Skip to main content

1

ราวกลางปีที่ผ่านมา เพื่อนๆ ศิลปินที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “นิติม่อน” ได้จัดกิจกรรมศิลปะในหัวข้อ “เรื่องเล่าของมนุษย์ล่องหน” ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยบอกเล่าเรื่องราวของนักโทษทางการเมือง รวมถึงประเด็นจากกฎหมายมาตรา 112 ที่เคยเป็นทั้งมนุษย์ล่องหนและเรื่องราวล่องหน ที่ผู้คนไม่อยากพูดถึงในสังคมไทย

ในงานนั้น ด้วยไอเดียของรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ทำให้เกิดงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่จัดแสดงซองจดหมาย ซึ่งผู้คนจากทั่วประเทศนำใส่ “เอกสารลงชื่อเพื่อแก้ไขมาตรา 112” แล้วส่งมาให้คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ตามการรณรงค์ซึ่งเริ่มตั้งแต่ในช่วงต้นปี ศิลปินได้ขอซองจากคณะรณรงค์ฯ และนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการเล็กๆ ขึ้นมาภายหลังจากเอกสารได้ยื่นส่งรัฐสภาไปแล้ว

ซองจดหมายราว 100 ซอง ที่อยู่ด้านหน้าซองแสดงให้เห็นว่าจดหมายเดินทางมาจากหลายแห่งหนตำบลในประเทศ ขนาดมีตั้งแต่ซองยาวขนาดเล็กติดแสตมป์ 5 บาท ซองเอกสารสีน้ำตาลขนาดพอดีเอกสาร ไปจนถึงกล่องไปรษณีย์ที่ติดค่าเดินทางมาเป็นร้อยบาท ซึ่งคงบรรจุเอกสารลงชื่อหลายสิบแผ่นที่รวมๆ กันส่งมา

ไม่เพียงเอกสารลงชื่อ บางซองก็ถึงกับแนบจดหมายเขียนให้กำลังใจมาด้วย ดังจดหมายลายมือฉบับหนึ่งในกระดาษเอสี่ ลงวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่เดินทางมาจากจังหวัดกระบี่ เขียนข้อความมาว่า “ขอให้กำลังใจคณะรณรงค์ฯ และคณะนิติราษฎร์ พวกคุณคือความหวังในการนำพาประเทศ สู่ระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง และช่วยให้ความถูกต้องของกฎหมายที่บิดเบี้ยว เต็มไปด้วยมายาคติ ของกระบวนการตุลาการวิบัติของชาติในปัจจุบัน ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริง และปกป้องสิทธิของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์”

ถ้าได้สัมผัส, แม้ซองส่วนใหญ่จะเป็นซองจดหมาย-ซองเอกสารว่างเปล่า เพราะเอกสารที่เคยบรรจุในซองได้ถูกนำไปทำหน้าที่ของมันแล้ว แต่ “ความหวัง” ถึงความเปลี่ยนแปลง และเจตจำนงทางการเมือง ที่เดินทางมาด้วยกันกับจดหมาย ดูเหมือนจะยังคงบรรจุอยู่ให้รู้สึกได้อยู่ข้างในความว่างเปล่าของซองนั้น

ไม่กี่เดือนผ่านไป เมื่อรัฐสภาปัดทิ้งข้อเสนอและรายชื่อของผู้คนหลายหมื่น “ความหวัง” ก็ถูกทำลายไปเงียบๆ...เงียบจนน่าตกใจ เมื่อเทียบกับช่วงขณะของการช่วยกันจุดประกายมันขึ้นมา

 

