด แล้วพอมันออกไป มันก็พลอยทำบ้านเมืองแย่ไปด้วย” ตาสุขว่าแบบปรัชญา
สร้อยแก้ว
โขงเจียมคือชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นเมืองที่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยามเพราะอยู่ทิศตะวันออกสุดของประเทศ และยังเป็นที่รู้จักอีกในฐานะที่มีแม่น้ำสายสำคัญของอีสานสองสายมาบรรจบคือแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง จุดที่บรรจบกันนั้นเรียกกันอย่างไพเราะว่า แม่น้ำสองสี โขงสีขุ่น มูลสีคราม (แต่ตอนนี้ขุ่นทั้งคู่ หากอยากเห็นมูลสีครามน่าจะเป็นช่วงหน้าแล้ง) โขงเจียมมีฐานะเป็นอำเภอ แต่อำเภอนี้เล็กเหมือนหมู่บ้าน ค่ำมาราวสักสองทุ่มก็เงียบแล้ว บางบ้านเข้านอน บางบ้านอาจจะยังนั่งพูดคุยกันอยู่หน้าบ้าน แต่คุยกันอย่างเงียบๆ ไม่กระโตกกระตาก สงบดีเหลือเกิน เพราะร้านค้าที่มีเสียงเพลงอยู่นอกเขตชุมชน ซึ่งอาจโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามที่ทำให้ร้านอาหารที่มีดนตรีเล่นเพียงร้านเดียวของอำเภอไปตั้งริมสะพานนอกเมือง มันจึงกลายเป็นการแบ่งโซนที่อยู่อาศัยอย่างถูกที่ถูกทางที่สุด
นาโก๊ะลี
โลกเปลี่ยนทุกวัน นั่นเป็นธรรมดา สำหรับผู้ที่โหยหาการเปลี่ยนแปลงเสมอ นั่นก็คงเป็นเรื่องดีงาม หรือเหมาะควรแล้ว แต่กระนั้น ยังมีอีกหลายผู้คนกระมังที่ใจหายกับการเปลี่ยนไปของหลายเรื่องหลายราวที่มันเคยมีอยู่ในชีวิต ว่าก็โดยเฉพาะช่วงเวลาที่โลกก้าวสู่ยุคแห่งการสื่อสารไร้พรมแดนเช่นนี้ การผันแปรเปลี่ยนไปของระบบวิถีชีวิต บางคราวก็ถึงกับไม่เชื่อสายตาตัวเอง โอ้....อะไรจะปานนั้น หนังสือเล่มเก่า เก็บอยู่ในกล่อง เนิ่นนานเพียงใดฝุ่นเกาะจนดูเก่า ความจริงหลายเล่มไม่ใช่หนังสือเก่า แต่มันถูกลืมเลือนไป ระหว่างการเปลี่ยนผ่านอะไรต่อมิอะไรมากมายในชีวิต หรือไม่ก็บางเล่มเราก็ลืมไปแล้วว่าเราเคยมี และเคยอ่านมัน และนั่นก็ทำให้เรานึกถึงหนังสืออีกหลายเล่มที่เราเคยมี เคยอ่าน และเคยให้คนอื่นไป.....
