Skip to main content

จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน และอุบัติเหตุในมหาวิทยาลัยในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น. โดยกำหนดให้ “งดใช้” รถจักรยานยนต์ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2558 เป็นต้นไป แล้วส่งเสริมให้ใช้จักรยานและรถไฟฟ้า (ที่มีจำนวนน้อย ไหลมาเอื่อยๆ เฉลี่ย 15 นาทีต่อคัน) โดยวิพากษ์การกำหนดนโยบายที่ปราศจากการรับฟังเสียงและการมีส่วนร่วมของนิสิต วิพากษ์นิสิตว่าเงียบเฉย ไม่ออกมาต่อต้าน บทความนั้นยังตั้งคำถาม-วิเคราะห์สาเหตุที่นิสิตไม่ลุกขึ้นมาต่อต้าน และทิ้งท้ายว่าควรมีการสร้างขบวนการนิสิตให้แข็งแกร่งขึ้นมา

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับบทความนั้น ในแง่ที่ว่า หนึ่ง ผู้บริหารฯ ออกนโยบายโดยไม่คำนึงถึงความคิดและผลกกระทบต่อตัวนิสิต และมันชวนให้คิดสะกิดติ่งต่อไปอีกว่า นี่ไม่ใช่เฉพาะกับที่ ม.นเรศวร ที่เดียว การไม่เห็นหัวประชาชนคนเล็กคนน้อยแบบนี้เป็นกันแทบทุกมหาวิทยาลัย และเป็นกันแทบจะทุกหย่อมหญ้าของประเทศ แม้แต่ในเวลานี้ เวลาที่เราต้องการรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนคนเล็กคนน้อย แต่เราก็ได้แต่ร้อง เย เย เย...

 สอง ในนามของความหวังดีต่อ “สิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ส่งผลให้เกิดมลภาวะ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน และการรักษาสุขภาพที่ดีของประชาชน” ภายใต้นโยบาย “Green University” แต่ก็มีเสียงตามหลังมาไม่ขาดสายว่า...ฮ่วย! แล้วรถเก๋งหล่ะ ไม่ใช้พลังงาน ไม่สร้างมลภาวะ และไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุกว่ามอร์เตอร์ไซด์ดอกหรือ? แล้วเหตุใดจึงเลือกจัดการแต่เฉพาะกับมอร์เตอร์ไซด์? หรือมหาลัยเลือกปฏิบัติ จัดการกับเฉพาะนิสิตซึ่งเป็นผู้ด้อยอำนาจที่สุดในมหาวิทยาลัย?

อีกทั้ง การให้เหตุผลเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ปัญหาการเฉี่ยวชนจักรยาน จนผู้ขี่จักรยาน "เดทสะมอเร่" ไปหลายรายที่เป็นช่าวกันทุกวันนี้นั้น ...ก็ฝีมือรถเก๋งทั้งนั้น หากใช่แมงกะไซด์แต่อย่างใดไม่

อย่างไรก็ดี บทความนี้ไม่ได้เขียนมาเพื่อวิพากษ์นโยบายของมหาวิทยาลัย อันเป็นการซ้ำประเด็นกับบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิตฯ” ที่ผู้เขียนเห็นด้วยในบางประเด็น แต่...รู้สึก “ปรี๊ดส์” แล้วถอนหายใจเฮือกใหญ่ กับการ “ดูเบา” กับพลังนิสิตภายใต้การมองจากกรอบแนวคิดการเคลื่อนไหวสังคมแนวเก่า ของบทความชิ้นนั้น (ทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยนไปมากจนเข้าสู่ยุคโพสต์โมเดิร์นแล้ว) เช่น ประโยคที่ว่า....

ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่าองค์การนิสิต สภานิสิต หรือผู้นำนิสิตต่าง ๆ กลับไม่มีความกระตือรือร้นที่จะออกมาเป็นผู้นำในการต่อต้านหรือแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายดังกล่าวนี้เลย ทั้งที่องค์กรหรือผู้นำเหล่านั้นควรที่จะเป็นส่วนแรกที่สัมผัสได้ถึงความเดือดร้อน เพราะเนื่องจากเขาเป็น ตัวแทนในการปกป้องผลประโยชน์ของมวลนิสิต แต่สิ่งที่เห็นนั้นกลับตรงกันข้าม คงมีแต่เสียงเงียบของเหล่าตัวแทนนิสิตที่เงียบเสียยิ่งกว่า "เป่าสาก"

....ขณะเดียวกันเรากลับไม่เห็นบทบาทของเหล่าองค์การนิสิตหรือสภานิสิตรวมทั้งผู้นำนิสิตทั้งหลายในการต่อต้านนโยบายของมหาวิทยาลัยเลย.....

รวมทั้งบทความนั้นยัง เชื่อมั่นมว๊าก ในพลังของผู้บริหาร ว่าจะสถาปนาอำนาจครอบงำ (hegemony) ในมหาวิทยาลัยได้ ...แต่มันไม่ใช่อ่ะ เพราะเหตุผลใดนะหรือ...

ประการแรก ข้อเท็จจริงก็คือว่า (อย่างน้อยที่เป็นรูปธรรม) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สภานิสิต ร่วมกับองค์การนิสิต และสโมสรนิสิตคณะต่างๆ ได้จัด “ประชาเสวนา Green University”  ณ ลานแอโรบิค ผู้เขียนได้คุยกับนิสิต 2 คน ที่ไปร่วมประชาเสวนาในวันนั้นคือ คุณกนิษฐา กฤติยา และคุณณัฐ น้อยด้วง  (นามจริงทั้งสองคน) 

การคุยกับกนิษฐาและณัฐ ต่างกรรมต่างวาระ ได้ข้อมูลว่า ณ เวลายามเย็น แดดร่มลมตก ณ ลานแอโรบิค คณะผู้จัดงานข้างต้นได้เชิญผู้บริหารฯ โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต (นิสิตส่วนใหญ่เรียกว่า “อาจารย์พี่หมอเอ”) เป็นผู้แทน ขึ้นเวทีเสวนาร่วมกับนายกองค์การฯ และนายกสภาฯ โดยมี รศ.ดร.จักษ์ พันธุ์ชูเพชร ดำเนินรายการ  แม้ว่ามหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงปิดภาคการศึกษา แต่วันนั้นมีนิสิตมาร่วมเสวนา นับด้วยสายตา ประมาณ 500 คน

ประชาเสวนาในครั้งนี้มีการตั้งกติกาว่า “จะแรงด้วยสาระ ไม่แรงด้วยคำพูด และไม่แรงด้วยกิริยา”

นิสิตส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น (1)  มีการตั้งคำถามจากนิสิตว่า “นโยบายนี้ทำไมจึงไม่ปรับใช้กับคนกลุ่มน้อยที่สร้างมลภาวะที่สุดในมหาวิทยาลัย (คนขับรถเก๋ง) ทำไมต้องมาปรับใช้กับคนที่เป็นกลุ่มมากที่สุดแต่สร้างมลภาวะน้อยกว่า (คนขับมอร์เตอร์ไซด์)

(2) นายกองค์การฯ กล่าวว่า “ที่จอดรถในมหาวิทยาลัย มีแค่ 4,000 – 5,000 คัน เห็นสร้างแค่จุดเดียว แต่นิสิตมีรถ 9,000 คัน” ผู้ดำเนินรายการตอบว่า “เดี๋ยวทางมหาวิทยาลัยก็ทำเพิ่มให้”  จากนั้นก็มีการอภิปรายต่อว่า “จักรยานที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้ มีเพียง 500 คัน แต่นิสิตมีเป็นหมื่น” ผู้ดำเนินรายการตอบว่า “นิสิตไม่ได้เรียนพร้อมกัน แล้วกล่าวเพิ่มเติมว่าจะหาจักรยานมาเพิ่มให้”  นิสิตแสดงความเห็นว่า “อย่างนี้แสดงว่า คุณไม่ได้เตรียมการเลยสิ เพราะมันจะเริ่มใช้วันที่ 1 กรกฎานี้แล้ว จะสร้างจุดจอดรถให้ครบทุกประตูจะทันหรือ

(3) มีเสียงของนิสิตหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าต้องแต่งกายถูกระเบียบ (ใส่กระโปรง) จะปั่นจักรยานได้อย่างไร” ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า “ทางมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนฟอร์มให้นิสิตหญิงเป็นกางเกง” มีเสียงอีกว่า “นโยบายนี้จริงจังถึงขั้นต้องเปลี่ยนฟอร์มเลยเหรอ แล้วถ้าเขาอยากใส่กระโปรงมาเรียน (ตามสิทธิ) จะทำอย่างไร

(4) “เรื่องรถไฟฟ้า ที่จะใช้แทนมอร์เตอร์ไซด์นั้น ยังไม่พอ ไม่พร้อม นิสิตต้องรอนานมาก” พี่หมอเอบอกว่าเขาเคยประสบกับปัญหานี้เอง (5) มีนิสิตแพทย์ ตั้งคำถามว่า “อะไรคือสิ่งที่ปลอดภัยในชีวิตเขา เพราะเขาต้องออกเวร เที่ยงคืน ตีหนึ่ง ปั่นจักรยานต้องแข่งกับรถยนต์ รถยนต์ชนจักรยานแล้วอันตรายกว่ามอร์เตอร์ไซด์ชน ...แล้วไหน คือความปลอดภัย แล้วถ้าต้องรีบไปหาคนไข้ ต้องปั่นจักรยานอีกหรือ

นิสิตตั้งข้อสังเกตว่าการทำประชาเสวนาครั้งนี้ คำตอบของผู้บริหารค่อนข้างกลางๆ แบ่งรับ แบ่งสู้ ไม่ค่อยฟันธง

อย่างไรก็ดี มีนิสิตคณะมนุษย์ศาสตร์ท่านหนึ่งได้บรรยายบรรยากาศ และสรุปประเด็นในเฟสบุ๊คส่วนตัวของเขา ดังลิ้งค์นี้ https://www.facebook.com/sukhothaiskii/posts/989763111047612

สรุปว่านิสิตเห็นว่านิสิตยังไม่มีความพร้อมที่งดใช้มอร์เตอร์ไซด์ในมหาวิทยาลัย จึงมีการตั้งคำถามจากผู้ดำเนินรายการว่า “เมื่อไรคุณถึงจะพร้อม” นายกองค์การฯ ตอบว่าประมาณว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมีความพร้อมเป็น “Green Universityคือมีต้นไม้พอที่จะให้ร่มเงาแก่นิสิตในการปั่นจักรยานในเวลาที่แดดออก มีเลนจักรยานที่มากพอให้ความปลอดภัย ไม่ถูกเฉี่ยวชนจากรถยนต์ มีรถไฟฟ้าพอเพียง มีจุดจอดมอร์เตอร์ไซด์ที่พอเพียง

“เมื่อมหาวิทยาลัยพร้อม นิสิตก็พร้อม แต่เมื่อมหาวิทยาลัยยังไม่พร้อม จะให้นิสิตพร้อมได้อย่างไร”

อาจารย์พี่หมอเอ กล่าวว่า สิ่งที่เขารู้ในวันนี้ คือสิ่งที่ผู้บริหารไม่ได้รู้ เขาจะบันทึกทุกอย่างแล้วไปคุยกับผู้บริหาร

