มาร์กซิสม์ : ความหมาย, ลักษณะ และหลักการ (Marxism: Meaning, Features and Principles)

 

มาร์กซิสม์ : ความหมาย, ลักษณะ และหลักการ

(Marxism: Meaning, Features and Principles)

By Monalisa M. Translated by Jakkapon P.

 

ความหมายของมาร์กซิสม์ (Marxism)

ตลอดช่วงชีวิตของมาร์กซ์ (Marx) ระหว่างปี ค.ศ. 1818-1883 นั้น มาร์กซ์ยังไม่คุ้นเคยนักกับคำว่ามาร์กซิสม์ (Marxism) จนกระทั่งภายหลังการเสียชีวิตของเขา เองเกล (Engel) และผู้ที่สนับสนุนแนวคิดของมาร์กซ์จึงหยิบเอาคำนี้มาใช้และนับแต่นั้นมาคำว่ามาร์กซิสม์ก็ถูกใช้กันโดยทั่วไป

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือครั้งหนึ่งนั้นมาร์กซ์เคยกล่าวเอาไว้ว่า “เท่าที่ผมทราบก็คือตัวผมนั้นไม่ใช่นักมาร์กซิสต์” หากแต่ในขณะเดียวกันนั้นเราก็ไม่สามารถจะสรุปเอาอย่างมักง่ายได้ว่ามาร์กซ์นั้นปฏิเสธหลักคำสอนสำคัญของเขา ผู้ที่ตีความมาร์กซิสม์นั้นกล่าวว่ามาร์กซ์ไม่เคยกล่าวอ้างว่าตัวเองได้นำเสนอมุมมองที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่มีต่อโลก

มาร์กซ์นั้นศึกษาเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองจากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐทุนนิยม และในรากฐานทางงานศึกษาของเขานั้น มาร์กซ์ได้ร่างข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นมา และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังข้อสรุปดังกล่าวนั้นก็คือความจริง แน่นอนว่ามาร์กซ์เองก็เป็นผู้ที่ตีความความจริงและเงื่อนไขทางสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจ

ในความหมายโดยทั่วไปแล้วมาร์กซิสม์นั้นหมายถึงโลกทัศน์หรือมุมมองของเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง มาร์กซ์นั้นได้ตีความความจริงที่ตัวเขานั้นได้รวบรวมเอาไว้เป็นฐานเบื้องหลังสำหรับความคิดที่เฉพาะเจาะจงของเขาหรือสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่าเป็นปรัชญา นี่คือสิ่งที่เราเรียกมันว่ามาร์กซิสม์

 

ซึ่งเราจะขออ้างถึงข้อเขียนของเพลคานอฟ (Plekhanov) ที่เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ดังนี้

“มาร์กซิสม์นั้นคือมุมมองที่มีต่อโลกแบบองค์รวม และมุมมองดังกล่าวนี้ได้ถูกอธิบายเอาไว้ด้วยมรรควิธี (method) หรือหลักการ (principle) ที่เราเรียกกันว่า วัตถุนิยมวิภาษวิธี (dialectical materialism)

มาร์กซ์นั้นได้อธิบายและตีความเศรษฐศาสตร์การเมือง (political economy) ของโลกทุนนิยมทั้งหมดเอาไว้ และไปถึงการเสนอข้อสรุปที่ว่าชนชั้นที่มีกำลังอำนาจทางเศรษฐกิจที่สุดคือชนชั้นนาบทุนนั้นได้ทำการขูดรีดสังคมทั้งมวลเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง มาร์กซ์นั้นไม่เพียงแต่จะเปิดเผยให้เห็นความเป็นจริงของการขูดรีด หากแต่ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่เราจะต้องต่อต้านกระบวนการขูดรีดนี้อย่างดุดัน

