Skip to main content

 

การบริจาคและการกุศลไม่ใช่การแก้ปัญหา
Patrick Stall (2016)

---------------------------------------------
มาจาก : The left can win, 21 ธันวาคม 2016
แปลเป็นภาษาไทย : โดย จักรพล ผลลออ 2017

---------------------------------------------
 

องค์กรการกุศลเอกชนและการบริจาคนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาของระบบทุนนิยมได้

จะมีก็แต่เพียงองค์กรของชนชั้นแรงงานเท่านั้นที่แก้ปัญหาทุนนิยมได้

 

วันหยุดพิเศษได้มาถึงอีกครั้ง ฤดูกาลที่เหล่าอาสาสมัครผู้เห็นใจเพื่อนมนุษย์จะสวมชุดซานต้าครอสออกมายืนสั่นกระดิ่งอยู่ที่หน้าร้านวอลมาร์ทและขอรับบริจาคเพื่อซื้ออาหารมาแจกจ่ายแก่คนจน ซื้อของเล่นจำนวนมากอย่างตุ๊กตาเท็ดดี้แบร์ ไปแจกจ่ายให้กับเด็กยากไร้ ในขณะที่เสียงเพลงคริสมาสต์ คาโรลดังออกจากลำโพงของร้านวอลมาร์ทสลับกับการพูดเชิดชูความดีงามในการบริจาคทรัพย์สินเพื่อช่วยคนยากไร้

ทั้งหมดที่เรากล่าวมานี้มันช่างดูดีและเหมาะสมเสียเหลือเกิน เราถูกกล่อมเกลาตลอดเวลาด้วยภาพของเด็กยากไร้ผู้ไม่สามารถผิงกองไฟอุ่นๆในกลางฤดูหนาวเช่นนี้ซึ่งกำลังอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากเรา  ดังเช่นที่ออสการ์ ไวลด์ได้ให้ข้อคิดเห็นเอาไว้ในงานเรื่อง “The Soul of man under socialism” ที่กล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่ “ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ที่เราจะต้องกระทำการบางอย่าง” จากสภาพความเป็นอยู่ของเพื่อนมนุษย์ที่เราได้เห็น และความรู้สึกบางอย่างที่ทำให้เราต้องกระทำการบางอย่างในทันทีนั่นคือการต่อสู้กับความยากจนและความยากไร้ของเพื่อนมนุษย์ การบริจาคเงิน 1 ดอลลาห์ หรือการบริจาคเงินรายเดือนให้กับองค์กร Oxfam ดูจะเป็นเรื่องเดียวที่เราจะสามารถทำได้

แต่ ออสการ์ก็ได้เขียนไว้เช่นกันว่า “นี่ไม่ใช่วิถีทางในการแก้ปัญหา แต่มันเป็นการทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น” การบริจาคนั้นอาจจะช่วยบรรเทาความรู้สึกทางจิตวิญญาณและบรรเทาความลำบากในชีวิตของคนยากไร้ได้บ้างหากแต่มันก็เป็นไม้ค้ำยันที่ช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ซึ่งทำให้เกิดความยากไร้ดังกล่าวขึ้นมา

แน่นอนว่าการบริจาคหรือการกุศลนั้นช่วยบรรเทาปัญหาลงบ้างแต่มันไม่ได้ช่วยในการแก้ต้นเหตุของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเงิน 1 ดอลลาห์ที่คุณบริจาคเพื่อเคหะสถานชุมชนเพื่อมนุษยธรรม หรือ กองทุนบ้านเอื้ออาทรของบิล เกตท์ เพื่อจะช่วยเหลือคนไร้บ้าน หรือจะในโครงการ “ช่วยเหลือด้านอาหาร” ที่เรียกร้องและสนับสนุนให้ร้านอาหารขนาดใหญ่หรือสถานจัดเลี้ยงร่วมกันบริจาควัตถุดิบหรืออาหารที่เหลือให้กับชนชั้นแรงงานที่ยากไร้ เรื่องเหล่านี้เป็นการบรรเทาปัญหาที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือกระทั่งกล่าวถึงต้นตอของปัญหาเลย

เรื่องเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อารแก้ไขปัญหาความยากจน ถ้าหากเรามีจิตใจเอื้อาทรที่จะมอบอาหารอุ่นๆหนึ่งมื้อ และที่พักอาศัยหนึ่งคืนให้กับผู้ยากไร้ เราก็ควรจะมีความกล้าหาญมากพอที่จะตั้งคำถามว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงยากไร้ หิวโหย และกลายเป็นคนไร้บ้านตั้งแต่แรก?

