Skip to main content
วาดวลี
ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์แล้วล่ะ  ที่ฉันไปยืนอยู่ตรงนั้นแล้วพยายามจะนับดูว่า ดอกทิวลิปที่ก้านอวบ กลีบสวย ในสวนตรงนี้ มีจำนวนกี่สีกันแน่มวลหมู่ไม้มากมาย พืชพันธุ์ทั้งไทยและฝรั่ง ผลิบานแสดงความแข็งแรงต่ออากาศหนาวยามเช้า และแดดจัดยามบ่ายในบริเวณสวนสาธารณะของหาดเชียงราย แม้มันจะไม่ได้เกิดและเติบโตที่นั่น แต่ถูกเพาะปลูกเลี้ยงดูด้วยการทดลอง กระทั่งเมื่อสำเร็จผล ก็ถูกขนย้าย มาลงบนผืนดินชั่วคราวเพื่อแสดงงานดอกไม้ดอกทิวลิป ลิลลี่ บานชื่อพันธุ์ใหม่ และดอกไม้ชื่อแปลกหูอีกหลายชนิด เบ่งบานอวดสีสันอยู่ไม่ไกลนักจากลำน้ำกกที่พากันไหลอ้อยสร้อย เชื่องช้าไม่เพียงแต่ทดสอบความทนทานของดอกไม้ต่ออากาศเท่านั้น แต่การแสดงดอกไม้ยังทดสอบความสามารถของผู้ดูแลสวนอีกด้วย แต่ละโซน มีเจ้าหน้าที่คอยพรมพร่างสายน้ำเบาๆ เพื่อควบคุมความชุ่มชื้น อยู่ตลอดเวลา มีเจ้าหน้าที่แต่งกายเรียบร้อยสวยงาม พูดจากำกับไม่ให้คนเข้าไปแหวกดอกไม้ เอาตัว เอาหน้าไปซุกถ่ายรูป แม้จะติดป้ายเอาไว้แล้วว่า “ห้ามเข้า” คนก็ยังอยากโน้มกิ่งดอกไม้ให้มาใกล้ตัวที่สุด ยามฉีกปากยิ้มให้กับกล้องดิจิตอล บรรยากาศในสวนดอกไม้ในฐานะของผู้จัด บางครั้งจึงจำเป็นต้องเลือก ว่าจะดูแลดอกไม้หรือดูแลนักท่องเที่ยวดี ใครเลยจะห้ามไม่ให้คนเอามือไปสัมผัส แตะต้อง หรือกระทั่งดมกลิ่นได้ ฉันเห็นแม่อุ้ยพากันจูงมือมาจัดท่ายืน ท่านั่ง อยู่ข้างแปลงทิวลิป อาจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ที่เขาได้ใกล้กับดอกไม้ชนิดนี้ที่สุด เมื่อลูกหลานกดชัตเตอร์ถ่ายภาพแล้ว การทรงตัวที่คลอนแคลนก็ทำเอาล้ม จนเกือบทับดอกไม้เจ้าหน้าที่รุดเข้าไปประคอง เอ่ยเตือนเบาๆ “อย่าเข้าไปนะคะ” เธอพูดเสียงเพราะในชุดแต่งกายเมืองเหนือ แต่เมื่อแม่อุ้ยฟังไม่ได้ยินเท่าไหร่ เธอก็จึงต้องเอ่ยเสียงดังขึ้น “สุมาเต๊ะเจ๊า อย่าเข้าไปใกล้เกินไปนะคะ อย่าเด็ด อย่าข้ามรั้วเน้อเจ้า" ทุกโซนมีเสียงตะเบ็งแข่งกัน กับเสียงประกาศประชาสัมพันธ์อื่นๆ ภายในงาน  ทุกอย่างดูคึกครื้นดี ฉันมีโอกาสทำหน้าที่เป็นช่างภาพให้กับบางคู่ที่มากันแค่สองคน บางคนก็ถ่ายกับป้ายในงาน บางคนก็ถ่ายกับซุ้มดอกไม้ มีบ้างบางคน ขอถ่ายกับบริเวณที่มีคนเยอะๆ และที่แปลกที่สุดคือ เขาขอให้ถ่ายโดยไม่ให้เห็นว่าที่นี่เป็นที่ไหน นอกจากสวนทิวลิป“จะได้ไปอวดเพื่อนว่าไปต่างประเทศมา”ฉันได้แต่อมยิ้ม ดูเหมือนจะเป็นเวลาแห่งความสุข ได้เห็นว่าคนไทยรักต้นไม้ไม่น้อย ดอกไม้ ธรรมชาติ โขดหิน น้ำตกจำลอง ที่ใช้พลังงานจำนวนมาก เพื่อประคองให้เกิดความสุขแด่ผู้มาชมให้มากที่สุด แม้ตลอดระยะทางกว่าจะมาถึงสวน รถติดอยู่นับชั่วโมง อาหารมีราคาแพง ห้องน้ำไม่มีเพียงพอให้บริการ แต่ส่วนใหญ่ดูจะรู้สึก “คุ้มค่า” สำหรับการมาหลังจากได้ชื่นชมความงาม ของโลกดอกไม้ที่เคยอยู่ห่างออกไปครึ่งโลกจากเมืองแห่งนี้ไม่แน่ใจว่านั่นสะท้อนว่า  ทุกคนมาเติมเต็มความงามที่ขาดหายไปจากชีวิต หรือเรากำลังแสวงหาโลกใหม่ซึ่งเราไม่เคยได้สัมผัส และคิดว่าน่าจะดีไปกว่าโลกปัจจุบันที่มีอยู่.......................... เพราะมาถึงวันนี้ ปลายเดือนมกราคม สวนสาธารณะของเชียงใหม่เดินทางมาถึงกำหนดงานดอกไม้ประจำปี อีกครั้งฉันได้ยินเสียงตอบเบาๆ ของใครบางคน ที่ถูกชวนไปร่วมงานว่า“ไม่ไปหรอก ทีนี่ไม่เห็นมีอะไร เราได้ดูดอกทิวลิปมาแล้ว ดอกไม้อื่นๆ ธรรมดามาก สู้ไม่ได้อีกแล้ว”..............................
