Skip to main content

 

การปลดแอกสตรีและ LGBT ในการปฏิวัติรัสเซีย
Socialist Party Reporter (2016)

---------------------------------------------
แปลจาก : Woman’s & LGBT Liberation in Revolutionary Russia, 14 มกราคม 2016
แปลเป็นภาษาไทย : โดย จักรพล ผลละออ 2017

---------------------------------------------
 

คนหนุ่มสาวทั่วโลกถูกผลักดันเข้าสู่เรื่องการเมืองเพราะการกดขี่ทางเพศต่อผู้หญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้พวกเขาเปิดการถกเถียงว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะยุติการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมนี้ลงได้ Emma Quinn จึงนำเสนอข้อมูลจากประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติรัสเซียว่าด้วยการมาตรการเปลี่ยนแปลงอันก้าวหน้าอย่างมากของพรรคบอลเชวิคซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของการเริ่มต้นการปลดปล่อยกลุ่มผู้ถูกกดขี่ทั้งสองกลุ่มนี้

ไม่มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ใดที่ถูกบิดเบือนโดยระบบทุนนิยมมากไปกว่าการปฏิวัติรัสเซีย ภายใต้การเขียนประวัติศาสตร์นั้นบทบาทของผู้หญิงในการปฏิวัติรัสเซียแทบจะไม่ถูกกล่าวถึงเลย และผลประโยชน์ที่ผู้หญิงได้รับหลังการปฏิวัติก็ถูกกล่าวถึงน้อยมากเช่นกัน

การโค่นล้มระบบทุนนิยมและระบบศักดินาของพรรคบอลเชวิคและมวลชนกรรมาชีพรัสเซียในปี 1917 นั้นได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในสังคม และทำให้เกิดสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน พรรคบอลเชวิคนั้นสามารถควบคุมอำนาจได้เพราะพวกเขาเป็นตัวแทนที่ส่งเสียงแทนมวลชนผู้ถูกกดขี่ ชนชั้นแรงงาน คนจน และผู้หญิง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกดขี่ในยุคนั้นแทบจะไม่ได้แตกต่างอะไรกับในปัจจุบันนี้เลย สถิติในปี 2016 บอกว่าทรัพสินย์ของคนร่ำรวยจำนวน 1% ของโลกนั้นเมื่อรวมกันแล้วมีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สินของคนอีก 99% ที่เหลือในโลกรวมกัน ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวมากขึ้นนี้ การกดขี่ต่อผู้หญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังคงดำเนินและคงอยู่ต่อไป แม้กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้วและนี่เป็นประเด็นสำคัญและประเด็นใหญ่ทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ ทั้งในไอร์แลนด์และในระดับสากล ในบทความชิ้นนี้มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นทที่เราจะต้องแสดงให้เห็นบทเรียนจากในอดีตซึ่งไม่มีบทเรียนไหนจะสำคัญและดีไปกว่าการปฏิวัติรัสเซีย

ในขณะที่พรรคบอลเชวิคกำลังเน้นหนักกับการสนับสนุนชนชั้นแรงงานและการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น พรรคก็ตระหนักว่าผู้หญิงคือกลุ่มคนที่ถูกกดขี่เป็นสองเท่าทั้งจากระบบทุนนิยมและจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ สำหรับพรรคบอลเชวิคแล้วการปลดแอกผู้หญิงจากการกดขี่คือหัวใจสำคัญในการต่อสู้เพื่อสถาปนารัฐสังคมนิยม เลนินได้รักษาหลักการสำคัญนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ในปี 1920 เลนินได้ประกาศว่า “ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่สามารถบรรลุถึงเสรีภาพได้จนกว่าผู้หญิงจะได้รับเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน” [1] ผู้หญิงได้รับบทบาทเป็นผู้นำร่วมในพรรคบอลเชวิคทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผลสะท้อนสำคัญของการปฏิวัตินั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตสำนึกและความเป็นอยู่ของแรงงานผู้หญิงในวงกว้าง

 

การเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามและสมาชิกสตรีในพรรคบอลเชวิค