โอ ไม้จัตวา
สัปดาห์นี้อยู่ในช่วงวันที่ 11 กันยายน ซึ่งเป็นวันครบรอบวันตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ถล่ม มีเพลง ๆ หนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เป็นเพลงที่มีความหมายและให้กำลังใจคน แรกทีเดียวเพลงนี้เป็นเพลงประกอบหนังเรื่อง Beaches ในปี 2531 นำแสดงโดย Bette Midler และ Barbara Hershey หลังจากหนังเรื่องนี้ก็ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงประจำตัวของ Bette Midler ตั้งแต่นั้นมา อยากให้ดูคลิ้บอันนี้ค่ะ เบธร้องในปี 2001 หลังจากวันตึกถล่มไม่กี่วัน ที่ Yankee Stadium ในนิวยอร์ค ดูจากภาพแล้วน่าจะเป็นงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เพลงลมใต้ปีกที่เคยเป็นลมใต้ปีกของใครหลาย ๆ คน กลับกลายมาเป็นลมใต้ปีกในโศกนาฏกรรมได้อย่างลึกซึ้งกินใจ จนอดร้องไห้ไม่ได้ ยิ่งลีลาการร้องของป้าเบธที่อยู่ในจุด”คลี่คลายละลายฟอร์ม” เป็นนักร้องที่ร้องเพลงของตัวเองได้ราวเพลงกระบี่ที่ไม่มีกระบี่ ดนตรีเรียบง่าย ถ้อยคำมาจากหัวใจ ภาษากายของเธอบางครั้งเห็นปีกงอกออกมาพาความเศร้าโบยบินไปจากหัวใจผู้ที่ยังอยู่ ลองนั่งนิ่ง ๆ ฟังเพลง และแผ่เมตตาให้กับความตาย ความโศกเศร้าของมวลมนุษย์ ความโหดร้ายในจิตใจของบางคน
รวิวาร
เดือนบางเดือน สัปดาห์บางสัปดาห์ผ่านไปราวเมฆล่องลม เจ็ดแปดวันสั้นๆ หากแต่บรรจุด้วยเรื่องราวและผู้คนแน่นขนัด ขณะบางเดือน เรานั่งอยู่ติดเก้าอี้ จมจ่อมกับภาระหน้าที่แทบไม่ได้ก้าวพ้นเขตรั้ว เรียกมันว่า ‘สัปดาห์แห่งผู้มาเยือน’ มีผู้คนแวะเวียนมาทุกวันโดยมิได้นัดหมาย กะทันหัน ฉับพลันเสียจนกระทั่งไม่มีเวลาถอยหลัง ผงะ หรือนึกหงุดหงิดใจว่า...แขกเหรื่ออะไรนักหนา วันที่หนึ่ง วันที่สอง และสามสี่ ตามมาอีกจนเลยแปด เมื่อจิตใจตระหนักได้ เราพากันหัวเราะ อ้อ นี่ละหนอ ความบังเอิญที่ควบคุมไม่ได้ ชีวิตจัดส่งมา พ้นความคาดเดา นอกเหนือการจัดการ
มาชา
ปากกีดตีนถีบรีบและร้อน วณิพกเร่ร่อนกระไรได้ ไม่มีที่มีทางให้วางใจ เทศกิจผู้ยิ่งใหญ่ไล่ทั้งนั้น จึงเกาะโต๊ะ นั่งจักรยาน บนอาน-เล่น ไวโอลิน เพลงเตรียมเผ่น เป็นแม่นมั่น มือจับคันชัก เท้าพักยัน สร้างสีสันบาทวิถีดนตรีจร ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯมหานคร พฤษภาคม ๕๑
