Skip to main content

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ althusser glossary

 

อภิธานศัพท์เฉพาะของหลุยส์ อัลธูแซร์

Althusser Glossary

By Ben Brewster. Translated by Jakkapon P.

 

 

นามธรรม (Abstract - abstrait) สำหรับอัลธูแซร์นั้น ความเป็นขั้วตรงข้ามกันในทางทฤษฎีระหว่างความเป็นนามธรรมกับความเป็นรูปธรรมนั้นดำรงอยู่ทั้งสิ้นภายในปริมณฑลของทฤษฎี ความเป็นนามธรรมนั้นคือจุดเริ่มต้นแรกของภาคปฏิบัติการทางทฤษฎี อันถือเป็นหลักการโดยทั่วไปข้อที่ 1 (Generality I) ขณะที่ความเป็นรูปธรรมนั้นถือเป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการ (หลักการโดยทั่วไปข้อที่ 3 – Generality III) มุมมองทางทฤษฎีที่มีร่วมกันซึ่งพิจารณาทฤษฎีในฐานะของความเป็นนามธรรมและมองความเป็นจริงในฐานะของความเป็นรูปธรรมนั้นเป็นลักษณะเฉพาะในงานเขียนของฟอยเออร์บาค (Feuerbach) และในงานของมาร์กซ์ในวัยหนุ่ม

ความแปลกแยก (Alienation – aliénation, Entäusserung) คือมโนทัศน์ทางอุดมการณ์ที่ถูกใช้โดยมาร์ซ์ในงานช่วงแรกของเขาและถูกยกย่องโดยบรรดาสมัครพรรคพวกและลูกศิษย์ของเขาในฐานะของมโนทัศน์ใจกลางของลัทธิมาร์กซิสม์ มาร์กซ์นั้นได้รับเอามโนทัศน์นี้มาจากงานมานุษยวิทยาของฟอยเออร์บาคที่กล่าวถึงการถอดรื้อสภาพของมนุษย์และสังคม ที่แสดงให้เห็นว่าแก่นแท้สารัตถะของมนุษย์นั้นแสดงออกมาให้เห็นต่อเขาเพียงแต่ในรูปแบบอันบิดเบี้ยวของพระเจ้า ซึ่งแม้ว่ามนุษย์นั้นจะเป็นผู้สร้างพระเจ้าขึ้นมาในภาพจินตนาการของเขาที่มาจากสารัตถะของตัวเขาเอง และปรากฏต่อตัวเขาในฐานะของสิ่งที่ดำรงอยู่ภายนอก เป็นสิ่งที่ถือกำเนิดมาก่อน ในทางเดียวกันนั้นมาร์กซ์นั้นหยิบใช้มโนทัศน์นี้เพื่อวิพากษ์รัฐและระบบเศรษฐกิจในฐานะของสิ่งที่ยึดเอาอำนาจในการกำหนดการใช้กำลังแรงงานไปจากมนุษย์ ในงานเขียนช่วงหลังของมาร์กซ์ มโนทัศน์เรื่องความแปลกแยกนี้ไม่ค่อยจะถูกหยิบใช้นัก และหากว่ามันถูกหยิบใช้ขึ้นมามันก็จะอยู่ในรูปแบบของการเสียดสี หรือ ถูกนำมาเสนอด้วยการเปรียบเทียบกับเนื้อหาทางมโนทัศน์แบบอื่น (ตัวอย่างเช่นในงานเรื่อง Capital)

การแตกหักทางญาณวิทยา (Epistemological break – coupure epistémologique) เป็นมโนทัศน์ซึ่งถูกนำเสนอเข้ามาโดย Gaston Bachelard ในงานของเขาเรื่อง La Formation de l’esprit scientifique และสัมพันธ์กับการนำไปใช้ในแง่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิดโดย Canguilhem และ Foucault (ดูเพิ่มเติมในข้อเขียนของอัลธูแซร์เรื่อง Letter to the Translator) มันอธิบายถึงการก้าวกระโดดจากโลกทางความคิดก่อนวิทยาศาสตร์ ไปสู่โลกของความเป็นวิทยาศาสตร์ การก้าวกระโดดนี้เกี่ยวพันอยู่กับการแตกหักอย่างรุนแรงกับรูปแบบและกรอบดั้งเดิมทั้งหมดของความคิดก่อนวิทยาศาสตร์ (อุดมการณ์) และเป็นการสถาปนารูปแบบและกรอบความคิดแบบใหม่ขึ้นมา (ปมปัญหา) อัลธูแซร์ประยุกต์เอามโนทํสน์นี้ไปใช้ในการอธิบายถึงการที่มาร์กซ์ปฏิเสธความคิดของเฮเกลและฟอยเออร์บาคที่เป็นอุดมการณ์ในวัยหนุ่มของเขา และอธิบายถึงการสถาปนามโนทัศน์พื้นฐานของปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธีและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ในงานช่วงหลังของเขา

ความเป็นเหตุเป็นผลเชิงเส้นตรง, ความเป็นเหตุเป็นผลที่แสดงออก และ ความเป็นเหตุเป็นผลเชิงโครงสร้าง (Causality, Linear, Expressive and Structural – causalité linéaire, expressive et structurale) ในขณะที่ทฤษฎีคลาสสิกเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลนั้นมีเพียงสองตัวแบบ นั่นคือ ตัวแบบความเป็นเหตุเป็นผลแบบเส้นตรง (การเปลี่ยนผ่านทางตรง, การทำงานเชิงกลไก) ซึ่งทำแต่เพียงอธิบายถึงผลกระทบที่เกิดจากต้นกำเนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อสิ่งอื่น และ ตัวแบบความเป็นเหตุเป็นผลที่แสดงออก (อันตวิทยา - teleological) ซึ่งสามารถอธิบายถึงผลกระทบของสิ่งต่างๆทั้งหมดในอดีต หากแต่เป็นเพียงการอธิบายถึง ‘สิ่งที่แสดงออกมา’ ภายหลังสิ่งที่เกิดมาก่อน เป็นการอธิบายถึงปรากฏการณ์ของแก่นแท้ของตัวมันเอง แต่ทฤษฎีมาร์กซิสต์นั้นได้นำเสนอมโนทัศน์ใหม่ว่าด้วยผลกระทบที่เกิดจากสิ่งในอดีตทั้งหมด ในฐานะของการอธิบายผ่านโครงสร้าง เป็นการให้ความเป็นเหตุเป็นผลที่ซับซ้อน ที่กล่าวถึงความซับซ้อนองค์รวมทั้งหมดของโครงสร้างภายใต้การครองอำนาจเหนือนั้นเป็นโครงสร้างของผลกระทบพร้อมด้วย มูลเหตุอันเลื่อนลอยในปัจจุบัน มูลตุของผลกระทบนั้นเป็นการจัดระเบียบอันซับซ้อนทั้งหมด เป็น ความเลื่อนลอยในปัจจุบัน ในระบบเศรษฐกิจ, การเมือง, อุดมการณ์ และองค์ความรู้ของโครงสร้างทั้งมวล บ่อยครั้งที่มาร์กซ์นั้นโดยตัวเขาเองได้หยิบใช้การเปรียบเทียบอุปมาอุปมัยของ ภาพแสดงตัวแทน (Darstellung – representation, mise en scène) อุดมการณ์แบบประจักษ์นิยมนั้นมองการกระทำและผลกระทบบนพื้นที่ที่มันแสดงอยู่ และเชื่อว่าพวกเขานั้นกำลังมองเห็นภาพคัดลอกที่ซื่อตรงของความเป็นจริง และตระหนักรู้โดยตัวเองและอคติทางความคิดของตนเองในกระจกซึ่งถูกนำขึ้นมาสู่พวกเขาโดยการแสดง ความคิดแบบผู้นิยมเฮเกลได้ตรวจพบพระหัตถ์ของพระเจ้าหรือจิตวิญญาณที่เป็นผู้เขียนบทและกำกับการแสดงทั้งหมด แต่สำหรับนักมาร์กซิสต์นั้นในทางตรงกันข้ามพวกเขามองว่าโลกนี้คือโรงละคร หากแต่เป็นโรงละครที่ไม่ได้แสดงให้เห็นทั้งความเป็นจริงธรรมดาหรือข้อเท็จจริงที่เหนือธรรมชาติใดๆออกมา มันเป็นโรงละครที่ปราศจากผู้เรียบเรียง เป้าประสงค์หลักของวิทยาศาสตร์นี้คือลัทธิกลไกซึ่งผลิตสร้างผลกระทบออกมา

การผสมผสาน/การควบรวม (Combination/Combinatory – combination, Verbindung/combinatorie) ทฤษฎีเดียวที่พูดถึงความเป็นองค์รวมซึ่งนำเสนอผ่านงานปรัชญาคลาสสิกในมโนทัศน์ของ Leibnizian ว่าด้วยการแสดงออกขององตค์รวม (expressive totality – totalité expressive) ที่เสนอว่าในแต่ส่วนประกอบนั้นต่า ‘มีส่วนร่วม’ กันอยู่ในแก่นแท้ขององค์รวม ดังนั้นแล้วความเป็นองค์รวมทั้งหมดจึงสามารถถูกอ่านได้ในแต่ละส่วนของส่วนประกอบ ซึ่งถือเป็นส่วนปะกอบทั้งหมด (total part – partes totales) ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ภายใน ความคิดแบบโครงสร้างนิยมสมัยใหม่ได้ผลิตซ้ำอุดมการณ์นี้ขึ้นมาภายในมโนทัศน์เรื่อง การควบรวม อันเป็นการเสนอรูปแบบที่เป็นทางการของความสัมพันธ์และพื้นที่ (ที่ถูกยึดครองโดยเด็ดขาด) ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ในรูปแบบของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันร่วมกับเนื้อหาที่แตกต่างกันในทุกหนทุกแห่งของการก่อรูปทางสังคมและในประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง กล่าวในทางทฤษฎีแล้วการควบรวมนี้จะผลิตโครงสร้างที่เป็นไปได้ทั้งหมดของการก่อรูปทางสังคมขึ้นทั้งในอดีต, ปัจจุบัน และอนาคตซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ตามความสอดคล้องกับโอกาสหรือตามรูปแบบของกฎของการคัดเลือกตามธรรมชาติ ลัทธิมาร์กซิสม์นั้นมีมโนทัศน์อันเด่นชัดที่คล้ายคลึงกันอยู่ซึ่งมีชื่อเรียกว่า การผสมผสาน หรือ การสัมพันธ์ต่อกัน (combination or Verbindung - Marx) การสัมพันธ์ต่อกันนี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามนั้นไม่มีสิ่งใดที่ร่วมกันกับความเป็นระเบียบพิธีของการผสมผสาน มันคือโครงสร้างที่ซับซ้อน เป็นสิ่งซึ่งชัดเจนเป็นเท่าทวี (ในวิถีการผลิต ด้วยความเชื่อมโยงทางพลังการผลิต กับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการผลิต) และสิ่งหนึ่งที่สร้างความพิเศษให้กับเนื้อหาของตัวมันเอง (‘การสนับสนุน’ ของตัวมันเอง) ซึ่งเปลี่ยนแปลงด้วยการเปลี่ยนแปลงในการวิเคราะห์รูปแบบหรือวิถีการผลิต