ชนชั้นกรรมาชีพ (the proletariat class) นั้นคือเหยื่อของระบบการขูดรีด (exploitation) และโดยธรรมชาติแล้วชนชั้นนี้ย่อมจะเป็นผู้เริ่มต้นต่อต้านการขูดรีด และมรรควิธีของการต่อสู้นี้ก็คือการปฏิวัติ (revolutionary) ดังนั้นมาร์กซิสม์จึงประกอบไปด้วยมุมมองที่เป็นธรรมชาติและหลากหลายต่อระบบทุนนิยม และกระบวนการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มระบบทุนนิยม มาร์กซ์นั้นได้เขียนอธิบายถึงธรรมชาติของสังคมทุนนิยมในเชิงรายละเอียดและเสนอวิธีการในการต่อต้านมัน

มาร์กซ์นั้นได้เขียนอธิบายถึงธรรมชาติของสังคมทุนนิยมอย่างตระหนักรู้และผู้ที่จะทำการต่อต้านระบบทุนนิยมนั้นก็ย่อมจะต้องกระทำมันไปอย่างมีความตระหนักรู้หรือมีจิตสำนึกเช่นกัน มาร์กซ์อธิบายระบบทุนนิยมด้วยการอาศัยความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์ โดยไม่เคยอาศัยการจินตนาการหรือการสร้างภาพมโนขึ้นมาด้วยเหตุนี้เองมรรควิธีรของมาร์กซิสต์จึงมีลักษณะเป็นมรรควิธีแบบวัตถุนิยม (materialist method) รวมถึงมีลักษณะเป็นมรรควิธีแบบวิภาษวิธี (dialectical method) ดังนั้นการตีความประวัติศาสตร์หรือการตีความสังคมกระฎุมพีของมาร์กซิสม์จึงเป็นกระบวนการแบบวัตถุนิยมวิภาษวิธี (dialectical materialism)

มาร์กซิสม์นั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลักสามประการ อันดับแรกนั้นคือปรัชญาวิภาษวิธีที่รับมาจากเฮเกล (Hegel) หากแต่เปลี่ยนผ่านมาเป็นวัตถุนิยมวิภาษวิธี ซึ่งนท้ายที่สุดแล้วได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) ขึ้น

อันดับที่สองมาร์กซิสม์นั้นคือระบบคิดแบบเศรษฐศาสตร์การเมือง (political economy) ซึ่งประกอบไปด้วยทฤษฎีมูลค่าแรงงาน (labour theory of value) และทฤษฎีเรื่องมูลค่าส่วนเกิน (theory of surplus value) ซึ่งมาร์กซ์ได้ร่างข้อสรุปของเขาขึ้นมาผ่านมโนทัศน์ทั้งสองนี้ ทฤษฎีมูลค่าแรงงานนั้นถูกก่อร่างขึ้นครั้งแรกโดยล็อค (Locke)

และอันที่สามซึ่งเป็นอันดับท้ายสุดนั้นมาร์กซิสม์คือทฤษฎีที่ว่าด้วยรัฐและการปฏิวัติ โดยทั่วไปแล้วทั้งสามส่วนที่กล่าวมานี้คือองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของมาร์กซิสม์

ดังนั้นแล้วมาร์กซิสม์จึงเป็นสิ่งที่ประกอบไปด้วย มุมมองเชิงวิพากษ์ที่มีต่อสังคมกระฎุมพีในมิติทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านกรอบการมองแบบวัตถุนิยมวิภาษวิธี คาร์ล คอร์ช (Karl Korsch, 1886-1961) นักมาร์กซิสต์ชาวเยอรมันได้ให้คำนิยามใหม่แก่มาร์กซิสม์เอาไว้ในบทความของเขาซึ่งเผยแพร่ในปี 1935 โดยตั้งชื่อบทความนั้นว่า “ทำไมผมจึงเป็นมาร์กซิสต์” (Why I am a Marxist)

 

ลักษณะของมาร์กซิสม์

ตามความเห็นของคอร์ช (Korsch) แล้วมาร์กซิสม์นั้นมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้