2

ตู้ไปรษณีย์สีแดงหม่นๆ สูงไม่ถึงไหล่ ตั้งอยู่หน้าห้องซื้อข้าวของและอาหารแห้งสำหรับเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตัวหนังสือสีขาวบนตู้ไปรษณีย์สีแดงเขียนระบุว่า “ตู้รับจดหมาย ส่งให้แก่ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษฯ เวลาเปิด จันทร์-ศุกร์ เวลา 15.00 น.” ที่ด้านบนของตู้มีกระดาษเล็กๆ เขียนบอกวิธีการส่งไว้ว่า “เขียนจดหมายถึงผู้ต้องขัง กรุณาใส่ซอง และระบุชื่อแดนให้ชัดเจน” พร้อมหมายเหตุด้วยว่า “จดหมายที่ไม่ใส่ซองจะไม่ถึงผู้ต้องขัง”

การสื่อสารกับผู้ต้องขัง นอกจากการตีเยี่ยม พบปะหน้าค่าตาโดยตรง จดหมายดูจะเป็นช่องทางไม่กี่ทาง สำหรับญาติหรือเพื่อนฝูงที่อยู่ห่างไกลและไม่สามารถมาเยี่ยมที่เรือนจำด้วยตัวเองได้  นอกจากวิธีการมาส่งเองที่ตู้ไปรษณีย์ตู้นี้ในเรือนจำ ก็เพียงจ่าหน้าซองด้วยที่อยู่ของเรือนจำ ใส่ชื่อผู้ต้องขังและแดนที่เขาอยู่ หย่อนลงตู้ไปรษณีย์ปกติมา

ตามระเบียบปกติของเรือนจำ ผู้ต้องขังสามารถส่งจดหมายได้วันละ 1 ฉบับ แต่ละฉบับเขียนได้ไม่เกิน 15 บรรทัด และข้อความในจดหมายจะถูกอ่านจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ พร้อมประทับตราว่า “ตรวจแล้ว” จึงจะสามารถเดินทางออกไปได้ การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่จะคัดกรองเนื้อหาในจดหมาย การเขียนขอเงินจากทางบ้าน ใช้คำหยาบคาย ด่าญาติพี่น้อง เขียนนัดแนะเรื่องผิดกฎหมาย หรือเล่าเรื่องเลวร้ายข้างใน ก็จะไม่สามารถเดินทางออกไปได้ ส่วนจดหมายที่ส่งจากภายนอกถึงผู้ต้องขังภายใน วันหนึ่งจะมีกี่ฉบับก็ได้ อาจจะมีการตรวจสอบเนื้อหาอยู่บ้าง แต่ก็ค่อนข้างจะผ่อนคลายกว่าจดหมายที่ส่งออกมาจากภายใน

กระนั้น, จดหมายที่เดินทางจากโลกภายนอกเข้าสู่ผู้คนในเรือนจำ ดูเหมือนจะมีน้อยกว่าจดหมายที่เขียนออกมาจากภายในเอง อย่างน้อยก็สำหรับความรู้สึกของผู้ต้องขัง

คุณหนุ่ม เรดนนท์ ผู้ริเริ่มโครงการอีเมล์หยดน้ำ อันเป็นโครงการที่ให้เพื่อนๆ ภายนอกร่วมกันส่งจดหมายและข้อความทางอีเมล์ให้เพื่อนนักโทษการเมือง ที่ถูกจองจำอยู่ทั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำหลักสี่ จดหมายจากอีเมล์ซึ่งเป็นเสมือนหยดน้ำที่ทำให้พวกเขามีกำลังใจ โดยการส่งไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและเสียเงิน เพราะเพียงแค่ส่งข้อความมาทางอีเมล์ ก็จะมีทีมงานคอยปริ๊นท์จดหมายส่งเข้าเรือนจำอีกทีหนึ่ง

