Skip to main content
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อตู้เริญได้เล่านิทานเรื่องนี้ให้ผมฟังขณะเรานั่งหย่อนอารมณ์ในบ้านของแก เพื่อรอฝนหายจากฟ้า เดือนตุลาคมแล้ว ฝนยังมิจากจางเลย ลมหนาวมิมีทีท่าว่าจะพัดมา สายฝนเทลงมาจั่กๆ พ่อตู้เริญต้องเล่านิทานเรื่องนี้ด้วยเสียงดัง เพื่อจะให้ผมได้ยินถนัด ผมกดเครื่องบันทึกเสียงเพื่อบันทึกเสียงการเล่านิทานของพ่อตู้เอาไว้ เพราะคิดว่าจะเก็บเอามาเล่าต่อให้คนอื่นได้ฟังด้วย พ่อตู้เริญเล่าว่า... นานมาแล้ว ยุคสมัยก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา องค์อินทร์ผู้เป็นนายของทุกสิ่ง และทรงสร้างทุกสิ่งในจักรวาลได้นั่งตรวจยามสามตา เพื่อตรวจดูทุกสรรพสัตว์ใตอานัติของตนเอง แล้วในญาณนั้นก็ปรากฏการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมด องค์อินทร์จึงมีบัญชาไปยังสรรพสัตว์ในอานัติของตนเองให้มาร่วมประชุมกันโดยพร้อมเพรียง
คนไร้ที่ดิน
ศลิษา ทองสังข์ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาทางการเมืองและโครงสร้าง ปัญหาที่ดินไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวนา หรือคนสลัม แม้แต่คนเมือง คนชั้นกลางก็ประสบปัญหาที่ดินอยู่อาศัย การใช้ประเด็นเรื่องการผูกขาดที่ดิน นักการเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล ทุนข้ามชาติ และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคมโดยรวมและผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้สามารถเชื่อมโยงกับสังคมโดยรวมเพื่อสร้างแรงผลักดันการกระจายการถือครองที่ดินได้ ที่ผ่านมามีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขมาตรการทางภาษีที่ดิน ตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ตั้งแต่ปี 2541 เป็นเวลา 10 ปี เต็ม แต่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภา ทั้งที่หลักการของกฎหมายค่อนข้างดี ทั้งเรื่องการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น การอุดช่องโหว่ของผู้ที่จะหลีกเลี่ยง การป้องกันการเก็งกำไรในที่ดิน ตลอดจนการกระจายรายได้ให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามแนวคิดและรูปธรรมตัวอย่างการปฏิรูปภาษีที่ดินได้เกิดขึ้นมานานแล้วในต่างประเทศ โดยเป็นไปหลากหลายรูปแบบ และมีพัฒนาการทั้งที่ก้าวหน้าและถอยหลัง ประสบผลสำเร็จและล้มเหลว แต่ตัวอย่างบทเรียนเหล่านี้ก็น่าเรียนรู้ศึกษา เพื่อการปรับใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมไทย
สุมาตร ภูลายยาว
 แม่น้ำโขงจากหลังคาโลกสู่ทะแลจีนใต้แม่น้ำโขงได้รับการจัดอันดับว่าเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลกครอบคลุมพื้นที่ ๖ ประเทศคือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีผู้คนมากกว่า ๖๐ ล้านคนได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ ทั้งทำการประมง ทำการเกษตร การขนส่ง และการคมนาคม แม่น้ำโขงตอนบนมีลักษณะลาดชันไหลผ่านช่องเขาที่แคบเป็นแนวยาว แม่น้ำโขงตอนบนได้รับน้ำจากการละหายของหิมะเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนอยู่ในเขตปกครองตนเองของทิเบต และจีนแม่น้ำโขงในส่วนตอนกลางมีลักษณะเป็นแก่ง และมีหน้าผาสูงอยู่ในแม่น้ำและตามริมฝั่ง ระดับน้ำในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันถึง ๒๐ เมตร แม่น้ำโขงตอนกลางได้รับน้ำจากปริมาณน้ำฝน และแม่น้ำสาขาขนาดใหญ่เป็นหลัก ในส่วนของประเทศไทยนั้น พื้นที่ลุ่มน้ำโขงส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งจัดว่ามีขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ พื้นที่แม่น้ำโขงตอนกลางครอบคลุม ๓ ประเทศคือ พรมแดนพม่า-ลาว พื้นที่บางส่วนในภาคของลาว และพรมแดนลาว-ไทยแม่น้ำโขงตอนล่างมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง และมีเกาะดอนเป็นจำนวนมาก พื้นที่ที่สำคัญของแม่น้ำโขงตอนล่างคือ สี่พันดอน ทะเลสาปเขมร และปากน้ำเวียดนาม โดยเฉพาะทะเลสาปเขมรนั้นถือว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติที่สำคัญที่สุดในแม่น้ำโขงตอนล่าง