เสรีนิยมใหม่ : อุดมการณ์อันเป็นต้นตอของปัญหา George Monbiot (2016)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ margaret thatcher dead

 

เสรีนิยมใหม่ : อุดมการณ์อันเป็นต้นตอของปัญหา
George Monbiot (2016)

---------------------------------------------
มาจาก : Neoliberalism - The ideology at the root of all our problems 15 เมษายน 2016
แปลเป็นภาษาไทย : โดย จักรพล ผลละออ 2017

---------------------------------------------

 

“การล่มสลายของระบบการเงิน ภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม

และกระทั่งการขึ้นสู่อำนาจของ Donald Trump

ล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่เป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุของปัญหาทั้งนั้น”

 

ลองจินตนาการสิว่ามันจะเป็นอย่างไรหากผู้คนในสหภาพโซเวียตนั้นไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินสิ่งที่เรียกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ หากคุณจินตนาการไม่ออกแล้วล่ะก็สภาพสังคมในปัจจุบันนี้คือคำตอบ นั่นเพราะในปัจจุบันนี้เราถูกครอบงำเอาไว้ด้วยชุดอุดมการณ์ที่เราไม่รู้จักชื่อของมัน หรือต่อให้คุณทราบชื่อที่แท้จริงของมัน ชื่อนั้นก็จะถูกปฏิเสธอยู่ดี และชื่อที่ว่านั้นก็คือ “เสรีนิยมใหม่” คุณรู้หรือเปล่าว่าคำนี้หมายถึงอะไร?

การไม่มีชื่อหรือการพยายามปฏอเสธชื่อของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่นี้เป็นทั้งลักษณะและที่มาของอำนาจของมัน อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่นั้นมีบทบาทอันโดดเด่นในวิกฤตการณ์หลายครั้ง เช่น การล่มสลายของระบบการเงินในปี 2007-2008 การเคลื่อนไหวเงินและอำนาจภายนอกประเทศที่เอกสาร Panama Papers ได้เปิดเผยให้เรารับทราบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การล่มสลายของระบบสวัสดิการด้านสาธารณสุขและการศึกษา การช่วยเหลือเด็กยากไร้ การขยายตัวของความเป็นปัจเจก การพังทลายของรับบนิเวศ การขึ้นสู่อำนาจของ Donald Trump เป็นต้น แต่ทว่าเรากลับตอบสนองต่อวิกฤตปัญหาเหล่านี้ด้วยการตัดช่องน้อยแต่พอตัวกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพวกเราถูกขับดันไปด้วยปรัชญาซึ่งเชื่อมโยงกัน

การแพร่กระจายตัวของลัทธเสรีนิยมใหม่นั้นทำใ ห้เราไม่แม้แต่จะตระหนักได้ว่ามันเป็นอุดมการณ์ ในทางกลับกันนั้นกลายเป็นว่าเราจะรับเอาความคิดแบบเสรีนิยมใหม่มาเสียด้วยซ้ำในการมองภาพสังคมในอุดมคติ ลัทธิงมงายที่เชื่อในคำอธิบายของสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่พยายามเชื่อมโยงตัวเองให้คล้ายกับกฎทางชีววิทยา อย่างทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วินส์

 

“ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคมนั้นถูกนำมาเล่าใหม่ราวกับเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

ระบบตลาดถูกทำให้เชื่อว่าจะเป็นระบบที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการได้”

 

ลัทธิเสรีนิยมใหม่นั้นมองว่าการแข่งขันคือลักษณะโดยธรรมชาติในความสัมพันธ์ของมนุษย์ มันได้ทำการนิยามความหมายใหม่ให้พลเมืองกลายเป็นลูกค้า ทำให้ระบบการเลือกแบบประชาธิปไตยการเป็นการรูปแบบของการซื้อและการขาย เป็นกระบวนการที่ทำให้การให้รางวัลและการลงโทษกลายเป็นเรื่องไร้คุณภาพ สิ่งเดียวที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่รักษาเอาไว้คือความคิดที่ว่า “ระบบตลาด” จะนำไปสู่ผลประโยชน์ขนาดมหาศาล