1.หลักคำสอนทั้งหมดของมาร์กซิสม์นั้นเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงและไม่ใช่เรื่องโดยทั่วไป มันไม่ใช่การสถาปนาทฤษฎีอันดาษดื่นที่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกที่โดยไม่มีการปรับเปลี่ยน มโนทัศน์ของมาร์กซ์เรื่อง “โครงสร้างส่วนล่าง” (base) และ “โครงสร้างส่วนบน (superstructure) นั้นคือมโนทัศน์ที่แท้จริง หากแต่การนำมโนทัศน์เหล่านี้ไปใช้ก็ย่อมจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ และคำอธิบายซึ่งถูกต้องและมีความเป็นเอกลักษณ์นั้นย่อมจะแตกต่างกันไปตามปรากฏการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละลำดับขั้นของประวัติศาสตร์”

2.มาร์กซิสม์นั้นไม่ใช่ทั้งศาสตร์ (science) หรือปรัชญา (philosophy) หากแต่มันเป็นการวิพากษ์และการวิเคราะห์เชิงปฏิบัติที่มีต่อสังคมที่ดำรงอยู่ เราอาจจะเรียกมันอย่างง่ายได้ว่ามันคือการปฏิบัติ (praxis) มาร์กซิสม์นั้นวางรากฐานตนเองอยู่บนองค์ความรู้ที่แน่นอนและตรวจสอบได้ ซึ่งมันสามารถถูกตรวจสอบความถูกต้องในเชิงประจักษ์หรือตรวจสอบความถูกต้องได้ ดังนั้นเองมาร์กซิสม์จึงเป็นหลักทฤษฎีในเชิงประจักษ์

3.ประเด็นแกนกลางของมาร์กซิสม์นั้นคือสังคมทุนนิยม ซึ่งมาร์กซ์นั้นได้วิเคราะห์สังคมทุนนิยมในทุกมิติและทุกมุมมองผ่านการมองแบบวัตถุนิยมวิภาษวิธี

4.เป้าประสงค์สูงสุดของมาร์กซิสม์นั้นไม่ใช่เพียงแค่การอธิบายหรือวิเคราะห์สังคมทุนนิยม หากแต่คือการเปลี่ยนแปลงมัน ดังเช่นที่มาร์กซ์ได้กล่าวเอาไว้ว่า นักปรัชญานั้นเอาแต่เพียงตีความโลกไปต่างๆนานา หากแต่ภารกิจที่แท้จริงนั้นคือการเปลี่ยนแปลงโลกหรือสังคมต่างหาก

ในประเทศโลกที่สามนั้นมาร์กซิสม์ถือเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช จนกระทั่งถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ มาร์กซิสม์นั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในหัวใจสำคัญของความคิดในการต่อต้านนายทุน และ ต่อต้านการขูดรีด ในช่วงทศวรรษที่ห้าสิบ ถึงหกสิบในช่วงศตวรรษที่ผ่านมานี้ทั้งเอเชียและแอฟริกาก็ก้าวเข้าสู่การต่อสู้เพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม (anti-imperialism) โดยที่ผู้นำของขบวนการเคลื่อนไหวนั้นต่างก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากมาร์กซิสม์

ในหลายๆกรณีนั้นมาร์กซิสม์ถูกให้ความหมายว่ามีลักษณะตรงกันกับการต่อต้านจักรวรรดินิยม การการต่อต้านการล่าอาณานิคม ในแง่ของมาร์กซิสม์ (ในบางขอบเขตของกลุ่มมาร์กซิสม์ดั้งเดิม – orthodox Marxism) คำถามหรือปมปัญหาเรื่องอาณานิคมและจักรวรรดินิยมนั้นได้ถูกนำมาตีความใหม่และนำไปสู่การขยายขอบเขตเรื่องนี้เข้าไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งในความหมายและคำอธิบายของมาร์กซิสม์ด้วย

