Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

ประสาท มีแต้ม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นสำหรับการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน” (มติชน,19 กันยายน 50) ในตอนท้ายรัฐมนตรีท่านนี้ได้ฝากถึงนักการเมืองในอนาคตว่า“อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น”สาระสำคัญที่รัฐมนตรีพลังงานได้เสนอมี 3 ประเด็นคือ หนึ่ง ทั่วโลกกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง (หลังจากการระเบิดที่เชอโนบิลเมื่อ 21 ปีก่อน) สอง พลังงานนิวเคลียร์ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน และ สาม เรื่องนิวเคลียร์เป็นเรื่องต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปีความจริงแล้วเรื่องพลังงานนิวเคลียร์หรือเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีหลายประเด็น เช่น เรื่องต้นทุน เรื่องอุบัติเหตุ เรื่องการเก็บกากของเสีย เรื่องการก่อการร้าย เป็นต้น แต่เมื่อท่านรัฐมนตรีเสนอมาเพียง 3 ประเด็น เราจึงมาพิจารณาเหตุผลกันทีละประเด็นกันครับ ในสองประเด็นแรก คนไทยเราไม่ค่อยมีข้อมูลเพราะเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ แม้จะมีการเคลื่อนไหวกันหลายครั้ง ตั้งแต่ก่อนรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร (2510) แต่ก็ต้องชะงักไปทุกครั้ง สำหรับประเด็นที่สามนั้น แม้จะเป็นความจริงอย่างที่รัฐมนตรีกล่าวคือต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวนานอย่างน้อยถึง 14 ปี แต่สิ่งที่คุณปิยะสวัสดิ์ไม่ยอมกล่าวถึงก็คือ การจัดกระบวนการมีส่วนของประชาชน ให้ประชาชนทุกภาคส่วนทั้งที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง แต่อยู่ๆ รัฐบาลชั่วคราวที่มาจากการรัฐประหารและมีอายุการทำงานเพียง 1 ปีก็รวบรัดบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนการพัฒนากำลังผลิตที่เรียกว่า “แผนพีดีพี 2007” และได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมาเป็นที่น่าสังเกตว่า การทำประชาพิจารณ์แผนดังกล่าวก็ทำกันในสโมสรทหารบก (3 เมษายน 50) เพราะเกรงชาวบ้านที่ติดตามเรื่องมีมาชนิดกัดไม่ปล่อยจะเข้าไปคัดค้าน ในสื่อโทรทัศน์เองก็มีการโฆษณาของฝ่ายสนับสนุนเพียงอย่างเดียว ฝ่ายที่มีความเห็นต่างจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศอมาตยะ เซ็น ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์และคลุกคลีอยู่กับคนยากจนกล่าวว่า “ระบอบประชาธิปไตยก็คือระบอบที่ให้สังคมได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างกว้างขวางในประเด็นสาธารณะ” การจัดทำแผนพลังงานดังกล่าวของรัฐบาลชุดนี้เป็นเผด็จการทั้งรูปแบบและเนื้อหา ดังนั้นในประเด็นที่สามที่ท่านรัฐมนตรีพลังงานเสนอนั้น เขาไม่เห็นชาวบ้านอยู่ในสายตา คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของความรู้ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับคณะทูตและกงสุลประจำประเทศต่างๆ ว่า "...เขาบอกว่าเดี๋ยวนี้พลังงานปรมาณู เป็นพลังงานที่สะอาดมาก ก็จริง สะอาดที่สุด แต่ว่าถ้าอันตรายก็อันตรายถึงตายทั้งนั้น ท่านทูตน่าจะไปถามผู้เชี่ยวชาญที่ทำเกี่ยวข้องกับพลังงาน..” (กรุงเทพธุรกิจ 29 สิงหาคม 2550) คุณปิยะสวัสดิ์ก็ออกมาปรามว่า ไม่อยากให้ใครนำกระแสพระราชดำรัสไปอ้างโดยไม่ระมัดระวังต่อไปนี้มาพิจารณาในประเด็นแรกกันครับ คือ ทั่วโลกกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่งท่านรัฐมนตรีใช้คำว่า “ทั่วโลก” เป็นการกล่าวที่เกินความจริงไปมากทีเดียว จากเอกสาร “Nuclear Power in the World Today.” World Nuclear Association.(2007) http://www.world-nuclear.org/info/inf01.html พบว่าปัจจุบันทั่วโลกมีเพียง 30 ประเทศเท่านั้นที่มีการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ คิดเป็นเพียง 16% ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในโลก โดยมีเตาปฏิกรณ์จำนวน 435 แห่งที่น่าคิดคือ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ส่งออกแร่ยูเรเนียมมากที่สุดในโลก แต่ยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แม้แต่โรงเดียว (ปัจจุบันกำลังมีการถกเถียงกันว่าสมควรจะมีหรือไม่)เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการคิดค้นพลังงานนิวเคลียร์ได้สำเร็จครั้งแรกในโลก ก็ประกาศว่าจะค่อยๆ ปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด โดยไม่มีการสร้างขึ้นใหม่อีก แต่หันไปหาพลังงานลม แสงอาทิตย์และชีวมวลปัจจุบันทั่วโลกมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 32 แห่ง ในจำนวนนี้ 18 แห่งอยู่ในทวีปเอเชีย   ณ ปี 2550 ทั่วโลกมีการเสนอสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 214 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในประเทศจีน 86 แห่งและอินเดีย 15 แห่ง ถ้านับเป็นประเทศก็มีเพียง 23 ประเทศ ในจำนวน 23 ประเทศนี้ ส่วนมากก็เป็นการสร้างเพิ่มจากที่มีอยู่แล้ว ที่เป็นการเสนอสร้างใหม่ครั้งแรกของประเทศมีเพียงไม่กี่ประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม