Skip to main content

 

บทนำเสนอความคิดของมาร์กซ์ฉบับกะทัดรัด

(Introduction to Marx)

By Felluga, Dino. Translated by Jakkapon P.

 

I

ว่าด้วยอุดมการณ์

(on ideology)

 

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ได้นำเสนอมุมมองความคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์ที่แตกต่างกันไปในจุดที่แตกต่างกันในงานเขียนของเขา อย่างไรก็ตามข้อเขียนเกี่ยวกับอุดมการณ์ที่ตรงไปตรงมาที่สุดของมาร์กซ์นั้นปรากฏอยู่ในงานเขียนที่เขาได้เขียนร่วมกับเฟรเดอริค เองเกล (Frederick Engel) ในงานที่มีชื่อว่า อุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology) ในงานชิ้นนั้นมาร์กซ์ได้เสนอว่า อุดมการณ์โดยตัวมันเองนั้นคือภาพแสดงตัวแทนของ “ผลผลิตของความคิด (idea) มโนทัศน์ (conceptions) และจิตสำนึก (consciousness)” ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะกล่าวได้ว่ามันคือ “สิ่งที่กำเนิดขึ้นในระดับจินตนาการ” และมันประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆเช่น “การเมือง, กฎหมาย, คุณธรรม, ศาสนา, อภิปรัชญา ฯลฯ” อุดมการณ์นั้นทำหน้าที่เป็นโครงสร้างส่วนบน (superstructure) ของอารยธรรมในสังคม นั่นคือเป็นธรรมเนียมจารีตและวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดความคิดที่ครองอำนาจเหนือ (dominant idea) ในสังคม “ความคิดครอบงำ” (ruling idea) ของแต่ละยุคสมัยนั้นล้วนแล้วแต่มาจากกลุ่มชนชั้นปกครอง (ruling class) “ความคิดครอบงำนี้ไม่ใช่สิ่งอื่นใดเลยนอกจากความคิดที่แสดงถึงการมีอำนาจเหนือความสัมพันธ์ทางวัตถุ การครองอำนาจเหนือความสัมพันธ์ทางวัตถุนี้ถูกยึดกุมเอาไว้ในฐานะความคิด และด้วยความสัมพันธ์แบบดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เกิดการสถาปนากลุ่มชนชั้นหนึ่งขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง และนั่นเองคือความคิดแห่งการครอบงำ” และด้วยเหตุที่เป้าหมายหนึ่งของอุดมการณ์นั้นคือการทำให้กลุ่มอำนาจหนึ่งนั้นสามารถครองอำนาจนำ (hegemony) ได้อย่างชอบธรรม อุดมการณ์จึงมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการใช้ความรุนแรงและการกดขี่ที่มักจะกระทำต่อกลุ่มผู้ไร้อำนาจในสังคม (จากกลุ่มทาสในสังคมชนเผ่า มาสู่กลุ่มชาวนาติดที่ดินในสังคมศักดินา และมาสู่กลุ่มชนชั้นกรรมาชีพในสังคมทุนนิยม) การสร้างความสับสนดังกล่าวนี้ย่อมจะต้องนำไปสู่ความขัดแย้งเชิงตรรกะในอุดมการณ์นำ (dominant ideology) อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งงานของมาร์กซิสม์ (Marxism) นั้นก็คือการเปิดเผยมันด้วยการย้อนกลับไปสู่เงื่อนไขปัจจัยทางวัตถุของสังคม : การย้อนไปหาวิถีการผลิต (mode of production) ของสังคม

ในงานเรื่อง อุดมการณ์เยอรมัน มาร์กซ์และเองเกลนั้นได้นำเสนอข้อเสนอเรื่องความเป็นไปได้ที่เราอาจจะกำหนดเงื่อนไขที่แท้จริงในการดำรงอยู่ของมนุษย์ได้ โดยอยู่นอกเหนือพื้นที่อันลึกลับของอุดมการณ์

หลักฐานจากจุดที่เราเริ่มต้นมานั้นไม่ใช่สิ่งที่ปราศจากเหตุผลโดยสิ้นเชิงเลย และไม่ใช่การยึดติดกับตำรา หากแต่เป็นหลักฐานที่แท้จริงซึ่งความเป็นนามธรรมนั้นสามารถจะก่อกำเนิดขึ้นได้เพียงแต่ในระดับจินตนาการเท่านั้น พวกเขานั้นเป็นปัจเจกบุคลลที่แท้จริง กิจกรรมทั้งหลายของพวกเขาและเงื่อนไขทางวัตถุภายใต้การดำรงอยู่ของพวกเขา ซึ่งของทั้งคู่นั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาค้นพบขึ้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วและทั้งหมดนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยกิจกรรมของพวกเขาเอง บรรดาหลักฐานเหล่านี้นั้นสามารถที่จะตรวจสอบยืนยันได้ในวิถีทางเชิงประจักษ์อย่างบริสุทธิ์