รูปธรรมในความคิด/รูปธรรมที่แท้จริง (Concrete-in-thought/Real-concrete – concret-de-pensée/concret-réel) ในอุดมการณ์ของฟอยเออร์บาคนั้นความคิดทางนามธรรม หรือทฤษฎีนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเป็นรูปธรรม และความเป็นจริง สำหรับมาร์กซ์ในวัยผู้ใหญ่นั้นเขามองว่าความเป็นนามธรรมทางทฤษฎีและความเป็นรูปธรรมนั้นทั้งสองอย่างนี้ล้วนดำรงอยู่ในความคิดของเราดังเช่นที่กล่าวถึงในหลักการโดยทั่วไปข้อที่ 1 และ 3 (Generalities I and III) รูปธรรมในความคิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกผลิตสร้างขึ้นทั้งหมดในความคิด แต่รูปธรรมที่แท้จริงนั้น ‘ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระภายนอกความคิดทั้งก่อนและหลัง’ (Marx)

สภาพการณ์ปัจจุบัน (Conjuncture - conjoncture) มโนทัศน์ในกลางของศาสตร์ทางการเมืองแบบมาร์กซิสต์ (เลนินเรียกมันว่าเป็น ‘ห้วงเวลาปัจจุบัน’ – ‘current moment’) มันนำเสนอการถอดรื้อให้เห็นภาพของสมดุลทางพลังอำนาจที่แท้จริง แสดงให้เห็นถึงสถานะของการกำหนดที่เหนือกว่าของความขัดแย้งในห้วงเวลาต่างๆที่แน่นอนที่จะทำให้เราสามารถหยิบเอายุทธวิธีทางการเมืองเข้ามาปรับใช้ได้

จิตสำนึก (Consciousness - conscience) เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เรียกขานพื้นที่หรือปริมณฑลที่อุดมการณ์นั้นดำรงอยู่ (‘จิตสำนึกที่ผิดพลาด’) และจะถูกเข้าแทนที่ (‘จิตสำนึกที่แท้จริง’) ซึ่งเจือปนไปด้วยอุดมการณ์ช่วงก่อนมาร์กซิสต์ของมาร์กซ์ในวัยหนุ่ม อันที่จริงอัลธูแซร์นั้นได้โต้แย้งความคิดนี้ เขาเสนอว่าอุดมการณ์นั้นมีลักษณะที่ ไร้จิตสึกนึก อย่างลึกซึ้งที่สุด – มันเป็นโครงสร้างที่กระทำการบีบบังคับต่อมนุษย์จำนวนมากโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ความขัดแย้ง (Contradiction - contradiction) เป็นคำศัพท์ที่ใช้เพื่อการเชื่อมต่อภาคปฏิบัติการเข้าสู่การก่อรูปทางสังคมที่ซับซ้อนทั้งมวล ความขัดแย้งนี้อาจจะมีลักษณะเป็นศัตรูต่อกัน หรือไม่เป็นศัตรูต่อกันก็ได้ซึ่งสอดคลช้องอยู่กับว่าสถานะของการกำหนดที่เหนือกว่าของการก่อรูทางสังคมนั้นอยู่ในลักษณะของการหลอมรวม หรือ การควบแน่น หรือการเข้าแทนที่

การควบแน่น, การเข้าแทนที่ และ การหลอมรวมของความขัดแย้ง (Contradictions, Condensation, Displacement and Fusion of – condensation, déplacement et fusion des contradictions) การควบแน่น และการเข้าแทนที่นั้นถูกใช้โดยฟรอยด์ (Freud) เพื่อชี้วัดวิถีทางทั้งสองรูปแบบของความฝัน-ความคิดว่าถูกแสดงภาพตัวแทนออกมาในรูปแบบของความฝัน-งาน – ด้วยการบีบอัดความฝัน-ความคิดจำนวนมากเข้าไปรวมกันเป็นภาพจินตนาการภาพเดียว หรือด้วยการเปลี่ยนผ่านความเข้มข้นในทางจิตจากภาพจินตนาการหนึ่งไปสู่อีกภาพจินตนาการหนึ่ง อัลธูแซร์ได้หยิบใช้การเปรียบเทียบของกระบวนการการกำหนดที่เหนือกว่าทางจิตวิทยานี้เพื่อถอดรื้อรูปแบบที่แตกต่างกันของการกำหนดที่เหนือกว่าของความขัดแย้งในทฤษฎีประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์ ในห้วงเวลาแห่งความมั่นคงนั้นแก่นแท้หรือสารัตถะของความขัดแย้งของการก่อรูปทางสังคมจะถูกทำให้สมดุลหรือเป็นกลางด้วยการเข้าแทนที่ แต่ในสถานการณ์ของการปฏิวัตินั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตามมันย่อมจะเกิดการควบแน่น หรือการหลอมรวมความขัดแย้งเข้าด้วยจนให้กลายเป็นการระเบิดออกของการปฏิวัติ

การปฏิเสธ (Denegation – dénégation, Vernesnung) ฟรอยด์หยิบใช้คำศัพท์ Vernesnung (ที่แปลตรงตัวเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า negation หรือการปฏิเสธ หากแต่ในที่นี้เลือกใช้คำศัพท์ว่า denegation แทนเพื่อไม่ให้สับสนกับความหมายอันคลุมเครือของ negation แบบเฮเกล) เพื่อเรียกขานถึงการปฏิเสธปลอมอย่างไร้จิตสำนึกด้วยการยอมรับอย่างมีจิตสำนึก หรือในรูปแบบอื่นๆ (ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของลัทธิบูชาสิ่งของ มันมีการปฏิเสธที่กระทำต่อผู้หญิงในฐานะที่เธอไม่มีองคชาติ) ซึ่งคำศัพท์ Vernesnung นี้ถูกแปลมาเป็นภาษาฝรั่งเศสในคำว่า dénégation ซึ่งถือว่าเป็นชุดมโนทัศน์หนึ่งสำหรับพื้นที่ของระบบจิตสำนึกในกลไกนิยมทางจิตทั้งหมด (ความไร้จิตสำนึก) ซึ่งอัลธูแซร์ได้หยิบใช้มันมาเปรียบเทียบกับพื้นที่ของอุดมการณ์ในการก่อรูปทางสังคม บทบาทหน้าที่ของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์นั้นคือวิเคราะห์ (ในความหมายที่เข้มงวดตรงตัว) พลังกลไกที่ทำการผลิตสร้างความตระหนักรู้ทางอุดมการณ์ของความประจักษ์ ข้อเท็จจริงที่แสดงอยู่ เป็นเสมือนการวิเคราะห์ทางจิตที่อธิบายถึงกลไกที่สร้างการตระหนักรู้ผ่านการส่องกระจกของลักษณะอัตลักษณ์แบบการบูชาตนเอง (Narcissistic identification) ที่มีต่อผู้อื่น โครงสร้างการตระหนักรู้แบบมายานี้ ที่มีลักษณะตามแบบอย่างของอุดมการณ์ ได้อธิบายถึงลักษณะแวดวงปิดทางธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกันกับการบรรลุความคาดหวัง (wish-fulfilment – plein-du-désir) ในการวิเคราะห์ เป็นเสมือนกับการบรรลุอุดมการณ์ (ideology fulfillment – plein-de-idéologie) วิทยาศาสตร์และการวิเคราะห์นั้นในอีกทางหนึ่งเป็นระบบเปิดของมโนทัศน์ เพราะมันไม่สามารถจะถูกนิยามได้โดยการเปนียบเทียบเชิงพื้นที่ใดๆเลย

พัฒนาการที่ไม่สม่ำเสมอ (Development, Uneven – développerment inégal) เป็นมโนทัศน์ของเลนินและเหมาเจ๋อตง ที่เสนอว่า การครองอำนาจที่เหนือกว่าของความขัดแย้งทั้งหมดในการก่อรูปทางสังคมนั้นย่อมจะหมายถึงว่ามันย่อมไม่มีสิ่งใดที่พัฒนาไปอย่างเรียบง่ายได้ การครองอำนาจที่เหนือกว่าในรูปแบบที่แตกต่างกัน อยู่ในห้วงเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกันนั้นย่อมจะส่งผลให้เกิดรูปแบบของพัฒนาการทางสังคมที่แตกต่างกัน

วิภาษวิธีของจิตสำนึก (Dialectic of consciousness – dialectique de la conscience) คือวิภาษวิธีแบบเฮเกล หรือวิภาษวิธีแบบใดๆก็ตามที่ห้วงเวลาและองค์ประกอบที่หลากหลายของมันนั้นถูกผลักให้กลายไปเป็นสิ่งอื่นที่อยู่ภายนอกแก่นแท้ หรือกฎภายใน ดังเช่น กรุงโรมในงานเขียนของเฮเกลเรื่อง Philosophy of History ที่ถูกนำเสนอในฐานะที่ว่ากรุงโรมนั้นคือการแสดงออกเชิงรูปธรรมของลักษณะทางกฎหมายที่เป็นนามธรรม ฯลฯ

การเคลื่อนย้าย (Dislocation - décalage) คือปมปัญหาแบบประจักษ์นิยมและประวัติศาสตร์นิยมที่ตั้งสมมุติฐานถึงความสอดคล้องตรงกันแบบหนึ่งต่อหนึ่ง (correspondence biunivoque) ระหว่างมโนทัศน์ของวิทยาศาสตร์กับวัตถุที่เป็นจริงของมัน และความสัมพันธ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่แสดงออกระหว่างบรรดาวัตถุเหล่านี้โดยตัวมันเอง (แม้ว่าบรรดาความสอดคล้องตรงกันนี้อาจจะมีลักษณะโดยตรงหรือโดยอ้อม – กล่าวคือระเบียบของการปรากฏออกมาของมโนทัศน์ในวิทยาศาสตร์นั้นจะต้องดำเนินตามลำดับขั้นทางประวัติศาสตร์ หรือในทางตรงกันข้าม จะต้องดำเนินตามระเบียบที่กลับทิศทาง) อัลธูแซร์โต้แย้งและเสนอว่า ในทางตรงกันข้ามนั้นความสัมพันธ์ระหว่างอุดมการณ์และภาคปฏิบัติการอื่นๆ ระหว่างภาคปฏิบัติการที่แตกต่างกันโดยทั่วไป ระหว่างองค์ประกอบในแต่ละภาคปฏิบัติการ และระหว่างอุดมการณ์กับวิทยาศาสตร์ นั้นในเชิงหลักการแล้ว เป็นความสัมพันธ์ของ การเคลื่อนย้าย ซึ่งถูกทำให้เคลื่อนย้ายด้วยการคำนึงถึงสิ่งอื่น แต่ละสิ่งในความสัมพันธ์นี้ต่างก็มีเวลาและจังหวะในการพัฒนาของตัวเอง ความเป็นองค์รวมนั้นคือทฤษฎีของการประกอบสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน ดังนั้นแล้วมันจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะถูกค้นพบได้ด้วยการสร้าง ‘ส่วนแก่นแท้’ ขึ้นมาผ่านสถาพปัจจุบันของการเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาใดห้วงเวลาหนึ่ง มโนทัศน์เรื่องการเคลื่อนย้ายนี้มีบทบาทเป็นส่วนประกอบสำคัญในทฤษฎีว่าด้วยการเปลี่ยนผ่าน