ในระหว่างการเดินหน้าไปสู่การปฏิวัติ ผู้หญิงเป็นกลุ่มพลังสำคัญที่นำการล่มสลายมาสู่ระบบซาร์ (Tsarist Regime) และทำให้การปฏิวัติของพรรคบอลเชวิคได้รับชัยชนะ พรรคบอลเชวิคนั้นเข้าใจถึงเรื่องนี้มากยิ่งกว่ากลุ่มพลังทางการเมืองอื่นๆในยุคเดียวกัน  เมื่อผู้หญิงจำนวนนับหมื่นคนออกเดินขบวนบนท้องถนนในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1917 อันเป็นเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ พวกเธอเรียกร้องความยุติธรรม สันติภาพ และขนมปัง การประท้วงเริ่มต้นขึ้นในวันสตรีสากล ซึ่งความหมายของวันสตรีสากลนี้ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในรัสเซียโดยผู้ปฏิบัติงานของพรรคบอลเชวิคชื่อ Konkordia Samoilova ในช่วงเวลาเพียงสี่ปีก่อนเกิดการเคลื่อนไหวนี้ (ปี 1913)[2]  สมาชิกสตรีของพรรคบอลเชวิคนั้นดำเนินการปฏิบัติงานในฐานะผู้จัดตั้งและออกแบบการเคลื่อนไหว พวกเธอสร้างเครือข่ายสตรีอันกว้างขวางขึ้นโดยประสานงานระหว่างกลุ่มแรงงานผู้หญิงกับกลุ่มภรรยาทหาร พรรคบอลเชวิครวมถึงสมาชิกสตรีเหล่านี้ต้องอดทนต่อการปราบปรามอย่างหนักจากรัฐในแ 1914 อันเนื่องมาจากการที่พวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างแข็งขัน ซึ่งทำให้สมาชิกจำนวนมากถูกจับกุมหรือเนรเทศ ด้วยเหตุนี้รวมถึงความโหดร้ายจากสงครามโลกที่ส่งผลร้ายต่อชนชั้นแรงงานทำให้พวกเขาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในวันสตรีสากลพร้อมการแสดงออกว่าต่อต้านสงคราม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ชนชั้นแรงงานในเปโตรกราดก็หลั่งไหลออกสู่ถนน และเริ่มต้นการเดินขบวนการปราศรัยเพื่อชักจูงให้ประชาชนเข้าร่วมกับพวกเขา พร้อมๆกับชักชวนให้บรรดาทหารเข้าร่วมกับพวกเขาด้วย

 

วันสตรีสากลในปี 1917

“ในวันสตรีสากลปี 1917 อันตรงกับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ การนัดหยุดงานและการเดินขบวนถูกประกาศขึ้นโดยแรงงานภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ขณะที่กลุ่มผู้หญิงนั้นอยู่ภายใต้อารมณ์ที่คุกรุ่น - ไม่เฉพาะแต่กลุ่มแรงงานผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มผู้หญิงที่ต้องเข้าคิวเพื่อรอรับขนมปังและน้ำมันก๊าดสำหรับการใช้ประทังชีวิตด้วย พวกเขาขานรับการชุมนุมทางการเมืองนี้ พวกเขายึดครองถนน และเคลื่อนตัวไปสู่สภาเมืองพร้อมกับการเรียกร้องขนมปัง พวกเขาหยุดขบวนรถรางและตะโกนร้องอย่างกระตือรือล้นขึ้นว่า “ออกมาแสดงพลังเถอะ สหาย!” พวกเขาเดินขบวนไปยังโรงงานด้วยพร้อมกับเรียกร้องให้บรรดาแรงงานวางเครื่องมือลง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้วันสตรีสากลนี้ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงและทำให้เกิดจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติขึ้น” นี่คือข้อเขียนของ Anna และ Mariia Ul’ianov ใน Pravda เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 1917[3]

