Skip to main content

อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ตื่นรู้

....เพราะการรณรงค์ประชามติ (ในฐานะยุทธศาสตร์หนึ่ง) นั้นได้จบสิ้นแล้ว ด้วยผลประชามติกาเยสชนะ (ซึ่งต่างกับกรณีของโรม กับเพื่อนๆ รวม 7 คน และกรณีของแมนกับออตโต้และเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งทำให้มีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกตื่นตัว ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบและออกมาเต้นกาโว กาโวกัน)

 ทว่าการกระทำของไผ่ สำหรับฉัน มันมีพลังในเชิงอุดมการณ์อย่างมหาศาล อย่างน้อยมันก็ทำให้ต่อมศีลธรรมของคนที่เลือกข้างสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรมสั่นระริก ระรัวววววว

ผนวกกับคำพูดหนึ่งของไผ่ที่ถูกโคทในสื่อออนไลน์และมีการแชร์ต่อเป็นจำนวนมากคือคำว่า “จะชนะเมื่อไร เราไม่รู้ แต่ตราบใดที่ยังสู้ แสดงว่าเรายังไม่แพ้” ซึ่งฟังแล้วต้องร้อง "อึ่ม" (เสียงต่ำ) เพราะจุกลิ้นปี่

ตอนไผ่ติดคุกใหม่ๆ ฉันก็ให้ความสนใจระดับหนึ่ง เพราะคิดว่าอย่างไรเสียไผ่ก็คงจะต้องประกันตัวออกมาทำงานส่งเสริมประชาธิปไตยข้างนอก เพราะการทำงานนอกคุก ย่อมได้ประโยชน์กว่าอยู่ในคุก

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น หนำซ้ำ ยังสั่นสะเทือนหัวใจพวก “ติ่งดาวดิน” อย่างฉันเข้าไปอีก คือการประกาศอดอาหารของไผ่ เพราะพวกเราไม่ได้ยินวิธีการต่อสู้แบบนี้ จากนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนานมากแล้ว (คือกว่า 20 ปีที่ผ่านมา และคนสุดท้ายที่ฉันได้ยินคือ ฉลาด วรฉัตร และจำลอง ศรีเมือง ในกรณีพฤษภา 35)

ฉันตัดสินใจในอีก 2 วันถัดมาหลังจากไผ่ติดคุก ว่าจะต้องไปเยี่ยมไผ่ที่เรือนจำให้ได้ แม้ว่า ไผ่...สำหรับฉันแล้วเป็นเด็กที่โคตร “กวนทีน” มาก ทั้งคำพูดจาและกริยาที่แสดงออกต่อฉัน ในตอนที่เราไปล้อมวงกับนิสิต-นักศึกษาดูและวิพากษ์หนังกลางแปลงเรื่องแบทแมนกัน ทำให้ฉัน แม้ไม่รู้สึกโกรธอะไร แต่ก็ไม่อยากเม้าท์กับ “ไอ้ไผ่” อีก เพราะไม่รู้ว่าจู่ๆ “ไอ้เด็กเวล” คนนี้มันจะ “เกรียน” และ “กวนทีน” กรุกลับมาให้กรุหงายเงิบ เสียที ด้วยประโยคอะไรอีก

แต่นั่นแหละ เพราะฉันชอบคุยกับนิสิต-นักศึกษาและถูกพวกเขาเกรียน เถียง และกวนทีน กลับมาบ่อย มันทำให้ฉันรู้สึกว่าความเกรียนมันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเด็กรุ่นใหม่ ที่ได้ “สะกิดต่อม” ทดสอบเราในเรื่องการยอมรับสิทธิเสรีภาพเด็กๆ เพราะผู้ใหญ่อย่างฉันในฐานะตัวแทนของอำนาจ มักจะเข้ามาควบคุม กำกับชีวิตเขา 

