ขณะที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีผลกำหนดอนาคตของประเทศ แต่ก็เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของคำพิพากษาคดีๆ หนึ่งที่มีผลกำหนดอนาคตชีวิตของครอบครัวๆ หนึ่งอย่างมหาศาล
ขณะที่ 12 สิงหาคม เป็นวันหยุดที่หลายๆ ครอบครัวกลับไปหาแม่ แต่ก็เป็นปีที่ 2 แล้ว ที่ครอบครัวๆ หนึ่งไม่มีแม่อยู่
“โอ๋” หรือชื่อจริง “ศศิวิมล” ตามรายงานข่าวก่อนหน้านี้ แต่ที่ถูกต้องคือ “ศศิพิมล” หากดูชื่อตามบัตรประจำตัวของเธอ ในวัย 29 ปี ขณะทำงานเป็นพนักงานในแผนกเครื่องดื่มที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เธอถูกกล่าวหาและดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความ 7 ข้อความในเฟซบุ๊ก ที่ไม่ได้ใช้แม้แต่ชื่อของเธอเอง
โอ๋ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มาตั้งแต่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 กระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ศาลทหารเชียงใหม่มีพิพากษาจำคุกเธอ 56 ปี แต่ลดโทษให้เหลือ 28 ปี เพราะให้การรับสารภาพ กลายเป็นสถิติกรณีที่ได้รับโทษสูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในข้อหามาตรานี้ อย่างไม่เคยมีมาก่อน
12 สิงหาคม 2559...1 ปีผ่านไปหลังคำพิพากษานั้น และ 1 ปีครึ่งผ่านไปหลังการถูกคุมขัง มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างในชีวิตของครอบครัวๆ หนึ่ง
ใบเยี่ยม: ชีวิตประจำวันหลังคำพิพากษา
อย่างที่พอรู้กัน โอ๋เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว...หย่าร้าง และมีลูกสาวสองคนอยู่การดูแล “อุ๊งอิ๊ง” คนโตปัจจุบันอายุ 11 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นป.5 แล้ว ส่วน “ไอติม” คนน้องอายุ 8 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นป.3 ทั้งสองคนอยู่ในการดูแลของยาย หรือที่เด็กๆ สองคนเรียกว่า “แม่ใหญ่”
ถึงวันนี้ แม่ใหญ่ของเด็กๆ ยังคงทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรมอยู่เช่นเดิม เงินเดือนยังอยู่ที่ 9,000 กว่าบาท พร้อมกับโบนัสในบางโอกาสสำคัญ ชีวิตประจำวันของครอบครัวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เวลาเข้าออกงานของแม่ใหญ่ยังเหมือนเดิม วันเสาร์ยังได้หยุดอยู่กับบ้าน เด็กๆ ยังไปเรียนหนังสือ ขึ้นชั้นไปตามเทอมที่ล่วงผ่าน แต่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของครอบครัวที่เคยมี 4 ชีวิต หากต้องเหลือ 3 ชีวิต คือภาระในครอบครัวทั้งหมดตกอยู่ที่แม่ใหญ่ของเด็กๆ ทั้งสองคน
