Skip to main content

ภาพจาก : Jonny White

บทวิเคราะห์สถานการณ์โลกประจำปี 2018 – ปีแห่งวิกฤตทุนนิยม

International Marxist Tendency, 05 April 2018

แปลไทยโดย จักรพล ผลละออ 22 มิถุนายน 2018

 

เรา (องค์กรมาร์กซิสต์สากล) ได้นำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์โลกประจำปี 2018 นี้ขึ้นเพื่อเป็นเอกสารประกอบการวิเคราะห์สถานการณ์ของการเมืองโลกในปัจจุบัน และเพื่อจะนำไปสู่การคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและกำหนดทิศทางในการเคลื่อนไหว เอกสารเค้าโครงร่างนี้จะถูกนำไปถกเถียงอภิปรายและสรุปผลอีกครั้งในการประชุมสมัชชาสากลประจำปี 2018 ในเมืองตูริน ประเทศอิตาลี ข้อเขียนชิ้นนี้นั้นได้ถูกเขียนขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนแรกของปี และหากว่าปรากฏการณ์บางอย่างที่ถูกกล่าวไว้ในที่นี้อาจจะเกิดการพัฒนาต่อเนื่องขึ้นไปเหนือจากที่กล่าวในบทความนี้แล้ว การพัฒนานั้นย่อมจะเป็นการยืนยันเพิ่มเติมต่อชุดวิเคราะห์ของเราที่มีต่อสถานการณ์โลก.

 

สิบปีภายหลังความพินาศ

เป็นเวลาสิบปีแล้วหลังจากการเกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2008 ซึ่งวิกฤตในครั้งนั้นนับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ต้องถูกกำหนดให้เป็นหมุดหมายเอาในประวัติศาสตร์โลก อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานภายใน เช่นเดียวกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 1914, 1917, 1929 และ 1939-1945 และด้วยเหตุนี้เองช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่เราจะเขียนอภิปรายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

 

Wall Street collapse Image Paul Sparkes

ภาพจาก : Paul Sparkes

 

วิกฤตการณ์ในปี 2008 นั้นมีความแตกต่างในเชิงคุณภาพที่แตกต่างจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอื่นๆที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ซึ่งทำให้มันไม่ใช่เพียงแค่วิกฤตเชิงวัฏจักร (cyclical crisis) ที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆตามวัฏจักร หากแต่มันเป็นภาพสะท้อนของวิกฤตเชิงอินทรีย์ (organic crisis) ของระบบทุนนิยม ในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษภายหลังการพังทลายในปี 2008 นั้น ชนชั้นกระฎุมพี (bourgeoisie) ยังคงดิ้นรนเพื่อที่จะหนีให้พ้นจากวอกฤตที่ทำลายความสมดุลของระบบทุนนิยมอยู่ ซึ่งใครหลายคนนั้นอาจจะพูดถึงการพยายามรื้อฟื้นระบบทุนนิยมหากทว่านั่นเป็นการพูดถึงการรื้อฟื้นเพียงบางส่วน อันที่จริง การพยายามฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เปราะบางและอ่อนกำลังที่สุดในประวัติศาสตร์ กระทั่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ 1930 ก็ยังมีการฟื้นฟูที่ดีกว่ามาก และสิ่งสำคัญบางอย่างที่มีสภาวะที่แน่นอนก็กำเนิดขึ้นจากสถานการณ์นี้เอง

เมื่อสิบปีก่อน เราได้คาดการณ์เอาไว้ว่าบรรดาความพยายามทั้งหลายของชนชันกระฎุมพีที่จะรื้อฟื้นสุมดุลทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ทำลายสมดุลทางการเมืองและสมดุลทางสังคม ซึ่งการคาดการณ์นั้นได้ถูกพิสูจน์และยืนยันแล้วโดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับโลก ในระดับประเทศที่ทำต่อๆกันไปนั้นรัฐบาบลของแต่ละประเทศต่างมีความพยายามอย่างไม่คิดชีวิตที่จะบีบบังคับและเร่งให้เกิดการเดินหน้าทางเศรษฐกิจ (ซึ่งพวกเขาล้วนแล้วแต่ล้มเหลว) ความพยายามดังกล่าวนี้ได้ทำให้เกิดเงื่อนอันจะนำไปสู่การระเบิดออกทางสังคมอันมีลักษณะที่ใหญ่โตที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน.

 

“เศรษฐกิจแบบรวมศูนย์”

เลนินนั้นได้เคยกล่าวไว้ว่าการเมืองคือเศรษฐศาสตร์แบบรวมศูนย์ ซึ่งในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายแล้ววิกฤตการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นภาพแสดงออกของของตันของระบบทุนนิยมซึ่งไม่มีความสามารถที่จะพัฒนากำลังการผลิต (productive force) ได้อีกต่อไปเหมือนเช่นที่มันเคยทำได้ในอดีต ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีความเป็นไปได้อื่นๆอีกแล้วในการพัฒนากำลังการผลิตหากแต่ระบบทุนนิยมเองนั้น โดยตัวมันเองแล้ว ไม่สามารถจะสร้างการพัฒนากำลังการผลิตได้อีกต่อไป

มาร์กซ์ เลนิน และทรอสกี้นั้นต่างก็เคยพูดอยู่เสมอว่ามันมีเพดานหรือขีดจำกัดสัมบูรณ์ในการพัฒนากำลังการผลิตภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งนี่เป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กันไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่สัมบูรณ์ แน่นอนว่าภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นมันอาจจะเกิดพัฒนาการบางอย่างขึ้นบ้าง ดังเช่นการพัฒนากำลังการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศจีน หากแต่ในระดับโลกแล้วมันไม่มีการพัฒนากำลังการผลิตขนานใหญ่ที่สามารถจะเทียบได้กับในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ภายหลังการยุติสงครามโลกครั้งที่สอง

ทฤษฎีมาร์กซิสม์ (Marxism) ได้อธิบายถึงความลับที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจต่างๆสามารถทำงานได้ว่าความลับหรือหัวใจสำคัญของมันคือการบรรลุขั้นสูงสุดทางเศรษฐกิจในการใช้เวลาของแรงงาน สิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบทุนนิยมอย่างแน่นอนที่สุดก็คือการขยายตัวของผลผลิตของแรงงาน เป็นเวลากว่า 200 ปีที่ระบบทุนนิยมได้สร้างผลผลิตจากกำลังแรงงานมนุษย์ให้ไปถึงขั้นที่ไม่มีใครในอดีตจะนึกฝันถึงได้ หากแต่กระบวนการดังกล่าวนี้ก็ได้เดินทางมาถึงทางตันของตัวมันเองแล้ว