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า ถ้าแกเกี่ยวตอนที่ราคากำลังพุ่ง แกอาจจะได้มากกว่านี้ “...นี่ก็ดีมากมายแล้ว ปีก่อนนู้น ข้าเหลือแค่เจ็ดพัน...” แกว่า “...แกยังดีได้ตั้งเจ็ดพัน ข้าสิโดนปุ๋ยปลอมเข้าไป ข้าวก็ไม่งาม ได้แค่สี่พัน..” ยายจันบ่นบ้าง “...ข้าเคยได้แค่แปดร้อย...” ป้าใสว่า พลางหัวเราะหึๆ พูดไปก็เหลือเชื่อ ทำนาเหนื่อยแทบตาย แต่ข้าวหนึ่งเกวียนราคาถูกกว่าโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ดวงอาทิตย์ ค่อยโผล่พ้นขอบดอยที่อยู่ไกลลิบช้าๆ หมอกเมฆปรากฏจางๆ ช่วยกรองแสง ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์ เป็นทรงกลมสีแดงอ่อน เป็นเช้าที่สวยงาม บ้านไม้หลังเก่าสีโอ๊ก ปลูกบนเนินดิน ที่สูงกว่าถนนหน้าบ้าน และสูงกว่าทุ่งกว้างที่ด้านหน้าบ้านเล็กน้อย มีเก้าอี้โยกเป็นหวาย ที่ระเบียงด้านข้างบ้าน ซึ่งมีบันไดทอดสู่พื้นด้านหน้า มองเห็นทุ่งกว้าง ปรากฏตอข้าวสีเหลืองกระจายทั่วผืนนา ทุ่งกว้างนี้ ปูลาดไปจนถึงถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ข้ามถนนเป็นทุ่งนาอีกเช่นกัน มองไกลออกไปอีกนิด เป็นหย่อมต้นไม้สีน้ำเงินปนดำ สูงขึ้นไปอีก จะเห็นแนวดอยสลับซับซ้อน ลมเย็นจากทุ่งโล่ง ทะยอยพัดมาระเรื่อย สู่บ้านของผม บ้านคนเมือง ผมนั่งใต้ถุนบ้าน ลมเย็นพัดมาไม่ขาด ฤดูใดก็มีลมพัดมาตลอด จะมีบางวันเท่านั้น ลมจะหยุดพัดบ้าง เป็นบางเวลา ข้างบ้านมีต้นไม้ปลูกเรียงรายกัน มีต้นโพธิ์ใหญ่มากต้นหนึ่ง ติดต้นโพธิ์เป็นวัดร่มเย็นจิตใจดี รอบๆบ้านยังกระจายไปด้วยไม้กระถาง มีดอกบัวสีม่วง ขาวเหลือง เบ่งบานแข่งกันรับแสงแดด ในบ่อ ปลาเจ็ดสีสะบัดหาง เล่นน้ำเริงร่า เบื้องหน้ารูปปั้นสตรีชุดโบราณแสนสวย นั่งคุกเข่าแช่น้ำมองไปเบื้องหน้า
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
3 กันยายน 2551...คือ วาระอีกวาระ - การละจาก เขาผู้ฝากงานบรรเจิดอันเลิศล้ำไว้แด่โลกได้กำหนดได้จดจำ ด้วยลำนำ คีตกานท์ - แห่งล้านนา ซึ่งยังส่ง - เสียงเจื้อยแจ้ว ยังแว่วหวาน ยังเบิกบาน ทระนง ทรงคุณค่าจากสายน้ำ ถึง แววดาวพราวนภา จากขอบฟ้า ถึง ขอบฝัน ทุกวันคืน ราวกับว่า เขายังอยู่ ยังกู่ก้อง ยังร่ำร้อง สื่อดวงมาน อันหวานชื่นยังประคอง ซึง กีตาร์ มาหยัดยืน มาหยิบยื่น บรรเลง เพลงพิไล “อย่า กลับคืนคำ เมื่อเธอย้ำสัญญา อย่าเปลี่ยนวาจา เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไปให้เธอหมายมั่นคง แล้วอย่าหลงไปเชื่อใคร เดินทางไป อย่าหวั่นไหวใครกางกั้น” ยังคงเป็นพลังใจให้เรากล้า ยังคงท้าทาย นักสู้ ผู้บุกบั่นยังคงเป็นบทเพลงแห่งรางวัล คนช่างฝัน สู่ สีทอง ของรวี คือ อีกครั้ง แห่งวาระ รำลึกถึง เขาผู้ซึ่งแตกดับและลับลี้จรัล มโนเพ็ชร คีตกวี ชีวิตสั้น - ศิลปะยืนยาว. กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
สร้อยแก้ว
