Skip to main content

 

มาร์กซ์และชนชั้นทางสังคม

 

ทฤษฎีชนชั้นทางสังคมและโครงสร้างทางสังคมของมาร์กซ์

สำหรับมาร์กซ์แล้วการวิเคราะห์และทำความเข้าใจต่อเรื่องชนชั้นทางสังคม โครงสร้างทางชนชั้น และกระบวนการเปลี่ยนแปลวที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างดังกล่าวคือกุญแจสำคัญในการจะทำความเข้าใจระบบทุนนิยมและระบบสังคมอื่นๆหรือวิถีการผลิตแบบอื่นๆ ดังเช่นที่มาร์กซ์และเองเกิล ได้กล่าวเอาไว้ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ว่า

 

“ประวัติศาสตร์ทั้งหมดทั้งมวลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น คือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น”

 

การวิเคราะห์และทำความเข้าใจต่อเรื่องการแบ่งชนชั้นทางสังคมและการต่อสู้ทางชนชั้นนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการจะพัฒนาความเข้าใจที่มีต่อธรรมชาติของระบบทุนนิยม สำหรับมาร์กซ์นั้นชนชั้นต่างๆถูกประกอบสร้างและถูกอธิบายด้วยความสัมพันธ์ที่ชนชั้นนั้นๆมีปฏิสัมพันธ์ด้วย (1) งานและแรงงาน (2) กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล การถือครองทรัพย์สิน และวิถีการผลิต ปัจจัยและกลไกทางเศรษฐกิจเหล่านี้มีอำนาจในการควบคุมความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยมมากยิ่งกว่าในสังคมรูปแบบอื่นๆก่อนหน้านี้

มาร์กซ์นั้นไม่ได้เขียนงานที่จะนำเสนอมุมมองของเขาต่อชนชั้นทางสังคมจนเสร็จสิ้น งานจำนวนมากของมาร์กซ์นั้นเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางชนชั้นในสังคมทุนนิยม ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น อำนาจทางการเมืองและชนชั้น และพัฒนาการของสังคมแบบชนชั้น

 

ชนชั้นในระบบทุนนิยม

ชนชั้นหลักในระบบทุนนิยมนั้นประกอบด้วย ชนชั้นกระฎุมพี และชนชั้นกรรมาชีพ อย่างไรก็ตามชนชั้นอื่นๆอย่างเช่น เจ้าที่ดิน กระฎุมพีน้อย ชาวนา และกรรมาชีพไร้จิตสำนึกทางชนชั้น ต่างก็ยังคงดำรงอยู่หากแต่ไม่ใช่กลุ่มพลังสำคัญในพลวัตของระบบทุนนิยม

 

ก.ชนชั้นกระฎุมพี (Bourgeoisie) : พวกกระฎุมพี หรือ นายทุน คือผู้ที่ถือครองทุนในการผลิต ซึ่งซื้อขายและขูดรีดกำลังแรงงาน ดึงเอามูลค่าส่วนเกินในกำลังแรงงานของลูกจ้างมาใช้เพื่อสะสมทุนหรือขยายทุนของตัวเอง นี่คือการถือครองทุนและมันถูกใช้เพื่อขูดรีดกำลังแรงงานเพื่อนำไปสู่การขยายทุน การเป็นคนร่ำรวยนั้นโดยตัวมันเองไม่เพียงพอจะทำให้คนๆนั้นกลายเป็นนายทุน (ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการแผนก หรือเจ้าที่ดินที่ถือครองที่ดิน) สิ่งที่สำคัญในการมองนายทุนคือพวกเขาต้องใช้ความร่ำรวยนั้นในการสะสมทุนและขยายความมั่นคั่งของตัวเองผ่านการขูดรีดแรงงาน