 

โครงร่างของการทำบุญ

ความยากจนเฉพาะถิ่นนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ในสภาพสังคมมนุษย์ มันเป็นผลลัพธ์แบบเฉพาะเจาะจงจากความสัมพันธ์ทางสังคม : ความสัมพันธ์แบบระบบทุนนิยม

ทุนนิยมนั้นถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 16 ในชนบทของอังกฤษ เมื่อชาวนาถูกขับไล่ออกจากที่ดินของพวกเจ้าที่ดิน นั่นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ผู้คนจะต้องอาศัยระบบตลาดในการดำรงชีวิตอย่างจริงจัง

ตลอดช่วงสองศตวรรษต่อมา ที่ดินของพวกเจ้าที่ดินยังคงถูกล้อมรั้วไว้ และชนชั้นแรงงานถูกบีบบังคับให้ต้องขายกำลังแรงงานเพื่อหนีจากความอดอยาก ตอนนี้เองที่ทุนนิยมอุตสาหกรรมได้ปรากฏตัวขึ้น และด้วยระบบแบบดังกล่าวมันได้ทำให้เกิดความสมบูรณ์ด้านสินค้าชนิดที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน ในระหว่างศควรรษที่ 19 ผลผลิตต่อหัวได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

แต่ระบบทุนนิยมนั้นทำให้เกิดความร่ำรวยแก่กลุ่มบุคคลขนาดเล็กของประชากรทั้งหมดเท่านั้น มีเพียงแต่การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานและพรรคสังคมนิยมเท่านั้นที่จะทำให้ชนชั้นแรงงานสามารถดึงเอาผลประโยชน์บางส่วนที่เกิดจากกำลังแรงงานของพวกเขากลับคืนมาได้บ้าง

ในห้วงเวลาเดียวกันนั้นชาวนาในอังกฤษก็ถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนตัวเองไปเป็นกรรมาชีพในเมือง ขณะที่เด็กๆก็สูญเสียพ่อแม่ของพวกเขาไปในอุบัติเหตุของอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน พวกกระฎุมพีในลอนดอนได้สร้างสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าและโรงพยาบาลรัฐขึ้น ในช่วงศตวรรษที่ 19 นี่เองที่มีการก่อตั้งสถานเอื้อาทรสำหรับผู้พิการและโรงทานสำหรับแจกจ่ายอาหารขึ้น แต่ขณะเดียวกันนั้นพวกกระฎุมพีก็ไม่ได้พยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นเลย

และพวกกระฎุมพีก็ยังคงวางเฉยต่อโครงสร้างดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ดังที่เราจะเห็นได้ในปีที่ผ่านมา เด็กอเมริกันมากกว่าหนึ่งในห้านั้นไม่มีอาหารสำรองในบ้าน มีคนจำนวนหลายแสนเป็นคนไร้บ้านที่ต้องอาศัยอยู่ตามใต้สะพานหรือค่ายและที่พักอาศัยชั่วคราว ขณะที่ผู้คนนับล้านต้องอาศัยอยู่ภายในรถยนต์ของตัวเอง ในระดับโลกนั้นมีผู้คนจำนวนสามล้านคนที่ได้รับค่าแรงน้อยกว่า 2.50$ ต่อวัน ประชากรหนึ่งในแปดของโลกถูกทิ้งให้เผชิญความอดอยากและต้องนอนรอความตาย ในขณะที่มูลค่าของตลาดหุ้นนั้นเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้นก็มีผู้คนกว่า 21,000 คนที่ต้องจบชีวิตลงในทุกๆวันเพราะความหิวและความอดอยาก