พื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่างครอบคุลมพื้นที่ของลาวตอนใต้ พรมแดนลาว-กัมพูชา และเวียดนามการพัฒนาแม่น้ำโขงเพื่อตอบสนองด้านพลังงานไฟฟ้า และการเดินเรือพาณิชย์โครงการพัฒนาแม่น้ำโขงเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้ามีมาตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยคณะกรรมการแม่น้ำโขงในขณะนั้น ได้นำเสนอแผนพัฒนาแม่น้ำโขง ภายใต้โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และการชลประทานบนแม่น้ำโขง ในทศวรรษที่ ๑๙๖๐ โครงการเขื่อนที่ถูกนำเสนอโดยคณะกรรมการแม่น้ำโขง และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคือโครงการเขื่อนผามองที่มีกำลังผลิตติดตั้ง ๔,๘๐๐ เมกะวัตต์ มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ๓,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร และต้องอพยพผู้คนที่จะได้รับผลกระทบมากถึง ๒๕๐,๐๐๐ คน แต่แผนการก่อสร้างก็ชะงักงันลง เพราะภูมิภาคอินโดจีนอยู่ในภาวะของสงครามในขณะเดียวกันเมื่อเมื่อภาวะสงครามสิ้นสุดลงโครงการเขื่อนต่างๆ ที่ถูกนำเสนอก็เงียบหายไป แต่ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก็ได้พัฒนาข้อเสนอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกันที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้พัฒนาข้อเสนอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงครั้งใหม่ แต่ในปี ๒๕๓๖ เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงที่ชื่อว่า เขื่อนม่านวานก็ได้มีการดำเนินการก่อสร้าง โดยตัวเขื่อนมีความสูง ๑๒๖ เมตร มีกำลังผลิตติดตั้ง ๑,๕๐๐ เมกะวัตต์ เริ่มเปิดใช้งานในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ในมลฑลยูนานหลังจากจีนได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงสำเร็จ โครงการพัฒนาต่างๆ จากประเทศที่ได้ชื่อว่าแผ่นดินใหญ่ก็ถาโถมลงมาสู่แม่น้ำโขง ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ โครงการระเบิดแก่งและปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้างจึงเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือจากรัฐบาลของทั้ง ๔ ประเทศคือ จีน พม่า ลาว ไทย และในปี ๒๕๔๕ การระเบิดเกาะ แก่ง บนแม่น้ำในตอนบนจึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อการระเบิดแก่งในระยะแรกสิ้นสุดลงชาวบ้านสองฝั่งโขงตั้งแต่เมืองกวนเหลยลงมาจนถึงอำเภอเชียงแสนจึงได้เห็นเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ล่องขึ้น-ลงในแม่น้ำโขงแทบทุกวัน ภายหลังที่เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงถูกสร้างขึ้นมาสำเร็จ จีนก็ได้ออกแบบและทำการศึกษาการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนอีกหลายเขื่อน โดยเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วคือเขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนจิงฮง ส่วนเขื่อนที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและเตรียมการก่อสร้างคือเขื่อนเชี่ยวหวาน เขื่อนกงก่อเฉี่ยว เขื่อนนัวชาตู้ เขื่อนเมซอง เมื่อหลายประเทศได้เห็นการพัฒนาที่ชื่อว่าเขื่อนบนแม่น้ำโขงมีความเป็นไปได้ และมีการทำจนสำเร็จ นักสร้างเขื่อนจากหลายประเทศจึงพากันกรีฑาทัพเข้าสู่สนามรบแห่งการพัฒนานี้ด้วย ภายใต้วาทะกรรมที่ว่า จีนสร้างเขื่อนได้เราก็สร้างได้ และแม่น้ำไหลผ่านไปหาได้ให้ประโยชน์อะไรไม่ เราสร้างเขื่อนจากน้ำที่ไหลเรายังได้ใช้ไฟฟ้า หลายประเทศจึงส่งผ่านความคิดเหล่านี้สู่แม่น้ำโขง และโครงการก่อสร้างเขื่อนบนพื้นที่แม่น้ำโขงตอนกลาง ตอนล่างจึงเกิดขึ้น โดยเขื่อนๆ ต่างที่จะเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงมีรายชื่อดังนี้ เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากลาย เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนลาดเสือ เขื่อนดอนสะฮอง เขื่อนซำบอผลกระทบข้ามพรมแดนจากการพัฒนาแม่น้ำโขงด้วยการสร้างเขื่อนและการระเบิดแก่งเพื่อเดินเรือพาณิชย์ในขณะเดียวกันโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นมาก่อน