ด้วยเหตุนี้ รอบข้างกายฉันจึงเต็มไปด้วย “เด็กเกรียน เถียงเก่ง” ที่เข้ามาทดสอบต่อมจิต ต่อมใจ ว่าเราเก่งแต่ปาก ดัดจริตหรือไม่ ในเวลาที่เราพูดเรื่องการให้สิทธิ เสรีภาพ และให้เด็กๆ ได้คิดเป็น (อิอิ ผลคือฉันได้ A เป็นบางที และก็มีที่ติด D+ บ้างในบางครั้ง)

และแล้ว...ฉันก็ขับรถขึ้นเขากว่า 5 ชั่วโมง ไปจนถึงเรือนจำอำเภอภูเขียว ชัยภูมิ

ก่อนหน้าไปเยี่ยม 3 วัน มีคนถาม.... “ไปเยี่ยมแล้วมันได้อะไรขึ้นมา เพราะนี่คือวิธีการต่อสู้ที่ผิด ไม่เกิดประโยชน์อะไรหรอก”

ฉันบอกว่า ไม่รู้สิ มันคล้ายๆ กับอาการตอนเห็นโรมกับเพื่อนอีก 6 คนถูกล่ามโซ่ข้อเท้า ด้วยข้อหาเดียวกันกับไผ่ และอาการเดียวกับแม่ของจ่านิว โดนคดี 112 คือใจสั่น ...แต่ของไผ่ นี่ใจมันสั่นกว่า ตรงที่ไผ่ต้องอยู่ในคุกและอดอาหาร

ฉันออกเดินทางไปกับน้องๆ คนรุ่นใหม่ ที่รู้จัก รู้ใจ ตอนตี 4 เพื่อไปถึงเรือนอำเภอจำภูเขียว ชัยภูมิ ในเวลา 9.30 น. ฉันได้พบกับน้องๆ “กลุ่มดาวดิน” เพื่อนของไผ่ อีก 6-7 คน พบแม่พริ้ม แม่ของไผ่ นักข่าวประชาไท นักข่าวว้อยซ์ทีวี จำนวนหนึ่ง

และที่สำคัญคือ ฉันได้พบกับป้าๆ วัยเกษียณอายุ ที่เหมารถตู้จากกรุงเทพฯ ออกเดินทางตั้งแต่ตี 1 เพื่อมาเยี่ยมไผ่ อีก 10 คน มันทำให้ฉันซาบซึ้งใจว่า แม้เขาเป็นคนต่างวัย ไม่ใช่เพื่อนที่รู้จักกับไผ่โดยตรง แต่พวกเขาก็ทำในสิ่งเล็กๆ ด้วยหัวใจอันยิ่งใหญ่  และด้วยวัยและฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ต้องหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเขา พวกเขาจะไม่สนใจเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมก็ได้ แต่ทำไมเขายังต้องดิ้นรนปิดทองหลังพระ “work without name” แบบนี้ด้วยนะ

....หรือพวกเขาก็มีอะไรเหมือนๆ กับไผ่ คือการ “work without name”  

ไผ่ไม่ได้โด่งดังจากการทำงานส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ในนาม “นายไผ่ ไอ้ไผ่ หรือ บักไผ่” ทว่า เขาทำงานในนามกลุ่มนักศึกษา “ดาวดิน” เป็นเวลาหลายปี ดังนั้น จึงมีเฉพาะคนวงในจริงๆ ที่รู้จัก “ไอ้ไผ่”  ...และฉันสัมผัสได้จากการมาเยี่ยมไผ่ที่เรือนจำในครั้งนี้ ...เพราะฉันก็โนเนม เหมือนกัน

เมื่อถึงคิวเยี่ยม ฉันไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมได้ เพราะคนมาเยี่ยมเยอะมาก ต้องจัดคิวและวนกันออกมา ฉันเป็นคิวกลุ่มที่ 2 แต่คิวแรกที่เข้าไป วนออกมาไม่ได้ เพราะทางเจ้าหน้าที่เรือนจำปิดประตู แม้ว่าเราจะช่วยกันเคาะประตูเหล็กเพื่อให้คิวแรกออกมาก็ตาม

