Skip to main content

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ marxist woman

 

วันสตรีสากล

Alexandra Kollontai (1920)

 

การเฉลิมฉลองแด่การต่อสู้

วันสตรีสากลหรือวันกรรมกรสตรีสากลนั้นคือวันแห่งความสมานฉันท์สากล และเป็นวันพิเศษสำหรับการทบทวนรวมทั้งพูดถึงความแข็งแกร่งและองค์กรของผู้หญิงชนชั้นกรรมาชีพ

แต่นี่ก็ไม่ใช่วันพิเศษสำหรับผู้หญิงเพียงอย่างเดียว วันที่ 8 มีนาคมนั้นคือวันประวัติศาสตร์และวันที่น่าจดจำสำหรับกรรมกรและชาวนา สำหรับชนชั้นแรงงานชาวรัสเซียทุกคนและตลอดจนชนชั้นแรงงานทั่วโลก เพราะการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์นั้นได้ระเบิดออกในวันนี้เมื่อปี 1917 การปฏิวัตินี้เริ่มต้นขึ้นโดยผู้หญิงชนชั้นแรงงานในปีเตอร์สเบิร์ก และก็เป็นกลุ่มแรงงานหญิงนี่เองที่เป็นคนกลุ่มแรกในการชูธงต่อต้านระบบการปกครองของซาร์และคณะปกครองของซาร์ และดังนี้วันสตรีสากลจึงควรค่าแก่การเฉลิมฉลองมากขึ้นเป็นสองเท่า

แต่ถ้าหากวันนี้มันเป็นเพียงวันหยุดธรรมดาสำหรับชนชั้นกรรมาชีพทั้งมวลแล้วทำไมเราจึงต้องเรียกขานมันว่า “วันสตรี” ? แล้วทำไมเราจึงยึดถือเอาวันนี้เป็นวันพิเศษในการเฉลิมฉลองและนัดพบปะโดยเจาะจงไปที่กลุ่มกรรมกรหญิงและชาวนาหญิง? แล้ววันสตรีนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อเอกภาพและความสมานฉันท์ของชนชั้นกรรมาชีพหรือ? เพื่อที่จะตอบคำถามเหล่านี้เราจำเป็นจะต้องย้อนกลับไปพิจารณาวันสตรีนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมันกำเนิดมาด้วยเป้าหมายใด

 

วันสตรีนั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร และทำไมต้องมีวันสตรี?

ในห้วงเวลาสิบปีที่ผ่านมา คำถามว่าด้วยความเท่าเทียมของผู้หญิง และคำถามว่าด้วยผู้หญิงนั้นสามารถที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลได้เสมอกับผู้ชายได้หรือไม่นั้นได้กลายมาเป็นเรื่องที่ได้รับการถกเถียงกันอย่างรุนแรง ชนชั้นแรงงานในประเทศทุนนิยมทุกประเทศนั้นต่างก็ทำการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของแรงงานผู้หญิง ซึ่งพวกกระฎุมพีนั้นไม่ต้องการที่จะรับรองสิทธิที่ว่านี้ เพราะการเสริมสร้างและสนับสนุนการมอบสิทธิทางการเมืองในการโหวตผ่านระบบรัฐสภาให้กับชนชั้นแรงงานนั้นไม่เป็นผลดีต่อชนชั้นกระฎุมพี บ่อยครั้งพวกเขาจึงพยายามขัดขวางการผ่านกฎหมายที่จะรับรองสิทธิให้กับแรงงานหญิง

นักสังคมนิยมในอเมริกาเหนือนั้นยืนยันในข้อเรียกร้องการรับรองสิทธิในการออกเสียงโหวต ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 1909 นักสังคมนิยมหญิงในสหรัฐอเมริกาได้จัดงานเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่และการเดินสายทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมืองให้กับชนชั้นแรงงานหญิง นี่คือ “วันสตรี” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ดังนั้นการสถาปนาวันสตรีนั้นจึงมีรากฐานเชื่อมโยงอยู่กับการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานผู้หญิงในอเมริกา

ในปี 1910 ท่ามกลางการประชุมสมัชชาแรงงานสตรีสากลที่ 2 นั้น Clara Zetkin ได้นำเสนอคำถามว่าด้วยการสถาปนาวันกรรมกรสตรีสากลขึ้น และที่ประชุมได้ลงมติตัดสินให้มีการจัดงานนี้ขึ้นในทุกๆปี ในทุกๆประเทศจะมีการเฉลิมฉลองในวันเดียวกันภายใต้ชื่อ “วันสตรี” พร้อมกับสโลแกนว่า “สิทธิทางการเมืองของผู้หญิงจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมให้แก่เรา!”

