บทนำเสนอความคิดของอัลธูแซร์ฉบับกะทัดรัด (Introduction to Althusser)

 

บทนำเสนอความคิดของอัลธูแซร์ฉบับกะทัดรัด

(Introduction to Althusser)

By Felluga, Dino. Translated by Jakkapon P.

 

I

ว่าด้วยอุดมการณ์

(on ideology)

 

หลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) นั้นเริ่มต้นขยายขอบข่ายความรู้ของเขาโดยเริ่มต้นจากพื้นฐานงานของ ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan) เพื่อจะศึกษาและทำความเข้าใจวิธีการที่อุดมการณ์ทำงานในสังคม ด้วยเหตุนี้อัลธูแซร์จึงก้าวออกจากการความเข้าใจต่ออุดมการณ์แบบมาร์กซิสต์ยุคก่อน ซึ่งเป็นชุดความเข้าใจที่เสนอว่าอุดมการณ์นั้นถูกเชื่อได้ว่าเป็นสิ่งมที่สร้างสิ่งที่เรียกว่า “จิตสำนึกที่ผิดพลาด” (false consciousness) ซึ่งก็คือความเข้าใจที่ผิดพลาดซึ่งมีต่อโลกรอบตัว (ยกตัวอย่าง การบิดเบือนความจริงที่ว่าสินค้าที่เราซื้อมาจากระบบตลาดนั้นในความเป็นจริงแล้วมันเป็นสิ่งซึ่งเป็นผลมาจากการขูดรีดกำลังแรงงาน) อัลธูแซร์ได้อธิบายต่อว่าสำหรับมาร์กซ์แล้วนั้น “อุดมการณ์คือ […] มีสถานะเสมือนจินตนาการที่ก่อตัวขึ้นโดยที่ตัวมันเองมีสถานะการดำรงอยู่ที่ไม่ต่างอะไรกับความฝันในทางทฤษฎีท่ามกลางบรรดานักเขียนที่มาก่อนฟรอยด์ (Freud) สำหรับบรรดานักเขียนเหล่านั้นแล้ว ความฝันนั้นก็คือจินตนาการล้วนๆ กล่าวคือ มันไม่มีผลสำคัญอะไรเลย เป็นเพียงผลสืบเนื่องมาจาก สิ่งตกค้างที่พบเจอในตอนกลางวัน” หากแต่ในทางกลับกันอัลธูแซร์นั้นหันไปเลือกใช้มุมมองที่มีต่ออุดมการณ์ในแนวทางที่คล้ายคลึงกับการทำความเข้าใจต่อ “ความจริง” (reality) ของลากอง คำศัพท์ที่เราสร้างขึ้นรายล้อมรอบตัวเรานั้นเกิดขึ้นหลังจากการที่เราก้าวเข้าไปสู่ “ระเบียบทางสัญญะ” (symbolic order) แล้ว สำหรับอัลธูแซร์ และเช่นเดียวกันสำหรับลากองแล้วมันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเข้าถึง “เงื่อนไขที่แท้จริงของการดำรงอยู่” (Real conditions of existence) เนื่องจากการที่เรายังต้องพึ่งพาระบบภาษา อย่างไรก็ตามด้วยการอาศัยกระบวนการวิธี “ทางวิทยาศาสตร์” อย่างเข้มงวดที่เป็นกรอบเข้าไปสู่การมองสังคม เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์นั้น เราก็สามารถที่จะเข้าใกล้การรับรู้นี้ได้ หรือถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ในท้ายที่สุด “เงื่อนไขที่เป็นจริง” นี้ก็คงจะเป็นวิถีทางที่เราได้บันทึกเอาไว้ในอุดมการณ์ด้วยกระบวนการในการตระหนักรู้อันซับซ้อน การทำความเข้าใจอุดมการณ์ของอัลธูแซร์นั้นได้ส่งอิทธิพลทางความคิดต่อนักมาร์กซิสต์คนสำคัญอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น Chantalle Mouffe, Ernesto Laclau, Slavoj Zizek, และ Fredric Jameson

อัลูแซร์นั้นได้นำเสนอข้อสมมุติฐาน (hypothesis) ของเขาที่ช่วยในการอธิบายขยายความความเข้าใจของเขาที่มีต่ออุดมการณ์เอาไว้ดังนี้

