Skip to main content

วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย

ลุงนิงนัดผู้เขียนให้พร้อมตอน 6.00 น.เพื่อไปกินข้าว แต่พอซัก 5.30 น. ลุงนิงแกมาเคาะห้องนอน บอกให้ผู้เขียนสอนอ่านภาษาไทย (แลนด์) จากหนังสือเรียนกอ ไก่ ขอ ไข่ ของชั้นประถม ที่แกขอให้ผู้เขียนซื้อมาฝากจากเมืองไทย เมื่อถึง 6.30 น. เราก็ออกไปหาอาหารเช้ารับประทานกัน จากนั้นลุงนิงก็ “อาโล่ อาโล่” หาลูกศิษย์ที่เคยเรียนภาษาไทแทงฮว่ากับแก บอกว่าแกอยู่ร้านอาหาร ลูกศิษย์บอกว่าเดินอีกนิดเดียวก็ถึงซอยบ้านพักเขาแล้ว แล้วเขาจะออกมารับ

ลูกศิษย์ชื่อ “งา” ซึ่งต่อไปนี้ผู้เขียนจะเรียกว่า “จิงา” (พี่งา) เป็นเจ้าหน้าที่ของอำเภอเถื่องซวนมีลูกชายอายุน่าจะสักประมาณ 30 เป็นเจ้าหน้าที่ของอำเภอเหมือนกัน พวกเขาพาเราไปที่บ้านกินน้ำชา พูดคุยกัน การเก็บข้อมูลเริ่มต้นจากการบอกวัตถุประสงค์ของการมาและข้อมูลที่ต้องการเก็บเพื่อวางแผนว่าจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อรู้วางแผนแล้วว่าข้อมูลแบบนี้ต้องไปพบใคร ที่ไหน จิงาของลุงนิงก็พาพวกเราไปออฟฟิศของเขา เขาก็แนะนำให้คนในออฟฟิศเขารู้จักลุงนิงและผู้เขียน จากนั้นเราจึงค่อยออกไปเก็บข้อมูลด้วยรถของออฟฟิศนั้น ซึ่งแน่นอนว่าแหล่งข้อมูลไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือจิงาแม่ลูกนั้น จิงาขอยืมรถจากออฟฟิศของตัวเอง โดยมีลูกชายนั่งไปด้วยกัน สรุปว่าไปกัน 5 คน คือคนขับรถ จิงา ลูก ลุงนิง และผู้เขียน

เชื่อหรือไม่ว่าบ้านเป้าหมายแรกของนักวิจัยที่ไปคือบ้านเยี่ยมบ้านของคนแก่รุ่นปู่-ย่าทวด ที่ตำบลซวนเหละ (Xuân Lệ) ปู่ตอนนี้อายุ 90 แล้ว แกเคยเป็นทหารผ่านศึกในสงครามกับอเมริกา  ทั้งสองคนปู่-ย่าแม้ไม่ป่วย แต่ก็นอนหมดแรงน้ำลายยืดกับเครื่องนอนเก่าๆ เหม็นๆ อยู่ในบ้าน โดยมีลูกๆ หลานๆ ที่อยู่บ้านใกล้ๆ แวะเวียนมาดูแล แกดีใจ (ม่วนโจม) มาก เมื่อม่วนโจมกันอย่างนี้ ตามวัฒนธรรมของการสร้างเพื่อน ก็ต้องกินเหล้าขาว เอ๊า! ...กรึ๊บกะละรี๊บกรึ๊บกรึ๊บ คนละจอกสองจอก เป็นอันเสร็จพิธี (อิอิ)

ส่วนย่า ซึ่งนอนอยู่เตียงตรงกันข้ามกับปู่ อายุแก่กว่าปู่ 7 ปี ปีนี้แกอายุ 97 แล้ว เป็นอะไรที่ผู้เขียนสงสารแกมาก แกผอมแห้งแรงน้อย ตาฟ้าฟาง หูไม่ค่อยดี เวลาจะปลุกแก ต้องไปตะโกนข้างหูหลายครั้ง แกดีใจมากที่มีคนมาเยี่ยม ผู้เขียนไปนั่งคุยกับแกยาวหน่อยเพราะมีเรื่องผ้าซิ่นคุยกัน จากนั้นก็ให้เงินแกไป 200,000 ด่อง ก็ไม่มาก-ไม่น้อย ประมาณ 300 กว่าบาท

"2 เฒ่านั้น เกี่ยวอะไรกับฉันและงานวิจัยของฉัน ในเวลาที่ฉันมีน้อยเพียงไม่กี่วันเช่นนี้ ทำไมต้องไปเยี่ยม" อาจจะเป็นคำบ่นของนักวิจัยอื่นๆ แต่นั่นแหละ มันไม่ใช่คำบ่นของนักวิจัยปัญญาชนท้องถิ่นเวียดนามอย่างห่านามนิง เพราะอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอน 1 และ 2 ว่างานวิจัยของปัญญาชนท้องถิ่นที่นี่ ไม่ได้แยกตัวนักวิจัยให้ขาดไปจากสังคมในระหว่างการลงภาคสนามเลย