พรรคบอลเชวิคนั้นตระหนักดีถึงพลังทางการเมืองของผู้หญิง หลังจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ในฤดูร้อนถัดมากระแสการเคลื่อนไหวการนัดหยุดงานของแรงงานผู้หญิงก็ปะทุขึ้น ตั้งแต่ แรงงานซักรีด แรงงานภาคบริการ คนรับใช้ในบ้าน ผู้ช่วยร้านขายของ และพนักงานเสิร์ฟ ในห้วงเวลานี้พรรคบอลเชวิคเป็นผู้เริ่มต้นการจัดตั้งขบวนการแรงงานสตรี พรรคบอลเชวิคโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกสตรีของพรรคนั้นได้ทุ่มเทความพยายามอย่างมหาศาลในการจัดตั้งกลุ่มแรงงานสตรีและบรรดาภรรยาทหาร ก่อนจะประสบความสำเร็จในการได้ฐานสนับสนุนทางการเมืองโดยการสถาปนากลุ่มพลังทางการเมืองของผู้หญิงขึ้น แม้ว่าจะยังมีอุปสรรคจากการเหยียดเพศที่ฝังแน่นอยู่ ความรับผิดชอบในงานบ้านของผู้หญิง และความไม่รู้หนังสือ Sofia Goncharskaia สมาชิกพรรคบอลเชวิคและผู้นำของสหภาพแรงงานซักรีด[4] ได้ร่วมมือกับนักปฏิวัติหญิงคนอื่นๆก่อตั้งกลุ่มสตรีศึกษาในหมู่เครือข่ายผู้หญิงท่ามกลางการนัดหยุดงานเพื่อจะพยายามสร้างความเข้าใจในการเมืองและให้การศึกษาแก่กลุ่มผู้หญิง ด้วยกระบวนการนัดหยุดงานผู้หญิงได้ก้าวเข้าสู่การต่อสู้อันกว้างขวางของชนชั้นแรงงานและจิตสำนึกทางชนชั้นของพวกเธอก็ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อพรรคบอลเชวิคได้ทำการยึดอำนาจและโค่นล้มรัฐบาลชั่วคราวในเดือนตาลาคมปีเดียวกัน มีผู้จำนวนมากที่เข้าร่วมการบุกพระราชวังฤดูหนาวมากกว่าจะช่วยปกป้อง แม้ว่าจะมีการบิดเบือนเรื่องนี้ไปในทางตรงกันข้ามก็ตาม

 

การตรากฎหมายที่ก้าวหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์

ในวันที่ 17 ธันวาคม 1917 เพียงเจ็ดสัปดาห์หลังการสถาปนารัฐของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก กฎหมายสมรสตามศาสนาได้ถูกยกเลิก และมีการตรากฎหมายเพื่อรับรองการหย่าร้าง หลังจากนั้นในเดือนถัดมาก็มีการประกาศกฎหมายพื้นฐานสำหรับสถาบันครอบครัว กฎหมายนี้ตราขึ้นมาเพื่อความเท่าเทียมสำหรับผู้หญิง

ตลอดทศวรรษที่ 1920 ประมวลกฎหมายว่าด้วยสถาบันครอบครัวนั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันมาพร้อมกับการเปิดประเด็นถกเถียงในทางสาธารณะ เพราะในช่วงต้นนั้นโฆษณาชวนเชื่อของนักสังคมนิยมรัสเซียพูดถึงความเท่าเทียมสำหรับผู้หญิง แต่หลักสำคัญสำหรับพรรคบอลเชวิคคือการยุติธรรมเนียมการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นทาสภายในบ้าน ในช่วงเวลาก่อนการปฏิวัตินั้นชีวิตของผู้หญิงถูกวางไว้เป็นแบบแผนที่เคร่งครัดนั่นคือ - แต่งงาน รักเดียวใจเดียวซื่อสัตย์ต่อสามี ตั้งท้องและมีลูก ท้ายที่สุดคือผูกมัดตัวเองเข้ากับงานครัวและงานบ้านอันน่าเบื่อหน่าย[5] คุณภาพชีวิตของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีการนำมาพิจารณาหรือพูดถึงมาก่อน รวมถึงเรื่องความสุขและแรงกดดันที่กระทำต่อตัวพวกเธอด้วย แต่พรรคบอลเชวิคนั้นได้ท้าทายระบบดังกล่าวแทบจะทันที และนั่นหมายถึงการท้าทายต่อโครงสร้างชายเป็นใหญ่และสถาบันทางศาสนาลัทธิออร์โธด็อกซ์

Inessa Armand ผู้จัดการกลุ่ม Zhenotdel กล่าวว่า “ตราบเท่าที่ระบบครอบครัวแบบเดิมยังคงอยู่ และรูปแบบชีวิตในบ้านกับการเลี้ยงดูเด็กยังคงผูกติดอยู่กับผู้หญิง มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะโค่นล้มการขูดรีดและยุติระบบทาส และมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะก่อให้เกิดระบบสังคมนิยมขึ้นมา”[6]

 

การท้าทายระบบครอบครัวดั้งเดิม

การปฏิวัตินั้นได้พยายามที่จะทำลายสิ่งที่เรียกว่า “หัวใจของครอบครัว” และเริ่มต้นแผนการดำเนินการแทนที่มันด้วยระบบรับรองทางสังคม ซึ่งประกอบด้วย สถานพยาบาลทำคลอด คลินิก โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนและโรงเรียนอนุบาล ห้องทานอาหารร่วมและห้องซักรีดรวม ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำไปเพื่อเป้าหมายในการจะลดทอนภาระอันเป็นข้อจำกัดของผู้หญิงลง