ลักษณะเชิงคุณภาพอย่างเฉพาะเจาะจง (Effectivity, Specific – efficacité spécifique) นี่คือลักษณะอันโดดเด่นในงานทฤษฎีช่วงหลังของมาร์กซ์ มุมมองที่แตกต่างไปของการก่อรูปทางสังคมนั้นไม่ได้เกี่ยวพันต่อกัน เหมือนกับวิภาษวิธีของจิตสำนึกแบบเฮเกลที่เป็นเสมือนปรากฏการณ์กับแก่นแท้ ที่แต่ละส่วนนั้นมีอิทธิพลอย่างแม่นยำต่อความซับซ้อนองค์รวม หรือมีอิทธิพลต่อโครงสร้างภายใต้การครองอำนาจนำ ดังนั้นแล้วโครงสร้างส่วนบนและโครงสร้างส่วนล่างนั้นไม่ควรจะถูกยอมรับในแบบที่นักมาร์กซิสต์สามานย์ยอมรับมัน นั่นคือยอมรับมันในฐานะของแก่นแท้และปรากฏการณ์ รัฐและอุดมการณ์นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การแดสงออกของระบบเศรษฐกิจ หากแต่มันมีความเป็นอิสระในตัวเองภายในโครงสร้างทั้งหมดที่มีองค์ประกอบหนึ่งนั้นเป็นตัวครองอำนาจนำ แต่การครองอำนาจนำนี้จะถูกกำหนดในวาระด้วยเศรษฐกิจ

ประจักษ์นิยม (Empiricism - empirisme) อัลธูแซร์นั้นหยิบใช้มโนทัศน์ของประจักษ์นิยมอย่างชาญฉลาดเพื่อจะรวบรวมเอา ‘ญาณวิทยา’ ทั้งหมดที่ต่อต้านและเป็นขั้วตรงข้ามกับอัตวิสัยที่ถูกกำหนดไว้จนถึงภาวะวิสัยที่ถูกกำหนดไว้ และเรียกองค์ความรู้ว่าเป็นสิ่งนามธรรมด้วยอัตวิสัยของแก่นแท้ของภาวะวิสัย ดังนั้นแล้วองค์ความรู้ของวัตถุนั้นย่อมจะเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุโดยตัวมันเอง มันยังคงเป็นความจริงที่ว่าอะไรก็ตามที่เป็นธรรมชาติของอัตวิสัย (จิตวิทยา, ประวัติศาสตร์ ฯลฯ) หรือเป็นธรรมชาติของภาวะวิสัย (ความต่อเนื่อง, ความไม่ต่อเนื่อง, การเคลื่อนที่, การหยุดนิ่ง, ฯลฯ) ยังคงอยู่ภายใต้การตั้งคำถาม ดังนั้นการครอบคลุมบรรดาธรรมเนียมทางญาณวิทยาที่เรียกว่า ‘ประจักษ์นิยม’ นี้จึงเป็นการนิยามที่รวบรวมเอางานจิตนิยมแบบคลาสสิกและญาณวิทยาแบบฟอยเออร์บาคและของมาร์กซ์ในวัยหนุ่มเข้ามารวมไว้ด้วยกัน

ลัทธิบูชาสิ่งของ (Fetishism - fétichism) ลัทธิบูชาสิ่งของนั้นเป็นกลไกที่ทำหน้าที่ปกปิดซ่อนเร้าการทำงานที่แท้จริง (การเคลื่อนไหวที่แท้จริง – the real movement – wirkliche Bewegung) ของโครงสร้างที่ครองอำนาจนำในการก่อรูปทางสังคม กล่าวคือ มันเป็นการประกอบสร้างการเคลื่อนที่ระหว่างภาคปฏิบัติการทางอุดมการณ์กับภาคปฏิบัติการอื่นๆ และเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงการหลอกตัวเองทางอัตวิสัย หากแต่เป็นวิถีของการปรากฏตัวของความเป็นจริง (มาร์กซ์เรียกมันว่าเป็นความเป็นจริง - Wirklichkeit) ในวิถีการผลิตแบบทุนนิยมนั้นรู)แบบการทำงานแบบดังกล่าวดำรงอยู่ในรู)แบบของ ลัทธิบูชาสินค้า (fetishism of commodities) กล่าวคือ เป็นการสมมติตัวตนของสิ่งของที่แน่นอนขึ้นมา (เงิน-ทุน) และเป็นการทำความสัมพันธ์บางอย่าง ‘ให้กลายเป็นจริง’ ขึ้นมา (แรงงาน) และมันไม่ได้ประกอบไปด้วย ‘การทำให้เป็นจริง’ โดยทั่วไป ของความสัมพันธ์ ทั้งหมด แบบที่การตีความงานของมาร์กซ์แบบมนุษย์นิยมโต้แย้ง หากแต่มันมีเพียงความสัมพันธ์ที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น ลัทธิบูชาสิ่งของนั้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้แยกขาดจากวิถีการผลิตแบบอื่นๆ มันเพียงแต่เข้าแทนที่ในลำดับขั้นใดๆก็ตามที่ทำการครองอำนาจนำอยู่ในการก่อรูปทางสังคมที่ถูกกำหนดลักษณะโดยวิถีการผลิตของสังคม

การก่อรูปทางสังคม (Formation, Social – formation sociale) [มโนทํสน์ที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เราเรียกว่า ‘สังคม’ – หลุยส์ อัลธูแซร์] เป็นมโนทัศน์ที่ว่าด้วยความซับซ้อนที่ประกอบไปด้วยภาคปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ, ภาคปฏิบัติการทางการเมือง และภาคปฏิบัติการทางอุดมการณ์ในพื้นที่และลำดับขั้นของการพัฒนาที่แน่นอน วัตถุนิยมประวัติศาสตร์นั้นคือศาสตร์ของการก่อรูปทางสังคม

ประวัติศาสตร์นิยม (Historicism - historicisme) การตีความงานมาร์กซิมส์ที่กำลังแพร่หลายและเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันซึ่งกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในห้วงเวลาใกล้เคียงกับการปฏิวัติเดือนตุลา และกลายไปเป็นตัวครองอำนาจนำทางความคิดของนักเขียนหลากหลายคน เช่น Lukács, Korsch, Gramsci, Della Volpe, Colletti และ Sartre ความคิดแบบประวัติศาสตร์นิยมนี้ถูกกำหนดลักษณะโดยมุมมองเชิงเส้นตรงทางเวลา ซึ่งโอนเอนต่อส่วนแก่นแท้ของห้วงเวลาในปัจจุบันในแต่ละห้วงเวลาดังนั้นแล้วองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นความตระหนักรู้ในตนเองในแต่ละห้วงเวลาปัจจุบัน ความตระหนักรู้ในตนเองของปัจจุบันนี้อาจจะมีได้ในหลากหลายรูปแบบ (‘การประนีประนอม’ ที่แตกต่างกันอาจจะทำการไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างนักประวัติศาสตร์กับสภาพองค์รวมได้) เช่น จิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพปฏิวัติ (Lukács) อุดมการณ์อินทรีย์ (การครอบงำ) ของชนชั้นปกครอง (Gramsci) หรือ ภาคปฏิบัติการของมนุษย์ที่เป็นอัตวิสัยภายในตนเองทั้งมวล หรือ ‘ปฏิบัติการที่แยกขาดจากทฤษฎี’ ของมนุษย์ (Sartre) ประวัติศาสตร์นิยมนั้นอาจจะเป็นหรือไม่เป็นมนุษย์นิยมก็ได้

หลักการโดยทั่วไปข้อที่ 1, 2 และ 3 (Generalities I, II and III – Généralités I, II et III) ในภาคปฏิบัติการทางทฤษฎี กระบวนการของการผลิตสร้างองค์ความรู้นั้นมีการแบ่งออกดังนี้ หลักการโดยทั่วไปข้อที่ 1 คือความเป็นนามธรรม เป็นลักษณะกึ่งอุดมการณ์ กึ่งวิทยาศาสตร์ที่เป็นวัตถุดิบสำหรับวิทยาศาสตร์ ส่วนหลักการโดยทั่วไปข้อที่ 3 นั้นคือความเป็นรูปธรรม เป็นลักษณะแบบวิทยาศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้น ขณะที่หลักการโดยทั่วไปข้อที่ 2 นั้นคือทฤษฎีของวิทยาศาสตร์ในห้วงเวลาที่แน่นอน เป็นวิธีการของการผลิตสร้างองค์ความรู้

มนุษย์นิยม (Humanism - humanisme) มนุษย์นิยมนั้นคือลักษณะที่ถูกกำหนดร่วมกันของปมปัญหาทางอุดมการณ์จากการปรากฏตัวขึ้นในงานของมาร์กซ์ และหากเสนอให้ชัดเจนกว่านั้นคือปมปัญหาของอุดมการณ์สมัยใหม่จำนวนมาก รูปแบบจิตสำนึกแบบเฉพาะเจาะจงของมนุษย์นิยมนั้นคือมานุษยวิทยาแบบฟอยเออร์บาค ซึ่งมีอิทธิพลและครองอำนาจนำทางความคิดต่องานเขียนของมาร์กซ์ในยุคแรก อย่างไรก็ตามวัตถุนิยมวิภาษวิธีนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ ดังเช่นที่มันแสดงตัวตนออกมาในงานช่วงหลังของมาร์กซ์ ที่เป็นการนำเสนอการต่อต้านมนุษย์นิยมทางทฤษฎี ‘มนุษย์นิยมที่แท้จริง’ นั้นเป็นตัวกำหนดให้เกิดงานของการแตกหักทางญาณวิทยา รูปแบบของความเป็นมนุษย์นิยมนั้นยังคง แต่ธรรมเนียมอย่างอื่นเช่น ‘ความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งมวล’ นั้นถูกเปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้าไปเป็นมโนทัศน์เรื่องวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ของระบบสังคมนิยมนั้นอาจจะเป็นอุดมการณ์แบบมนุษย์นิยม เกิดเป็น ‘ชนชั้นมนุษย์นิยม’ กรรมาชีพ

