ความสำคัญของมาร์กซิสม์ในปัจจุบัน (The Relevance of Marxism today) [ตอนที่ 1] Alan Woods and Ted Grant (1994)

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

ความสำคัญของมาร์กซิสม์ในปัจจุบัน (The Relevance of Marxism today) [ตอนที่ 1]
Alan Woods and Ted Grant  (1994)


---------------------------------------------
มาจาก : The Relevance of Marxism today 8 มีนาคม 1994
แปลเป็นภาษาไทย : โดย จักรพล ผลละออ 2018

---------------------------------------------

 

ในห้วงเวลาแห่งการเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 นั้นมนุษยชาติเรากำลังเดินมาเผชิญหน้ากับทางแยกสำคัญ ทางหนึ่งนั้นคือความสำเร็จของวิทยาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมที่จะนำทางให้มนุษยชาตินั้นสามารถก้าวไปสู่อนาคตอันเจริญรุ่งเรือง อยู่ดีกินดี และความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนอีกทางหนึ่งนั้นคือมนุษยชาติกำลังเผชิญหน้าอยู่กับการคุกคามที่มีกำลังล่อลวงจิตใจมนุษย์ที่มีช่อเรียกว่า ผลกำไร ; ปัญหาคนว่างงานจำนวนมากที่ควรจะต้องเป็นสิ่งเก่าซึ่งเลือนหายไปนั้นกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งอย่างมหาศาลในประเทศทุนนิยมก้าวหน้า ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาความยากจน โรคระบาด สงคราม และความยากไร้ที่เกิดขึ้นกับประชากรโลกกว่าสองในสามในกลุ่มประเทศซึ่งถูกเรียกว่า “โลกที่สาม”

การทลายกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายลงของระบอบรัฐข้าราชการของสตาลินในรัสเซียและยุโรปตะวันออก (สหภาพโซเวียต) นั้นทำให้ประเทศตะวันตกอยู่ในสภาวะที่ตึงเครียดน้อยลง การล่มสลายของลัทธิสตาลินนิยมนั้นถูกประกาศราวกับเป็น “จุดจบของสังคมนิยม” หนังสือพิมพ์ต่างป่าวประกาศถึง “ชัยชนะอันเด็ดขาดของระบบตลาด” ตลอดแผงหนังสือตั้งแต่ในโตเกียวไปจนกระทั่งถึงนิวยอร์ค นักยุทธศาสตร์และผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมนั้นต่างก็ยินดีปรีดากับเหตุการณ์นี้ นักวิชาการอย่างฟรานซิส ฟุกุยามะ ถึงกับเขียนหนังสือเพื่อประกาศถึง “จุดจบของประวัติศาสตร์” ที่ว่านับแต่นี้เป็นต้นไปนั้นสงครามทางชนชั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว และทุกสิ่งทุกอย่างจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดียิ่งๆขึ้นไปภายใต้โลกทุนนิยม.

 

การโต้กลับทางอุดมการณ์

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เราได้พบเห็นกับการโต้กลับและการต่อต้านความคิดแบบสังคมนิยมในระดับโลกที่รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนภายใต้ระบอบรัฐข้าราชการในตะวันออกนั้นถูกยกขึ้นมาเป็นข้อพิสูจน์และยืนยันถึงความล้มเหลวของแนวคิด “คอมมิวนิสต์” และหมายรวมถึงความล้มเหลวของแนวคิดของมาร์กซ์ด้วย

เราจะอภิปรายถึงการล่มสลายของระบอบสตาลินในภายหลัง สำหรับในตินนี้นั้นการล่มสลายของระบอบสตาลินไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับนักมาร์กซิสต์เลย อันที่จริงแล้ว ลีออน ทรอสกี้ ได้ทำการวิเคราะห์ถึงระบอบรัฐข้าราชการของระบอบสตาลินในสหภาพโซเวียตเอาไว้ตั้งแต่ปี 1903 แล้วรวมถึงได้อภิปรายถึงการล่มสลายอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ของสหภาพโซเวียตเอาไว้อีกด้วย

ในเบื้องแรกนั้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าลัทธิสตาลินนิสม์ และสังคมนิยม (หรือคอมมิวนิสม์) นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ระบอบการปกครองในสหภาพโซเวียตยุคสตาลินและในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นบริวารนั้นเป็นระบอบการปกครองที่ต่อต้านและคัดง้างกับแนวคิดสังคมนิยมเสียด้วยซ้ำ ดังเช่นที่ทรอสกี้ได้อธิบายว่าระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนภายในประเทศนั้นต้องการกระบวนการประชาธิปไตยในการวางแผนการผลิตเสมอเหมือนกับร่างกายมนุษย์ที่ต้องการออกซิเจน หากปราศจากการควบคุมและการบริหารของชนชั้นแรงงานผ่านกระบวนการประชาธิปไตยแล้ว ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนภายในประเทศนั้นย่อมจะถูกยึดเอาไปอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในรัฐสมัยใหม่ที่มีระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและวุ่นวาย ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียที่ตกต่ำลงนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ภายหลังจากการประสบความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนในยุคของเลนิน

อย่างไรก็ตามมันยังมีข้อวิจารณ์ที่กลุ่มประเทศตะวันตกวิจารณ์แนวคิดมาร์กซิสม์ว่าการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากระบบตลาดของทุนนิยมไปสู่การใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาแต่อย่างไร หากแต่กลับเป็นสาเหตุให้เกิดความดักดานทางสังคม และความวินาศทางเศรษฐกิจแทน

เป็นความจริงที่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของโซเวียตนั้นหยุดนิ่งไปในยุคของเบรจเนฟ แต่ว่าคำถามคือสถานการณ์ในตอนนี้เป็นอย่างไร? มันแตกต่างออกไปหรือไม่? ซึ่งความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นก็คือดัชนีทุกตัวนั้นได้แสดงให้เห็นข้อมูลของการถดถอยอย่างเป็นประวัติการณ์ในทุกมิติ ถ้าหากเราพิจารณาดัชนีในช่วงสามปีสุดท้ายที่ผ่านมา จะเห็นว่าตัวเลขนั้นได้แสดงถึงความถดถอยด้านอุตสาหกรรมการผลิตของรัสเซียที่มีกว่า 40-45% นี่คือสัญญาณของการล่มสลาย – ซึ่งหนักยิ่งกว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 1929-1932 เสียอีก การลงทุนนั้นลดลงถึง 45% ในปี 1992 ก่อนจะตกลงอีก 12% ในปี 1993 และยังคงตกต่ำลงเรื่อยมา ภาวะเงินเฟ้อนั้นก็ขยายตัวขึ้นกว่า 20% ในทุกๆเดือนในกลางปี 1993 ค่าเงินรูเบิ้ลของรัสเซียนั้นก็ตกลงอย่างมากจนอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1,250 รูเบิ้ลต่อ 1 ดอลลาห์

สถานการณ์เช่นนี้นั้นสามารถเทียบได้กับสถานการณ์ภายหลังความพ่ายแพ้ในสงคราม ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และทำให้มวลชนต้องกลับไปใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ซึ่งสามารถจะแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและการเสื่อมสภาพอย่างฉับพลันของชีวิต

หากแต่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนนั้น ประชาชนต่างก็มีเสพย์สุขอยู่กับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษาในระดับสูงที่ทัดเทียมกับประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว แล้วสภาพในตอนนี้เป็นอย่างไร?

หนังสือพิมพ์ The Financial Times ฉบับวันที่ 14/2/94 ได้พาดหัวในหน้าหนึ่งว่า “รัสเซียกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตด้านประชากรจากอัตราการตายที่พุ่งสูงขึ้น” เนื้อหาของบทความนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า “เฉพาะในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตของประชากรนั้นพุ่งสูงขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็น หรือราวๆ 360,000 ราย ซึ่งสูงยิ่งกว่าในปี 1992 ผลงานวิจัยนั้นเชื่อว่าค่าเฉลี่ยอายุประชากรเพศชายของรัสเซียนั้นอยู่ที่ 59 ปี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรในประเทศอุตสาหกรรม และต่ำกว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยขั้นต่ำสุดของรัสเซียในช่วงก่อนทศวรรษ 1960 เสียอีก”

ตัวเลขเหล่านี้นั้นเพียงแต่ยืนยันความเป็นจริงให้ประจักษ์เท่านั้นว่าการพยายามดึงดันเอา “ระบบตลาด” เข้ามาใช้กับพลเมืองที่เคยชินกับระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมของโซเวียตนั้นจะส่งผลออกมาให้เกิดความหายนะอย่างยิ่งยวด เป็นการทำลายรากฐานกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ตกต่ำลง และลากให้สังคมทั้งองคาพยพลงไปสู่ความหายนะ

แน่นอนว่า ผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมนั้นย่อมจะให้ข้อแก้ตัวว่าสถานการณ์ความตกต่ำแบบดังกล่าวนั้นจะคงอยู่เพียงชั่วคราว และ “ในระยะยาว” นั้นระบบตลาดย่อมจะนำพาสังคมไปสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน ซึ่งเราอาจจะโต้ตอบข้อแก้ตัวเหล่านี้กลับไปได้ทันทีโดยืยมคำของเคนส์ว่า : “ในระยะยาวแล้ว พวกเราย่อมจะตายกันหมด”

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สื่อตะวันตกนั้นได้โฆษณาและทำนายถึงอนาคตอย่างมั่นอกมั่นใจว่าระบบทุนนิยมนั้นจะนำพาสังคมไปสู่ยุคสมัยใหม่แห่งความสำเร็จและความเฟื่องฟูของระบบเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง ด้วยรากฐานของตลาดใหม่ในรัสเซียและยุโรปตะวันออก อย่างไรก็ตามภาพมายาเหล่านี้ได้ถูกทำลายลงให้แตกเป็นเสี่ยงๆจากความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้น ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น “ตลาด” ของมันไม่ได้สนใจถึงขนาดหรือปริมาณของประชากร เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วอินเดียและแอฟริกาย่อมจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลกแน่ หากแต่ระบบตลาดนั้นให้ความสำคัญและถูกกำหนดจากพลังในการซื้อ อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้นั้นยังห่างไกลจากการเป็นตลาดใหม่ให้กับระบบทุนนิยม ในทางกลับกันนั้นมันกลับเป็นอุปสรรคและปัจจัยอันใหญ่หลวงที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นกับระบบ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศยูโกสลาเวียและอดีตประเทศสมาชิกสหภาพโซเวียต.