เป็นต้นอย่างไรก็ตามข้อมูลในความเป็นจริงยังห่างไกลจากคำว่า “ทั่วโลก” ที่ท่านรัฐมนตรีพยายามจะชักนำสังคมราวกับเป็นนัก “ลอบบี้ (Lobby)” (ดูภาพการ์ตูนประกอบ) บางท่านอาจคิดว่า “เห็นไหมประเทศจีนหันมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันเยอะมาก” แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนกันแล้ว พบว่าประเทศจีนมีการสร้างพลังงานหมุนเวียนมากเป็นสองเท่าของพลังงานนิวเคลียร์ เรายังคงเหลือประเด็นเดียวคือการช่วยลดปัญหาโลกร้อนครับ ด้วยความที่ต้องการจะแหกวงล้อมที่รัฐบาลชุดได้พยายามมิให้สังคมไทยได้รับทราบทัศนะที่แตกต่าง ผมจึงได้ค้นคว้าหาความรู้มาจากผู้เชี่ยวชาญมาเสนอในที่นี้ผู้เชี่ยวชาญที่ผมว่านี้เป็นศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยคิดเหมือนกับนักฟิสิกส์หนุ่มๆทั่วไปว่า “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับอนาคต” แต่เมื่อเขาได้ผ่านประสบการณ์การทำงาน มานานปีเขาก็กลับปฏิเสธความคิดในอดีตของเขาเองอย่างสิ้นเชิงท่านผู้นี้คือศาสตราจารย์เอียน โลวิ (Ian Lowe) เป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการวิชาการในระดับสากล ทำงานวิจัยมานานกว่า 40 ปี ท่านศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยนิวเซ้าท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ต่อมาได้รับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยยอร์กประเทศอังกฤษ โดยได้รับทุนจากการสนับสนุนจากองค์การพลังงานอะตอมแห่งสหราชอาณาจักร (UK Atomic Energy Authority) นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เอียน โลวิ เป็นประธานมูลนิธิอนุรักษ์แห่งประเทศออสเตรเลีย (Australia Conservation Foundation) อีกด้วย ในประเด็นที่ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วยลดปัญหาโลกร้อน ศาสตราจารย์ผู้นี้แสดงความเห็นว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นมันช้าเกินไปเสียแล้ว สมมุติว่าสังคมใดมีความเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองว่าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในวันนี้ ก็ต้องรออีกอย่างน้อย 15 ปี (ใกล้เคียงกับที่คุณปิยะสวัสดิ์อ้างถึง แต่เริ่มต้นจากการเห็นพ้องกันแล้ว ไม่ใช่เริ่มต้นจากการเสนอจากภาครัฐ) จึงจะสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ บางความเห็นบอกว่าอาจต้องใช้เวลานานถึง 25 ปีจึงจะเป็นจริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมและการคัดค้านในประเทศออสเตรเลียเอง เราไม่อาจรอเป็นเวลานานหลายทศวรรษจึงค่อยตอบสนองต่อปัญหาโลกร้อนได้ ปัญหาโลกร้อนกำลังกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกปีตรงกันข้ามกับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไฟฟ้าจากกังหันลมสามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้ภายใน 1 ปีและการประหยัดพลังงานสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในทันทีท่านกล่าวว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะการทำเหมืองแร่ยูเรเนียม กระบวนการผลิตแร่ยูเรเนียม การเพิ่มประสิทธิภาพแร่ (enrichment) และการสร้างโรงไฟฟ้า ล้วนต้องใช้พลังงานจากฟอสซิลจำนวนมากซึ่งก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนเช่นกัน “ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระยะเริ่มต้นจะเป็นการเพิ่มมลพิษเรือนกระจก (greenhouse pollution) แต่ในระยะยาวแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่าพลังงานหมุนเวียนเช่นพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเสียอีก”ท่านให้เหตุผลว่า แร่ยูเรเนียมที่มีคุณภาพดีค่อนข้างจะมีน้อย มีการประมาณกันว่า ถ้าความต้องการไฟฟ้ายังคงเท่าเดิม แร่ยูเรเนียมคุณภาพดีจะสามารถตอบสนองความต้องการของโลกได้อีกเพียง 40 ถึง 50 ปีเท่านั้น ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าที่ใช้กันทั้งโลก มาจากพลังงานนิวเคลียร์ประมาณ 16% เท่านั้น ดังนั้นถ้าเราจะนำพลังงานนิวเคลียร์มาแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน แร่ยูเรเนียมชั้นดีก็จะหมดภายในเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษเท่านั้น จริงอยู่ยังมีสินแร่ยูเรเนียมคุณภาพรองลงมาอีกมาก แต่ก็ต้องใช้พลังงานอีกจำนวนมากไปในกระบวนการผลิตซึ่งก็เป็นการสร้างก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมากอีกมาก ดังนั้นข้อเสนอเรื่องการลดปัญหาโลกร้อนของท่านรัฐมนตรีปิยะสวัสดิ์จึงไม่เห็นความจริงศาสตราจารย์เอียน โลวิ สรุปในประเด็นนี้ว่า โปรดอย่าลืมว่า แร่ยูเรเนียม ก็เหมือนน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน คือเป็นแหล่งพลังงานที่มีจำนวนจำกัด มีเพียงพลังงานหมุนเวียน ( Renewable Energy) เท่านั้น คือลม แสงแดด และชีวมวล ที่มีจำนวนไม่จำกัดดังนั้น สิ่งที่พลเมืองไทยควรเรียกร้องต่อรัฐบาลทุกชุด ก็คือการเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย ไม่ใช่ฝ่ายรัฐเป็นผู้โฆษณาอยู่ฝ่ายเดียว โปรดฟังอีกครั้ง!