คุณหนุ่มเขียนจดหมายเล่าถึงความคิดริเริ่มของโครงการนี้ว่า “เราได้รับจดหมายจากบุคคลภายนอกน้อยมาก แทบไม่มี แม้แต่คนระดับหัวขบวนอย่างคุณสมยศ คุณสุรชัย ที่มีชื่อเสียงมากกว่าพวกเรา ก็ยังแทบไม่มีเลย แต่จดหมายน้อยๆ เหล่านี้อีกนั่นแหละที่เปรียบเสมือนสิ่งที่มีค่าที่สุดของพวกเรา ที่เราจะทนุถนอมเก็บเอาไว้อย่างดี เมื่อวันที่ท้อแท้ หมดกำลังใจ จดหมายพวกนี้แหละจะช่วยเพิ่มกำลังใจให้เรามีรอยยิ้มได้ (อากงผู้ล่วงลับ เวลาดูจดหมายของหลานๆ ของป้าอุ๊ อากงยังร้องไห้ทุกครั้งเลย) สร้างน้ำตาด้วยก็ได้ ผมเองก็มักจะหยิบจดหมายเก่าๆ ที่เก็บเอาไว้มาอ่านเสมอ บ่อยที่สุดก็ของลูก ของป๊า ส่วนของเพื่อนๆ แทบไม่มีใครส่งมา ดูแล้วไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ”

คุณหนุ่มและคุณสมยศ เคยบอกคล้ายๆ กันว่าแม้แต่คอมเมนต์ท้ายข่าว ท้ายบทความเกี่ยวกับนักโทษการเมือง หรือท้ายจดหมายของพวกเขา เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในโลกอินเตอร์เน็ท เขาก็อยากอ่านและอยากทราบถึงเนื้อหาเหล่านั้น

เท่าที่ผู้เขียนทราบ แม้เมื่อเริ่มต้นโครงการ จะมีอีเมล์ทั้งสั้นและยาวหลายฉบับส่งเข้ามา รวมทั้งโปสการ์ดที่กลุ่มเครือข่ายญาติผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ช่วยกันรณรงค์ให้ผู้คนเขียนถึงนักโทษการเมืองอีกหลายฉบับ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป จดหมายเหล่านั้นก็ดูจะเงียบๆ ลงไป ตรงกันข้าม นักโทษการเมืองที่ยังติดอยู่ในคุกหลายคน รวมถึงญาติมิตรของพวกเขา กลับยังคงเขียนจดหมายทั้งส่วนตัวและสาธารณะออกมาอย่างสม่ำเสมอ

เราจึงได้เห็นจดหมายลายมือเป็นระเบียบของคุณหนุ่ม เรดนนท์ เล่าเรื่องราวของคุก เรื่องของผู้ต้องขังหลายคน และพูดคุยสารทุกข์สุขดิบกับทนายความ  เราเห็นจดหมายรายสัปดาห์ของภรรยาคุณสมยศ ที่เริ่มเขียนถึงสามีในระยะหลัง เมื่อการจองจำเริ่มเนิ่นนาน รวมถึงบทความสังคมการเมือง-บทความแปลของคุณสมยศ ที่เดินทางลอดลูกกรงมาอย่างต่อเนื่อง (ดูใน Somyot-Redpower )   เราเห็นจดหมายวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองจากคุณสุรชัย ที่ภรรยาของเขา คอยคัดลอกและแจกให้ผู้ไปเยี่ยมหน้าเรือนจำ  เราเห็นจดหมายลายมือเล่าความทุกข์-สุขของพี่ๆ หลายคนจากเรือนจำหลักสี่ ซึ่งคุมขังนักโทษการเมืองอีกแห่งหนึ่ง จากบล็อกของ Redfam Fund

จดหมายของคุณหนุ่มลงท้ายจดหมายเสมอว่า “เชื่อมั่นและศรัทธา” จดหมายจากคุณสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ นักโทษการเมืองจากที่เรือนจำหลักสี่ ลงโทษด้วยความหวังเสมอเช่นว่า “จะสู้ต่อไปจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย” “จะไม่ท้อและไม่ถอยตราบที่มีลมหายใจอยู่” ส่วนจดหมายของภรรยาคุณสมยศ ก็ลงท้ายบอกสามีของเธอเสมอว่า “คิดถึงเสมอ”