จากการศึกษาเรื่องผลผลิต จากศูนย์กลางเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจและนโยบายในเดือนกันยายน ปี 2015 พบว่า ในช่วงระหว่างปี 2007 ถึงปี 2012 ผลผลิตที่เกิดขึ้นในระดับโลกนั้นมีอัตราการเติบโตประจำปีอยู่ที่ 0.5% ซึ่งลดลงกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างปี 1996-2006 อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเร็วๆนี้คือระหว่างปี 2012-20214 อัตราการเติบโตดังกล่าวนี้ก็แทบจะหยุดนิ่งอยู่ระดับศูนย์เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในบางประเทศอย่างบราซิล และแม๊กซิโก อัตราเหล่านี้อยู่ในระดับติดลบ ดังเช่นในรายงานที่กล่าวว่า “นี่เป็นสิ่งที่ก่อปัญหายุ่งยากอย่างมาก และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งนี้ย่อมจะต้องส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน”

ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่าระบบทุนนิยมนั้นกำลังกลายเป็นระบบที่ตกอยู่ภายใต้วิกฤต อัตราการเติบโตอย่างเฉื่อยชาของผลผลิตของแรงงาน และในบางกรณีอยู่ในสภาวะตกต่ำนั้นคือสภาพอาการอันชัดเจนของทางตันของระบบทุนนิยม ซึ่งไม่สามารถจะบรรลุความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนากำลังการผลิตได้ดังเช่นในอดีต

 

American Stock Exchange building Image Wally Gobetz

ภาพจาก : Wally Gobetz

 

ต้นตอของปัญหานั้นปรากฏขึ้นในระดับการลงทุนที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ การระดมทุนทั้งหมดในสหภาพยุโรป (European Union) และในสหรัฐอเมริกา (United States) นั้นตกต่ำลงกว่า 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 ในขณะที่การใช้ทุนและการเสื่อมราคาของทุนนั้นขยายตัวขึ้น ในกลุ่มประเทศอดีตอาณานิคมนั้นการเติบโตด้านราคาของสินค้ากลุ่มวัตถุดิบ (raw material) นั้นได้จุดประกายให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนขึ้น หากทว่ามันก็มีสภาพตกต่ำลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ความล้มเหลวในการลงทุนด้านการผลิตนั้นไม่ใช่ผลที่เกิดจากการขาดแคลนเงิน แต่ในทางตรงกันข้ามเลย บรรดาบริษัทหรือธุรกิจขนาดใหญ่นั้นมีสภาวะที่เสมือนว่ากำลังว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรของเงินตรา อดัม เดวิดสัน (Adam Davidson) ได้เขียนบทความเอาไว้ใน The New York Times ในเดือนมกราคม ปี 2016 ซึ่งในบทความนี้เขาได้ประกาศว่า “ธุรกิจขนาดใหญ่ของชาวอเมริกันในปัจจุบันที่มีกระแสเงินสดถือครองรวมกันกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาห์ กลับทำเพียงกอดเงินทุนนั้นเอาไว้เฉยๆ” ... ซึ่ง “สถานการณ์ดังกล่าวนี้ [เป็นสิ่งที่] ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อนในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ...” ตัวผู้เขียนบทความดังกล่าวนี้มองว่าสิ่งที่เขากำลังพบเจออยู่คือ “เรื่องลี้ลับ” (mystery) หากแต่สิ่งที่มันแสดงออกอยู่นี้คือการแสดงว่าชนชั้นนายทุนนั้นไม่มีพื้นที่ที่สามารถทำกำไรได้อีกในการลงทุนในสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจโลก (Why Are Corporations Hoarding Trillions? New York Times, January 20, 2016)

จากข้อมูลที่ใหม่กว่า ในธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (US Federal Reserve) ซึ่งได้ประมาณการจำนวนของ “กลุ่มบริษัทซึ่งไม่ใช่สถาบันทางการเงิน กลุ่มสินทรัพย์สภาพคล่อง อันประกอบไปด้วย การถือครองสกุลเงิน บัญชีเงินฝากของชาวต่างชาติ ตลาดการเงิน และ การลงทุนในกองทุนร่วม” อยู่ในระดับที่ “มีมูลค่ารวมกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาห์ในช่วงไตรมาสที่สาม” ของปี 2017

ระบบในปัจจุบันนั้นกำลังตกอยู่ในสภาพของการจมลงท่ามกลางความมั่งคั่งที่มากเกินไป ซึ่งมันมีลักษณะเสมือนหมอผีฝึกหัดที่ทดลองร่ายคาถาวิเศษที่เจ้าตัวเองก็ไม่สามารถจะควบคุมคาถานั้นได้ กำลังการผลิตในปัจจุบันนั้นมีกำลังมากพอที่จะสามารถผลิตสินค้าจำนวนมหาศาลที่ระบบตลาดไม่อาจจะรองรับได้

ความขาดความสามารถในการหยิบใช้ผลประโยชน์ของมูลค่าส่วนเกินขนาดมหาศาลซึ่งขูดรีดเอามาจากหยาดเหงื่อและหยดเลือดของชนชั้นแรงงานนี้คือการตัดสินชี้ขาดขั้นสุดท้ายของระบบทุนนิยม การผลิตจนล้นเกิน (Overproduction) นั้นได้สะท้อนออกมาให้เห็นในวิกฤตทั่วไปของระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะยิ่งเกิดขึ้นบ่อยขึ้นในรัฐที่อ่อนแอ การผล่อยสินเชื่อราคาถูกนั้นไม่สามารถจะกระตุ้นการลงทุนได้อีกต่อไป เพราะมันจะมีประโยชน์อะไรในการลงทุนเพื่อสร้างกำลังการผลิตใหม่ขึ้นมาในเมื่อมันไม่มีตลาดสำหรับรองรับสินค้าที่ผลิตขึ้นมาได้?

 

การฟื้นฟูใหม่?

ในทุกๆวันนั้นเรามักจะได้รับการกล่าวอ้างของสื่อที่พูดถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในกรณีที่ดีที่สุดแล้วมันมีการเติบโตขึ้นเล็กน้อยในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในบริบททั่วๆไปภายหลังการซบเซาอย่างยาวนาน สำหรับนักมาร์กซิสต์ (Marxists) แล้วเราย่อมไม่แปลกใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ หรือกระทั่งในช่องเวลาของการเสื่อมถอยลงของระบบที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องภายในวงจร และภายหลังช่วงเวลาอันยาวนานของการเสื่อมถอยหรือความเฉื่อยชาของการฟื้นฟูขนาดเล็กที่ความหวังไว้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ปรากฏขึ้นเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมชาติที่อ่อนแอที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการฟื้นฟูอย่างมั่นคงและมันจะไม่มีการฟื้นฟูครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

การเติบโตอย่างจำกัดนั้นได้เดินทางมาถึงการต่อต้านภูมิหลังของนโยบายทางการเงินแบบลอยตัวสุดโต่ง (ultra-loose monetary policy) ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาได้รักษาระดับของอัตราขึ้นพื้นฐานในระดับสูงกว่าศูนย์จากช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2008 จนกระทั่งในช่วงต้นปี 2017 ธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (The European Central Bank) เองก็ลดระดับอัตราการแลกเปลี่ยนลงอยู่ในระดับที่สูงกว่าศูนย์เช่นกัน

ฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ (Real estate bubbles) นั้นปรากฏขึ้นในตลาดซื้อขายบ้านในอังกฤษ, แคนาดา, จีน และแถบสแกนดิเนเวีย ตลาดหุ้นต่างประเทศนั้นไม่เพียงแต่จะไม่ได้รับการฟื้นฟูหากแต่มันยังมีมูลค่ามากกว่าการประเมินมูลค่าในปี 2007 ดัชนีดาวน์โจนส์ (Dow Jones) นั้นไม่เพียงแต่จะขยับตัวสูงขึ้นหากแต่มันยังขยายมูลค่าการตีราคาของตัวเองขึ้นไปกว่า 36% ทำให้ราคาซื้อขายของมันนั้นมีค่ามากกว่ามูลค่าตอบแทน (นั่นก็คือราคาที่ผู้ลงทุนจะต้องจ่ายเพื่อแลกกำไรหรือเงินปันผลของบริษัท) เป็นการขยับตัวขึ้นไปสูงที่สุดเป็นครั้งที่สามในประวัติศาสตร์ (สองครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในปี 1929 และปี 2000) สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนเป็นตัวบ่งชี้ ซึ่งไม่ใช่การบ่งชี้ถึงการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ หากแต่เป็นการบ่งชี้ถึงวิกฤตอื่นๆที่กำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งมันย่อมจะมีผลกระทบจากการถ่ายโอนเงินจำนวนมหาศาลไปสู่ชนชั้นนายทุน ที่สินทรัพย์ของพวกเขานั้นกำลังขยายตัวขึ้นในเชิงมูลค่าด้วยการไหลเข้ามาของสินเชื่อรูปแบบใหม่.

 

ขีดจำกัดของสินเชื่อ

เหตุผลของทางตันของระบบทุนนิยมในปัจจุบันนั้น ในช่วงเวลาหลายทศวรรษก่อนหน้าถึงปี 2008 ระบบทุนนิยมนั้นไม่เพียงแต่จะเดินทางไปถึงขีดจำกัดของตัวมันเองเท่านั้นหากแต่มันยังก้าวผ่านไปไกลจากขีดจำกัด “ตามธรรมชาติ” ของตัวมันเอง การขยายตัวอย่างเป็นประวัติการณ์ของระบบสินเชื่อและหนี้สินนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบทุนนิยมสามารถจะเอาชนะข้อจำกัดของระบบตลาดและการผลิตจนล้นเกินได้ กล่าวในอีกทางหนึ่งคือมันเกิดการขยายตัวอย่างมหาศาลในระบบการค้าโลกและการทำให้ระบบการแบ่งงานกันทำในระดับสากล (international division of labour) นั้นมีความเข้มข้นขึ้น (intensification)

มาร์กซ์ได้อธิบายว่าหนทางหนึ่งที่ระบบทุนนิยมจะเข้าใกล้ขีดจำกัดของระบบตลาดและแนวโน้มที่จะทำให้อัตราการสร้างกำไรตกต่ำลงนั้นคือการผ่านการขยายตัวอย่างมหาศาลของระบบสินเชื่อ และการขยายตัวของระบบการค้าโลก (“โลกาภิวัตน์” – “globalisation”) ซึ่งเป็นเพียงเงื่อนไขบางส่วน และสำหรับในช่วงเวลาภายใต้ขีดจำกัดเป็นเวลาไม่กี่ทศวรรษ นั้นก็ทำให้ระบบทุนนิยมสามารถขยับไปสู่กุญแจสำคัญของความขัดแย้งอื่นๆ นั่นคือขีดจำกัดของระบบรัฐชาติ หากแต่การแก้ปัญหาทั้งสองนี้ต่างก็มีผลกระทบอย่างจำกัดและในตอนนี้ก็ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นเงื่อนไขที่ต่อต้านระบบเสียเอง

ในอดีตนั้น สหรัฐอเมริกามีหนี้สินรวม (ทั้งภาครัฐและเอกชน) เป็นจำนวนราวๆ 100-180% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายทศวรรษที่ 1980 ปริมาณหนี้ทั้งหมดนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 200% และยังขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปี 2009 ที่ขยับตัวมาถึงจุดสูงที่สุดคือ 300% ในประเทศญี่ปุ่น, อังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, อิตาลี และเกาหลีใต้ ต่างก็มีปริมาณหนี้ในระดับส่วนเกิน 300% ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันนี้อาจจะกล่าวได้ว่าระบบเศรษฐกิจระดับโลกนั้นมีปริมาณหนี้รวมกันราว 217 ล้านล้านดอลลาห์ หรือราว 327% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับโลก ซึ่งเรียกได้ว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

 

anti austerity protest in London image wikimedia commons

ภาพจาก : public domain

 

ในงานเรื่อง The Communist Manifesto นั้นมาร์กซ์ได้ชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาของชนชั้นกระฎุมพีในปัจจุบันนั้นคือการแผ้วถางทางล่วงหน้าอันจะก่อให้เกิดปัญหาและวิกฤตใหม่ในอนาคต ชนชั้นกระฎุมพีประสบความสำเร็จอะไรบ้างในการแก้ไขปัญหาในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาพร้อมกับความเจ็บปวด การอดออม และการทุกข์ทรมานทั้งหลาย? ความมุ่งหมายของชนชั้นกระฎุมพีนั้นคือการมุ่งมั่นที่จะลดการขาดดุลและหนี้ขนาดมหาศาลที่เกิดขึ้นจากผลจากการกระทำในอดีต

สิ่งที่ชนชั้นกระฎุมพีทำได้สำเร็จอย่างเดียวก็คือการเปลี่ยนหลุมดำขนาดใหญ่ในธนาคารเอกชนให้กลายเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ในสถาบันทางการเงินภาครัฐ ธนาคารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ยืนอยู่บนปากเหว และพวกเขายังคงปลอดภัยอยู่ได้ก็เนื่องมาจากการแทรกแซงจากภาครัฐ ซึ่งช่วยเหลือบรรดาธนาคารเหล่านี้ด้วยการมอบเงินของภาครัฐจำนวนนับล้านล้านให้กับกลุ่มธนาคาร ปัญหาก็คือรัฐนั้นไม่มีหนทางในการหารายได้จากทางไหนเลยยกเว้นจากการรีดภาษีเอาจากผู้จ่ายภาษี

ดังนั้นคำถามสำคัญก็คือ ใครเป็นคนจ่ายภาษี? แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าบรรดาคนรวยนั้นไม่ได้จ่ายภาษีที่มากพอ พวกคนรวยนั้นมีข้ออ้างและหนทางมากมายในการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ในขณะที่ชนชั้นแรงงานจะต้องจ่ายภาษี ชนชั้นกลางจะต้องจ่ายภาษี คนว่างงานต้องจ่ายภาษี คนป่วยต้องจ่ายภาษี โรงเรียนต้องจ่ายภาษี ทุกๆคนในสังคมล้วนแล้วต้องจ่ายภาษียกเว้นเพียงแต่พวกคนรวย ผู้ซึ่งร่ำรวยและร่ำรวยมากขึ้นเรื่อยๆกระทั่งในช่วงเวลาที่ทุกคนในสังคมจำเป็นต้อง “อดออม”