เงื่อนไขทางวัตถุนั้นดำรงอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นอยู่ มาร์กซ์ได้อ้างอิงถึงสิ่งที่เรียกว่าวิธีการผลิต (means of production) ซึ่งในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งนั้นอุดมการณ์มักจะได้รับการเปิดเผยอย่างชัดเจนโดยการเผิดเผยเงื่อนไขทางวัตถุของการผลิต นั่นคือวิธีการผลิต (means of production) ตลอดจนความสัมพันธ์ทางการผลิต (relations of production) (วิถีทางที่สังคมได้ก่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความสัมพันธ์ผ่านระบบแบ่งงานกันทำ (division of labour)) ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกันแล้วมันทำให้เกิดเกิดวิถีการผลิต (mode of production) ขึ้น “ชีวิตนั้นเกี่ยวโยงอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์กินและดื่มเข้าไป รวมถึงที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งอื่นๆ การกระทำแรงทางประวัติศาสตร์นั้นจึงเป็นผลผลิตจากวิถีทางเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ หรือก็คือเป็นผลผลิตของของชีวิตเชิงวัตถุโดยตัวมันเอง” สำหรับมาร์กซ์แล้วมันเป็นเพราะความเป็นวัตถุของผลผลิตของมนุษย์นี่เองที่ส่งอิทธิพลโดยตรงต่ออุดมการณ์ “ชีวิตนั้นไม่ได้ถูกกำหนดโดยจิตสำนึก หากแต่จิตสำนึกต่างหากที่ถูกกำหนดจากชีวิต” ดังเช่นที่มาร์กซ์และเองเกลได้อธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ในงานเรื่อง อุดมการณ์เยอรมัน

การสำรวจในเชิงประจักษ์ในแต่ละกรณีที่แยกขาดจากกันนั้นย่อมจะต้องนำไปสู่ผลลัพธ์ในเชิงประจักษ์ และต้องปราศจากการผสมปนเปของความลึกลับและการเสี่ยงเดา ความเชื่อมโยงระหว่างสังคมและโครงสร้างทางการเมืองกับการผลิต โครงสร้างทางสังคมและรัฐนั้นย่อมจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องออกจากกระบวนการในชีวิตของปัจเจกบุคคลที่แน่นอน หากแต่ของปัจเจกบุคคลมิใช่สิ่งที่พวกเขาอาจจะปรากฏขึ้น ในความคิดระดับจินตนาการของตัวเขาเอง หรือจากการปรากฏขึ้นในระดับจินตนาการของผู้อื่น หากแต่จะปรากฏขึ้นตามความเป็นจริงที่พวกเขาเป็น กล่าวคือ ปรากฏขึ้นในฐานะของการปฏิบัติการของพวกเขา ในฐานะของการผลิตเชิงวัตถุ และด้วยเหตุนั้นดังเช่นที่พวกเขาทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่แน่นอนเชิงวัตถุ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอิสระของเจตจำนงของพวกเขา.

นี่เป็นการเสนอว่าสิ่งหนึ่งนั้นสามารถที่จะมุ่งตรงเข้าไปเข้าไปสู่เงื่อนไขที่เป็นจริงของประวัติศาสตร์ (ในบางครั้งสามารถอ้างย้อนไปถึง “ทฤษฎีย้อนกลับ” หรือ “มาร์กซิสม์สามานย์”) ซึ่งถูกตั้งคำถามโดยกลุ่มนีโอมาร์กซิสต์ (neo-Marxists) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำเนิดขึ้นของกระแสความคิดของอัลธูแซร์ ในการตีความความคิดว่าด้วยอุดมการณ์ใหม่แบบลาก็อง (Althusser’s Lacanian rethinking of ideology) มาร์กซ์นั้นยังคงมีความคลุมเครือและซับซ้อนอยู่กับหัวเรื่องอุดมการณ์ข้อนี้ อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาอื่นๆนั้นมาร์กซ์ก็ได้เสนอว่าในบางมุมมองของอุดมการณ์ (ตัวอย่างเช่น งานวรรณกรรม) มันสามารถจะมีการดำรงอยู่แบบกึ่งอิสระ (semi-autonomous) ได้นั่นคือผลผลิตทางวัฒนธรรมนั้นสามารถออกกำลังสร้างอิทธิพลซึ่งสร้างความได้เปรียบต่อการครอบงำวิถีการผลิต