ส่วนนายกองค์การฯ และผู้นำนิสิต จะนำผลการทำประชาเสวนาครั้งนี้ไปคุยกับอธิการบดีฯ ในวันที 3 มิถุนายน นายกฯ ยังบอกอีกว่าถ้านโยบายนี้ ยังจะขับเคลื่อนต่อโดยไม่ฟังเสียงนิสิต จะมีการเคลื่อนไหวของนิสิตต่อไป

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ว่ามหาวิทยาลัยไม่เคยใช้นโยบายห้ามใช้จักรยานยนต์มาก่อน เมื่อประมาณ 8  ปีที่แล้ว ในสมัยอธิการบดี มณฑล สงวนเสริมศรี ก็ได้มีการรณรงค์ไม่ให้ใช้รถจักรยานยนต์ อย่างเป็นจริงเป็นจัง จนถึงขนาดสร้างโรงจอดรถจักรยานยนต์ที่จอดได้ถึง 4,000 คัน (ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นโรงจอดรถอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่อาศัยอยู่ในหอพักมหาวิทยาลัย) พร้อมกับแคมเปญรณรงค์ประมาณว่า “จะกี่คนหรือกี่พัน ก็ไปเรียน (ด้วยรถไฟฟ้า) ทันทุกคน” แต่ก็ถูกนิสิตต่อต้านจนต้องทบทวนนโยบายนี้อีกครั้ง

เป็นอันจบประเด็น เงียบเป็น “เป่าสาก” ของนิสิตที่บทความชิ้นนั้นกล่าวหา  

ประการที่สอง ที่อยากจะชวนคุยกับผู้เขียนบทความและผู้อ่านนั้นคือ ประเด็นเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่มีนิสิตในรูปกลไกและโครงสร้างต่างๆ ของมหาวิทยาลัย” อันเนื่องมาจากความไร้อุดมการณ์ที่เป็นผลผลิตของการที่ขบวนการนักศึกษาถูกแทรกแซงจากกลุ่มอำนาจทั้งภายในและภายนอก ซึ่งต่างจากขบวนการนักศึกษาในช่วง 14-6 ตุลา

ผู้เขียนเห็นด้วยที่ว่า นิสิตอาจจะไร้พลังเพราะถูกกระบวนการแทรกแซงทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งก็ไม่ต่างกับอาจารย์ที่ถูกแทรกแซง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวในนามของทุนวิจัย โครงการพัฒนา และระบบตลาด อีกทั้งเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าสภามหาวิทยาลัยของรัฐในบ้านเรา (ไม่เฉพาะที่ ม.นเรศวร เท่านั้น) ซึ่งเป็นผู้เลือกอธิการบดี เป็นสภาของชนชั้นนำ มีโครงสร้างรวมศูนย์ฯ ที่ขาดการยึดโยงกับประชาคมในมหาวิทยาลัย และปวงชนชาวไทย

ถ้านิสิตคือผู้ที่ควรได้รับการตำหนิ ที่ไม่สามารถก้าวขึ้นมามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในวาระต่างๆ อาจารย์ และองคาพยพต่างๆ ในสังคม ก็ควรได้รับการตำหนิยิ่งกว่า

คิดแล้วมันน่าหมดหวังกับอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคน ที่มีอุดมการณ์มองการเรียนการสอนและการวิจัยเป็น “ดั่งสินค้า” โดยมองผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ตัวเกียรติ ที่อยู่เบื้องหน้ามากกว่าการสร้างวัฒนธรรมวิชาการ กระบวนการเรียนรู้ และการสร้างคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเททั้งใจ กาย และลงทุนในระยะยาว

เราจะพูดถึงการปฏิรูปมหาวิทยาลัยและการศึกษาไทย ให้กลายเป็นบ่อน้ำบำบัดความกระหายทางวิชาการ ความรู้และจิตวิญญาณแก่สังคมได้อย่างไร ภายใต้โครงสร้างฯ และอุดมการณ์แบบนี้