เช่น การสร้างเขื่อนในจีน และการระเบิดแก่งเพื่อการเดินเริอพาณิชย์ได้สร้างผลกระทบมากมาย แต่นักสร้างเขื่อนผู้อุปโลกตัวเองว่าเป็นนักพัฒนาก็หาได้สนใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อชาวบ้านในประเทศท้ายน้ำที่หลากหลายอาชีพ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถสรุปได้ดังนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการไหลของน้ำ น้ำในแม่น้ำโขงเร็วเร็ว และแรงขึ้นกว่าเดิม ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของการขึ้น-ลงของระดับน้ำ ระดับน้ำมีการขึ้น-ลงไม่เป้นปกติ เช่น ๓ วันขึ้น ๒ วันลง และนอกจากนั้นยังส่งผลเกิดอุทกภัยทั้งที่ปริมาณน้ำฝนมีไม่มากพอ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการพังทะลายของตลิ่ง จากการไปลเร็วและแรงของน้ำส่งให้ติล่งริมฝั่งแม่น้ำที่เป้นดินร่วนปนทรายได้เกิดการพังทลายลง นอกจากนั้นประการสำคัญการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของการขึ้นลงของระดับน้ำยังส่งผลให้เกิดการลดลงของพันธุ์ปลา และจำนวนของปลาอีกด้วย  ผลกระทบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นผลพวงมาจากโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงทั้งสิ้น  แม้ว่าในวันนี้โครงการการสร้างเขื่อนในหลายพื้นที่ยังไม่มีความคืบหน้า แต่เราในฐานะผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศท้ายน้ำได้แต่หวังว่า โครงการพัฒนาใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนท้ายน้ำ ขอให้ประชาชนผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่า เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาที่กำลังจะเกิด และที่สำคัญของให้ผู้เดินทางเข้ามาในนามของนักสร้างเขื่อนโปรดรับรู้ไว้ด้วยว่า ความจริงจากคนท้ายน้ำที่ได้นำเสนอมานั้นเป็นความจริงที่เจ็บปวดของคนผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้มาหลายชั่วอายุคนหากวันใดวันหนึ่งที่แม่น้ำโขงทั้งสายหยุดไหล ความทุกข์ครั้งใหญ่จะอยู่กับผู้ใดถ้าไม่ใช่ผู้คนในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแห่งนี้... 
ประสาท มีแต้ม
เมื่อต้นเดือนเมษายน 2551 หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงข่าวว่า "พลังงานเผยไทยผลิตน้ำมันดิบสูงกว่าบรูไน คุยทดแทนนำเข้าปีนี้มหาศาล" (ไทยรัฐ 2 เมษายน 2551)    สาเหตุที่ผู้ให้ข่าวซึ่งก็คือข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้นำประเทศไทยไปเทียบกับประเทศบรูไน ก็น่าจะเป็นเพราะว่าคนไทยเราทราบกันดีว่าประเทศบรูไนเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายหนึ่งของภูมิภาคนี้ ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเราผลิตน้ำมันดิบได้มากกว่าก็น่าจะทำให้คนไทยเราหลงดีใจได้บ้าง  นาน ๆ คนไทยเราจะได้มีข่าวที่ทำให้ดีใจสักครั้ง   หลังจากอ่านข่าวนี้แล้ว ผมก็ได้ค้นหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตก็พบว่า ตัวเลขผลผลิตของไทยสูงกว่าของบรูไนเพียงเล็กน้อย คือยอดผลิตของทั้งสองประเทศประมาณกว่าสองแสนบาร์เรลต่อวันเพียงเล็กน้อย  แต่จำนวนประชากรของบรูไนมีไม่ถึง 4 แสนคน ในขณะที่จำนวนประชากรไทยเรามีถึง 64 ล้านคนหรือจำนวนประชากรของไทยมากกว่าเกิน 160 เท่าตัวของประเทศบรูไนน้ำมันที่บรูไนผลิตได้ส่วนใหญ่ส่งไปขายต่างประเทศ นอกจากนี้บรูไนยังส่งก๊าซธรรมชาติเหลวได้มากเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วย รายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทำให้สวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพของชาวบรูไนดีที่สุดในเอเชีย มีการคาดกันว่าแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองในบรูไนจะใช้(รวมทั้งขายด้วย)ได้นานถึง 25 และ 40 ปี ตามลำดับ
คนไร้ที่ดิน
