Skip to main content

สมอล์ล บัณฑิต อานียา เพิ่งรอดคุกจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในศาลฎีกามาได้ไม่นาน ก็พิมพ์หนังสือของตัวเองใหม่ออกมาถึงสองเล่ม เล่มหนึ่งเป็นการนำงานเก่าที่เขียนถึงม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กลับมาพิมพ์ใหม่ ส่วนอีกเล่มหนึ่งเป็นงานเขียนใหม่ ที่เขียนถึงเรื่องราวชีวิตของตัวเอง ในชื่อ “ความฝันภายใต้ดวงอาทิตย์”

หนังสือเล่มหลังนี้ จั่วหัวตามหลังชื่อเรื่องว่าเป็น “นวนิยายจากชีวิตจริง” และบางหน้ากระดาษก่อนนำเข้าเรื่อง หล่นข้อความคล้ายคำประกาศเอาไว้ว่า “ความฝันภายใต้ดวงอาทิตย์ มันเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและกินใจมากที่สุด เท่าที่มนุษย์คนหนึ่งคนใด ได้เคยฝันกันมาบนพื้นพิภพนี้ และเท่าที่นักเขียนคนหนึ่งคนใดได้เคยเขียนกันขึ้นมา”

บัณฑิตบอกกล่าวว่าหนังสือเล่มใหม่นี้เขียนถึงชีวิตจริงๆ ที่ไม่มีใครกล้าเขียนมาก่อน และเป็นเล่มที่เขาภาคภูมิใจที่สุดตั้งแต่เขียนและแปลหนังสือมา

ความจริงแล้ว มันถูกเขียนเสร็จมาตั้งแต่ปี 2553 ระหว่างรอคอยคำตัดสินคดีในชั้นศาลฎีกา โดยมีการแก้ไขต้นฉบับ และจัดทำเป็นฉบับซีร็อกซ์ออกเร่ขายจำนวนหนึ่งมาก่อนแล้ว ก่อนที่บัณฑิตจะเร่งหาหนทางตีพิมพ์ในช่วงที่ศาลส่งหมายนัดพิพากษาคดีเขามาแล้ว หากกว่าจะสำเร็จออกเป็นเล่มได้ ก็ภายหลังที่ศาลฎีกาตัดสินว่าระหว่างกระทำผิดนั้น เขาป่วยเป็นโรคจิตเภท ให้รอลงอาญา 3 ปีแทน บัณฑิตจึงรอดคุกด้วย “ความบ้า” ได้มาดำเนินชีวิตนักเขียน “กึ่งบ้ากึ่งอัจฉริยะ” ของเขาต่อไป

หนังสือเล่มนี้ บัณฑิตย้อนกลับไปเล่าถึงรากเหง้าของชีวิตตนเอง ตั้งแต่เรื่องราวชีวิตของพ่อกับแม่ที่เดินทางอพยพมาจากประเทศจีน ชะตากรรมของแม่ในเมืองไทย ซึ่งเสียชีวิตในโรงพยาบาลโรคจิตขณะที่อายุไม่ถึง 40 ปี เรื่องราววัยเด็กของเขา ที่ตัดสินใจหนีออกจากบ้าน บวชเป็นสามเณร และเผชิญชีวิตตามลำพังเรื่อยมา ไปจนถึงเรื่องราวการต่อสู้ของเขาในวัยหนุ่มจวบจนปัจจุบัน ตั้งแต่การต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้ผ่านงานเขียนและการทำหนังสือ การต่อสู้กับข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การต่อสู้ในโรงพยาบาลโรคจิต ในเรือนจำ ในชั้นศาล มาจนถึงการต่อสู้กับโรคภัยในชีวิตตัวเอง

เมื่อถามว่าทำไมคนอื่นๆ ถึงต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ของเขา บัณฑิตบอกว่า “เป็นเล่มหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ผมเชื่ออย่างนั้นนะ แต่คุณอาจจะไม่เชื่อก็ได้ ผมเชื่อว่ามันมีค่า”

เหตุใดชีวิตของเขาจึงจะเป็นประโยชน์ขนาดนั้น? อาจเพราะเขาเป็นคนเล็กๆ คนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมของมาตรา 112 โดยเขาบอกว่าเป็นการต่อสู้แบบโดดเดี่ยว ด้วยความคิดอิสระ และไม่มีใครมาหนุนหลัง เรื่องราวชีวิตของบัณฑิตจึงดูจะส่องสะท้อนไปบอกเล่าเรื่องราวของสังคมการเมืองในช่วงชีวิตของเขาได้เช่นกัน

นอกจากในฐานะนักต่อสู้คนหนึ่งแล้ว บัณฑิตในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง ก็เป็นผู้ที่ผลิตงานเขียนงานแปลออกมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เรื่องสั้นเรื่องแรกเรื่อง “บนท้องถนนแห่งชีวิต” ที่ได้พิมพ์ในนิตยสารแสนสุข ในช่วงวัยราว 18 ปี จนถึงวันนี้เขามีผลงานเขียนงานแปลกว่า 40 เล่ม

