Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


ราชบัณฑิตปรับระบบการสะกดทับศัพท์ภาษาอังกฤษให้ตรงกับเสียงพูดจริงมากขึ้น คำถามจากราษฎรอย่างผมคือ

(หนึ่ง) ราชบัณฑิตใช้สำเนียงภาษาอังกฤษเสียงไหน บริ้ทิ่ช อเม้ริคั่น อ่อสเตร้เลี่ยน หรือสำเนียงถิ่นต่างๆ อย่าง เซ้าท์เอเชี่ยน (ผมไม่อยากใช้คำว่าอินเดีย เพราะเหตุผลยืดยาว ยังไม่อยากอธิบายในที่นี้) จามายกั้น หรือ ซิงค์กริช ที่สำคัญคือ หากจะระบุสำเนียงมาตรฐานของภาษาอังกฤษกันจริงๆ ราชบัณฑิตไทยจะเอา ออธ้อริที้ อะไรมาประกาศว่าสำเนียงไหนเป็นภาษาอังกฤษมาตรฐาน ในเมื่อในโลกนี้ไม่มีใครสามารถกำหนดแบบนั้นได้ 

(ถ้าทำก็คงเหมือนการประกาศอะไรโดยไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ไม่ส่งผลอะไร ประเด็นนี้ต้องแนะนำให้ราชบัณฑิตไปอ่านทฤษฎี สปี่ช แอคส์ ของ จอน อ้อซทิน)

(สอง) เท่าที่ความสามารถทางภาษาอังกฤษของผมจะอำนวย ภาษาอังกฤษไม่ได้สนใจวรรณยุกต์เท่ากับน้ำหนักเสียง เช่น จะอย่างไรเสีย ภาษาไทยก็ไม่สามารถเขียนคำว่า guitar ได้ เพราะคำนี้ (อย่างน้อยแบบอเม้ริคั่นที่ผมเคยชิน) จะเน้นเสียงพยางค์หลัง ทำให้เสียงออกเป็น คีทาร์ ที่ต้องออกเสียงพยางค์แรกเบาๆ แต่ระบบการเขียนภาษาไทยไม่มี หรือคำว่า เซ็นติเมตร ที่ราชบัณฑิตนำมาใช้เป็นตัวอย่าง ถ้าจะให้สื่อถึงการเน้นเสียง ก็ต้องเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ เสียงแรกสูงเพราะการเน้นหนัก ส่วนพยางค์หลังก็ควรใช้วรรณยุกต์ต่ำ เพราะต้องลดเสียงลง

ที่จริงระบบการเขียนภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แสดงการเน้นพยางค์ ต้องใช้ความเคยชินในภาษาพูดเท่านั้นจึงจะรู้ ผมเองตอนไปอยู่ในโลกภาษาอังกฤษจึงมีปัญหามาก จะพูดอะไรคนก็ไม่เข้าใจ เพราะเน้นพยางค์เพี้ยนตลอด

(สาม) มีอักษรใดบ้าง (แม้แต่อักษรของนักภาษาศาสตร์) ที่จะสามารถถ่ายถอดเสียงได้อย่างแนบสนิท การสร้างอักษรแบบอักษรแทนเสียงขึ้นมาล้วนบิดเบือนการออกเสียงของคนทั้งสิ้น 

(ไม่ได้หมายความว่าอักษรมีเฉพาะแบบเขียนแทนเสียง เรารู้กันดีว่ายังมีอักษรแทนภาพอีก และไม่ได้หมายความว่าภาษาเขียนเป็นสิ่งเลวร้าย ไว้ใจไม่ได้ แต่เพราะธรรมชาติของการเขียนและภาษามันเป็นอย่างนั้น คือเมื่อมีภาษาแล้ว จะอย่างไรเสียมันก็บิดเบือนสิ่งที่มันอยากสื่อถึง แต่หากไม่มีภาษา ก็อาจจะไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เรื่องนี้ต้องเถียงกันยาว ขอยกไว้ก่อน) 

เช่นว่า

- มีเสียงมากมายที่มีในภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีในภาษาไทย อย่าง z หรือ r 
- เสียงบางเสียง ฝรั่งไม่ได้ออกเสียงด้วย ต แต่ไทยนิยมเขียนและออกเสียงด้วย ต ราชบัณฑิตก็ยังออกเสียงแบบไทยๆ ด้วย อย่างคำว่า เซ็นติเมตร แทนที่จะเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ

อย่าว่าแต่ภาษาอังกฤษเลย อักษรไทยก็ไม่สามารถเขียนภาษาเวียดนาม ภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาใกล้ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ภาษาไทดำในเวียดนามหรือที่พวกโซ่งพูดในเพชรบุรี สุพรรณบุรี ได้อยู่แล้ว 