ทั้งหมดที่เรากล่าวมานี้ได้ช่วยให้เกิดการแก้ไขอะไรบ้างหรือเปล่า? ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 7 ส่วนจาก 10 เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังคงดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดการขาดดุลภาครัฐในระดับ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และมีเพียงเยอรมนีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีตัวเลขการขาดดุลอยู่ที่ 2% ระบบหนี้นั้นขยายตัวขึ้นในทุกหนทุกแห่ง ซึ่งมันไม่มีหนทางใดเลยที่เราจะก้าวออกจากวิกฤตนี้ยกเว้นและเพียงแต่ว่าบรรดาหนี้เหล่านี้นั้นจะถูกลบล้างออกไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วมีวิธีไหนบ้างที่จะสามารถลบล้างหรือกำจัดหนี้สาธารณะได้? วิธีที่ง่ายที่สุดที่ถูกใช้อยู่ในปัจจุบันก็คือการผลักภาระหนี้ทั้งหมดไว้บนบ่าของกลุ่มคนจนและกลุ่มคนที่ขาดโอกาสและอ่อนแอที่สุดในสังคม.

 เรื่องราวทั้งหมดที่เราได้ร่วมพบเห็นเป็นพยานในระดับสากลนี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และในที่นี้เรากำลังพูดถึงเพียงแต่วิกฤตหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศทุนนิยมก้าวหน้า (advanced capitalist countries) เท่านั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เราเรียกว่ากลุ่มประเทศโลกที่สาม (third world) นั้นย่อมจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปซึ่งเป็นภาพของความทุกข์ยากที่เราไม่พึงประสงค์ เป็นความหายนะที่เราไม่อาจจะคิดภาพได้ อันมาพร้อมความเสื่อมโทรมและปัญหาความอดอยากของมวลมนุษย์ทั้งชาย หญิง และเด็กๆจำนวนนับพันล้านคน.

 

การคุกคามจากลัทธิคุ้มครองการค้า

เป็นเวลานับทศวรรษที่ระบบการค้าโลกนั้นเติบโตไปอย่างรวดเร็วกว่าการเติบโตด้านการผลิต ภายใต้เงื่อนไขที่มันเป็นกำลังสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาไม่นานมานี้การเติบโตของการค้าโลกนั้นมีลักษณะที่เชื่องช้าลงและตกลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ปริมาณระบบการค้าโลกนั้นหากเทียบเป็นอัตราส่วนแล้วมันเคยขยับขึ้นไปถึงจุดที่สูงที่สุดคิดเป็น 61% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมถึงสองครั้ง คือในปี 2008 และปี 2011 หากแต่ว่าในปัจจุบันนั้นตัวเลขเหล่านี้กลับตกลงมาเหลือเพียง 58% เท่านั้น

องค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) ได้แสดงความกังวลว่าภายใต้สถานการณ์แบบนี้อาจจะกระตุ้นให้รัฐบาลในแต่ละประเทศดำเนินนโยบายปกป้องตลาดภายในประเทศของตัวเองด้วยมาตรการตั้งกำแพงภาษีศุลกากรซึ่งนโยบายแบบดังกล่าวนั้นย่อมจะส่งผลลบต่อระบบการค้าระดับโลก และดูเหมือนว่าปรากฏการณ์หนึ่งที่จะช่วยยืนยันถึงความกลัวและความเป็นกังวลต่อเรื่องนี้ก็คือการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่กระโดดเข้ามาร่วมฉากอย่างผิดพลาดราวกับช้างที่โผล่เข้ามาในร้านค้าสินค้าจีน นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์เรื่อง “อเมริกันต้องมาก่อน” (“America first”) นั้นโดยตัวนโยบายเองนั้นมันเป็นภาพสะท้อนของวิกฤตการณ์โลก ความต้องของทรัมป์ที่จะ “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” (“make America great again”) จากการเสียสละและการใช้เงินทุนของประเทศอื่นๆที่เหลือ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เขาต้องการที่จะใช้ขุมกำลังของอเมริกาในการจะยึดกุมส่วนแบ่งของการตลาดของโลกที่ขยายตัวสูงขึ้น

ในช่วงไม่กี่ปีหลังที่ผ่านมานี้ นายทุนชาวอเมริกันนั้นดิ้นรนอย่างหนักที่จะควบรวมจำนวนข้อเสนอทางการค้าระหว่างยุโรป อเมริกา และจีนเข้าด้วยกัน และสิ่งแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ทำหลังจากรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯก็คือการฉีกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) และ ข้อตกลงการเจรจาหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership - TTIP) นอกจากนี้ทรัมป์เองยังขู่ที่จะทำลายข้อตกลงสัญญาการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Agreement - NAFTA) อีกด้วยถ้าหากว่าเขาไม่ได้รับข้อตกลงที่น่าพึงพอใจ ที่แมกซิโกและแคนาดาจะต้องยอมเสียผลประโยชน์ของประเทศตนเองให้เป็นประโยชน์กับสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้เขาเองยังขู่ที่จะทำลายองค์การการค้าโลกด้วยการขัดขวางการสืบทอดตำแหน่งของผู้พิพากษาในศาลขององค์การการค้าโลก

 

Trump China 1 Image The White House

ภาพจาก : The White House

 

จีนนั้นได้รับส่วนต่างทางการค้าอย่างมหาศาลจากสหรัฐอเมริกา ตัวเลขจากการบันทึกนั้นพบว่าส่วนต่างทางการค้านี้มีมูลค่ามากถึง 275.81 พันล้านดอลลาห์ ในปี 2017 และนี่เองที่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทรัมป์ออกมากล่าวโทษว่าจีนนั้นกำลังคุกคามและเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างการหาเสียงเพื่อรับเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นทรัมป์เองก็กล่าวโทษจีนว่าเป็น “ผู้กระทำชำเราอเมริกา” และ เป็นผู้ปล้นชิงงานไปจากชาวอเมริกัน ฯลฯ หลังจากนั้นทรัมป์ก็เรียนรู้ที่จะปรับท่าทีและท่วงทำนองทางภาษาของเขาลงด้วยความคาดหวังที่จะขอให้จีนช่วยเพิ่มมาตรการกดดันต่อเกาหลีเหนือ หากแต่เป้าประสงค์นั้นก็ยังไม่บรรลุผลและความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ถูกคลี่คลายลง และนี่ก็คือเค้าโครงคร่าวๆของอนาคตทางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ทรัมป์นั้นไม่ใช่ผู้นำเพียงคนเดียวที่พยายามใฝ่หานโยบายในลักษณะนี้ หากย้อนกลับไปตั้งแต่การเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นประเทศทุนนิยมก้าวหน้า (advance capitalist countries) ต่างก็พยายามใช้มาตรการต่างๆเพื่อจะเพิ่มส่วนต่างทางการค้า ซึ่งในประสบความสำเร็จเป็นบางส่วนในการดำเนินมาตรการด้านกำแพงภาษี สหรัฐอเมริกา (ภายใต้รัฐบาลของนายบารัค โอบามา) นั้นได้กลายมาเป็นประเทศผู้นำด้านการคุ้มครองการค้าของโลก ซึ่งยังรวมไปถึง สหราชอาณาจักร, สเปน, เยอรมนี และฝรั่งเศส อีกด้วยซึ่งมีการปกป้องการค้าที่มากกว่านโยบายในจีนเสียอีก

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องย้ำเตือนกันอีกครั้งว่าลัทธิคุ้มครองการค้า (protectionism) นี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปะทะในปี 1929 ให้กลายไปเป็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ในทศวรรษที่ 1930 ถ้าหากว่านโยบายคุ้มครองการค้านี้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังแล้วมันสามารถที่จะทำให้โครงสร้างอันบอบบางทั้งหมดของระบบการค้าโลกพังทลายลงได้ในทันทีด้วยผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากตัวนโยบายเอง.