เมื่อกลุ่มไปเยี่ยมรอบแรกออกมา พร้อมกับการ “หมดเวลา” เยี่ยม ฉันและคนอื่นๆ ก็ผิดหวังที่ไม่ได้พบหน้าไผ่ พวกเราก็ตรงเข้าไปถามอาการของไผ่ กับพี่นักข่าวที่เข้าเยี่ยมในรอบแรก พี่นักข่าวบอกว่า “ไผ่เป็นไข้และน๊อคไปเมื่อวาน แต่ยืนยันที่จะสู้ต่อ” ...ฉันรู้สึกใจสั่น แต่พอได้ยินว่าไผ่ยังยืดการต่อสู้ด้วยการกินน้ำผลไม้และนม ทำให้ฉันเบาใจ จากนั้น พี่เขาบอกว่า “ไผ่จะยืนอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์หรือไม่ก็ไม่รู้”

แม่ของไผ่พยายายามเข้าไปเยี่ยมไผ่ เพราะรอบแรกเธอก็ไม่ได้เข้าไปเหมือนฉัน เธอได้เข้าไปในฐานะทนายความ และฉันก็ได้เข้าไปเยี่ยมในฐานะเสมียนทนาย เราสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์กับไผ่ ฉันได้สารภาพกับไผ่ว่า “พี่แทบไม่มีไอเดียอะไรจะช่วยไผ่ได้เลย แต่พี่มาที่นี่กับน้องๆ อีกจำนวนหนึ่ง เพราะพี่คิดถึงไผ่ พี่ก็คิดถึงไผ่ทุกวันๆ ละหลายๆ หน และฝันเห็นไผ่อยู่ในคุกด้วย” (พูดเสร็จ ก็รู้สึกหื้ยยยย....แทบไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองพูดออกไป มันเหมือนกับบทหนังในละครมาก ขนาดพี่เอ๋ ที่เข้าไปด้วยกันบอกให้ฉันพูดใหม่เพื่อให้ทางนักข่าวถ่ายคลิป ฉันก็เขิน แล้วบอกว่า เดี่ยวคนจะหาว่าฉันมาสร้าง “ดราม่า ไผ่ ดาวดิน”)

ไผ่ ยิ้มทั้งสายตาและปาก ตอบกลับมาว่า “แค่นี้ผมก็ดีใจแล้วครับ” (เออ...ดูไม่กวนทีนดี อิอิ) ฉันตอบไปว่า “ไผ่ต้องสู้ๆ นะ พี่กะน้องๆ เป็นกำลังใจให้” แล้วฉันก็คืนโทรศัพท์ให้พี่เอ๋ ผู้ที่เข้าเยี่ยมในฐานะน้าสาวของไผ่พูดต่อ

สรุปว่าฉันไปเยี่ยมไผ่ เพราะการกระทำของไผ่มันโคตรสั่นสะเทือนต่อมศีลธรรมที่ดูดัดจริต (เพราะดีแต่พูด และบางทีก็พูดไม่ดี) ของนักวิชาการอย่างฉัน มาตั้งแต่ไผ่เริ่มอดอาหารและไม่ยอมประกันตัวแล้ว

นักข่าวรุ่นน้องคนหนึ่งถามฉันว่า “เห็นหน้าไผ่แล้ว ไผ่เป็นอย่างไรมั่ง” ฉันตอบว่า “ไผ่หน้าดำ หมองคล้ำมาก แต่ไผ่ยังยิ้มฟันขาว ไม่ได้แสดงท่าทีอิดโรย ขอความเห็นใจแต่อย่างไร พูดแค่เพียงว่า เป็นไข้ และไม่ขอประกันตัว” นักข่าววัยรุ่นคนนั้นมองหน้าฉัน เหมือนอยากจะให้ฉันพูดต่อ