นนท์ นรัญกร   ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 147 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 A และ ป่าสงวนแห่งชาติโซน C ประมาณ 80 ล้านไร่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบริหารจัดการพื้นที่ป่าของของกรมอุทยานแห่งชาติ พันธุ์พืชและสัตว์ป่า มีบทเรียนหลายประการ ที่ไม่ได้ถูกนำมาถกเถียงในสังคมไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานให้ดีขึ้น ในขณะที่กำลังจะสร้างปัญหาใหม่ตามมา ดังที่เป็นข่าวเรื่องความพยายามใน การเซ้งพื้นที่อุทยานฯ ให้กับภาคเอกชนเช่าทำธุรกิจ บทเรียนประการแรก กฎหมายอุทยานแห่งชาติ ได้ให้อำนาจและดุลพินิจกับคณะกรรมการอุทยานฯ ในการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ในลักษณะของการรวมศูนย์สู่ส่วนกลาง ในขณะที่ประชาชนภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่น หมายรวมถึง นักวิชาการในพื้นที่ ข้าราชการในท้องถิ่น ภาคเอกชน ชุมชนและประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งตั้งอยู่ในท้องถิ่นได้แต่อย่างใด
สุมาตร ภูลายยาว
การเรียกชื่อของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในแม่น้ำสายใดสายหนึ่งล้วนแตกต่างกันออกไปตามแต่ภาษาของคนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ชื่อหลักที่ผู้คนทั่วไปรู้จักคงไม่ผิดแปลกกันนัก แม้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำจะแตกต่างกันไปตามภาษาถิ่น และความเชื่อของคนท้องถิ่น ในแม่น้ำโขงเองก็เช่นกัน มีสถานที่หลายแห่งที่ชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงบนพรมแดนไทย-ลาวได้เรียกชื่อของสถานที่เหล่านั้นทั้งเหมือนกัน และแตกต่างกัน คอนผีหลงก็เช่นกัน คณะผู้สำรวจจากประเทศจีนอ้างอิงเอาตามคำเรียกชื่อของแก่งนี้ตามคนลาวท้องถิ่นในบริเวณนั้นว่า ‘คอนผีหลวง’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนลาวเรียกว่า ‘คอนผีหลงไม่ใช่คอนผีหลวง’ คำว่า ‘คอน’ ในพจนานุกรม อีสาน ไทย อังกฤษ โดยดร. ปรีชา พิณทอง ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2532 มีความหมายว่า “น.ร่องน้ำลึก ที่น้ำตก แม่น้ำที่มีสันดอนสูง น้ำไหลไปเป็นร่องลึก เรียกคอน ถ้าน้ำไหลไป 2 ร่อง มีสันดอนอยู่ตรงกลาง เรียก ‘สองคอน’ เช่น สองคอนในแม่น้ำโขง” ดังนั้น คอนผีหลวงในที่นี้ จึงมีความหมายว่า เป็นช่องน้ำ หรือร่องน้ำที่ผีหลง ผีในความนี้คือคนตายหรือศพ ชุมชนไทยริมแม่น้ำโขงบางกลุ่มก็เรียกคอนผีหลงนี้ว่า แสนผี  
dinya
การทำนายนั้นอยู่คู่กับสังคมของเรามานาน โดยเฉพาะการทำนายธรรมชาติ เช่นการดูสีของท้องฟ้า ก้อนเมฆ สายลม ดวงดาว แม้กระทั่งการมองเห็นด้วยจิต ที่สามารถหยั่งรู้ฟ้าดินและธรรมชาติได้ เหมือนที่เคยฮือฮากันไปเมื่อหลายปีก่อน เมื่อนาย กอร์ดอน (Gordon-Michael Scalion) ชาวอเมริกันที่เคยเสียชีวิตเมื่อปี 1979 แต่กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นเขาก็อ้างว่า ได้รับพรสวรรค์ที่หยั่งรู้อนาคต เขามักจะเดินทางไปอยู่บนพื้นที่สูงๆ บนภูเขา แล้วมองลงมาเห็นภาพในอนาคต โดยเฉพาะภาพของเมืองที่เปลี่ยนไป และโลกที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ คนที่เชื่อถือนายกอร์ดอนนั้นมีไม่น้อย เพราะได้เคยฝากผลงานการทำนายที่แม่นยำเอาไว้ เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวในลอส แองเจอริส เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2535, เหตุการณ์แผ่นดินไหวในแคลิฟอร์เนียเมื่อ มกราคม 2537 รวมอีกหลายเหตุการณ์ที่เขาทายไว้แล้วก็ถูกเผง แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุด ก็เห็นจะเป็นการทำนายเมื่อปี พ.ศ.2521 ซึ่งเขาเห็นตัวเองลอยอยู่เหนืออวกาศ แล้วมองลงมาบนโลก ด้วยภาพแผนที่โลกใหม่ เขาจึงใช้เวลาอยู่ 4 ปี ที่จะร่างแผนที่โลกอนาคตที่เห็นคนเดียวนั้นออกมาสู่สายตาชาวโลก พร้อมทั้งให้คำอธิบายไว้ว่า โลกที่แปรเปลี่ยนไปนี้จะเกิดจากน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ทำให้ทวีปของโลกเคลื่อนไปหมด และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1998-2012 หรือ พ.ศ.2541-2555 นั่นเอง
สุมาตร ภูลายยาว