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
เชื่อกันว่า ช่วงเวลาระหว่าง 200-500 ปี ชาวไทยใหม่อูรักลาโว้ยหรือโอรังละอุตจากดินแดนฆูณุงจไร เดินทางมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะลันตา จนหลายสิบปีต่อมา เมื่อคนจากแผ่นดินใหญ่หลั่งไหลมาถึง พร้อมเปิดศักราชใหม่ของการท่องเที่ยว เกาะลันตาที่เคยสงบสันโดษกลับกลายเป็นดินแดนแห่งสีสัน...เฉดสีต่างๆ ถูกละเลงโดยนักแสวงสุขมากหน้า...ท้องฟ้าสีฟ้าเบื้องหน้าหัวเรือข้ามเกาะดูเจิดจ้า จากท่าเรือคลองจิหลาด จ.กระบี่ ข้ามไปเกาะลันตาถึงท่าศาลาด่านใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ในอัตรา 350 บาท/หัว ภายใต้ท้องฟ้าและผืนน้ำสีเขียวคราม หลายคนรวมทั้งผมและเพื่อนนับสิบ ตัดสินใจไปละเลงชีวิตช่วงปีใหม่ที่เกาะลันตา...หากใครเคยเที่ยวช่วงปีใหม่คงจะรู้ดีเป็นอย่างยิ่งว่า นอกจาก ต้องฝ่าฝูงชนที่คราคร่ำในสถานีขนส่ง (กรณีนี้สายใต้) แล้ว ยังต้องผจญกับความผันผวนของราคาตั๋ว ตารางเวลาเดินรถและอัตราค่าบริการอันแพงหูฉี่ของห้องพักช่วง Hi Season ... แต่โชคดีที่มีเพื่อนเราอยู่บนเกาะ...เกาะลันตา เป็นหนึ่งในหมู่เกาะ 53 เกาะ เรียงรายขนานกับแผ่นดินใหญ่บนฝั่งทะเลอันดามัน ‘ลันตา’ เป็นชื่อใหม่ที่เรียกกัน เพี้ยนมาจากคำว่า ‘ลานตา’ เพราะหากมองเข้ามายังเกาะจะเห็นชายหาดเรียงรายหรือเพราะเกาะลันตาเป็นที่อยู่อาศัยของชนหลายชาติ ชาวไทยใหม่ ไทยพุทธ ไทยมุสลิมและชุมชนจีนชาวอูรักลาโว้ยให้ชื่อหมู่เกาะแห่งนี้ว่า ‘ปูเลาตอข้า’ หมายถึง ‘เกาะที่มีหาดทรายทอดตัวเป็นแนวยาว’ ชาวมลายูมุสลิม เรียก ‘ลันต๊าสหรือลันตัส’ หมายถึง ‘แผงหรือร้านสำหรับตากหรือย่างปลา’ สำหรับ ชาวจีน เรียก ‘ลุนตั๊ดซู่’ หมายถึง ‘เกาะที่มีภูเขาเป็นแนวยาวมองเห็นได้แต่ไกล’…หาดทรายสีขาวโพลนสะท้อนประกายแดดเจิดจ้า ดูดูแล้วเกาะลันตาในยุคของการท่องเที่ยวครอบครองพื้นที่ทุกตารางเมตร ไม่ได้แตกต่างไปจากอุทยานการท่องเที่ยวแห่งอื่นๆ หมายความถึง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หัวสีทองและหัวสีดำ ทั้งผิวขาวและผิวคล้ำ เกลื่อนหาดผมนัดตัวเองพบกับเพื่อนๆ ที่โอโซน บาร์ ในร่มชายคาของต้นมะพร้าวและหูกวางขนาดยักษ์ที่ยื่นล้ำออกมาริมหาด นักท่องเที่ยวผมสีทองบางคนกำลังหลับอาบแดด คาดว่า เค้าคงไม่เคยเจอแดดใสใสสักเท่าไรนัก ดนตรี Reggae แว่วมากระทบโสตพร้อมๆ กับเสียงคลื่นกระทบฝั่งเบียร์ขวดแรกถูกเปิดพร้อมกับความสนุกสนานที่จะตามมาอีกหลายระลอก...เกาะลันตาถูกถากถางเส้นทางเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สึนามิ ในฐานะ ‘ไข่มุกเม็ดสุดท้ายแห่งทะเลอันดามัน’ แต้มโฉมหน้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับหรู เปิดพื้นที่การลงทุน ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย ทั้งกลุ่มคนบนเกาะและกลุ่มนักลงทุนต่างชาติคือ ความหมายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบ ,ด้วยธรรมชาติที่งดงามและต้องสะดวกสบาย ,เกาะลันตาจึงถูกกล่าวถึงในฐานะแหล่งปะการัง ประเพณีเขเรือ รีสอร์ท&สปา อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ บาร์ริมหาดและดนตรี reggae & blues...ผมเริ่มโยกตัวไปตามจังหวะดนตรี ลมเย็นจากทะเลพัดเข้าหาฝั่ง เฉดสีส้มเหลืองแดงของพระอาทิตย์กำลังจางลงไปยังผืนทะเลเบื้องล่าง ขับเน้นเงาดำๆ ของนักท่องเที่ยวที่เดินอยู่ริมหาดและไกลออกไปเรือใบขนาดสองใบเรือเห็นเป็นเงาตะคุ่มๆ กำลังเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ ที่ริมขอบฟ้าตัดกับเฉดสีส้ม“ต่อกันที่ไหนดี” ดูเหมือนใครคนหนึ่งจะเร่งเร้าสำหรับความมันส์ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้า“คืนนี้ชิลก่อน เดี๋ยวพรุ่งนี้ต้องไปดำน้ำ” อีกคนวางโครงร่างคร่าวๆ“ต่อที่ไหน” ใครถามผมชักไม่แน่ใจ“Go Dive ร้านดำน้ำ” เพื่อนบนเกาะว่า“แล้วเข้านอนแต่หัวค่ำนะ”“เออ ก_ จะคอยดู”...ขอบคุณความเอื้อเฟื้อของเพื่อนๆ ทุกคนบนเกาะลันตา น้อง,พี่เบียร์,นุช,ยันนี่,กร,บัง,สาวๆ แห่งโทเก้ ดีไซน์และพี่โทนี่กะภรรยา ครับ บริเวณเกาะรอกในและนอก จะมีจุดช่องเขาขาด ทางออกสู่ทะเลเปิด น้ำสีเขียวครามอย่างที่เห็น (คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)ครอบครัวนี้มาพร้อม speed boat ลำของเรา น้องในภาพ ชื่อ ซันนี่ไม่ได้ดำน้ำก้อถ่ายภาพปลาบนผิวน้ำภาพนี้ถ่ายที่บ้านหัวแหลม เด็กชาวน้ำกำลังเล่นน้ำ หาดทรายสีทอง ส่วนตัวผม ลายสี...ชาวน้ำบ้านหัวแหลม คุณยายกำลังเดินกลับจากไร่แบกพร้าเล่มเขื่อง ทำเอาผมต้องแอบถ่ายอบอุ่นดีครับสระน้ำหรูของ ลาส บีช รีสอร์ทหลายเฉดสียามย่ำสนธยาสองภาพสุดท้ายเป็นภาพที่ กร ช่างภาพแห่งโทเก้ ดีไซน์ ถ่ายไว้