ฉันพูดต่อว่า “ฮีโร่ ก็แบบนี้แหละ ซ่อนหน้าตาแห่งความทุกข์ (ไว้ในหน้ากากเหมือนแบทแมน) แล้วโผล่ออกมาแต่ปาก ที่บอกว่า “แม้เป็นไข้...แต่ใจยังสู้อยู่””

พูดแล้วก็รู้สึกแว้ปปป ไปคิดถึงเมื่อหลายเดือนก่อน ตอนที่พวกเรา 40 คน ไปดูหนังกลางแปลง เรื่อง “แบทแมน บุรุษแห่งรัตติกาล” แล้วแบ่งกลุ่มคุยกันว่า “ใครเป็นคนที่เลวน้อยที่สุดในเรื่อง” ...ฉันกับไผ่และน้องๆ อีก 5-6 คน ก็เลือกอยู่กลุ่ม “แบทแมน”  ส่วนคนอื่นๆ อยู่กลุ่ม โจ๊กเกอร์ อัยการ และตำรวจ  (แต่เชื่อมะ ว่ากลุ่มที่เลือกโจ๊กเกอร์ เยอะที่สุด รองลงมาคือ เลือกอัยการ แบทแมนเป็นที่ 3 ตำรวจเป็นที่โหล่)

กลุ่มเราไม่เลือกโจ๊กเกอร์ เพราะโจ๊กเกอร์ realistic  มาก เพื่อพิสูจน์ว่าใจมนุษย์เฟคจริง เลวจริง โจ๊กเกอร์สร้างสถานการณ์ทดสอบ แล้วทำให้คนตาย แม้ผลการทดสอบออกมาว่า จริงด้วยแฮะ 

ส่วนอัยการ พวกเราคิดว่า แม้เขาจะต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์และความเป็นจริงแล้ว แต่สุดท้าย เขาก็พ่ายแพ้แก่ อุดมการณ์

ส่วนแบทแมน ที่ไผ่และพวกเราเลือก เพราะแบทแมน "ยึดมั่น" ในอุดมการณ์ และ "ยอมตน" ให้คนเข้าใจผิด เพราะต้องการพิสูจน์ว่า แม้ในภาวะที่กดดันและเลวร้ายที่สุด "บุรุษแห่งรัตติกาล อย่างแบทแมน ก็ยอมทนได้" 

ตำรวจเหรอ ...พอดีช่วงนั้นฉันปวดท้อง ไปเข้าห้องน้ำพอดี เลยไม่ได้คุย อิอิ

ทั้งๆ ที่ฉันไม่มีคุณสมบัติใดเหมือนไผ่และแบทแมนเลย นอกจากชอบนั่งทำงานในเวลารัตติกาล...(อิอิ)

แต่การมาเยี่ยมไผ่ ดาวดินครั้งนี้...ทำให้ฉันเข้าใจเลยว่า ...บุรุษแห่งรัตติกาล แบบไผ่ ดาวดิน นี่มันเป็นยังไง....

จากใจ...ตัวแทน "ติ่งไผ่ ดาวดิน"

 