จากนั้นเราก็ไปต่อที่ที่ว่าการตำบลซวนเหล่ะ คราวนี้ลุงนิงได้นั่งสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของทางตำบลอย่างเป็นทางการ โดยที่มีผู้เขียนนั่งข้างๆ ฟัง จำ และไปจดในตอนกลางคืน โดยไม่ได้เปิดปากถามให้เมื่อย (อิอิ)

จากนั้นพวกเราไปตำบลซวนจิง (Xuân Chinh) ที่นี่ลุงนิงก็นั่งคุยอีก นั่งคุยนานมาก เพราะใช้เวลาในการถกเถียงกันเยอะ ระหว่างลุงนิง ลูกชายของจิงา และเจ้าหน้าที่อำเภออีก 2 คน แหม...คนให้ข้อมูลไม่ใช่สักแต่จะให้ และนักวิจัยต้องถามและรับข้อมูลอย่างเดียว คราวนี้ถกเถียง (discuss) กันไปมา ถือเป็นการแลกเปลี่ยนที่ต่างคนต่าง "ปล่อยของ" ผู้เขียนฟังแล้วก็สนุกดี ...ว่าแล้วก็รีบจำเพื่อไปจดต่อในตอนกลางคืน แต่ก็จำไม่หมด บางเรื่องก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาใช้ภาษาไทแทงฮว๋าผสมกับภาษาเวียดนามเถียงกัน

จากนั้นทางตำบลโดยประธานคณะกรรมการประชาชน ซึ่่งเป็นคนไท ก็เลี้ยงอาหารเที่ยงแก่พวกเรา ดูเหมือนว่างานเลี้ยงนี้จะค่อนข้างเป็นทางการ เพราะมีคนมานั่งร่วมรวมพวกเราแล้วเกือบๆ 20 คนได้ หลังจากนั้นพวกเราก็มานั่งจิบน้ำชา แล้วถกกันเรื่องคนไท วัฒนธรรมไทกันต่อ บรรยากาศดื่มน้ำชาถกเถียงกันทางวิชาการออกรสออกชาติแบบ “ใครๆ ก็เถียงกันได้” นี้ ตลอดชีวิตของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่เคยได้พบเลย แต่พบแทบทุกครั้งของการตามลุงนิงและห่ากงติน (ครูสอนภาษาไทขาว) ไปทำวิจัยหรือแม้กระทั่งไปนั่งกินอาหารกับปัญญาชนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นด้วยกัน เรื่องแบบนี้ ผู้เขียนเคยอ่าน (ดูจากตอนที่ 1) ว่านักวิจัยต่างชาติมาตั้งคำถามให้เจ้าหน้าที่รัฐแสดงความคิดเห็น จะพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่แสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะเรื่องชาติพันธุ์ ทั้งนี้เพราะเขาจะไม่พูดบางเรื่องหรือพูดแบบที่เราอยากได้ยินกับ "คนอื่น" (หรือ tấy - เต้ย ในภาษาเวียดนาม) แต่เขาจะถกเถียงกันอย่างเมามันกับ "พวกเรา" (ta - ตา ในภาษาเวียดนาม)

ดังนั้น บรรยากาศการถกเถียงทางวิชาการ แม้แต่ในระดับท้องถิ่น เกิดขึ้นได้เสมอถ้ามี "ตา" และวงดื่ม-กิน แต่อาจจะไม่มีแบบนี้ในพื้นที่ของวิชาการอย่างมหาวิทยาลัย

ถ้าใครเคยไปเวียดนาม อาจจะสังเกตว่ามีร้านขายเบียร์ ชา กาแฟ หรือแม้แต่ร้านขายน้ำเล็กๆ ในร้านและข้างถนนเกลื่อนไปหมด คนเวียดนามชอบมานั่งจิบเบียร์ ชา กาแฟ น้ำหวานต่างๆ แล้วใช้เวลาในการนั่งคุยกันถกเถียงกันนานๆ ผู้เขียนคิดว่านี่เป็น "บุคลิค" ของประเทศนี้ ที่อยู่ภายใต้บรรยากาศของวัฒนธรรมของการคุยและถกกัน เสียดายเพียงแต่ว่าในพื้นที่แบบนี้ มีผู้หญิงน้อยไปหน่อย 

ต่อไปพวกเราก็ไปตำบลซวนหล่ก (Xuân Lộc) คราวนี้ลุงนิงก็ได้นั่งสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ โดยที่มีผู้เขียนคอยทำตัวเป็นครูพักลักจำอยู่ข้างๆ (อีกแล้วครัซท่าน)

ตลอดการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ผู้เขียนก็ได้ข้อมูลจากการถกเถียงในรถระหว่างจิงา ลูกชาย คนขับรถ และลุงนิง ในวิชาการด้านไทศึกษาของแทงฮว๋า โดยเฉพาะลูกชายที่แม้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่นักวิชาการ แต่ก็ทำงานด้านวัฒนธรรม จึงต้องทำวิจัยด้วย จึงมีความรู้ที่จะฟัดเหวี่ยงกับลุงนิงได้ เพราะลุงนิงเชี่ยวชาญไทเมืองคอง ส่วนแม่และคนขับรถก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในท้องถิ่นมานาน ย่อมรู้ข้อเท็จจริงๆ ดังนั้น รถจี๊บคันนี้ จึงถูกเปลี่ยนจากพาหนะ เป็น "ห้องเรียนวิชาไทเถื่องซวน" ที่เมามันมาก ได้ยินแล้ว “ฟินเฟ่อร์” เพราะเด็กถกเถียงกับผู้ใหญ่ได้อย่างปกติสุข จนผู้เขียนต้องขออนุญาตอัดเทปเสียงที่เขาถกเถียงและแชร์ขัอมูลกัน

และแล้วพวกเราก็ไปต่อที่บ้านญาติห่างๆ  ของจิงา ที่นั่นผู้เขียนไม่สนใจฟังข้อมูลการสนทนาระหว่างลุงนิงกับเจ้าของบ้านเลย เพราะหลังจากคุยกับย่าที่บ้านและให้แก “ขับไต” (ร้องลำนำไต) ให้ฟังแล้ว ก็ไปเชยชมกรุผ้าซิ่นโบราณของแก และก็เป็น “ตามดวงโหราพยากรณ์” ในฐานะที่เป็นคนที่มีแรงดึงดูดของโบราณ คราวนี้ได้ผ้าซิ่นหนูกัดขาดท่อนบนมา 1 ผืน ในขณะที่ตืนซิ่นยังสมบูรณ์อยู่ ….ฟินไป 1 คืน กับ 1 วัน

สุดท้ายแล้ว คณะเราก็ไปจอดเยี่ยมญาติของลุงนิงที่มาได้สามีแถวเถื่องซวนนี้ ได้ดื่มน้ำชาถกเรื่องไทในเถื่องซวนอีก 1 รอบ ก่อนที่จะกลับไปยังตัวอำเภอ

อาหารเย็น เป็นที่แน่นอนว่าลุงนิงและผู้เขียนต้องพาสองแม่ลูกและคนขับรถไปเลี้ยงขอบคุณ จนต่างคนต่างเมามาย เพราะม่วนโจมกัน และยิ่งมีโต๊ะข้างๆ ที่รู้จักกัน เดินมายกแก้วกล่าวทักทายไม่ขาดสาย ยกเว้นผู้เขียนที่ไม่เมา แต่มึนหัว เพราะขออนุญาตดื่มน้ำส้มแทนหลังจากโดนไป 5-6 จอกจนมึนแล้ว แต่ก็ไม่วายมีคนมาขอชนแก้วเหล้าจริงๆ อีก ทำเอาลุงนิงน้อยใจ บอกว่า "ทีลุงนิงจะชนแก้ว หลานไม่ให้ดื่มด้วย แต่พอพี่ชายคนนี้มาขอให้ดื่ม หลานก็ดื่มเลย"

เช้าวันรุ่งขึ้น เราสองคนลุง-หลานต้องกลับอำเภอบาเทื๊อกกันแล้ว แต่ลุงนิงก็ต้องไปคารวะอดีตประธานคณะกรรมการประชาชนของอำเภอเถื่องซวน พร้อมทั้งเก็บข้อมูลบางอย่างด้วยการพูดคุย พวกเราออกจากโรงแรม 6.00 โมงเช้า ยังไม่ได้กินข้าวเช้า ต้องไปหาท่านอดีตประธานฯ ก่อน คุยไปคุยมา ประมาณ 6.20 น. แกยกเหล้ามา เอาหล่ะสิ...นางถุกเลิม! โดนให้กินเหล้าแต่เช้าเข้าแล้วไง...ท้องยังว่างอยู่เลย

...เฮ้ออออ...ชอบวัฒนธรรมการวิจัยที่นี่นะ ยกเว้นอย่างเดียวคือ “ฉัน” ต้องกินเหล้าขาวด้วยนี่ซี้...ดวดลงไปเหมือนไฟเผาหลอดคอและกระเพาะอาหาร มึนหัวไปครึ่งวัน...แต่ก็ยังดีที่ "ฟินเฟอร์" กลับมาบาเทื๊อก (5555)

บันทึกการเดินทางเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ณ อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม

อัพโหลดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 ณ ย่านลิงด่าม ฮานอย เวียดนาม

 

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
ครบปีแล้วสินะที่เราเดินตามก้นอาจารย์อานันท์ไปสำรวจซิดนี่ย์... เมื่อเอารูปเก่าๆ มาดู...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า วันนั้น อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ในวัย ๖๘ ปี นอกจากจะสอนหนังสือมาราธอน สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า ๙ ชม.
เก๋ อัจฉริยา
มอญในเมียนมาร์ ไม่ว่าจะอยู่ที่เมียนมาร์แลนด์หรือไทยแลนด์ ต่างก็ได้ชื่อว่า เป็น “คนอื่น” ในแผ่นดินที่ (เคย) เป็นของตัวเอง ถ้าเรามองภายใต้กระบวนทัศน์ที่แบบมองอะไรแบบ “เชิงเดี่ยว”  
เก๋ อัจฉริยา
แรงงานชาวเมียนม่าร์ (พม่า มอญ ทวาย อารกัน ฉาน กระเหรี่ยง ฯลฯ) ที่สมุทรสาคร แม้มียอดลงทะเบียนทั้งเก่าและใหม่ถึง 387,510 คน แต่จากการประมาณการของ NGOs ทั้งไทยและเมียนม่าร์ น่าจะมีประมาณ 600,000 – 700,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 15,000 คน แต่เชื่อหรือไม่ว่า เด็กเหล่านี้เพียงร้อยละ 7.6 ที
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปนิเทศน์นิสิตที่ฝึกงานที่บ้านพักเด็กและครอบครัว แห่งหนึ่งของทางราชการ และได้พบกับเด็กชายชาวพม่า ๒ คนที่ถูกตำรวจจับและส่งให้บ้านพักเด็กแห่งนี้ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก เด็กคนแรกอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ขวบ คนที่สองเป็นน้องอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ
เก๋ อัจฉริยา
ในฐานะนักมานุษยวิทยาการท่องเที่ยว ผู้เขียนจะรู้สึกฟินฝุดๆ เมื่อพบว่าพื้นที่ท่องเที่ยวใดเปิดโอกาส เปิดที่ เปิดทางให้คนเล็กคนน้อยได้ทำมาหากิน และเปิดที่ เปิดทาง เปิดโอกาส ให้คนเล็กคนน้อยได้เที่ยวในราคาถูกแบบบ้านๆ เช่นกัน
เก๋ อัจฉริยา
บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายชั่วอายุคนแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ แต่ที่น่าสนใจเพราะมันเพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง จำได้ว่าเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ผู้เขียนใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ – หนองคาย 3 ปี พ่อเล่าให้ฟังว่ามีบั้งไฟขึ้นกลางลำน้ำโขงตอนออกพรรษา แต่ไม่มีใครในบ้านสนใจไปดูแ
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อมีคนรู้ว่าผู้เขียนพานิสิตจำนวน 16 คนไปถ่ายทำสารคดีบั้งไฟพญานาค ส่วนใหญ่ต่างก็ถามว่า มา “พิสูจน์” บั้งไฟพญานาคหรือ?
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อพูดถึงเจดีย์ไชทียู หรือที่คนไทยรู้จักในนามพระธาตุอินทร์แขวน ก็ขอให้ลืมเป็นการชั่วคราวเรื่องตำนานพระฤาษี และความศักดิ์สิทธิ์ แต่สิ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือชีวิตของคนเล็กคนน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาสร้างการดำรงชีพในพื้นที่ท่องเที่ยว ณ ที่แห่งนี้
เก๋ อัจฉริยา
            เหตุเกิดเมื่อกลางปี 2008 นักมานุษยวิทยาสมัครเล่นนางหนึ่งได้ใช้เวลา 3 วันโดดเรียนไปเที่ยวที่ Sa Pa (ซาปา) เมืองในหมอกบนพื้นที่สูงของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ภูเขาที่นี่สูงเสียดฟ้าสลับซับซ้อนกันหลายลูกจริงๆ จนภูเขาบ้านเราสมควรถูกเรียกว่า “hill” มากกว
เก๋ อัจฉริยา
ณ วัดเทพฯ มหาชัย สมุทรสาคร ในวันสงกรานต์ มีแรงงานพม่ามาทำกิจกรรมทางศาสนาไม่ต่ำกว่าหมื่นคน เมื่อดูจากผู้คนที่มาทำกิจกรรมฯ ที่วัดในวันนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แรงงานพม่าที่มหาชัย มีเชื้อชาติพม่า-พม่า มีน้อยมาก ทว่าส่วนใหญ่เป็นมอญ-พม่า ทวาย-พม่า และอารกัน-พม่า (จากรัฐยะไข่) (ตามลำดับ) พวกเขา แม้อย