เพื่อจะสร้างการเปรียบเทียบเพิ่มเติมและเพื่อให้ได้รับข้อมูลในมุมมองเสริมมาขึ้นกรุณาอ่าน บทนำเสนอความคิดของอัลธูแซร์ว่าด้วยอุดมการณ์ และ บทนำเสนอความคิดของเจมส์สันว่าด้วยอุดมการณ์

 

II

ว่าด้วยลำดับขั้นของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

(on stages of economic development)

 

ตามความคิดของมาร์กซ์นั้นอารยธรรมของมนุษย์ได้แสดงตนเองออกมาในรูปแบบของความต่อเนื่องของการจัดการโครงสร้าง ซึ่งในแต่ละช่วงนั้นต่างก็ถูกกำหนด (determined) โดยวิถีการผลิตของตัวระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการแบ่งงานกันทำที่เป็นตัวกำหนดในแต่ละลำดับขั้นของพัฒนาการ

1) รูปแบบสังคมชนเผ่า (the tribal form) สังคมชนเผ่านั้นไม่มีระบบชนชั้นทางสังคมหากแต่มันจัดวางตนเองอยู่ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ที่หน้าที่การล่าสัตว์นั้นเป็นปริมณฑลของเพศชาย และงานบ้านภายในครัวเรือนนั้นอยู่ในปริมณฑลของเพศหญิง สังคมชนเผ่านั้นตามความคิดของมาร์กซ์และเองเกลนั้นคือระดับขั้นพัฒนาการขั้นปฐม “มันคือกระบวนการขยายตัวของระบบแบ่งงานกันทำภายในครอบครัวตามธรรมชาติ” ในห้วงเวลาของลำดับขั้นนี้ เราสามารถที่จะมองเห็นการก่อตัวของวัฒนธรรมทาสที่ก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขยายตัวของจำนวนประชากร อันนำไปสู่ “การขยายตัวของความต้องการ” และการขยายตัวของความสัมพันธ์ที่มีต่อกลุ่มนอกอารยธรรม (ผ่านการทำสงครามหรือการค้าขาย) และด้วยวัฒนธรรมทาสนั้นก็ทำให้เราเห็นจุดเริ่มต้นของสังคมชนชั้น

2) สังคมคอมมิวนิสต์บุพกาล (primitive communism) “ชุมชนยุคโบราณและการถือครองรัฐร่วมกันซึ่งดำเนินการขึ้นจากการรวมตัวกันของชนเผ่าต่างๆจนกลายเป็น เมือง ผ่านการสร้างข้อตกลงร่วมกันหรือการยึดครอง” ในระหว่างห้วงเวลานี้มโนทัศน์เรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (private property) นั้นได้เริ่มต้นการพัฒนาตัวเองขึ้น “และด้วยการพัฒนาของระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนี้เอง ทำให้เราพบว่านี่เป็นห้วงเวลาแรกที่เราได้ค้นพบเงื่อนไขอันทำให้เกิดระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลซึ่งในภายหลังเราจะพบเงื่อนไขนี้อีกครั้งในระดับที่กว้างขวางขึ้นในระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลสมัยใหม่ ในทางหนึ่งนั้นคือกระบวนการควบรวมระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ... ขณะที่ในอีกทางหนึ่งนั้น ซึ่งดำเนินการควบคู่กันไปคือกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มสามัญชน (plebeian) และกลุ่มชาวนาขนาดย่อมไปสู่การกลายเป็นกรรมาชีพ (proletariat)