การพยายามควบคุมการแข่งขันถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่คุกคามต่อเรื่องเสรีภาพ การควบคุมตลาดและการจัดเก็บภาษีนั้นจำเป็นจะต้องถูกลดลง บริการสาธารณะจะต้องถูกแปรรูปให้ไปอยู่ในมือของเอกชน องค์กรของแรงงานและการเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงานนั้นถูกมองว่าเป็นเหมือนสิ่งที่บิดเบือนระบบตลาดที่จะทำลายระบบการแบ่งชนชั้นโดยธรรมชาติระหว่างผู้ชนะกับผู้แพ้ ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคมนั้นถูกนำมาเล่าใหม่ราวกับเป็นเรื่องที่ถูกต้อง มันเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดความมั่งคั่งและเป็นรางวัลสำหรับผู้ชนะ พวกเขาเชื่อว่าระบบตลาดนั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระจายความมั่งคั่งจากบนลงล่าง มันเป็นความพยายามสร้างสังคมที่เท่าเทียมขึ้นบนระบบตลาดและปกป้องการพังทลายของระบบศีลธรรม ระบบตลาดถูกทำให้เชื่อว่าจะเป็นระบบที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการได้

พวกเราต่างผลิตซ้ำซ้ำลัทธิความเชื่อนี้ พวกคนรวยมักจะบอกตัวเองเสมอว่าความร่ำรวยและความสำเร็จของเขามาจากเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างผลบุญ โดยไม่สนใจเรื่องความได้เปรียบด้านอื่นๆ เช่น มรดก ชนชั้นที่สูงกว่า โอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่า ที่ช่วยปกป้องความร่ำรวยและความสำเร็จของพวกเขาเอาไว้ และในขณะเดียวกันนั้นมันก็ทำให้คนจนต้องหันมาโทษตัวของพวกเขาเองเพราะความล้มเหลวของพวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์อะไรได้เลยก็ตาม

มันเป็นการโทษตัวเองที่ไม่ต้องสนใจเรื่องโครงสร้างที่ทำให้เกิดการว่างงาน เพราะมันจะมีคำอธิบายว่าที่คุณว่างงานก็เพราะคุณไม่มีความสามารถพอ ไม่ต้องสนใจเรื่องค่าเช่าบ้านที่สูงจนคุณไม่มีปัญญาจ่าย เพราะถ้าคุณไม่สามารถจ่ายมันได้เพราะวงเงินบัตรเครดิตเต็มนั่นก็เป็นเพราะความสะเพร่าและความอ่อนแอของตัวคุณเอง ไม่ต้องสนใจหากว่าลูกๆของคุณต้องเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีสนามเด็กเล่น และถ้าหากพวกเขากลายเป็นเด็กอ้วนนั่นก็เป็นความผิดของคุณ ในโลกที่ปกครองด้วยการแข่งขัน ผู้ที่ล้มลงเบื้องหลังจะถูกทิ้งและถูกตราหน้าว่าเป็นพวกขี้แพ้

ท่ามกลางผลลัพธ์เหล่านี้เป็นดังที่ Paul Verhaeghe ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง What About Me? ว่านี่คือการแพร่กระจายของการทำร้ายตัวเอง ความผิดปกติ ความกดดัน ความรู้สึกตกต่ำ ความโดดเดี่ยวแปลกแยก ที่แสดงออกมาในรูปแบบของความกังวลและอาการหวาดกลัวสังคม บางทีนี่อาจจะม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกเลยสำหรับประเทศอังกฤษ ที่ซึ่งลัทธิเสรีนิยมใหม่ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างเคร่งครัด และแน่นอนว่าในตอนนี้พวกเราเองต่างก็เป็นเสรีนิยมใหม่ด้วยเหมือนกัน

 

***

 