ในห้วงเวลาหลายปีนี้ มันได้เกิดคำถามและโจทย์ในการพยายามจะทำให้รัฐสภานั้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น กล่าวคือ การขยับขยายสิทธิทางการเมืองไปให้แก่ผู้หญิงด้วย โจทย์นี้ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญ กระทั่งในช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นชนชั้นแรงงานต่างก็มีสิทธิที่จะออกเสียงทางการเมืองในประเทศกระฎุมพีทุกประเทศยกเว้นรัสเซีย หากทว่ามีแต่เพียงเพศหญิงเท่านั้นที่ถูกกีดกันออกจากสิทธิเหล่านี้ในทุกหนทุกแห่ง หากทว่าในห้วงเวลาเดียวกันนั้นในขณะที่ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิทางการเมืองใดๆรัฐทุนนิยมกลับต้องการจะดึงกำลังแรงงานของผู้หญิงมาใช้ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ จำนวนผู้หญิงซึ่งต้องเดินหน้าเข้าสู่การเป็นพนักงานโรงงาน หรือเป็นพนักงานทำความสะอาดหรือคนรับใช้นั้นเพิ่มจำนวนขึ้นในทุกๆปี ผู้หญิงนั้นทำงานเคียงคู่อยู่กับผู้ชายและสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศด้วยสองมือและกำลังแรงงานของพวกเธอ หากทว่าพวกเธอกลับไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงทางการเมือง

หากทว่าในช่วงหนึ่งปีสุดท้ายก่อนสงครามนี่เอง ที่ทำให้ผู้หญิงเริ่มตั้งคำถามต่อสิทธิทางการเมืองและเริ่มต้นการประท้วงอันแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อระบบเศรษฐกิจแบบปล้นชิงของพวกกระฎุมพีที่บีบบังคับพวกเอด้วยการขึ้นราคาสินค้า “การลุกฮือของแม่บ้าน” กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่แผ่ขยายวงกว้างออกไปและเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศอย่าง ออสเตรีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี

แรงงานผู้หญิงนั้นเข้าใจดีว่าการบุกไปทำลายร้านค้าหรือข่มขู่พวกพ่อค้านั้นเพียงพอที่จะทำให้เกิดการปรับลดค่าครองชีพ พวกเธอรู้ดีว่าทางเดียวที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้คือพวกเธอต้อง เปลี่ยนแปลงการเมือง ของรัฐบาล และเพื่อจะบรรลุเป้าหมายนี้ชนชั้นแรงงานจำเป็นจะต้องขยายขอบเขตของผู้มีสิทธิออกเสียงทางการเมืองให้กว้างขึ้น

ดังนั้นมันจึงกลายเป็นมติให้มีการจัดวันสตรีขึ้นในทุกๆประเทศทั่วโลกเพื่อเป็นรูปแบบหนึ่งในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิออกเสียงทางการเมืองให้กับแรงงานหญิง วันนี้จึงเป็นวันของความสมานฉันท์สากลในการต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันและเป็นวันสำหรับการทบทวนความเข้มแข็งขององค์กรชนชั้นแรงงานหญิงภายใต้ธงของสังคมนิยม

 

วันสตรีสากลครั้งที่ 1

การลงมติตัดสินให้สถาปนาวันสตรีสากลขึ้นโดยยึดเอาวันที่ 19 มีนาคม ปี 1911 เป็นวันจัดงานวันสตรีสากลครั้งที่ 1 ของสมัชชากรรมกรสตรีสังคมนิยมสากลที่ 2 นั้นไม่ถูกบันทึกเอาไว้

วันที่จัดงานดังกล่าวนั้นไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างมั่วๆ สหายชาวเยอรมันของเราได้เลือกวันนี้ขึ้นมาเนื่องจากมันมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อชนชั้นกรรมาชีพเยอรมัน อันเนื่องมาจากการปฏิวัติในวันที่ 19 มีนาคม ในปี 1848 นั้นได้ทำให้กษัตริย์ปรัสเซียตระหนักถึงความเข้มแข็งของมวลชนติดอาวุธเป็นครั้งแรกและนั่นทำให้กษัตริย์ปรัสเซียนั้นยอมโอนอ่อนต่อข้อเรียกร้องก่อนที่มันจะลุกลามจนกลายเป็นการลุกฮือของชนชั้นกรรมาชีพ กษัตริย์ปรัสเซียได้มอบคำสัญญาต่อข้อเรียกร้องไว้หลายข้อและท้ายที่สุดก็ไม่ได้ทำตามคำสัญญา หนึ่งในคำสัญญานั้นคือคำสัญญาที่จะมอบสิทธิทางการเมืองให้กับผู้หญิง