ส่วนจดหมายจากภายนอก, ย้อนกลับไปสักสองสามปีก่อน หากยังจำกันได้ กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าเคยทำโครงการ “เขียนจดหมาย ทักทายนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” โดยให้เพื่อนๆ หมุนเวียนเปลี่ยนกันเขียนจดหมายส่งถึงคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (ดา ตอร์ปิโด) ซึ่งถูกจองจำอยู่ภายในคุกหญิง อย่างน้อยอาทิตย์ละ1 ฉบับ โดยรวบรวมจดหมายและโปสการ์ดได้ราว 50 ฉบับและนำมาเผยแพร่ให้สังคมได้อ่าน (ดูที่ จดหมายถึง 'ดา' )

ถ้าได้อ่านชุดจดหมายเหล่านั้น หลายคนที่ส่งไม่เคยรู้จักส่วนตัวกับคุณดามาก่อน แต่กลับรู้สึกได้ว่าเรื่องราวของคุณดาเชื่อมโยงสัมพันธ์กับตัวเอง  เหมือนที่จดหมายฉบับหนึ่งลงท้ายว่า “ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในไม่ช้าคุณดา คงจะได้ออกมาสัมผัสกับสิ่งภายนอกกับโลกภายนอก สัมผัสกับอิสระไปไหนมาไหนได้โดยไม่มีโซ่ตรวนรัดขาไว้ แล้วเราคงจะได้พบกันและอย่าสิ้นหวัง ขอให้คุณดามีพลังใจเข้มแข็งดิฉันเอาใจช่วยคุณดาอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเรื่องของคุณดาเกี่ยวกับเรื่องของพวกเราเช่นกัน” (จดหมายจากคุณป่ากุหลาบ ลงวันที่ 17 ต.ค.52)

จดหมายกึ่งส่วนตัวกึ่งสาธารณะเหล่านี้ ได้แบ่งปันเรื่องราว ความทุกข์ ความสุข ความหวัง ความผิดหวัง ความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ และกำลังใจ ระหว่างคนภายในเรือนจำกับญาติและเพื่อนมิตรภายนอก และส่งต่อมาถึงสังคมในวงกว้าง  ถึงที่สุดมันบอกถึงการดำรงอยู่ของพวกเขาและเธอ ความมีตัวมีตนและความเป็นมนุษย์คนหนึ่งเฉกเช่นพวกเราทุกคน มันได้ส่งเสียงบอกเราว่าเรื่องราวเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหา และยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

3

สองสามเดือนก่อน คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข เคยเชิญชวนผ่านกลุ่มปฏิญญาศาล ให้ร่วมกันส่งจดหมายถึงอธิบดีศาลอาญาเรียกร้องเรื่องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมือง โดยส่งผ่านแผนกรับเรื่องราวของศาลอาญา ให้พิจารณาตรวจสอบว่าทำไมผู้ต้องขังในคดี 112 ถึงไม่ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว และเรียกร้องคำอธิบายถึงสาเหตุการไม่ให้ประกันตัวจากศาลด้วย

แต่ดูเหมือนกิจกรรมนี้ต้องการการส่งจดหมายเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง และทำเป็นจำนวนมาก จากบุคคลหลากหลาย แต่เท่าที่ทราบ มีนักกิจกรรมหรือผู้สนใจไปดำเนินการส่งจดหมายอยู่ไม่มากนัก และดูเหมือนจะไม่เกิดผลอันใด

ผู้เขียนเคยอ่านเจอว่าสมัยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถูกจับกุมและดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อปี 2527 ได้มีการส่งจดหมายจากองค์กรระหว่างประเทศ บุคคลหลากหลายกลุ่มทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และแสดงความกังวลและห่วงใยต่อสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย โดยส่งถึงทั้งนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น รัฐบาลไทย ทูตของประเทศไทยประจำประเทศต่างๆ ประธานสภา สื่อมวลชน หรือแม้แต่ส่งถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมๆ แล้วหลายพันฉบับ รวมถึงจดหมายให้กำลังใจสุลักษณ์เองอีกหลายฉบับ จดหมายจำนวนมากเหล่านั้นน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คดีในปีนั้นจบลงด้วยการที่อัยการถอนฟ้องจากศาล [ดูจดหมายบางส่วนได้ในหนังสือ คนพ้นคุก (2529)]