ตามประวัติศาสตร์นั้น พวกกระฎุมพีถือกำเนิดขึ้นภายในเมืองใหญ่ในยุคกลางของยุโรป ด้วยการพัฒนาด้านการค้าพวกเขาประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า ช่างฝีมือ นักอุตสาหกรรม แรงงานมีฝีมือ หรืออาชีพอื่นๆที่สามารถเอาชีวิตรอดผ่านการแข่งขันมาได้ รวมถึงมีความสามารถในการสะสมความมั่งคั่งเพิ่มเติมจากการค้าขาย การพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรม  และเพื่อจะขยับขยายการสะสมทุนนี้บรรดากระฎุมพีหรือนายทุนนั้นจำเป็นจะต้องมีเสรีภาพในระบบตลาดและในการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในการต่อสู้กับระบบศักดินา (โบสถ์ของนักบวชที่เป็นอำนาจทางศาสนาและอำนาจทางการเมืองของชนชั้นปกครอง) ชนชั้นกระฎุมพีจึงจะวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองเป็นฝ่ายก้าวหน้า กล่าวคือพวกเขาเข้ามาให้ความร่วมมือในการบ่อนทำลายและโค่นล้มระบบโครงสร้างทางสังคมชนชั้นแบบเก่าและสถาปนาความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ สำหรับชนชั้นกระฎุมพีนั้นความมั่นคั่งของพวกเขาส่วนหนึงมาจากการขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินจากแรงงาน (ทุนนิยมอุตสาหกรรม) และอีกส่วนนั้นมาจากการค้าขาย (ทุนนิยมพาณิชย์) การธนาคารและการเงิน (ทุนนิยมการเงิน) หรือใช้ที่ดินในวิถีทุนนิยม (ทุนนิยมที่ดิน) ซึ่งกลุ่มนายทุนอุตสาหกรรมนี่เองที่ใช้กำลังแรงงานของคนงานในการสร้างทุนขนาดใหญ่ที่กลายเป็นทุนระดับนำของกลุ่มกระฎุมพี อันกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรุนแรง ในอังกฤษชนชั้นกระฎุมพีกลายเป็นผู้ถือครองอำนาจนำทั้งในทางการเมืองและในทางอุดมการณ์ในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า จากการหันมาใช้แรงงานรับค่าจ้าง นายทุนอุตสาหกรรมสามารถสร้างมูลค่าส่วนเกินออกมาได้ในหลายรูปแบบเช่น กำไร ดอกเบี้ย และค่าเช่า

 

ข.ชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat) : ชนชั้นกรรมาชีพคือกลุ่มคนที่ถือครองกำลังแรงงาน (ความสามารถในการทำงาน) และเป็นเพียงแค่ผู้ถือครองกำลังแรงงานเท่านั้น พวกเขาไม่มีทรัพยากรอื่นใดนอกจากมือ ร่างกาย และสมองของพวกเขาที่ใช้ในการทำงาน และเมื่อแรงงานเหล่านี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆพวกเขาจึงจำเป็นต้องขายกำลังแรงงานของตัวเองเพื่อหารายได้สำหรับครอบครัวและการเอาชีวิตรอดในระบบ ซึ่งหมายถึงการเข้าไปทำงานในความสัมพันธ์แบบขูดรีดของระบบทุนนิยม

ความสัมพันธ์แบบขูดรีดนี้จะสร้างตัวเองหรือผลิตซ้ำตัวเองอยู่อย่างต่อเนื่อง และถ้าหากนายทุนผู้ขูดรีดต้องการจะเพิ่มกำไรและการสะสมทุนของพวกเขาให้สูงขึ้น พวกเขาย่อมจะกดค่าจ้างของแรงงานให้ต่ำลง นั่นแปลว่าชนชั้นกรรมาชีพได้ถูกขูดรีด ด้วยเวลาส่วนเกินที่ทำให้เกิดผลผลิตส่วนเกิน ในขณะที่แรงงานทำการผลิต ผลผลิตก็ถูกสร้างขึ้นจากกำลังแรงงานก็ถูกนำไปขายโดยบรรดานายทุน  ซึ่งจะสร้างมูลค่าส่วนเกินหรือกำไรให้แก่บรรดานายทุนพร้อมกับมอบความยากจนให้กับแรงงาน กระบวนการกีดกันแรงงานออกจากความเป็นเจ้าของผลผลิตของตนและการสร้างเงื่อนไขสำหรับการขูดรีดที่มากขึ้น เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในทุกๆวันของกระบวนการทำงาน

ความขัดแย้งและความเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติของระบบนี้ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อเหล่านายทุนพยายามที่จะปรับลดค่าจ้างลงและบีบบังคับให้แรงงานทำงานหนักขึ้น ในขณะที่คนงานนั้นถูกขับออกไปจากการได้รับผลประโยชน์จากการผลิต ผลผลิตส่วนเกินและมูลค่าส่วนเกินที่ถูกสร้างขึ้นจากแรงงานถูกเปลี่ยนไปเป็นทุนสำหรับการสะสมทุนของนายทุน หรือ กระฎุมพี