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
ครบปีแล้วสินะที่เราเดินตามก้นอาจารย์อานันท์ไปสำรวจซิดนี่ย์... เมื่อเอารูปเก่าๆ มาดู...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า วันนั้น อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ในวัย ๖๘ ปี นอกจากจะสอนหนังสือมาราธอน สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า ๙ ชม.
เก๋ อัจฉริยา
มอญในเมียนมาร์ ไม่ว่าจะอยู่ที่เมียนมาร์แลนด์หรือไทยแลนด์ ต่างก็ได้ชื่อว่า เป็น “คนอื่น” ในแผ่นดินที่ (เคย) เป็นของตัวเอง ถ้าเรามองภายใต้กระบวนทัศน์ที่แบบมองอะไรแบบ “เชิงเดี่ยว”  
เก๋ อัจฉริยา
แรงงานชาวเมียนม่าร์ (พม่า มอญ ทวาย อารกัน ฉาน กระเหรี่ยง ฯลฯ) ที่สมุทรสาคร แม้มียอดลงทะเบียนทั้งเก่าและใหม่ถึง 387,510 คน แต่จากการประมาณการของ NGOs ทั้งไทยและเมียนม่าร์ น่าจะมีประมาณ 600,000 – 700,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 15,000 คน แต่เชื่อหรือไม่ว่า เด็กเหล่านี้เพียงร้อยละ 7.6 ที
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปนิเทศน์นิสิตที่ฝึกงานที่บ้านพักเด็กและครอบครัว แห่งหนึ่งของทางราชการ และได้พบกับเด็กชายชาวพม่า ๒ คนที่ถูกตำรวจจับและส่งให้บ้านพักเด็กแห่งนี้ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก เด็กคนแรกอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ขวบ คนที่สองเป็นน้องอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ
เก๋ อัจฉริยา
ในฐานะนักมานุษยวิทยาการท่องเที่ยว ผู้เขียนจะรู้สึกฟินฝุดๆ เมื่อพบว่าพื้นที่ท่องเที่ยวใดเปิดโอกาส เปิดที่ เปิดทางให้คนเล็กคนน้อยได้ทำมาหากิน และเปิดที่ เปิดทาง เปิดโอกาส ให้คนเล็กคนน้อยได้เที่ยวในราคาถูกแบบบ้านๆ เช่นกัน
เก๋ อัจฉริยา
บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายชั่วอายุคนแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ แต่ที่น่าสนใจเพราะมันเพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง จำได้ว่าเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ผู้เขียนใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ – หนองคาย 3 ปี พ่อเล่าให้ฟังว่ามีบั้งไฟขึ้นกลางลำน้ำโขงตอนออกพรรษา แต่ไม่มีใครในบ้านสนใจไปดูแ
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อมีคนรู้ว่าผู้เขียนพานิสิตจำนวน 16 คนไปถ่ายทำสารคดีบั้งไฟพญานาค ส่วนใหญ่ต่างก็ถามว่า มา “พิสูจน์” บั้งไฟพญานาคหรือ?
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อพูดถึงเจดีย์ไชทียู หรือที่คนไทยรู้จักในนามพระธาตุอินทร์แขวน ก็ขอให้ลืมเป็นการชั่วคราวเรื่องตำนานพระฤาษี และความศักดิ์สิทธิ์ แต่สิ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือชีวิตของคนเล็กคนน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาสร้างการดำรงชีพในพื้นที่ท่องเที่ยว ณ ที่แห่งนี้
เก๋ อัจฉริยา
            เหตุเกิดเมื่อกลางปี 2008 นักมานุษยวิทยาสมัครเล่นนางหนึ่งได้ใช้เวลา 3 วันโดดเรียนไปเที่ยวที่ Sa Pa (ซาปา) เมืองในหมอกบนพื้นที่สูงของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ภูเขาที่นี่สูงเสียดฟ้าสลับซับซ้อนกันหลายลูกจริงๆ จนภูเขาบ้านเราสมควรถูกเรียกว่า “hill” มากกว
เก๋ อัจฉริยา
ณ วัดเทพฯ มหาชัย สมุทรสาคร ในวันสงกรานต์ มีแรงงานพม่ามาทำกิจกรรมทางศาสนาไม่ต่ำกว่าหมื่นคน เมื่อดูจากผู้คนที่มาทำกิจกรรมฯ ที่วัดในวันนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แรงงานพม่าที่มหาชัย มีเชื้อชาติพม่า-พม่า มีน้อยมาก ทว่าส่วนใหญ่เป็นมอญ-พม่า ทวาย-พม่า และอารกัน-พม่า (จากรัฐยะไข่) (ตามลำดับ) พวกเขา แม้อย