 

สหรัฐอเมริกา – วิกฤตการณ์ครั้งประวัติการณ์

ความอ่อนแอ เชิงสัมพันธ์ ของสหรัฐอเมริกาที่สืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นได้แสดงให้เห็นออกมาผ่านตัวเลขที่ว่า ในปี 1945 นั้นตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า 50% ล้วนเกิดขึ้นภายในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในปัจจุบันนี้ตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมในสหรัฐอเมริกากลับปรับลดลงเหลือเพียง 20% เท่านั้น เมื่อไรก็ตามที่เราพูดถึงความอ่อนแอ เชิงสัมพันธ์ ของจักรวรรดินิยมอเมริกา (US imperialism) เราไม่ได้กำลังที่จะ ไม่ว่าในทางใดก็ตาม พูดอย่างเกิดจริง จากความเสื่อมถอยเชิงสัมพันธ์เรากำลังพยายามจะสื่อความว่าตัวระบบของมันนั้นมีความอ่อนแอและไม่สามารถที่จะสร้างบทบาทอย่างที่มันเคยทำได้ในอดีตได้อีกต่อไป เหมือนเช่นที่เราได้เห็นมาแล้วจากวิกฤตการณ์ในซีเรีย (Syrian crisis) ถึงกระนั้นก็ดีสหรัฐอเมริกาเองก็ยังคงรักษาสถานะความเป็นมหาอำนาจผู้ครองอำนาจควบคุมในระดับโลกอยู่และยังไม่มีขุมกำลังที่อยู่ในสถานะที่จะสามารถมาแทนที่ได้ เหมือนเช่นการที่สหรัฐอเมริกาเคยเข้าแทนที่ตำแหน่งมหาอำนาจของสหราชอาณาจักรในอดีต เป็นต้น

ความอ่อนแอเชิงสัมพันธ์นี้ได้สร้างผลกระทบสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาทั้งในความสามารถในการครองอำนาจควบคุม (dominate) ในระบบเศรษฐกิจโลก, ระบบการเมืองโลก และการทูตระหว่างประเทศ และความสามารถในการสร้างกำลังแรงงานสำหรับสหรัฐอเมริกาที่มีมาตรฐานการดำรงชีพที่เหมาะสมอันเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องหลังความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาในอดีต ความเป็นจริงดังกล่าวนี้ยังคงไม่เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายในระดับความตระหนักรู้ของมวลชนชาวอเมริกา

 

Trump 2018 Foto Socialist Appeal

ภาพจาก : Socialist Appeal

 

ความฝันแบบอเมริกัน (American dream) นั้นได้ตายลงแล้ว และมันได้ถูกแทนที่ไว้ด้วยความฝันร้ายของอเมริกัน (American nightmare) ความฝันแบบอเมริกานั้นได้บรรลุจุดจบของมันไปแล้วและมันไม่มีหนทางที่จะรื้อฟื้นมันกลายมาได้ ความเปลี่ยนแปลในจิตสำนึก (consciousness) ในอเมริกานั้นได้แสดงออกมาในทิศทางที่แปลกประหลาดระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนปี 2016 ในอดีตที่ผ่านมานับร้อยปีนั้นความมั่นคงของระบบทุนนิยมในสหรัฐอเมริกานั้นวางรากฐานอยู่บนระบบแบบสองพรรคการเมือง นั่นคือพรรคเดโมแครต (Democrats) และพรรครีพับลิกัน (Republicans) ซึ่งทั้งสองพรรคนี้ต่างก็สลับกันเข้าไปมีอำนาจในการปกครองตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

หากแต่มันได้เกิดความไม่พอใจขนานใหญ่ขึ้นมาพร้อมกับความปรารถนาอันร้อนแรงในการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราได้เห็นมาแล้วในการลงคะแนนเสียงโหวตให้กับโอบามา ผู้ซึ่งปลุกระดมผู้คนด้วยคำสัญญาถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลง นั่นทำให้ผู้คนนับล้านที่ไม่เคยสนใจการลงคะแนนเสียงกลับมาเข้าคิวรอเพื่อจะลงคะแนนให้กับผู้นำผิวสีชาวอเมริกันคนนี้ และพวกเขายอมโหวตให้โอบามาถึงสองสมัย หากทว่าในท้ายที่สุดแล้วมันก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆขึ้น ด้วยเหตุนี้มันจึงก่อให้เกิดความโกรธแค้น ความเจ็บปวด และความไม่พอใจขึ้นอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนยากจนและชนชั้นล่าง

สภาพอารมณ์ของสังคมแบบดังกล่าวนั้นได้ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในระหว่างการเดินสายหาเสียงของนายเบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ในช่วงแรกนั้นมีคนจำนวนน้อยมากที่รู้จักชื่อของเบอร์นี แซนเดอร์ส ในขณะที่คนทั่วไปนั้นรู้จักและคุ้นเคยกับชื่อของนางฮิลลารี่ คลินตัน (Hillary Clinton) มากกว่า หากแต่เมื่อเบอร์นีนั้นได้พูดปลุกเร้าถึงการสร้างการปฏิวัติทางการเมืองเพื่อต่อต้านชนชั้นนายทุนแล้ว คำพูดของเขาก็ประทับเข้ากลางจิตใจและความคิดของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (แต่ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มนี้) กลุ่มคนรุ่นใหม่ อันทำให้เกิดการที่มวลชนนับหมื่นคนเข้ามาชุมนุมเพื่อรอพบปะและสนับสนุนเบอร์นี แซนเดอร์ส และในท้ายที่สุดนั้นผู้ทำการศึกษาการเลือกตั้งในครั้งนั้นถึงกับกล่าวว่า หากการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมาเบอร์นี แซนเดอร์สได้ลงสมัครชิงตำแหน่งกับทรัมป์แล้วล่ะก็ เบอร์นีจะต้องเป็นผู้ได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน หากแต่ในทางเดียวกันนั้นมันก็เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ในท้ายที่สุดแล้วเบอร์นีก็ถูกบีบบังคับให้ออกจากการแข่งขันโดยกลไกภายในพรรคเดโมแครต สภาพการณ์นั้นแย่ลงเรื่อยๆ และเบอร์นีก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้ฐานเสียงของเบอร์นีเลือกจะถอนตัวตามเขาไปด้วย