ไม่ว่าจะในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง หรือท้องทะเล ทุกหนแห่งที่กล่าวมาล้วนมีคนกลุ่มหนึ่งอาศัยพึ่งพามาตลอด เรียกได้ว่าเมื่อนึกถึงแม่น้ำ เราก็จะนึกถึงคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกๆ นอกจากนึกถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ... เรากำลังกล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปรู้จักพวกเขาในนาม ‘คนหาปลา’ เมื่อกล่าวถึงคนกลุ่มนี้คงไม่ต้องอธิบายมากว่า พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำอาชีพอะไร แต่เมื่อเพ่งพิศลงไปในอาชีพ และวิถีทางแห่งการดำรงอยู่ของพวกเขา เราจะพบว่า การดำรงตนด้วยการหาปลานั้นเป็นสิ่งยากยิ่ง แน่ละ มันมีหลายเหตุผลที่จะกล่าวเช่นนี้ เหตุผลอย่างที่หนึ่ง เมื่อเราจะออกสู่แม่น้ำ ลำคลอง หรือแม้แต่ทะเล เราต้องรู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับพื้นที่ที่เราจะไป
คนไร้ที่ดิน
พงษ์ทิพย์  สำราญจิตต์สังคมไทย  เป็นสังคมที่เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดิน แทบจะไม่มีที่ยืนหรือสามารถบอกเล่าสถานะของตนเองต่อสังคมได้ โครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ การผลิตและการตลาด  ได้ถูกผูกขาดและกำกับควบคุมโดยคนกลุ่มเล็ก บริษัทธุรกิจเอกชนที่มีเงินลงทุนมหาศาล ในสนามเศรษฐกิจที่ถูกผูกขาดไว้แล้วเช่นนี้  แน่นอนว่าเกษตรกรรายย่อยย่อมมิอาจแข่งขันได้ นี่เป็นที่มาของสภาพการณ์ในชนบทสังคมไทยที่เกษตรกรรายย่อยกำลังกลายเป็นแรงงานรับจ้างและคนจนไร้ที่ดินมากขึ้นทุกขณะ
สุมาตร ภูลายยาว
คนทำเรือแห่งแม่น้ำมูนหากเปรียบ ปู ปลาคือผลผลิตจากนาน้ำของคนไม่มีนาโคก เรือก็คงไม่ต่างอะไรจากรถไถนา ‘เรือ’ คำสั้นๆ แต่ดูเปี่ยมด้วยความหมายยิ่งใหญ่สำหรับผู้คนริมฝั่งน้ำ นอกจากจะใช้เป็นพาหนะในการเดินทางแล้ว ยังใช้ในการหาปลาอีกด้วย เรือในแม่น้ำย่อมมีขนาดแตกต่างกันออกไป แม่น้ำใหญ่เรือก็ใหญ่ แม่น้ำเล็กเรือก็ลำเล็ก นอกจากขนาดของเรือในแต่ละแม่น้ำจะแตกต่างกันออกไปแล้ว ท้องเรือที่จมอยู่ในแม่น้ำยังแตกต่างกันออกไปด้วย เรือในแม่น้ำสาละวินท้องเรือมีลักษณะแบน แต่เรือในแม่น้ำโขงท้องเรือมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายสิ่วเจาะไม้
คนไร้ที่ดิน
                                                                                                                               สมจิต  คงทน                                                                              กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอก)ฉันจึงยืนหยัดอยู่ที่นี่เมื่อฉันมีโอกาสติดสอยห้อยตามทีมถ่ายทำวีซีดีสารคดีเรื่องการจัดการที่ดินโดยชุมชนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และได้เดินทางไปยังหมู่บ้านหนึ่งในเทือกเขาบรรทัด เพื่อบันทึกเรื่องราวของพี่น้องคนไร้ที่ดินที่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อยืนหยัดอยู่ในที่ดินและชุมชนของตนเองเอาไว้ได้อย่างสง่างามและมีศักดิ์ศรีป่าเทือกเขาบรรทัดบ้านทับเขือ-ปลูกหมู เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของจังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุง ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เส้นทางสัญจรค่อนข้างลำบากมากต้องลงเขาขึ้นเขาสลับกันไปมาตลอดทาง ยิ่งถ้าวันไหนฝนตกทางก็จะลื่นมาก แต่ดูเหมือนว่าชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างคุ้นชินกับการใช้ชีวิตแบบนี้แล้ว
คนไม่มีอะไร