ลัทธิเสรีนิยมใหม่นั้นได้ประกาศตัวเป็นครั้งแรกในการประชุมที่ปารีสในปี 1938 ท่ามกลางบรรดาผู้ร่วมประชุมนั้นมีชายสองคนที่พยายามในคำนิยามอุดมการณ์แบบดังกล่าวนั่นคือ Ludwig von Mises และ Friedrich Hayek ซึ่งทั้งคู่ถูกเนรเทศจากออสเตรีย พวกเขามองว่าระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ถูกทำให้สุดขั้วโดย Franklin Roosevelt นั้นเป็นเหมือนการต่อรองใหม่ที่ค่อยๆพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการในอังกฤษ ที่เป็นเสมือนการประกาศตัวเป็นลัทธิรวมหมู่เช่นเดียวกับลัทธินาซีหรือลัทธิคอมมิวนิสต์

ในหนังสือเรื่อง The Road to Serfdom ที่เผยแพร่ในปี 1944 Hayek ได้โต้แย้งแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่พยายามทำลายรูปแบบปัจเจกชนนิยมว่าจะเป็นการนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการ เช่นเดียวกับหนังสือเรื่อง Bureaucracy ของ Mises หนังสือเรื่อง The Road to Serfdom นั้นได้รับความนิยมอย่างมาก และได้รับความสนใจอย่างมากในหมู่คนร่ำรวย ผู้มองว่างานปรัชญาเหล่านี้จะเป็นโอกาสในการทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากระบบภาษี และในปี 1947 นั้น Hayek ได้ก่อตั้งองค์กรที่จะเผยแพร่ความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ออกไปอย่างกว้างขวางชื่อ Mont Pelerin Society ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบรรดาเศรษฐีจำนวนมาก

และด้วยความช่วยเหลือเหล่านี้ Hayek ได้เริ่มต้นที่จะสร้างสิ่งที่ Daniel Stedman Jones ได้อธิบายเอาไว้ในงานเรื่อง Masters of the Universe ว่า “รูปแบบของเสรีนิยมสากลใหม่” อันเป็นเครือข่ายของนักวิชาการ นักธุรกิจ นักข่าวและนักกิจกรรม สองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ที่สร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่มีกลุ่มคนร่ำรวยให้การสนับสนุนในการทำงานทางความคิดเพื่อพัฒนาและนำเสนออุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ ในเครือข่ายของพวกเขานั้นประกอบไกด้วยสถาบันต่างๆเช่น  American Enterprise Institutethe Heritage Foundationthe Cato Institutethe Institute of Economic Affairsthe Centre for Policy Studies and the Adam Smith Institute นอกจากนี้พวกเขายังให้เงินสันบสนุนแก่ผู้มีตำแหน่งทางวิชาการหรือสถาบันทางวิชาการอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยชิคาโก และมหาวิทยาลัยเวอจิเนีย

ภายใต้การพัฒนานี้ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ค่อยๆทวีความเข้มแข็งขึ้น Hayek มองว่ารัฐบาลควรวางกฎระเบียบเรื่องการแข่งขันเพื่อป้องกันกลุ่มเศรษฐี โดยนักเสรีนิยมใหม่ชาวอเมริกันอย่าง Milton Friedman นั้นเชื่อว่าอำนาจที่ผูกขาดนั้นควรจะถูกมองว่าเป็นเหมือนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ

มีเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการเคลื่อนไหวนี้นั่นคือการหายไปของชื่อเสรีนิยมใหม่ ในปี 1951 นั้น Friedman พึงพอใจที่จะอธิบายและนิยามว่าตัวเขาเองเป็นเสรีนิยมใหม่ แต่หลักจากนั้นไม่นานการนิยามตัวเองแบบนั้นได้หายไป และแม้ว่ารูปแบบของอุดมการณ์จะยิ่งแหลมคมขึ้นและการเคลื่อนไหวจะมีการรวมตัวกันหนาแน่นขึ้นชื่อของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ก็ยิ่งเลือนหายไปด้วย

