Skip to main content

กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคง* : กลุ่มพลังใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม

Guy Standing (2014)

---------------------------------------------
แปลจาก : The precariat : the new dangerous class, 27 ตุลาคม 2014
แปลเป็นภาษาไทย : โดย จักรพล ผลละออ 2017

---------------------------------------------

 

ในปัจจุบันนี้มีผู้คนจำนวนมากทั่วโลกที่รู้สึกและตระหนักว่าตัวเองกำลังกลายเป็นกลุ่มผู้ไร้ความมั่นคง  - หรือไม่ก็จะตระหนักได้ในไม่ช้า - และพวกเขาไม่ได้ดำรงอยู่โดยลำพัง  และปรากฎการณ์นี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก จากที่พวกเขาเคยรู้สึกพ่ายแพ้และท้อแท้ต่อระบบ จะกลายไปสู่ความรู้สึกต่อต้านและตั้งคำถามต่อระบบ นักสังคมวิทยาเก่าอาจจะรู้สึกสับสนกับปรากฎการณ์นี้แต่กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงนี้ได้เคลื่อนตัวจากเรื่องการประกอบอาชีพตัวไปสู่เรื่องการวางข้อตกลงทางการเมืองหรือระบบการเมืองขึ้นใหม่ พวกเขารู้ว่ามันไม่ขบวนการชนชั้นแรงงานที่เป็นปึกแผ่นและไม่สนใจที่จะกลับไปสร้างขบวนการชนชั้นแรงงานแบบเดิม เราต้องการทางเลือกที่ก้าวหน้ากว่าเดิม ทางเลือกที่สร้างขึ้นโดยคนกลุ่มนี้ และเพื่อคนกลุ่มนี้

ข้อมูลพื้นฐานที่สุดคือ ระบบการกระจายรายได้ในศตวรรษที่ 20 นั้นล่มสลายลง การกระจายรายได้นั้นผันเปลี่ยนไปสู่รูปแบบของการทำกำไร (มูลค่าส่วนเกิน-ผู้แปล) ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รูปแบบของค่าเช่าที่จะยิ่งทวีราคาสูงขึ้น ในขณะที่ค่าแรงนั้นกลับลดลง

เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นด้านแรงงาน ลดความมั่นคงของแรงงาน และทิ้งผู้คนนับล้านเอาไว้โดยปราศจากระบบสวัสดิการสาธารณสุข เงินบำนาญ และปัจจัยการดำรงชีพอื่นๆ รัฐบาลได้โยนภาระดังกล่าวไปไว้ที่เรื่องการช่วยเหลือทางสังคมและสวัสดิการตามสถานประกอบการ ส่วนเรื่องรัฐสวัสดิการนั้นก็ถูกลดทอนลง

ในขณะที่โครงสร้างชนชั้นระดับโลกกำลังก่อตัวขึ้นซ้อนทับกับโครงสร้างชนชั้นในระดับรัฐ บนยอดของพีระมิดทางชนชั้นนั้นก็คือ กลุ่มนายทุน-คนร่ำรวยขนาดเล็กมากๆ แต่คนกลุ่มนี้กลับเต็มไปด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าภูมิหลังของพวกเขานั้นเต็มไปด้วยเรื่องอาชญากรรมการเอารัดเอาเปรียบจำนวนมหาศาลด้วย คนกลุ่มนี้เป็นอิสระและไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบหรือสังกัดต่อรัฐใดรัฐหนึ่ง

รองลงมาจากคนกลุ่มดังกล่าวนั้นคือพวก ชนชั้นสูง ผู้ได้รับผลประโยชน์จากระบบทุนนิยม หรือที่ Thomas Piketty เรียกว่าทุนนิยมมรดก รองลงมานั้นคือพวก แรงงานคอปกขาว ที่มีความมั่นคงในการจ้างงาน เงินบำนาญ ค่าจ้างในวันหยุดงาน และสิทธิพิเศษอื่นๆ คนกลุ่มนี้คือสิ่งที่นักวิชาการชาวอเมริกันในยุค 1960 และ 1970 คาดหวังว่ามันจะกลายเป็นนอร์มและชนชั้นขนาดใหญ่ในสังคม อย่างไรก็ตามแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะจัดวางตัวเองอย่างมั่นคง แต่ว่าพวกเขาก็กำลังลดจำนวนลงเช่นเดียวกัน