3) สังคมศักดินาหรือระบอบถือครองที่ดิน (feudal or estate property) “เช่นเดียวกับสังคมชนเผ่าและระบบการถือครองร่วมในชุมชน ระบบศักดินานั้นยังคงวางรากฐานตัวเองอยู่บนชุมชน หากแต่มันได้สร้างระบบชนชั้นโดยตรงขึ้น และเปลี่ยนผ่านระบบชนชั้นแบบเดิม ดังเช่นกรณีของสังคมโบราณนั่นคือทาส หากแต่ระบบศักดินานั้นได้เปลี่ยนแปลงทาสให้กลายมาเป็นกลุ่มชาวนาติดที่ดิน (peasantry)” ในสังคมเมืองนั้นโครงสร้างของสังคมศักดินาแสดงตนเองออกมาในรูปแบบของสมาคมการค้า (trade guild) ซึ่งองค์กรของทั้งสังคมเมืองและชนบทนั้น “ล้วนแล้วแต่ถูกกำหนดโดยข้อจำกัดด้านเงื่อนไขการผลิต (conditions of production) – นั่นคือเงื่อนไขข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูกแบบโบราณขนาดเล็ก และระบบอุตสาหกรรมแบบงานฝีมือ” ซึ่งหมายความว่า “ในสังคมศักดินานั้นมีระบบการแบ่งงานกันทำเพียงเล็กน้อย” กระบวนการขูดรีดในสังคมศักดินานั้นก็มีความแตกต่างจากกระบวนการขูดรีดในสังคมทุนนิยมอันเนื่องมาจากบรรดาชาวนาติดที่ดินนั้นต่างก็รับรู้ถึงสัดส่วนที่เป็นจริงของกำลังแรงงานของเขาที่จะใช้ต่อรองกับกลุ่มขุนนางหรือบาทหลวง

4) สังคมทุนนิยม (capitalism) อันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของการพาณิชย์ (และการขยายตัวของจำนวนประชากร) สังคมศักดินานั้นได้เริ่มต้นกระบวนการสะสมทุนขึ้นซึ่งรวมถึงการขยายตัวของจำนวนหนี้ของกลุ่มขุนนาง จนท้ายที่สุดนั้นได้ทำให้เกิดการปฏิวัติอังกฤษในปี 1640 และการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 การปฏิวัติทั้งสองนั้นได้เปิดหนทางให้กับการสถาปนาสังคมใหม่ที่ก่อรูปขึ้นด้วยเงื่อนไขของสินค้า (commodities) และการทำกำไร (profit) (กล่าวคือระบบทุนนิยม) ในสังคมแบบดังกล่าวนั้นชนชั้นกรรมาชีพถูกหลอกให้เชื่อว่าพวกเขาต่างเป็นอิสระเพราะพวกเขาต่างก็ได้รับการจ่ายเงินตอบแทนการใช้กำลังแรงงานของพวกเขา หากแต่ในความเป็นจริงแล้วกระบวนการเปลี่ยนผ่านการใช้แรงงานไปสู่สิ่งที่เป็นปริมาณในเชิงนามธรรมที่สามารถซื้อขายกันได้ในระบบตลาดนั้นนำไปสู่การขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพโดยคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจในการควบคุมทุน ชนชั้นแรงงานจึงเผชิญกับสภาพความแปลกแยก (alienation) เมื่อสมาชิกในชนชั้นนั้นเริ่มรู้สึกว่าพวกเขานั้นไม่ได้มีส่วนร่วมในการควบคุมกำลังอำนาจที่บีบบังคับให้พวกเขาต้องทำงานที่พวกเขาไม่ได้เลือก เหตุผลที่ทำให้เกิดสภาวะการณ์เช่นนี้ขึ้นก็เนื่องมาจากการที่คนกลุ่มน้อยในสังคมนั้นเป็นผู้ผูกขาดการถือครอง วิธีการผลิต (means of production) ซึ่งถูกถือครองเอาไว้ในฐานะของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล.

 

III

ว่าด้วยทุน

(on capital)

 