ภายหลังจากวันที่ 11 มกราคม เกิดความพยายามอย่างมากในเยอรมนี และออสเตรียเพื่อจะเตรียมความพร้อมสำหรับจัดงานวันสตรีขึ้น พวกเขากระจายข่าวที่จะจัดการเดินขบวนออกไปผ่านการบอกเล่าแบบปากต่อปากและผ่านหนังสือพิมพ์ ในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนถึงวันสตรีสากลนั้นได้มีบทความในหนังสือพิมพ์ปรากฏออกมาสองชิ้นนั่นคือ : The Vote for Women ในเยอรมนี และ Women's Day ในออสเตรีย นอกจากนี้ยังมีบทความอื่นๆที่เขียนขึ้นเพื่อวันสตรีสากล ดังนี้ - “Women and Parliament,” “The Working Women and Municipal Affairs,” “What Has the Housewife got to do with Politics?", ฯลฯ – ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นบทความที่วิเคราะห์และตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมของผู้หญิงในสังคมและในการปกครองอย่างครบถ้วน บทความทั้งหมดนี้ได้เน้นย้ำในจุดเดียวกันนั่นคือ มันมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำให้รัฐสภามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยการขยายขอบเขตสิทธิทางการเมืองไปสู่ผู้หญิงด้วย

วันสตรีสากลครั้งที่ 1 นั้นจัดขึ้นในปี 1911 ซึ่งมันประสบความสำเร็จอย่างมาก งานวันสตรีสากลในเยอรมนีและออสเตรียนั้นเต็มไปด้วยคลื่นมวลชนผู้หญิงอันล้นหลาม การชุมนุมนั้นถูกจัดขึ้นในทุกหนทุกแห่ง – ทั้งในเมืองเล็กและในศาลาประชาคมของหมู่บ้านเล็กๆต่างก็แน่นขนัดไปด้วยมวลชนหญิงเสียจนพวกเธอต้องขอให้แรงงานชายสละที่ให้ผู้หญิงได้เข้าร่วมงาน

เป็นที่ชัดเจนว่านี่เป็นครั้งแรกที่ขบวนการแรงงานหญิงได้แสดงออกถึงความเข้มแข็งของพวกเธอ ผู้ชายนั้นยู่บ้านเลี้ยงลูกเป็นการแลกเปลี่ยน กับการที่ภรรยาของเขา แม่บ้านของพวกเขา ออกไปร่วมการชุมนุม ท่ามกลางการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 30,000 คนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินใจที่จะเข้าไปปลดธงของการเดินขบวนออก ขณะที่บรรดาแรงงานหญิงนั้นยืนหยัดอยู่กับที่ ในการเผชิญหน้าที่อาจจะนำไปสู่การนองเลือดนี้มีแต่เพียงผู้แทนของพรรคสังคมนิยมในรัฐสภาทเท่านั้นที่จะช่วยยุติเหตุการณ์ดังกล่าว

และในปี 1913 วันสตรีสากลก็ได้เปลี่ยนวันจัดงานมาเป็นวันที่ 8 มีนาคม แทน แน่นอนว่ามันก็ยังคงเป็นวันที่แสดงออกถึงความเข้มแข็งของขบวนการกรรมกรสตรี

 

เราจำเป็นต้องมีวันสตรีหรือไม่?

วันสตรีสากลในอเมริกาและยุโรปนั้นมีผลตอบรับที่น่าประหลาดใจ เป็นความจริงที่ว่าในประเทศกระฎุมพีเหล่านี้รัฐสภาของพวกเขาเลือกที่จะมอบสิทธิประโยชน์บางประการให้กับชนชั้นแรงงานรวมถึงตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของแรงงานหญิง สำหรับช่วงเวลานี้แล้วชนชั้นกระฎุมพีค่อนข้างวางใจว่าพวกเขาจะไม่ถูกคุกคามโดยการปฏิวัติสังคมนิยม