ในลำดับแรกนั้นแม้ว่ามันจะมีการใช้เงินทุนอย่างฟุ่มเฟือยแต่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็ยังคงรักษาตัวอยู่ได้ แม้ว่าภายหลังสงครามโลกนั้นแนวคิดทางเศรษฐกิจของ John Maynard Keynes ได้รับการยอมรับเป็นฉันทามติร่วมและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย การเพิ่มตำแหน่งงานและการบรรเทาความยากจนกลายเป็นเป้าหมายหลักของสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปตะวันตก อัตราภาษีระดับบนนั้นยังคงสูงอยู่และรัฐบาลพยายามเสาะหาผลสำเร็จทางสังคมอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ มีการพัฒนาบริการสาธารณะมากขึ้น

แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เมื่อนโยบายแบบ Keynesian นั้นเริ่มจะใช้ไม่ได้ผลและระบบเศรษฐกิจกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตที่ดึงให้มันจมลงเหวตลอดทั้งประเทศในสองฟากแอตแลนติก ความคิดแบบเสรีนิยมใหม่เริ่มต้นขยับเข้าสู่การเป็นความคิดกระแสหลัก ดังเช่นที่ Friedman ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อคุณมาถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ... มันจะมีตัวเลือกที่รอให้คุณเลือกมาใช้อยู่เสมอ” ด้วยความช่วยเหลือของบรรดานักข่าวและผู้ให้ความเห็นทางการเมือง ความคิดบางประการของเสรีนิยมใหม่โดยเฉพาะการวางเงื่อนไขในนโยบายสกุลเงิน ถูกนำไปใช้โดย Jimmy Carter ในสหรัฐอเมริกา และโดย Jim Callaghan ในรัฐบาลอังกฤษ

 

“มันคงดูเป็นเรื่องประหลาดที่คำสอนของเสรีนิยมใหม่ซึ่งพูดถึงการมีทางเลือกที่มากขึ้น

กลับถูกโปรโมทด้วยสโลแกนที่ว่า “มันไม่ทางเลือกอื่นๆ” แล้ว”

 

ภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของ Margaret Thatcher และ Ronald Reagan องค์ประกอบอื่นๆของลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็ถูกนำมาบังคับใช้ เช่น การลดภาษีจำนวนมากสำหรับคนรวย การทำลายล้างระบบสหภาพแรงงาน การยกเลิกกฎระเบียบข้อบังคับ การแปรรูปกิจการของรัฐไปสู่เอกชน การจ้างเอาท์ซอร์สและสร้างการแข่งขันในบริการสาธารณะของรัฐ ด้วยระบบ IMF ธนาคารโลก สนธิสัญญา Maastricht และองค์การการค้าโลกนั้นทำให้อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่กลายเป็นความคิดกระแสหลักของโลก และบ่อยครั้งที่มันไม่ได้สนใจเรื่องความยินยอมตามกระบวนการประชาธิปไตย สิ่งที่น่าสนใจก็คือความคิดแบบเสรีนิยมใหม่นี้ถูกรับไปใช้โดยพรรคการเมืองไม่เว้นแม้แต่พรรคที่เคยสังกัดอยู่กับฝ่ายซ้ายเช่นพรรคแรงงาน

 

***

 

มันคงดูเป็นเรื่องประหลาดที่คำสอนของเสรีนิยมใหม่ซึ่งพูดถึงการมีทางเลือกและเสรีภาพที่มากขึ้นกลับถูกโปรโมทด้วยสโลแกนที่ว่า “มันไม่ทางเลือกอื่นๆ” แล้ว แต่ก็เป็นเช่นที่ Hayek ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในการเดินทางไปชิลี หนึ่งในประเทศแรกๆที่รับเอาแนวคิดเสรีนิยมใหม่ไปประยุกต์ใช้ “โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบเผด็จการเสรีนิยมมากกว่าระบอบประชาธิปไตยที่ปฏิเสธเสรีนิยม” เสรีภาพที่เสรีนิยมใหม่นำเสนอเรานั้นเป็นเสมือนการหลอกลวงเมื่อนำเสนอออกมา