กานต์ ณ กานท์
วาดวลี
“อีกนานเลยสินะ กว่าจะได้เจอกัน”สุ้มเสียงคนพูดเจือปนความอาวรณ์ ขณะโยนถุงใบเล็กใหญ่ใส่หลังรถกระบะสีขาวเก่าๆ ของเพื่อนผู้มีน้ำใจ เจ้าของรถหยอกเอินในฐานะเพื่อนสนิทว่า“ตอนมามีเสื้อผ้าชุดเดียว ขากลับทำไมมีของเยอะนัก”เขากำลังจะกลับบ้านชายหนุ่มรูปร่างผอมบาง ตัวเล็กๆ ที่รู้จักกันมาได้ปีกว่าแล้ว เขาเล่าว่า สมัยที่มาอยู่เชียงใหม่แรกๆ เพิ่งเรียนจบมัธยมสาม หางานทำในอำเภอไม่ได้ก็ลองเข้าเมืองมาเสี่ยงโชค เวลานั้น กราบลาพ่อแม่ แล้วนั่งรถโดยสารมาด้วยราคา 45 บาท กับระยะทาง 100 กว่ากิโลเมตรมาอาทิตย์แรก ตระเวนขออาศัยยังหอพักเพื่อนที่พอรู้จัก จะอยู่บ้านใครนานก็เกรงใจคนอื่น ตะลอนหางานทำ ตั้งแต่พนักงานขนของ เย็บปักถักร้อย ช่างฝีมือ จนได้งานทำเป็นพนักงานในโรงงานผลิตกระเป๋า แต่เดือนแรกที่ยังไม่ได้รับเงินเดือนก็ยังต้องอาศัยคนอื่นอยู่ไปก่อน จวบจนได้เงินเดือนก้อนแรก ถึงไปหาห้องเล็กๆ แถววัดเจ็ดยอดอาศัย ในราคาเดือนละ 500 บาท“เคยผ่านแถวคูเมืองด้านในไหม จะมีร้านขายของราคาถูก ทุกอย่าง 10 บาท”ฉันนึกทบทวนเส้นทาง แล้วก็ร้องอ๋อ พยักหน้าหงึกหงักๆ“อืม ที่นั่นจะมีก๋วยเตี๋ยวฟรี ถ้วยเล็กๆ กับน้ำฟรี เขาบริการลูกค้า ผมไปกินทุกวัน เป็นเวลา 2 เดือน” ฉันนึกภาพตาม ตลาดนัดราคาถูกขนาดกว้างใหญ่ ที่มีขายทุกสิ่งทุกอย่าง มีเสียงเพลงดังๆ มีดีเจเปิดเพลงเพื่อเร่งเร้าการซื้อของ เขามีน้ำดื่มไว้บริการด้วยแก้วกระดาษที่เขรอะไปด้วยฝุ่น ก๋วยเตี๋ยวที่ไม่มีลูกชิ้น ในชามพลาสติกเพื่อจูงใจให้คนเข้าร้าน นั่นคือที่พักพิงของคนพเนจร รวมทั้งเพื่อนของฉันเวลานี้นั้น เขาผ่านการทำงานในเมืองมา 5 ปีแล้ว สามารถซื้อข้าวของเครื่องใช้อำนวยความสะดวก ตั้งแต่เสื้อผ้า ตู้เย็น โทรทัศน์ และเครื่องเสียงขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังสอบเข้าเรียนต่อภาคค่ำในสถาบันราชภัฎจบจน จำได้ว่าฉันให้ของขวัญเขาเป็นรูปใส่กรอบใบเล็กๆ แล้วก็ดีใจไปกับความสำเร็จของเขาแต่จากนั้นไม่นานนัก เขาก็โทรมาบอกว่า กำลังจะย้ายกลับบ้านแล้ว“ไม่อยากอยู่ในเมืองแล้วเหรอ” ฉันถาม ก้มสำรวจข้าวของที่เขาขนออกมาจนหมดจากห้องเช่า เขาไม่ตอบคำถามนั้น แต่กลับเอ่ยออกมาว่า“อยากอยู่บ้านของตัวเอง”“เหรอ ก็ดีนะ ได้อยู่ใกล้พ่อแม่ด้วย”เขายิ้มขึ้นมา แววตาวาววับ“เราทำงานอยู่นี่ แต่ละเดือนไม่มีเงินเก็บ แต่เราสุขอยู่คนเดียว ถ้าไปอยู่บ้าน อย่างน้อย สิบบาท ยี่สิบบาท ก็ยังได้กินกับพ่อแม่และน้อง มันสุขใจกว่า”ฉันรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ไถ่ถามถึงอดีตก่อนจากมา รู้เพียงแต่ว่าวันนี้เขาคงจะพร้อมแล้ว ที่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบที่ปรารถนา หรือไม่ เมืองใหญ่อาจกลืนกินบางสิ่งไปจากเขา มากไปกว่าที่เขาจะได้รับ“เธอล่ะไม่อยากซื้อบ้านของตัวเองบ้างเหรอ”เขาถามสวนมา ฉันสะดุดไปเล็กน้อย เหลือบสายตาออกไปมองภายนอก ซอยเล็กๆ นั้นมีแมวนั่งอยู่ตัวหนึ่ง “ก็เหมือนแมวไง ย้ายไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าอยู่ที่ไหนแล้วสบายใจ”ฉันตอบเล่นๆ ไปตามประสา แต่กลับพบว่า เขารีบจ้ำอ้าวไปยังแมวข้างกำแพงตัวนั้น หยิบจับขึ้นมาอุ้ม โอบแนบไว้กับไหล่เล็กๆ นั้น“ตัวนี้ชื่อเจ้าทอง สีมันทองๆ เห็นไหม”“อ้าว แมวเธอหรอกเหรอ” ฉันถาม“เปล่า มันเป็นแนวพเนจร ก็ให้อาหารกินบ้าง อยู่แถวนี้แหละ ไม่มีเจ้าของหรอก”“อืม เป็นแมวนี่ดีนะ ชีวิตอิสระดี บางทีก็มีคนเก็บไปเลี้ยง” ฉันพูดเรื่อยเปื่อยไปตามประสา เขากับแมวที่คุ้นเคยกัน หยอกล้ออย่างสนิทสนม ก่อนจะตอบว่า“ถ้าโชคดีมีคนเลี้ยง มันก็เหมือนได้มีบ้าน ไม่ต้องร่อนเร่อีก”“ฮื่อ แต่บางทีแมวก็เลือกเจ้าของนะ แม้อยากเลี้ยงแทบตาย มันก็ไม่อยู่กับเราหรอก ถ้าไม่อยากอยู่”ฉันสำทับ เขารีบพยักหน้าอย่างเห็นด้วย แต่ในครู่นั้น แววตาอาวรณ์ของเพื่อน กลับทิ้งคว้างด้วยความว่างเปล่า ที่ฉันเดาไม่ออก และไม่อาจจะเข้าไปยังจิตใจของเขาเขาก้มลงช้าๆ ปล่อยแมวให้ก้าวสู่พื้นดิน หันกลับไปเช็คข้าวของที่ช่วยกันขนขึ้นรถไว้หมดแล้ว“คงคิดถึงกันน่าดู” ฉันเอ่ยปาก