อีกกลุ่มคนที่ยืนคู่ขนานกับกลุ่มแรงงานคอปกขาวคือกลุ่ม นายทุนน้อยหรือกลุ่มแรงงานระดับบริการ ซึ่งไม่ได้ต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้าง แน่นอนว่าพวกเขามีการติดต่องานจำนวนมาก แต่พวกเขาจะต้องประสบกับปัญหาอย่างแน่นอนไม่ว่าจะในเวลาอันใกล้หรือในอนาคต พวกเขายังคงมีส่วนได้ส่วนเสียกับการปกป้องค่าแรง

ส่วนถัดมานั้นคือกลุ่ม ชนชั้นกรรมาชีพดั้งเดิม ซึ่งได้สร้างระบบรัฐสวัสดิการ ตลอดจนกฎหมายแรงงานและระบบแรงงานสัมพันธ์ไว้ ชนชั้นกรรมาชีพนั้นมุ่งมั่นอยู่กับการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับแรงงานเต็มเวลาหรือแรงงานประจำ ซึ่งถูกเรียกว่า “สิทธิแรงงาน” แต่เรื่องนี้กำลังลดความสำคัญลงเช่นเดียวกับสมรรถภาพของมันและแม้กระทั่งความปรารถนา ในการจะปกป้องสถาบันรัฐสวัสดิการ และความสำเร็จนี้ไม่ควรถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือเรื่องฝันหวาน  ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งของชนชั้นกรรมาชีพนั้นได้มาจากการเหยียดเพศ และบ่อยครั้งมาจากการเหยียดเชื้อชาติ และการแบ่งชนชั้นในหมู่แรงงานด้วยกันเอง สหภาพแรงงานคือตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ ซึ่งมีผู้นำเป็นพวกปฏิกิริยา ดังเช่นในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ อย่างผู้นำเก่าๆของ AFL-CIO

ส่วนชนชั้นหรือกลุ่มคนไร้ความมั่นคงนั้นคือกลุ่มคนที่อยู่ต่ำกว่ามาตรฐานของชนชั้นกรรมาชีพ หากแต่พวกเขาไม่ใช่กลุ่มคนที่ไร้จิตสำนึก พวกเขาคือกลุ่มเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากระบบที่มีชีวิตอยู่ตามท้องถนน จิตวิญญาณของพวกเขาเต็มไปด้วยความเศร้าที่ทำให้พวกเขาอยู่ในสถานะเจียนตาย กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงนั้นในทางตรงข้ามกลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการยกย่องจากระบบทุนโลกาภิวัตน์ในฐานะหัวใจสำคัญของระบบ ในขณะที่รัฐเสรีนิยมใหม่เป็นผู้ก่อรูปร่างของกลุ่มคนเหล่านี้ จากการประมาณการล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าในประเทศเหล่านี้มีกลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงมีจำนวนมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับประชากรวัยผู้ใหญ่ คือ ญี่ปุ่น เกาหลี กรีซ สเปน ออสเตรเลีย และ สวีเดน  ทั้งๆที่สวีเดนนั้นเป็นประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตยที่มีระบบรัฐสวัสดิการ ส่วนประเทศที่มีจำนวนกลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงมากที่สุดนั้นคือประเทศจีน

 

กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงคือใคร

กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงสามารถนิยามได้ในสามมิติดังนี้ ประการแรกพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตที่แตกต่างออกไป พวกเขาเป็นกลุ่มแรงงานที่ไร้ความมั่นคง ทำงานภายใต้สัญญาว่าจ้างอย่างยืดหยุ่น พวกเขาทำงานแบบไม่เป็นทางการ เป็นฟรีแลนซ์ เป็นพนักงานพาร์ทไทม์ หรือทำงานแบบไม่ต่อเนื่องตามแต่ความต้องการของนายหน้าแรงงาน สิ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้ระบบการทำงานแบบนี้คือ “การจ้างงานฝูงชน” ซึ่งมีผู้วิจารณ์จำนวนมากที่ผิดพลาดในการสรุปเอาว่าแรงงานไร้ความมั่นคงทั้งหมดคือกลุ่มคนไร้ความมั่นคง  และสรุปอย่างผิดพลาดว่าข้อเสนอเรื่องคนกลุ่มนี้ไม่มีอะไรใหม่