ดังเช่นที่ Naomi Klein ได้เขียนเอาไว้ในงานเรื่อง The Shock Doctrine นักทฤษฎีเสรีนิยมใหม่นั้นสนับสนุให้ใช้วิกฤตเพื่อผลักดันนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยมขึ้นมาในช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังสับสน ตัวอย่างเช่น ภายหลังการรัฐประหารของ Pinochet สงครามในอิรัก หรือหลังเฮอริเคน Katrina ที่ Friedman อธิบายว่าเป็น “โอกาสในการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างถึงรากถึงโคน” ใน New Orleans

และในกรณีที่นโยบายเสรีนิยมใหม่ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ภายในประเทศได้ มันก็จะถูกบังคับใช้จากระดับสากลผ่านสนธิสัญญาการค้าที่เป็นการผสมผสานผลประโยชน์อันเรียกว่า “การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับผู้ลงทุน” ระบบศาลต่างประเทศที่นักลงทุนสามารถกดดันให้เกิดการยกเลิกการป้องกันสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ เมื่อรัฐสภาเริ่มลงมติเพื่อจำกัดการค้าขายบุหรี่ ปกป้องแหล่งน้ำจากการทำอุตสาหกรรมเหมือง ฯลฯ พวกนายทุนผู้ประกอบการก็จะฟ้องร้องและต่อต้าน ด้วยเหตุนี้ระบบประชาธิปไตยจึงแทบไม่ต่างอะไรจากโรงละครสำหรับการแสดง

ความย้อนแย้งอื่นๆของเสรีนิยมใหม่ก็คือ การแข่งขันในระดับสากลนั้นวางอยู่บนการเปรียบเทียบสากล ซึ่งผลลัพธ์ก็คือชนชั้นแรงงาน คนว่างงาน และบริการสาธารณะทุกรูปแบบกลายเป็นตัวชี้วัดที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้ ทฤษฎีของ Von Mises ที่เสนอว่าจะพาเราออกจากฝันร้ายของระบบราชการที่วางแผนจากส่วนกลางนั้นได้นำเราสู่ฝันร้ายใหม่ในนามของเสรีนิยมใหม่

เสรีนิยมใหม่นั้นไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะการบริการหรือการช่วยเหลือตัวเอง แต่ในท้ายที่สุดมันจะกลายเป็นเช่นนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นพัฒนาไปอย่างเชื่องช้าภายในช่วงเวลาของยุคเสรีนิยมใหม่ (นับตั้งแต่ปี 1980 ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ) แต่ไม่ใช่สำหรับกลุ่มคนร่ำรวย ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นทั้งในการกระจายรายได้และความมั่งคั่งขยายตัวขึ้นอย่างมากในยุคนี้ เนื่องจากการทำลายสหภาพแรงงาน การลดอัตราภาษี ขึ้นค่าเช่า และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือบริการสาธารณะของรัฐเช่น พลังงาน การประปา การรถไฟ สาธารณสุข การศึกษา การคมนาคม และเรือนจำนั้นเปิดโอกาสให้บรรดาบริษัทของนายทุนเข้ามามีส่วนในกิจการดังกล่าวรวมไปถึงการเรียกเก็บค่าผ่านทางหรือค่าเช่าทั้งจากพลเมืองและจากรัฐบาล ค่าเช่าหรือค่าผ่านทางนั้นถูกนับเป็นรายได้พิเศษ เมื่อคุณจ่ายค่าตั๋วรถไฟในราคาที่สูงขึ้น มีเงินเพียงส่วนหนึ่งที่ถูกนำไปใช้จ่ายในการเดินรถคือการจ่ายค่าเชื้อเพลิง ค่าจ้างพนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ส่วนเงินที่เหลือในราคาตั๋วนั้นคือภาพสะท้อนของมูลค่าส่วนเกิน