สังคมมนุษย์นั้นเดินหน้าเข้าสู่การเป็นสังคมทุนนิยมก็ด้วยกระบวนการเปลี่ยนผ่านของความเข้าใจที่มีต่อมูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange value) และความเข้าใจที่มีต่อแรงงาน (labor) ในสังคมที่ใช้ระบบแลกเปลี่ยนสินค้า (barter society) สินค้านั้นจะถูกแลกเปลี่ยนกันโดยตรงจากสินค้าชิ้นหนึ่งแลกกับอีกชิ้นหนึ่งโดยพิจารณาจาก “การใช้สอยเฉพาะและรูปธรรมของแรงงาน” ที่ใช้ในการสร้างสินค้าขึ้นมา การแลกเปลี่ยนสิ่งของแบบดังกล่าวนี้จึงมีความใกล้ชิดที่ยึดโยงอยู่กับทั้งมูลค่าใช้สอย (use value) ของสิ่งของ (ประโยชน์ใช้สอยของสินค้านั้นๆ) และยึดโยงกับมูลค่าแรงงานเชิงวัตถุที่เป็นจริงซึ่งถูกใช้ไปในการสร้างสิ่งของนั้นๆขึ้น ในสังคมทุนนิยมนั้นแรงงานเชิงวัตถุที่เรากล่าวถึงนี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายไปเป็นปริมาณในเชิงนามธรรมซึ่งอยู่ในรูปแบบของสิ่งของที่มีค่าเทียบเท่ากันและสามารถใช้เป็นสิ่งของซึ่งซื้อขายกันได้ ในแง่นี้เอง “แรงงานเชิงวัตถุที่เป็นจริงนี้ได้กลายไปเป็นการแสดงออกของกำลังแรงงานของมนุษย์ในเชิงนามธรรม” ที่ทำให้ความแตกต่างระหว่างรูปแบบการใช้แรงงานและความแตกต่างในมูลค่าใช้สอยของสินค้านั้นหมดความสำคัญลง และเมื่อเราเริ่มต้นมองแรงงานในฐานะของสิ่งนามธรรมซึ่งไม่มีความแตกต่างกันในเชิงปริมาณก็จะทำให้เรามองว่าแรงงานนั้นสามารถถูกนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับสิ่งซึ่งเป็นนามธรรมที่คล้ายคลึงกันได้ กำลังแรงงานซึ่งสร้างมูลค่านั้น “จึงกลายเป็นภาพแสดงอันชัดเจนในฐานะของแรงงานที่สามารถถูกนับจำนวนอย่างเท่าเทียมกับการใช้กำลังแรงงานในทุกรูปแบบของมนุษย์ ไม่ว่ารูปแบบตามธรรมชาติของมันอาจจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม ด้วยเหตุนี้เองกำลังแรงงานจึงแฝงอยู่ทั้งในเสื้อโค้ท ในข้าวโพด ในเหล็ก หรือกระทั่งในทองคำ” ดังเช่นที่มาร์กซ์ได้เสนอต่อไปว่า “ผ้าลินินนั้นภายใต้ความถูกต้องในรูปแบบของมูลค่าแล้วตัวมันเองไม่ได้ยืนอยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์ทางสังคมในฐานะของสินค้ารูปแบบหนึ่งเท่านั้น หากแต่มันดำรงอยู่ร่วมกับสินค้าอื่นๆทั้งหมดในโลกของสินค้าด้วย” ดังนี้เราจึงจะเริ่มต้นการขยับไปสู่การพูดถึง “มูลค่าสมมูลสากล” (universal equivalent) หรือก็คือสิ่งนามธรรมหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การซื้อขายแลกปลี่ยนสินค้าในตลาดที่แตกต่างกัน กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่คล้ายกันนี่เกิดขึ้นในมูลค่าของสินค้าแต่ละชิ้น ในการแลกเปลี่ยนสินค้าภายใต้ระบบทุนนิยม  มูลค่าแลกเปลี่ยนนั้นมีอำนาจในการกำหนดมากกว่ามูลค่าใช้สอย ดังเช่นที่มาร์กซ์อธิบายว่า มูลค่าแลกเปลี่ยนนั้นย่อมจะแยกตัวเองออกจากมูลค่าใช้สอยอยู่เสมอ เพราะ “ความสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนสินค้านั้นเป็นลักษณะของสิ่งที่ถูกต้องแม่นยำที่มีลักษณะเป็นนามธรรมอันหลุดลอยจากมูลค่าใช้สอยที่เป็นจริง” ด้วยการเปลี่ยนมูลค่าเชิงนามธรรมให้กลายไปเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยน นี้เองที่ในที่สุดแล้วมันทำให้เกิดการใช้ทองคำเข้ามาเป็นสื่อกลางในการกำหนดการแลกเปลี่ยน ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นการใช้เงินหรือธรบัตรแทนในฐานะของสิ่งที่เป็นมูลค่าสมมูลสากลของสังคมทุนนิยม

