Skip to main content

หลังจากเดินทางประมาณ 92 ก.ม. จากอำเภอบาเทื๊อก (Ba Thước) (เมืองคอง) จังหวัดแทงฮว๋า (Thanh Hoá) เวียดนาม ถิ้นผู้ไทแดง ไปตามเส้นทางอันทุลักทะเลประมาณว่าหารถเก๋ง แท๊กซี่ อะไร ก็ไม่ยอมไปด่านนาแหม่ว ̣(Na Mèo) เพื่อข้ามไปยังเมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน สปป.ลาว นอกจากรถมอร์เตอร์ไซด์(บางคัน) รถเมล์ท้องถิ่น และรถโฟรวิลล์ไดรฟ์บ้าดีเดือดคันที่ผู้เขียนเช่าคันนี้ เป็นเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ผู้เขียนก็ออกอาการ “ไส้แทบคราก วินหัวสิฮาก

ร้านค้าบริเวณด่านนาแหม่ว อำเภอกวานเซิน จังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม

หลังจากกินข้าวเที่ยงที่บ้านญาติของคนเจ้ารถโฟร์วิลล์บ้าดีเดือดแล้ว ผู้เขียนก็โบกมือลาทั้งเจ้าของรถและบ้าน เดินไปรอรถเมล์ไปอำเภอเวียงไซที่ด่านฯ ฝั่งลาวได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็เจอรถเมล์ลักษณะคล้ายรถกระป๋องเข้ามาถึงด่าน ดูท่าแล้วผู้โดยสารจะเต็ม คงไม่มีที่ว่าง ต้องยืนประมาณ 2 ช.ม. ไปจนถึงเวียงไซ ทำไงดีหล่ะเนี่ยเรา ว่าแล้วก็เห็นผู้โดยสารลงจากรถเมล์เพื่อไปทำเอกสารผ่านแดน เอาหล่ะ งานนี้ต้องทำตัวเป็น “มนุษย์ป้า” หน้าด้าน แย่งที่ผู้ชายฉกรรจ์นั่ง

และแล้วก็สำเร็จจนได้ ผู้ชายนั่นมาส่งภาษาเวียดถามว่า ไม่เห็นเรอะ วางของไว้ จองที่แล้ว แต่...มนุษย์ป้า(จำเป็น) อย่างเราทำเป็นไม่เข้าใจ แกล้งได้ยินไม่ชัด แต่ในใจก็สงสารนะ เลยบอกเป็นภาษาท่าทางว่า มานั่งด้วยกันสิ ว่าแล้วก็ขยับที่ให้นั่งเบียดๆ กันไป 3 คน แต่นั่งได้สักพัก เขาไม่ถนัดเขาเลยไปนั่งตรงกระสอบข้าวข้างๆ ว่าไปแล้วรถเมล์คันนี้เหมือนรถเมล์ต่างจังหวัดของไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนเลย คือขนข้าวสารหลายสิบกระสอบ โน่น นี่นั่น เต็มรถ จนไม่มีที่ไว้ขา ต้องเหยีบบกระสอบข้าว ฝุ่นดินแดงตลบเป็นระยะๆ แดดส่องหน้าตลอดจนพลบค่ะ ต้องเอา “หนอนลา” (หมวกยอดแหลมสไตล์เวียดนาม) มาปิดหน้าบรรเทากระฝ้าเห่อขึ้นหน้า

รถเมล์สัญชาติเวียดนาม จากจังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม ไปยังเมืองซำเหนือ สปป.ลาว