กล่าวอย่างเจาะจงลงไปในกรณีปมปัญหาเรื่องอาณานิคมและรัฐชาติของเลนินนั้นได้อธิบายมันออกมาในแง่มุมแบบมาร์กซิสม์ ความไม่บริบูรณ์และการสมรู้ร่วมคิดกันของกลุ่มอำนาจจักรวรรดินิยมนั้นไม่เพียงแต่ถูกตีความอยู่ในฐานะฐานเบื้องหลังของมาร์กซิสม์เท่านั้นหากแต่มาร์กซิสม์นั้นถูกนับได้ว่าเป็นอาวุธที่ทรงพลังอย่างยิ่งในการจะต่อสู้กับอำนาจของจักรวรรดินิยม ในแง่นี้เองขอบเขตของมาร์กซิสม์ก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

หลักการพื้นฐานของมาร์กซิสม์

นี่เป็นการเสนอเพื่อยืนยันว่างานเขียนทุกชิ้นของมาร์กซ์นั้นเขียนขึ้นโดยวางตัวอยู่บนหลักการพื้นฐาน และ โคลาคอฟสกี้ (Kolakowsky) ได้นำมันมาอธิบายอย่างแยกย่อยขึ้นดังต่อไปนี้  “มันมีกฎขั้นพื้นฐานที่ชัดเจนและแน่นอนอยู่ภายในทฤษฎีของมาร์กซ์ ซึ่งตัวมาร์กซ์เองนั้นไม่เคยได้นำเสนอออกมา งานเขียนทั้งหมดของเขานั้นจวบจนกระทั่งในหน้าสุดท้ายของหนังสือว่าด้วยทุนนั้นเป็นการยืนยันและอธิบายรายละเอียดถึงความคิดเหล่านี้”

ซึ่งตามความคิดของโคลาคอฟสกี้ (Kolakowsky) นั้นหลักการขั้นพื้นฐานของมาร์กซิสม์มีดังนี้

1.ทั้งเฮเกลและมาร์กซ์นั้นต่างก็ทำงานเพื่อตอบคำถามง่าย – นั่นคือมนุษย์นั้นสามารถประนีประนอมกับตนเอง และกับโลกได้อย่างไร? เฮเกลนั้นเสนอความเห็นที่ว่าความคิดของมนุษย์นั้นได้แสดงตนเองผ่านประวัติศาสตร์และในท้ายที่สุดนั้นทำให้เกิดการตระหนักได้ว่าโลกนี้คืออะไร

การสำนึกขึ้นได้นั้นเป็นความจริง เฮเกลยังคงพูดถึงจิตวิญญาณและมนุษย์นั้นสามารถเข้าใจมันได้ผ่านการสำนึกขึ้นได้ในทางโลก หากแต่มาร์กซ์นั้นไม่เห็นด้วยกับความคิดของเฮเกล ซึ่งมุมมองที่ต่อต้านวิธีคิดของเฮเกลนั้นเริ่มต้นนำเสนอขึ้นโดยฟอยเออร์บาค (Feuerbach) ซึ่งมาร์กซ์ได้รับอิทธิพลมาจากเขา

ตามความคิดของมาร์กซ์นั้นมนุษย์ไม่ได้ยึดโยงตนเองเข้ากับความคิดสัมบูรณ์หรือจิตวิญญาณหากแต่เกี่ยวพันอยู่กับความเป็นจริงที่มีเสถียรภาพ และนี่คือสิ่งที่มาร์กซ์พยายามนำเสนอและอธิบายอยู่ตลอดช่วงชีวิตของเขา