หากแต่วันสตรีสากลก็ได้ทำให้เกิดผลสำเร็จบางอย่าง มันได้เปลี่ยนแปลงความเป็นไปดังกล่าวนี้ด้วยการใช้วิธีการโฆษณาอันชาญฉลาดในหมู่พี่น้องชนชั้นกรรมาชีพซึ่งขาดความตื่นตัวทางการเมือง พวกเขาเปลี่ยนแปลงความสนใจของมวลชนด้วยการจัดชุมนุม การเดินขบวน การแจกใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ และบทความในหนังสือพิมพ์ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อวันสตรีกระทั่งแรงงานหญิงที่ไม่มีความคิดทางการเมืองเลยก็ยังตระหนักต่อตนเองว่า “นี่คือวันของฉัน มันเป็นเทศกาลของแรงงานผู้หญิง” และแน่นอนว่าเธอก็จะเข้าร่วมการชุมนุมและการเดินขบวนอย่างเร่าร้อน และในทุกครั้งหลังจบงานวันกรรมกรสตรีสากลแล้วก็จะมีผู้หญิงจำนวนมากสมัครเข้าร่วมกับพรรคสังคมนิยมและสหภาพแรงงานที่ทำให้มันเติบโตขึ้น องค์กรทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพก็ขยายตัวขึ้นพร้อมๆกับจิตสำนึกทางชนชั้นที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

วันสตรีสากลนั้นยังมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งนั่นคือมันเป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความสมานฉันท์สากลของชนชั้นแรงงาน พรรคสังคมนิยมในหลากหลายประเทศต่างก็ใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนผู้ปราศรัยกัน เช่น สหายชาวเยอรมันเดินทางไปอังกฤษ สหายชาวอังกฤษเดินทางไปฮอลแลนด์ ฯลฯ ความร่วมมือในระดับสากลของชนชั้นแรงงานนั้นได้พัฒนาแข็งแกร่งและแน่นแฟ้นมากขึ้น และนั่นหมายถึงว่าความแข็งแกร่งในการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั้งมวลได้พัฒนาขึ้นด้วย

และนี่คือผลลัพธ์ของวันกรรมกรสตรีสากล วันที่ความเข้มแข็งของแรงงานหญิงได้ช่วยพัฒนาจิตสำนึกทางชนชั้นและพัฒนาองค์กรของชนชั้นกรรมาชีพหญิง และนี่หมายความว่าการสนับสนุนนี้คือหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าของชนชั้นกรรมาชีพ

 

วันกรรมกรสตรีในรัสเซีย

แรงงานหญิงในรัสเซียนั้นได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “วันกรรมกรสตรี” เป็นครั้งแรกในปี 1913 ซึ่งในห้วงเวลานั้นยังคงเป็นห้วงเวลาที่ระบบซาร์ปกครองและควบคุมชนชั้นแรงงานและชาวนาเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ จนทำให้มันไม่อาจจะเกิดการเฉลิมฉลอง “วันกรรมกรสตรี” ด้วยการเดินขบวนในทางเปิดได้ แต่องค์กรของแรงงานหญิงก็เฟ้นหาวิธีที่จะแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในวันสตรีสากลนี้ พวกเขาใช้ช่องทางผ่านหนังสือพิมพ์ของชนชั้นแรงงาน – หนังสือพิมพ์ Pravda ของพรรคบอลเชวิค และ หนังสือพิมพ์ Looch ของพรรคแมนเชวิค – ซึ่งตีพิมพ์บทความว่าด้วยวันสตรีสากลนอกจากนี้มันยังมีบทความพิเศษ ภาพถ่ายของผู้เข้าร่วมขบวนการกรรมกรสตรีสากล และจดหมายทักทายจากสหายอย่าง Bebel และZetkin

ในห้วงเวลาอันยากลำบากนี้การชุมนุมสาธารณะเป็นสิ่งต้องห้าม ทว่าใน Kalashaikovsky Exchange เมืองเปโตกราด นั้นแรงงานหญิงซึ่งสังกัดพรรคได้จัดเวทีสาธารณะขึ้นในหัวข้อ “The Woman Question” (ผมเลี่ยงการแปลไทยคำนี้เพราะนึกคำแปลที่จะไม่ส่งผลลบด้านความรู้สึกในภาษาไทยไม่ออก – ผู้แปล) โดยเก็บค่าเข้าร่วมในราคา 5 kopecks แน่นอนว่านี่เป็นงานชุมนุมที่ผิดกฎหมายทว่ากลับมีผู้เข้าร่วมอย่างล้นหลาม โดยมีสมาชิกพรรคเป็นผู้บรรยาย แต่งานนี้ก็จบลงอย่างรวดเร็วเมื่อตำรวจได้บุกเข้ามายุติงานและลงท้ายด้วยการจับกุมผู้บรรยายจำนวนหลายคน