เดิมนั้น โอ๋เคยเป็นคนรับส่งลูกๆ ไปโรงเรียน ทั้งหมดกลับกลายเป็นงานของแม่ใหญ่หลังเธอไม่อยู่ เด็กๆ ต้องตื่นเช้าขึ้นมาก คือตั้งแต่ตี 5 เพราะเวลาเข้างานพนักงานโรงแรมของแม่ใหญ่ อยู่ที่ 6.30 น. เลยต้องพาเด็กๆ ซ้อนมอเตอร์ไซต์ไปส่งไว้ที่โรงเรียนก่อนไปทำงาน
เกือบทุกวัน เด็กๆ ไปถึงห้องเรียนราว 6 โมง อยู่เล่นกันเองไปก่อน รอจนพ่อค้าแม่ขายหน้าโรงเรียนมาตั้งแผงขายของ พี่สาวจึงได้พาน้องสาวออกมาซื้อข้าวเช้ากิน ก่อนเข้าห้องเรียนตามเวลาปกติ
หลังเลิกงานที่โรงแรมราว 15.30 น. แม่ใหญ่มารับหลานสองคนที่โรงเรียน ส่วนใหญ่เย็นๆ จะพาไปนั่งเล่นนั่งคุยกับป้า (พี่สาวของแม่ใหญ่) ซึ่งทำงานล้างถ้วยชามอยู่ที่ร้านอาหาร เย็นๆ 5-6 โมง จึงจะพากันกลับเข้าบ้านเช่า กินข้าวเย็นกันสักหนึ่งทุ่ม นั่งเล่น-นั่งทำการบ้านกันไป ถ้าเช้าวันถัดไป เด็กยังต้องไปโรงเรียน แม่ใหญ่ก็ดูแลให้หลานสองคนนอนเร็วตั้งแต่สองทุ่ม แต่ถ้าเป็นวันหยุด อาจได้นอนดึกขึ้น เป็นสัก 3-4 ทุ่ม
แม่ใหญ่หยุดงานวันเดียวคือวันเสาร์ ขณะที่วันอาทิตย์ซึ่งเด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน แม่ใหญ่ต้องพาเด็กๆ ไปฝากไว้กับป้า เพื่อให้ช่วยดู ทั้งส่วนใหญ่วันหยุด ครอบครัวสามชีวิตมักไม่ได้ไปไหน เลือกใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ ที่บ้านเช่า
ในชีวิตประจำวันนี้ นอกจากบ้าน โรงเรียน และที่ทำงานของแม่ใหญ่ สิ่งที่แตกต่างไปจากปกติคือ “เรือนจำ” เข้ามาเป็นสถานที่ส่วนหนึ่งของชีวิต ทั้งที่ในครอบครัวไม่เคยมีใครเหยียบย่างมาก่อนหน้านี้ หากปีเศษที่ผ่านมา ใบขออนุญาตเยี่ยมผู้ต้องขังแทบจะเป็นสิ่งของที่เหลือเก็บกลับมาและวางให้เห็นหรือหล่นอยู่ตามบ้านเสมอ
แม่ใหญ่ไปเยี่ยมลูกสาวที่เรือนจำอาทิตย์ละวันหรือสองวัน โดยใช้เวลาพักงานใกล้ๆ เที่ยงออกไปเยี่ยม หรืออาจลางานครึ่งวันในบางวัน เพื่อไปเยี่ยมโดยตรง ขณะที่วันอื่นๆ มีป้าเป็นผู้ไปเยี่ยม เหตุเพราะงานล้างจานของป้า เริ่มเข้างานช่วงบ่ายไปจนถึงค่ำๆ ทำให้ช่วงเช้ามีเวลาไปเยี่ยมหลานสาวที่เรือนจำได้ประจำกว่า
อีกทั้ง ป้าจะพาเด็กๆ สองคนไปเยี่ยมแม่ที่เรือนจำอาทิตย์ละวัน โดยช่วงแรกหลังโอ๋ติดคุกใหม่ๆ แม่ใหญ่ไม่เคยพาหลานสาวสองคนไปที่เรือนจำเลย แต่หลังคำพิพากษาอันรุนแรง จึงคิดว่าต้องพาเด็กๆ ไปเยี่ยม ทั้งได้คุยกับครูประจำชั้นที่โรงเรียนแล้ว ครูก็มีความเห็นอกเห็นใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น จึงได้รับอนุญาตให้พาเด็กๆ ไปเยี่ยมที่เรือนจำในช่วงเช้าของวันใดวันหนึ่งในอาทิตย์
ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับคนด้านนอก คนด้านในก็ต้องปรับตัวกับสถานที่ในชีวิตใหม่ โอ๋เพิ่งได้เลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้น “ดีมาก” เธอรู้จักผู้คุมและเพื่อนด้านในเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับเข้าไปฝึกอาชีพที่งานทอผ้าภายในเรือนจำ เป็นผ้าจำพวกผ้าซิ่น ผ้าพันคอ หรือผ้าประดิษฐ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ยังเข้าฝึกอาชีพและอบรมต่างๆ ของเรือนจำ เช่น เรียนนวดแผนไทย ที่ทางทัณฑสถานจัดหาครูมาสอนให้ผู้ต้องขัง
ขณะที่การงานที่โรงแรมของโอ๋ ที่ก่อนหน้านี้ ทางหัวหน้างานยังไม่ได้ให้ออกจากงานเลย แต่ยังคงตำแหน่งไว้รอ เผื่อสามารถกลับมาทำงานได้เร็ว แต่เมื่อคำพิพากษาคดีออกมาเช่นนั้น แม่ใหญ่ก็ไปแจ้งแก่ที่ทำงานว่าไม่ต้องรอแล้ว ให้ฝ่ายบุคคลรับคนทำงานคนใหม่มาแทนได้เลย
แม่ใหญ่บอกด้วยว่าเงินที่ได้รับการช่วยเหลือจากการเปิดรับบริจาคจากประชาชนในโลกออนไลน์หลังถูกศาลทหารพิพากษาเมื่อปีที่แล้ว รวมราวหนึ่งแสนกว่าบาท ในจำนวนนี้เกือบหนึ่งแสนบาทยังถูกเก็บไว้อย่างดีในบัญชีที่เปิดแยกไว้ต่างหาก เพื่อใช้เป็นค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายของชีวิตเด็กๆ สองคนในอนาคต ขณะที่ส่วนที่เหลือใช้ชำระหนี้ที่ต้องผ่อนรถจักรยานยนต์ หรือหนี้ที่กู้ยืมมาระหว่างลูกสาวถูกดำเนินคดีไปแล้ว เงินเดือนของแม่ใหญ่คนเดียวยังพอดูแลเด็กๆ และค่าใช้จ่ายของลูกสาวในเรือนจำอยู่ได้
ขณะเดียวกัน เรื่องที่มีผลกระทบต่อครอบครัวอย่างยิ่ง กลับเป็นเรื่องของสุขภาพของทั้งโอ๋และแม่ใหญ่ นอกจากแม่ใหญ่จะมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หลายเดือนที่ผ่านมา แม่ใหญ่ยังมีปัญหาอาการกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดหรือชาที่ขา เวลานั่งหรือยืนนานๆ ทำให้ต้องไปกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลตามที่แพทย์นัด
ขณะที่โอ๋เอง เธอมีปัญหาอาการซีสต์ในรังไข่ ทำให้มีอาการปวดท้องมีเมื่อประจำเดือนมา ก่อนหน้าการเข้าเรือนจำ เธอต้องฉีดยาฮอร์โมนเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งกินยาแก้ปวดต่างๆ เวลาปวดท้อง เมื่อเข้าไปในเรือนจำ ปลายเดือนที่ผ่านมา เธอปวดท้องมาก ทำให้ทางเรือนจำต้องส่งตัวออกไปตรวจอาการที่โรงพยาบาลภายนอก ก่อนหมอจะให้ฉีดยา เมื่ออาการทุเลาจึงส่งกลับเข้ามา และนัดกลับไปพบแพทย์อีก
ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งในครอบครัว คือแม่ใหญ่สนใจติดตามข่าวสารการเมืองและข่าวสารเกี่ยวกับคดีต่างๆ มากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน เธออ่านหนังสือพิมพ์ต่างๆ ในที่ทำงาน กลับบ้านก็เปิดทีวีดูข่าวบ้าง ขณะที่อินเทอร์เน็ต แม้จะเข้าใช้ไม่เป็น แต่ก็มีอุ๊งอิ๊งช่วยเข้าให้ดูบ้างแบบตามมีตามเกิด ฟังและอ่านรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่เธอหวังว่าการติดตามเรื่องเหล่านี้ จะทำให้รู้ถึง “โอกาส” ต่างๆ ที่ลูกสาวจะได้ออกมาจากการถูกคุมขัง