แน่ละว่า สุลักษณ์มีชื่อเสียง มีสถานะทางสังคม ที่ทำให้ได้รับการสนับสนุนคุ้มครองจากวงสังคมทั้งไทยและต่างประเทศค่อนข้างมาก แต่จดหมายก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในฐานะการเรียกร้อง เคลื่อนไหวต่อสู้ ที่มีราคาและต้นทุนต่ำ เป็นเครื่องมือเล็กๆ ใช้กดดันองค์กรรัฐหรือผู้มีอำนาจ และบอกเล่าความต้องการและข้อเรียกร้องของเราแต่ละคนได้อยู่บ้าง

บางทีถ้าเราเขียนมันออกมาได้ต่อเนื่องและมีพลังเพียงพอ เสียงและข้อเรียกร้องที่มีอยู่อาจดังขึ้นกว่าที่เป็นอยู่...

 

4

ในยุคสมัยที่การสื่อสารเคลื่อนย้ายไปอยู่ในเสียงตามสายและโลกออนไลน์ การสื่อสารด้วยจดหมายและลายมือลดน้อยลง เราอาจจำไม่ได้แล้วว่าส่งจดหมายลายมือฉบับสุดท้ายตั้งแต่เมื่อไร  หากแต่ ณ ห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ จดหมายหลายฉบับยังถูกส่ง และเดินทางมากับไปรษณีย์และอีเมล์  เป็นจดหมายที่ส่งต่อความหวัง และแสดงเจตจำนงทางการเมือง จดหมายที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของผู้ต้องขังทางการเมือง จดหมายที่ส่งเสียงถึงการดำรงอยู่และมีตัวตนของพวกเขาและเธอ และจดหมายที่ยังคงเรียกร้องและเคลื่อนไหวต่อสู้

เพียงแค่เขียนจดหมายอาจเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากนัก เพียงแต่อย่างน้อยมันก็ส่งเสียงสื่อสาร สร้างบทสนทนา ให้กำลังใจ หรือเชื่อมประสานความรู้สึกของผู้คนเข้าด้วยกัน

ปีหน้า คงมีจดหมายอีกหลายฉบับที่เราอาจลองเขียน และส่งมันเดินทาง

 

ป.ล. ยังส่งอีเมล์หยดน้ำ ไปส่งต่อความหวังในปีใหม่นี้ ได้ที่ freedom4pp@gmail.com

ป.ล.2 เมื่อเขียนบทความนี้เสร็จ เห็นข่าวจากในเฟซบุ้คว่าคุณวันชัย รักษ์สงวนศิลป์ นักโทษการเมืองจากจังหวัดอุดรธานีได้เสียชีวิตลงที่เรือนจำหลักสี่...บางทีความเป็นธรรมก็เดินทางมาช้าจนเกินไป จนนำไปสู่เรื่องเศร้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า

บล็อกของ กำลังก้าว

กำลังก้าว
1ใครๆ ก็สงสัยว่าเขา “บ้า” หรือเปล่า...บ้าในความหมายทำนองว่าไม่กลัวเกรงอันใด ไม่วิตกกังวลเหมือนคนอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับข้อหาในลักษณะเดียวกัน
กำลังก้าว
 กว่าศาลจะนั่งบัลลังก์ก็เป็นเวลาเลย 10.30 น.ไปแล้ว
กำลังก้าว
พรุ่งนี้.. สมยศขึ้นศาล
กำลังก้าว
 
กำลังก้าว
 ประสบการณ์และความรู้สึกบางส่วนจากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ
กำลังก้าว
ผมตั้งชื่อบล็อกนี้ว่า “สนามหลังบ้าน”