แรงงานที่ไร้ความมั่นคงนั้นมีอยู่เสมอมา แต่ว่าในปัจจุบันนี้มันกลับกลายไปเป็นรูปแบบหรือนอร์มแบบหนึ่ง เหมือนๆกับที่นักประวัติศาสตร์ทำการวิเคราะห์กระบวนการทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพด้วยการใช้ระเบียบวิธีแบบการมองกลุ่มแรงงานที่มีความมั่นคง  และผูกติดมันเอาไว้กับระบบทุน นั่นทำให้กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงจึงถูกมองว่าเป็นสิ่งเดียวกับแรงงานไร้ความมั่นคง

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ กลุ่มคนไร้ความมั่นคงนี้ไม่ได้รับการระบุหรือจำกัดความถึงอาชีพที่พวกเขาทำได้ ไม่มีการพูดถึงเรื่องปัจจัยในการดำรงชีพของพวกเขา และพวกเขาจำเป็นต้องทำงานจำนวนมากซึ่งหลายครั้งถูกมองข้ามและไม่ได้รับการจ่ายค่าแรง พวกเขาถูกขูดรีดจากทั้งในสถานที่ทำงานและนอกสถานที่ทำงาน ต้องทำงานทั้งในและนอกเวลางาน

ประการที่สอง กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงนี้มีรูปแบบความสัมพันธ์ของการกระจายรายได้ที่แตกต่างออกไป พวกเขาอาศัยอยู่บนการจ่ายค่าจ้างทั่วไปโดยปราศจากเงินบำนาญ การจ่ายค่าจ้างในวันลางาน และประกันสุขภาพ พวกเขาสูญเสียผลประโยชนที่ควรจะได้เหล่านี้และนี่คือเหตุผลว่าทำไมสถิติทั่วไปจึงแสดงให้เห็นว่าการเติบโตมีความเหลื่อมล้ำ

ประการที่สาม กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงมีรูปแบบความสัมพันธ์กับรัฐที่ต่างออกไป กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงจำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับสถานะความเป็นพลเมือง พวกเขากลายเป็นพลเมืองชั้นสองเป็น “ผู้อาศัย” ที่ปราศจากสิทธิ์ในฐานะพลเรือน ไม่มีสิทธิ์ด้านวัฒนธรรม การเมือง สังคม และเศรษฐกิจใดๆทั้งสิ้น พวกเขากลายเป็นเพียงคนอนาถาที่รอการสงเคราะห์ซึ่งต้องคอยอ้อวนวอนขอรับบริการจากรัฐ ซึ่งต้องฝากความหวังไว้กับพวกข้าราชการหรือพวกเทคโนแครตที่จะเป็นผู้ออกนโยบายในการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์พวกเขา ผ่านการพิจารณาถึงพฤติกรรมและความคิดของกลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงว่าสมควรจะได้รับหรือไม่

มุมมองทั้งสามนี้ทำให้เราตระหนักถึงความสัมพันธ์ในการกีดกันสิทธิของคนกลุ่มนี้ออกไป มันคือการหลอมรวมความกังวล ความผิดปกติ (ความไม่สามารถหลบหนีได้) ความรู้สึกแปลกแยก (พวกเขาต้องทำในสิ่งที่พวกเขาไม่พึงปรารถนาและไม่สามารถจะทำสิ่งที่พวกเขาถนัดได้) และความไม่พอใจ

 

ความหลากหลายของกลุ่มผู้ไร้ความมั่นคง

ในปัจจุบันคนกลุ่มนี้ประกอบขึ้นจากคนสามประเภทหลักๆ กลุ่มแรกนั้นคือผู้ที่กลายเป็นผู้ไร้ความมั่นคงจากชุมชนของชนชั้นแรงงาน พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการศึกษาและรู้สึกว่าพวกเขาถูกกีดกันออกจากสังคมเพราะความผิดพลาดในอดีต คนรุ่นก่อนหน้าของพวกเขาต่างเป็นแรงงานที่มีความมั่นคงและพวกเขาต้องการเป็นเหมือนเช่นบรรพบุรุษของเขา ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้หันไปหาพวกประชานิยมและพวกฟาสซิสต์ใหม่ ซึ่งโทษว่าความไม่มั่นคงของพวกเขานั้นเกิดจากพวกแรงงานข้ามชาติและพวกชนกลุ่มน้อย ตลอดทั้งยุโรปและที่อื่นๆคนกลุ่มนี้ต่างเทคะแนนโหวตให้กับลัทธิชาตินิยม การต่อต้านแรงงานข้ามชาติ และลัทธิเหยียดเชื้อชาติ