และนี่ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอย่างมากสำหรับแรงงานทั่วโลกที่แรงงานหญิงในรัสเซียซึ่งอยู่ภายใต้การกดขี่ปราบปรามอย่างหนักของระบบซาร์นั้นได้ลุกขึ้นมาและพยายามจะแสดงออกถึงความต้องการเข้าร่วมในวันสตรีสากล นี่นับเป็นสัญญาณอันดีว่าชนชั้นแรงงานในรัสเซียได้ตื่นขึ้นแล้วและการจับกุมรวมถึงโทษประหารของระบบซาร์นั้นกำลังหมดอำนาจในการสร้างความกลัวและทำลายจิตวิญญาณในการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน

ในปี 1914 “วันกรรมกรสตรี” ในรัวเซียนั้นถูกเตรียมการขึ้น หนังสือพิมพ์ของชนชั้นแรงงานทั้งสองเล่มนั้นได้เข้าร่วมกับการเฉลิมฉลอง สหายของเราได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างหนักในการจะเตรียมความพร้อมสำหรับ “วันกรรมกรสตรี” นี้ แต่เนื่องมาจากการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้พวกเขาไม่สามารถจะวางแผนสำหรับการเดินขบวนได้ และในท้ายที่สุดแล้วผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพยายามจัดงาน “วันกรรมกรสตรี” นี้ต่างก็ถูกจับกุมและคุมขัง และนักโทษจำนวนมากนี้ต่างก็ถูกส่งไปที่คุกอันหนาวเหน็บทางเหนือ ส่วนคำขวัญ “เรียกร้องสิทธิทางการเมืองให้แรงงานหญิง” นั้นในท้ายที่สุดก็ได้กลายเป็นคำขวัญเริ่มต้นการเรียกร้องให้โค่นล้มระบอบซาร์ในรัสเซีย

 

วันกรรมกรสตรีท่ามกลางสงครามจักรวรรดินิยม

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ระเบิดออก ชนชั้นแรงงานในทุกๆประเทศต่างก็ถูกบีบบังคับให้ต้องหลั่งเลือดในสงคราม ในปี 1915 และ 1916 “วันกรรมกรสตรี” ในหลายประเทศนั้นตกต่ำลง – นักสังคมนิยมหญิงปีกซ้ายผู้แชร์มุมมองร่วมกับพรรคบอลเชวิครัสเซียนั้นพยายามที่จะเปลี่ยนวันที่ 8 มีนาคม ให้กลายเป็นวันสำหรับการเดินขบวนต่อต้านสงครามของแรงงานหญิง แต่บรรดาพรรคสังคมนิยมในเยอรมนีและในหลายประเทศที่ทรยศขบวนการสากลไม่ยินยอมให้เกิดการชุมนุมของขบวนการนักสังคมนิยมหญิงขึ้น นอกจากนี้นักสังคมนิยมหญิงยังถูกถอนพาสปอร์ตไม่ให้พวกเธอเดินทางเข้าไปในประเทศเป็นกลางในสงครามที่พวกเธอหวังจะใช้เป็นฐานสำหรับการพบปะและชุมนุมในระดับสากลอีกด้วย

ในปี 1915 นั้นมีเพียงประเทศนอร์เวย์ที่ชนชั้นแรงงานสามารถจัดงานเดินขบวนในวันกรรมกรสตรีสากลได้ โดยมีผู้แทนจากรัสเซียและประเทศเป็นกลางเข้าร่วม โดยปราศจากความจากความคิดที่จะจัดงานวันกรรมกรสตรีในรัสเซียเนื่องจากการปราบปรามอย่างหนักของเจ้าหน้าที่รัฐและทหารภายใต้ระบอบซาร์

หลังจากความตกต่ำนี้มันก็พลิกกลับมาสู่ความรุ่งโรจน์ ในปี 1917 ท่ามกลางความอดอยาก ความยากลำบากจากสงครามได้ทำให้ความอดทนของแรงงานและชาวนาหญิงในรัสเซียมาถึงจุดสิ้นสุด ในวันที่ 8 มีนาคม ปี 1917 ในวันกรรมกรสตรี พวกเธอก็ได้ก้าวลงสู่ถนนของเปโตรกราดอย่างกล้าหาญ บรรดาผู้หญิง – ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานและอีกส่วนนั้นคือภรรยาของทหาร – ก้าวออกสู่ถนนพร้อมข้อเรียกร้อง “ขนมปังสำหรับลูกของเรา” และ “ทวงคืนสามีของเราจากสนามเพลาะ” และในห้วงเวลาชี้ขาดนั้นการประท้วงของขบวนการแรงงานหญิงได้ยกระดับขึ้นถึงขนาดที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาลซาร์ก็ไม่กล้าแม้แต่จะทำการปราบปราม