  แลนด์บริดจ์ ทางลัดสู่เศรษฐกิจ หรือทางตันสำหรับชาวปากบารา                  ตามที่เราทราบโดยทั่วกัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) จะเน้นพื้นที่การพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯน ได้จัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ต่างๆ                 1. การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้                2. การพัฒนาพื้นที่  5  จังหวัดชายแดนภาคใต้                3. แผนงานพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย (อินโดนีเชีย-มาเลเชีย-ไทย)                โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard: SSB) เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกกล่าวขานกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสิบๆ ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคสมัยท่านชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ทำการอนุมัติโครงการนี้ ซึ่งครอบคลุ่มพื้นที่ 5 จังหวัดบริเวณภาคใต้ตอนกลางประกอบไปด้วยจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รัฐบาลได้ริเริ่มดำเนินการขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2532 โดยมีแนวคิดที่จะก่อสร้างเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างทะเลฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย (Land bridge) หรือแลนด์บริดจ์ ด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึก ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน และท่อส่งก๊าซ เพื่อให้เกิดเส้นทางการขนส่งในระดับนานาชาติเส้นทางใหม่ที่มีระยะทางสั้นกว่าเดิม                 แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่  5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สำหรับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย (IMT-GT) หรือที่รู้จักกัน สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ เส้นทางที่จะสร้างเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างทะเลฝั่งอันดามัน กับฝั่งอ่าวไทย หรือแลนด์บริดจ์                 กระบี่-ขนอม เป็นเส้นทางแรกที่เชื่อมโยงทางฝั่งทะเลอันดามัน และทางฝั่งอ่าวไทย ซึ่งที่รู้จักกันเป็นถนน SSB 44 ถนนสายนี้พร้อมที่จะว่างท่อส่งก๊าซ และพร้อมที่จะรองรับอุตสาหกรรมเหล็ก  ปิโตรเคมีและพลังงาน ตามแผนหลักของแผนพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ด                 ทับละมุ-สิชล โครงการเส้นทางยุทธศาสตร์พลังงาน (Strategic Energy Landbridge) และโครงการจัดตั้งคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี หรือ SELB ทางชายฝั่งทะเลอันดามันกินพื้นที่ทับละมุ จังหวัดพังงา และทางฝั่งอ่าวไทยกินพื้นที่ของอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็เป็นการพัฒนา "สะพานเศรษฐกิจ" และถือว่าเป็นโครงการหลักตามแผนพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเส้นทางนี้ได้ขับเคลื่อนในช่วงยุคสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประมาณเดือนกันยายน 2546 และโครงการนี้ต้องชะงักเพราะเกิดภัยพิบัติสึนามิ                ปากบารา-สงขลา โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ทางฝั่งทะเลอันดามัน เชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกจังหวัดสงขลาทางด้านอ่าวไทย เพื่อให้เป็นประตูการค้าฝั่งทะเลอันดามัน ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ (Logistics Master Plan) โครงการนี้กำลังได้รับความสนใจในตอนนี้ หลังจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่บุโบย จังหวัดสตูล เมื่อปี 2540 และได้ทำการศึกษาทบทวนกันใหม่ เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบาราเปรียบเทียบกับพื้นที่บริเวณบุโบย และเมื่อปี 2546 แล้วพบว่าบริเวณพื้นที่ปากบารา อำเภอละงู มีความเหมาะสมมากกว่า                 เพื่อที่จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลของภาคใต้ที่เชื่อมโยงกับการขนส่งระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของโลก รวมทั้งพัฒนาพื้นที่รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมการลงทุนและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค                 เราจะเห็นได้ว่าแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐ ที่มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นตามมาหรือเกือบจะทุกโครงการที่เกิดขึ้นมักจะส่งผลกระทบต่อชุมชน