กลุ่มที่สองคือกลุ่มแรงงานข้ามชาติและชนกลุ่มน้อย ที่รู้สึกว่าพวกเขาถูกปฏิเสธจากการจ้างงานและการอยู่อาศัยภายในรัฐ โดยปกติพวกเขามักอ่อนน้อมถ่อมตนและจดจ่ออยู่กับเพียงการเอาชีวิตรอดไปวันๆแต่เมือ่ไหร่ก็ตามที่การเมืองเริ่มคุกคามพวกเขาก็พร้อมที่จะต่อต้านอย่างร้อนแรง (เช่นในกรณีที่ Stockholm 2013)

กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่ได้รับการศึกษาและส่วนมากคือคนหนุ่มสาวที่เพิ่งจบการศึกษา พวกเขาต้องทนทุกข์กับการกีดกันประการสำคัญนั่นคือการกีดกันพวกเขาจากการเลือกอนาคตให้กับตัวเอง จากชีวิตที่ดีและสมบูรณ์ แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่เข้าร่วมกับพวกฟาสซิสต์  พวกเขามุ่งมั่นที่จะหาทางแก้ไขอนาคต  และสร้างสังคมใหม่ที่วางรากฐานอยู่บนความเสมอภาค เท่าเทียม สิทธิ เสรีภาพ และมีความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม

 

การต่อสู้ที่กำลังจะปรากฏขึ้น

เป็นเรื่องโชคร้ายที่หลังจากการเดินขบวนประท้วง และนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ผู้คนจำนวนมากได้ตระหนักว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงนี้ ซึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเคลื่อนไหวตอบโต้ ในหมู่คนกลุ่มที่สามนั้นความรู้สึกที่ว่าพวกเขาไม่ใช่เหยื่อของระบบและพวกเขาสามารถต่อสู้กลับได้นั้นกำลังเติบโตขึ้น กลุ่มพลังนี้ต้องการที่จะต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากสถานะที่เป็นอยู่ด้วยการเอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวางอยู่

อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงนี้ถือเป็นกลุ่มพลังที่อันตรายเพราะพวกเขาปฏิเสธความคิดทางการเมืองกระแสหลักที่เป็นอยู่ มีคนจำนวนมากที่เลือกจะไม่ไปลงคะแนนเสียง ซึ่งไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่ได้ไม่สนใจการเมือง เพียงแต่นโยบายหรือความคิดทางการเมืองของพรรคการเมืองที่มีอยู่นั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้

การประท้วงนับตั้งแต่ปี 2011 จำนวนมากนั้นถูกเรียกว่าเป็นการต่อสู้แบบโบราณ เมื่อกลุ่มคนที่เกิดขึ้นใหม่หรือช่วงชั้นที่เกิดขึ้นใหม่นั้นรวมตัวกันหนาแน่นมากขึ้นในการต่อสู้ มากกว่าจะรวมมาตัวกันเพียงเพราะความต้องการ แต่การเคลื่อนไหวนี้ก็ทำให้กลุ่มคนที่เข้าใกล้การเป็น “ชนชั้น-เพื่อ-ตัวชนชั้นเอง” (Class-for-Itself)

การเคลื่อนไหวโต้กลับนี้กำลังก่อตัวขึ้น กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงจะเป็นกลุ่มพลังใหม่ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เมื่อภาพเพ้อฝันถึงสังคมจินตนาการของพวกเสรีนิยมใหม่ได้หายไป อนาคตจะกลับมาเป็นอย่างที่มันควรเป็น และกลุ่มผู้ไร้ความมั่นคงนี้จะกลายเป็นแนวหน้าในการสถาปนาและปกป้องยุคสมัยแห่งความก้าวหน้าที่กำลังจะมาถึง.

 

Guy Standing - ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันแอฟริกาและเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน เขาได้ออกหนังสือเรื่อง A Precariat Charter เอาไว้ในปี 2014

 

*ผู้แปลเลือกใช้คำว่า "กลุ่มคน" แทนคำว่า "ชนชั้น" เนื่องจากลักษณะโดยรวมของคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มคนที่อยู่ภายในปริมณฑลของชนชั้นกรรมาชีพ ดังนั้นผู้เขียนจึงเลือกใช้คำว่า "กลุ่มคน" แทน "ชนชั้น" เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับ "ชนชั้น" ในทฤษฎี Marxism

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ว่าด้วยวันสตรีสากลAlexandra Kollontai 1913 
จักรพล ผลละออ
 
จักรพล ผลละออ
ทุนนิยม ชนชั้นกลาง อนุรักษ์นิยม และการต่อต้านทุนสามานย์จักรพล ผลละออ (2017)