ด้วยการยอมรับให้เงินตรา (money) กลายเป็นมูลค่าสมมูลสากลนั้น ระบบทุนนิยมก็เริ่มต้นกระบวนการขูดรีดมูลค่าแรงงานจากผลผลิตขึ้นแทบจะพร้อมกัน ตามความคิดของมาร์กซ์แล้ว กล่าวคือ เงินตรานั้นได้เข้ามามีส่วนในการปกปิดมูลค่าที่แท้จริงซึ่งอยู่เบื้องหลังการแลกเปลี่ยนเงินตราทั้งหลาย นั่นคือแรงงาน เพราะการผลิตสินค้านั้นยิ่งใช้แรงงานมากเท่าไหร่ ย่อมจะยิ่งสร้างมูลค่าให้แก่ผลผลิตมากขึ้นเท่านั้น มาร์กซ์จึงกล่าวสรุปว่า “ด้วยการยึดมูลค่าแลกเปลี่ยนเป็นที่ตั้ง สินค้าทั้งหลายนั้นย่อมจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมูลค่าจากจำนวนชั่วโมงการใช้แรงงาน” อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมนั้นกลับถูกทำให้เชื่อว่าอำนาจและมูลค่านั้นเป็นสิ่งที่แทรกตัวเองอยู่กับเงินตรามากกว่าจะอยู่ในรูปแบบของการใช้กำลังแรงงานที่เป็นการสร้างผลผลิต สินค้าและบริการอย่างแท้จริง กรุณาดูเพิ่มเติมในส่วนที่ IV ว่าด้วยความคิดของมาร์กซ์ในเรื่อง “การบูชาสินค้า” (commodity fetishism)

ในทางกลับกันนั้นเงินตราก็เปิดโอกาสให้เกิดการสะสมทุนขึ้น ในกระบวนการแลกเปลี่ยนสินค้าเราแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อแลกกับเงิน ซึ่งเงินนี้ก็จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนกับสินค้าชนิดอื่นๆต่อไป เราขายสินค้าก็เพื่อที่จะนำเงินไปซื้อสินค้าอื่นหรือเพื่อนำไปซื้อของอุปโภคบริโภค มาร์กซ์เขียนถึงกระบวนการดังกล่าวนี้ไว้ในสมการที่ว่า ส-ง-ส หรือ สินค้า-เงิน-สินค้า (C-M-C หรือ Commodity-Money-Commodity) ซึ่งเงินนั้นคือตัวแปลที่ทำให้สมการนี้ดำเนินไปได้ และในตอนนี้เองเราก็สามารถจะซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายได้ (ขายในราคาที่สูงขึ้น) หรือเป็นสมการแบบ ง-ส-ง ซึ่งสำหรับมาร์กซ์แล้วกระบวนการนี้ได้กลายไปเป็นสมการทั่วไปของทุนนิยม ในสมการที่สองที่เรากล่าวถึงอยู่นี้ “การไหลเวียนของเงินตราในฐานะของทุนนั้นย่อมจะมีจุดจบสุดท้ายอยู่ที่ตัวมันเอง การสร้างมูลค่าเพิ่มเติมใหม่นั้นจะเกิดเฉพาะแต่ภายในกระบวนการที่ต่อเนื่องในสมการนี้ การเคลื่อนที่ของทุนนั้นจึงไม่มีขีดจำกัด” เป้าประสงค์หลักของระบบทุนนิยมจึงกลายเป็น “การเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างกำไร” อันที่จริงแล้วสมการที่เรากล่าวถึงนี้ได้ถูกลดทอนอย่างมากในกรณีของการเก็บดอกเบี้ย เมื่อใครสักไปกู้ยืมเงินมาและต้องจ่ายเงินที่กู้มาคืนกลับไปพร้อมกับเงินที่เป็นดอกเบี้ยเพิ่มเติม มันทำให้สมการที่เราพูดถึงนี้ถูกลดลงเหลือเพียง ง-ง กระบวนการที่คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นในตลาดหุ้น นั่นคือกระบวนการสร้างกำไรหรือสร้างเงินขึ้นมาโดยปราศจากการซื้อขายสินค้าที่เป็นจริง

ต้องย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่ถูกหลงลืมไปในกระบวนดังกล่าวนี้ก็คือกำลังแรงงาน (labor power) อันเป็นสิ่งที่ทำให้การสร้างกำไรเกิดขึ้นได้ การซื้อขายกำลังแรงงานของคนในระบบตลาดนั้นนำไปสู่การถือครองผลผลิตจากกำลังแรงงานอย่างเต็มรูปแบบ และผลผลิตนั้นก็จะถูกนำไปขายในตลาดในราคาบวกกำไรซึ่งถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จโดยนายทุน.