เป็นเรื่องปกติที่ชนชั้นปกครอง (ruling class) นั้นย่อมจะนิยมชมชอบประชาชนที่พวกเขาสามารถควบคุมได้ อย่างประชาชนที่มีลักษณะแบบฮิลลารี่ คลินตัน ชนชั้นปกครองนั้นไม่ต้องการและเคยต้องการคนแบบทรัมป์เพราะเขามันเป็นพวกนอกรีตทวนกระแส ที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงอย่างสุดขั้วและด้วยเหตุนั้นทำให้ทรัมป์เป็นคนที่ยากจะควบคุม ในขณะที่ฮิลลารี่ คลินตันนั้นเป็นตัวแทนของบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ ทรัมป์เองก็อยู่ในตำแหน่งทางชนชั้นเดียวกันหากแต่เขามีความคิดเป็นของตัวเองว่าควรจะทำอย่างไรในแต่ละเรื่อง ในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ปลุกเร้าและจูงใจมวลชนโดยการกล่าวอ้างถึงชนชั้นแรงงาน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ที่ผู้ลงสมัครประธานาธิบดีเอ่ยปากถึงชนชั้นแรงงาน (เบอร์นี แซนเดอร์สเองก็กระทำเช่นเดียวกัน) ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างไม่เคยมีมาก่อน อันเนื่องมาจากกระทั่งในหมู่ฝ่ายซ้าย (left-wing) เสรีนิยม (liberal) และผู้นำสหภาพแรงงาน (trade union leaders) ในสหรัฐอเมริกาเองนั้นก็เอาแต่พูดถึง “ชนชั้นกลาง” (middle class)

บรรดาสถาบันต่างๆพยายามอย่างสุดกำลังที่จะหยุดทรัมป์ หากแต่พวกเขาล้วนแล้วแต่ประสบความล้มเหลว บรรดาชนชั้นปกครองล้วนต่อต้านการปลุกเร้ามวลชนของทรัมป์ พรรคเดโมแครตเองก็ต่อต้านทรัมป์ และแม้กระทั่งเสียงส่วนใหญ่ภายในพรรครีพับลิกันก็ยังต่อต้านทรัมป์ และสื่อแทบทุกสำนักต่างก็ต่อต้านทรัมป์ แต่ทรัมป์ก็ประสบความสำเร็จในการแยกสำนักข่าวฟ๊อกซ์ (Fox News) ออกมาได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าบรรดาสื่อต่างๆนั้นก็คือเครื่องมืออันทรงอำนาจรูปแบบหนึ่งในมือของชนชั้นปกครอง หากทว่าในท้ายที่สุดแล้วทรัมป์ก็ยังชนะเลือกตั้งอยู่ดี

นี่ถือเป็นการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ทางการเมือง หากแต่เราจะสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร? ทรัมป์นั้นถือได้ว่าเป็นพวกปฏิกิริยา (reactionary) หากแต่เขากลับมีทักษะในการปลุกเร้ามวลชนที่สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนจนได้ ทำให้คนว่างงานและคนงานสามารถรู้สึกแปลกแยกตนเองจากสายพานการทำงานได้ อีกทั้งยังเสนอการจัดหางานให้พวกเขา ประกาศยกเลิกนโยบายและข้อตกลงรวมถึงยกเลิกสิทธิพิเศษของบรรดาชนชั้นนำ นี่คือวิถีทางที่ทรัมป์เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับความรู้สึกร่วมของคนในสังคม

เบอร์นี แซนเดอร์สนั้นก็เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกร่วมของคนในสังคมเช่นกัน หากแต่ก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ว่าท้ายที่สุดแล้วเบอร์นีจะถูกสกัดจากกลไกภายในพรรคเดโมแครต และในท้ายที่สุดเมื่อเบอร์นีต้องยอมจำนนและออกมาประกาศให้ผู้คนช่วยสนับสนุนฮิลลารี่ คลินตัน ผู้คนจำนวนมากจึงหันไปมองทรัมป์ในฐานะของ “ปิศาจที่เลวน้อยกว่า” (lesser evil) และทำให้ทรัมป์กลายเป็นผู้ชนะในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้คนจำนวนมากที่ไม่สามารถโหวตให้เบอร์นีได้ (เนื่องจากเขาถูกบีบให้เปิดทางแก่ฮิลลารี่ คลินตัน) นั้นเลือกที่จะไม่ไปโหวตหรือเปลี่ยนมาใช้ความคิดว่า “ถ้าหากเราไม่สามารถโหวตให้เบอร์นีได้ เราก็จะไปโหวตให้ทรัมป์แทน”

การเดินสายหาเสียงของทรัมป์นั้นโดดเด่นขึ้นมาด้วยการเดินสายปลุกเร้ามวลชนและสร้างการระดมพลมาชุมนุมจากหลายเขตฐานเสียงที่เคยไม่สนใจการเมืองหรือเฉื่อยชาทางการเมืองมาก่อน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วทำให้ทรัมป์ประสบความสำเร็จสูงสุด และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งแบบที่ไม่เคยมีผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันคนใดเคยทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์ แม้ว่าการเทียบเปอร์เซ็นต์ในภาพรวมแล้วคะแนนของทรัมป์อาจจะต่ำกว่าผู้ลงสมัครประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันชื่อมิตช์ รอมนีย์ (Mitt Romney) ในปี 2012 แต่อย่างไรก็ตามชัยชนะของทรัมป์นั้นก็ได้เปิดเผยให้เห็นความไม่โปร่งใสและความไม่เป็นประชาธิปไตยภายในระบบสถาบันกรรมการการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา (US Electoral College) ที่ทำงานไปเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง ทั้งๆที่ทรัมป์นั้นมีคะแนนเสียงที่มากกว่าฮิลลารี่ถึงเกือบสามล้านเสียง

มวลชนชนชั้นกระฎุมพีจำนวนมากนั้นไม่ชอบใจนักกับผลการเลือกตั้งที่ออกมาผิดความคาดหวัง แต่ทว่าในประการแรกนั้นพวกเขากังวลกันมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามชนชั้นกระฎุมพีนั้นมีหนทางนับพันวิธีที่จะควบคุมนักการเมืองที่ควบคุมไม่ได้ ในขั้นแรกนั้นพวกเขาพยายามที่จะปลอบขวัญตัวเองจากด้วยการคิดเอาว่าสิ่งที่ทรัมป์พูดระหว่างหาเสียงนั้นเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) และทรัมป์ย่อมจะทำตัวดีขึ้นเองเมื่อเขาได้เข้าสู่ทำเนียบขาว (หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ทรัมป์จะเปลี่ยนมารับคำสั่งจากบรรดาชนชั้นปกครอง) หากแต่พวกเขาประเมินผิดไปอย่างมาก เพราะทรัมป์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าชายในทำเนียบขาวคนนี้ไม่ใช่ผู้ที่จะถูกควบคุมได้อย่างง่ายดาย