บรรดานายทุนที่เป็นเจ้าของกิจการที่แปรรูปเป็นเอกชนของรัฐหรือควบคุมรัฐวิสาหกิจนั้นสามารถทำกำไรได้ด้วยการลงทุนที่น้อยและการชาร์จราคาที่สูงขึ้น ในรัสเซียและอินเดียเอกชนจะสามารถซื้อสินทรัพย์ของรัฐได้ผ่านระบบ firesales เท่านั้น ในแมกซิโก Carlos Slim เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ควบคุมกิจการโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือเพียงผู้เดียวและกำลังจะกลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยติดอันดับโลกในไม่ช้า

ทุนนิยมธุรกรรมการเงินนั้นเป็นเหมือนสิ่งที่ Andrew Sayer ได้เขียนเอาไว้ในงานเรื่อง Why We Can’t Afford the Rich ว่ามันมีผลกระทบที่คล้ายคลึงกับ “ค่าเช่า” เขาเสนอว่า “ผลประโยชน์นั้นคือ ... รายได้พิเศษที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆโดยปราศจากการลงแรง” มันเป็นลักษณะที่คนจะจนมากยิ่งขึ้นและคนรวยจะยิ่งมั่งคั่งมากขึ้น กลุ่มคนรวยนั้นสามารถเข้าถึงการควบคุมสินทรัพย์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนั่นคือเงิน การจ่ายดอกเบี้ยที่สูขึ้นนั้นคือกระบวนการผันเงินจากคนยากจนไปสู่กระเป๋าของคนรวย เช่นเดียวกับการถอนเงินอุดหนุนของรัฐออกจากประชาชนที่มีหนี้สิน (เหมือนกับการเปลี่ยนจากเงินอุดหนุนด้านการศึกษาไปเป็นกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา)

Sayer เสนอว่าในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาได้ถูกก่อรูปขึ้นไม่เฉพาะแต่การเปลี่ยนเอาเงินจากคนจนไปสู่คนรวย แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนลำดับขั้นความมั่งคั่งในหมู่คนรวยด้วย ความมั่งคั่งและความร่ำรวยได้เปลี่ยนมือจากกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำการผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆออกสู่ตลาด ไปสู่กลุ่มผู้ที่ได้รับรายได้จากการควบคุมสินทรัพย์และเก็บเกี่ยวเงินค่าเช่า และผลประโยชน์ที่เกิดจากทุน รายได้ทางตรงได้เปลี่ยนรูปแบบไปสู่รายได้พิเศษ

นโยบายเสรีนิยมใหม่นั้นถูกห้อมล้อมด้วยความล้มเหลวของระบบตลาดในทุกหนทุกแห่ง ธนาคารพาณิชย์ไม่เพียงแต่จะใหญ่เกินไปที่จะล้มเหลวแต่บรรดานายทุนยังเรียกเก็บเงินอย่างต่อเนื่องจากบริการสาธารณะด้วย เหมือนที่ Tony Judt ได้ชี้ให้เห็นในงานเรื่อง Ill Fares the Land ว่า Hayek นั้นหลงลืมไปว่าบริการระดับชาติที่สำคัญนั้นไม่อาจจะถูกปล่อยให้ล่มสลายลงได้ นั่นหมายความว่าวิธีการแข่งขันในระบบตลาดไม่สามารถนำมาใช้ในการบริการสาธารณะได้ ธุรกิจนั้นมองหาผลกำไร ขณะที่รัฐพยายามบรรเทาความอันตรายลง มันเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันไม่ได้

อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่กลายเป็นความผิลพลาดและความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ขึ้น รัฐบาลหยิบใช้วิกฤตของเสรีนิยมใหม่ทั้งเป็นข้ออ้าง และเป็นโอกาสในการจะเริ่มนโยบายลดภาษี แปรรูปกิจการสาธารณะที่เหลืออยู่ ลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยทางสังคม ลดการควบคุมธุรกิจและเพิ่มการควบคุมพลเมือง