 

IV

ว่าด้วยการบูชาสินค้า

(on commodity fetishism)

 

มาร์กซ์นั้นหันกลับมาพูดเรื่องการบูชาสิ่งของ (fetishism) เพื่อจะอธิบายถึงลักษณะมายาอันเด่นชัดของสินค้า (commodity) สินค้านั้นปรากฏขึ้นครั้งแรกในฐานะของสิ่งที่ดูแล้วเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นสิ่งของในเชิงประจักษ์อย่างถึงที่สุด หากแต่การวิเคราะห์ของมาร์กซ์นั้นได้แสดงให้เห็นว่าสินค้านั้นในความเป็นจริงแล้วมันเป็นสิ่งแปลกประหลาดที่น่าพิศวง ที่อุดมกไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยในเชิงอภิปรัชญาและความละเอียดในเชิงทฤษฎี การบูชาสิ่งของในมุมมองแบบมานุษยวิทยา (anthropology) นั้นอ้างอิงกลับไปถึงความเชื่อยุคบุพกาลที่เชื่อว่าพลังอำนาจของพระเจ้านั้นสามารถจะสิ่งสู่อยู่ในสิ่งของที่ไม่มีชีวิตได้ (เช่นในเครื่องรางต่างๆ) มาร์กซ์ได้หยิบยืมเอามโนทัศน์แบบดังกล่าวนี้มาเพื่ออธิบายสิ่งที่เข้าเรียกว่า “การบูชาสินค้า” (commodity fetishism) ดังเช่นที่มาร์กซ์อธิบาย สินค้านั้นจะยังคงเป็นสิ่งธรรมดาทั่วไปอยู่ตราบเท่าที่มันยึดโยงตัวเองอยู่กับมูลค่าใช้สอย เมื่อไม้ท่อนหนึ่งนั้นถูกนำมาแปรรูปให้กลายเป็นโต๊ะด้วยกำลังแรงงานของมนุษย์แล้ว มูลค่าใช้สอยของมันย่อมเป็นที่ประจักษ์ และในฐานะของผลผลิตแล้วโต๊ะตัวนี้ก็ยังยึดโยงตัวเองอยู่กับคุณสมบัติการใช้งานในเชิงวัตถุของตัวมันเอง อย่างไรก็ตามในทันทีที่โต๊ะตัวนี้ “เปลี่ยนตัวเองให้กลายไปเป็นสินค้า (commodity) มันก็ได้เปลี่ยนตัวเองให้กลายไปเป็นสิ่งของซึ่งอยู่นอกเหนือความรับรู้ (sensuousness)” ความเชื่อมโยงระหว่างตัวสินค้ากับแรงงานผู้สร้างสินค้านั้นย่อมจะถูกตัดขาดลงในทันทีที่สินค้านั้นเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเงินในฐานะของมูลค่าสมมูลสากล (universal equivalent) สำหรับการแลกเปลี่ยน ผู้คนในสังคมทุนนิยมนั้นจึงเริ่มต้นที่จะมองสินค้าในฐานะของสิ่งซึ่งมีมูลค่าแฝงอยู่ภายในตัวมันเอง มากกว่าจะมองไปถึงจำนวนแรงงานที่เป็นจริงที่ใช้ในการสร้างสินค้า ดังเช่นที่มาร์กซ์ได้อธิบายไว้ “ลักษณะลั้บอันน่าพิศวงของรูปแบบสินค้านั้นประกอบขึ้นจากความเป็นจริงที่ว่าสินค้าคือสิ่งสะท้อนลักษณะทางสังคมของมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของแรงงานในฐานะของวัตถุที่มีลักษณะผลิตสร้างกำลังแรงงานได้ด้วยตัวเอง เป็นเสมือนลักษณะทางสังคม-ธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้” สิ่งที่เป็นความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างผู้คนในสังคม (ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุน กับแรงงานผู้ถูกขูดรีด) นั้นได้ถูกแทนที่เข้ามาด้วย “รูปแบบความสัมพันธ์อันน่าประหลาดระหว่างสิ่งของ”

ผลกระทบจากสภาวะแบบดังกล่าวนั้นได้ก่อให้เกิดความจริงที่ว่าในสังคมทุนนิยมนั้นผู้ที่ใช้กำลังแรงงานในการสร้างสินค้าต่างๆขึ้นมานั้นกลับมีสภาพเสมือนไร้ตัวตน เราสามารถเข้าถึงผลผลิตของแรงงานได้เพียงแต่ผ่าน “ความสัมพันธ์ของการกระทำในการแลกเปลี่ยนซึ่งก่อตัวขึ้นระหว่างสิ่งของ” เราเข้าถึงผลผลิตของกรรมาชีพผ่านการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินพร้อมๆกับที่บรรดาสถาบันหรือบริษัทต่างๆก็เก็บรวบรวมเอากำไรจากกำลังแรงงานของกรรมาชีพ และตั้งแต่ที่เราสัมพันธ์กับผลผลิตเหล่านั้นผ่านการแลกเปลี่ยนด้วยเงินมันก็ทำให้เราหลงลืม “ความหลับที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวอันเด่นชัดของมูลค่าของสินค้า” หรือก็คือเราหลงลืมกำลังแรงงานไป “เราอาจจะกล่าวได้อย่างแม่นยำว่ารูปแบบสมบูรณ์ของโลกของสินค้านั้นก็คือ – ระบบการเงิน – ซึ่งทำหน้าที่ปกปิดลักษณะทางสังคมของกำลังแรงงานส่วนบุคคลและความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างแรงงานปัจเจกบุคคล ด้วยการทำให้ความสัมพันธ์เหล่านั้นปรากฏออกมาในฐานะของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของแทน” ในโลกทุนนิยมนั้น ทองคำและเงินตรากลายมาเป็น “ที่สิงสถิตใหม่โดยตรงของกำลังแรงงานมนุษย์” เหมือนเช่นที่ในสังคมบุพกาลนั้นเครื่องรางได้กลายเป็นที่สิงสถิตของพระเจ้า และภายใต้กระบวนการดังกล่าวนี้ “มนุษย์จึงสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆในหน่วยย่อยภายในกระบวนการผลิตในสังคม มนุษย์นั้นได้เกิดสภาวะแปลกแยก (alienated) ขึ้นเนื่องมาจากความสัมพันธ์ในการผลิตของพวกเขานั้นเป็นอิสระจากตัวพวกเขาและอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขา อยู่นอกเหนือการกระทำอย่างมีจิตสำนึกของพวกเขา” และถึงแม้ว่ามูลค่าทั้งหลายนั้นจะเพิ่มพูนสูงขึ้นมาจากกำลังแรงงานของมนุษย์ หากแต่มนุษย์ในสังคมทุนนิยมนั้นกลับมีแนวโน้มจะเชื่อว่าพวกเขานั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมระบบตลาดซึ่งปรากฏต่อสายตาของพวกเขาในฐานะสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระจากปัจเจกบุคคลทั้งหลาย

สถานการณ์แบบดังกล่าวนี้มีความแตกต่างจากสังคมศักดินาอยู่ ในสังคมศักดินานั้น “เราพบว่าทุกคนนั้นล้วนแล้วแต่ไม่เป็นอิสระทุกคนต่างมีตำแหน่งแห่งที่ของตนเองนั่นคือ – ไพร่ติดที่ดินกับขุนนาง ขุนนางกับกษัตริย์ ฆราวาสกับนักบวช เป็นต้น” อันเนื่องมาจาก “ความสัมพันธ์ของรูปแบบความไม่มีอิสระในตัวเองอันเป็นรากฐานทางสังคมนั้น ทำให้มันไม่มีความต้องการแรงงานและผลผลิตของแรงงานเพื่อสร้างรูปแบบมายาที่แตกต่างจากความเป็นจริงที่ดำรงอยู่” การติดต่อค้าขายกันในสังคมศักดินานั้นเกี่ยวข้องและยึดโยงอยู่กับการใช้กำลังแรงงานในการผลิตมากกว่าจะไปยึดโยงกับมูลค่าเชิงนามธรรม มาร์กซ์จึงสรุปว่า “สิ่งใดก็ตามที่เราอาจจะคิดขึ้นถึงบทบาทที่แตกต่างกันที่มนุษย์นั้นเผชิญหน้ากับผู้อื่นในสังคม ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างปัจเจกบุคคลในการใช้กำลังแรงงานของตนเองนั้นได้ปรากฏขึ้นในทุกๆเหตุการณ์เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวของพวกเขา และไม่ได้ถูกแบ่งแยกออกจนกลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของ หรือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสินค้า”.

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ : ความหมาย, ลักษณะ และหลักการ(Marxism: Meaning, Features a
จักรพล ผลละออ
 สภาพวิสัยAntonio Gramsci 1917
จักรพล ผลละออ
 สหภาพแรงงาน : อดีต ปัจจุบัน และอนาคตคาร์ล มาร
จักรพล ผลละออ
 หนังสือพิมพ์และชนชั้นแรงงานAntonio Gramsci 1916
จักรพล ผลละออ
 วันแรกแห่งเดือนพฤษภา : สัญลักษณ์แห่งยุคใหม่และการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานNestor Makhno (1928) 
จักรพล ผลละออ
 สุนทรพจน์ในวันกรรมกรสากลครั้งแรก (ฉบับย่อ)
จักรพล ผลละออ
 วันสตรีสากลAlexandra Kollontai (1920)