เขาเหมือนจะพยักหน้า แต่แววตากลับมองจ้องไปยังที่แมว“เจ้าตัวนี้เคยปลอบใจเราบ่อย ยิ่งเวลาเมาๆ หรือเหงาๆ”เขาพูดกับฉันหรือแมวก็ไม่ทราบได้ มองไปยังแมวตัวนั้น มันยังยืนพิงผนัง ส่งแววตามาไม่ขาดระยะ เหมือนจะเข้าใจในภาษาที่เราพูด เพียงแต่มันคงไม่อาจจะรู้ได้ ว่าเพื่อนคนนี้กำลังจะเดินทางไปไกล แล้วไม่ได้อยู่ที่นี่อีก“เอาแมวไปด้วยสิเธอ”ฉันบอกเล่นๆ เขาส่ายหน้าปฏิเสธ“ให้มันอยู่ของมันแบบนี้ดีแล้ว ถึงพเนจร แต่ก็คงคุ้นเคย และเอาตัวรอดได้”“เหมือนคนใช่ไหม”“ฮื่อ ใช่ เหมือนเราแต่ก่อนไง”เสียงรถสตาร์ทเครื่อง ข้าวของในกระบะหลังอัดแน่นอยู่ในกล่องลังสีน้ำตาล คนขับก็พร้อมแล้ว เพื่อนผู้จากลากระโดดขึ้นนั่งข้างๆ ฉันหมดหน้าที่ในการช่วยยกข้าวของแล้ว จึงโบกมือลาช้าๆ“ไว้เจอกันนะ”“ฮื่อ คงได้เจอกัน ไม่แน่หรอก อาจจะต้องพเนจรกลับมาอีกก็ได้ ใครจะรู้”เขาพูดเอาไว้อย่างนั้น แล้วรถก็เคลื่อนตัวออกไป ทิ้งฉันไว้กับแมวตัวนั้น หันไปจ้องหน้า เหมือนมันอยากจะพูดอะไรฉันได้แต่พูดว่า“ขอโทษด้วยนะ ที่พาไปอยู่ด้วยไม่ได้ แต่ไม่ต้องเสียใจนะ ยังไงเราก็ยังพเนจรเหมือนกันแหละ”ไม่รู้มันจะเข้าใจฉันบ้างไหม ได้ยินแต่เสียงร้องแอ๊วๆ แล้วพยายามจะเดินเข้ามาใกล้ ถูตัวกับขาอย่างออดอ้อนฉันก็ต้องรีบเดินจากมา ก่อนที่จะใจอ่อนทำอะไรมากไปกว่านั้น ในสมองหวนคิดถึงแมวตัวแล้วตัวเล่า ที่เคยพบหน้า ตัวที่อ้วนพีอาศัยอยู่ในวัด แมวกำพร้า ตัวผอมโซในซอกหนึ่งของร้านเหล้า แมวในถนนที่หมู่บ้านที่วิ่งหนีหมาหน้าตาตื่น ทุกๆ เช้า และแมวอีกหลายชีวิต ที่ผ่านและทักทายกัน โดยไม่อาจรู้ว่า บางตัวจะมีบ้านให้กลับบ้างไหม และมันฝันถึงสิ่งใดบ้างในชีวิต“เถอะนะ บางทีการพเนจรก็เป็นชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน”
นาโก๊ะลี
ดูเหมือนว่าขณะที่มุมหนึ่งหรือหลายมุมของโลกผันแปรไปในระบบระบอบของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เกิดนวัตกรรมสำหรับชีวิตมากขึ้นทุกวัน ตัวแทนหรือผู้ผลิตบอก กรอกข้อมูลเข้าไปในจิตไร้สำนึกของเราทุกวันว่า สิ่งทั้งหลายนั้นล้วนจำเป็นสำหรับชีวิต หรืออย่างน้อยมันก็ทำให้ชีวิตเราสุขสบายขึ้น หลายวาระที่สิ่งทั้งหลายนั้นมันไม่ได้นำพาเฉพาะความสะดวกเพียงอย่างเดียว แต่มันได้นำพาความยุ่งยากซับซ้อนมาด้วยเสมอ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หรือบางครั้งเราก็เสพได้สะดวกขึ้น แต่ก็ทำให้เวลาส่วนหนึ่งหายไปจากชีวิตเรา หรือเมื่อเริ่มจากสิ่งหนึ่ง มันก็พาเราไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่ง หลายๆ สิ่ง และในที่สุดมันก็เคลื่อนไปอย่างไม่รู้จบหากนั่นคือส่วนหนึ่งครึ่งค่อนโลก ในยุคสมัยทั้งหมดนี้มันมีภาพในอีกมิติเคียงคู่กันมา เมื่อโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้คนมากกว่าค่อนโลกในเวลานี้ แต่ก็ยังมีหลายผู้คนที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ของโลกติดต่อสื่อสารกันด้วยจดหมายไฟฟ้า (Email) ก็ยังมีบางคนที่ยังเขียนจดหมายใส่ซองส่งไปรษณีย์ มีผู้คนมากมายที่กินอาหารขยะ ด้วยแทบทั้งวันเขาไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะกินข้าว นั่นก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ตื่นมาทำอาหารเช้า และกินอย่างมีความสุข ขณะที่ผู้คนมากมายสวมใส่เสื้อผ้าราคาแพงเพราะยี่ห้อมันดัง แต่บางคนกลับยังมีความสุขกับการตัดเย็บเสื้อผ้าใส่เองด้วยความภาคภูมิใจ นี่อาจจะเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่มันมีคำตอบอยู่ในตัวของมันเองแล้วว่า คนในแบบไหนที่ใช้ชีวิตได้อย่างลุ่มลึกและมีความหมายมากกว่ากันจากทะเลผ่านทุ่งราบถึงภูเขา แผ่นดินของประเทศนี้ยาวเหยียดนับพันกิโลเมตร ถนนขนาดใหญ่เชื่อมต่อระหว่างเมือง รถยนต์หลากแบบหลายพันธุ์ผ่านทางสัญจรด้วยความเร็ว ห่างไปไม่ไกลนักถนนดินสายเล็กๆ ทอดขนานกันไป ลัดเลาะไปตามหมู่บ้าน ชายหาด แม่น้ำ ทุ่งนา กิ่วดอย บางแห่งมันอาจจะดูเงียบเหงาอยู่บ้างสำหรับคนที่คุ้นเคยกับความอึกทึก