ทว่าบางทีผลกระทบที่อันตรายที่สุดของลัทธิเสรีนิยมใหม่อาจจะไม่ใช่วิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากตัวมันเอง แต่เป็นวิกฤตทางการเมือง เมื่อองค์ประกอบของรัฐนั้นถูกลดลงความสามารถของเราในการจะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขวิกฤตผ่านการลงคะแนนเสียงจึงลดน้อยลงไปด้วย เมื่อสังคมเลือกใช้ทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ผู้คนก็จะสามารถเลือกทางเลือกของตัวเองได้ผ่านการใช้เงินซื้อ แต่ความเป็นจริงก็คือมันมีคนจำนวนหนึ่งที่มีอำนาจในการซื้อมากกว่าคนอื่น (และมีคนอีกกลุ่มที่แทบไม่มีกำลังซื้อเลย-ผู้แปล) ในรูปแบบของประชาธิปไตยเช่นนี้คะแนนเสียงในการโหวตของคนจึงไม่เท่ากัน ผลที่ตามมาก็คือความไร้อำนาจของคนจนและคนชั้นกลาง ดังจะเห็นได้จากการที่พรรคฝ่ายขวาและอดีตพรรคฝ่ายซ้ายต่างก็รับเอาแนวทางนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่มาใช้ ความไร้อำนาจนั้นย่อมนำมาซึ่งความไร้สิทธิเสียง ประชาชนจำนวนมากจึงถูกเบียดขับออกจากการเมือง

Chris Hedges ต้งข้อสังเกตว่า “ขบวนการฟาสต์ซิสต์นั้นวางรากฐานของตนขึ้นบนกลุ่มผู้ไม่ตื่นตัวทางการเมืองไม่ใช่จากบนกลุ่มผู้ตื่นตัวทางการเมือง จากกลุ่ม “ผู้แพ้” ที่รู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไม่มีความหมายและพวกเขาไม่มีตำแหน่งแห่งที่หรือบทบาทในทางการเมือง” เมื่อการถกเถียงทางการเมืองไม่ได้พูดแทนพวกเขา พวกเขาจึงหันไปหาสิ่งอื่นแทน ตัวอย่างเช่นการหันไปสนับสนุน Trump ในฐานะสัญลักษณืที่ทำให้เห็นว่าความเป็นจริงกับข้อถกเถียงนั้นไม่สัมพันธ์กัน

Judt ได้อธิบายว่า เมื่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและรัฐลดระดับลงเหลือแค่เพียงการใช้อำนาจและการเชื่อฟัง สิ่งเดียวที่ยังคงผูกเราอยู่ในสภาวะเช่นนี้คืออำนาจรัฐ และระบบเผด็จการที่ Hayek หวาดกลัวนั้นก็ดูเหมือนว่ากำลังจะปรากฎตัวออกมาจากผลของลัทธิเสรีนิยมใหม่นี่เอง เมื่อรัฐสูญเสียอำนาจในทางศีลธรรมและกลายเป็นสิ่งที่ “เรียกร้อง ข่มขู่ ละบีบบังคับให้ประชาชนก้มหัวให้กับมัน”

 

***

 

หลักคำสอนที่มองไม่เห็นของมือที่มองไม่เห็นนั้นถูกโปรโมตโดยผู้สนับสนุนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่พวกเราเริ่มจะค้นพบชื่อของพวกเขาอย่างช้าๆ พวกเราค้นพบว่าสถาบัน Institute of Economic Affairs ที่ต่อต้านการเพิ่มระเบียบข้อบังคับอุตสาหกรรมยาสูบในสื่อนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆจากบริษัท British American Tobacco มาตั้งแต่ปี 1693 เราค้นพบว่า Charles และ David Koch ชายสองคนที่ร่ำรวยติดอันดับโลกได้ก่อตั้งสถาบันที่ก่อให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวชื่อ Tea Party Movement