รถเมล์ที่ไปซำเหนือเป็นรถเมล์สัญชาติเวียดนาม ออกเดินทางจากจังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม ผ่านด่านฯ นาแหม่ว ทุกวัน ไป-กลับ วันละ 1 เที่ยว เมื่อกระเป๋ารถเมล์มาเก็บตังค์ เขาถามว่าผู้เขียนเป็นคนประเทศอะไร ผู้เขียนรู้อยู่แล้วว่าถ้าตอบว่าเป็นไทย จะต้องโดนโขกค่าโดยสารเพิ่มอีกเท่าตัว เลยตอบไปว่า โตยหล่าเวียดเกี่ยว (ฉันเป็นคนเวียดนามที่อพยพไปต่างประเทศ) กระเป๋าถามต่อ เนื้อกหน่าว (ประเทศอัลไล) ผู้เขียนบอกว่า ไทย กระเป๋าเลยบอกว่า เอามาเลย...ด่อง (เท่าไรไม่รู้ จำไม่ได้ แต่ได้จดบันทึกการเดินทางไว้ว่ามันมากกว่าค่ารถปกติ 2.5 เท่า) ผู้เขียนตอบกลับไปว่า เจ่ยเอ้ย...หล่ามสี่หม่าดั้ดเถ๋ (โอ้วมายก๊อด...ทำไมแพงนัก) กระเป๋าทำหน้านิ่งๆ แล้วบอกว่า จิหล่ะเหงื่อยเนื๊อกหว่าย (ก็เจ๊เป็นคนคนต่างชาตินี่) ...นึกในใจ กระเป๋ารถเมล์แถวนี้แมร่งโหดสัสว่ะ ถ้าเป็นไทขาวแถวมายโจวหน่ะ สบายไปแล้ว...ซัดภาษาไทขาวแล้วบอกว่า “เฮาเป็นไตยองเดียวกัน เป็นหมั้ง จังมาทูเอาเงินแปงแต้” (เราเป็นพี่น้องไทเหมือนกัน ทำไมต้องเก็บเงินแพงแบบนี้) เจอแบบนี้ กระเป๋ารถเมล์มายโจวเงิบไปเลย...อิอิ แต่งานนี้เจอคนเวียด ด้วยมุข “เวียดเกี่ยว” ดันใช้ไม่ได้ “มนุษย์ป้าหน้าด้าน” เลยเงิบเองเลย...กำ

ระหว่างทางทั้งฝุ่น ทั้งร้อน ทั้งหิว ทั้งจะอ้วก เวียนหัวกับรถเมล์กระป๋อง และทางบนเขาสายเปลี่ยว สภาพถนนน้องๆ โลกพระจันทร์ มีคนบอกว่า “การหาเรื่อง หางานเข้าตัวเองนี่ถนัดนัก อัจฉริยา” เพราะไม่เคยคิดเรื่องความคุ้มค่าและความสมเหตุสมผล เพราะในหัวใจมีแต่เรื่องอยากรู้ อยากเห็น อยากสัมผัส อยากคิด อยากติด อยากตาม แค่นี้ก็พอแล้วที่จะให้ travelling ethnographer นางนี้ออกลุยไป บ่นไปได้

บ่นมาพอสังเขปแล้ว ขอเข้าเรื่องราวของการตามหาไทแดงซะเลย

ผู้เขียนลงรถเมล์ที่เวียงไซ ทั้งๆ ที่ตั้งจะไปถึงซำเหนือ แต่ก็นะ...สภาพรถ ถนน และร่างกายไม่เอื้ออำนวย เมื่อลงจากรถ มีหนุ่มๆ 3-4 คนมามะรุมมะตุ้ม สปี๊กเวียดนาม ถามว่าจะไปไหน พวกเขาเป็นทั้งมอร์เตอร์ไซด์รับจ้างและเป็นนายหน้ากินค่าคอมมิชชั่นจากพวกโรงแรมและรีสอร์ท ต่อราคาค่ามอเตอร์ไซด์รับจ้างเสียนานจนตั้งสติได้ว่า นี่มันเมืองลาวนี่ ทำไมเรามาพูดเวียดนามกันหว่า...ว่าแล้วก็พูดลาวออกไป แต่มอร์ไซด์รับจ้างสัญชาติเวียดนามกลับฟังไม่รู้เรื่อง

และเชื่อมั้ยว่า นับแต่บัดนั้น เพื่อการอยู่เวียงไซให้รอดและให้ดี แม้เพียง 4 วัน 3 คืน ผู้เขียนต้องใช้ถึง 3 ภาษา คือ เวียดนาม เพื่อพูดกับเจ้าของโรงแรม ร้านขายอาหาร ผลไม้ และร้านซ่อมสกู๊ดเตอร์ที่ไปปะยาง ภาษาลาวไว้คุยกับร้านอาหารและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และภาษาอังกฤษไว้คุยกับคนอินเดียที่มาเปิดร้านอาหารที่เวียงไซ เรียกได้ว่า หากพูดได้ภาษาใดภาษาหนึ่งก็ต้องจอดไม่เป็นท่า ไม่ก็เมื่อยมือส่งภาษาใบ้กันไป