วาดวลี
อากาศขมุกขมัว เริ่มต้นมาได้หลายวันแล้ว ขณะที่หมอกบางเพิ่งจางลงไปในตอนเช้า ตอนสายๆ ของฤดูหนาวกลับมีเม็ดฝนมาเยือน คนในครอบครัวต้องปรับตัวในการออกไปทำงาน  ด้วยการใส่ทั้งเสื้อกันหนาวและเสื้อกันฝน ส่วนฉัน ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปติดอยู่ที่แผงขายผักเล็กๆ ในหมู่บ้าน คุณยายมองดูสายฝนที่หนาหนักลงมา แล้วก็ถอนหายใจ"อย่าเพิ่งกลับเลยหนู รอให้ฝนซาก่อน"เขาบอกฉันอย่างมีไมตรี แล้วชวนให้เข้าไปหลบฝนด้านในร้าน เหลือบไปมองถนน บางคนฝ่าเม็ดฝนไปไม่กลัวเปียก บางคนทำท่าเก้ๆ กังๆแล้วบทสนทนาของฝนหลงฤดูก็เกิดขึ้น"มันแปลกจริงๆ ฝนจะมาช่วงนี้ได้ยังไง""อากาศวิปริต""จะเข้าหน้าร้อนแล้วก็แบบนี้แหละ ฝนหัวปี""เฮ้ย ยังไม่ถึง"ฯลฯฉันยืนนิ่งๆ  พร้อมห่ออาหารในมือ สายตามองดูเม็ดฝน หูก็ฟังพวกเขาคุยกัน คุณลุงคนหนึ่งขี่จักรยานฝ่าสายฝนมา จอดรถเสร็จ ไม่พูดพร่ำทำเพลง เดินอาดเข้ามาหายาย"ลาบดิบมีไหม ข้าวเหนียวด้วยเน้อ"แกนั่งลงบนเก้าอี้ไม้ ซึ่งมีอยู่โต๊ะเดียวในร้าน ยายทำตาแลมอง แล้วเดินเข้าไปใกล้"ฝนตกซิกๆ แบบนี้จะกินลาบดิบเหรอ เอาแกงอ่อมอุ่นๆ หน่อยไหม"ยายไม่กลัวเลย ว่าจะขายของไม่ได้ เสนอเมนูแกงอ่อมร้อนๆ น่ากินนัก"แกงอ่อมไม่เอา เอาเบียร์ช้างขวดหนึ่ง" ลุงตะโกนตอบ"ปาดโทะ จะกินแต่เช้าเลยเหรอ"คุณยายอดแสดงความเห็นไม่ได้ แต่ก็เดินไปทำกับข้าวแต่โดยดี เปิดฝาถังแช่ หยิบหมูที่สับไว้แล้ว ตักใช่กะละมัง จากนั้นก็ตักน้ำพริกลาบ คลุกเคล้าผสม เติมเครื่องเทศ หยอดเลือดสดๆ เข้าไป คลุกๆ แล้วก็เติมเต็มด้วยเครื่องในหั่นเป็นชิ้นๆลุงผู้ชายคงเปรี้ยวปากน่าดู ขออนุญาตเดินไปหยิบเบียร์เอง แล้วก็นั่งรอ "อากาศแบบนี้ ฝนซิกๆ ครึ้มอกครึ้มใจเหรออ้าย" ใครบางคนตะโกนถาม ลุงผู้ชายส่ายหัวแทนคำตอบ"ฝนตกแบบนี้ มันก็อยากกิน กินแก้เครียด  อ้ายตากตอกเอาไว้ มันชื้นมาหลายวันแล้วไม่มีแดด มาวันนี้ฝนตก เก็บแล้วก็ยังขึ้นรา""ก็ดีแล้ว  ได้พักผ่อนสักวัน"ยายให้กำลังใจอย่างไม่เห็นว่าเป็นเรื่องหนักหนา ขณะโรยหน้าลาบรสเด็ดด้วยต้นหอม ผักชี แล้วยกมาเสริ์ฟลุงตักลาบใส่ปาก ตามด้วยเบียร์อีกคำ หน้าตาชื่นอกชื่นใจ "จะว่าไป ฝนตกก็ดี มันแล้งเกินไป ต้นไม้เหลืองหมด ดูน้ำในคลองสิ ถึงเข่า"เขาหมายถึงน้ำปิงน้อยที่ไหลผ่านข้างหมู่บ้าน ที่ตอนนี้เดินไปลงเล่นได้โดยไม่ต้องกลัวจมยายฟังแล้วหัวเราะเอิ๊กอ๊าก "ก็เห็นพากันไปจับปลาสบายใจอยู่นี่วันก่อน""ก็น้ำมันแห้ง ปลาจะตายเอา จับก็ง่าย ได้ไปหลายมื้อใหญ่""แล้วไม่ดีเรอะ" ยายทำเสียงแหลม"ไม่ดีน่ะสิ จับกันทีสิบคน รอบเดียวหมดคลอง ฮ่าๆ"คุยไปหัวเราะไป ไม่รู้ว่าเพราะเขาเป็นคนอารมณ์ดี หรือเพราะฟ้าฝนเป็นแบบนี้ มองไปบนท้องฟ้า ฝนซาลงบ้างแล้ว ฉันขยับตัว เตรียมออกไปยายมีแก่ใจเป็นห่วง เอื้อมไปหยิบถุงพลาสติกเก่าๆ ส่งให้ใบหนึ่ง"เอาคลุมหัวไว้หนู" ไม่อยากรับ แต่ก็ไม่อยากขัดใจยาย เอ่ยขอบคุณแล้ว ก็ได้ยินเสียงยายรำพึงเบาๆ"ไม่รู้มันจะตกอีกกี่วัน ยายจะได้ตุนของเอาไว้ ไม่งั้นออกไปตลาดไม่ได้ จะไม่มีของขายเอา""อ๋อค่ะ ลำบากหน่อยเนอะ" ฉันพูดได้แค่นั้น  ยายพยักหน้า ก่อนจะตามด้วยประโยคที่ว่า"ฝนหลงฤดู คนก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม"นี่เป็นบทสรุปจากเจ้าของแผงผักเล็กๆ และคนทำลาบขาย บางทีบทสรุปนั้น อาจเผื่อแผ่ไปยังคุณลุงที่นั่งเคี้ยวลาบตุ้ยๆ อยู่ หรือคุณป้าอีกหลายคน ที่พากันติดฝน และเลือกซื้อข้าวของอยู่ บางคนเหลือบมองเวลา ที่จะออกไปจัดการธุระ สลับกับมองสายฝน บางคนคิดแผนใหม่ ว่าจะทำอะไรดีในวันนี้ และบางคนคิดเลยไกลออกไปถึงอีกหลายๆ วัน ของฤดูกาลข้างหน้าฉันขี่รถฝ่าสายฝนมา พลางคิดในใจว่า อย่างน้อย ขอให้เป็นแค่สายฝนที่หลงฤดู อย่ามีอะไรหนักหนาให้ถึงกับต้องเปลี่ยนชีวิตบางด้านต้องหลงทางไปด้วยหรือก็ไม่แน่ว่า...บางที ฤดูกาล ก็แค่มาเตือนให้รู้ว่า มนุษย์เราหลงทางไปล่วงหน้า ตั้งนานแล้วก็ไม่รู้.