ดังนั้น การตั้งข้อกล่าวหาของนิสิตว่าไร้พลัง จึงเป็นการชี้เป้าไปยังคนที่อ่อนแอที่สุดในมหาวิทยาลัย และที่สำคัญคือ “พลาดเป้าไปหน่อยนะเฮีย/เจ๊” ในขณะที่จำเลยตัวจริง คือชนชั้นนำ (ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยรวมศูนย์ฯ) และจำเลยคนต่อๆ มา เช่น พวกอาจารย์ กลับลอยนวล

ประการที่สาม  ภายใต้แนวคิดการเคลื่อนไหวสังคมในแนวเก่า (นำมวลชนประท้วง เรียกร้อง ยืนข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม กดดัน) ที่บทความนั้นเรียกร้อง คล้ายกลับการเสนอให้ “พูดความจริงต่ออำนาจ” โดยเรียกร้องให้นิสิต ....ตอบโต้นโยบายของมหาวิทยาลัยที่นิสิตได้รับผลกระทบ หรือกล้าที่จะประกาศนโยบายแตกหักกับมหาวิทยาลัยหรือคณะผู้บริหาร ทั้งที่ผู้นำนิสิต องค์การ หรือสภามีการเลือกตั้งอยู่ทุกปี แต่ทำไมกลับไม่มีใครที่จะยืนอยู่ข้างนิสิตจริงๆ อย่างเต็มตัว อาจจะมีขัดใจอยู่บ้างแต่คงไม่กล้าแตกหัก”

ผู้เขียนเห็นว่าการเคลื่อนไหวสังคมแนวเก่า (แบบแนว 14-6 ตุลาฯ อย่างที่บทความนั้นเรียกร้อง) เป็นไปได้ยาก ถ้าใช้ในมหาวิทยาลัย  ไม่ใช่เพียงเพราะกระบวนการนิสิตนักศึกษาถูกทำให้ไร้พลัง และเพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจมันมากเหลือเกิน (เช่น เรื่องเกรด เรื่องการเคารพให้เกียรติผู้ใหญ่) เท่านั้น แต่เพราะในโลกหลังสมัยใหม่ (postmodern) การผูกขาดการนิยามว่าอะไร ถูก-ผิด ชั่ว-ดี ไปอย่าง “สุดติ่ง” นั้นเป็นเรื่องที่กระทำไดยากมว๊าก ดังนั้นการเรียกร้องให้นิสิตหรือใครก็ตาม “ฟันธง” แบบหมอลักษณ์ ชี้ผิด-ถูก ชั่ว-ดี ในเรื่องใดก็ตาม หาอาจทำได้ไม่

มีใครกล้า “ฟันธง” มั้ยว่านโยบาย “Green University” ที่มาจาก “ข้างบน” นั้น แย่ “ฝุด ฝุด” 100 เปอร์เซนต์ และสิ่งที่นิสิต ที่มาจาก “ข้างล่าง” เรียกร้อง และต้อง “แตกหัก” กับนโยบายข้างบนเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับนิสิตทุกคน  (ซึ่งก็เป็นไปตามที่นิสิตคนหนึ่งสังเกตว่าผู้บริหารไม่กล้าฟันธง)

ในเมื่อก็ไม่มีใครกล้าฟันธงได้ขนาดนั้น ...อะไรคือ space of change หรือพื้นที่ของการเปลี่ยนแปลงกันเล่า? สำหรับกรณีนโยบาย Green University  ผู้เขียนเห็นว่า space of change นั้นคือพื้นที่ๆ อยู่ “ตรงกลาง” เป็นพื้นที่ที่ 3 “ของเรา” (third space) ซึ่งก้าวพ้นเรื่องเหตุผลของ “มรึง” หรือของ “กรุ” เป็นพื้นที่ที่อยู่บนการรับฟังกันและกัน (communicative action) โดยไม่ชี้หน้าว่ามหาวิทยาลัยเป็นจำเลย หรือความต้องการของนิสิตจะต้องได้รับการตอบสนองไปเสียทุกเรื่อง ขณะเดียวกัน ข้อเรียกร้องทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และการรวมพลของนิสิตก็ไม่ใช่เรื่องการพยายามกระทำตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้บริหารฯ