ภูมิทัศน์เมืองเวียงไซ  แขวงหัวพัน สปป.ลาว

ไทแดงมาจากไหน มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร

เอ๋ยา (ย่า) วัย 76 ปี แม่ของเจ้าของบ้านที่ผู้เเขียนเคยไปพักอาศัยบ่อยครั้ง ที่อำเภอมายโจว จังหวัดฮว่าบิ่ง เวียดนาม เล่าว่าทางลาวมีคนไทจากฝั่งเวียดนามไปอยู่เยอะมาก เพราะกลัวถูกเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสจับเอาไปเกณฑ์แรงงานและเป็นทหาร

ข่าเตี๋ยน (ปู่เตี๋ยน) อดีตหัวหน้าแผนกวัฒนธรรม อำเภอมายโจว จัวหวัดฮว่าบิ่ง เวียดนาม กล่าวว่าชนชั้นนำไทแถบจังหวัดฮว่าบิ่ง-แทงฮว๋าบางคนเข้าร่วมกับกองทัพฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสแพ้สงครามที่เดียนเบียนฝู๋ (เมืองแถง)แล้ว คนเหล่านี้ก็ต้องหนีตายไปลาว ไปทางเวียงไซ บ้างก็หนีลงไปทางเวียดนามใต้ คนไทบางส่วนหนีไปฝรั่งเศส เนื่องจากเกรงว่าจะถูกกองทัพเวียดมิงห์จับตัว ปู่เตี๋ยนยังเล่าให้ฟังอีกว่า ความจริงแล้ว ก่อนยุคอาณานิคมและการเกิดขึ้นของรัฐชาติ บริเวณที่เป็นชายแดน แถบนาแหม่วและเวียงไซนั้นเป็นพื้นที่ที่กลุ่มไทแดงอาศัยอยู่ก่อนแล้ว 

เพราะอย่างน้อย ก่อนยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ก็มีเรื่องเล่าอยู่บ่อยๆ ที่เกี่ยวกับต๋าว (ท้าว) บ้านแห่งหนึ่ง ที่มีความขัดแย้งกับท้าวเมือง เพราะโดนท้าวเมืองกลั่นแกล้ง ท้าวบ้านก็ยกครัวทั้งหมู่บ้านหนีข้ามไปยัง "เมืองลาว" หรือแม้แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักโรแมนติกระหว่างหนุ่มสามัญชนกับนาง ผู้เป็นลูกสาวท้าวเมือง เมื่่อไม่ได้กันเพราะชนชั้น ทั้งสองก็หนีตามกันไปอยู่ "เมืองลาว" ซึ่งผ่านไปทาง "เมืองลัด" (ด่านชายแดนอีกด่านหนึ่งที่อยู่ไม่ห่างจากนาแหม่ว แต่ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจนักว่า "เมืองลาว" ที่ว่านั้นอยู่บริเวณเวียงไซ หรืออยู่ลึกไปกว่านั้น)

เรื่องนี้ต้องตามต่อไปในอนาคต....

ผู้เขียน เพื่อจะได้ผูกมิตรกับคนไทแดงซักคน ได้พยายามเดินไปเที่ยวตลาด เที่ยวถ้ำประวัติศาสตร์การปลดปล่อยชาติลาวในช่วงทศวรรษ 1970 ด้วยบริการของไกด์ชาวลาว และมานั่งที่ร้านอาหารและเม้าท์มอยกับเจ้าของร้านชาวอินเดียและลูกจ้างชาวลาว ก็เลยได้มีโอกาสพูดคุยกับไทแดงหลายคน เจอใคร ถ้าถามได้ก็มักจะถามว่าบรรพบุรุษมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไร  ได้คำตอบต่างกันว่า บางคนอพยพมาหลากหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นปู่ทวด ปู่ พ่อ บางคนก็บอกว่ารุ่นตัวเอง (พ่อ-แม่อยู่เวียดนาม) แต่ไม่มีใครบอกว่าอยู่ที่นี่แต่ไหนแต่ไรมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

จนในที่สุดก็ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอผู้หนึ่ง ซึ่งต่อมาเขาพาไปหมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดเขา นั่นทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับชาวบ้านหลายคน เขาบอกว่าเขามาอยู่นี่ตั้งแต่รุ่นพ่อ-ปู่ (ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถามคนแก่หรือคนวัยกลางคน)   เจ้าหน้าที่ผู้นั้นบอกว่าประชากรไทแดงที่เวียงไซ มีถึงร้อยละ 80 คนส่วนใหญ่ยังรู้ว่าตัวเองเป็นไทแดง ไม่ได้เป็นลาว