2.ทั้งมาร์กซ์และเฮเกลนั้นมองว่ามนุษย์เป็นผลผลิตจากองค์ความรู้ในตัวเอง และมนุษย์จึงมุ่งหน้าไปสู่การประนีประนอมกับโลก หากแต่มโนทัศน์เรื่ององค์ความรู้ในตนเองของเฮเกลนั้นเกี่ยวพันอยู่กับเรื่องจิตวิญญาณและความคิดสัมบูรณ์ มาร์กซ์ต่อต้านความคิดแบบดังกล่าวและได้นำเสนอความคิดเรื่องความแปลกแยก (alienation) อันโด่งดังขึ้น กล่าวคือมาร์กซ์พยายามที่จะทำความเข้าใจตัวเองหรือโลกรอบตัวเขาผ่านสภาวะความแปลกแยก ทฤษฎีเรื่องความแปลแยกนี่เป็นผลผลิตอันเกิดจากความแปลกแยกในแรงงาน อันที่จริง ความแปลกแยกนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งในทฤษฎีของมาร์กซ์ด้วย

3.ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นมันมีกระบวนการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ซึ่งหมายความว่าแรงงานหนึ่งคนนั้นจะผลิตส่วนประกอบเล็กๆเพียงส่วนหนึ่งของผลผลิตทั้งหมด ระบบทุนนิยมนั้นนำเอาวิธีการแบ่งงานกันทำมาใช้โดยอ้างว่ามันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า หากแต่ผลลัพธ์ที่อันตรายอย่างยิ่งของมันก็คือการทำให้มนุษย์นั้นรู้สึกแปลกแยกออกจากกระบวนการผลิตทั้งหมด และท้ายที่สุดคือทำให้มนุษย์รู้สึกแปลกแยกออกจากสังคม

มนุษย์ในระบบทุนนิยมนั้นถูกเปลี่ยนให้กลายไปเป็นเครื่องจักร ไม่ต้องสงสัยเลยว่าระบบแบ่งงานกันทำนั้นอาจจะช่วยพัฒนาและสร้างความก้าวหน้าให้กับอุตสาหกรรมในสังคมทุนนิยม หากแต่มนุษย์นั้นก็กลายเป็นเหยื่อของผลกระทบจากระบบเช่นกัน และเราจำเป็นต้องย้ำอีกครั้งว่าการสร้างสภาวะความแปลกแยกนี้เป็นส่วนที่ทำให้เกิดการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ (dehumanisation) และตามคำกล่าวของมาร์กซ์แล้วการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์นี้ถือเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดของสังคมทุนนิยม

4.ความหมายโดยทั่วไปของสภาวะความแปลกแยกนั้นมีความหมายคือ “การทำลายมนุษย์ผ่านงานของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างภาพมายาของสิ่งซึ่งเป็นอิสระขึ้น” กระบวนการทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่ประกอบไปด้วยการผลิตและการกระจายสินค้านั้นต่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของแรงงานและนั่นทำให้พวกเขาทำงานโดยไม่ต่างไปจากเครื่องจักร

หรือกล่าวในอีกทางหนึ่งก็คือ แรงงานนั้นแปลกแยกตนเองออกจากกระบวนการผลิตที่สำคัญและจากจุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ ดังนั้นสภาวะความแปลกแยกและการลดทอนความเป็นมนุษย์นั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และระบบทุนนิยมทั้งมวลนั้นคือสิ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการดังกล่าวขึ้นมา

5.ในความเห็นของมาร์กซ์นั้น เมื่อสภาวะความแปลกแยกคือปิศาจที่เลวร้ายที่สุดของระบบทุนนิยม ซึ่งชนชั้นแรงงานจำเป็นจะต้องปลดแอกตนเองออกจากปิศาจตนนี้ หากแต่มาร์กซ์ก็ได้ย้ำเตือนเราว่ามันไม่มีหนทางใดที่ปัจเจกบุคคลจะปลดแอกตนเองออกจากสภาวะความแปลกแยกได้ เพราะมันเป็นหัวใจสำคัญของระบบทุนนิยม

หนทางเดียวที่จะสามารถปลดแอกได้ก็คือการทำลายต้นตอของสภาวะความแปลกแยกนี้ลงเสีย หากแต่ในระบบทุนนิยมแล้วนั้นมันไม่มีความเป็นไปได้หรือโอกาสใดๆที่จะปลดปล่อยมนุษย์ออกจากสภาวะความแปลกแยกได้