Space of change มักไม่มองอะไร "สุดติ่ง กระดิ่งแมว" แต่จะพยายาม “ต่อรอง” กับอำนาจ ไปพร้อมกับการสร้างการเรียนรู้แก่สังคมในการที่จะอยู่ร่วมกันที่ “ไม่มีใครได้ทั้งหมด และไม่มีใครเสียทั้งหมด”

ผลลัพธ์เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม รวมทั้งสิ่งที่ “อาจารย์พี่หมอเอ” และ "นายกองค์การฯ" กล่าวไว้นั้นหน่ะ โอเครแล้ว ...ในเบื้องต้นเราได้ข้อสรุปว่าทางมหาวิทยาลัยจะนำความคิดเห็นของนิสิตไปพิจารณา และหากว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ “ปรับปรน” นโยบาย นิสิตก็จะกำหนดแนวทางในการเคลื่อนไหวต่อไป ซึ่งจะเป็นรูปแบบไหนก็ยังไม่ทราบ  แต่ที่แน่ๆ คือการคุยกันบ่อยๆ ฟังกันบ่อยๆ แบบ communicative action ซึ่งเป็นแนวคิดของ Jurgen Habarmas เป็นสิ่งที่ควรลองดู

วันนี้เราได้เห็นแล้วว่าคน ม.นเรศวร คุยกันได้ และอยากให้อดทนคุยกันต่อไปนานๆ จนเราเข้าใจ และดำเนินการร่วมกัน ในวันนั้น...วันที่มีข้อสรุป อาจจะเป็นวันที่ผู้เขียน ในฐานะอาจารย์ที่เคยขับรถยนต์ ต้องปั่นจักรยานใต้ร่มมลุลีไปพร้อมๆ กับนิสิตก็เป็นได้ (อุ๊ปส์...โลกสวย)

แต่ถ้ามันคุยกันไม่ได้ มันจะต้องมาลงเอยที่ “การเมืองในชีวิตประจำวัน” (everyday life politics) ของคนเล็กคนน้อย ในนามของความ “ดื้อเงียบ ดูเรียบร้อย” “สงบนิ่ง แต่เคลื่อนไหวในสื่อ”  และเป็นไอ้หนุ่ม/อีสาวหมัดเมา จอมยุทธ์ไร้กระบวนท่า 

...เมื่อนั้นค่อยมาดูซิว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเก่า (สมัย  6-14 ตุลา) กับการเมืองแบบ communicative action หรือ การเมืองในชีวิตประจำวัน อันไหนจะตอบโจทย์การเคลื่อนไหวของนิสิต/อาจารย์ในมหาวิทยาลัยยุคนี้มากกว่ากัน…

บันทึกด้วยรัก ม.น.

1 มิถุนายน 2558 (วันที่ ม.น.ไฟดับนับชั่วโมง)