แม้จะแยกไม่ออกจากการแต่งกายและลักษณะของบ้านเรือนว่าเป็นลาวหรือไทแดง แต่ที่แน่ๆ พวกเขามีคำศัพท์บางคำที่ต่างจากลาว ฟังปุ๊ป รู้ปั๊ปว่าไม่ใช่ลาว เช่น คำว่า “เจ่อนี้” (เวลานี้) ซึ่งคำว่า "เจ่อ" มาจากคำว่า "เซ่อ" (giờ) ในภาษาเวียดนาม แปลว่า เวลา  ส่วนภาษาลาวใช้คำว่า เดี๋ยวนี้ หรือคำว่า “เจ็บเจ่อ” ในภาษาไทแดง แต่ภาษาลาวบอกว่า เจ็บใจ

คำเรียกตระกูล/นามสกุลของไทแดง ก็ใช้คำว่า “จาว”  (คนไทดำใช้คำว่า "สิง") ผู้เขียนได้พูดคุยกับไทแดงที่นี่หลายคน พบว่ายังใช้จาว (นามสกุล) เดิม จาวเดียวกับกลุ่มคนไทขาวและไทแดงในเวียดนาม จาวที่มีอยู่มากได้แก่ จาวข่า วี ลอ เลือง และเงิน ซึ่งจาวนี้ ใช้กันมานานอย่างน้อยก็ 700 - 800 ปี แล้ว ก่อนที่ลาวจะมีนามสกุลเพราะเข้าสู่โลกสมัยใหม่

บ้านไทแดงที่เมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน สปป.ลาว

บ้านไทแดง อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม

อยากรู้ว่าไทแดงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับลาวไปมากน้อยเพียงใด

...ก็เลยไปดูว่าที่เวียงไซมีวัดหรือไม่ เพราะไทแดงที่เวียดนามนับถือศาสนาผี (บรรพบุรุษ) พิธีศพตายแล้วต้องฝังสถานเดียวเมื่อฝังแล้วต้องกลับมาตั้งแท่นบูชาเป็นผีบรรพบุรุษที่บ้าน แต่ถ้าเผาแล้วบรื๋อส์ชวนสยองมาก เป็นเรื่องที่รับได้ยาก คิดดูสิว่าจะให้คนที่อยู่กับประเพณีฝังศพมาเป็นพันๆ ปี จินตนาการได้อย่างไรว่าสุดท้ายตายไปแล้วไม่เหลืออะไร ร่างกายกลายเป็นเถ้าถ่าน  เรื่องนี้เมื่อผู้เขียนกลับจากเวียงไซไปมายโจว ไปเล่าให้ชาวบ้านมายโจวฟังว่าคนไทบางคนที่นั่นเขาเผาศพ คนมายโจวต่างก็ทำหน้าแหยะๆ แหยๆ แล้วก็ถามว่า ถ้าเผาแล้วเขายังเชิญผีไปอยู่บนแท่นบูชาที่เรือนรึเปล่า เราบอกว่าเปล่า เผาแล้วก็จบ กระดูกเก็บไว้ที่วัด เขาบอกว่า แล้วแบบนี้จะให้ผีเร่ร่อนไปไหน บ่เอากะเล้อ ต้องฝัง แล้วกลับมาตั้งแท่นบูชาไหว้ที่เรือน (ซึ่งวิธีการจัดการแบบนี้คล้ายกับของเวียดนามและจีน)

อย่างไรก็ดีที่เวียงไซก็มีวัดอยู่หนึ่งเดียว ไม่ใหญ่โต ขณะที่ผู้เขียนเข้าไปนั้น วัดนี้กำลังก่อสร้างวิหารอยู่ คนงานที่กำลังสร้างวิหารนั้นเปิดวิทยุเพลงเพื่อชีวิตของไทย(แลนด์) เมื่อถามเณรที่วัดได้ความว่าที่วัดมีพระ 1 รูป และเณร 3 คน เป็นเณรเด็กน้อย 1 คน อีก 2 คนเป็นเณรวัยรุ่น ทั้งหมดนี้เป็นคนลาว