อุดมการณ์ (Ideology - idéologie) อุดมการณ์นั้นเป็นความสัมพันธ์ ‘ที่ดำรงอยู่’ ระหว่างมนุษย์กับโลกของเขา หรือเป็นรูปแบบของการสะท้อนของความสัมพันธ์ที่ไร้จิตสำนึก หรือกล่าวได้ในทางหนึ่งว่ามันเป็น ‘ปรัชญา’ ฯลฯ อุดมการณ์นั้นไม่ได้ถูกแยกแยะออกมาจากวิทยาศาสตร์เนื่องจากว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะตัวมันเองนั้นสามารถจะเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องและมีเหตุผลได้ (ตัวอย่างเช่น ศาสนศาสตร์) หากแต่มันถูกแยกแยะออกมาด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าลักษณะของปฏิบัติการทางสังคมในตัวมันเองที่มีอำนาจเหนือกว่าองค์ความรู้หรือทฤษฎี กล่าวในทางประวัติศาสตร์ มันเป็นสิ่งที่ทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปด้วยการสร้างการแตกหักทางญาณวิทยา หากแต่อุดมการณ์นั้นก็ดำรงอยู่เคียงคู่กับวิทยาศาสตร์ในฐานะขององค์ประกอบที่เป็นแก่นแท้ของทุกๆการก่อรูปทางสังคม ซึ่งหมายรวมถึงระบบสังคมนิยม หรือกระทั่งสังคมคอมมิวนิสต์ด้วย

องค์ความรู้ (Knowledge - connaissance) องค์ความรู้นั้นเป็นผลผลิตของภาคปฏิบัติการทางทฤษฎี มันคือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหลักการโดยทั่วไปข้อที่ 3 และแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งชัดเจนว่าตัวองค์ความรู้นั้นเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากการตระหนักรู้ทางปฏิบัติการ (reconnaissance) ของปัญหาทางทฤษฎี

วัตถุนิยมวิภาษวิธีและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (Materialism, Dialectical and History – materialism, dialectique et historique) นักประวัติศาสตร์นิยมหรือกระทั่งผู้ที่กล่าวแงว่าตนเองเป็นนักมาร์กซิสต์นั้น ต่างก็ปฏิเสธงานมาร์กซิสต์คลาสสิกที่ทำการแบ่งแยกระหว่างวัตถุนิยมวิภาษวิธีและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ อันเนื่องมาจากพวกเขามองปรัชญาในฐานะขององค์ความรู้ในตัวเองของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ และดังนั้นแล้วพวกเขาจึงมองว่ามันเป็นปรัชญาและวิทยาศาสตร์ของประวัติศาสตร์ ในแง่ที่ดีที่สุดนั้น วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ต้องถูกลดระดับลงไปเป็นมรรควิธีทางประวัติศาสตร์ ในขณะที่วิทยาศาสตร์ของประวัติศาสตร์นั้นคือตัวเนื้อหาของมัน อัลธูแซร์นั้นปฏิเสธความคิดแบบประวัติศาสตร์นิยม ปฏิเสธการระบุนิยามแบบที่กล่าวมา สำหรับอัลธูแซร์แล้วเขามองว่าวัตถุนิยมประวัติศาสตร์นั้นคือวิทยาศาสตร์ของประวัตศาสตร์  ขณะที่วัตถุนิยมวิภาษวิธี หรือปรัชญามาร์กซิสต์นั้นคือทฤษฎีของภาคปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

ตัวแบบ (Model - modèle) ทฤษฎีของตัวแบบนี้คือตัวแปรของความคิดแบบประจักษ์นิยม สอดคล้องตามทฤษฎีนี้หากเรายกงานเรื่องว่าด้วยทุน ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง มันไม่ใช่การวิเคราะห์ที่มีต่อโลกทุนนิยมที่เป็นจริง หากแต่เป็นการวิเคราะห์สรรพคุณต่างๆของความเป็นอุดมคติ ซึ่งเป็นการสร้าง ตัวแบบ อย่างง่ายของมันขึ้นมาและนำไปประยุกต์กับความเป็นจริงเชิงประจักษ์ ซึ่งแน่นอนว่ามันเพียงการประมาณการอย่างคร่าวๆ สำหรับอัลธูแซร์แล้วทฤษฎีในงานเรื่อง ว่าด้วยทุน นั้นเป็นแต่เพียง ‘อุดมคติ’ เท่านั้นในแง่ที่ว่ามันเกี่ยวพันอยู่แต่เพียงกับวัตถุขององค์ความรู้ เช่นเดียวกับทุกๆทฤษฎี ที่ไม่ได้เกี่ยวพันอยู่กับวัตถุที่เป็นจริง และองค์ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นก็เป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์เพียงพอเฉพาะแต่กับวัตถุของตัวมันเอง แต่ไม่ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เรื่องนี้เกี่ยวพันอยู่กับทฤษฎีทั่วไปของตัวแบบทั้งมุมมองทั้งคู่ที่มองว่างาน ว่าด้วยทุน เล่มที่สามคือการพยายามทำให้มันเป็นรูปธรรม เป็นการพยายามลบล้างตัวแบบที่เป็นอุดมคติของเล่มแรกและทฤษฎี ‘ตัวอย่างกรณีอังกฤษ’ ในงานเรื่อง ว่าด้วยทุน ในฐานะของตัวแบบสำหรับการพัฒนาทุกนิยมที่เป็นจริงเช่นนั้นในทุกพื้นที่ออกไป สำหรับอัลธูแซร์แล้ว ว่าด้วยทุน เล่มที่สามนั้นเกี่ยวพันกับวัตถุขององค์ความรู้มากยิ่งกว่าในเล่มแรก และมองว่าอังกฤษนั้นเป็นเพียงต้อตอของความเข้าใจผิดในงาน ว่าด้วยทุน ไม่ใช่บรรทัดฐานทางทฤษฎี

การปฏิเสธของการปฏิเสธ (Negation of the negation – négation de la négation) มโนทัศน์แบบเฮเกลที่มาร์กซ์นั้น ‘หลงใหล’ มันอย่างมากกระทั่งในงานช่วงผู้ใหญ่ของเขาเอง มันเป็นมโนทัศน์ที่แสดงให้เห็นถงกระบวนการของการแยกสลายและการกำเนิดใหม่ (destruction and resumption - supersession/Aufhebung) ที่เสนอว่าจิตวิญญาณนั้นเคลื่อนที่ออกจากลำดับขั้นของการพัฒนาหนึ่งไปสู่อีกลำดับขั้นหนึ่ง แต่สำหรับมาร์กซ์นั้นเขามองว่ามันเป็นมโนทัศน์ที่อธิบายถึงข้อเท็จจริงที่ว่าระบบทุนนิยมนั้น ได้กำเนิดขึ้นมาผ่านการล่มสลายลงของระบบศักดินา และในทางเดียวกันนั้นระบบทุนนิยมก็ย่อมจะถูกทำลายลงพร้อมกับการเกิดขึ้นใหม่ของระบบสังคมนิยม และคอมมิวนิสม์ 

การกำหนดที่เหนือกว่า (Overdetermination – surdétermination, überdaterminierung) ฟรอยด์นั้นหยิบใช้มโนทัศน์นี้ในการอธิบายถึงภาพแสดงตัวแทนของความฝัน-ความคิด (ท่ามกลางสิ่งต่างๆ) ในภาพจินตนาการที่ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษด้วยการควบรวมเอาความคิดจำนวนมหาศาลมารวมเอาไว้ภายในภาพจินตนาการภาพเดียว (condensation/Verdichtung) หรือด้วยการเปลี่ยนผ่านพลังงานทางจิตจากความคิดเฉพาะเจาะจงที่ทรงพลังไปสู่ภาพจินตนาการขนาดเล็กที่โดดเด่น (displacement/Verschiebung-Verstellung) อัลธูแซร์ได้หยิบใช้มโนทัศน์นี้ในทางเดียวกันเพื่ออธิบายผมกระทบของความขัดแย้งในแต่ละภาคปฏิบัติการที่ทำให้เกิดการสถาปนาการก่อรูปทางสังคมบนการก่อรูปทางสังคมทั้งหมด และดังนั้นแล้วจึงย้อนกลับไปหาแต่ละภาคปฏิบัติการและแต่ละความขัดแย้ง ทำการนิยามรูปแบบของการครองอำนาจนำและการอยู่ภายใต้อำนาจนำ, ความเป็นศัตรูต่อกันและความไม่เป็นศัตรูต่อกันของความขัดแย้งในโครงสร้างภายใต้การครองอำนาจนำในห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แน่นอน

กล่าวให้ตรงและชัดเจนยิ่งขึ้น การกำหนดที่เหนือกว่าของความขัดแย้งนั้นคือภาพสะท้อนในตัวมัน ของความขัดแย้งในการดำรงอยู่ของตัวมันเองภายในความซับซ้อนองค์รวมทั้งหมด นั่นคือเป็นการดำรงอยู่ภายในความขัดแย้งอื่นๆที่ซับซ้อนทั้งหมด หรือกล่าวในอีกคำหนึ่งก็คือมันคือการพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอของตัวมันเอง

ปรัชญา’/ปรัชญา (‘Philosophy’/Philosophy – ‘philosophie’/philosophie) ‘ปรัชญา’ (ในเครื่องหมาย ฝนทอง ‘...’) ถูกใช้เพื่อแสดงถึงรูปแบบภาพสะท้อนของอุดมการณ์ในฐานะของสิ่งซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับทฤษฎีใหญ่ (Theory) ดูเพิ่มเติมในข้อเขียนของอัลธูแซร์เรื่อง ‘Remarks on the Terminology Adopted’ ส่วนปรัชญา (ที่ไม่อยู่ในเครื่องหมาย ฝนทอง) ถูกใช้ในงานเขียนช่วงหลังเพื่อแสดงถึงปรัชญามาร์กซิสต์ กล่าวคือ หมายถึงวัตถุนิยมวิภาษวิธี

ภาคปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ, การเมือง, อุดมการณ์ และทฤษฎี (Practice, Economic, Political, Ideological and Theoretical – practique économique, politique, idéologique et théorique) อัลธูแซร์ยกเอาทฤษฎีที่ถูกนำเสนอโดยเองเกล และถูกอธิบายต่อโดยเหมาเจ๋อตง ที่เสนอว่า ภาคปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ, การเมือง และอุดมการณ์นั้นเป็นสามภาคปฏิบัติการ (กระบวนการของการผลิตหรือการเปลี่ยนผ่าน) ที่ก่อให้เกิดการก่อรูปทางสังคมขึ้น ภาคปฏิบัติการทางเศรษฐกิจนั้นคือการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติรอบข้างด้วยกำลังแรงงานของมนุษย์ให้กลายเป็นผลผลิตทางสังคม ส่วนภาคปฏิบัติการทางการเมืองนั้นคือการเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมด้วยการปฏิวัติ และภาคปฏิบัติการทางอุดมการณ์นั้นคือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์หนึ่งที่มีต่อโลกที่อาศัยอยู่ ให้กลายไปเป็นความสัมพันธ์แบบใหม่ด้วยการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ในการยืนยันของอัลธูแซร์ที่เน้นย้ำถึงการแบ่งแยกระหว่างวิทยาศาสตร์กับอุดมการณ์ เขายืนยันว่าทฤษฎีนั้นได้ก่อให้เกิดภาคปฏิบัติการลำดับที่สี่ขึ้นมา นั่นคือภาคปฏิบัติการทางทฤษฎี ที่ทำการเปลี่ยนผ่านอุดมการณ์ให้กลายไปเป็นองค์ความรู้ด้วยทฤษฎี ห้วงเวลาแห่งการกำหนดในแต่ละภาคปฏิบัติการนั้นคือการทำงานของการผลิตที่จะนำทั้งวัตถุดิบ มนุษย์ และปัจจัยการผลิตเข้ามารวมด้วยกัน – ไม่ใช่ มนุษย์ที่เป็นผู้กระทำงาน ดังนั้นแล้วมนุษย์จึงไม่ใช่ผู้ที่สามารถกล่าวอ้างที่จะเป็นองค์ประธานของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ได้ อัลธูแซร์นั้นยังได้อภิปรายถึงภาคปฏิบัติการในระดับย่อยอื่นๆอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ภาคปฏิบัติการทางเทคนิค (technical practice – pratique technique)

ปมปัญหา (Problematic - problématique) คือคำศัพท์หรือมโนทัศน์ที่ไม่อาจจะถูกพิจารณาโดยแยกออกมาเพียงตัวเดียวได้ ปมปัญหานี้ดำรงอยู่แต่เพียงในกรอบเค้าโครงทางทฤษฎีหรืออุดมการณ์ที่มันถูกหยิบใช้เท่านั้น นั่นคือผมปมปัญหาของตัวมันเอง มโนทัศน์ที่สัมพันธ์กับตัวมันนี้สามารถดูเพิ่มเติมได้อย่างชัดเจนผ่านงานเขียนของฟูโกต์เรื่อง Madness and Civilization

เราจำเป็นต้องเน้นย้ำอย่างหนักว่าปมปัญหาในที่นี้นั้น ไม่ใช่ มุมมองต่อโลก

ปมปัญหานี้ไม่ใช่แก่นแท้ของความคิดของปัจเจกบุคคลหรือยุคสมัยที่สามารถจะหาข้อสรุปได้จากตัวตนของตัวอักษรผ่านการมองเชิงประจักษ์ หรือการการอ่านโดยทั่วไป มันดำรงอยู่ที่ใจกลางใน ความไม่มีอยู่ ของปัญหาและมโนทัศน์ภายในปมปัญหามากเท่าที่กับมันมีอยู่ และเราสามารถจะตรวจหาหรือเข้าถึงมันได้ก็แต่เพียงการอ่านแบบดูอาการ (symptomatic reading – lecture symptomale)  

การผลิต/การค้นพบองค์ความรู้ (Production/Discovery of a knowledge – production/découverte d’uneconnaissance) เองเกลได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง การผลิต ออกซิเจนของ Priestley โดยที่ไม่ได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญทางทฤษฎีในการค้นพบสสารใหม่ และ การค้นพบ (มโนทัศน์) ของออกซิเจนโดย Lavoisier อันก่อให้เกิดผลตามมาเป็นการปฏิวัติองค์ความรู้ครั้งใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์เคมี เองเกลเปรียบเทียบทั้งสองกรณีด้วยความแตกต่างระหว่าง การผลิต ของความเป็นจริงของมูลค่าส่วนเกินในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิก กับ การค้นพบ มโนทัศน์เรื่องมูลค่าส่วนเกินของมาร์กซ์ การหยิบใช้คำว่า การผลิต ในที่นี้นั้นจะต้องระมัดระวังไม่ให้สับสนกับการยืนยันของอัลธูแซร์ที่เสนอว่า องค์ความรู้นั้นคือวิถีการผลิตที่มีลักษณะเฉพาะ

วิถีการผลิต (Production, Mode of – mode de production, Produktionsweis) วิถีการผลิตวัตถุนั้นเป็นมโนทํสน์ศูนย์กลางของทฤษฎีของภาคปฏิบัติการทางเศรษฐกิจของการก่อรูปทางสังคม มันเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนในตัวมันเองและมีลักษณะเชิงซ้อนอย่างชัดเจนด้วยความเชื่อมโยงพลังการผลิตและความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการผลิต รวมทั้งตัวมันประกอบไปด้วยองค์ประกอบสามอย่าง คือ แรงงาน, ปัจจัยการผลิต (ซึ่งแบ่งแยกย่อยได้เป็น วัตถุของแรงงาน กับ เครื่องมือของแรงงาน), และสิ่งไร้แรงงาน มโนทัศน์นี้ยังสามารถถูกประยุกต์ใช้ได้ด้วยการเปรียบเทียบกับภาคปฏิบัติการหรือระดับขั้นใดๆก็ตาม ที่มีลักษณะเชิงซ้อนอย่างชัดเจน และมีองค์ประกอบในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงทำการผลิตผลผลิตที่มีลักษณะเฉพาะขึ้น

พลังการผลิต/ความสัมพันธ์ทางการผลิต (Productive force/Relations of production – forces productive/rapports de production) มโนทัศน์นี้ถูกหยิบใช้โดยทั่วไป (กระทั่งโดยนักมาร์กซิสต์บางคน) เพื่อจะสื่อความหมายถึงเครื่องจักรหรือสื่อถึงการสร้างผลผลิตของมันในทางหนึ่ง และสื่อถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ระหว่างสมาชิกของสังคมกับคนอื่นๆ ในอีกทางหนึ่ง แต่สำหรับอัลธูแซร์และบาลิบาร์ (Balibar) ในทางตรงกันข้าม พวกเขามองว่ามันมีจ้อแตกต่างสองประการที่ก่อให้เกิดการเชื่อมประสานการผสมผสานรวมกันของวิถีการผลิต กล่าวคือมันมีทั้ง ‘ความสัมพันธ์’ (ความเชื่อมโยง – connection - relations) ที่ผสมผสานควบรวมกันทั้งแรงงาน, ปัจจัยการผลิต และสิ่งไร้แรงงาน ภายในวิถีการผลิต ส่วนพลังการผลิตนั้นสถาปนาความเชื่อมโยงของการจัดสรร (appropriation – wirkliche Aneignung) ที่แท้จริงของธรรมชาติ หรือเป็นความเชื่อมโยงแบบ ‘การถือสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ’ ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางการผลิตนั้นเป็นความสัมพันธ์ของยึดเอาผลผลิตหรือยึดเอาความเชื่อมโยง ‘การถือครองกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สิน’ กลับคืนไป (เรื่องนี้ไม่สอดคล้องกับ ‘กฎของทรัพย์สิน’ ซึ่งไม่แม้กระทั่งเป็น ‘การแสดงออก’ ของความสัมพันธ์ทางการผลิต หากแต่เป็นโครงสร้างที่เคลื่อนย้ายออกจากตัวมัน นั่นคือโครงสร้างส่วนบน) ลักษณะเชิงซ้อนที่ชัดเจนนี้ปรากฏอยู่ในทุกๆมิติของวิถีการผลิต ในความแตกต่างระหว่างมูลค่าใช้สอย กับมูลค่าแลกเปลี่ยน และในความแตกต่างระหว่างความรู้ทางเทคนิคกับระบบแบ่งงานกันทำทางสังคม ฯลฯ ในขณะที่พลังการผลิตนั้นไม่สามารถจะถูกลดทอนลงไปเป็นเพียงเครื่องจักรหรือเทคนิคการผลิตเชิงคุณภาพนั้น ความสัมพันธ์ทางการผลิตก็ไม่อาจจะถูกลดทอนลงไปเป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เพียงอย่างเดียวได้ ความสัมพันธ์ทางการผลิตนั้นย่อมไม่ใช่ความสัมพันธ์ของมนุษย์หรือการเป็นอัตวิสัยภายในตัวเองแบบที่มันเป็นในอุดมการณ์แบบประวัติศาสตร์นิยม

การอ่าน (Reading - lecture) ปัญหาของทฤษฎีมาร์กซิสต์ (รวมถึงปัญหาของทฤษฎีใดๆก็ตาม) สามารถแก้ไขได้ด้วยการเรียนรู้ที่จะอ่านเนื้อหาของมันอย่างถูกต้อง (ดังนั้นแล้วนี่เป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มหลังของอัลธูแซร์ที่ชื่อว่า อ่านว่าด้วยทุน, Lire le Capital, ‘Reading Capital’)และจะต้องไม่ใช่ทั้งการอ่านแบบผิวเผิน, การอ่านแบบตรวจทานการอ้างอิง รวมถึงไม่ใช่การอ่านแบบเฮเกลนิยม ที่พยายามสร้างการอนุมานแก่นแท้ของตัวหนังสือทั้งหมดด้วยการสกัลเอา ‘ใจกลางที่แท้จริงออกมาจากเปลือกภาพมายาที่ห่อหุ้มมันไว้’ มีแต่เพียงการอ่านแบบดูอาการ (symptomatic reading – lecture symptomale) ที่สถาปนาปมปัญหาขึ้น เป็นการค้นหาความไร้จิตสำนึกของตัวบทเพียงเท่านั้นที่จะเป็นการอ่านงานของมาร์กซ์ที่จะทำให้เราสามารถก่อตั้งการแตกหักทางญาณวิทยาที่จะทำให้เราสามารถมองวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ในฐานะของวิทยาศาสตร์ได้

การผลิตซ้ำ (Reproduction - reproduction) การผลิตซ้ำเชิงเดี่ยวนั้นบ่อยครั้งที่มันถูกพิจารณาในฐานะของ ‘ตัวแบบ’ อย่างง่ายของส่วนขยายของการผลิตซ้ำ และการวิเคราะห์การผลิตซ้ำนี้ก็จะถูกมองในฐานะของการทำให้การผลิตนั้นเป็นจริงขึ้นมาในประวัติศาสตร์ การนำเสนอลักษณะชั่วคราวเข้าไปในการวิเคราะห์การผลิตซ้ำ ในรูปแบบของเงื่อนไขของความต่อเนื่องของตัวมันเองนั้น บาลิบาร์ได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตามการผลิตซ้ำเชิงเดี่ยวดังกล่าวนั้นเป็น มโนทัศน์ ของการผลิตทางสังคม การผลิตทางสังคมนั้นเป็นการผลิตสิ่งต่างๆที่เด่นชัดเพียงสิ่งเดียว ในความเป็นจริมันคือการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางการผลิต กล่าวคือ การผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางการผลิต ดังนั้นแล้วการผลิตซ้ำทั้งเชิงเดี่ยวและเชิงขยายนั้นจึงเป็นมโนทัศน์การวิเคราะห์เฉพาะช่วงเวลาของวิถีการผลิต