แต่หลายครั้งเราจะพบว่านั่นเป็นถนนที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาอย่างยิ่งทีเดียว หากสืบสาวลึกลงไปบนถนนชนบทเหล่านี้ ศึกษาเทียบเคียงกับถนนสายใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลกันนั้น เรามักจะพบว่ามันมีความเป็นมาแบบเดียวกัน ดังว่าคราหนึ่งมันเคยเป็นทางที่สัญจรด้วยเกวียน ช้าง ม้า วัว ควาย เมื่อมีถนนลาดยาง รถราวิ่งสะดวกขึ้น ลึกไปกว่านั้นมันเป็นทางผ่านระหว่างอารยธรรมหนึ่งไปสู่อารยธรรมหนึ่ง ขณะที่ทางขนานในชนบทที่ไม่ไกลกันนั้น มันยังคงสภาพเดิมอยู่มาก ตรงที่เคยเป็นหลุมเป็นบ่อก็ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ ทางที่ถูกชำแรกด้วยสายน้ำหลากก็ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ได้ ยังมีวัวควายเดินร่วมทางเดียวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์หรือจักรยาน แน่นอนว่ามันมีอะไรๆ เปลี่ยนไปมาก แต่สภาพมันก็ยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา เพราะมันเป็นหนทางที่ติดอยู่แนบแน่นกับวิถีชีวิตของผู้คน มันเป็นหนทางที่เชื่อมระหว่างบ้านพี่ป้าน้าอาญาติพี่น้องและวัดวาดังก่อนเก่า ในขณะที่ถนนลาดยางหน้าหมู่บ้าน มันเชื่อมระหว่างเมืองกับเมือง หลายคราวที่สัญจรผ่านหนทางอันเก่าแก่ เรามักได้เห็นแง่มุมอันเก่าแก่ของจิตวิญญาณของเรา บางครั้งที่เราพบว่าสิ่งที่วิญญาณเราโหยหาไม่ใช่ความล้ำสมัยของเทคโนโลยี แต่เราโหยหาความลุ่มลึก ความมีชีวิตชีวาของชีวิต แล้วเราก็มักจะพบว่า โลกแห่งเทคโนโลยีนั้นเราไม่ต้องแสวงหามันหรอก เพราะมันจะวิ่งมาหาเราเอง ภาพอันเก่าแก่ทั้งหลายนั้นต่างหากที่มันค่อยๆ หนีห่างเราออกไป และทั้งหมดนั้นมันนำพาความหมายในจิตวิญญาณอันเก่าแก่ของเราไปด้วย หากเราได้สืบค้นลงไปอย่างจริงแท้โดยไม่ลำเอียงแล้วไซร้ บางหนทางในชนบทมันจะนำพาเราไปสู่ความหมายแห่งจิตวิญญาณอันเก่าแก่และงดงาม…
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
หายไปหลายอาทิตย์เพราะอาการเจ็บไข้และติดพันภารกิจการงาน กลับมาไม่นาน ได้ทราบข่าวจากเพื่อนสื่อชาวอินโดนีเซียว่า ผู้อาวุโสนักต่อสู้เพื่อสื่อเสรีและวิทยุชุมชนคนสำคัญคนหนึ่งของอินโดนีเซีย เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งผู้เขียนไม่อยากจะเชื่อว่าท่านจะไปเร็วด้วยโรคร้าย แม้ว่าอายุอานามของท่านจะ 70 กว่าๆ แล้ว แต่สมองของท่านเฉียบยังคมดีอยู่ ร่างกายแข็งแรง ปราดเปรียวเคลื่อนไหวคล่องตัวไม่เหมือนคนอายุ 70 ทั่วไป ทั้งยังท่วงท่าสง่างาม หลังไม่ค้อม เดินเหินคล่องแคล่ว สำคัญคือ ท่านลดอายุด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่ ขนาดวัยรุ่นยังอาย เพราะอินเทรนด์ ตลอดเวลา ผมและหนวดขาว ไม่ทำให้รู้สึกว่าท่านอายุเกิน 70 แล้ว เลย   ซานอล ซูร์โยกูซูโม ท่านเป็นหนึ่งในสมาชิกอาวุโสของสมาคมผู้สื่อข่าวอินโดนีเซีย และเป็นที่ปรึกษาอีกหลายสมาคมหรือชมรมสื่อของอินโดนีเซีย ท่านเป็นคนพื้นเพดั้งเดิมจากเกาะมาดูลา ซึ่งเป็นเกาะที่แห้งแล้ง และขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดของอินโดนีเซียและเป็นพื้นที่ติดอันดับยากจนของประเทศ ผู้คนจึงอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือนในแถบพื้นที่อื่นๆ ของอินโดนีเซีย แต่ท่านต่างจากคนอื่น เพราะเป็นตระกูลที่มีฐานะในมาดูลา จึงได้รับการศึกษาอย่างดีในโรงเรียนของดัชต์ ในยุคอาณานิคม แต่ที่เหมือนคนอื่นทั่วไปคือ ท่านอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่จาการ์ตา และกลายเป็นบ้านถาวรของท่านและครอบครัวท่านเป็นนักคิด และนักเขียน สามารถเขียนได้ทุกช่วงเวลา ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ ท่านมีแลปท้อปคอมพิวเตอร์ติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง ด้วยประสบการณ์ด้านสื่อและความเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อ ทำให้บรรดาสื่อรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลานมักเชิญท่านไปบรรยาย ไปเป็นที่ปรึกษา ไปช่วยเหลือ ไปเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านสื่อ ทั่วอินโดนีเซีย หลังจากบรรยายและสนทนาปราศัยกับบรรดาสื่อรุ่นหลังแล้ว ช่วงกลางคืนท่านจะนั่งทำงานเขียนจนดึกดื่น งานเขียนของท่านไม่เพียงช่วยพัฒนาวงการสื่อเท่านั้น ยังเป็นการพัฒนาเชิงสังคมไปด้วยหลังจากสิ้นยุคซูฮาร์โต ท่านเป็นคนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาด้านสื่อวิทยุของอินโดนีเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้สื่อวิทยุถูกปิดล้อมด้วยอำนาจมืดของรัฐบาล ไม่มีเสรีภาพในการสื่อข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อมาถึงยุคประชาธิปไตย ท่านจึงหันมาร่วมมือกับสื่อวิทยุรุ่นหลังพัฒนาสื่อวิทยุเชิงธุรกิจ นอกจากนี้ท่านยังให้การสนับสนุนและร่วมพัฒนาสื่อวิทยุชุมชร่วมกับชุมชนในจังหวัดต่างๆ ในทุกภาคของอินโดนีเซียเหตุผลในการเข้าไปพัฒนาสื่อวิทยุในเชิงธุรกิจ ท่านมองว่า การที่สื่อสามารถพึ่งตนเองได้ ธุรกิจของสื่อไปได้ด้วยดี ทำให้สื่อมีอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้สื่อมีเสรีภาพทางด้านความคิดด้วย ทั้งนี้ต้องปราศจากการควบคุมของรัฐ ในแง่การต่อสู้กับอำนาจรัฐ ท่านได้ต่อสู้กับกฎหมายว่าด้วยสื่อวิทยุและโทรทัศน์ของอินโดนีเซีย ชื่อว่า the Broadcasting Act No. 32/2002 ในเรื่อง อายุในการครอบครองคลื่นความถี่ และกฎเกณฑ์ในการตัดสิทธิการครอบครองคลื่นความถี่ที่ยังให้อำนาจของหน่วยงานรัฐไว้มากผู้เขียนมองว่า วัฒนธรรมการต่อสู้ด้านเสรีภาพของสื่ออินโดนีเซียมีความเข้มข้นสูง สังเกตว่าพวกเขาจะกลัวการถูกกำหนดจากอำนาจรัฐบาล อำนาจของทหาร (หรืออำนาจของสถาบันต่างๆ) อย่างมาก เพราะประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเคยอยู่ภายใต้มันในช่วงเผด็จการนั้น มีแต่เรื่องเลวร้าย การถูกสั่งปิดสื่อ สั่งห้ามพูด ห้ามทำ เป็นเรื่องที่พวกเขาไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกในยุคประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น อะไรที่สามารถดึงองค์กรสื่อออกมาเป็นองค์กรอิสระ หรือเป็นองค์กรธุรกิจที่เข้มแข็งได้ โดยไม่มีอำนาจรัฐอยู่เหนือขึ้นไป พวกเขายอมทำทั้งนั้น ท่านจึงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมวิทยุเอกชนแห่งชาติ หรือ PRSSNI (Indonesian Private National Broadcasting Radio Association)  คนในวงการสื่อให้การเคารพอยู่เสมอ การบรรยาย หรือเป็นที่ปรึกษาของแวดวงสื่อจึงเป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่งนอกจากนี้ ท่านสามารถรวมสื่อวิทยุเอกชนในจังหวัดชวาตะวันออกได้จำนวนมากถึง 140 สถานี ชื่อแปลเป็นไทยๆ ว่า สมาคมวิทยุเอกชน จังหวัดชวาตะวันออก ประกอบด้วย เมืองสุราบายา เมืองจอมบัง เมืองมารัง นับว่าเป็นสมาคมวิทยุเอกชนที่เข้มแข็งแห่งหนึ่ง ที่ไม่เพียงแต่สะสมกำไรเท่านั้น ทุกปีสมาชิกของสมาคมจะมาประชุมประจำปีเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะร่วมกัน จะต้องมีรายการเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนกี่นาที มีรายการบันเทิงกี่นาที มีการโฆษณากี่นาที โดยไม่ต้องให้สาธารณะต่อว่าต่อขานก่อนแล้วจึงมาปรับเปลี่ยนแก้ไข นอกจากนี้แล้ว สมาชิกของสมาคมวิทยุเอกชน จังหวัดชวาตะวันออกยังต้องแบ่งบันผลกำไร 5% เข้าสู่สมาคม เพื่อนำเงินเหล่านั้นไปทำประโยชน์และพัฒนาสมาคม รวมไปถึงพัฒนาบุคลากรต่อไป กองทุนดังกล่าวประธานสมาคมไม่เปิดเผยตัวเลข แต่บอกกับผู้เขียนว่า ครั้งหนึ่ง พวกเขาเช่าเหมาลำเครื่องบินให้สมาชิกไปประชุมกับกลุ่มวิทยุโทรทัศน์ระดับกลุ่มประเทศเอเชียที่สิงคโปร์มาแล้ว และไม่ใช่ปีเดียว ทำเป็นประจำเกือบทุกปีหากมีการประชุมระดับนานาชาติเช่นนี้ ซานอลกับสมาชิกวิทยุชุมชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองจอมบังอีกงานที่หนักหนาไม่แพ้กัน คือ งานด้านวิทยุชุมชน ท่านศึกษาจากประเทศต้นแบบหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์และประเทศที่แยกตัวออกจากประเทศรัสเซีย เพราะประเทศเหล่านั้นใช้สื่อ (ทางเลือก) เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพ ความจริงแล้ววิทยุชุมชนที่อินโดนีเซียเริ่มเติบโต โดยภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ที่อินโดนีเซียมีกลุ่มสื่อทางเลือกประเภทต่างๆ รวมไปถึงวิทยุชุมชนที่เข้มแข็งมาก เพราะความกดดันหลายอย่าง ทำให้ภาคประชาชนของอินโดนีเซียเข้มแข็ง ท่านเข้าไปเกี่ยวพันกับการทำงานเพื่อสื่อวิทยุชุมชนก็เนื่องจากประสบการณ์ความเป็นสื่อและเป็นหนึ่งในผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อ เป็นนักค้นคว้าหาความรู้ รู้จักเรียนรู้ประสบการณ์ของคนอื่นและนำมาปรับใช้ จึงได้รับความเชื่อใจจากชุมชน ในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษา เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการทำงานด้านสื่อชุมชนกับกลุ่มคนในชุมชน เมื่อสองปีที่แล้ว วิทยุชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศอินโดนีเซีย ท่านจึงเดินสายประชุมร่วมกับสื่อวิทยุชุมชนโดยไม่เหน็ดเหนื่อย แท้จริงแล้ว หลังสิ้นยุคซูฮาร์โต สื่อในอินโดนีเซียเติบโตอย่างรวดเร็ว และแบ่งเป็นหลายสาย หลากกลุ่มแนวคิด มีทั้งแบบทุนนิยมจ๋าอย่างกลุ่ม Java post group แบบแนวเสรี อย่าง kompas group แบบ tradition อย่าง waspada แบบท้องถิ่นนิยมอย่าง Kedaulatan Rakyat แบบไม่ขวาแต่ไม่เชิงซ้ายอย่าง Tempo group แบบแนวอิงศาสนาอิสลามเป็นหลักก็มีหลายกลุ่มซึ่งผู้เขียนจำไม่ได้แล้วว่าชื่ออะไรบ้าง แต่มีสื่ออิงศาสนาอยู่มากในอินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความหลากกรุ๊ป หลายแนวทั้งหลายเหล่านี้ ต่างเปล่งเสียงเดียวกันว่า “ไม่เอารถถังและปืน” ไม่เด็ดขาดที่จะอยู่ภายใต้เผด็จการไม่ว่าจะเป็น เผด็จการทหารหรือเผด็จการในรูปแบบอื่นๆ (เช่น ทักษิโณมิก) ป๊าซานอลผู้ชี้แนะแนวทางและเปิดหูเปิดตาเรื่องสื่ออินโดนีเซียให้แก่ผู้เขียน ผู้เขียนเรียนรู้เรื่องสื่อของอินโดนีเซียได้ เพราะได้รับการช่วยเหลือจากท่าน ขอไว้อาลัยยิ่งต่อการจากไปของสื่อมวลชนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอินโดนีเซีย ผู้อาวุโสที่ใจดี ใจกว้าง ฉลาดลุ่มลึก อ่อนโยน และมีเมตตาต่อผู้เขียน ที่เป็นสื่อท้องถิ่นจากเมืองไทย ซึ่งท่านได้เปิดหูเปิดตากว้างแก่ผู้เขียนอย่างยิ่ง ขอไว้อาลัยอย่างสุดซึ้ง .....ในวันที่ท่านกลับไปสู่อ้อมอกของพระเจ้า
ภู เชียงดาว
    “...เมื่อมนุษย์จมอยู่กับฝูงชนที่ขาดความเป็นมนุษย์ ถูกผลักไปมาอย่างอัตโนมัติไปตามแรงเหวี่ยง บุคคลนั้นก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ที่แท้ สูญเสียคุณธรรม หมดความสามารถที่จะรัก และศักยภาพที่จะกำหนดตนเอง เมื่อสังคมประกอบด้วยผู้คนที่ไม่รู้จักความวิเวกภายใน สังคมนั้นก็ไม่อาจรวมกันได้ด้วยความรัก แต่อยู่ได้ด้วยอำนาจครอบงำและความรุนแรง...” ถ้อยคำของ “โทมัส เมอร์ตัน” คัดมาจากหนังสือ “ความเงียบ” จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล สวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดของผม ตั้งอยู่ในเนื้อที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างและยาวราวสี่ห้าไร่ ก่อนหน้านั้นส่วนหนึ่งด้านล่างเป็นสวนลำไยประมาณสามไร่ของเพื่อนบ้าน ก่อนเขาจะถามขายให้ในราคาไม่กี่หมื่นบาทเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากนั้น ผมค่อยขยับขยายหักร้างถางพงป่าไผ่ที่ทอดทมึนขึ้นไปบนเนินเขา จนกลายเป็นเนื้อที่เดียวกัน ครับ, เป็นสวนแห่งความหวัง สวนแห่งชีวิตและความอยู่รอดของผม ที่ต้องการอาศัยอยู่ในยุคสังคมที่เร็วและเร่งเช่นนี้ครั้งหนึ่ง...อาปุ๊ “ ’รงค์ วงษ์สวรรค์” ศิลปินแห่งชาติ ผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ผมเคารพนับถือ...ที่พาชีวิตครอบครัวไปพำนักอยู่ในสวนทูนอิน ในเขต ต.โป่งแยง อ.แม่ริม เอ่ยถามผมว่า สวนที่บ้านมีเนื้อที่เท่าไร ผมบอกว่า ประมาณสี่ห้าไร่“เฮ้ย...