1) “อุดมการณ์นั้นเป็นภาพแสดงตัวแทนถึงความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลที่มีต่อเงื่อนไขในการดำรงอยู่ที่เป็นจริงของเขา” วิถีกระบวนการคิดตามธรรมเนียมที่มีต่ออุดมการณ์นั้นเปิดทางให้มาร์กซิสม์ได้แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์นั้นล้มเหลวในการจะชี้ให้เห็นโลกที่เป็นจริงซึ่งถูกปกปิดเอาไว้โดยอุดมการณ์ได้อย่างไร (ตัวอย่างเช่น โครงสร้างเศรษฐกิจ “ที่เป็นจริง” สำหรับอุดมการณ์) ตามความคิดของอัลธูแซร์ ในทางตรงกันข้าม เขามองว่าอุดมการณ์นั้นไม่ได้ “สะท้อน” ภาพของโลกที่เป็นจริง หากแต่ “แสดงภาพแทน” ถึง “ความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลในระดับจินตนาการ” ที่มีต่อโลกที่เป็นจริง สิ่งที่อุดมการณ์ได้บิดเบือนความจริงไปนั้นก็คือตัวอุดมการณ์เองนั้นมันเป็นสิ่งที่ในจุดหนึ่งแล้วมันจะถูกรื้อถอนออกไปจากความจริง ในแง่นี้อัลธูแซร์ได้เสนอตามความคิดของลากองในเรื่องความเข้าใจที่มีต่อระเบียบทางจินตนาการ ซึ่งเมื่อถึงจุดกหนึ่งแล้วตัวมันเองย่อมจะถูกรื้อถอนออกไปจากความเป็นจริงของลากอง กล่าวในอีกทางหนึ่งว่า พวกเรานั้นล้วนแล้วแต่อยู่ภายในอุดมการณ์ทั้งนี้ก็เพราะการที่เราต้องพึ่งพาอาศัยระบบภาษาเพื่อสถาปนา “ความเป็นจริง” ของเราขึ้น อุดมการณ์ที่แตกต่างกันอาจจะเป็น หากแต่ภาพแสดงตัวแทน “ความเป็นจริง” ทางสังคมและจินตนาการของเรานั้นไม่ใช่ภาพแสดงตัวแทนของความจริงโดยตัวมันเอง.

2) “อุดมการณ์มีสภาวะการดำรงอยู่เชิงวัตถุ” อัลธูแซร์ยืนยันว่าอุดมการณ์มีสภาวะการดำรงอยู่เชิงวัตถุก็เพราะ ”อุดมการณ์นั้นย่อมจะดำรงอยู่ในกลไกต่างๆและภาคปฏิบัติการของกลไกหรือกระทั่งในการปฏิบัติการตลอดเวลา” อุดมการณ์นั้นย่อมจะแสดงตนเองผ่านการกระซึ่งเป็น “การสอดแทรกตัวเองเข้าไปในปฏิบัติการ” อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น ในพิธีกรรม, ในพฤติกรรมตามประเพณี ฯลฯ อันที่จริงนั้นอัลธูแซร์ขยับไปไกลจนถึงระดับที่รับเอาสมการของความเชื่อของปาสคาล (Pascal) มาใช้ ซึ่งปาสคาลได้กล่าวไว้ว่า “จงคุกเข่าลง จงสวดภาวนา แล้วเมื่อนั้นเจ้าจะเชื่อ” และกระบวนการนี้เองคือกระบวนการของความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อผู้อื่น และมีต่อสถาบันทางสังคมที่พยายามกระทำต่อเราในฐานะองค์ประธานย่อย (subjects) อยู่อย่างต่อเนื่อง งานเขียนของจูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) นั้นได้รับอิทธิพลทางความคิดจากวิธีการมองอุดมการณ์แบบนี้ไปสูงมาก