 

Donald Trump 1 Image Flickr Michael Vadon

ภาพจาก : Flickr, Michael Vadom

 

ในขณะที่พรรคเดโมแครตนั้นมีคำอธิบายต่อชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของทรัมป์อย่างง่ายดายมากๆนั่นคือพวกเขาหันไปโทษพวกรัสเซีย ในขณะที่ฮิลลารี่ คลินตันก็โทษว่าความพ่ายแพ้ของเธอเกิดขึ้นจากความผิดของเบอร์นี แซนเดอร์ส และจากการกล่าวโทษในวันนั้นกระทั่งถึงวันนี้เองพรรคเดโมแครตก็ยังไม่รู้และไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมทรัมป์ถึงชนะการเลือกตั้ง พวกเขาทุ่มเทกำลังทั้งหมดเพื่อกล่าวอ้างและใส่ร้ายว่ารัสเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการแฮ๊ค ซึ่งพรรคเดโมแครตอ้างว่าทำให้เป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้ง

การกล่าวโทษรัสเซียว่าอยู่เบื้องหลังการแฮ๊คและเปิดเผยเอกสารลับบางอย่างของฮิลลารี่ คลินตันนั้นอาจจะจริง หรืออาจจะไม่จริงก็ได้ หากแต่ในหลายประเทศและไม่เฉพาะแต่ในสหรัฐอเมริกา ต่างก็ถูกแฮ๊คข้อมูลอยู่เสมอ มีการดักฟังโทรศัพท์ และการพยายามแทรกแซงเข้าสู่ประเทศอื่นๆอยู่เสมอ – รวมไปถึงกระทั่ง “ประเทศพันธมิตร” ของตัวเอง ดังเช่นที่อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) ได้ค้นพบ หากแต่การจะกล่าวอ้างว่ารัฐบาลรัสเซียนั้นสามารถบงการและควบคุมชาวอเมริกันนับล้านให้ลงคะแนนเสียงได้นั้น ข้อกล่าวอ้างนี้นับว่าเป็นข้ออ้างที่เด็กและไร้เดียงสาอย่างสุดขั้ว

สิ่งที่คาดไม่ถึงจริงๆนั้นคือการที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาควรจะต้องตระหนักว่าตัวเองควรจะพบปะทางสาธารณะกับสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Bureau of Investigation - FBI) และปฏิบัติการลับนั้นก็ควรจะต้องถูกปกปิดเอาไว้เป็นความลับ และพวกเขานั้นล้วนแล้วแต่อยู่ในส่วนแก่นของรัฐราชการ สำหรับบรรดาเจ้าหน้าที่เหล่านี้แล้วการออกมาปะทะในทางสาธารณะกับประธานาธิบดี การพยายามอย่างเปิดเผยที่จะบ่อนทำลายและขับไล่ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน และท่ามกลางการปะทะกันอย่างสะเทือนเลือนลั่นนี้ ทุกๆคนย่อมจะหลงลืมไปแล้วว่าสิ่งที่ถูกแฮ๊คออกมาคืออะไร และไม่มีคนสนใจเนื้อหาของมันด้วยในเมื่อเขาเห็นความจริงอยู่เบื้องหน้าแล้ว

ในความเป็นจริงแล้ว ข้อวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งถูกรวบรวมเอาไว้และนำเสนอโดยวิกิลีกส์ (Wikileaks) นั้นได้เสนอความจริงเอาไว้อย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางหลักฐานต่างๆนั้นได้แสดงให้เห็นข้อพิสูจน์ว่ากลไกภายในพรรคเดโมแครตได้ใช้เทคนิคและกลโกงต่างๆเพื่อกีดกันเบอร์นี แซนเดอร์สออกไปและพยายามทำให้ฮิลลารี่ คลินตันได้รับชัยชนะ ซึ่งแน่นอนว่านี่เรียกได้ว่าเป็นการแทรกแซงครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา หากแต่ว่าท่ามกลางการพยายามชูประเด็นเรื่อง “การแทรกแซงของรัสเซีย” นั้นก็ทำให้ความจริงเหล่านี้ถูกลืมเลือนไป

การปฏิวัตินั้นไม่ได้เริ่มต้นขึ้นจากส่วนล่างสุดของสังคม หากแต่มันเริ่มต้นขึ้นจากส่วนบนด้วยจิตวิญญาณภายในชนชั้นปกครอง และตรงนี้เองที่เราได้เห็นรอยแยกที่เกิดขึ้นในรัฐ มันไม่ใช่เพียงวิกฤตทางการเมืองแบบปกติ หากแต่มันเป็นวิกฤตของระบอบ (crisis of the regime) หน่วยข่าวกรอง – ราชองค์รักษ์ของชนชั้นปกครอง – โดยปกติแล้วนั้นไม่ต้องการให้ถูกมองว่าเป็นผู้เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง แม้ว่าพวกเขาจะทำการแทรกแซงการเมืองอยู่ตลอดเวลา มันจึงเป็นสถานการณ์อันน่าเหลือเชื่อที่ FBI นั้นกำลังทำการสมคบแผนการณ์เหล่านี้และกำลังกระโดดลงมาเป็นตัวแสดงทางการเมืองอย่างเปิดเผยต่อหน้าสายตาของประชาชนชาวอเมริกัน

สถานการณ์ทางการเมืองอเมริกาในปัจจุบันนั้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งนั้นกำลังเผชิญหน้ากับเสียงส่วนใหญ่ในรัฐ กับสื่อมวลชน กับ FBI กับ CIA และกำลังเผชิญหน้ากับหน่วยงานลับทั้งหมดที่ชนชั้นปกครองได้หยิบใช้องค์กรเหล่านี้ในฐานะของเครื่องมือเพื่อจะกำจัดทรัมป์ออกไปให้พ้นทาง หรือทำให้ทรัมป์ยอมจำนนต่อชนชั้นปกครอง.