วันกรรมกรสตรีในปี 1917 นี้ได้กลายมาเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในวันนี้ผู้หญิงชาวรัสเซียได้จุดไฟแห่งการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพให้ส่องสว่างขึ้นทำให้โลกลุกเป็นไฟ จนลุกลามกลายไปเป็นการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์

 

การต่อสู้ของเรา

“วันกรรมกรสตรีสากล” ถูกสปนาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีที่ผ่านมาภายใต้เป้าหมายการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางการเมืองให้กับผู้หญิงและต่อสู้เพื่อสังคมนิยม ซึ่งแรงงานหญิงในรัสเซียได้บรรลุเป้าหมายทั้งสองนี้แล้ว ในโซเวียนรัสเซียนั้นแรงงานและชาวนาหญิงไม่ได้ต้องการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิพิเศษหรือสิทธิพลเมือง เพราะพวกเธอได้รับสิทธิดังกล่าวแล้ว เพราะชนชั้นแรงงานและชาวนาหญิงในรัสเซียนั้นได้รับความเสมอภาคในฐานะพลเมืองเช่นเดียวกับผู้ชาย – พวกเธอได้ถือครองอาวุธอันทรงพลังในการจะต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นไว้แล้ว – นั่นคือสิทธิทางการเมือง และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในโซเวียตรัสเซีย

หากแต่สิทธิที่ได้รับมาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้มันด้วย สิทธิในการออกเสียงนั้นคืออาวุธที่เราจะต้องเรียนรู้เพื่อจะใช้มันในการปกป้องผลประโยชน์ของเรา และเพื่อผลดีต่อสาธารณรัฐของชนชั้นแรงงาน ภายใต้ระบบโซเวียตนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี เรากำลังอยู่ท่ามกลางกระบวนการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์และเราถูกล้อมรอบเอาไว้ด้วยโลกที่เราได้รับการสืบทอดมาจากอดีตอันรุนแรงและดำมืด ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบต่อครอบครัว, งานภายในบ้าน, การค้าประเวณียังคงเป็นภาระอันหนักอึ้งที่กดทับต่อแรงงานหญิง แรงงานและชาวนาหญิงนั้นจำเป็นจะต้องปลดเปลื้องตัวเองออกจาภาระเหล่านี้และเข้าถึงความเท่าเทียมในชีวิตด้วยตัวเธอเอง และมันจะไม่ใช่เพียงความเท่าเทียมในทางกฎหมายหากว่าพวกเธอทุ่มเทกำลังแรงงานทั้งหมดลงไปในการสร้างรัสเซียให้กลายเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง

และเพื่อจะเร่งกระบวนการดังกล่าว เราจำเป็นจะต้องรื้อฟื้นเศรษฐกิจรัสเซียที่แตกเป็นเสี่ยงๆเป็นประการแรก เราจำเป็นจะต้องพิจารณาการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วนสองประการ – การจัดตั้งกองกำลังของชนชั้นแรงงานที่มีความตระหนักทางจิตสำนึกทางชนชั้นและทางการเมือง และการรื้อฟื้นระบบขนส่ง และหากว่ามวลชนแรงงานของเราทำงานอย่างเต็มที่ในไม่ช้าเราจะมีเครื่องจักรไอน้ำใช้อีกครั้ง ระบบรถไฟก็จะกลับมาใช้ได้ นั่นหมายถึงว่าเมื่อเศรษฐกิจกลับมาพลิกฟื้นแล้วคนงานทั้งชายและหญิงย่อมจะได้ปัจจัยการดำรงชีวิตอย่างขนมปังและฟืนตามที่พวกเขาต้องการ

การยึดระบบขนส่งกลับคืนมานั้นจะช่วยเร่งความเร็วในการมาถึงของสังคมคอมมิวนิสต์ และภายใต้ชัยชนะของคอมมิวนิสต์นี้มันจะนำมาซึ่งความเท่าเทียมอย่างแท้จริงของผู้หญิง นี่คือเหตุผลว่าทำไมคำขวัญของงาน “วันกรรมกรสตรี” ในปีนี้จึงเป็นคำว่า “แรงงานหญิง ชาวนาหญิง แม่ ภรรยา พี่สาวและน้องสาว พวกเราต้องทุ่มเทความพยายามเพื่อช่วยเหลือสหายและพี่น้องแรงงานในการต่อสู้เพื่อยึดรางรถไฟคืนและรื้อฟื้นระบบการขนส่งขึ้นมาใหม่ ทุกๆคนต่อสู้เพื่อปัจจัยในการดำรงชีพ”