ส่วนแก่นแท้ (Section, Essentail – coup d’essence) ทฤษฎีเชิงอุดมการณ์ (ประจักษ์นิยม, จิตนิยม, ประวัติศาสตร์นิยม) นั้นมององค์รวมทางประวัติศาสตร์ในฐานะของสิ่งที่สามารถวิเคราะห์ได้ในปัจจุบัน ในช่วงเวลาร่วมสมัย ที่ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆนั้นสามารถมองเห็นและบันทึกได้ และเพื่อที่จะมองเห็นการเปรียบเปรยในปัจจุบันถึงความเป็นไปได้ของการตัดทอนส่วนประกอบให้ตัดขาดออกจากความเป็นปัจจุบันเชิงประวัติศาสตร์ อันเป็นส่วนประกอบที่เราสามารถมองเห็นแก่นแท้ของปัจจุบันได้ ส่วนแก่นแท้ที่กล่าวนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับความคิดของอัลธูแซร์ และ บาลิบาร์ เพราะเขามองว่ามันไม่มีปัจจุบันสำหรับองค์ประกอบและโครงสร้างทั้งมวลในระบบเชิงมโนทัศน์ของมัน ความเป็นไปได้ของส่วนแก่นแท้นั้นคือส่วนหนึ่งของการทดสอบแบบปฏิฐานนิยมสำหรับอุดมการณ์แบบประจักษ์นิยมในประวัติศาสตร์

ความเป็นปกติวิสัย (Spontaneity - spontaneité) เป็นคำศัพท์ที่ถูกหยิบมาใช้ดดยเลนินเพื่อจะวิพากษ์ความโน้มเอียงทางการเมืองและอุดมการณ์ในขบวนการเคลื่อนไหวแบบประชาธิปไตยสังคมในรัสเซียที่เสนอว่าขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัตินั้นจะต้องวางรากฐานตัวเองอยู่บนการกระทำที่เป็น ‘ปกติวิสัย’ ของชนชั้นแรงงานมากกว่าจะเป็นการพยายามที่จะนำชนชั้นแรงงานด้วยการสร้างการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ ด้วยวิธีการของพรรคการเมือง นโยบายที่ถูกสร้างขึ้นโดยงานทางทฤษฎีของพรรค [สำหรับเลนิน ความเป็นปกติวิสัยที่แท้จริง ความสามารถในการกระทำการ การริเริ่มเคลื่อนไหว ฯลฯ ของ ‘มวลชน’ นั้นจำเป็นจะต้องได้รับการเคารพในฐานะของมิติการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานที่ ล้ำเลิศที่สุด หากแต่ในเวลาเดียวกันนั้นเลนินก็ถูกตราหน้าด้วยเรื่อง ‘อุดมการณ์ของความเป็นปกติวิสัย’ (อุดมการณ์อันอันตราย) ซึ่งถูกแพร่ขยายไปโดยศัตรูของเขา (บรรดานักประชานิยม และ ‘นักปฏิวัติสังคมนิยม’) และนำเสนอว่า ความเป็นปกติวิสัย ที่แท้จริง ของมวลชนนั้นคือความมั่นคงและการวิพากษ์ในห้วงเวลาเดียวกันเพื่อที่จะ ‘ปลดแอก’ ชนชั้นแรงงานออกจากอิทธิพลของอุดมการณ์แบบกระฎุมพี – หลุยส์ อัลธูแซร์] ในแง่นี้เองเลนินได้โต้ตอบว่าการจะสร้าง การยินยอม ต่อ ‘ความเป็นปกติวิสัย’ นั้นจำเป็นต้องมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติที่จะยึดอำนาจเหนืออุดมการณ์แบบกระฎุมพี และเพื่อป้องกันการโต้กลับการปฏิวัติ อัลธูแซร์อธิบายเรื่องนี้ให้ง่ายขึ้นด้วยการเสนอว่าในแต่ละภาคปฏิบัติการนั้นและความสอดคล้องของตัวมันที่มีต่อวิทยาศาสตร์จะต้องไม่ถูกปล่อยให้พัฒนาการไปโดยตัวมันเอง อย่างไรก็ตามมันอาจจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาตนเองได้ชั่วคราวเมื่อการทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดการเปิดพื้นที่สำหรับอุดมการณ์ที่จะเข้ายึดกุมวิทยาศาสตร์ และสำหรับการตอบโต้การปฏิวัติที่จะเข้ายึดกุมภาคปฏิบัติการ ‘เอกภาพของทฤษฎีและภาคปฏิบัติการ’ นั้นไม่อาจจะเป็นเพียงภาพสะท้อนของเอกภาพของภาพสะท้อนอย่างง่าย มันเป็นสิ่งซับซ้อนหนึ่งของการแตกหักทางญาณวิทยา [ในทางทฤษฎี ในภาคปฏิบัติการทางการเมือง นั้น ความเป็นเอกภาพนี้มีสภาพการดำรงอยู่ในรูปแบบอื่น – หลุยส์ อัลธูแซร์]   

โครงสร้างนิยม (Structuralism - structuralisme) อุดมการณ์ที่กำลังแพร่หลายซึ่งสอดคล้องอยู่แต่เพียงกับความสัมพันธ์ระหว่างอง๕ประกอบต่างๆ (กล่าวคือตำแหน่งแห่งที่ของตัวมันเอง) ในสภวาองค์รวมนั้นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่สำคัญ และการยึดครองตำแหน่งแห่งที่เหล่านี้นั้นคือสิ่งที่เด็ดขาด ชุดอนุกรมของตำแหน่งแห่งที่และความสัมพันธ์นี้คือการผสมผสานรวมกันทางโครงสร้าง  โครงสร้างนิยมนั้นยังคงเป็นการกอปรขึ้นจองการผสมผสานรวมกันในฐานะของโครงสร้างที่มีลักษณะเฉพาะช่วงเวลา และมันมีลักษณะชั่วคราว หรือ มีลักษณะการกลายเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการของตัวมันเองนั้นมีฐานะเป็นลักษณะตลอดช่วงเวลา

โครงสร้างที่ไร้ศูนย์กลาง (Structure, Decentred – structure décentrée) มโนทัศน์แบบองค์รวมของกลุ่มนิยมเฮเกล อันเป็นการสันนิษฐานถึงต้นกำเนิด และแก่นแท้ที่มีมาก่อนซึ่งดำรงอยู่เบื้องหลังภาพปรากฏภายนอกที่ซับซ้อนที่ถูกผลิตขึ้นโดยการทำให้กลายเป็นสิ่งอื่นในประวัติศาสตร์ ดังนั้นแล้วนี่จึงเป็นโครงสร้างที่มีศูนย์กลาง อย่างไรก็ตามมโนทัศน์เรื่ององค์รวมของมาร์กซิสต์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากองค์ประกอบที่ประกอบสร้างตัวมันขึ้นมาได้ในวิถีทางแบบเฮเกล เพราะแต่ละองค์ประกอบนั้น็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เป็นเงื่อนไขต่อการดำรงอยู่ขององค์ประกอบอื่นๆทั้งหมด ดังนั้นแล้วมันจึงไม่มีศูนย์กลาง มันแต่เพียงองค์ประกอบที่ครองอำนาจนำ และทำการกำหนดในวาระสุดท้าย และนี่คือมโนทัศน์ว่าด้วยโครงสร้างที่ไร้ศูนย์กลาง

โครงสร้างภายใต้การครองอำนาจนำ (Structure in Dominance – structure à dominante) มโนทัศน์เรื่ององค์รวมของมาร์กซิสต์นั้นไม่ใช่ทั้งการพิจารณาองค์ประกอบที่มีค่าเท่ากันในฐานะของปรากฏการณ์ของแก่นแท้ (การมองแบบเฮเกล) และไม่ใช่ทั้งการพิจารณาเฉพาะองค์ประกอบที่ส่งผลระดับรองแค่บางตัวขององค์ประกอบทั้งหมด (การมองแบบกลไกนิยม หรือ เศรษฐกิจกำหนด) องค์ประกอบต่างๆนั้นมีความสัมพันธ์ที่ไม่สมมาตรกันหากแต่มีความเป็นอิสระในตัวเอง (ความขัดแย้ง) และส่วนหนึ่งขององค์ประกอบนี้เป็น ตัวครองอำนาจนำ [โครงสร้างทางเศรษฐกิจนั้นเป็น ‘ตัวกำหนด’ (‘ในวาระสุดท้าย’) ซึ่ง องค์ประกอบอื่นๆนั้นจะต้อง ถูกกำหนดในการก่อรูปทางสังคม (ดูเพิ่มเติมในงานเรื่อง อ่านว่าด้วยทุน)] ดังนั้นแล้วนี่จึงเป็นโครงสร้างภายใต้การครองอำนาจนำ

หากแต่องค์ประกอบที่ครองอำนาจนำนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะดำรงอยู่ได้ตลอดไป มันมีความหลากหลายที่สอดคล้องตามการครองอำนาจที่เหนือกว่าของความขัดแย้ง และ การพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอของตัวมันเอง ในการก่อรูปทางสังคมนั้นการครองอำนาจที่เหนือกว่านี้ ในวาระสุดท้ายแล้ว มันจะถูกกำหนดโดยเศรษฐกิจ (determiné en dernière de l’économie) นี่คือการอธิบายเพิ่มเติมของอัลธูแซร์ที่ให้ความกระจ่างแก่การยืนยันแบบมาณืกซิสต์คลาสสิกที่ว่าโครงสร้างส่วนบนนั้นมีความสัมพันธ์ที่เป็นอิสระภายในตัวเองหากแต่เศรษฐกิจนั้นจะเป็นตัวกำหนดในวาระสุดท้าย ระยะที่เรียกว่า ‘วาระสุดท้าย’ นี้ไม่อาจจะชี้วัดได้ว่ามันจะเป็นช่วงเวลาท้ายที่สุด หรือ เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เคยมีมาก่อนที่เศรษบกิจกลายไปเป็นตัวกำหนดเพียงผู้เดียว มันยังมีวาระอื่นๆที่มาก่อนวาระสุดท้ายหรือตามหลังวาระสุดท้าย ‘วาระสุดท้ายจึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยมาถึง’ โครงสร้างนั้นมีลักษณะร่วมแสดงตัวตนขององค์ประกอบทั้งหมดของมันและแสดงถึงความสัมพันธ์ของการครองอำนาจนำและการอยู่ภายใต้การครองอำนาจนำนำอยู่เสมอ นี่จึงเป็น ‘โครงสร้าง-ที่ถูกกำหนด-มีมาก่อน-อย่างไม่สิ้นสุด’ (‘ever-pre-given structure’ – structure toujours-déjà-donnée)