สำหรับเขา การเขียนการแปลหนังสือไม่ใช่เพียงการเขียนและแปลหนังสือ แต่ยังเป็นการต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยเช่นกัน อย่างงานเขียนชิ้นใหม่นี้ เขาก็เห็นว่าเป็นความพยายามเขียนเพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับแม่ ให้กับตัวเอง ไปจนถึงเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ “มีเพื่อนมนุษย์อีกหลายล้านคนที่มีชีวิตคล้ายๆ แบบนี้ แต่เขาแสดงออกไม่ได้ หรือไม่สามารถแสดงออก แต่ผมแสดงออกได้” 

สำหรับบรรณพิภพเมืองไทย เขาอาจไม่ถูกนับเป็น “นักเขียน-นักแปล” เท่าใดนัก และไม่เคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติอันใด แต่เขาก็ยืนยันว่าเขาเลือกเส้นทางแบบนี้ เลือกเดินทางนี้ การยอมรับหรือไม่ เป็นเรื่องของคนอื่น เขาได้แต่มุ่งมั่นทำงานของตนต่อไป

เมื่อถามว่าในวัย 73 ปียังเหลือความฝันอะไรอีกไหม บัณฑิตบอกว่ามีอยู่เพียงอย่างเดียว คือเขียนหนังสือ และแปลหนังสือต่อไป ราวกับเป็นคำตอบว่าชีวิตของเขาเหลืออุทิศให้สิ่งนี้เพียงสิ่งเดียว โดยตอนนี้เขากำลังแปลงานอีกชิ้นหนึ่งของนักเขียนที่เขาชื่นชมประทับใจ คือ บี.ทราเวน (B. Traven) เรื่อง The White Rose ซึ่งเล่าเรื่องราวของชาวอินเดียนที่ต่อสู้กับบริษัทน้ำมันที่ต้องการยึดครองที่ดิน และมีแผนอยากจะพิมพ์เรื่องสั้นเก่าหลายๆ เรื่อง ซึ่งคิดว่ากำลังเข้ากับยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ รวมทั้งพยายามเขียนงานชิ้นใหม่ๆ ต่อไป

บัณฑิตยังฝากบอกว่าหนังสือทุกเล่มของเขาไม่สงวนลิขสิทธิ์อันใด ใครจะเอาไปพิมพ์หรือขายก็ได้ แต่อยากให้แจ้งเขาสักหน่อย ด้วยเป้าประสงค์เดียว คือต้องการเผยแพร่ผลงานของตัวเองออกไป

“ความฝันภายใต้ดวงอาทิตย์” เล่มนี้หนามากกว่า 500 หน้า ถ้าไม่ “บ้า” พอ คงไม่มีใครกล้าเขียนและพิมพ์ออกมา และเมื่อเทียบกับ “บิ๊กๆ” ทั้งหลายในสังคมนี้ คงมี “สมอล์ล” ไม่กี่คนที่กล้าลุกขึ้นมาเขียนหรือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเอง

งานเขียนของคนเล็กๆ รวมทั้งงานเล่มนี้ของบัณฑิต คงไม่ได้ดีเด่นเลิศเลอ ไม่ได้มีเทคนิคการเขียนแพรวพราว แต่มันได้ส่งเสียงบอกว่าคนเล็กๆ ทั้งหลายก็มีสิทธิ์มีเสียง มีเรื่องราวชีวิตของตนเอง มีคุณค่าพอที่จะบอกเล่าและบันทึกเป็นตัวหนังสือได้ เสมอเหมือนกับผู้มีชื่อเสียงและคนใหญ่คนโตจำนวนมากภายใต้ดวงอาทิตย์ดวงนี้

(ดูรายละเอียดคดีของลุงบัณฑิต อานียา ที่จบสิ้นลงไปแล้ว ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/69#detail และหากสนใจหนังสือทั้งเล่มเก่าใหม่ของแก ในราคาพิเศษ ติดต่อซื้อโดยตรงได้ที่ 088-1954880)

บล็อกของ กำลังก้าว

กำลังก้าว
1ใครๆ ก็สงสัยว่าเขา “บ้า” หรือเปล่า...บ้าในความหมายทำนองว่าไม่กลัวเกรงอันใด ไม่วิตกกังวลเหมือนคนอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับข้อหาในลักษณะเดียวกัน
กำลังก้าว
 กว่าศาลจะนั่งบัลลังก์ก็เป็นเวลาเลย 10.30 น.ไปแล้ว
กำลังก้าว
พรุ่งนี้.. สมยศขึ้นศาล
กำลังก้าว
 
กำลังก้าว
 ประสบการณ์และความรู้สึกบางส่วนจากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ
กำลังก้าว
ผมตั้งชื่อบล็อกนี้ว่า “สนามหลังบ้าน”