“ตอนแรกไม่รู้เรื่องการเมือง ไม่รู้อะไรคือ 112 ไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านี้เลย ไม่เคยชอบดูข่าวการเมือง แต่เดี๋ยวนี้ต้องติดตามดูอยู่ เผื่อจะมีข่าวดีบ้าง”
ช่วงที่ผ่านมาหลังการพิพากษา แม่ใหญ่เล่าว่ามีผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 2-3 สำนัก แวะมาสัมภาษณ์และพูดคุยกับเธอ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชนอีกบางแห่งเข้ามาติดตามข้อมูล รวมทั้งช่วยแนะนำประสานงานให้รู้จักกับญาติของผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ บางคน
โดยเฉพาะกับญาติของ “โอ๋ชาย” หนุ่มนักดนตรีและผู้ต้องขังในคดีเดียวกันนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกศาลพิพากษาจำคุก 30 ปี แต่ถูกลดเหลือ 15 ปี เพราะให้การรับสารภาพ จากข้อกล่าวเรื่องการโพสต์เฟซบุ๊ก 9 ข้อความ ให้บังเอิญชื่อเล่นของเขาและเธอเหมือนกัน และอายุเท่ากันกับ “โอ๋หญิง” ลูกสาวของเธอ แม่ใหญ่ไม่เคยได้เจอกับแม่ของโอ๋ชาย แต่มีโอกาสได้โทรคุยถามสารทุกข์สุขดิบและความคืบหน้าของกันและกันบ้าง และยังคงติดต่อกันทางโทรศัพท์มาจนถึงบัดนี้
ถึงวันนี้นอกจาก “โอ๋ชาย” แม่ใหญ่รู้จักชื่อของ “สมยศ”, รู้จักลุงอายุมากแล้วที่ถูกกล่าวหาจากการเขียนผนังห้องน้ำ, รู้จักคนเสื้อแดงที่ถูกศาลทหารกรุงเทพฯ พิพากษาจำคุก 30 ปี เมื่อหนึ่งปีก่อนในวันเดียวกันกับลูกสาวของเธอ ถึงแม้จะไม่รู้รายละเอียดคดีของคนอื่นๆ แต่แม่ใหญ่รับรู้ว่ามีคนโดนข้อหาอะไรเหมือนกับลูกสาวของเธออีกหลายคน และเธอเกิดความรู้สึกที่ว่า “ไม่อยากให้ใครต้องโดนแบบนี้อีก”
จดหมาย: การเดินทางของความห่วงใย
อีกความเปลี่ยนแปลงหนึ่งในบ้าน คือกองจดหมายที่บรรจุถ้อยคำความยาวไม่เกิน 15 บรรทัด พร้อมรูปวาดการ์ตูน พอกพูนขึ้นในลิ้นชักโต๊ะตามวันเวลาที่ผ่านพ้นไป ยังไม่นับจดหมายของเด็กๆ ที่ถูกส่งเข้าไปหาแม่ในเรือนจำ
จดหมายที่เดินทางช้า...เมื่อเทียบกับยุคสมัยการสื่อสารออนไลน์ บางฉบับเกือบเดือนกว่าจะได้รับมัน แต่มันกลับบรรจุนานาความรู้สึกของคนข้างในและข้างนอกไว้อัดแน่นภายใน
จดหมายลงวันที่ 3 ก.ค.59 หัวข้อ “เวลาที่คิดถึง”