“ระบบตลาด” เป็นคำที่พวกเสรีนิยมใหม่พยายามปกปิดและหลีกเลี่ยงมากกว่าจะอธิบาย มันฟังดูเหมือนระบบโดยธรรมชาติที่จะพาเราไปสู่ความเท่าเทียม เหมือนๆกับแรงโน้มถ่ว งหรือแรงดันอากาศ หากแต่มันเต็มไปด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ “สิ่งที่ตลาดต้องการ” นั้นดูเหมือนจะหมายถึงสิ่งที่นายทุนหรือผู้ประกอบการต้องการเสียมากกว่า “การลงทุน” นั้นเหมือนเช่นที่ Sayer บันทึกเอาไว้ว่าหมายถึงสิ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงสองอย่าง ความหมายแรกแรกคือกระระดมทุนเพื่อการผลิตและกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม อีกความหมายหนึ่งคือการซื้อสินทรัพย์บางอย่างที่ดำรงอยู่เพื่อให้พวกเขารีดเอาค่าเช่า กำไร และผลประโยชน์เพื่อพัฒนาการสะสมทุนและความมั่งคั่ง

ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา บรรดาคนร่ำรวยถูกดูหมิ่นจากบรรดาชนชั้นสูงที่ต้องขอกู้เงินจากพวกเขา พวกผู้ประกอบการพยายามมองหาการยอมรับทางสังคมผ่านการเปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้มีรายได้ประจำ แต่ในปัจจุบันนี้ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขายอมรับตัวเองอย่างเปิดเผยในฐานะผู้ประกอบการ

ความสับสนนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกลางเผชิญหน้ากับทุนนิยมยุคใหม่ที่ไร้ชื่อและไร้สถานที่ตายตัว โมเดลระบบแฟรนไชส์ที่ทำให้คนงานไม่สามารถรับรู้ได้ว่าพวกเขากำลังทำงานหนักเพื่อรับใช้ใคร บริษัทห้างร้านที่จดทะเบียนผ่านระบบความลับที่ซับซ้อนเพื่อไม่ให้ตำรวจสามารถสิบค้นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงได้ การจ่ายภาษีที่ตบตารัฐบาล และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ไม่มีใครเข้าใจ

 

***

 

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีบางเรื่องของเสรีนิยมใหม่ที่น่าชื่นชม อย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลาอันใกล้นี้มันก็เป็นปรัชญาที่โด่ดเด่นร่วมสมัยซึ่งถูกพัฒนาและสนับสนุนโดยเครือข่ายของนักคิดและนักกิจกรรม

ขณะเดียวกันนั้นชัยชนะของเสรีนิยมใหม่ก็ยังสะท้อนถึงความพ่ายแพ้และความล้มเหลวของฝ่ายซ้าย เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบอิสระล้มลงในปี 1929 Keynes ก็ได้พัฒนาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ครอบคลุมกว่ามาแทนที่ และเมื่อระบบเศรษฐกิจแบบ Keynesian ไม่สามารถใช้ได้มันก็มีระบบอื่นมารองรับต่อ แต่เมื่อระบบเสรีนิยมใหม่พังทลายลงในปี 2008 มันไม่มีระบบเศรษฐกิจแบบอื่นมารองรับเลย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผีดิบของเสรีนิยมใหม่จึงยังคงเดินอยู่ได้ ฝ่ายซ้ายและกลุ่มที่เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้พัฒนากรอบความคิดทางเศรษฐกิจใหม่เลยตลอดช่วงเวลา 80 ปีที่ผ่านมา

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งจากระบบแบบ Keynesian และเสรีนิยมใหม่ก็คือการต่อต้านระบบที่พังไปแล้วนั้นไม่มีผลอะไร สิ่งที่ควรจะทำคือการเสนอโมเดลใหม่เข้ามาแทนที่ นี่เป็นภารกิจสำคัญของฝ่ายซ้ายที่จะต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนในศตวรรษที่ 21 ให้ได้.