ทรัพยากรในชุมชน และสภาพแวดล้อมโดยรอบ แต่เมื่อมีการคัดด้านขึ้นมาก็จะถูกมองว่าเป็นการคัดค้านของคนส่วนน้อย ขัดขวางการพัฒนาและความเจริญของประเทศ ทั้งๆ ที่บุคคลส่วนน้อยเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังกรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และยังมีอีกหลายโครงการที่ต้องประสบปัญหาแบบนี้                 ในส่วนกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่เชื่อว่าจะกลายเป็น สะพานเศรษฐกิจ สำหรับเชื่อมโยงระหว่างทะเลฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย หรือแลนด์บริดจ์ และเพื่อที่ให้เป็นประตูการค้าระดับโลก สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม รายงานโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ (Logistics Master Plan) ขึ้น เพื่อที่จะเปิดตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกา เป็นทางตรงไปสู่ช่องแคบมะละกา ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อน สำหรับชุมชนหลอมปืน ชุมชนปากบาราในขณะนี้ ข้อมูลโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา                โครงการจะเกิดขึ้นแถวบริเวณชาดหาดปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 4-5 กิโลเมตร โดยจะมีการถมที่ลงไปในทะเลเพื่อให้เป็นเกาะ ขนาดพื้นที่ กว้าง 430 เมตร และยาว 1,100 เมตร หรือ 292 ไร่ และมีการสร้างสะพานเป็นถนน 4 ช่องจราจร ขนาดกว้างของเสา 25 เมตร สูงจากระดับน้ำ 2 เมตร ในบริเวณช่วงกลางสะพานจะสูง 4.5 เมตร เพื่อที่จะให้เรือลอดผ่านไปได้ ต้องขุดร่องน้ำลึกลงไปอีกประมาณ 14 เมตร ปากร่องน้ำกว้าง 180 เมตร ด้วยข้อมูลของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ สามารถที่จะรองรับเรือสินค้าที่มีน้ำหนัก 50,000-70,000 ตัน ภายในบริเวณที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกก็จะประกอบไปด้วยลานกองสิน้า ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อรองรับสินค้าที่จะบรรจุลงไป สถานีบรรจุตู้สินค้า อาคารซ่อมบำรุง เครื่องมืออุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อาคารศุลกากร และสำนักงานเป็นต้น และหลังจากได้เปิดใช้ไปแล้วสักระยะหนึ่งประมาณ 5 ปี ก็จะต่อเติมเพื่อรองรับการขยายตัวที่จะเกิดขึ้นภายใน 25 ปี หลังจากสร้างเสร็จจะคืนทุนกลับมา นอกจากนี้พร้อมกับจะสร้างถนนเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือน้ำลึกสงขลา เพื่อการขนส่งสินค้าทางบก และสร้างทางรถไฟจากอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา มาเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อขนส่งสินค้าทางรางด้วย โครงทั้งหมดนี้อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน                 ด้วยโครงการที่จะเกิดขึ้นในชุมชนปากน้ำ ชุมชนหลอมปืน และชุมชนโดยรอบที่ต้องเจอปัญหาอยู่ในตอนนี้ ถือได้ว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก และขนาดของท่าเรือน้ำลึกคาดว่าน่าจะกินเนื้อที่อันอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปากบาราเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นที่หากินของชาวบ้านในหน้ามรสุม ซึ่งบริเวณดังกล่าวชาวบ้านจะเรียกกันว่า "ซุปเปอร์มาเก็ต" ของชุมชนแห่งนี้                 ซุปเปอร์มาเก็ตแห่งนี้สามารถที่จะเลี้ยงชีวิตครอบรัวชาวประมงพื้นบ้านในบริเวณโดยรอบในหน้ามรสุมประมาณ 28 หมู่บ้าน โดยมีเรือประมงชายฝั่ง 500 กว่าลำ แล่นเข้า แล่นออกบริเวณดังกล่าว                 หากโครงการนี้เกิดขึ้นวิถีชีวิตชาวบ้านต้องเปลี่ยนไป ที่เห็นได้ชัดเรื่องการทำมาหากิน การประกอบอาชีพ จะทำการประมงต่อไปก็ทำไม่ได้ อาจจะต้องอพยพครัวเรือนด้วยซ้ำเพราะว่าหลังจากการสร้างท่าเรือเสร็จ ก็จะเกิดนิคมอุสาหกรรมตามมาซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นจุดไหน                ทรัพยากรของชุมชนก็ต้องหายไปด้วย แหล่งเพาะพันธุ์ปลาบริเวณป่าโกงกางหน้าอ่าว บริเวณแนวเดียวกันกับเกาะกลางทะเล