การทำแท้งได้ถูกรับรองให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายในปี 1920 และได้รับการอธิบายโดยทรอสกี้ว่านี่เป็น “สิทธิของพลเมือง สิทธิด้านการเมืองและวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดที่ผู้หญิงควรจะมี”[7]

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1918 การประชุมทั่วไปของแรงงานหญิงรัสเซียครั้งที่หนึ่งได้ถูกจัดขึ้นโดย Alexandra Kollontai และ Inessa Armand โดยมีผู้หญิงนับพันคนให้ความสนใจเข้าร่วม การประชุมครั้งนี้นั้นได้ตอกย้ำว่าการปลดแอกผู้หญิงนั้นคือเรื่องเดียวกับการก่อตั้งรัฐสังคมนิยม[8]

และไม่นานนักที่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่นี้ได้กระตุ้นให้กองกำลังของพวกปฏิกิริยาก่อสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศที่กำลังบอบช้ำจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างรัสเซีย หลังจากสงครามเริ่มต้นได้ไม่นานองค์กรผู้หญิงอย่าง Zhenotdel ก็ก่อตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายเพื่อให้การศึกษาแก่ผู้หญิง และสอนให้พวกเธอเข้าใจถึงสิทธิ์ใหม่ที่พวกเธอได้รับ

องค์กร The Women’s Bureau นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกทางชนชั้นขึ้นท่ามกลางหมู่แรงงานผู้หญิง ซึ่งทำให้ในปี 1922 นั้นจำนวนสมาชิกสตรีในพรรคคอมมิวนิสต์มีจำนวนมากกว่า 30,000 คน

แม้ว่าจะตกอยู่ท่ามกลางสภาวะสงครามแต่กองทัพแดงก็ได้ทุ่มเทอย่างหนักในการจะนำพาสมาชิกของ The Women’s Bureau ให้เข้าถึงการเดินทางทางรถไฟซึ่งจะส่งบรรดาสมาชิกไปทั่วประเทศและเริ่มงานจัดตั้งหน่วยงานสาขาตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ

Kristina Suvorova แม่บ้านจากเมืองเล็กๆทางเหนือของประเทศได้อธิบายถึงความสัมพันธ์และสิ่งที่เธอรู้สึกหลังจากได้เข้าร่วมการพบปะประจำสัปดาห์ระหว่างแม่บ้านทหารกับเลขานุการประจำพื้นที่ของพรรคบอลเชวิค “เราพูดคุยกันถึงเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคของผู้หญิง พูดถึงเรื่องอ่างล้างจานที่อุ่นและเสื้อผ้าที่สะอาด เราฝันถึงอพาทเมนท์ที่มีระบบประปาภายใน ... คณะกรรมการท้องถิ่นของพรรคนั้นรับฟังพวกเราด้วยความสนใจอย่างจริงจัง รับฟังสิ่งที่พวกเราพูดอย่างเคารพ และค่อยๆชี้ให้เราเห็นข้อผิดพลาดทางความคิดอย่างประณีตและนุ่มนวล และค่อยๆสอนให้พวกเราเรียนรู้ถึงความรอบรู้และเหตุผลอย่างค่อยเป็นค่อยไป นั่นทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางครอบครัวที่แสนอบอุ่น”[9]

 

อิสรภาพทางเพศ

ตลอดช่วงเวลาหลังการปฏิวัติพรรคบอลเชวิคมั่นใจว่ามันจะต้องเกิดการโต้เถียงในเรื่องเพศอย่างกว้างขวาง การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่แตกต่างจะระบอบการปกครองก่อนหน้า และแม้กระทั่งการต่อสู้เพื่อให้เกิดการปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศอื่นๆ และนั่นเป็นผลโดยตรงจากปรัชญาของพรรค ปรัชญาที่ว่าด้วยการปลดแอกตนเองของชนชั้นแรงงาน

การเปลี่ยนแปลงได้ก้าวเข้าสู่พื้นที่ของครอบครัว และสถาบันครอบครัวจำนวนมากประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ในปี 1921 ผลการสำรวจพบว่าชุดความคิดการแต่งงานแบบอุดมคติมีอยู่ในผู้ชาย 21% ขณะที่ในผู้หญิงนั้นมีอยู่ 14% มีผู้หญิง 66% เชื่อในการคบหาระยะยาวที่วางรากฐานอยู่บนเรื่องความรัก 10% ชื่นชอบความสัมพันธ์แบบเปิด ในปี 1918 นั้นในมอสโควมีอัตราการหย่าร้างถึง 7,000 คู่ ขณะที่อัตราการจดทะเบียนสมรสมีเพียง 6,000 คู่