สถานการร์ที่น่ากังวลนี้ไม่ได้เลือนหายไปด้วยการบริจาคและความใจบุญสุนทาน ดังจะเห็นได้จากในสหรัฐอเมริกาที่ยังคงมีปัญหาเหล่านี้อยู่แม้ว่าจะมีองค์กรการกุศลมากกว่าสองแสนแห่ง

และแม้ว่าอเมริกาจะมียอดบริจาคสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 400 ล้านดอลลาห์ ในปี 2016 อัตราความยากจนในสหรัฐอเมริกาก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเหมือนเดิม

การเพิ่มขึ้นของอัตราความยากจนและการสังคมสงเคราะห์เอกชนนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ George W. Bush ได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนการสงคมสงเคราะห์และการกุศลพร้อมๆกับการปรับลดภาษีของคนรวยลงพร้อมๆกับปรับลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของรัฐ

ในขณะเดียวกันนั้นผลการสำรวจอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเป้าหมายในการพัฒนาตลอดสหัสวรรษนั้นค่อนข้างน่าแปลกใจ องค์กรสหประชาติได้บันทึกเอาไว้ว่าแม้กลุ่มสังคมสงเคราะห์เหล่านี้จะช่วยให้อัตราส่วนผู้ที่ต้องตายจากความหิวโหยและขาดแคลนอาหารลดลง แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

สำหรับบรรดากลุ่มทุนต่างๆแล้ว นี่ไม่ใช่ปัญหาที่น่าหนักใจเท่าไหร่ เพราะโดยทั่วไปแล้วบริษัทหรือกลุ่มทุนต่างๆมักจะแสร้งทำเป็นสนใจในปัญหาทางสังคมหรือแสดงความเห็นอกเห็นใจเพื่อส่งเสริมคุณค่าของตัวเอง

การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นทางเลือกที่อันตรายอย่างยิ่งต่อเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐในด้านที่พักอาศัยสำหรับคนไร้บ้าน สาธารณสุข และการศึกษา การกระทำดังกล่าวไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากการฉวยโอกาสที่พยายามขัดเกลาภาพของธุรกิจและกลุ่มทุนให้กลายเป็นผู้ช่วยเหลือสังคม ความมีเมตตาของกลุ่มทุนบริษัทต่างๆจะไม่มีวันลดลง เช่นเดียวกับปัญหาความอดอยาก คนไร้บ้าน และความยากจนก็จะไม่มีวันลดลงเช่นกัน

ในส่วนของปัจเจกบุคคลนั้น การบริจาคหรือการทำการกุศลตามธรรมเนียมเป็นการทำให้ปัจเจกได้รับทราบถึงความสัมพันธ์ทางลำดับชั้นทางสังคมที่จะมอบสิทธิ์พิเศษบางประการให้กับพวกเขาได้ แทนที่จะสนับสนุนระบบรัฐสวัสดิการที่จะการันตีว่ามนุษย์ทุกคนจะได้รับที่พักอาศัยและอาหารอย่างเท่าเทียมกันตามสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน  ดังนั้นหากไร้รัฐสวัสดิการแล้วคนยากไร้เหล่านี้ย่อมจะต้องอ้อนวอนขอการบริจาคอย่างสุภาพและเทินทูนในตัวผู้บริจาคราวพระเจ้า

อย่างไรก็ตามข้อบกพร่องของระบบรัฐสวัสดิการแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยก็คือการขาดความรอบคอบและความยับยั้งชั่งใจ และการทำให้บรรดาข้าราชการไม่ใช่ผู้ชี้ขาดว่าอะไรคือที่ “สมควร” และ “ไม่สมควร” แต่จะต้องให้การบริการอย่างครอบคลุมคนทั้งประเทศ

การบริจาคและการกุศลนั้นในทางตรงกันข้ามได้สร้างการประนีประนอมระหว่างคนสองกลุ่มขึ้น เราไม่สามารถต่อสู้ร่วมกันกับกลุ่มคนที่เรามองว่าเขาอยู่ต่ำกว่าได้ การแสดงออกที่เหมาะสมสำหรับความยากไร้และปัญหาความยากจนที่อยู่รอบตัวเราจึงไม่ควรเป็นความสงสารหรือเห็นอกเห็นใจแต่ควรเป็นความโกรธ และนั่นจึงจะทำให้เกิดความร่วมมือทางการเมืองขึ้นได้