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
ครบปีแล้วสินะที่เราเดินตามก้นอาจารย์อานันท์ไปสำรวจซิดนี่ย์... เมื่อเอารูปเก่าๆ มาดู...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า วันนั้น อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ในวัย ๖๘ ปี นอกจากจะสอนหนังสือมาราธอน สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า ๙ ชม.
เก๋ อัจฉริยา
มอญในเมียนมาร์ ไม่ว่าจะอยู่ที่เมียนมาร์แลนด์หรือไทยแลนด์ ต่างก็ได้ชื่อว่า เป็น “คนอื่น” ในแผ่นดินที่ (เคย) เป็นของตัวเอง ถ้าเรามองภายใต้กระบวนทัศน์ที่แบบมองอะไรแบบ “เชิงเดี่ยว”  
เก๋ อัจฉริยา
แรงงานชาวเมียนม่าร์ (พม่า มอญ ทวาย อารกัน ฉาน กระเหรี่ยง ฯลฯ) ที่สมุทรสาคร แม้มียอดลงทะเบียนทั้งเก่าและใหม่ถึง 387,510 คน แต่จากการประมาณการของ NGOs ทั้งไทยและเมียนม่าร์ น่าจะมีประมาณ 600,000 – 700,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 15,000 คน แต่เชื่อหรือไม่ว่า เด็กเหล่านี้เพียงร้อยละ 7.6 ที
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปนิเทศน์นิสิตที่ฝึกงานที่บ้านพักเด็กและครอบครัว แห่งหนึ่งของทางราชการ และได้พบกับเด็กชายชาวพม่า ๒ คนที่ถูกตำรวจจับและส่งให้บ้านพักเด็กแห่งนี้ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก เด็กคนแรกอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ขวบ คนที่สองเป็นน้องอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ
เก๋ อัจฉริยา
ในฐานะนักมานุษยวิทยาการท่องเที่ยว ผู้เขียนจะรู้สึกฟินฝุดๆ เมื่อพบว่าพื้นที่ท่องเที่ยวใดเปิดโอกาส เปิดที่ เปิดทางให้คนเล็กคนน้อยได้ทำมาหากิน และเปิดที่ เปิดทาง เปิดโอกาส ให้คนเล็กคนน้อยได้เที่ยวในราคาถูกแบบบ้านๆ เช่นกัน
เก๋ อัจฉริยา
บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายชั่วอายุคนแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ แต่ที่น่าสนใจเพราะมันเพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง จำได้ว่าเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ผู้เขียนใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ – หนองคาย 3 ปี พ่อเล่าให้ฟังว่ามีบั้งไฟขึ้นกลางลำน้ำโขงตอนออกพรรษา แต่ไม่มีใครในบ้านสนใจไปดูแ
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อมีคนรู้ว่าผู้เขียนพานิสิตจำนวน 16 คนไปถ่ายทำสารคดีบั้งไฟพญานาค ส่วนใหญ่ต่างก็ถามว่า มา “พิสูจน์” บั้งไฟพญานาคหรือ?
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อพูดถึงเจดีย์ไชทียู หรือที่คนไทยรู้จักในนามพระธาตุอินทร์แขวน ก็ขอให้ลืมเป็นการชั่วคราวเรื่องตำนานพระฤาษี และความศักดิ์สิทธิ์ แต่สิ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือชีวิตของคนเล็กคนน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาสร้างการดำรงชีพในพื้นที่ท่องเที่ยว ณ ที่แห่งนี้
เก๋ อัจฉริยา
            เหตุเกิดเมื่อกลางปี 2008 นักมานุษยวิทยาสมัครเล่นนางหนึ่งได้ใช้เวลา 3 วันโดดเรียนไปเที่ยวที่ Sa Pa (ซาปา) เมืองในหมอกบนพื้นที่สูงของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ภูเขาที่นี่สูงเสียดฟ้าสลับซับซ้อนกันหลายลูกจริงๆ จนภูเขาบ้านเราสมควรถูกเรียกว่า “hill” มากกว
เก๋ อัจฉริยา
ณ วัดเทพฯ มหาชัย สมุทรสาคร ในวันสงกรานต์ มีแรงงานพม่ามาทำกิจกรรมทางศาสนาไม่ต่ำกว่าหมื่นคน เมื่อดูจากผู้คนที่มาทำกิจกรรมฯ ที่วัดในวันนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แรงงานพม่าที่มหาชัย มีเชื้อชาติพม่า-พม่า มีน้อยมาก ทว่าส่วนใหญ่เป็นมอญ-พม่า ทวาย-พม่า และอารกัน-พม่า (จากรัฐยะไข่) (ตามลำดับ) พวกเขา แม้อย