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
คนมาจากไหน ?8 พ.ย. 50 คนมากกว่า เก้าพันสามร้อยสามสิบเจ็ดคน เดินขึ้นภูกระดึง ภายในวันเดียวอะไรทำให้คนมากมายมาภูกระดึง นโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาล ,แรงประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ,หนังสืออสท. ,ปากต่อปากถึงมนต์ขลังที่มิอาจจะปฏิเสธ ,ความยากลำบากของการเป็นหนึ่งในผู้พิชิต ,หรืออาการเริ่มแรกของโรคเบื่อการเมืองผมไม่รู้และไม่คิดอยากจะรู้ เพียงแต่การจัดอันดับ 10 อุทยานยอดนิยมของหนังสือท่องเที่ยว Trip ปลายปี 50 ภูกระดึงเป็นอุทยานที่มีนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง...ว่ากันว่า 300 ล้านปีก่อน พื้นที่บริเวณโดยรอบภูกระดึงเคยเป็นทะเลมาก่อน จน 250 ล้านปีต่อมา เมื่อผิวโลกเคลื่อนตัว ความเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกได้ดันตัวเองให้สูงขึ้น จนกลายเป็นพื้นที่ราบบนยอดภูเขาหินทราย กว้างใหญ่สลับกับเนินเตี้ย ยอดสูงสุดคือ ภูกุ่มข้าว แหล่งกำเนิดของลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น...ผมคิดว่าตัวเองโชคดีที่ผมตัดสินใจเดินทางกลับในวันนั้น!ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่ลานกว้างของศูนย์บริการวังกวาง มากันแบบครอบครัวพ่อแม่ลูก หมายรวมถึง คนเฒ่าคนแก่ถือไม้เท้าเขย่งขยอยเพื่อขึ้นให้ถึงยอด เด็กนักเรียนหลายกลุ่มมาทัศนศึกษา แน่นขนัด จนออกันอยู่ตรงบันไดทางเดินขึ้นภู ผลัดสลับกันให้คนเดินลงได้ลง บางคนแบกเป้ บางคนแบกลูก บางคนแบกแฟนและเป็นช่วงเวลาทำเงินของลูกหาบ ลูกหาบบางคนแบกก้อนน้ำเข็งก้อนโต บางคนแบกถังแก็สปิกนิก คุยกันว่า ลูกหาบบางคนทำน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัมและแต่ละคนทำน้ำหนักได้ไม่ต่ำกว่า 30 กิโลกรัมในเงื่อนไขนี้ไม่เว้นทั้งชายและหญิง...ร้านค้าตลอดรายทางเดินขึ้นภูกระดึงบางร้านเปิดขายมานานกว่า 15 ปี ตั้งแต่ทางการยังไม่อนุญาตให้ตั้งร้านรวงถาวร ต้องใช้ผ้าปูบนพื้น เย็นเดินกลับลงไปนอนข้างล่าง จนเดี๋ยวนี้ อนุญาตให้นอนได้ บางร้านที่อยู่ตามริมขอบผาต่างๆ จะได้พบเห็นเพื่อนร่วมโลกจำพวก หมูป่า หมาป่า ออกมาเดินเลียบๆ เคียงๆ กินอาหารยกเว้น ช้างป่า ที่ไม่ค่อยอยากให้ออกมาเลียบๆ เคียงๆ สักเท่าไร...“พี่ คนเยอะอย่างนี้ก็ขายของดีสิพี่” ผมเอ่ยปากพร้อมรับจานข้าวขาหมูข้าวขาหมูดูจะเป็นของโปรดของผมสำหรับยอดภูที่มีอากาศหนาว“...”แทนคำตอบ เธอหันไปตักน้ำเต้าหู้ควันฉุย มือเป็นระวิงส่งให้ลูกค้าอีกสองสามรายที่ยืนออ กอดกระชับเสื้อกันหนาวอยู่ภายนอกร้านสีสันบนท้องฟ้า ยามพระอาทิตย์อัสดงที่ผาหล่มสักสังเกตดีดี เธอหิ้วถังแก็สปิกนิก ขนาดนี้ร่วม 30 กิโลกัรม น่าจะได้ลูกหาบจะมีท่าทางลีลาการแบกน้ำหนัก โดยการแกว่งแขนอีกข้างไปมา นัยว่า กระตุ้นการเคลื่อนไหว8 พ.ย.50 วันที่มีคนขึ้นภูมากกว่าเก้าพันคน ,ดูของที่ขนมาสิครับเพื่อนร่วมทาง  ราวกับผู้อพยพลี้ภัยสงครามผมเหนื่อยฮับ!เก็บขวดพลาสติก ขายได้และสะอาดตาเหมือนนกเค้า ไม๊ครับ! 
วาดวลี
ผู้ชายคนนั้นเหมือนไม่สนใจใครเลยเขาย่ำเท้าหนักๆ ลงบนผืนทราย บุ๋มเป็นรอยเท้าทับซ้อนกันไปมา เขาง่วนอยู่กับข้าวของบางอย่างตรงหน้า แต่ฉันไม่คิดว่าเขาจะลืม ว่าเวลาที่ตะวันยามเช้าสะท้อนแม่น้ำจนเป็นสีเหลืองนวลนั้นสวยงามเพียงใดหาดทรายริมแม่น้ำโขงที่ฉันมาเยือน อยู่ในความสนใจของนักเดินทาง โลกนัดเวลาให้เราไว้แล้ว สำหรับการตื่นในที่แปลกถิ่นและออกมาสูดอากาศ หากตื่นเช้ากว่าใครเพื่อน เราจะมองเห็น ผู้คนทยอยโผล่หน้าออกจากเกสเฮาส์ที่เรียงรายกันตลอดริมฝั่ง บ้างก็ลงมาเดินเล่น บ้างก็กางขาตั้งกล้องรอเอาไว้ เพื่อจะได้กดชัตเตอร์เมื่อดวงตะวันกลมโตสีแดงโผล่พ้นทิวเขาหลังแม่น้ำขึ้นมา นักเดินทางบางคนนัดกับเรือรับจ้างเอาไว้แล้ว เช้าตรู่เขาจะมารับที่ท่าน้ำ พาล่องไปเยี่ยมชมชีวิตผู้คนสองฝั่ง คือไทยและลาวเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเต็ม แล้วก็พากลับมาส่งที่เดิม บางคนโดยสารตัดแม่น้ำไปยังฝั่งโน้น แวะไปซื้อของที่ลาว หรือ ข้ามไปเที่ยวยังหลวงพระบาง เรือลำเล็กใหญ่เหล่านั้น ล่องผ่านสายตาของชายคนนี้อยู่ในระดับสายตา  ไปและมา มาและไป เหมือนภาพยนตร์ที่ฉายซ้ำเดิมทุกวัน และเขาก็ยังทำเช่นเดิม ไม่เหลียวแลที่จะมองใคร หากไม่เพราะว่าเขาเบื่อที่จะมองมันแล้ว ก็อาจเป็นเพราะว่า เขาได้วางชีวิตเอาไว้ในโลกที่ไม่เกี่ยวข้องกัน โลกของเขามีเพียงหาดทราย ถังน้ำพลาสติกนับร้อยใบ เมล็ดถั่วเขียวในถัง และเช่นเดียวกัน ใครจะรู้ได้ว่า โลกของคนบนเรือที่ไม่ข้องเกี่ยวกับเขาเหล่านั้น จะสนใจไยดีเขาบ้างหรือไม่ยกเว้นแต่ฉันเวลานี้ ความอ่อนด้อยประสบการณ์ดึงดูดให้เดินย่องลงไปใกล้ที่สุด เท่าที่จะใกล้ได้เหยียบเท่าลงบนผืนทราย เงยหน้าของเขา ทักทายด้วยรอยยิ้ม อุ่นใจเมื่อเขายิ้มตอบกลับมา จากนั้นก็เอ่ยถามออกไปด้วยน้ำเสียงลังเล “ลุงกำลังปลูกถั่วงอกใช่ไหมคะ” “ใช่แล้วล่ะ”ลุงตอบน้ำเสียงเรียบๆ เขายังไม่เงยหน้ามองฉันสักนิด จนเริ่มขาดความมั่นใจ แม้กระทั่งเรายืนใกล้กันนิดเดียว ฉันเหลือบไปมองเบื้องหน้า ตะวันโผล่พ้นน้ำสะท้อนเงาระยับเป็นสีเหลืองทองเหมือนในภาพถ่าย แต่มือใหญ่ๆ ในชีวิตจริงของลุงกำลังเอื้อมไปตักน้ำนั้นมาใส่ถังเมื่อได้น้ำมาแล้ว ก็ราดรดลงไปบนถังอีกใบ ซึ่งโปรยใส่เมล็ดถั่ว เขาไม่ได้ทำแค่เพียงครั้งเดียวใน 1 ถัง แต่ลุงทำแบบนั้นซ้ำๆ เป็นชั้นๆ ซ้อนกันขึ้นมาใส่ถั่ว รดน้ำ กลบทรายใส่ถั่วอีกชั้น รดน้ำ กลบทราย ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จวบจนกระทั่งเสร็จหมดแล้ว ก็เลื่อนกายไปยังถังที่อยู่หัวแถวที่สุดเปิดฝาสังกะสีออก ฉันก็พบกับต้นถั่วงอกที่เจริญงอกงาม ชูช่อ ทั้งแบบสีขาวนวลและเริ่มแตกใบ “โอ้โห” เผลออุทานออกมาเสียงดังได้ผล ลุงหันมายิ้มแล้ว “แบบนี้เก็บได้แล้วสิคะลุง”“ใช่ เดี๋ยวคัดๆ ที่ไม่สวยออก ก็ส่งได้เลย”ฉันพิจารณาต้นถั่วงอกที่ “ไม่สวย” ตามที่ลุงว่า แล้วก็ขออนุญาตถ่ายรูป สำหรับฉันแล้ว เริ่มรู้สึกว่าทุกต้นนั้นงามจนไม่ควรจะถูกทิ้งเสียด้วยซ้ำ และก็นึกถึง “ความสวย” ของถั่วงอกในร้านก๋วยเตี๋ยวที่ต่างกันออกไป“กี่วันคะ ถึงจะโตเท่านี้”“ก็ 4-5 วันนะ ลุงก็ทยอยปลูกไป เราต้องปลูกไม่พร้อมกัน ก็จะมีให้เก็บได้ทุกวัน”“อ๋อค่ะ” ฉันยิ้มเมื่อเห็นลุงเริ่มต้นคัดถั่วงอกที่ดีพอเพื่อนำไปส่ง“ลุงส่งร้านแถวนี้ใช่ไหม”“ใช่แล้ว ก็ตลาดแถวนี้ แล้วก็ตามร้านอาหารบ้าง”“ก็แปลว่าทานได้เลย ไม่ต้องเอาไปฟอกสินะ”“โอ้ย สดๆ แบบนี้หวานอร่อย ไม่เหม็นเลย ชิมดูสิ” ฉันเห็นรอยยิ้มกว้างๆ ของเขาแล้ว รอยยิ้มที่สว่างแข่งกับดวงตะวันบนท้องฟ้า ลุงเหลือบดูนาฬิกา เหมือนจะต้องไป ฉันก็เช่นกัน มองไปยังผืนน้ำ เห็นเรือลำน้อยใหญ่ยังคงเดินทางอย่างปกติ นักท่องเที่ยวคงตื่นกันหมดแล้ว ชีวิตในเมืองเชียงของเคลื่อนไหว ช้า เร็ว สลับกันไป ก่อนเราจะจากกัน ฉันถามเขาว่า“นี่เป็นที่ทำงานของลุงสินะ มาทุกวันเลยใช่ไหมคะ”“ใช่ มาทุกวัน เช้ามาก็เจอลุงได้ที่นี่แหละ”“ขอบคุณค่ะลุง”ที่ถามไปนั้น ฉันเองก็ตอบไม่ได้ ว่าจะมีโอกาสได้กลับมาเยี่ยมลุงอีกหรือเปล่า ผ่านไปอีกไม่กี่วัน เราก็คงเป็นแค่ความทรงจำหนึ่งของกันเท่านั้น หรือ อาจจะไม่มีอยู่ด้วยซ้ำ แน่นอน ชายคนนี้คงไม่หวังที่จะเป็นความทรงจำของใคร เช่นเดียวกับเรือที่ผ่านน้ำโขงไป ลำแล้ว ลำเล่า และมองเห็นกันเป็นจุดเล็กๆ ก่อนฟ้าจะค่ำลงเดินห่างออกมาแล้ว ก็คลี่ดูต้นถั่วงอกที่ใหม่สดในมือ ต้นที่หล่นร่วงจากถัง และแอบหยิบมาดู เงยไปมองท้องฟ้า แล้วคิดว่า จริงๆ หรือ ที่ชีวิตเราไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตในถังถั่วงอกของลุงคนนั้น ?  
โอ ไม้จัตวา
ตีนฟ้ายกแล้ว แมวยังหลับใหลอยู่บนกองผ้าห่มอบอุ่น ใกล้เวลานัดสำหรับการออกไปดูโลกสีชมพูที่ได้ยินเสียงนักเดินทางต่างถิ่นกลับมาบอกเล่าเรื่องราวอยู่เสมอ  “ใกล้แค่นี้เอง” ฉันบอกเพื่อนร่วมทาง หลังจากชักชวนกันเมื่อคืน ว่าดอกพญาเสือโคร่งกำลังบานที่บ้านม้งขุนช่างเคี่ยน หลังดอยสุเทพนี่เอง เราออกจากบ้านเจ็ดโมงเช้า แวะกาแฟวาวีร้านกาแฟสาขาถนนนิมนานเหมินท์ที่เปิดตั้งแต่เจ็ดโมง แต่ก็ต้องรอเครื่องร้อนอีกครู่หนึ่ง ออกจากถนนนิมมานฯ เข้าสู่ถนนห้วยแก้ว ถนนสายหลักของนักท่องเที่ยวที่ต้องขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ และยังเป็นถนนสายหลักในหัวใจของชาวเชียงใหม่ เนื่องจากดอยสุเทพเป็นศูนย์รวมความเคารพและศรัทธาของชาวเหนือ ถึงดอยสุเทพ ถนนหน้าวัดยามเช้าดูสงบ เศษขยะสองข้างทางยังมีให้เห็น อบต.สุเทพ ผู้รับผิดชอบการเก็บขยะบนดอยยังคงทำงานหนักกับภาระการเก็บขยะจำนวนมาก ขณะภาคีคนฮักเชียงใหม่กำลังเริ่มรณรงค์ เรื่อง”เอาสิ่งใดขึ้นไป เอากลับลงมาด้วย” ปัญหาขยะยังคงเป็นเรื่องขยะที่แก้ไม่ตก แสงแดดสาดมาที่วัด ที่สร้างตามคติหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใครจะรู้บ้างว่าพระอาทิตย์ขึ้นที่ดอยสุเทพนั้นก็งามไม่แพ้ที่ไหน เมื่อยืนอยู่บนยอดดอย มองลงไปพื้นราบที่ตั้งของนครเชียงใหม่ยามเช้า หมอกเรี่ยบางเบา มีดวงตะวันโผล่ขึ้นที่ขอบฟ้าด้านหน้า อยู่เชียงใหม่มา 20 ปี มองเห็นความงามและความเปลี่ยนไปของเมืองที่จะเละตุ้มเป๊ะยังไง ก็ยังเคารพสายตาที่มองเห็นความงามของผู้สร้างเมือง ภูเขา แผ่นดิน แม่น้ำ และผู้คน หลอมรวมกันเป็นเมืองเชียงใหม่ พ้นวัดดอยสุเทพ ผ่านหน้าพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เวียงวังที่ดูเงียบเศร้ากับการจากไปของสมเด็จพระพี่นางฯ ผ่านหน้าพระตำหนักไปทางดอยปุย เมื่อถึงทางแยกสู่ดอยปุยจะมีป้ายบอกบางเลี้ยวขวาไปบ้านม้งขุนช่างเคี่ยน  ถนนช่วงนี้เล็กแคบมีต้นไม้ปกคลุมคล้ายเส้นทางไปอ.แม่แจ่ม แสงแดดลอดยอดไม้ลงมาเหมือนไฟจากดวงอาทิตย์ส่องลงบนโลกนี้ที่คือโรงละครแห่งชีวิตขับไปเรื่อย ๆ ผ่านสถานที่พักกางเต๊นท์ เลยไปอีกหน่อยจะเห็นภาพตรงหน้านี้!