สิ่งที่เราต้องการคือสังคมที่ไม่บีบบังคับให้ผู้คนต้องมีชีวิตและอาศัยอยู่อย่างอดอยากตามท้องถนน ความยากจนข้นแค้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องมองมันด้วยความสงสารเห็นใจ แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องต่อสู้และทำลายมันลง ผู้รับบริจาคนั้นไม่ได้ต้องการการบริจาคที่มากขึ้น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือองค์กรของชนชั้นแรงงานที่แข็งแกร่ง

 

ฝ่ายซ้ายทางเลือก

ความเป็นจริงที่ว่าการบริจาคหรือการกุศลนั้นเป็นเสมือนแค่ผ้าพันแผลที่ช่วยให้แผลไม่ติดเชื้อหนองแต่ก็ไม่ได้ทำให้แผลหายไปนั้นไม่ได้แปลว่าเราควรจะตัดมันออกในทันที สำหรับตัวผมเองผมได้ทำงานอยู่กับองค์กรโบสถ์คาทอลิคที่ทำงานการกุศลในการบริจาคอาหารให้กับผู้ยากไร้ คนจนเมือง และคนไร้บ้าน

แต่ผมคิดว่าพวกเราทำอะไรได้ดีกว่าและมากกว่าแค่การบริจาคอาหาร ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าองค์กรการกุศลเอกชนนั้นสามารถจะกลายเป็นพาหนะที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้หากมีการเชื่อมโยงกับองค์กรของฝ่ายซ้ายอย่างเหนียวแน่น

ในฤดูร้อนที่ผ่านมาองค์กรของผมได้เข้าร่วมสนับสนุนองค์กรคนไร้บ้านในเมืองต่อต้านการรื้อทำลายแคมป์พักอาศัยของคนไร้บ้านโดยรัฐ นี่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถหยิบใช้องค์กรการกุศลเป็นสถานที่สำหรับพัฒนากลุ่มพลังทางการเมืองได้เช่นกัน

ดังนั้นฝ่ายซ้ายจึงไม่ควรปล่อยมือและยกพื้นที่ของการกุศลให้กับพวกนายทุนและพวกปฏิกิริยาไปเสียทั้งหมด เราควรเข้าไปแทรกแซงและควบคุมองค์กรเหล่านี้เพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการจะพัฒนาองค์กรการกุศลเหล่านี้ไปสู่การเป็นองค์กรทางการเมืองที่จะมุ่งหน้าไปสู่การทำลายเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความยากจนขึ้น

ดังนั้นในห้วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองคริสมาสต์นี้ อย่าได้ทำเพียงบริจาคเงินให้กับองค์กร Oxfam หรือไปเป็นอาสาสมัครแจกจ่ายอาหารเฉยๆเท่านั้น แต่ท่านต้องเตรียมจิตใจให้เข้มแข็งและเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างการต่อสู้ทางการเมืองที่ต่อเนื่องต่อไปด้วย.

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ : ความหมาย, ลักษณะ และหลักการ(Marxism: Meaning, Features a
จักรพล ผลละออ
 สภาพวิสัยAntonio Gramsci 1917
จักรพล ผลละออ
 สหภาพแรงงาน : อดีต ปัจจุบัน และอนาคตคาร์ล มาร
จักรพล ผลละออ
 หนังสือพิมพ์และชนชั้นแรงงานAntonio Gramsci 1916
จักรพล ผลละออ
 วันแรกแห่งเดือนพฤษภา : สัญลักษณ์แห่งยุคใหม่และการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานNestor Makhno (1928) 
จักรพล ผลละออ
 สุนทรพจน์ในวันกรรมกรสากลครั้งแรก (ฉบับย่อ)
จักรพล ผลละออ
 วันสตรีสากลAlexandra Kollontai (1920)