Alexandra Kollontai ได้ปกป้องการเปลี่ยนแปลงนี้และอธิบายว่า “รูปแบบครอบครัวแบบเก่าที่ผู้ชายคือทุกสิ่งทุกอย่าง ขณะที่ผู้หญิงนั้นไม่มีสิทธิ์เสียงอะไรเลย ในรูปแบบครอบครัวแบบนี้ผู้หญิงไม่มีเจตจำนงใดๆเป็นของตัวเอง ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง และไม่มีเงินเป็นของตัวเอง ซึ่งสภาพแบบดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้วดังที่เราได้เห็นมันด้วยตาของพวกราเอง ... “ [10]

พรรคบอลเชวิคเชื่อว่าความสัมพันธ์ของคนจะต้องวางอยู่บนฐานของการมีสิทธิ์เลือก ความชอบพอส่วนบุคคล และต้องเป็นอิสระจากปัจจัยเรื่องเงินทอง พวกเขาพยายามที่จะทำลายระบบครอบครัวชายเป็นใหญ่ด้วยการเพิ่มบริการสาธารณะเพื่อแทนที่งานบ้านต่างๆ และเพื่อเพิ่มเวลาพักผ่อน ซึ่งพวกเขามองว่ามันเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการสร้างรัฐสังคมนิยม

ในช่วงเวลาระหว่างปี 1917-1920 การศึกษา การสำรวจ และการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องเพศเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ มีงานเขียนเกี่ยวกับเพศเผยแพร่ออกมาจำนวนมากในรูปแบบของแผ่นพับ นิตยสาร และวรรณกรรม การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของสังคมนั้นไม่ได้หยุดลงหลังการปฏิวัติ หนังสือพิมพ์ Pravda ได้ตีพิมพ์บทความและข้อความถกเถียงจำนวนมากว่าด้วยเรื่องเพศออกเผยแพร่ คนรุ่นใหม่จำนวนมากเกิดความกระตือรือร้นในการจะค้นหารสนิยมทางเพศของตัวเอง วัยรุ่นหญิงคนหนึ่งชื่อ Berakova เขียนลงในบันทึก Red Student ในปี  1927 ว่า

“ฉันรู้สึกว่าผู้หญิงแบบพวกเรา ในขณะที่พวกเรายังขาดความเท่าเทียมกับผู้ชายแต่พวกเราก็มีความคิดและสามัญสำนึก มันไม่มีซินเดอเรลลาหรือพวกเจ้าหญิงในนิทานอีกต่อไปแล้ว ผู้หญิงอย่างเรารู้ว่าเราต้องการอะไรจากผู้ชาย และหากปราศจากความกังวลในเรื่องอื่นๆแล้วมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ยอมหลับนอนกับผู้ชายเพราะมันเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี  พวกเราไม่ใช่สิ่งของหรือคนไม่ประสีประสาที่ผู้ชายจะมาตัดสินได้อีกต่อไป ผู้หญิงรู้ดีว่าใครคือคนที่เลือก และใครคือคนที่เธอจะหลับนอนด้วย” [11]

นี่เป็นข้อความที่ถูกเขียนไว้เพียงสิบปีก่อนที่ การทำแท้ง การหย่าร้าง และการคบหาเพศเดียวกันจะกลับมาเป็นเรื่องผิดกฎหมายอีกครั้งในยุคของสตาลิน

กฎหมายต่อต้านการค้าประเวณีถูกยกเลิกในปี 1922 พร้อมๆกับการเปิดคลินิกจำนวนมากที่จะให้ความรู้เรื่องเพศและให้การรักษาโรค STIs พร้อมการฝึกวิชาชีพด้านอื่นๆให้เพื่อลดจำนวนโสเภณีลง ทรอสกี้ได้อธิบายถึงการค้าประเวณีว่า “เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับผู้หญิง ที่เธอต้องหลับนอนกับชายผู้มีเงินจ่ายได้ราวกับเธอเป็นสินค้า” [12]

กฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางเพศของพรรคบอลเชวิคมีลักษณะเด่นในการพูดเพศอย่างเป็นกลางและปฏิเสธที่จะใช้เรื่องศีลธรรมหรือภาษาแบบศีลธรรมศาสนาเข้ามาปะปนในกฎหมาย กฎหมายได้บัญญัติว่าอาชญากรรมทางเพศคือ “การสร้างความเสียหายให้เกิดแก่สุขภาพ เสรีภาพ หรือเกียรติยศ” ของเหยื่อ การข่มขืนถูกอธิบายในทางกฎหมายว่า “การร่วมเพศที่ปราศจากความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยผู้กระทำผิดใช้กำลังทางกายหรืออำนาจทางอ้อมในการบีบบังคับเหยื่อ” [13]

ในปี 1921 สงครามกลางเมืองได้สิ้นสุดลง เกิดความสูญเสียนับล้านชีวิต โรงงานอุตสาหกรรมถูกทำลาย เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ความอดอยากหิวโหย และโรคระบาดได้กระจายตัวไปทั่ว ทรัพยากรเท่าที่เหลืออยู่ของรัฐไม่มากพอจะตอบสนองต่อวิสัยทัศน์หรือความตั้งใจของนักปฏิวัติ ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเสี่ยงจ่อการล่มสลาย และในปีเดียวกันจึงได้มีการออกมาตรการรับมือรวมถึงการวางนโยบายเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งประกอบด้วยการจำกัดจำนวนกลไกตลาดเพื่อประคับประคองระบบเศรษฐกิจให้คงอยู่ต่อไปในระหว่างที่พวกเขากำลังรอการช่วยเหลือจากองค์กรกรรมกรสากลผ่านทางการปฏิวัติในเยอมนี หัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับขบวนการแรงงาน สังคมนิยมและกลุ่มนักปฏิวัติ โซเวียตเองก็พยายามที่จะรื้อฟื้นการผลิตภายใต้บริบทที่เป็นอยู่ แต่ผลลัพธ์นั้นต้องแลกมาด้วยการตัดบริการสาธารณะบางอย่างลง

ผลลัพธ์ที่ร้ายแรงก็คือเมื่อรัฐไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อสร้างบริการสาธารณะในการช่วยเลี้ยงดูเด็กได้ บรรดาผู้ชายที่เป็นพ่อจึงเลือกที่จะทิ้งภรรยาและลูก รัฐจึงต้องเริ่มต้นโครงการสนับสนุนแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดินรนหาเลี้ยงลูกตัวคนเดียว โดยการทำแผ่นพับและใบปลิวจำนวนมากออกเผยแพร่ให้ผู้หญิงทราบถึงสิทธิของพวกเธอ ซึ่งศาลมีแนวโน้มจะเข้าข้างผู้หญิงซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมากกว่าผู้ชาย มีครั้งหนึ่งผู้พิพากษาได้ตัดสินให้แม่เลี้ยงเดี่ยวได้รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตรจากชายสามคนเนื่องจากชายทั้งสามต่างก็มีความสัมพันธ์กับหญิงคนดังกล่าวและมีโอกาสเป็นพ่อของเด็กเท่าๆกัน  

 

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

การปฏิวัติรัสเซียนั้นได้ส่งผลต่อวิถีชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย ภายใต้ระบอบซาร์ การรักเพศเดียวกันคือสิ่งผิดกฎหมาย “การร่วมเพศแบบวิตรถาร” เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขณะที่เลสเบี้ยนหรือกลุ่มหญิงรักหญิงนั้นมีสถานะเหมือนเพศหญิงทั่วไปก็คือไม่ได้รับความสนใจและไม่มีสิทธิใดๆ ภายหลังการปฏิวัติ กฎหมายปราบปรามคนรักเพศเดียวกันถูกยกเลิก เช่นเดียวกับกฎหมายต่อต้านเกย์ที่ถูกยกเลิกจากประมวลกฎหมายในปี 1922

ในบทความเรื่อง Sex and Sexuality in Russia” ของ Jason Yanowitz เขาได้อธิบายถึงกระทบของการปฏิวัติที่มีต่อกลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศ ว่ามีเกย์และเลสเบี้ยนจำนวนมากเข้าร่วมกับการปฏิวัติเพราะมันคือโอกาสที่จะนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยของพวกเขา กฎหมายสมรสของเพศเดียวกันถูกตราขึ้น แต่การบังคับใช้กว้างหรือครอบคลุมแค่ไหนนั้นยังไม่อาจจะทราบแน่ชัดเนื่องจากข้อจำกัดด้านการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ แต่อย่างน้อยที่สุดศาลก็ยอมรับว่าการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันสามารถทำได้ นอกจากนี้ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องการจะใช้ชีวิตในเพศที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิด และในที่สุดในปี 1926 รัฐก็อนุญาตให้คนข้ามเพศสามารถระบุเพศที่ตนเองพึงพอใจลงในพาสปอตได้โดยไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิด กลุ่ม Intersex และคนข้ามเพศสามารถเข้าถึงบริการประกันสุขภาพและระบบสาธารณะสุขได้โดยไม่ถูกประณาม รัฐได้ลงทุนให้กับงานวิจัยต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศและอนุญาตให้มีการผ่าตัดแปลงเพศได้หากเป็นความต้องการของผู้รับการผ่าตัด ผู้ที่เปิดตัวเป็นเกย์ได้รับความยินยอมให้เข้าทำงานกับรัฐได้ ตัวอย่างเช่น Georgy Chicherin ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 1918 เขาเป็นผู้ที่เปิดตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นเกย์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะได้รับตำแหน่งนี้หากเขาอยู่ในประเทศทุนนิยมในยุคเดียวกัน

ในปี 1923 ผู้ตรวจการด้านสาธารณสุข ได้มอบหมายให้คณะผู้แทนเดินทางไปยังสถาบันวิทยาศาสตร์ทางเพศในเบอร์ลิน และนำเสนอกฎหมายใหม่ที่จะทำให้กลุ่มคนรักเพศเดียว “ได้รับการปลดแอกด้านรสนิยมทางเพศ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคม และไม่มีใครที่ต้องการทำลายมันลง” [14]

 

เมื่อผลลัพธ์ถูกทำลายลงด้วยการปฏิปักษ์ปฏิวัติของสตาลิน

สงครามหลายปีต่อเนื่องในการต่อสู้กับพวกผู้สนับสนุนซาร์ และกองทัพจักรวรรดินิยม ที่มุ่งหมายจะทำลายรัฐของชนชั้นกรรมาชีพลง และผลักดันให้เกิดการแยกตัวออกกันของขบวนการปฏิวัติเพื่อโดดเดี่ยวโซเวียต เช่นความพ่ายแพ้ของการปฏิวัติในเยอรมนี และความพ่ายแพ้ในการลุกฮือของชนชั้นกรรมาชีพในที่อื่นๆทั่วยุโรป ปัจจัยเหล่าทำให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้พวกข้าราชการภายใต้การนำของสตาลินสามารถก้าวขึ้นสู่อำนาจได้ นี่เป็นภาพสะท้อนทางการเมืองของการปฏิปักษ์ปฏิวัติ ที่สตาลินและพวกข้าราชการใช้อำนาจในการทำลายจิตสำนึกของชนชั้นแรงงาน มีการเอื้อผลประโยชน์จำนวนมากให้พวกข้าราชการซึ่งกลายเป็นกลุ่มคนที่อยู่บนจุดเหนือสุดทางสังคม และเศรษฐกิจ การปฏิปักษ์ปฏิวัตินี้ไม่เพียงแต่จะหันเหออกจากการสร้างสังคมนิยม สังคมที่มีประชาธิปไตยในทุกพื้นที่ในการทำงาน แต่มันยังมุ่งมั่นในการทำลายสิทธิของผู้หญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย กฎหมายที่ก้าวหน้าได้ถูกยกเลิก การรักเพศเดียวกันถูกทำให้ผิดกฎหมายอีกครั้ง วัฒนธรรมชายเป็นกลับมาเป็นวิธีหลักในการขับเคลื่อนและควบคุมสังคม

 

มรดกที่ส่งต่อแรงบันดาลใจ

การก้าวขึ้นสู่อำนาจสตาลิน ผู้ทรยศต่ออุดมการณ์ปฏิวัติและพวกกลุ่มข้าราชการ ที่พยายามทำลายผลพวงการปฏิวัตินั้นไม่อาจจะลดทอนความสำคัญของความมุ่งมั่นของพรรคบอลเชวิคลงได้ การปฏิวัติรัสเซียทำให้ผู้หญิงก้าวเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่รัฐและผู้นำพยายามปกป้องและสนับสนุนผู้หญิงและชุมชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงติดตามเพื่อพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้น เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาแล้ว ในขณะที่หลายประเทศในปัจจุบันยังไม่สามารถทำตามได้เลย การปฏิวัติรัสเซียได้ทิ้งมรดกแห่งแรงบันดาลที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ในการเชื่อมโยงการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่เข้าด้วยกันในทุกมิติ ชนชั้นแรงงานต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมนิยม ซึ่งมันทำให้เกิดเรื่องน่าเหลือเชื่อขึ้นมา เช่น กลุ่มคนข้ามเพศได้รับการยมรับในโซเวียตรัสเซีย เกือบร้อยปีก่อนที่ขบวนการปลดแอดผู้หญิงและเกย์จะก่อตั้งตัวเองเสียอีก

การฟื้นตัวของระบบทุนนิยมในรัสเซียคือความหายนะ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้นำพาความตกต่ำด้านคุณภาพชีวิตเข้ามาอย่างรวดเร็ว นี่คือเรื่องน่ากลัวอันเป็นเสมือนหลุมฝังศพที่เต็มไปด้วยการกดขี่ต่อชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในรัสเซีย ทุนนิยมในรัสเซียนั้นไม่มีความหมายใดๆเลย ยกเว้นความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและประชาธิปไตย ในขณะที่ผลลัพธ์ที่ก่อตั้งไว้โดยขบวนการมาร์กซิสต์เมื่อร้อยปีนั้นเป็นเสมือนคำสาปที่ตามหลอกหลอนระบบการปกครองของปูติน ชายผู้เป็นอันตรายต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากที่สุดคนหนึ่งบนโลก

การปฏิวัติรัสเซียนั้นแสดงให้เห็นว่าชนชั้นแรงงานคือกลุ่มพลังทางสังคมที่ทรงพลังที่สุดและมีเพียงการจัดตั้งจิตสำนึกให้กับคนจำนวน 99% ของสังคมนี้เท่านั้นที่จะสามารถยุติความไม่เท่าเทียมทางเพศต่อผู้หญิง ต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และต่อคนจนได้ เช่นเดียวกับสิ่งที่พรรคบอลเชวิคเคยทำ เราจะต้องตระหนักและย้ำเตือนตัวเองว่าเราไม่อาจจะโค่นล้มระบบทุนนิยมลงได้หากปราศจากพลังของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานหญิง ในการต่อสู้กับคนกลุ่มเล็กจำนวน 1% ที่ถือครองความมั่งคั่งของโลกเอาไว้.

 

[1] VI Lenin, On the emancipation of Women, Progress Publishers, 1977, Pg 81

[2] Jane McDermid and Anna Hillyar, Midwives of the Revolution – Female Bolsheviks and Women workers in 1917, UCL Press, 1999, pg 67-68

[3] Ibid. pg 8

[4] Ibid. pg 9

[5] VI Lenin, On the emancipation of Women, Progress Publishers, 1977, Pg 83

[6] Karen M Offen, European Feminism 1700-1950, Standford University Press 2000, Pg 267

[7]  Leon Trotsky, The Revolution Betrayed, Dover Publications 2004, Pg 113

[8] Barbara Alpern Engel, Women in Russia 1700-2000, Cambridge University Press 2004, pg 143

[9] Ibid. pg 142

[10] Alexandra Kollontai, Communism and the Family, 1920

[11] From Jason Yanowitz’s podcast, “Sex and Sexuality in Soviet Russia, http://wearemany.org/a/2013/06/sex-and-sexuality-in-soviet-russia

[12] Leon Trotsky, The Revolution Betrayed, Dover Publications 2004, Pg 112

[13] http://wearemany.org/a/2013/06/sex-and-sexuality-in-soviet-russia

[14] Ibid.

 

แปลจาก : http://socialistparty.ie/2016/01/womens-lgbt-liberation-in-revolutionary-russia/

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่[Young People Today are uniquely radical because Capi
จักรพล ผลละออ
เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้[When Rioting Works]
จักรพล ผลละออ
 ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Be
จักรพล ผลละออ
Covid-19 และระบบทุนนิยมกำลังนำคนนับล้านไปสู่การอดตายCapitalism threatens mass starvationBy Oliver Bro
จักรพล ผลละออ
ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยมWhy I’m a SocialistBY BARRY EI
จักรพล ผลละออ
มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตรExplaining the coming crisis of capitalism
จักรพล ผลละออ
 สังคมนิยมประชาธิปไตย คือเรื่องที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยDemocratic Socialism Is About Democr
จักรพล ผลละออ
แถลงการณ์องค์กรมาร์กซิสต์สากล เนื่องในวันสตรีสากลสหายทั้งห
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)By John H. Munro.
จักรพล ผลละออ
 25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์(The Principles of Communism)By Frederick Engels.