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
อุทยานแห่งชาติ ไม่ได้หมายถึง แหล่งนันทนาการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้นการท่องเที่ยวอุทยาน คือ การสัมผัสถึงการมีอยู่ของแต่ละชีวิตในธรรมชาติ เผ่าพันธ์ร่วมโลก เพื่อทำความรู้จัก เข้าถึงและอยู่ร่วมกันโดยเบียดเบียนกันให้น้อยที่สุดภูกระดึง จึงกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ไม่ต้องการยานพาหนะและกระเช้าไฟฟ้า แม้ว่าจะพอมีร้านเช่า Mountain bike สนองอารมณ์นักแคมป์ปิงในอัตราวันละ 350 บาท ก็ตามเพราะฉะนั้น สำหรับภูกระดึง การเดินด้วยเท้าจึงเป็นเรื่องง่ายและดีที่สุด... ยามเช้า อากาศสดใส แดดหน้าหนาวตกกระทบลงบนกิ่งสน เกิดเป็นแฉกฉูดฉาด อาบไล้ ปลุกเร้าให้นักแคมป์ปิงออกมาค้นหาเรื่องราวตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ กวางตัวใหญ่ สีน้ำตาลเทา เฉิดฉายไปมาท่ามกลางกลุ่มคนที่ไปหาข้าวลงท้อง หลายคนหยุดยืนดู เก้ๆ กังๆ ให้อาหารมันอย่างไม่คุ้นเคย ผิดกับมันที่ดูคุ้นเคยกะเราอย่างไม่แปลกหูแปลกตาคน ค่น ค้น ค๊น ค๋น...ภูกระดึง มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ หากใครต้องการดูพระอาทิตย์ขึ้น ต้องรีบตื่นตั้งแต่ตี5 เพื่อเดินเท้าไปถึงผานกแอ่นกับเจ้าหน้าที่ หากใครต้องการดูพระอาทิตย์ตก ต้องเดินเท้าตามเส้นทางเรียบผาไปยังผาหล่มสักแต่ขากลับต้องเดินฝ่าความมืดกลับศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางเป็นระยะทาง 14 กิโลเมตรเส้นทางเลียบผา เดินเท้าจากผาหมากดูกเลาะเรื่อยไปจนถึงผาหล่มสัก จะมองเป็นตัวอำเภอโพธิ์ศรีฐาน สลับกับขุนเขาเขียวกลางสายหมอกสีเทา มองเห็นเป็นสีเขียวเทา ทัศนียภาพของโลกในมุม 180 องศาเส้นทางน้ำตกและใบแดงฉานของใบเมเปิล น้ำตกถ้ำใหญ่ ลึกล้ำ เสียแต่หน้าหนาวน้ำน้อยไปสักนิด..เดินพอเหงื่อชุ่มและพักกินข้าวกลางวันให้พอหมาดเหงื่อแล้วลุยต่อไปเส้นทางป่าดิบ ที่ถูกกันเอาไว้ให้เป็นที่อยู่ของต้นไม้และสัตว์ป่า หากคิดจะเดินต้องติดต่อพิเศษเพื่อการศึกษาและเผยแพร่กับทางอุทยาน ..ลานหินพระแก้ว ลานหินพระพุทธเมตตาและกระดิ่ง สัญลักษณ์อีกอย่างที่สำคัญของภูกระดึง เล่าย้อนกันไปว่า ทุกค่ำคืนของวันพระและวันอากาศแจ่มใส คนบ้านศรีฐานจะได้ยินเสียงกระดิ่งดังลงมาจากภู นักท่องเที่ยวหลายคนเห็นชอบร่วมกันว่า น่าจะเอากระดิ่งไปแขวนไว้ให้พลิ้วไหว แกว่งไกวเสียงดังกรุ๋งกริ๋งกลางสายลมหนาว คราวนี้จะได้เห็นกันจะจะว่าเสียงมาจากที่ไหนสระอโนดาด น้ำสีเขียวใสไหลออกมาจากหิน กลางแอ่งลึก ท่ามกลางทุ่งหญ้าสลับป่าสนแน่นขนัด ใสเสียจนให้คนได้ลงวักน้ำนั่งจ้องมองตัวภายในตน...ทั้งหมด ได้มาด้วยหงาดเหงื่อและสองเท้าที่ก้าวเดิน ครับองค์รูปพระแก้ว ใต้ท้องฟ้าสีคราม ยามเช้า หลังจากกลับจากดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่นพืชชนิดนี้จะเห็นได้ทั่วไปบนผืนทราย บนยอดภูกระดึง มีมากจริงๆ ครับวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของนักท่องเที่ยว จะนำไม้ซี่เล็กๆ ไปวางคล้ายกับพยุงไม่ให้หินใหญ่มันร่วงลงมาดอกสีม่วงลออตา ออกจากกลีบหนาๆ สีน้ำตาลสายน้ำตกถ้ำใหญ่ น้อยในฤดูหนาวเธอ พยายามเก็บภาพใบเมเปิลแดงที่น้ำตกเพ็ญพบบริเวณสระอโนดาด น้องนักเรียนคนนี้เดินทางมาจากภาคใต้ มากับกลุ่มเพื่อนๆ และคุณครูบริเวณผาหล่มสัก เหล่านักท่องเที่ยวรอดูพระอาทิตย์ตกระหว่างทางเดินกลับจากผาหล่มสัก ร้านรวงริมผาจะเปิดไฟรอนักท่องเที่ยวอย่างนี้
วาดวลี
1.อากาศยามเช้าหนาวไอเย็นแผ่วเบา พัดมาจากภูเขาสูงผ่านทางไกล ใกล้รุ่งฝ่าหมอกคลุ้งสีเทา-เทา
โอ ไม้จัตวา
ผ่านพ้นไปสำหรับฤดูการท่องเที่ยว ผู้คนหลั่งไหลมาเที่ยวมากเหนือมากมายในช่วงปีใหม่ นักท่องเที่ยวที่กลับมาจากอำเภอปายเล่าให้ฟังว่า ช่วงปีใหม่ที่นั่นถึงกับไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำมัน เหมือนติดเกาะ ร้านอาหารบางร้านให้บริการไม่ไหวถึงกับปิดร้านไปเลย เพราะคนเยอะมาก บางคนต้องนอนค้างอีกคืนหนึ่งเนื่องจากน้ำมันไม่มีขาย ต้องรอรถน้ำมันเข้ามาจากเชียงใหม่ ร้านอาหารร้านหนึ่งขายข้าวไข่เจียวอย่างเดียวมีคนรอจำนวนมาก และคนต้องจ่ายเงินไว้ก่อน แล้วยืนรอ นานแค่ไหนก็ต้องรอเพราะไม่มีอะไรกินคนจำนวนมากบอกฉันว่า อุตส่าห์มาจากกรุงเทพ ฉันฟังจนเบื่อ เพราะมีจำนวนอีกมากมาไกลกว่ากรุงเทพ เช่น ตรัง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สวิสเซอร์แลนด์ หรืออเมริกา อยู่เมืองท่องเที่ยวต้องทำตัวรับแขกบ้านแขกเมือง รถติดขนาดไหนก็หุบปากเงียบ ๆ เพราะนั่นอาจเป็นลูกค้าของเรา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ได้ด้วยลูกค้าในฤดูการท่องเที่ยวเช่นนี้ ช่วงเทศกาลบนถนนจึงมีแต่รถทะเบียนต่างจังหวัด ตอนกลางวันถนนบางสายไม่มีรถ แต่ถนนสายนักท่องเที่ยวเช่น ตลาดวโรรส ไนท์บาซ่านั้นรถติดมาก แต่พอวันที่ 2 มกราคม นักท่องเที่ยวกลับไปหมดแล้ว รถรากลับมาเต็มถนนเหมือนคนเชียงใหม่เก็บกดไม่ออกจากบ้านไหนเลยเพราะกลัวรถติด ปล่อยถนนให้แขกบ้านแขกเมืองได้ใช้ คนมาเที่ยวส่วนใหญ่หอบเงินมาใช้ และสิ่งที่พวกเขาต้องการคือการบริการที่ดี ทำให้พวกเขามีความสุข ร้านอาหารหลายร้านในเชียงใหม่ก็มีสภาพไม่ต่างจากเมืองปาย คือคนล้น พนักงานทุกคนตกอยู่ในสภาพเหมือนอยู่ในสนามแข่งขันอันเคี่ยวกรำ มองเห็นสีหน้า และแววตาของพนักงานเสิร์ฟในร้านเหยเกเหมือนวิ่งรอบสนามมาสักสามรอบ ไหนจะต้องยกอาหารถ้วยชามไปมาตลอดทั้งคืน บางคนเท้าบวมเป็นแก้ว บางคนหมดแรงจนมาทำงานวันต่อมาไม่ไหว คาดกันว่าหากรวมระยะทางที่พนักงานในร้านเดิน นำมาต่อกันแล้วคงไกลถึงลำปาง
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมไม่ได้ปีนภูกระดึงในฐานะผู้พิชิต !หากเป็นเรื่องของข้างในที่เรียกร้องผัสสะดิบเถื่อนในธรรมชาติและการมองโลกในมุม 180 องศา การเดินด้วย 2 เท้าและเรียกร้องให้เหงื่อออกจากรูขุมขน,ตอกย้ำความคิดที่ว่า จริงๆ เราเป็นเพียงละอองธุลีของจักรวาลอิอิ“แหวะ เว่อร์ร์ร์ร์ร์ หวะ เพ่” รุ่นน้องคนหนึ่งลากเสียงยาว..หากใครคิดว่า การเดินขึ้นภูกระดึง ถึงหลังแปแล้วจะได้ผ่อนลมหายใจ ละลายความเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วละก็ เป็นอันว่าคุณคิดผิดถนัด เพราะจากหลังแปนักเดินทนผู้พยายามพิชิตภูกระดึงจะต้องเดินเท้าต่อไปอีกร่วม 3 กิโลเมตร ทันทีที่คุณเข้าสู่เขตศูนย์บริการวังกวาง (เมื่อก่อนพื้นที่เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของนานาสัตว์ โดยเฉพาะเก้งกวาง) สิ่งสะดุดสายตาเป็นอันดับแรกนั่น คือ แนวเต๊นท์น้อยใหญ่บนสนามหญ้าบนแผ่นดินราบอันเคยเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาเก้งกวาง..คุณลองคิดภาพย้อนเวลาไปมากกว่าครึ่งทศวรรษหญ้าอ่อนกำลังระบัดและบรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินราบสูงแห่งนี้จะมากมายสักขนาดไหน ไม่มีเสียงกีตาร์ ไม่มีเสียงเตือนของเจ้าหน้าที่จากเครื่องขยายเสียง ไม่มีเสียงตะโกนเป่าปากในฐานะผู้พิชิตภู ไม่มีกลิ่นอาหารเครื่องดื่ม น้ำหอมและ ก ลิ่ น ค น สัตว์สองเท้าผู้ใช้มันสมอง แทนเขี้ยวและเล็บ..เจ้าหน้าที่บอกเราว่า สามารถเลือกเต๊นท์หลังไหนก็ได้ ที่ไม่มีเจ้าของ ในอัตราคืนละ 250 บาท/2 คนเต๊นมีด้วยกันหลายขนาด 2 คน ,4 คน , จนถึง 15 คนขึ้นไป ราคาก็แตกต่างกันไปตามขนาด เต๊นท์ใหญ่ๆ จะมีชานหน้าเต๊นท์ สำหรับประกอบกิจกรรมยามค่ำ อย่างเช่น กินเหล้า ร้องเพลง เล่นกีตาร์คลาสสิกสักหน่อย จะมีตะเกียงส่องแสงเรืองรอง เอาใจคนเมืองที่ชอบการแคมป์ปิง..ยามค่ำมาถึง เสียงกีตาร์ที่นักท่องเที่ยวประเภทวัยรุ่นอุตส่าห์หอบหิ้วขึ้นมาจากซำแฮกเริ่มโชยมาแผ่วและกระแทกกระทั้นขึ้นตามความแรงของดีกรีแอลกอฮอล์ มีให้ฟังด้วยกันหลากหลายเพลงตั้งแต่เพลงป็อปของค่ายแกรมมี่ไปจนถึงจังหวะโจ๊ะๆ แบบโปงลางสะออน“ทำไมไม่มีใครไปบอกให้เค้าหยุดเล่น” ยาดาว่า“มันเป็นหน้าที่ของอุทยานที่จะทำเรื่องนี้” ผมว่าเงียบกันไปสักพัก เสียงยังคงดังขึ้นๆ ตามความเงียบกันไปสักพัก...“โทษนะคะ ช่วยลดเสียงลงสักหน่อยได้มั้ย หลายคนจะนอน” มีเสียงเตือนแว่วมาจากที่ไกลๆอืม ..ยาดาทนไม่ไหว เธอตัดสินใจไปบอกให้พวกเค้าเบาเสียง ..แนวเต๊นท์ในบรรยากาศเย็นย่ำรถขนขยะ สีเหลืองโดดเด่น ถามเจ้าหน้าที่ว่าเอาขึ้นมาได้ยังไง ,ส่งลงมาทางเฮลิคอปเตอร์ครับลานหินพระพุทธเมตตากว้าง ใจกลางแสงสีสุดท้ายของวัน7 eleven บนภูกระดึงใบเมเปิล สะพรั่ง กำลังแดงฉาน ใครบอกว่าใบไม้ไม่มีสีสันผมตั้งชื่อให้ว่า ดอกไข่ดาว ..ผนังไม้ ระหว่างทางไปน้ำตก ครึ้มเขียวและชื้นเย็นย่ำ ระหว่างทางเดิน แดดสุดท้ายส่องลอดกิ่งใบของสนน้ำตกเพ็ญพบ, เรานั่งตรงกันพอดี Ha Ha Ha 
วาดวลี
ฉันกับเพื่อนหย่อนก้นบนเก้าอี้ไม้ริมถนนของเมืองเชียงของ เราสั่งชานม ชามะนาว และกาแฟมากินให้สดชื่นหลังจากนั่งรถมาเป็นชั่วโมง มองดูผู้คนมาเยือนสวนทางกับเจ้าของท้องถิ่นไปมาในวันหยุด"เรากำลังจะไปที่ไหนต่อ"เพื่อนร่วมทางถามฉัน ฉันเหลือบมองเขา ไม่ตอบ แล้วคว้าหนังสืออ่านเล่นในร้านกาแฟมาเปิดอ่าน เราเพิ่งมาถึง แล้วจะไปไหน เธอถามแปลกจัง ฉันอยากตอบเล่นๆ ว่า เดี๋ยวจะพาเธอไปลงว่ายน้ำโขงเล่นก็แล้วกัน"เราต้องไปกินปลาบึกไหม?"เพื่อนถาม ฉันเกือบสำลักชามะนาว “เธออยากกินเหรอ”ฉันถามกลับ เขาทำหน้าไม่ถูก แต่แววตาลังเล “ก็มีคนบอกว่ามาเชียงของต้องกินปลาบึก”ฉันอมยิ้ม ฉันก็ได้ยินแบบนั้นเหมือนกัน แต่เท่าที่รู้ ปลาบึกไม่มีในฤดูนี้หรอก น่าจะราวๆ เดือนเมษา พฤษภา แต่ถึงเวลานั้นจริงๆ เราก็อาจจะไม่มีปลาบึกกินหรอก มันหาง่ายที่ไหนล่ะ ฉันคิดของฉันแบบนี้ ปลาบึกที่เคยเห็นในรูปตัวโตมากๆ โตเท่าตัวเรา แล้วต้องใช้เวลาแค่ไหนกว่ามันจะโตขนาดนี้ ถ้าจับมันกินทุกปี มันจะแพร่พันธุ์ได้ทันหรือ