การผลัดเปลี่ยน (Supersession – depassment, Aufhebung) มโนทัศน์แบบเฮเกลที่โด่งในหมู่นักมาร์กซิสต์และนักมนุษย์นิยม มันเป็นการแสดงถึงกระบวนการของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ผ่านการแยกสลายและการกำเนิดใหม่ในระดับขั้นที่สูงขึ้นของสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกกำหนดในรูปแบบของสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกกำหนดใหม่ – ตัวอย่างเช่น ระบบสังคมนิยมนั้นคือการผลัดเปลี่ยนเข้าแทนที่ระบบทุนนิยม, มาร์กซิสต์นั้นเป็นการผลัดเปลี่ยนเข้าแทนที่เฮเกลเลี่ยนนิสม์ อัลธูแซร์ยืนยันว่านี่เป็นมโนทัศน์ทางอุดมการณ์ และ เขาเปลี่ยนคำเรียกมันใหม่ว่าเป็นการเผลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ (historical transition) หรือในพัฒนาการของวิทยาศาสตร์นั้นก็เรียกขานมันว่าการแตกหักทางญาณวิทยา (epistemological break)

โครงสร้างส่วนบน/โครงสร้าง (Superstructure/Structure – superstructure/structure) ในงานมาร์กซิสม์แบบคลาสสิกที่ว่าด้วยการก่อรูปทางสังคมนั้นเป็นการวิเคราะห์ถึงองค์ประกอบของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ – ซึ่งเป็นตัวกำหนดในวาระสุดท้าย – และมีความสัมพันธ์ที่เป็นอิสระในตัวเองจากโครงสร้างส่วนบน ที่ประกอบไปด้วย (1) รัฐและกฎหมาย (2) อุดมการณ์ อัลธูแซร์นั้นอธิบายเรื่องนี้โดยการแบ่งมันเป็นโครงสร้าง (ภาคปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ) และ โครงสร้างส่วนบน (ภาคปฏิยัติการทางการเมืองและอุดมการณ์) ความสัมพันธ์ระหว่างภาคปฏิบัติการทั้งสามนี้คือสิ่งที่อยู่ในโครงสร้างภายใต้การครองอำนาจนำ ซึ่งถูกกำหนดในวาระสุดท้ายโดยโครงสร้าง (โครงสร้างส่วนล่าง – ผู้แปล)

การค้ำยัน (Support – support, porteur, Träger) อุดมการณ์แบบมนุษย์นิยมนั้นมองมโนทัศน์แบบองค์รวมทางสังคมในฐานะขององค์รวมของความสัมพันธ์เชิงอัตวิสัยภายในตัวเองระหว่างมนุษย์ ในฐานะของภาคประชาสังคม ในฐานะของสินค้าที่สังคมของมนุษย์ต้องการ หรือกล่าวในอีกทางหนึ่ง มันคือการผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเข้มงวดในเชิงมานุษยวิทยาร่วมกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิกที่ว่าด้วย มนุษย์เศรษฐกิจ (homo oeconomicus) แต่ในทฤษฎีแบบมาร์กซิสต์เป็นทางตรงกันข้าม เพราะมันมองว่าตัวละครเอกที่แท้จริงของประวัติศาสตร์นั้นคือความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิต, การต่อสู้ทางการเมืองและอุดมการณ์ ซึ่งถูกสถาปนาขึ้นโดยตำแหน่งแห่งที่ที่ได้มอบหมายให้บรรดาตัวละครเอกเหล่านี้ในโครงสร้างที่ซับซ้อนของการก่อรูปทางสังคม (ตัวอย่างเช่น ชนชั้นแรงงานและชนชั้นนายทุน ในวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ที่ถูกกำหนดนิยามจากความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันของตัวเองที่มีต่อปัจจัยการผลิต) มนุษย์ในทางชีวะนั้นทำแต่เพียง ค้ำยัน หรือ แบกรับ รูปแบบ (Charaktermasken) ที่มอบหมายให้พวกเขาโดยโครงสร้างของความสัมพันธ์ในการก่อรูปทางสังคม ดังนั้นแล้วการประกบเชื่อมกันของวิถีการผลิตแต่ละตัว และแต่ละระดับของการก่อรูปทางสังคมนั้นจะถูกกำหนดรูปแบบที่แตกต่างกันที่อาจจะเกิดขึ้นของความเป็นปัจเจกบุคคลทางประวัติศาสตร์เพื่อตัวมันเอง ความสอดคล้องหรือความไม่สอดคล้องของบรรดารูปแบบของความเป็นปัจเจกบุคคลทางประวัติศาสตร์นี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่าน

การวิเคราะห์เฉพาะช่วงเวลา/การวิเคราะห์ตลอดช่วงเวลา (Synchrony/Diachrony – synchronie/diachronie) อัลธูแซร์และบาลิบาร์นั้นต่อต้านการใช้คำสองคำนี้โดยอุดมการณ์แบบโครงสร้างนิยม และยืนยันว่าการวิเคราะห์เฉพาะช่วงเวลาของวัตถุนั้นเป็นแต่เพียงมโนทัศน์ของวัตถุดังกล่าว มันดำรงอยู่ใมนฐานะของส่วนหนึ่งของมโนทัศน์ในทฤษฎีของวัตถุดังกล่าว (ตัวอย่างเช่น ลักษณะเฉพาะช่วงเวลาของการผลิตนั้นเป็นมโนทัศน์ของตัวมันเอง นั่นคือ การผลิตซ้ำ) อย่างไรก็ตามพวกเขาได้นำเสนอการหยิบใช้มโนทัศน์แบบดังกล่าวที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน อัลธูแซร์นั้นหยิบใช้มโนทัศน์นี้เพียงเพื่อระบุ ‘ช่วงเวลา’ ในการพิสูจน์ ข้อเท็จจริงที่ว่ามโนทัศน์นั้นปรากฏออกมาในระเบียบที่แน่นอนในการพิสูจน์ ซึ่งระเบียบดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆเลยการปรากฏทางประวัติศาสตร์ของวัตถุที่เป็นจริงของบรรดามโนทัศน์ดังกล่าว ขณะที่ในอีกทางหนึ่ง บาลิบาร์ได้หยิบใช้สองคำนี้เพื่อแสดงถึงทฤษฎีของการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการผลิตแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง

ความโน้มเอียง (Tendercy – tendance, Tendenz) มาร์กซ์ได้อธิบายถึงจำนวนรูปแบบต่างๆของวิถีการผลิตแบบทุนนิยมในฐานะของความโน้มเอียง (ตัวอย่างเช่น ความโน้มเอียงของอัตราส่วนกำไรที่จะตกต่ำลง) ความโน้มเอียงเหล่านี้บ่อยครั้งแล้วถูกมองในฐานะของรูปแบบของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จากวิถีการแบบหนึ่งไปสู่วิถีการผลิตแบบอื่น เป็นเสมือนลักษณะของ ‘การปฏิเสธของการปฏิเสธ’ ซึ่งจะนำไปสู่ระดับขั้นทางประวัติศาสตร์ที่สูงขึ้น บาลิบาร์นั้นได้แสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริงแล้วมันเป็นเพียงแค่มโนทัศน์ของรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะต่อวิถีการผลิต เป็นมโนทัศน์ของความเปลี่ยนแปลงของความแปรปรวนของการเคลื่อนไหวของตัวมันเองและของปัญหาและอุปสรรคในขั้นท้ายที่สุดที่มีต่อการพัฒนาการของตัวมันเอง กล่าวคือ มันเป็นคุณลักษณะของการวิเคราะห์เฉพาะช่วงเวลาของวิถีการผลิต ไม่ใช่รูปแบบของการวิเคราะห์ตลอดช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการผลิตแบบหนึ่งไปสู่อีกวิถีการผลิตหนึ่ง

ทฤษฎีย่อย, ‘ทฤษฎี’, ทฤษฎีใหญ่ (Theory, ‘Theory’, Theory – théorie, ‘théorie’, Théorie) สำหรับอัลธูแซร์แล้วทฤษฎีนั้นเป็นภาคปฏิบัติการทางทฤษฎีที่มีลักษณะเฉพาะและเป็นวิทยาศาสตร์ ในบทที่ 6 หัวข้อ ‘ว่าด้วยวิภาษวิธีวัตถุนิยม’ (‘On the Materialist Dialectics’) ได้มีการกล่าวถึงการแบ่งแยกระหว่าง ‘ทฤษฎี’ (ภายในเครื่องหมายฝนทอง) อันเป็นระบบทางทฤษฎีที่กำหนดของวิทยาศาสตร์ที่ถูกกำหนด และ ทฤษฎีใหญ่ (ในภาษาอังกฤษใช้ ตัว T ในการสะกด - Theory) อันหมายถึงทฤษฎีของการปฏิบัติการโดยทั่วไป กล่าวคือ วัตถุนิยมวิภาษวิธี (dialectical materialism) [ในบางคำจากคำนำถึงหนังสือแปลฉบับภาษาอิตาลีของ Lire le Capital ที่ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำในฉบับภาษาฝรั่งเศส และในคำนำที่นำเสนอในการตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ (New Left Books) ผมได้ชี้ให้เห็นว่าผมนั้นพิจารณาคำนิยามของตนเองที่มีต่อปรัชญา (ทฤษฎีใหญ่ในฐานะของ ‘ทฤษฎีของภาคปฏิบัติการทางทฤษฎี’) ในฐานะของสิ่งที่บังคับเอาฝ่ายเดียว และในท้ายที่สุดแล้วมันเป็นมโนทัศน์ ที่ผิดพลาด ของวัตถุนิยมวิภาษวิธี และในตัวชี้วัดต่อการนิยามความหมายใหม่ ผมเสนอว่าเราสามารถจะพบมันได้ดังนี้ (1) ในบทสัมภาษณ์ของผมที่ตีพิมพ์ใน L’Unità ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1968 และตีพิมพ์ซ้ำในฉบับภาษาอิตาลีในชื่อ Lire le Capital (Feltrinelli) และใน La Pensée (เดือนเมษายน ปี 1968) และ (2) ในงานเขียนเรื่อง Lénine et la philosophie อันเป็นข้อเขียนที่ผมมอบให้กับ Société Française de Philosophie ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1968 และถูกตีพิมพ์ในชื่อเดียวกันโดย Société Française ในเดือนมกราคม ปี 1969 คำนิยามใหม่ที่มีต่อปรัชญานั้นสามารถกลับมานำเสนอใหม่ได้ในสามจุดสำคัญดังนี้ (1) ปรัชญานั้นเป็น ‘ภาพแสดงตัวแทน’ ความเป็นวิทยาศาสตร์ในปริมณฑลของ ทฤษฎี ดังนั้นแล้วปรัชญาจึงไม่ใช่ทั้งวิทยาศาสตร์และไม่ใช่ทั้งทฤษฎีที่บริสุทธิ์ (ทฤษฎีใหญ่) หากแต่เป็น ภาคปฏิบัติการทางการเมืองของการสอดแทรก ภายในปริมณฑลของทฤษฎี (2) ปรัชญานั้นเป็น ‘ภาพแสดงตัวแทน’ ความเป็นวิทยาศาสตร์ในปริมณฑลของภาคปฏิบัติการอุดมการณ์ของการสอดแทรกในปริมณฑลของการเมือง (3) ปรัชญานั้นเป็น ‘วาระ’ ต้นกำเนิด (ซึ่งแตกต่างจากวาระของ วิทยาศาสตร์ และ การเมือง) ซึ่งมันเป็นภาพแสดงตัวแทนของวาระหนึ่งที่ดำรงอยู่คู่ขนาน (alongside – auprès de) ไปกับสิ่งอื่น ในรูปแบบของการสอดแทรกที่มีลักษณะเฉพาะ (รูปแบบทางการเมือง-ทฤษฎี) หลุยส์ อัลธูแซร์]