อย่างเสียง ngã (ออกเสียงประมาณ หงะอ๊ะ) ในภาษาเวียดนาม ก็ไม่มีในภาษาไทยแล้ว แล้วจะเขียนได้อย่างไร แค่เสียงแทนคำว่า มี หมา กา ขา ในภาษาไทยดำในเวียดนาม ก็ไม่สามารถเขียนได้ในภาษาไทยแล้ว เพราะเป็นวรรณยุกต์ที่ไม่มีในภาษาไทย หรือเสียง ร ที่เป็นพยัญชนะสะกดในภาษาขแมร์ จะเขียนให้ออกเสียงในภาษาไทยอย่างไรก็ไม่ได้ 

ความหลงเชื่อที่ว่า อักษรไทยสามารถใช้เขียนแทนภาษาใดๆ ก็ได้นั้น เป็นความเชื่อที่คลั่งชาติอย่างยิ่ง ความเชื่อแบบนี้จึงควรจะเลิกกันได้แล้ว เลิกสอนเด็กอย่างนี้ได้แล้ว

(สี่) เอาเข้าจริง ราชบัณฑิตก็ยังใช้ความเคยชินแบบเดิมๆ ของการเขียนทับศัพท์คำภาษาอังกฤษ ไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเขียนให้ถูกต้องตรงกับการออกเสียงอย่างแท้จริง ยังยึดมั่นกับการเขียนแบบเดิมอยู่เป็นหลักอย่างเหนียวแน่น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาแล้วว่า ราชบัณฑิตยังคงใช้อักษร ต แทนเสียง t ทั้งๆ ที่อักษร ท จะออกเสียงใกล้เคียงกว่า เป็นต้น

ถ้ารู้ทั้งรู้อย่างนั้นแล้วราชบัณฑิตจะทำไปทำไมกัน หรือราชบัณฑิตจะไม่รู้? ไม่น่าเชื่อ เป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่าเราอาจอ่านข้อกำหนดล่าสุดของราชบัณฑิตออกได้เป็นสองนัยว่า 

ถ้ามองในแง่ดี ราชบัณฑิตคงต้องการอนุวัตรตามโลก ที่การใช้ภาษาอังกฤษมีความแพร่หลายมากขึ้น การออกเสียงและการเขียนให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษาจึงมีความจำเป็นมากขึ้น แต่กระนั้นก็ดี ราชบัณฑิตก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ของการถ่ายถอดเสียงในภาษาต่างประเทศดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว 

อันที่จริง ราชบัณฑิตเคยส่งเอกสารมาให้ผมแสดงความเห็นเรื่องการออกเสียงภาษาเวียดนาม ผมวิจารณ์ข้อเสนอของราชบัณฑิตไปมากมาย แต่ความเห็นผมก็คงเป็นเพียงลมปาก คงจะไม่ได้รับการยอมรับจากราชบัณฑิต เพราะประกาศการเขียนทับศัพท์ภาษาเวียดนามที่ออกมาก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจต่อข้อเสนอของผม (เอาไว้มีเวลาค่อยมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกทีครับ) ผมจึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า ราชบัณฑิตอาจจะคิดว่า ผมจะรู้อะไรเกี่ยวกับภาษาเวียดนามดีไปกว่านักภาษาศาสตร์ที่ราชบัณฑิตไว้ใจมากกว่า หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องตีความว่า ราชบัณฑิตไม่ได้ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรกับการถ่ายถอดภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย

ดังนั้น ในอีกทางหนึ่งคือมองในแง่ร้าย ด้วยข้ออ้างเรื่องการสร้างมาตรฐานการเขียนเพื่อการสื่ิอสารกันในคนหมู่มาก ราชบัณฑิตน่าจะเพียงต้องการสร้างระเบียบให้เฉพาะราชบัณฑิตเท่านั้นที่ดูดี รู้ภาษา สามารถถ่ายเสียงภาษาต่างประเทศได้ถูกต้อง ใกล้เคียงภาษานั้นๆ ที่สุด เป็นการสร้างการแบ่งแยก สร้างระยะห่างของการเข้าถึงการเขียน อักษร และภาษาต่างประเทศ สร้างราคาและอำนาจนำในการควบคุมระบบการเขียนภาษาต่างประเทศให้ราชบัณฑิตเองอยู่เหนือผู้อื่นต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของภาษา อักษร และการเขียน ล้วนเกี่ยวพันกับอำนาจในการกำหนดอุปนิสัยการใช้ภาษา ราชบัณฑิตเป็นองค์กรที่ยึดกุมอำนาจนี้มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการสร้างชาติสยามและไทยขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

การสร้างภาษาและอักษรมาตรฐานโดยราชบัณฑิตเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอาณานิคมภายใน ที่ทำให้คนส่วนใหญ่พูดเหน่อ ทองแดง ผิดเพี้ยน ไม่รู้หนังสือ ล้าหลังในการใช้ภาษา หรือกระทั่งไม่เป็นคนไทยไปเสียแทบทั้งหมด (ทั้งที่จริงๆ แล้ว พลเมืองไทยเพียงไม่น่าจะถึง 30% เท่านั้นที่พูดภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ เป็นภาษาแม่)


 

ที่มาภาพ: Yukti Mukdawijitra

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้