“หวัดดีจ๊ะพี่อุ๊งอิ๊งค์ & น้องไอติม แล้วก็คุณแม่ใหญ่ด้วย วันนี้เป็นวันหยุดพักผ่อน อากาศก็เย็นสบาย ว่างๆ เลยเขียนจดหมายมาคุยด้วย ช่วงนี้เป็นไงบ้าง เรื่องการเรียนยากหรือปล่าว มีการบ้านเยอะไหม แล้วทำได้ไหม แม่เป็นห่วงลูกนะ เพราะเมื่อก่อนอย่างน้อยก็ยังมีแม่คอยสอน ไม่เข้าใจตรงไหนเราก็เปิดอินเตอร์เน็ตดูเอา แต่ตอนนี้แม่ไม่อยู่ ลูกก็ต้องช่วยเหลือตัวเองนะ อย่าทำให้แม่เป็นห่วงหล่ะ เกิดเป็นลูกแม่ก็ต้องเข้มแข็งเหมือนแม่
“ถึงแม้ว่าลูกจะไม่ได้อยู่กับแม่ แต่ลูกก็ยังมีแม่ใหญ่ที่รักลูกมากนะ เพราะฉะนั้นอย่าทำให้แม่ใหญ่ต้องเหนื่อย เวลาพูดอไรก็ต้องฟัง อย่าเถียง มันไม่ดีนะค่ะ แม่เองก็ไม่อยากให้แม่ใหญ่ต้องเครียด เพราะถ้าแม่ใหญ่ไม่สบายขึ้นมา ใครจะดูแลลูก แล้วแม่เองก็คงลำบาก เราต้องอดทนนะลูก แม่เองก็จะอดทนและเข้มแข็ง เพื่อจะได้กลับไปดูแลลูก 2 คน แล้วลูกก็จะได้ไม่ต้องตื่นตี 4 ตี 5 อีก ลำบากวันนี้แล้วค่อยสบายวันหน้านะจ๊ะคนเก่งของแม่”
จดหมายลงวันที่ 31 ก.ค.59 หัวข้อ “Love mom”
“กราบเท้าแม่ที่ลูกรักที่สุดในโลก วันแม่ปีนี้ ลูกก็คงยังอยู่ในรั้วกำแพงสูงเหมือนเดิม ไม่รู้ว่าที่โรงเรียนเด็กๆ 2 คน จะจัดงานหรือปล่าว ยังไงก็คงเป็นแม่อีกละเนอะ ที่ต้องทำหน้าที่ลูก แม่ โอ๋อยากให้แม่ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง อย่าเครียด
“โอ๋เข้าใจทุกอย่างที่แม่ทำ เพราะอยากให้เราสบาย เพราะตัวโอ๋เอง ก็ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนที่จะได้โอกาสออกไปดูแลแม่ ดูแลลูก เราต้องดูแลตัวเองให้ดี เป็นกำลังใจให้กันตลอดไปนะ บางครั้งที่โอ๋ทำอะไรให้แม่ไม่สบายใจ ลูกคนนี้ขอกราบขมาแม่ด้วยที่ทำให้เสียใจ แต่ไม่มีวันไหนเลยที่โอ๋ ไม่คิดถึงแม่ โอ๋คิดถึงอ้อมกอดของแม่ ที่แม่กอดในวันเยี่ยมใกล้ชิดมาก มันทำให้โอ๋รู้ว่าแม่รักโอ๋มากแค่ไหน และจะไม่มีวันทิ้งโอ๋...”
กระดาษสมุดการบ้าน ไม่มีวันที่ หัวข้อ “วันนี้วันเสาร์อันสดใส”
“คิดถึงแม่จังเลย รักแม่มากๆ
“สวัสดีค่ะ แม่โอ๋คนสวย แม่จ๋าวันที่ 8 ลูก จะได้ไปแม่ริม ไปเข้าแขมป์ 1 วัน ลูกจะตั้งใจเรียน จะไม่ดื้อ ตอนวันลอยกระทง ลูกไปเที่ยวสนุกมาก ลูกจะไม่เถียง จะเชื่อฟังแม่ทุกอย่าง แม่อยู่ข้างใน สบายดีมั้ย ลูกจะไม่เกเร ลูกจะดูแลแม่ใหญ่อย่างที่แม่บอก ลูกจะเป็นเด็กดีของแม่ตลอดไป ลูกจะไม่ทำให้แม่เสียใจ อยากจะกอด อยากหอม สุดท้ายนี้ ขอให้แม่ฝันดี สวดมนต์ทุกวันนะค่ะ ‘รักและคิดถึง’ จุ๊บๆ”
แม่ใหญ่เล่าด้วยว่าเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เด็กๆ เพิ่งชวนกันไปซื้อการ์ดดอกมะลิ พร้อมเขียนอวยพรวันแม่ ส่งเข้าไปถึงแม่ในเรือนจำให้ทันวันแม่ แต่แม่ใหญ่เพิ่งไปเยี่ยมลูกสาวที่เรือนจำมาก่อนวันหยุดวันแม่ ปรากฏว่าโปสการ์ดของเด็กๆ ยังเดินทางไปไม่ถึงมือแม่...
ปฏิทิน: การหยุดลงของเวลา
โอ๋เพิ่งยื่นเอกสารฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันดูเหมือนจะอยู่ในระยะที่เอกสารกำลังเดินทางไปตามขั้นตอน ทราบเพียงว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องการขอยื่นฎีกาในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ได้ตรวจดูเอกสารแล้ว และเอกสารที่มีความหวังอยู่เต็มเปี่ยมนี้ คงเดินทางไปยังส่วนกลางต่อไป แต่ก็ยังไม่สามารถคาดเดาระยะเวลาการเดินทางของมันได้
ล่าสุด แม้จะมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 70 ปี และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 ส.ค.59 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ แต่ตามเนื้อหาในพรฏ.ดังกล่าว โอ๋ ครอบครัว และแม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ทัณฑสถานก็ยังไม่ทราบแน้ชัดว่าผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 อย่างเธอ จะได้รับสิทธิการลดหย่อนโทษลงบ้างหรือไม่ คงต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ต่อไป
เมื่อมองย้อนกลับไป 1 ปี หลังคำพิพากษาของโอ๋ เธอเคยบอกว่า “ตอนหลังคำตัดสินมา ทำใจไม่ได้ คิดแต่ว่าแม่เรา ลูกเรา จะอยู่ยังไง เพราะเราเคยเป็นเสาหลักของครอบครัว แต่ตอนนี้ภาระไปตกอยู่ที่แม่ แม่ก็มีปัญหาสุขภาพร่างกายอยู่แล้ว ทำให้เราเกิดความเครียดมาก
“สิ่งที่ห่วงที่สุดตอนนี้ คือสุขภาพของแม่ อยากให้แม่ดูแลตัวเอง รักตัวเองเยอะๆ ไม่ใช่ห่วงแต่คนอื่น เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ออกไปเมื่อไร...กับลูก อยากให้ช่วยแบ่งเบาภาระแม่บ้าง แต่ไม่ค่อยห่วงมาก เพราะคิดว่าลูกเราเลี้ยงง่าย พูดง่าย แต่ก็ให้หวังให้ตั้งใจเรียน และให้เป็นคนดี”
เช่นเดียวกับแม่ใหญ่ ที่แม้จะผ่านไปหนึ่งปีแล้ว กับเหตุการณ์ฟังคำพิพากษาของศาลในวันนั้น แต่เธอก็บอกว่ายังยากที่จะทำใจ
“มันยังยากที่จะทำใจ ตั้ง 28 ปี ผ่านไป 1 ปีกว่าๆ แล้ว แต่แม่ก็ยังทำใจไม่ได้ ถ้าไปเห็นเขาในเรือนจำ ก็ยิ่งเจ็บปวด แม่ถึงไม่ค่อยไป ให้ป้าเขาไป ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ เรายังร้องไห้อยู่เลย สงสารเด็กๆ โดนก็โดนหนัก ไม่ใช่ 4-5 ปีเหมือนเขา 28 ปี นี่เราคิดไปไม่ถึงเลย
“ถ้าแลกกันได้ แม่จะยอมเข้าไปอยู่ในคุกแทนลูก ให้เขาได้ออกมาเลี้ยงลูกตัวเองดีกว่า แม่ก็อายุมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังตั้งความหวังไว้อยู่ทุกๆ วัน ว่าเขาจะได้ออกมา ตอนนี้ก็ภาวนาขอให้ชื่อลูกติด 1 ใน คนที่จะได้ลดโทษบ้าง เพื่อให้เขาได้ออกมาอยู่กับลูกตัวเองไวๆ”
หากลองบวกลบคูณหารดูแล้ว ถ้าต้องติดคุกจนครบกำหนดโทษ 28 ปี โดยไม่ได้รับการลดหย่อนใดๆ เลย โอ๋จะถูกปล่อยตัวในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2586 นับเป็นเวลาที่เธอต้องอยู่ในเรือนจำจำนวน 10,227 วัน หากนับถึงวันที่ 12 ส.ค.59 เธอถูกคุมขังมาแล้ว 547 วัน ยังเหลือระยะเวลาอีก 10,163 วัน จึงจะครบ “โทษทัณฑ์” ที่ศาลทหารพิพากษาลงมา
เมื่อถึงวันนั้น เธอจะอายุ 57 ปี ขณะที่อุ๊งอิ๊งจะอายุ 38 ปี ไอติมจะอายุ 35 ปี และแม่ใหญ่ของเธอจะอายุ 75 ปี...
จำนวนระยะเวลายาวนานเหล่านี้ ยังนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ยังคาดประเมินไม่ได้อีกอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกและความคิดของเด็กๆ สองคน แม่ใหญ่บอกว่าทั้งสองคนเงียบซึมเพิ่มมากขึ้น เมื่อไม่มีแม่โอ๋เป็นเพื่อนเล่นเหมือนปกติ ไม่มีแม่พาไปกินเที่ยวเล่นในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์เหมือนที่ผ่านมา แม่ใหญ่บอกว่าบางทีไม่มีอะไรเล่น เด็กๆ ก็เอารูปแม่มานั่งพูดคุยด้วย
“อุ๊งอิ๊ง” คนโต ที่สนิทกับแม่มากกว่า ตั้งแต่รู้ความก็ไม่เคยห่างจากแม่ ทำให้ติดแม่มากกว่าคนเล็ก ก็ใช้เวลาช่วงใหญ่ๆ กับการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ เธอรู้จักมาตรา 112 ว่าแม่ต้องโทษด้วยมาตรานี้ แม้อาจไม่เข้าใจแน่ชัดว่ามันคือเรื่องอะไรกันแน่ ขณะที่ “ไอติม” เอง ยังดูจะไม่รู้ความถึง “มาตรา” และจำนวนของโทษทัณฑ์ที่แม่ของเธอได้รับ
ความซับซ้อนในความเข้าใจของเด็กๆ นี้ ยังนำไปสู่ “ความไม่เปลี่ยนแปลง” ของสิ่งของบางอย่างภายในบ้าน โดยตั้งแต่ปีที่แล้ว ปฏิทินแขวนผนังของครอบครัวนี้ ที่ปกติจะต้องฉีกผลัดเดือนทุกครั้งเมื่อเดือนปีผ่านไป กลับหยุดลงที่เดือนสิงหาคม 2558
ใช่, ก่อนหน้านี้ ไอติมเคยคิดว่าแม่จะได้ออกมาเจอเธอในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 เพราะไม่เข้าใจว่า “โทษ 28 ปี” นั่นหมายถึงอะไร แต่เมื่อเดือนสิงหาคมปีนั้นผ่านพ้นไป แม่ยังไม่ได้ออกมาเจอเธอ ไอติมบอกกับแม่ใหญ่ทีเล่นทีจริงว่าไม่อยากให้ฉีกปฏิทินออก เพราะเดี๋ยวแม่ก็มาแล้ว ยังไม่ต้องดึงปฏิทินออกได้ไหม
ตั้งแต่วันนั้นปฏิทินของบ้านนี้ก็หยุดลง...จนแม่ใหญ่ต้องไปหาปฏิทินแขวนอันอื่นที่ฉีกให้หมุนเวียนตามวันเดือนปี มาแขวนในบ้านเพิ่ม
ล่าสุด แม่ใหญ่เล่าให้ฟังว่าครูประจำชั้นเพิ่งถาม “ไอติม” ว่า “แม่เธอจะมาเมื่อไร”
ไอติมเล่าว่าเธอบอกครูไปว่า “แม่จะมาวันแม่”
ยังไม่มีใครรู้หรอก, ยังไม่มีใครรู้ว่า “วันแม่” นั้นจะมาถึงเมื่อไร และ “เวลา” บนผนังจะหยุดลงอีกนานเท่าไร
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ดูรายละเอียดของคดีศศิวิมลได้ที่--> http://freedom.ilaw.or.th/case/681
อ่านประมวลรายละเอียดคดีของศศิวิมล ได้ที่ --> https://tlhr2014.wordpress.com/2015/08/10/sasivimon_112_2/
และอ่าน “เรื่องเล่า” หนึ่งปีก่อนหน้านี้ได้ที่ ศศิวิมล: 112 กับวันแม่ที่ไม่มีแม่อยู่