ในทางประวัติศาสตร์นั้น ชนชั้นกรรมาชีพปรากฏตัวออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อบรรดาขุนนางเจ้าที่ดินเริ่มประสบปัญหาด้านการเงินในช่วงปลายของยุคกลาง ชนชั้นกรรมาชีพซึ่งเคยอาศัยอยู่ในที่ดินของเหล่าขุนนางต้องประสบปัญหาตามไปด้วยจนกระทั่งสูญเสียที่ทำมาหากิน จากการล้อมที่ดินของบรรดาขุนนางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปัจจัยการผลิตด้านเกษตรกรรมและกสิกรรม พวกขุนนางปฏิเสธและขับไล่บรรดาชาวนาออกจากที่ดิน และเปลี่ยนที่ดินสำหรับการเกษตรไปใช้ในการทำทุ่งเลี้ยงแกะ หรือขายที่ดินให้กับชาวนาที่เริม่ต้นการพัฒนาการเพาะปลูกและการปศุสัตว์ ผู้คนที่เคยอาศัยอยู่บนที่ดินถูกขับไล่ออกไป และนั่นทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ไร้ทรัพย์สินหรือกรรมาชีพ การขยายตัวของประชากรเองก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ในบางพื้นที่มีการใช้แรงงานทาสด้วย (ทาส, ทาสสัญญา, คนจน, นักโทษ) ขณะที่ผู้คนบางกลุ่มซึ่งอาศัยอยู่เขตอุนสาหกรรมชนบทหรือในสังคมการผลิตของช่างฝีมือนั้นก็เริ่มลดจำนวนลงอย่างมากในช่วงศตวรรษที่สิบแปด และสิบเก้า การเปลี่ยนขนานใหญ่ทั้งสองนี้ทำให้เกิดกลุ่มชนชั้นขนาดใหญ่ของผู้ที่ไร้ซึ่งที่ดินทำกิน และทรัพย์สินผู้ที่ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการเข้าร่วมเป็นชนชั้นกรรมาชีพ หรือก็คือกลุ่มแรงงานในโรงงาน พวกเขากลายเป็นกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระที่เป็นอิสระจากความสัมพันธ์แบบศักดินา

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายทุนนั้นดูเหมือนว่ะเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันในระบบตลาดแรงงาน มาร์กซ์ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบการขูดรีดที่ซ่อนอยู่ และไม่เฉพาะแต่การขูดรีดเท่านั้นมาร์กซ์ยังแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่ผลประโยชน์ของคนทั้งสองกลุ่มนั้นย่อมจะขัดแย้งกันเสมอ แม้ว่าในห้วงเวลาเดียวกันนั้นกลุ่มผลประโยชน์ทั้งสองจะทำงานร่วมกันในกระบวนการการผลิตอยู่ก็ตาม

ความสัมพันธ์แบบการขูดรีดนี้ซับซ้อนกว่าที่กล่าวมาเพราะมันไม่ได้ประกอบไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์สองชนชั้นใหญ่นี้เท่านั้น แต่แน่นอนว่าภายใต้ระบบทุนนิยมและความสัมพันธ์แบบขูดรีดนี้มันย่อมไม่มีทางจะเกิดกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างนายทุน-กรรมาชีพได้ ความสัมพันธ์แบบศัตรูกันทางชนชั้นนี้ได้แสดงออกมาให้เห็นในรูปแบบของ การนัดหยุดงาน วิกฤตกาล การต่อสู้ทางการเมือง และในท้ายที่สุดนั้นย่อมจะนำไปสู่การโค่นล้มระบบของพวกกระฎุมพีโดยชนชั้นกรรมาชีพ

 

ค.เจ้าที่ดิน (Landlords) : เพื่อจะอธิบายกลุ่มชนชั้นทางสังคมนอกเหนือไปจากกระฎุมพีและกรรมาชีพ มาร์กซ์ได้กล่าวถึงชนชั้นอื่นๆร่วมด้วย และในลำดับแรกนั้นมาร์กซ์ได้กล่าวถึงกลุ่มผู้ถือครองที่ดินหรือชนชั้นเจ้าที่ดินในอังกฤษ ซึ่งเคยเป็นกลุ่มชนชั้นที่สำคัญในประวัติศาสตร์และบางส่วนยังคงสามารถรักษาความมั่งคั่งมาได้จนถึงปัจจุบัน (เช่น กลุ่มพระราชวงศ์ในอังกฤษ) โดยมาร์กซ์มองว่าพวกเขาคือกลุ่มชนชั้นที่กำลังจะล่มสลาย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นชนชั้นที่มีกำลังอำนาจมากในสังคมแต่พวกเขาก็สูญเสียบทบาทในการเป็นศูนย์กลางของการผลอตและการปกครองสังคมไป เพื่อจะเอาตัวรอดและรักษาความมั่งคั่งของตนเจ้าที่ดินจำนวนหนึ่งจึงต้องเปลี่ยนที่ดินในการถือครองของพวกเขาไปเป็นที่ดินสำหรับเช่า ซึ่งทำให้เกิดสิ่งที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากทุนนิยมอุตสาหกรรม กล่าวคือที่ดินถูกใช้ในฐานะทุนชนิดหนึ่งสำหรับการสะสมทุน ชนชั้นแรงงานอาจจะไม่ได้ถูกจ้างงานโดยตรงจากเหล่าเจ้าที่ดิน แต่ที่ดินเหล่านั้นก็ถูกใช้ในฐานะเครื่องมือหรือวิถีการผลิตที่เอื้อให้เกิดการสะสมทุนต่อไปได้