โครงการขนาดใหญ่แบบนี้ต้องส่งผลกระทบไปยังแหล่งท่องเที่ยวความสวยงามทางด้านทรัพยากรในพื้นที่อุทยานหมู่เกาะเภตราก็จะค่อยๆ หมดไป จนในที่สุดก็ไม่เหลือความสวยงามให้เห็น                        "ผมอยากให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลมากกว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านหรือชุมชนสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้านมากกว่านี้ ข้อมูลการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน เช่นจำนวนเรือของชาวบ้านที่ตรงกับความเป็นจริงไม่ใช่จาก 200 กว่าลำ (ยังไม่ร่วมเรือประมงของหมู่บ้านรอบนอก) กลายเป็น 80 ลำ และอาชีพของชาวบ้านที่ถูกต้องเพราะชาวบ้านที่นี้ประกอบอาชีพประมงเป็นหลักไม่ใช่ค้าขายเป็นหลัก และผมเองรู้ว่าโครงการที่จะเกิดมันมีผลกระทบแน่ๆ ผลกระทบทางด้านอาชีพ ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของชุมชน วิถีชีวิตของชุมชน และที่สำคัญผลกระทบทางด้านจิตใจ เพราะว่าเราเห็นตัวอย่างทางโทรทัศน์จากกรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย จังหวัดสงขลา จากเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาผุด จังหวัดระยอง เหมือนเราเห็นอนาคตของตัวเองอยู่ข้าง ผมไม่อยากให้มัน(ท่าเรือน้ำลึก)เกิดขึ้นที่ปากบาราเลย"   นายยายา                ตรุรักษ์  (บังยา)  กล่าว ชุมชนจะอยู่อย่างไร?            ทะเลไม่ใช่เพียงแค่เป็นแหล่งน้ำเค็มเท่านั้น แต่มันเป็นขุมทรัพย์และมรดกของคนที่นี้ สืบทอดกันมาไม่รู้กี่ชั่วอายุคนมาแล้ว และคงจะสืบทอดกันต่อไป ถ้าไม่ใครคิดจะทำลายทะเลแห่งนี้             หลังจากได้ลงพื้นที่และทราบข้อมูลของโครงการคร่าวๆ รู้สึกว่าชุมชนแห่งนี้น่าเป็นห่วง ถ้าหากโครงการเกิดขึ้นคำว่า "ชุมชน" คงไม่เหลือให้เห็นอีกแล้ว วิถีชีวิตแบบประมงพื้นบ้านคงหายไป แต่ก็นั้นแหละถ้าหากพวกเรามั่วแต่นั่งดูนอนดู แล้วใครจะมาช่วยเราพวกเรา ต้องมาช่วยกันแล้วคำว่า "ชุมชน" จะกลับมาเป็นของชาวบ้านอีกครั้งในส่วนของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ยังหาข้อยุติไม่ได้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ตามมาตราที่ 67 ได้รองรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้ามีโครงการใดที่มีผลกระทบต่อประชาชน หรือชุมชน ประชาชนและชุมชนมีสิทธิ์ที่จะประเมิน และหาแนวทางรวมกันกับองค์กรหรือหน่วยงานที่จะมาเกี่ยวข้อง ถ้าหน่วยงานหรือองค์กรนั้นไม่รับฟังความคิดหรือแนวทางของชาวบ้าน ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะฟ้องได้ เหมือนกับกรณีของชาวสะกอม จังหวัดสงขลา สิ่งที่คิดว่าน่าจะทำก่อนโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา1. อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหันกลับไปดูโครงการที่ผ่านๆ มา ว่ามันส่งผลอะไรบ้าง ต่อชาวบ้าน ต่อชุมชน และประเทศชาติได้ผลประโยชน์คุ้มกับการลงทุนหรือเปล่า เช่นกรณีเขตนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด จังหวัดระยอง กรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 2. เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับฟังข้อมูล และการขับเคลื่อนของโครงการว่าไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ก่อนที่จะสร้างท่าเรือ อยากให้รัฐมาฟังเสียงของชาวประมงพื้นบ้านด้วยอย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า พวกเราเดือดร้อนอย่างไร และต้องการแนวทางแบบไหน เพื่อที่จะเดินด้วยกันได้ อย่ามองว่าชาวประมงพื้นบ้าน หรือชาวบ้านชอบประท้วง แหล่งข้อมูลแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เวทีระดมความคิดเห็นการศึกษาประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรณีโครงการท่าเทียบเรือปากบารา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2551 (เอกสารสรุปการประชุม)กรอบแนวคิดการพัฒนาภาคใต้ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกียวกับแผนงานพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาใต้, มิถุนายน 2551 (เอกสารประชาสัมพันธ์)