3) “อุดมการณ์ทั้งหลายนั้นต่างก็พยายามร้องเรียกหรือร้องทักให้ปัจเจกบุคคลที่เป็นรูปธรรมนั้นกลายเป็นองค์ประธานที่เป็นรู)ธรรม” ตามความคิดของอัลธูแซร์นั้นเป้าประสงค์สำคัญของอุดมการณ์นั้นอยู่ใน “การสถาปนาให้ปัจเจกบุคคลกลายไปเป็นองค์ประธาน” ดังนั้นความแพร่หลายของมันก็คืออุดมการณ์ที่กำลังกระทำการสถาปนาองค์ประธานซึ่งมันจะก่อร่างความเป็นจริงของเราขึ้นมาและหลังจากนั้นก็จะปรากฏอยู่เบื้องหน้าเราในฐานะ “ความจริง” หรือ “สิ่งที่เป็นเชิงประจักษ์” อัลธูแซร์ยกตัวอย่างโดยใช้กรณีการร้องทักว่า “เฮ้!” กลางถนน ที่ “พิธีกรรมของอุดมการณ์จะตระหนักได้ […] และจะยืนยันกับเราว่าเรานั้นเป็นรูปธรรมอย่างที่สุด เป็นปัจเจกบุคคล เป็นสิ่งที่สามารถจำแนกได้ และเป็นองค์ประธานที่ไม่อาจจะถูกดแทนที่ได้” ด้วย “การร้องเรียก” นี้เองที่ปัจเจกบุคคลได้เปลี่ยนตัวเองให้กลายไปเป็นองค์ประธาน (ซึ่งเป็นเรื่องในทางอุดมการณ์เสมอ) อัลธูแซร์ยกตัวอย่างว่าเมื่อคุณเดินอยู่บนถนน และเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งได้ร้องตะโกนขึ้นว่า “เฮ้! คุณคนนั้นน่ะ!” ซึ้งสมมุติว่าเราเป็นคนหนึ่งที่อยู่บนถนนและได้ยินเสียงร้องเรียกนี้ ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถทราบได้ว่าตำรวจกำลังเรียกหรือไม่หากแต่เราหรือปัจเจกบุคคลก็ย่อมจะกลับหลังหันไปมอง และภายใต้กระบวนการนี้เองที่ทำให้เราหรือปัจเจกบุคคลนั้นได้กลายไปเป็น องค์ประธาน ข้อเท็จจริงอย่างยิ่งที่เรานั้นไม่ได้ตระหนักรับรู้ถึงการปฏิสัมพันธ์นี้ที่เป็นเสมือนการพูดในเชิงอุดมการณ์ต่ออำนาจของอุดมการณ์อธิบายได้ดังนี้

สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะจัดวางตัวเองอยู่นอกเหนืออุดมการณ์ (กล่าวให้เจาะจงขึ้นคือ ในท้องถนน) ในความเป็นจริงแล้วมันดำรงอยู่ในอุดมการณ์ […] ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ที่ตกอยู่ภายในอุดมการณ์จึงเชื่อว่าตนเองนั้นอยู่นอกเหนือพื้นที่ของอุดมการณ์  อิทธิพลหนึ่งของอุดมการณ์นั้นคือ การปฏิเสธ เชิงปฏิบัติการของสร้างลักษณะเชิงอุดมการณ์ของอุดมการณ์โดยอุดมการณ์ กล่าวคืออุดมการณ์นั้นไม่เคยนำเสนอว่า “ฉันคืออุดมการณ์”

4) “ปัจเจกบุคคลนั้นเป็นองค์ประธานอยู่เสมอ-ตลอดเวลา” ถึงแม้ว่าอัลธูแซร์จะนำเสนอตัวอย่างในกรณีของการร้องเรียกในรูปแบบทางโลกขึ้นมา (ฉันถูกร้องเรียก และดังนั้นฉันจึงกลายไปเป็นองค์ประธาน และฉันเข้าสู่อุดมการณ์) อัลธูแซร์ทำให้เรื่องนี้กระจ่างชัดขึ้นว่า “การกลายเป็นองค์ประธาน” นั้นเกิดขึ้นแม้กระทั่งในช่วงเวลาก่อนที่เราจะเกิดขึ้นมา ซึ่ง “ข้อเสนอนี้อาจจะฟังดูขัดแย้งกัน” และอัลธูแซร์ก็ยอมรับ แม้กระนั้น “การที่ปัจเจกบุคคลนั้นเป็นองค์ประธานอยู่เสมอตและเป็นอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งในห้วงเวลาก่อนที่เขาจะเกิดนั้น […] คือความเป็นจริงอันธรรมดา และเป็นเรื่องที่เข้าถึงกับทุกคนได้และในท้ายที่สุดแล้วมันไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งกัน” ในห้วงเวลาก่อนที่ทารกจะถือกำเนิด “มันเป็นสิ่งที่แน่นอนว่าทารกย่อมจะต้องแบกรับชื่อของผู้เป็นบิดาไว้ตั้งแต่ยังไม่กำเนิด และด้วยเหตุนี้ทำให้ทารกมีเอกลักษณืส่วนตัวและเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะถูกแทนที่ได้ ก่อนที่ทารกจะถือกำเนิดนั้นทารกก็มีสถานะเป็นองค์ประธานอยู่แล้วและเป็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทารกถูกทำให้กลายไปเป็นองค์ประธานในและโดยองค์ประกอบทางอุดมการณ์แบบครอบครัวที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งมันคือการ ‘คาดหวัง’ นับตั้งแต่ที่เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น”

องค์ประธานจำนวนมากนั้นยอมรับการสถาปนาตนเองทางอุดมการณ์เอาไว้ในฐานะของ “ความเป็นจริง” หรือ “ธรรมชาติ” และด้วยเหตุนั้นเองพวกเขาจึงมักจะไม่เกิดความขัดแย้งต่อกลไกในการปราบปรามของรัฐซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อลงโทษผู้ใดก็ตามที่ต่อต้านอุดมการณ์นำ (dominant ideology) การครอบงำ (hegemony) นั้นไม่ได้ทำงานร่วมกับกลไกในการปราบปรามอย่างองค์กรตำรวจมากนัก หากแต่มันมักจะทำงานร่วมกับกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐโดยที่อุดมการณ์นั้นจะทำหน้าที่เป็นตัวอบรมแก่องค์ประธานทุกคน ดังเช่นที่อัลธูแซร์ชี้ว่า “ปัจเจกบุคคลนั้น ถูกร้องเรียกในฐานะขององค์ประธาน (ที่เป็นอิสระ) เพื่อที่จะทำให้พวกเขานั้นยอมจำนนลงอย่างอิสระต่อข้อบัญญัติขององค์ประธานหลัก กล่าวคือมันเป็นการกระทำที่จะทำให้เขาพวกเขายอมรับและยอมจำนนต่อการครอบงำ (อย่างเสรี) กล่าวคือเพื่อที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายนั้นแสดงออกและกระทำการยอมจำนนต่อการครอบงำทั้งหมดโดยตัวของปัจเจกบุคคลเอง”

 

II

ว่าด้วยกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ

(on ideological state apparatuses)

 

หลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) นั้นได้ขยายความเข้าใจของมาร์กซ์ (Marx) ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างส่วนฐาน (base) กับโครงสร้างส่วนบน (superstructure) ด้วยการเพิ่มเติมมโนทัศน์ของเขาในเรื่อง “กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ” (ideological state apparatuses) เข้าไป “มาณ์กซ์นั้นได้แบ่งแยก “ระดับขั้น” ต่างๆในสังคมเอาไว้สองประการคือ โครงสร้างส่วนล่าง (infrastructure) หรือ ฐานเศรษฐกิจ (economic base) กับโครงสร้างส่วนบน (superstructure) ซึ่งประกอบไปด้วยสถาบันทางการเมืองและกฎหมาย (ประมวลกฎหมาย, ตำรวจ, รัฐบาล) ตลอดจนอุดมการณ์ (ศาสนา, คุณธรรม, ความถูกต้อง, ความเป็นการเมือง, ฯลฯ) โครงสร้างส่วนบนนั้นมีความเป็นอิสระในตนเองต่อความสัมพันธ์กับโครงสร้างส่วนล่าง มันวางรากฐานตัวเองอยู่บนโครงสร้างส่วนล่างหากแต่ว่าในบางครั้งแล้วมันก็สามารถจะต่อสู้ในระยะยาวหรือเป็นอิสระอยู่ได้ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในฐานเศรษฐกิจ อัลธูแซร์นั้นไม่ได้ปฏิเสธโครงร่างที่มาร์กซ์เสนอขึ้น หากแต่ว่าเขาต้องการที่จะสำรวจวิถีทางที่อุดมการณ์นั้นได้ขยายตัวออกไปมากขึ้นและมีลักษณะ “เชิงวัตถุ” มากขึ้นกว่าการยอมรับกันในช่วงก่อนหน้า ด้วยเหตุนี้เองอัลธูแซร์จึงเสนอให้มีการแบ่งแยกกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ (เราจะเรียกอย่างสั้นว่า กอร.) ออกจากกลไกในการปราบปรามของรัฐ (ซึ่งเราจะเรียกว่า กปร.) ซึ่งกลไกของรัฐนั้นประกอบไปด้วย “รัฐบาล, ฝ่ายปกครอง, กองทัพ, ตำรวจ, ศาล, คุก, ฯลฯ” ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนแล้วแต่เป็นหน่วยงานซึ่งทำงานด้วยการใช้ “ความรุนแรง” ซึ่งในบางกรณีจะใช้การลงโทษอย่างรุนแรงหรือการปราบปรามเพื่อบังคับใช้อำนาจ