คำขวัญในวันกรรมกรสตรีปีล่าสุดนั้นคือ “ทุกอย่างเพื่อชัยชนะใต้ธงแดง” และในตอนนี้เรากำลังเรียกร้องให้แรงงานหญิงทุ่มเทความแข็งแกร่งของพวกเธอเข้าร่วมกับแนวรบของชนชั้นแรงงาน กองทัพแดงนั้นสามารถเอาชนะศัตรูจากต่างชาติได้เพราะพวกเขามีการจัดตั้ง มีวินัย และเตรียมพร้อมสำหรับการเสียสละ และด้วยการจัดตั้ง ความมีวินัยในตัวเอง การทำงานอย่างหนักและการเสียสละนี้จะทำให้ขบวนการของชนชั้นแรงงานสามารถจะเอาชนะอุปสรรคภายในได้ – นั่นคือการพังทลายของระบบขนส่งและเศรษฐกิจ ความอดอยาก โรคภัยและความหนาวเหน็บ.

“ทุกคนมุ่งสู่ชัยชนะของชนชั้นแรงงาน! ทุกคนมุ่งตรงสู่ชัยชนะ!”

 

ภารกิจใหม่ของวันกรรมกรสตรี

การปฏิวัติเดือนตุลานั้นได้มอบความเท่าเทียมด้านกฎหมายทุกอย่างให้กับผู้หญิง ผู้หญิงชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียผู้โชคร้ายและถูกกดขี่มาอย่างยาวนาน ในตอนนี้พวกเธอสามารถที่จะเข้าร่วมการต่อสู้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับสหายในประเทศอื่นๆบนเส้นทางของความเท่าเทียมทางการเมืองผ่านการจัดตั้งระบบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพในโซเวียตรัสเซีย

ในประเทศทุนนิยมนั้นสถานการณ์ความเป็นอยู่ของผู้หญิงนั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พวกเธอยังคงต้องทำงานหนักและตกเป็นผู้ด้อยโอกาส ในประเทศเหล่านี้ไม่มีใครรับฟังเสียงของชนชั้นแรงงานหญิง ซึ่งเป็นจริงในหลายประเทศ – ในนอร์เวย์, ออสเตรเลีย, ฟินแลนด์ และในบางรัฐของอเมริกาเหนือ – ผู้หญิงได้รับชัยชนะในการเรียกร้องสิทธิก่อนสงคราม

ในเยอรมนีหลังจากการโค่นล้มระบอบไกเซอร์ และสถาปนารัฐของชนชั้นกระฎุมพีขึ้นแทน มีการทำข้อตกลงที่ทำให้มีผู้หญิงจำนวน 36 คนได้เข้าร่วมในรัฐสภา หากแต่ว่านี่ไม่ใช่ระบบคอมมิวนิสต์!

ในอังกฤษ ปี 1919 นั้นเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงชนะการเลือกตั้งและเข้าไปเป็นตัวแทนในสภา แต่หากถามว่าเธอคนนี้เป็นใคร? แน่นอว่าเธอคือ “ท่านหญิง” ขุนนางผู้เป็นเจ้าครองที่ดิน  

ในฝรั่งเศสก็เช่นกัน พวกเขาพึ่งจะเริ่มต้นตั้งคำถามถึงเรื่องการขยายสิทธิทางการเมืองให้กับผู้หญิง

หากทว่าสิทธิทางการเมืองภายใต้ระบบรัฐสภาที่ถูกควบคุมโดยพวกนายทุนกระฎุมพีนี้จะมีประโยชน์อะไรต่อชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะที่อำนาจทางการเมืองนั้นตกอยู่ในกำมือของพวกนักการเมืองกระฎุมพี สิทธิทางการเมืองใดๆก็คงไม่อาจจะช่วยเหลือแรงงานหญิงจากตำแหน่งแห่งที่ของการเป็นทาสในบ้านและครอบครัวตามธรรมเนียมได้  ชนชั้นกระฎุมพีฝรั่งเศสนั้นพร้อมจะสาดซุปใส่ชนชั้นกรรมาชีพ ในการเผชิญหน้ากับการเติบโตทางความคิดแบบพรรคบอลเชวิคเพื่อจะเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งให้กับผู้หญิง

 