 

การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก

ฝ่ายซ้ายจำนวนมากในยุโรปนั้นสมาทานความคิดที่ว่าผู้คนชาวอเมริกันนั้นเป็นพวกปฏิกิริยา เป็นฝ่ายขวา และไม่เคยมีความคิดที่จะสนับสนุนสังคมนิยม ความคิดทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริงเลย เพราะมันมีผลสำรวจที่ถูกทำขึ้นก่อนการเดินสายหาเสียงของเบอร์นี ซึ่งทำการสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปีด้วยคำถามว่า “คุณจะลงคะแนนเสียงโหวตให้กับประธานาธิบดีที่เป็นนักสังคมนิยมหรือไม่?” ผลการสำรวจคือมีคนตอบว่าเลือกโหวตถึง 69%

แบบสำรวจอันเดียวกันนี้ได้ถามคำถามต่อชาวอเมริกันที่มีอายุมากกว่า 65 ปีด้วยคำถามเดียวกันและพบว่ามีเพียง 34% เท่านั้นที่ตอบว่าเลือกโหวต ผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมานี้นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากๆ เพราะหลังจากเวลา 100 ปีที่สหรัฐอเมริกานั้นได้ผลิตสื่อโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านความคิดสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ตลอดมา ผลสำรวจนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกของผู้คน

ตวามเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกนี้ไม่ได้ถูกจำกัดเอาไว้เฉพาะกับกลุ่มคนระดับล่างของสังคมเท่านั้น หากแต่ในหนทางที่แตกต่างออกไป การแสดงออกแบบปฏิกิริยา และบิดเบี้ยว อันเป็นวิถีทางที่โดนัลด์ ทรัมป์ใช้เพื่อสะท้อนถึงความโกรธแค้นของมวลชนนับล้านคนของชนชั้นกรรมาชีพและคนกลุ่มอื่นๆที่ต่อต้านเงื่อนไขและระบบที่ดำรงอยู่ ต่อต้านสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าพวกชนชั้นปกครอง (ชาวอเมริกาเรียกชนชั้นปกครองที่อยู่เบื้องหลังการเมืองว่า กลุ่ม Establishment เหมือนเช่นที่รัสเซียเคยมีกลุ่มผู้ชักใยทางการเมืองที่มีชื่อเรียกว่า the family – ผู้แปล) แน่นอนว่ามวลชนนั้นสามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ และประสบการณ์นี้จะแสดงให้เห็น – ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกำลังแสดงให้เห็น – ว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่นี้เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล หน้าฉากที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้เป็นเพียงการเตรียมการสำหรับการเคลื่อนไหวครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในยุคสมัยถัดไป

 

USA revolting Image Flickr thisisbossi

ภาพจาก : Flickr, thisisbossi

 

อันที่จริงการเคลื่อนไหวอันยิ่งใหญ่ที่เรากำลังพูดถึงนี้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว มันเกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังจากการเลือกตั้งของทรัมป์ที่ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงของมวลชนจำนวนมหาศาลในแทบทุกเมือง การเดินขบวนกระท้วงของกลุ่มสตรีนั้นนับว่าเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ซึ่งการเดินขบวนนี้เกิดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์แรกหลังจากการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์เท่านั้น และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของที่กำลังจะมาถึงเท่านั้น

เหตุผลที่ทำให้ชนชั้นปกครองเกลียดขี้หน้าทรัมป์นั้นเป็นเพราะทรัมป์เป็นผู้ที่จะเร่งให้เกิดการระเบิดออกของความเสื่อมโทรมซึ่งเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าดำรงอยู่ระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน การบ่อนทำลายฉันทามติดงักล่าวนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง ดังเช่นที่เราจะเห็นได้จากการชัตดาวน์รัฐบาลที่พึ่งผ่านมา การล่มสลายของสิ่งที่เรียกว่า ศูนย์กลางทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของปากเหวและความแหลมคมขึ้นของปัญหาขัดแย้งระหว่างชนชั้นในสังคมอเมริกา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงอย่างยิ่งในอนาคต

โอบามาและพรรคเดโมแครตนั้นมีส่วนรับผิดชอบต่อชัยชนะของของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ทรัมป์เองก็จมดิ่งลงไปในกระบวนการทางสังคมและการทำให้การเมืองรุนแรงขึ้น อันเป็นการสร้างเงื่อนไขที่อาจจะทำใมห้เกิดการสวิง (swing) กลับครั้งใหญ่ของมวลชนไปหาแนวคิดฝ่ายซ้าย  และเพื่อเป็นการตอกย้ำปัญหาของระบบการเมืองแบบสองพรรค ผลสำรวจชิ้นล่าสุดนั้นได้แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันกว่า 61% นั้นต่อต้านทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน และเชื่อว่าพวกเขาควรจะต้องได้รับพรรคการเมืองใหม่ที่เป็นทางเลือกใหม่ ขณะที่ตัวเลขของคำถามเดียวกันนี้ในหมู่คนรุ่นใหม่ตัวเลขการตอบคำถามก็พุ่งสูงขึ้นไปที่ 71% ความแหลมคมของสถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐอเมริกานี้ – ทั้งต่อฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา – ได้สร้างปรากฏการณ์ออกมาในรูปแบบของการเติบโตอย่างฉับพลันของกลุ่มนักสังคมนิยมประชาธิปไตยอเมริกา (Democratic Socialists of America - DSA) กลุ่มฝ่ายซ้ายที่เคยเป็นสมาชิกชายขอบในพรรคเดโมแครต

ก่อนการเดินสายหาเสียงของเบอร์นี แซนเดอร์สนั้นกลุ่มดังกล่าวนี้มีสมาชิกอยู่เพียง 6,000 คน อันเป็นกลุ่มเก่าแก่ ที่ย้อมสีตัวเองมาในรูปแบบของนักปฏิรูป แต่ทว่าภายหลังการเลือกตั้งผ่านไปกลุ่มนักสังคมนิยมประชาธิปไตยอเมริกานี้ก็ได้ขยายจำนวนสวมาชิกขึ้นไปถึง 30,000 คน โดยสมาชิกจำนวนมากนั้นมาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้าร่วมองค์กรฝ่ายซ้าย พวกเขาได้เริ่มต้นขยายฐานในหลายพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน และพัฒนาฐานหลักในหลายสาขาทั่วประเทศ ซึ่งประเด็นสำคัญที่กำลังถกเถียงกันอยู่ภายในกลุ่มคือการหามติว่ากลุ่มควรจะแยกตัวเองเป็นอิสระจากพรรคเดโมแครตแล้วหรือยัง ซึ่งสมาชิกบางส่วนขององค์กรนั้นได้พัฒนาความคิดทางการเมืองไปสู่ฝ่ายซ้ายอย่างรวดเร็ว และยังเปิดกว้างทางความคิดที่จะรับเอาไอเดียของการปฏิวัติแบบมาร์กซิสม์เข้าไปด้วย อนาคตขององค์กรนี้นั้นจะต้องถูกกำหนดอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากว่าองค์กรนี้เลือกที่จะแตกหักและแยกตัวจากพรรคเดโมแครตและรับเอาตำแหน่งขององค์กรสังกัดชนชั้นแล้ว องค์กรนี้ก็จำเป็นจะต้องรับบทบาทสำคัญซึ่งในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การสร้างพรรคสังคมนิยมของมวลชนขึ้นในสหรัฐอเมริกา.

 

(เนื้อหายังไม่จบ ผู้แปลจะทำการอัพเดทเนื้อหาต่อเนื่องซ้ำอีกครั้งในบทความชิ้นเดียวกันนี้)

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ว่าด้วยวันสตรีสากลAlexandra Kollontai 1913 
จักรพล ผลละออ
 
จักรพล ผลละออ
ทุนนิยม ชนชั้นกลาง อนุรักษ์นิยม และการต่อต้านทุนสามานย์จักรพล ผลละออ (2017)