6.ถ้าหากเรายึดตามความคิดเชิงวิพากษ์ของมาร์กซ์แล้วเราย่อมจะเห็นว่าหนทางเดียวที่จะปลดปล่อยมนุษย์ออกจากสภาวะความแปลกแยกได้นั้นก็คือการสถาปนาระบบคอมมิวนิสต์หรือสังคมคอมมิวนิสต์ขึ้น

ซึ่งเราจะขอยกคำกล่างของ โคลาคอฟสกี้ (Kolakowsky) มาแสดงให้เห็นดังนี้

“คอมมิวนิสต์นั้นเป็นสิ่งที่จะยุติระบบการแบ่งเวลาชีวิตเป็นเวลาสาธารณะและเวลาส่วนตัว และยุติความแตกต่างระหว่างพื้นที่ของรัฐกับประชาสังคมลง อันเนื่องจากสังคมคอมมิวนิสต์นั้นไม่ต้องการสถาบันทางการเมือง อำนาจทางการเมือง และรัฐบาล รวมถึงระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและผลพวงของมันที่ทำให้เกิดระบบแบ่งงานกันทำ สังคมคอมมิวนิสต์นั้นจะทำลายระบบชนชั้นและการขูดรีดลง”

ดังนั้นแล้วการกำเนิดขึ้นของสังคมคอมมิวนิสต์และการสูญสลายของสภาวะความแปลกแยกย่อมจะเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการมีชัยชนะเหนือสภาวะความแปลกแยกและการกำเนิดสังคมคอมมิวนิสต์นั้นเป็นสิ่งที่คล้ายกัน การสถาปนาสังคมคอมมิวนิสต์นั้นจะเป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างสมบูรณ์ที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์

7.มีเพียงแต่ในสังคมคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่มนุษย์นั้นจะสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาความสามารถและคุณสมบัติของตนเองได้และนั่นจะทำให้มนุษย์มีสถานะการดำรงอยู่ที่สมบูรณ์สูงสุด ขณะที่ในสังคมทุนนิยมนั้นมนุษย์ต่างก็ถูกกีดกันและลิดรอนสิทธิ์เหล่านี้

ระบบทุนนิยมนั้นนิยมการปราบปรามมนุษย์ หากแต่ในสังคมคอมมิวนิสต์พวกเขาย่อมได้รับโอกาสอย่างเต็มที่ในการจะพัฒนาตนเอง และสามารถจะกระทำตามความปรารถนาของตนเองได้อย่งอิสระ และมีเพียงแต่สังคมคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่จะปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากการขูดรีดและความเป็นทาสในทุกรูปแบบ

คอมมิวนิสต์นั้นจะสร้างบรรยากาศที่ทำให้มั่นใจได้ว่า “มันจะมีการเกิดความเป็นอิสระขึ้นจากแท้จริง ไม่เพียงแต่ความเป็นอิสระจากการขูดรีดและอำนาจทางการเมืองหากแต่จะเป็นอิสระจากความต้องการขั้นพื้นฐานทั้งมวล นี่คือกระบวนการในการแก้ไขปัญหาของประวัติศาสตร์และยังถือเป็นจุดจบของประวัติศาสตร์อีกด้วย”

8.นักสังคมนิยมเพ้อฝัน “จินตนาการ” ว่าคอมมิวนิสต์นั้นน่าจะเป็นระบบที่เกิดขึ้นได้จากการต่อรองและร้องขอเอาจากนายทุน หากแต่มาร์กซ์นั้นไม่ยอมรับความคิดดังกล่าว มาร์กซ์เชื่อว่ามีแต่เพียงการต่อสู้อย่างเด็ดขาดกับพวกกระฎุมพีเท่านั้นที่จะทำให้สังคมคอมมิวนิสต์สามารถถือกำเนิดขึ้นมาได้ ในความเห็นของมาร์กซ์นั้นช่วงสมัยของเขา (1845-1883) นั้นถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งแล้วสำหรับการต่อสู้อย่างเข้มข้น