เรื่องศาสนาทำให้ไทแดงในเวลานี้แตกต่างกจากลาวอย่างเห็นได้ชัด คนลาวที่เวียงไซบอกว่า ไทแดงนับถือศาสนาผี ไม่เข้าวัด ส่วนลาวนับถือศาสนาพุทธจึงเข้าวัด ลาวบอกว่าไทแดงไม่รู้ว่าจะวางตัวอย่างไรเวลาเข้าวัด เมื่อคุยกับคนไทแดง เขาบอกว่าที่ไม่นับถือศาสนาพุทธเพราะพิธีการจัดการศพในศาสนาพุทธคือการเผา สำหรับศาสนาผีของไทแดงคือการฝัง การเข้าศาสนาพุทธคือศพตัวเองต้องถูกเผา กลัวการเผาศพ ไม่มีการ “มอ” (สวด) ผีก็ไม่ได้ขึ้นฟ้า

พิธีสวดและฝังศพของผู้ไทเมืองมายโจว จังหวัดฮว่าบิ่ง เวียดนาม

อย่างไรก็ดี หากมีการแต่งงานไทแดงกับลาว จะจัดการศพอย่างไร ชาวบ้านบอกว่าให้ปฏิบัติตามจารีตประเพณีของฝ่ายสามี หากฝ่ายสามีเป็นไทแดง ฝ่ายภรรยาเป็นลาว ให้ภรรยาประพฤติตามจารีตฯ ของไทแดง นั่นคือ เมื่อตายแล้วต้องฝัง ส่วนสาวไทแดง หากได้สามีเป็นลาว เมือตายแล้วศพต้องถูกเผา ชาวบ้านยังพูดติดตลกว่า หากสาวไทแดงไป “เอาผัว” ลาวแล้วเสียเปรียบ เพราะศพจะต้องถูกเผา ไม่ได้ถูกสวดให้ขึ้นฟ้า ส่วนสาวลาวที่มา “ได้ผัว” ไทแดง จะได้เปรียบเพราะไม่ต้องถูกเผาศพ

ไทแดงที่ลาวจำนวนมากในปัจจุบันไม่ได้ติดต่อกับไทแดงที่เวียดนามอีกแล้ว เพราะขาดการติดต่อกันมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนน้อยที่เพิ่งอพยพมาในรุ่นพ่อ ที่ยังมีการติดต่อกันบ้าง ชาวบ้านหลายคนเล่าว่า ในช่วงเทศกาลตรุษเวียดนาม (เต็ด) มีไทแดงในลาวบางส่วนข้ามผ่านด่านเมืองลัด ไป “กินเต็ด” ที่เวียดนาม

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทแดงและลาวที่นี่ คำตอบจะออกมาในแนวเดียวกัน คือ “ไทแดงกับลาวก็อยู่กันได้ด้วยดีเหมือนพี่ๆ น้องๆ”  (แต่จะจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้ต้องดูอีกยาว)

พี่ชายที่ขับแท๊กซี่ระหว่างซำเหนือ – ชายแดนเวียดนาม ก็บอกเล่าถึงความสัมพันธ์อันดีและระหว่างไทแดงกับลาว และก็คงเพราะเห็นผู้เขียนเป็นคนไทยก็คงเป็นได้ พี่ชายคนนี้จึงพูดถึงเวียดนามกับลาวอันมีนัยทางการเมืองเพื่อตอบโต้คนไทย แกกล่าวว่า “จริงๆ แล้วเวียดนามกับลาวก็เป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน

เวียดนามไม่เคยมาเอาดินแดนลาว มีแต่ไทย(แลนด์) ที่มาเอาดินแดนลาวไปหมด ภาคอีสานของไทยก็คือดินลาว บ้านพี่เมืองน้องเรามีกันอยู่ 3 ประเทศคือ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา” แม้ว่าพี่ชายคนนี้จะบอกแก่ผู้เขียนก่อนหน้านี้ว่าเวียดนามเป็นคนขี้โกงเมื่อเปรียบเทียบกับคนชาติอื่นๆ เช่น ไทย จีน แต่ในความเป็นประเทศ เขารู้สึกดีกับเวียดนามมาก

งะ... ใครที่นึกว่าไทยเราเป็นบ้านที่เมืองน้องกับลาวก็ลองฟังเอาไว้ ลองคุยกับคนลาวบ่อยๆ คุณจะไม่แปลกใจเลยกับสิ่งที่พี่แท๊กซี่คนนี้พูด

บันทึกการเดินทางเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557

อัพโหลดวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
ครบปีแล้วสินะที่เราเดินตามก้นอาจารย์อานันท์ไปสำรวจซิดนี่ย์... เมื่อเอารูปเก่าๆ มาดู...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า วันนั้น อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ในวัย ๖๘ ปี นอกจากจะสอนหนังสือมาราธอน สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า ๙ ชม.
เก๋ อัจฉริยา
มอญในเมียนมาร์ ไม่ว่าจะอยู่ที่เมียนมาร์แลนด์หรือไทยแลนด์ ต่างก็ได้ชื่อว่า เป็น “คนอื่น” ในแผ่นดินที่ (เคย) เป็นของตัวเอง ถ้าเรามองภายใต้กระบวนทัศน์ที่แบบมองอะไรแบบ “เชิงเดี่ยว”  
เก๋ อัจฉริยา
แรงงานชาวเมียนม่าร์ (พม่า มอญ ทวาย อารกัน ฉาน กระเหรี่ยง ฯลฯ) ที่สมุทรสาคร แม้มียอดลงทะเบียนทั้งเก่าและใหม่ถึง 387,510 คน แต่จากการประมาณการของ NGOs ทั้งไทยและเมียนม่าร์ น่าจะมีประมาณ 600,000 – 700,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 15,000 คน แต่เชื่อหรือไม่ว่า เด็กเหล่านี้เพียงร้อยละ 7.6 ที
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปนิเทศน์นิสิตที่ฝึกงานที่บ้านพักเด็กและครอบครัว แห่งหนึ่งของทางราชการ และได้พบกับเด็กชายชาวพม่า ๒ คนที่ถูกตำรวจจับและส่งให้บ้านพักเด็กแห่งนี้ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก เด็กคนแรกอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ขวบ คนที่สองเป็นน้องอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ
เก๋ อัจฉริยา
ในฐานะนักมานุษยวิทยาการท่องเที่ยว ผู้เขียนจะรู้สึกฟินฝุดๆ เมื่อพบว่าพื้นที่ท่องเที่ยวใดเปิดโอกาส เปิดที่ เปิดทางให้คนเล็กคนน้อยได้ทำมาหากิน และเปิดที่ เปิดทาง เปิดโอกาส ให้คนเล็กคนน้อยได้เที่ยวในราคาถูกแบบบ้านๆ เช่นกัน
เก๋ อัจฉริยา
บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายชั่วอายุคนแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ แต่ที่น่าสนใจเพราะมันเพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง จำได้ว่าเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ผู้เขียนใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ – หนองคาย 3 ปี พ่อเล่าให้ฟังว่ามีบั้งไฟขึ้นกลางลำน้ำโขงตอนออกพรรษา แต่ไม่มีใครในบ้านสนใจไปดูแ
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อมีคนรู้ว่าผู้เขียนพานิสิตจำนวน 16 คนไปถ่ายทำสารคดีบั้งไฟพญานาค ส่วนใหญ่ต่างก็ถามว่า มา “พิสูจน์” บั้งไฟพญานาคหรือ?
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อพูดถึงเจดีย์ไชทียู หรือที่คนไทยรู้จักในนามพระธาตุอินทร์แขวน ก็ขอให้ลืมเป็นการชั่วคราวเรื่องตำนานพระฤาษี และความศักดิ์สิทธิ์ แต่สิ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือชีวิตของคนเล็กคนน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาสร้างการดำรงชีพในพื้นที่ท่องเที่ยว ณ ที่แห่งนี้
เก๋ อัจฉริยา
            เหตุเกิดเมื่อกลางปี 2008 นักมานุษยวิทยาสมัครเล่นนางหนึ่งได้ใช้เวลา 3 วันโดดเรียนไปเที่ยวที่ Sa Pa (ซาปา) เมืองในหมอกบนพื้นที่สูงของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ภูเขาที่นี่สูงเสียดฟ้าสลับซับซ้อนกันหลายลูกจริงๆ จนภูเขาบ้านเราสมควรถูกเรียกว่า “hill” มากกว
เก๋ อัจฉริยา
ณ วัดเทพฯ มหาชัย สมุทรสาคร ในวันสงกรานต์ มีแรงงานพม่ามาทำกิจกรรมทางศาสนาไม่ต่ำกว่าหมื่นคน เมื่อดูจากผู้คนที่มาทำกิจกรรมฯ ที่วัดในวันนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แรงงานพม่าที่มหาชัย มีเชื้อชาติพม่า-พม่า มีน้อยมาก ทว่าส่วนใหญ่เป็นมอญ-พม่า ทวาย-พม่า และอารกัน-พม่า (จากรัฐยะไข่) (ตามลำดับ) พวกเขา แม้อย