 

ง.กระฎุมพีน้อยและชนชั้นกลาง (Petty Bourgeoisie and Middle Class) : ชนชั้นกลางระดับล่างหรือกระฎุมพีน้อย (ในยุคสมัยนั้นคำว่ากระฎุมพีถูกใช้หมายรวมถึงกลุ่มชนชั้นกลางด้วยบ่อยๆ) คือ “กลุ่มช่างฝีมือรายย่อย เจ้าของธุรกิจขนาดย่อม แรงงานมีฝีมือ และชาวนา” ลักษณะสำคัญของชนชั้นนี้คือการที่พวกเขาได้ถือครองทรัพย์สินบางอย่างเอาไว้ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการทำงานทั้งหมดให้สำเร็จด้วยการจจ้างลูกจ้างหรือคนงาน กลุ่มคนในชนชั้นนี้ยังคงต้องทำงานด้วยตัวเองด้วยเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นพวกเขาจึงมีลักษณะการดำรงอยู่ในสองรูปแบบ หนึ่งคือในฐานะผู้ถือครองทรัพย์สิน (ขนาดย่อม) และในฐานะแรงงาน และด้วยลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ของชนชั้นนี้แบ่งเป็นสองกลุ่ม ในด้านหนึ่งนั้นมักจะปกป้องรูปแบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเอาไว้ แต่ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่ต่อต้านชนชั้นนายทุนอยู่ในบางครั้ง นอกจากนั้นชนชั้นนี้ยังมีการแบ่งแยกภายในชนชั้นเองด้วยจาก ภูมิลำเนา ประเภทของอุตสาหกรรม และจากความคิดทางการเมือง ซึ่งทำให้ชนชั้นนี้ไม่สามารถจะแสดงออกหรือทำการเคลื่อนไหวในฐานะชนชั้นได้ มาร์กซ์ได้ทำนายไว้ว่าพัฒนาการอันต่อเนื่องของระบบทุนนิยมจะทำให้ชนชั้นนี้หายไป ถ้าหากไม่กลายเป็นเข้าร่วมไปกับชนชั้นนายทุน ก็จะเข้าร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพ

มาร์กซ์นั้นมองว่าพวกกระฎุมพีน้อยนี้มีแนวโน้มจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมหรือพวกปฏิกิริยาในทางการเมือง และพอใจกับกฎระเบียบทางสังคมแบบเดิม นอกจากนี้นักมาร์กซิสต์บางคนยังมองว่าพวกกระฎุมพีน้อยนี่คือรากฐานที่ให้กำเนิดระบบฟาสต์ซิสต์ในทศวรรษที่ 1920 และ 1930 อีกด้วย

หมายเหตุว่าด้วยชนชั้นกลาง : หัวข้อว่าด้วยชนชั้นกลางนี้กลายเป็นหัวข้อสำคัญภายในทฤษฎีมาร์กซิสต์ มีนักมาร์กซิสต์จำนวนมากเสนอว่าชนชั้นกลางนั้นกำลังลดจำนวนลง และสังคมกำลังเดินหน้าไปสู่การแบ่งแยกออกเป็นสองชนชั้นภายใต้ระบบทุนนิยม มุมมองของมาร์กซ์ที่กล่าวว่าชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งจะกลายเป็นชนชั้นนายทุนนั้นถูกต้อง แต่ส่วนที่ยังไม่ถูกต้องก็คือการที่ชนชั้นกลางจะหันไปเข้าร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพ

ในขณะที่สังคมมีแนวโน้มแบ่งเป็นสองขั้วดังที่เรากล่าวโดยเฉพาะในหมู่ชาวนาและเกษตรกรมันก็ยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนในระยะยาวว่าชนชั้นกลางจะหายไปจริงๆ เพราะในห้วงเวลาเดียวกันนั้นมันมีการกำเนิดใหม่ของชนชั้นกลางอยู่เสมอ อันประกอบด้วย กลุ่มเจ้าของกิจการขนาดเล็ก พ่อค้ารายย่อย และผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งมีลักษณะพิเศษในการบริหารจัดการกิจการ หรือเป็นผู้ได้รับการศึกษา ขณะที่กลุ่มแรงงานค่าจ้างสูงและแรงงานอิสระเองก็เลือกที่จะนิยามว่าตนเองคือชนชั้นกลาง อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ได้รวมตัวกันเป็นชนชั้นที่มีลักษณะในการต่อต้านชนชั้นอื่นๆอย่างชัดเจน และเมื่อคำทำนายของมาร์กซ์ในเรื่องชนชั้นกลางไม่เป็นจริง นักสังคมวิทยาจึงให้ความสนใจอย่างมากในการจะอธิบายกลุ่มชนชั้นกลางนี้ในหัวข้อต่างๆ เช่น อะไรคือรากฐานของคนกลุ่มนี้ อะไรคือสาเหตุที่สร้างความมั่นคงและการเติบโตให้ชนชั้นกลาง และคนกลุ่มนี้สามารถปรับตัวเข้ามาอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้นได้อย่างไร และการดำรงอยู่ของคนกลุ่มนี้ระหว่างกระฎุมพีและกรรมาชีพจะสร้างผลกระทบอะไรบ้าง?

 

ง.ชนชั้นล่าง (Lumpenproletariat) : มาร์กซ์ได้พูดถึงคนกลุ่มนี้ในฐานะ “ชนชั้นอันตราย” หรือ ส่วนที่ตกต่ำสุดของสังคม หรือก็คือกลุ่มชนชั้นล่าง ซึ่งมาร์กซ์ไม่ได้สนใจหรือมองว่าชนชั้นนี้จะเป็นกลุ่มพลังที่สลักสำคัญในการสร้างสังคมนิยมที่จะเกิดขึ้น ขณะที่นักเขียนและนักวิเคราะห์คนอื่นๆมองว่าคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มและความเป็นไปได้ที่จะเป็นนักปฏิวัติหรือเข้าร่วมการปฏิวัติด้วย เหตุผลหลักประการหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคนกลุ่มนี้ก็เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าระบบทุนนิยมนั้นหยิบใช้คน ทำลายคน และทอดทิ้งผู้คนอย่างไร ระบบทุนนิยมไม่ได้ปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ในฐานะมนุษย์ ในปัจจุบันคนกลุ่มนี้ก็คือกลุ่มคนไร้บ้านนั่นเอง

 

จ.เกษตรกรและชาวนา (Peasantry and Farmers) : มาร์กซ์มองว่าคนกลุ่มนี้นั้นมีลักษณะขาดการจัดตั้ง กระจายตัวกันไป และไม่มีความสามารถในการแบกรับการเปลี่ยนแปลงได้ เขาคาดหวังว่าคนกลุ่มนี้จะหายไปโดยหันไปเข้าร่วมกับกลุ่มกรรมาชีพแทน  ส่วนผู้ที่ประบความสำเร็จก็จะกลายเป็นเจ้าที่ดินหรือกระฎุมพี อย่างไรก็ตามมาร์กซ์นั้นค่อนข้างห่างไกลจากกลุ่มชาวนาและไม่ได้เขียนหรือกล่าวถึงคนกลุ่มนี้มากนัก และชาวนาเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามรถเคลื่อนไหวร่วมกันในรูปแบบชนชั้นในการต่อสู้ทางการเมืองและเศรษฐกิจได้

 

แปลเป็นภาษาไทยโดย : จักรพล ผลละออ

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ : ความหมาย, ลักษณะ และหลักการ(Marxism: Meaning, Features a
จักรพล ผลละออ
 สภาพวิสัยAntonio Gramsci 1917
จักรพล ผลละออ
 สหภาพแรงงาน : อดีต ปัจจุบัน และอนาคตคาร์ล มาร
จักรพล ผลละออ
 หนังสือพิมพ์และชนชั้นแรงงานAntonio Gramsci 1916
จักรพล ผลละออ
 วันแรกแห่งเดือนพฤษภา : สัญลักษณ์แห่งยุคใหม่และการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานNestor Makhno (1928) 
จักรพล ผลละออ
 สุนทรพจน์ในวันกรรมกรสากลครั้งแรก (ฉบับย่อ)
จักรพล ผลละออ
 วันสตรีสากลAlexandra Kollontai (1920)