ฤดูฝน นาพ่อสนเขียวไสวด้วยต้นข้าว ยามเช้าน้ำค้างชุ่มหญ้า ชุ่มพุ่มไม้ ครั้นเมื่อแสงแดดโผล่พ้นจากหมู่เมฆ ท้องนาสีเขียวยิ่งดูกระจ่างตา เหลียวมองรอบๆ แสนสบายตาสบายใจ เอ แล้วดอกอะไรกันหนอสีแดงขาว เป็นพุ่มไม้ใหญ่อยู่หน้าเถียงนาอีกแห่งนั่น ? เห็นแล้วก็อดคว้ากล้องเดินย่ำน้ำค้างบนคันนาไปหาดอกไม้นั้นไม่ได้ ไพจิตรเห็นก็วิ่งตามโดยทันใด เธอไม่ใส่รองเท้า ฉันบอกระวังหนาม ไพจิตรเงยหน้าขึ้นมองไม่ตอบอะไรนอกจากยิ้ม เธอทำให้ฉันอดคิดถึงครั้งหนึ่งเมื่อเราไปเที่ยวช่องเม็ก ด่านชายแดนลาวด้วยกัน
โอ ไม้จัตวา
http://am.fenixz.net/song/20/0201.htmlขอแนะนำเพลงของคุณจรัล มโนเพ็ชร อีกหนึ่งเพลงค่ะ เนื่องในวาระครบรอบวันจากไปของเขา 3 กันยายน 2544 เพลงนี้ชื่อเพลงสัญญา คุ้น ๆ ว่าเคยอ่านที่ไหนสักแห่งถ้าจำไม่ผิดคุณมานิด อัชวงศ์ ผู้จัดการส่วนตัวของคุณจรัล บอกว่า เพลงสัญญาคือภาค 2 ของเพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน (ถ้าผิดขออภัยค่ะ) เป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่ชอบอารมณ์เพลง และเนื้อหาที่อหังการ์ในความเหงา ปลอบใจ และให้กำลังใจผู้คน ฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกว่าเสียงคุณจรัลมีสีฟ้า และกว้างเหมือนท้องฟ้า
รวิวาร
มันไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้า การแต่งหน้า เนื้อตัวเท่านั้น แต่รวมถึงการเข้าไปในสถานที่อย่างร้านอาหาร ร้านกาแฟ ตลอดจนการโอภาปราศรัย.... หิ้วกระเป๋าเข้าที่พัก กล่องสี่เหลี่ยมครอบลงบนพื้นดินชื้นแฉะ มีพรุน้ำอยู่ข้างใต้ กล่องเก่า ๆ ที่ผุเน่าไปทีละน้อยด้วยไอชื้นจากผืนดิน และการคายน้ำของใบไม้ชายป่าที่รุกล้ำเข้ามาเรื่อย ๆ เกิดรอยแยกที่ผนัง เหล่าแมลงสาบพล่านยั้วเยี้ยยามดึกขณะผู้พักพิงหลับใหล งูเงี้ยวเขี้ยวขอ จิ้งจกตุ๊กแกและหนู ซุ่มซ่อนจับจ้องจากรู โพรงบนผนัง ขื่อคาและเพดาน ไม่ว่าจะทำอย่างไร ๆ พื้นโลกก็คือหิน ดิน ทราย น้ำ ฝุ่น โคลน เราเพียงนำวัตถุเรียบแข็งโปะทับ ทาบแผ่นกระเบื้องหลากสีลงบนพื้น ก่ออิฐโบกปูน กั้นที่ว่างในอากาศ ตกแต่งให้เป็นที่พักอาศัย ความคลื่นเหียนพลันบังเกิดเมื่อความจริงแสดงตัวตามรอยร้าวแยก เราพบความเพียรอันสูญเปล่าที่จะบดบังความเน่าเปื่อยผุพังซึ่งรุมล้อมอยู่รอบด้าน เหมือนจักรวาลย่อยสลายตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ในอวกาศ ในที่สุดธรรมชาติก็ชำนะ มันดำเนินของมันไป เบื้องใต้คือพื้นที่ลุ่มใกล้ป่าชุ่มชื้น ยุง หนอนและแมลงรักที่จะวางไข่ บ้านเช่าอนาถาไร้หน้าต่าง มีเพียงช่องหายใจติดบานเกล็ดเล็ก ๆ อนุญาตแสงมัวหม่นลอดผ่าน มวลอากาศมองไม่เห็นเต็มไปด้วยความเจ็บไข้ ชื้น หนัก อับ คลุกเคล้าเข้ากับอวลไอแห่งความต่ำต้อย เศร้าสร้อย สิ้นหวัง ของชีวิตที่ทำอย่างไรก็ไม่อาจทะยานสูงขึ้นกว่านั้นได้