เวลา (Time - temps) ทฤษฎีประวัติศาสตร์แบบเฮเกลนั้นมองเวลาในฐานะของวิถีของการการดำรงอยู่ (Dasein) ของมโนทัศน์ (Begriff) ดังนั้นแล้วมันจึงมีเวลาที่เป็นเส้นตรงที่มีลักษณะเฉพาะที่ทำให้องค์รวมของความเป็นไปได้ทางประวัติศาสตร์นั้นแผ่ขยายออกไป ทฤษฎีประวัติศาสตร์แบบประจักษ์นิยมนั้นเป็นเหมือนการจัดลำกับของ ‘เหตุการณ์’ ที่ยอมรับมโนทัศน์ทางเวลาในแบบเดียวกันกับเฮเกลไปโดยปริยาย การมองเวลาในฐานะของเส้นลำดับเวลาที่เที่ยงตรงนั้นสามารถถูกแบ่งแยกออกได้เป็น ‘เหตุการณ์’ (เป็นปรากฏการณ์ในระยะสั้น) และ ‘โครงสร้าง’ (เป็นปรากฏการณ์ในระยะยาว) หรือการจัดแบ่งยุคสมัยในกระแสการวิวัฒนาการให้กลายไปเป็นความร่วมสมัยในตัวเองของ ‘วิถีการผลิต’ การวิเคราะห์ที่คงที่หรือ ‘การวิเคราะห์แบบเฉพาะช่วงเวลา’ ซึ่งวิเคราะห์พัฒนาการที่มีพลวัตรหรือ พัฒนาการ ‘ที่ต่อเนื่องตลอดเวลา’ ในห้วงเวลาที่พัฒนาไปสู่วิถีการผลิตแบบอื่น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วความเป็นพลวัตรหรือการพัฒนาการตลอดช่วงเวลานี้ย่อมจะเป็นประวัติศาสตร์ ในทางตรงกันข้ามสำหรับอัลธูแซร์และบาลิบาร์นั้นเขามองว่ามันไม่มีเส้นตรงของเวลาที่ไม่เบี่ยงเบนที่พัฒนาการของการก่อรูปทางสังคมนั้นจะดำเนินไปได้ แต่ละระดับขั้นของการก่อรูปทางสังคม และ แต่ละองค์ประกอบในแต่ละระดับนั้นมีความแตกต่างที่เป็นลักษณะชั่วคราว และความเป็นองค์รวมนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยการประกบร่วมกันของการเคลื่อนย้ายระหว่างบรรดาลักษณะชั่วคราวนี้ ดังนั้นแล้วมันจึงไม่อาจเป็นไปได้เลยที่จะประกอบสร้างความร่วมสมัยภายในตัวเองของโครงสร้าง หรือส่วนแก่นแท้ เวลาทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและมีเส้นทางที่หลากหลายอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเฉพาะช่วงเวลาของการก่อรูปทางสังคม หรือของส่วนหนึ่งของระดับหรือองค์ประกอบของมันนั้นถือว่าเป็นมโนทัศน์ของโครงสร้างของตัวมันเอง กล่าวคือ เป็นของการเคลื่อนย้ายและการประกบเข้าของตัวมันเองไปสู่การเป็นสภาพองค์รวม ดังนั้นแล้วมันจึงประกอบได้ด้วยทั้งองค์ประกอบที่ ‘มีความคงที่’ และ ‘มีความเป็นพลวัตร’ (ความโน้มเอียง) มโนทัศน์เรื่องการมองตลอดช่วงเวลานั้นจะสามารถถูกใช้ได้แต่เพียงในการประยุกต์เข้ากับมโนทัศน์ของระยะของการเปลี่ยนผ่าน ประวัติศาสตร์นั้นโดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่สิ่งที่ร่วมสมัย หากแต่เป็นรูปแบบประเภททางญาณวิทยาที่กำหนดวัตถุของวิทยาศาสตร์ที่แน่นอน นั่นคือ วัตถุนิยมประวัติศาสตร์

ความเป็นองค์รวม (Totality – totalité, Totalität) มโนทัศน์ดั้งเดิมแบบเฮเกลที่ถูกสับสนด้วยการใช้งานของมันโดยนักทฤษฎีผู้คาดหวังที่จะตอกย้ำภาพรวมทั้งหมดมากกว่าส่วนประกอบอันหลากหลายในระบบใดๆก็ตาม อย่างไรก็ตาม ความเป็นองค์รวมของเฮเกลและมาร์กซิสต์นั้นคือแก่นแท้เบื้องหลังปรากฏการณ์จำนวนมากมายของมัน หากแต่สภาพองค์รวมแบบมาร์กซิสต์นั้นเป็นโครงสร้างที่ไร้ศูนย์กลางภายใต้การครองอำนาจนำ

การเปลี่ยนผ่าน (Transition - passage) การวิเคราะห์ของมาร์กซ์ที่มีต่อการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการผลิตแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่งนั้นมีสองด้าน ด้านแรกนั้นมันคือการวิเคราะห์สภาพก่อนประวัติศาสตร์ของวิถีการผลิต การลำดับผัง ขององค์ประกอบของตัวมัน ในฐานะที่มันเป็นสิ่งที่ปรากฏออกมาจากช่วงเวลาหยุดชะงักของวิถีการผลิตที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า และด้านที่สอง มันคือการวิเคราะห์ของระยะการเปลี่ยนผ่านโดยตัวมันเอง ซึ่งไม่ใช่การแยกสลาย-การกำเนิดใหม่ หากแต่เป็นวิถีการผลิตภายในอำนาจของตัวมันเอง แม้ว่าส่วนหนึ่งในนี้นั้นจะอยู่ในสภาพการเคลื่อนย้ายของรูปแบบที่พิเศษมากกว่าจะเป็นรูปแบบของการเป็นอันหนึ่งเดียวกันระหว่างการประกบร่วมกันของโครงสร้างและดังนั้นแล้วจึงไม่ใช่ระหว่างวิถีของปัจเจกบุคคลเชิงประวัติศาสตร์ที่ถูกกำหนดโดยโครงสร้าง การเคลื่อนย้ายภายในวิถีการผลิตและระหว่างวิถีการผลิตและระดับขั้นต่างๆของการก่อรูปทางสังคม การเคลื่อนย้ายนี้จึงเป็นอะไรที่มากกว่าการนิยามการสร้างขีดจำกัดซึ่งกันและกันซึ่งดำรงรักษาโครงสร้างภายในรูปแบบที่แน่นอนของพัฒนาการ อันเป็นหนึ่งในการเคลื่อนย้ายที่เชื่อมโยงการเปลี่ยนผ่านต่อสิ่งอื่น ดังนั้นแล้วระยะของการผลิตสร้างนั้นจึงเป็นระยะของการเปลี่ยนผ่านในพัฒนาการของวิถีการผลิตแบบทุนนิยม กำลังแรงงานนั้นเป็นสิ่งที่ถูกแยกออกมาจากปัจจัยของแรงงานในการเชื่อมโยงทางทรัพย์สิน หากแต่มันยังคงเชื่อมโยงต่อกันในความเชื่อมโยงของการจัดสรรที่แท้จริง ผ่านทักษะในการทำงานตามธรรมเนียมของเขา กำลังแรงงานและเครื่องมือของแรงงานนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับวัตถุของแรงงาน ดังนั้นแล้วกระบวนการทางแรงงานนั้นจึงยังคงเป็นรูปแบบของศักดินา ในขณะที่ความสัมพันธ์ต่อทรัพย์สินนั้นเป็นของนายทุน การนำเอาเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการผลิตนั้นเป็นการทุบทำลายความเชื่อมโยงแบบศักดินาระหว่างแรงงานกับปัจจัยทางแรงงานของตนเอง ซึ่งปัจจัยและวัตถุของแรงงานนั้นถูกเชื่อมโยงและต่อต้านต่อกำลังแรงงาน

งานเขียนของมาร์กซ์ ช่วงแรก ช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงผู้ใหญ่ (Works of Marx, Early, Transitional and Mature – Oeuvres de jeunesse, de maturation et de la maturité de Marx) อัลธูแซร์ปฏิเสธมุมมองที่ว่างานเขียนของมาร์กซ์นั้นมีลักษณะเป็นเอกภาพในทางทฤษฎี เขานำเสนอการแบ่งงานของมาร์กซ์ออกดังนี้ งานเขียนช่วงแรก (ตั้งแต่ปี 1842), งานเขียนช่วงแตกหัก (Oeuvres de la Coupure - 1845) งานเขียนช่วงเปลี่ยนผ่าน (ระหว่างปี 1845 - 1847) งานเขียนในวัยผู้ใหญ่ (ระหว่างปี 1857 - 1883) มันจำเป็นต้องย้ำเตือนว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การแตกหักทางญาณวิทยานั้นสามารถที่จะไม่เป็นได้ทั้ง สิ่งที่ตรงตามกำหนด และไม่เป็นทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งเดียว เราจำเป็นต้องมองมันในฐานะของ ‘การแตกหักอย่างต่อเนื่อง’ และการวิพากษ์นี้จะต้องนำไปใช้กระทั่งในงานชิ้นสุดท้ายของมาร์กซ์ซึ่งหันกลับไป ‘หลงใหล’ ต่อการแสดงออกและเนื้อหาแบบเฮเกลและเนื้อหาแบบก่อนมาร์กซิสต์ที่ยังคง ‘หลงเหลืออยู่’

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ว่าด้วยวันสตรีสากลAlexandra Kollontai 1913 
จักรพล ผลละออ
 
จักรพล ผลละออ
ทุนนิยม ชนชั้นกลาง อนุรักษ์นิยม และการต่อต้านทุนสามานย์จักรพล ผลละออ (2017)