นี่ถือเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นแรงงานที่จะนำความคิดของมาร์กซ์ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในสังคมทุนนิยมนั้นได้เดินทางมาถึงสภาวะสุกงอมของมันแล้ว มันได้เดินทางมาถึงการลดทอนคุณค่าของมนุษย์ลงอย่างถึงขีดสุดเกินกว่าที่เราจะสามารถทนยอมรับได้

แรงงานนั้นจะต้องไม่มีค่าเพียงแค่สินค้า แรงงานนั้นไม่เคยได้รับการยอมรับในฐานะของมนุษย์เลย หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ นายทุนนั้นมองว่าแรงงานคือสินค้าแบบหนึ่ง นี่คือความอัปยศอดสูอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนและมีเพียงแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้ และเพื่อจะสถาปนาสังคมคอมมิวนิสต์ขึ้นนั้นชนชั้นแรงงานจำเป็นจะต้องรวมตัวกันเพื่อต่อสู้

โคลาคอฟสกี้ (Kolakowsky) นั้นกล่าวไว้ว่า

“ชนชั้นกรรมาชีพนั้นไม่ใช่เพียงแค่การรวมตัวกันของผู้ทุกข์ทรมาน ผู้ไร้ยศถาบรรดาศักดิ์ และผู้ขัดสน หากแต่ยังเป็นเครื่องมือทางประวัติศาสตร์ที่มนุษย์จะหยิบใช้เพื่อฟื้นฟูและสร้างความรุ่งเรืองให้กับสังคมมนุษย์”

9.มาร์กซ์ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนในเรื่องจิตสำนึก (consciousness) มาร์กซ์กล่าวว่าจิตสำนึกของชนชั้นกรรมาชีพนั้นไม่ใช่ทั้งหมด กล่าวคือ จิตสำนึกนั้นสามารถจะอยู่ในรูปแบบที่ไม่ดิ้นรน (passive) หรือกระตือรือร้น (active) ก็ได้ ถ้าหากว่าจิตสำนึกที่ปรากฏอยู่นั้นเป็นจิตสำนึกแบบเก่าการปลดแอกตนเองจากระบบของการขูดรีดย่อมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะจิตสำนึกที่ไม่ดิ้นรนนั้นย่อมจะไม่สามารถทำการปลดแอกหรือทำภารกิจทางประวัติศาสตร์ได้

ดังนั้นจิตสำนึกจึงจำเป็นจะต้องเป็นจิตสำนึกที่กระตือรือร้นและจำเป็นจะต้องมีจิตวิญญาณของการปฏิวัติด้วย ชนชั้นกรรมาชีพนั้นจำเป็นจะต้องตระเตรียมตนเองให้พร้อมรับมืออันตรายทั้งปวง และโดยธรรมชาติแล้วจิตสำนึกในการปฏิวัติ (consciousness of revolutionary) ย่อมจะเป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่การปลดแอก ดังเช่นที่มาร์กซ์กล่าวไว้ว่า หากปราศจากการต่อสู้แล้วมันย่อมไม่มีการปลดแอก

10.มาร์กซ์ยังได้พูดถึงมุมมองที่หลากหลายของจิตสำนึก ตัวอย่างเช่น ชนชั้นกรรมาชีพนั้นย่อมจะตระหนักหรือสำนึกได้ถึงชนชั้นของตนเอง หรือกล่าวคือจะต้องสำนึกได้ถึงความจริงที่ว่ามีเพียงการต่อสู้โค่นล้มชนชั้นกระฎุมทพีเท่านั้นที่เป็นหนทางไปสู่อิสรภาพ หากปราศจากการต่อสู้อย่างยาวนานแล้ว สังคมคอมมิวนิสต์ย่อมจะไม่สามารถกำเนิดขึ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้นสังคมคอมมิวนิสต์จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการอาศัยการต่อสู้อย่างต่อเนื่องด้วยนั่นเอง.