วาดวลี
กระดาษแผ่นแล้วแผ่นเล่า กำลังถูกประทับด้วยตราปั๊มสีแดงเพื่อบอก “อนุญาต” ให้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองไปยังพม่า ผู้คนจำนวนนับร้อยนับพัน ต่อแถวกันอยู่ที่ท่าขี้เหล็กในเขตแม่สายด้วยใบหน้ารอคอย ตั้งแต่ขั้นตอนการทำบัตร ชำระเงิน ตรวจเอกสาร จนกระทั่งพวกเขาจะได้ข้ามพ้นประตูด่านของเจ้าหน้าที่เมื่อนั้น ใบหน้าที่บึ้งตึงก็จะเปลี่ยนเป็น “โล่งอก”ฉันและเพื่อนยืนรออยู่ที่ทำบัตรเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ขณะที่เพื่อนกำลังวาดฝันว่าเขาจะซื้ออะไรบ้างจากฝั่งพม่า ไม่ทันที่จะอ้าปากพูดว่า “เกาะกันไว้นะเดี๋ยวหลง” เพราะคนเยอะขนาดจนมีประกาศหาคนตลอดเวลา ไม่ทันไรฉันก็ถูกดันจากคนข้างหลังให้ขยับเข้าไปข้างหน้า ทั้งที่แถวมันเต็มแล้ว คนที่ดันเข้าไปพูดอย่างอารมณ์เสียว่า“ทำไมมันช้าแบบนี้ รีบๆ หน่อย จะได้เร็วๆ”เมื่อการต่อแถวกลายเป็นเรื่องน่ารำคาญ พวกเขาก็เริ่มแตกแถว แทรกมาจากทางซ้ายที ขวาที คนทำดีแต่ต้นเริ่มไม่พอใจ ต่างกระทบกระทั่งกันทั้งด้วยวาจา และร่างกาย เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นตอนการรับบัตรผ่าน ผู้คนแยกย้ายกันไปกรอกชื่อ เซ็นเอกสาร เราก็จะไปแออัดยัดเยียดกันอีกครั้ง ณ ประตูผ่านข้ามแดนแรกเริ่มเดิมที ฉันตั้งใจว่า เมื่อมีโอกาสแวะมาฝั่งพม่าแล้ว จะใช้บริการรถโดยสารไปเที่ยวที่วัด และตลาดของชาวบ้าน เพื่อนที่เคยไปแล้วบอกฉันไว้ว่า มองหารถสองแถวก็ได้ สามล้อก็มี หรือจะมอเตอร์ไซค์ ค่าโดยสารไม่เกินคนละ 50 บาท อยากไปที่ไหนก็บอกเขาได้ แต่ไปได้ไม่เกิน 5 กิโลเมตร และต้องกลับออกมาก่อนพลบค่ำ ฉันใช้เวลาระหว่างยืนต่อแถว ชะเง้อชะแง้หารถโดยสารที่ว่า มองผ่านผู้คนทะลุเข้าไปอีกฝั่ง ด้วยหวังว่า จะได้ไปเที่ยวก่อนกลับมาซื้อของ“มันมีแต่รถแบบนี้เหรอ” ชายคนหนึ่งส่งเสียงมา ฉันหันขวับไปดู เขาถือเอกสารไว้เป็นกำ เดินนำหน้าคณะญาติมิตรของเขา พลางใช้ร่างกายใหญ่โตนั้นเบียดเสียดคนเพื่อเร่งเร้าเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เรายังอยู่ห่างจากด่านอีกตั้งหลายสิบเมตร“นั่นไงๆๆ ตรงโน้นมีรถแท็กซี่” อีกคนชี้ชวนให้ดู ชายร่างใหญ่ทำหน้าครุ่นคิด“เออ น่าสนใจๆ เพราะคนขับแต่งตัวดี น่าจะเป็นคนไทย จำไว้นะอย่าไปกับพม่า!”อ้าว ทำไมล่ะ ก็เรากำลังข้ามไปพม่าไม่ใช่เหรอนี่เป็นเสียงของฉันภายใต้ความคิด สงสัยพลังจิตเราจะสื่อถึงกัน เขาก็พูดออกมาอีก“พวกพม่าไว้ใจไม่ได้ อย่างมากเราก็ไปกับไทยใหญ่ เผลอๆ มันเอาไปปล่อยแล้วไม่ให้ออก เรียกเงินเพิ่มอีกจะลำบาก”อ้อ อย่างนี้นี่เองหรือ? ฉันนิ่งงันในความคิด ถามตัวเองว่า มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ ย้ายสายตามามองผู้คนที่ต่อแถว ใกล้จะถึงคิวแล้ว ไม่น่าจะเกิน 10 คน“ผู้ถือบัตรอยู่ชิดซ้ายมือ รวมเอกสารกันได้ คนไม่ถืออยู่ขวามือค่ะ”เสียงประกาศจากด่านตรวจดังผ่านไมโครโฟน คณะทัวร์ของชายร่างใหญ่หัวเราะคิกคักๆ ในเสียงพูดไม่ชัดของเธอ เขาแอบล้อเลียนเสียงพม่ากันอยู่ในกลุ่ม ขณะที่สังเกตเห็นคนหนึ่งในนั้นมีสีหน้าสุดเซ็ง หัวหน้าทีมโยนคำปลอบใจ“ไม่ต้องเซ็งน่า รออีกนิดเดี๋ยวก็ได้เข้าแล้ว”“ถ้ารู้คนเยอะขนาดนี้จะไม่มาเลย” “อย่าคิดมากน่า เดี๋ยวเข้าได้แล้วก็อารมณ์ดี เพราะของโคตรถูกมาก เดี๋ยวซื้อเหล้าให้ขวดหนึ่งอะ”“จิงอะ”“จริ๊งง ซื้อไปแจกยังได้เลย ไม่งั้นไม่ข้ามมาหรอก”“อ้อ แต่ว่าบุหรี่อย่าซื้อนะ มันของปลอม ที่พวกพม่าหิ้วๆ มาน่ะอย่าซื้อ เดี๋ยวพาไปซื้อร้านคนไทย ส่วนนาฬิกาก็ต่อเยอะๆนะ มันขาย 400 นี่ขอไปเลย 60 ยังไงมันก็ขายให้”“เดี๋ยวเขาด่าตาย” อีกคนออกความเห็น“มันด่าเราก็ไม่รู้เรื่อง ช่างมันเถอะ นี่เรานำเงินมาให้เขานะตั้งเท่าไหร่ ดูคนสิ”อาจจะจริงอย่างเขาว่า เงินจำนวนมากคงสะพัดอยู่ในบริเวณนี้ ในอากาศที่มองไม่เห็นนั้นเต็มไปด้วยความต้องการ เฝ้ารอ ปรารถนา ตื่นเต้น และเบื่อหน่าย ขณะเดียวกัน ในฝั่งที่ห่างออกไปไม่กี่ก้าวนั้น จะมีความคิดใดบ้างอยู่ภายใต้ชุดผ้าถุง กระบุงหาบ หรือท่าด่านจะมีก็แต่การแลกเปลี่ยนเงิน หรือว่าเราไม่อาจจะแลกเปลี่ยนอย่างอื่นแก่กันได้ ไม่ว่าจะวัฒนธรรมหรือทัศนคติใดใด?