สี่ห้าไร่ไม่ใช่น้อยๆ นะ ถ้าเรารู้จักตกแต่งสวน ตกแต่งป่า...” นั่นคือถ้อยคำบอกเล่าของพญาอินทรีแห่งวรรณกรรมบอกย้ำในค่ำคืนนั้นจริงสินะ, หะแรกผมเคยคิดว่ามันดูเหมือนกีดแคบ ยังไม่พอ แต่พอนานเข้าจึงรู้ใช่, ว่ามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่มากไม่น้อย สำหรับคนๆ คนหนึ่งกับวันเวลาช่วงหนึ่งในชีวิตที่มาอาศัยอยู่ในโลกใบนี้ และคนทำสวนทำไร่จะรู้ว่ามันกว้างใหญ่ก็ในช่วงฤดูฝนนี่แหละ เมื่อฝนหล่นพรำ เนื้อดินชุ่มฉ่ำ แดดฟาด หญ้าก็แทรกแตกหน่อ ม้วนคลี่ ผลิบาน ชูช่อใบ เหยียดร่างชะลูดสูง ขึ้นรกเรื้อปกคลุมไปทั่ว จนต้องแผ้วถางกันไม่หวาดไม่ไหว มาถึงตอนนี้ ทำให้พลอยนึกไปถึงวิธีแก้ปัญหาหญ้ารกปกคลุมสวนของคนขี้เกียจอย่างผม... จำได้ว่าตอนเป็นครูดอย ผมเคยขอเมล็ดถั่วพันธุ์พื้นเมืองของพี่น้องชนเผ่าลีซูจากบ้านฟ้าสวย หลังดอยหลวงเชียงดาว มาหนึ่งถุงใหญ่ เป็นเมล็ดถั่วตระกูลคล้ายๆ ถั่วแปบบ้านเรา แต่ที่น่าสนใจของถั่วพันธุ์นี้ก็คือ วิธีเพาะปลูกถั่วชนิดนี้ ง่ายและไม่ต้องลงแรงอะไรมากเลย เพียงแค่กำเมล็ดโปรยหว่านไปทั่วผืนดินผืนนั้น หลังจากน้ำฟ้าหล่นโปรยลงมาอย่างต่อเนื่อง จนเนื้อดินนุ่มชุ่มพื้น หว่านไปรอบๆ โคนต้นลำไย มะม่วงที่ปลูกเสริมเป็นแนวยาวจากทิศตะวันออกจรดรั้วทางทิศตะวันตก เพียงเท่านั้น เพียงข้ามวันผ่านคืนไปไม่นาน เมล็ดถั่วก็งอกติดดิน ก่อนแตกใบ ทอดยาวเลื้อยคลุมผืนดินจนดูเขียวสดไปทั่ว แน่นอนว่า นอกจากจะได้เมล็ดถั่วเอาไว้เป็นเชื้อเป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไปแล้ว ต้นถั่วที่ขึ้นเลื้อยปกคลุมไปทั่วผืนดินแปลงนี้ ก็ช่วยคลุมหน้าดินไม่ให้มีหญ้า วัชพืชอื่นได้มีโอกาสขึ้นรกปกคลุมเหมือนแต่ก่อนอีกเลยครั้นเมื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์แล้ว ผมก็ปล่อยให้ต้นถั่วเหล่านั้นแห้งตายกลายเป็นปุ๋ยทับถมพื้นดินในสวนนั้น เมื่อฝนแรกของฤดูกาลใหม่มาเยือนแต่นั่นมันก็นานมาแล้ว, หลังจากที่ผมพาตัวเองลงจากดอย มาทำงานในเมืองใหญ่ สวนในชีวิตของผมก็ดูเหมือนรกร้าง ไร้คนเอาใจใส่ มะม่วง ลำไย ที่ปลูกเอาไว้ก็โตขึ้นโดยลำพัง นานและนานเหลือเกิน ที่ผมปล่อยให้มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่เคยนึกถึงและเอาใจใส่ คอยใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดินเหมือนแต่ก่อนเหมือนกับชีวิตตัวเอง...จากที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมาตลอดเวลา แต่ต้องมาอยู่กับเมือง เทคโนโลยี การงานที่เร็วและเร่งอย่างนี้ ทำให้ชีวิตผมดูเหมือนกำลังถูกผูกติดกับอะไรบางอย่าง บางครั้งเหมือนกับมีสิ่งดึงดูด บางครั้งดูเหมือนมีบางอย่างกระชากให้เหวี่ยงไปตามถนนของความต้องการ กระทั่งคล้ายกับว่า ตัวเราไม่แตกต่างกับเครื่องจักรกล ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไปตามฟันเฟืองของสังคมแห่งทุนและเทคโนโลยี จึงไม่แปลกเลยว่า หลังจากผมพาตัวเองมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเพียงไม่กี่ปี ผมรู้สึกได้เลยว่า “ชีวิตชำรุด” ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลซ่อมร่างกายหลายต่อหลายครั้งจึงไม่แปลกเลย ที่ “จอห์น เลน” บอกเล่าเอาไว้ในหนังสือ “ความเงียบ” ว่า...“...คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ผู้แสวงหาชีวิตที่เร่งเร็ว ชอบที่จะอยู่ในเมืองใหญ่ พวกเขาไม่ชอบการคิดใคร่ครวญ สนองความสุขทางผัสสะอย่างเท่าที่จะทำได้ วินัยในตน ความสุขุมรอบคอบ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสำรวมถูกทำให้สลบไสลไปหมดแล้ว พวกเขาชอบดนตรีอึกทึกมากว่าความเงียบ ชอบความรุนแรงมากกว่าความสงบ…”“...ความสำเร็จในชีวิต ไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาทรัพย์สิน แต่อยู่ที่การมีสุขภาพดี ชีวิตเป็นอิสระ สามารถใช้ผัสสะและจินตนาการได้อย่างเสรี...” อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้ผมโหยหาและอยากกลับคืนไปสู่ความเงียบ ใน “สวนแห่งชีวิต” บ่อยครั้ง.หมายเหตุ : งานเขียนชุดนี้เคยตีพิมพ์ใน “พลเมืองเหนือรายสัปดาห์” ผู้เขียนขออนุญาตนำมาลงในประชาไท,อีกครั้ง.

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม