ทุนนิยม ชนชั้นกลาง อนุรักษ์นิยม และการต่อต้านทุนสามานย์ จักรพล ผลละออ (2017)

ทุนนิยม ชนชั้นกลาง อนุรักษ์นิยม และการต่อต้านทุนสามานย์

จักรพล ผลละออ (2017)

 

ก่อนจะเริ่มต้นการอภิปรายใดๆ ผมขอออกตัวก่อนว่าโดยส่วนตัวแล้วผมไม่เชื่อว่ากลุ่มชนชั้นกลาง (Middle class) เป็น “ชนชั้น” ที่มีอยู่จริง นี่เป็นข้อสมมุติฐานภายใต้กรอบการมองแบบทฤษฎีมาร์กซิสต์สำนักโครงสร้างนิยม (Structural Marxism) แน่นอนว่ากลุ่มคนที่มีลักษณะแบบชนชั้นกลางนั้นมีอยู่จริง (ลักษณะวัฒนธรรมบางประการ การเป็นคนมีการศึกษา มีรายได้สูงกว่าแรงงานโดยทั่วไป) แต่ไม่ใช่ในลักษณะชนชั้น ในทางหนึ่งนั้นพวกเขายังคงเป็นชนชั้นแรงงานหรือชนชั้นกรรมาชีพอยู่ อย่างไรก็ตามในสภาวะที่ผมยังไม่สามารถหักล้างการมีอยู่ของชนชั้นกลางได้อย่างเป็นระบบ และจำเป็นต้องอภิปรายถึงคนกลุ่มนี้ จึงต้องขอให้ท่านเชื่อไปพลางก่อนว่า ชนชั้นกลางนั้นมีลักษณะการดำรงอยู่จริงเพื่อให้ง่ายต่อการอภิปราย

 

บทความชิ้นนี้ต้องการนำเสนอลักษณะบางประการของกลุ่ม “ชนชั้นกลาง” (Middle class) ในสังคมไทย โดยจะนำเสนอลักษณะสำคัญด้านความคิดของคนกลุ่มนี้ ที่ถูกเรียกแบบรวมๆว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม (Conservatives) ซึ่งจะใช้กรอบการมองแบบทฤษฎีมาร์กซิสต์สำนักโครงสร้างนิยม (Structural Marxism)

ผมได้อ่านบทความเรื่อง Capitalism and Freedom ของ Lyle Jeremy Rubin ซึ่งเป็นบทความรีวิวหนังสือเรื่อง Conservatives Against Capitalism : From the Industrial Revolution to Globalization ของ Peter Kolozi โดยในบทความชิ้นนี้กล่าวถึงลักษณะบางประการของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ผมหวนนึกถึงกลุ่มอนุรักษ์นิยมในไทยขึ้นมา ลักษณะดังกล่าวคือลักษณะของการต่อต้านระบบทุนนิยม

พอดีกับที่มีบทความล่าสุดของคุณ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เรื่อง “ทำไมชนชั้นกลางถึงรู้สึกโอเคกับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่สูงมากในสังคมของเรา” ออกมาพอดี บทความชิ้นดังกล่าวอ้างอิงถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งกล่าวว่า การที่ชนชั้นกลางยินยอมกับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้นั้นเป็นเพราะอคติและความไม่ต้องการกลายเป็นกลุ่มคนรั้งท้าย อันเป็นปัจจัยเรื่องความรู้สึก หรือภาวะอารมณ์-ความคิด ผมคิดว่านี่เป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างดี แต่อาจจะยังไม่มากพอเพื่อในการจะอธิบายรูปแบบทางความคิดของคนกลุ่มนี้

 

ทุนนิยมในสายตาอนุรักษ์นิยม

เพื่อจะอธิบายอย่างละเอียดถึงปรากฎการณ์ต่อต้านทุนนิยมในไทยและเพื่อตอบคำถามที่ว่าเหตุใดชนชั้นกลางที่เคยเป็นกลุ่มพลังในการขับเคลื่อนสังคมตามความคิดแบบเสรีนิยมจึงกลายเป็นกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมที่หันมาต่อต้านระบบทุนนิยมและประชาธิปไตย? (นักเสรีนิยมจำนวนมากเชื่อว่าระบบประชาธิปไตยหรือความเป็นประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต้องมาพร้อมกับระบบทุนนิยม ซึ่งมันไม่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป - ผมจะขออภิปรายเรื่องนี้อีกครั้งอย่างละเอียดหากมีโอกาส)  ผมขออภิปรายข้อเสนอดังต่อไปนี้

1) เป็นเรื่องปกติที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมจะต่อต้านระบบทุนนิยมที่ถือเป็นสิ่งใหม่และเป็นระบบที่ท้าทายพวกเขา ในทางหนึ่งนั้นต้องไม่ลืมว่าการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมนั้นมาพร้อมการพังทลายระบบศักดินาและรูปแบบของระบบชนชั้นหรือโครงสร้างทางสังคมแบบเดิมลง ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในสังคมยุโรป

2) กลุ่มชนชั้นกลางในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้สองกลุ่มหยาบๆ คือกลุ่มชนชั้นกลางเก่า และกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ โดยชนชั้นกลางเก่านั้นคือกลุ่มพ่อค้า นายทุนขนาดกลาง (กระฎุมพีน้อย-Petty Bourgeoisies) กลุ่มข้าราชการ กลุ่มแรงงานมีฝีมือ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ ขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางใหม่นั้นคือกลุ่มคนที่พึ่งจะปรากฎตัวออกมาในช่วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมาประกอบด้วย กลุ่มแรงงานในชนบท กลุ่มนายทุนขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ กลุ่มแรงงานคอปกขาวรุ่นใหม่ ที่สามารถยกระดับสถานะทางชนชั้นขึ้นมาได้ผ่านนโยบายของรัฐ

3) โครงสร้างดั้งเดิมในสังคมไทยนั้นเป็นโครงสร้างที่เอื้อต่อระบบอนุรักษ์นิยม ระบบอุปถัมถ์ และการแบ่งชนชั้นทางสังคมผ่านวัฒนธรรม ชนชั้นกลางเก่าที่เติบโตขึ้นมาภายใต้โครงสร้างแบบดังกล่าวบีบบังคับให้พวกเขาเกิดจิตสำนึกที่ผิดพลาด (False Consciousness) หรือเกิดภาวะจำยอมในการรับเอาอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมเข้ามาเพื่อความอยู่รอดโดยปริยาย พวกเขาอยู่ท่ามกลางโครงสร้างที่ระบบเส้นสาย ระบบอุปถัมถ์สามารถตอบสนองและมอบความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจให้แก่พวกเขาได้มากกว่าการอยู่ภายใต้ระบบการแข่งขันแบบทุนนิยมเสรี

ด้วยข้อเสนอสามประการนั้นทำให้เราเห็นว่า ในมุมมองแบบอนุรักษ์นิยมนั้นการเข้ามาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือพลังที่จะท้าทายระบบโครงสร้างหรือความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบเดิม จากที่กลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางเก่าสามารถรักษาอภิสิทธิ์ทางชนชั้นและการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินหรือใช้เส้นสายในการหาผลประโยชน์ได้ พวกเขากำลังถูกท้าทายด้วยการแข่งขันในระบบตลาดและการแข่งขันเสรีที่พวกเขาไม่คุ้นเคย ทุนนิยมในสายตาของคนกลุ่มนี้ด้านหนึ่งจึงเป็นสิ่งอันตรายต่อความเป็นอภิสิทธิ์ชนของพวกเขา

 

ทางเลือกของอนุรักษ์นิยม

อย่างไรก็ตาม ทุนนิยมนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่กำลังท้าทายระบบเดิมๆของอนุรักษ์นิยม แน่นอนว่าในทางเศรษฐกิจมันเป็นเช่นนั้น แต่ทว่าในทางการเมืองคือระบบประชาธิปไตย (ผมยังคงยืนยันว่าประชาธิปไตยและทุนนิยมไม่ใช่สิ่งเดียวกันหรือเป็นเนื้อเดียวกันอย่างที่นักเสรีนิยมมักพูดแบบนั้น) กระแสการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ยาวนานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเย็น และช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา ได้สร้างการต่อสู้ที่สั่นสะเทือนสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

การเรียกร้องการต่อรองทางการเมือง การตื่นรู้ทางการเมือง ความตื่นตัวในการปกป้องสิทธิ์ในด้านต่างๆ การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง จนกระทั่งการเกิดการเมืองมวลชนขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่กระทบต่อความมั่นคงของบรรดาชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษ์นิยม เมื่อประชาชนไม่อาจจะยอมรับรูปแบบการปกครองแบบชนชั้นอันสามารถสังเกตุเห็นได้อย่างง่ายดายได้อีกต่อไป พวกเขาเรียกหาระบบและโครงสร้างทางการเมืองที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ระบบประชาธิปไตยจึงกลายเป็นกระแสหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อกลุ่มอนุรักษ์นิยม

กล่าวอย่างง่ายแล้วชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษ์นิยมนั้นไม่ได้ชอบพอต่อระบบทุนนิยมพอๆกับระบบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามสถานการณ์บางอย่างก็บีบบังคับให้พวกเขาต้องเลือก ตัวอย่างเช่นในช่วงสงครามเย็น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งใช้เรื่องความยากจนเป็นประเด็นโน้มน้าวให้ประชาชนเข้าร่วมสงครามปฏิวัติ รัฐไทยก็จำเป็นจะต้องเลือกที่จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นั่นก็เพราะทุนนิยมเป็นระบบเดียวที่จะต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และยังคงสถานะของสังคมแบบชนชั้นเอาไว้ได้ ทุนนิยมกลายเป็นระบบเดียวที่จะต่อลมหายใจให้บรรดาอภิสิทธิ์ชนและชนชั้นปกครองได้ในโลกสมัยใหม่

 

ทั้งรักทั้งชัง

อย่างไรก็ตามความหวาดระแวงและความไม่ชอบพอในระบบทุนนิยมของพวกเขายังคงอยู่เสมอ ซึ่งมันแสดงออกมาในวิกฤตทางการเมืองหลังปี 2549 เมื่อระบบทุนนิยมได้พัฒนาตนเองไปสู่การนำพาให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมเกิดการยกระดับทางชนชั้นขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางใหม่ เป็นกลุ่มพลังใหม่ในทางการเมือง จนกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อกลุ่มอนุรักษ์นิยม พวกเขาจึงหันมาสร้างวาทกรรมต่อต้านระบบทุนนิยม โดยพุ่งเป้าไปที่การโจมตีระบบทุนสามานย์ของนักการเมือง พวกเขากล่าวกันว่าการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองคือปัญหาใหญ่ หากทว่าความจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้นเสียทีเดียว วาทกรรม “นักการเมืองโกง” เป็นเพียงข้ออ้างเบื้องหน้า แต่การโจมตีที่แท้จริงของกลุ่มอนุรักษ์นิยมนั้นกลับพุ่งเป้าไปที่นโยบายแบบประชานิยมที่เป็นเงื่อนไขอำนวยให้เกิดการยกระดับทางชนชั้น ของกลุ่มคนที่เป็นรากฐานทางสังคมหรือชนชั้นล่างนั่นเอง

ความชัดเจนนี้ถูกตอกย้ำภายหลังการรัฐประหาร เมื่อรัฐบาลปัจจุบันกำลังดำเนินนโยบายที่สะท้อนให้เห็นสิ่งที่ผมกำลังเสนอ นั่นคือความพยายามในการยกเลิกระบบสาธารณสุขอย่างระบบประกันสุขภาพในโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค การยกเลิกและต่อต้านนโยบานเรียนฟรี ลดการกระจายอำนาจ และสนับสนุนให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ พวกเขาดำเนินนโยบายที่สนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่มากกว่าจะส่งเสริมกลุ่มพ่อค้ารายย่อย พวกเขากำลังป้องปรามเงื่อนไขและปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการยกระดับทางชนชั้นตามรูปแบบทุนนิยม และพยายามแช่แข็งระบบชนชั้นแบบอนุรักษ์นิยมให้ดำรงอยู่ต่อไป

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต่อต้านระบบทุนนิยมเสียทั้งหมด ในหมู่ชนชั้นนำนั้นเป็นความจำเป็นที่พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธระบบทุนนิยมได้ในโลกยุคปัจจุบัน แต่พวกเขาต้องการระบบทุนนิยมแบบผูกขาดที่พวกเขาสามารถควบคุมได้ ระบบที่เอื้อต่อการขูดรีดแบบที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแข่งขัน ในขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมนั้นพวกเขามีความเชื่อว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ และแม้ว่าในทางหนึ่งพวกเขาจะต่อต้านระบบทุนนิยม แต่ในอีกทางหนึ่งระบบทุนนิยมก็เป็นสิ่งเดียวที่สร้างพื้นที่ ทาง“ชนชั้น” ให้กับพวกเขา นั่นคือชนชั้นกลาง ที่ทำให้พวกเขาแยกตัวเองออกมาจากกลุ่มชนชั้นล่าง-ชนชั้นแรงงาน

 

ทางออกคืออะไร?

ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงจะเริ่มสงสัยว่าแล้วในสถานการณ์เช่นนี้อะไรคือทางออก? เราจะต้องสนับสนุนระบบทุนนิยมใช่หรือไม่? ในฐานะผู้สมาทานความคิดแบบมาร์กซิสต์สำนักโครงสร้างนิยม ผมคิดว่าทางเลือกหรือทางออกของเราไม่ได้มีแค่นั้น พัฒนาการทางสังคมไม่ได้ดำเนินเป็นเส้นตรงเสมอไป ภายใต้ทางเลือกปัจจุบันที่มีแค่ระบบทุนนิยมผูกขาดอนุรักษ์นิยม กับ ทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย หรือต่อให้มีการเลือกตั้งเราก็จะตกอยู่ภายใต้ทางเลือกแบบเดียวกันนี้ พรรคการเมืองที่เป็นอยู่ไม่ได้มอบทางเลือกให้เราโดยแท้จริง แต่เป็นทางเลือกที่ถูกเลือกและคัดกรองมาแล้ว

และหากท่านผู้อ่านกำลังสงสัยว่าผมจะเลือกอะไรระหว่างทางเลือกทั้งสองนั้น คำตอบของผมคือทางเลือกที่สาม "เราต้องสร้างทางเลือกของเราขึ้นมาเอง”

 

--------------------------------------------------------------

อ้างอิง

[1] Lyle Jeremy Rubin. 2017. Capitalism and Freedom. (online). United State. [2017 Dec. 13] : https://jacobinmag.com/2017/12/conservatives-against-capitalism-review-kolozi

[2] ณัฐวุฒิ เผ่าทวี. 2560. ทำไมชนชั้นกลางถึงรู้สึกโอเคกับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่สูงมากในสังคมของเรา. (ออนไลน์). [15 ธันวาคม 2560] : https://thaipublica.org/2017/12/nattavudh-78/