ท่านกระฎุมพีทั้งหลาย – มันสายไปเสียแล้ว

หลังผ่านประสบการณ์การปฏิวัติในรัสเซียมาแล้ว มันกลายเป็นสิ่งที่ชัดเจนสำหรับแรงงานหญิงทุกคนในฝรั่งเศส, ในอังกฤษ, และในทุกๆทุกประเทศทั่วโลกว่า มีเพียงแต่ เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เท่านั้นที่จะสามารถการันตีถึงความสำเร็จและความยั่งยืนของความเสมอภาคเท่าเทียมได้ ชัยชนะอย่างถึงที่สุดของระบบคอมมิวนิสต์จะโค่นล้มและทำลายห่วงโซ่อันคร่ำครึของการกดขี่และการลิดรอนสิทธิ ถ้าหากว่าภารกิจของ “วันกรรมกรสตรี” ในขั้นแรกคือการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมืองเพื่อเข้าไปสู้ในระบบรัฐสภาของกระฎุมพีแล้ว ตอนนี้ชนชั้นแรงงานก็มีภารกิจใหม่นั่นคือภารกิจในการจัดตั้งองค์กรและขบวนการของแรงงานหญิงเพื่อต่อสู้ร่วมกับขบวนการสากลที่ 3 แทนที่จะเข้าร่วมกับการต่อสู้ในรัฐสภาของพวกกระฎุมพี

 

“กรรมกรหญิงในทุกประเทศทั่วโลก! จงร่วมกันสร้างขบวนการกรรมาชีพที่เป็นปึกแผ่นในการต่อสู้กับพวกมันผู้ปล้นชิงโลก! ทำให้มันล่มสลายลงไปพร้อมกับลัทธิรัฐสภานิยมของพวกกระฎุมพี! เรากำลังเรียกหาอำนาจของโซเวียต! ทำลายความไม่เท่าเทียมที่บ่อนทำลายชนชั้นแรงงานทั้งชายและหญิง! เราจะสู้ร่วมกับพี่น้องแรงงานเพื่อชัยชนะของโลกคอมมิวนิสต์!!!”

 

การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นครั้งแรกท่ามกลางการพิจารณาถึงการวางระเบียบใหม่ ในการรบท่ามกลางสงครามการเมือง ซึ่งจะกระทบกระเทือนและฝังแน่นเข้าสู่จิตใจของคนฟังในหลายประเทศ แรงงานหญิงที่ได้รับฟังสิ่งนี้ย่อมจะรับฟังและเชื่อถือว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง จนกระทั่งไม่นานนี้พวกเธอเริ่มคิดว่าการส่งตัวแทนเข้าสู่สภาจะทำให้ชีวิตของเธอดีขึ้น และการกดขี่ในระบบทุนนิยมจะเบาบางลง ในตอนนี้พวกเธอรู้แล้วว่าความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น

มีเพียงการโค่นล้มระบบทุนนิยมและสถาปนารัฐของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นเท่านั้นที่จะสามารถช่วยเหลือแรงงานหญิงจากโลกแห่งความทุกข์ทรมาน ความไร้ศักดิ์ศรีและความไม่เท่าเทียม ที่สร้างคงามยากลำบากในการใช้ชีวิตให้กับแรงงานหญิงภายใต้โลกทุนนิยมลงได้ “วันกรรมกรสตรี” ได้เปลี่ยนผ่านจากการต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองของผู้หญิงกลายมาเป็นวันแห่งการต่อสู้เพื่อปลดแอกสตรีอย่างถึงที่สุด ซึ่งหมายถึงการต่อสู้เพื่อชัยชนะของคอมมิวนิสต์!

 

แปลไทยโดย จักรพล ผลละออ 2018

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่[Young People Today are uniquely radical because Capi
จักรพล ผลละออ
เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้[When Rioting Works]
จักรพล ผลละออ
 ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Be
จักรพล ผลละออ
Covid-19 และระบบทุนนิยมกำลังนำคนนับล้านไปสู่การอดตายCapitalism threatens mass starvationBy Oliver Bro
จักรพล ผลละออ
ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยมWhy I’m a SocialistBY BARRY EI
จักรพล ผลละออ
มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตรExplaining the coming crisis of capitalism
จักรพล ผลละออ
 สังคมนิยมประชาธิปไตย คือเรื่องที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยDemocratic Socialism Is About Democr
จักรพล ผลละออ
แถลงการณ์องค์กรมาร์กซิสต์สากล เนื่องในวันสตรีสากลสหายทั้งห
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)By John H. Munro.
จักรพล ผลละออ
 25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์(The Principles of Communism)By Frederick Engels.