และเพื่อจะแยกเอา กอร. ออกจาก กปร. นั้นอัลธูแซร์ได้เสนอตัวอย่างขึ้นมาดังนี้

  • กอร.สถาบันศาสนา (ระบบที่แตกต่างกันของโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน)
  • กอร.สถาบันครอบครัว
  • กอร.ทางกฎหมาย
  • กอร.ทางการเมือง (ระบบการเมืองที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลากหลายพรรค)
  • กอร.สหภาพแรงงาน
  • กอร.ด้านการสื่อสาร (หนังสือพิมพ์,วิทยุ และ โทรทัศน์ ฯลฯ)
  • กอร.ด้านวัฒนธรรม

 

บรรดา กอร. ดังกล่าวที่ยกมานี้มีลักษณะที่แตกต่างจาก กปร. อยู่คือมันมีลักษณะการรวมศูนย์ (centralized) ที่น้อยมากและมีความแตกต่างหลากหลายกันมาก และมันยังเป็นสิ่งที่มุ่งมั่นจะแทรกตัวเองเข้าไปในการดำรงอยู่ของพื้นที่ส่วนบุคคลมากกว่าการดำรงอยู่ในพื้นที่สาธารณะ แม้ว่าเป้าหมายของอัลธูแซร์ในที่นี้นั้นจะเป็นการตั้งคำถามต่อการแบ่งแยกพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะของกระฎุมพี (bourgeois) “การแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นการแบ่งแยกที่เกิดขึ้นภายในกฎหมายของกระฎุมพี และถูกทำให้ชอบธรรมขึ้นภายในขอบเขตพื้นที่ที่กฎหมายของกระฎุมพีนั้นหยิบใช้ ‘อำนาจ’ ของมัน” สิ่งสำคัญที่ทำให้เราแบ่งแยก กอร. ออกจาก กปร. ได้นั้นคืออุดมการณ์ “กลไกในการปราบปรามของรัฐนั้นทำงานโดยอาศัย ‘ความรุนแรง’ ในขณะที่กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐนั้นทำงานโดยอาศัย ‘อุดมการณ์’” และเพื่อจะให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น อัลธูแซร์ได้อธิบายว่า กปร. นั้นทำงานโดย ครองอำนาจนำเหนือ ด้วยการใช้ความรุนแรงและการปราบปรามเป็นตัวนำ โดยใช้อุดมการณ์ตามหลัง ขณะที่ กอร. นั้นทำงานโดยการครองอำนาจนำเหนือด้วยการใช้อุดมการณ์นำแต่ขณะเดียวกันมันก็สามารถใช้การลงโทษ หรือการปราบปรามตามมาได้ด้วยเช่นกัน “สถานศึกษาและศาสนสถานนั้นได้หยิบใช้มรรควิธีที่เหมาะสมเช่น การลงโทษ, การขับไล่, การคัดเลือก ฯลฯ เพื่อสร้างกฎระเบียบขึ้น และกระบวนการดังกล่าวนี้ก็เกิดขึ้นในสถาบันครอบครัวเช่นกัน รวมถึงเกิดขึ้นใน กอร.ด้านวัฒนธรรมด้วย

ถึงแม้ว่า กอร. นั้นจะปรากฏขึ้นในฐานะของสิ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากแต่หน่วยต่างๆนั้นก็มีจุดร่วมกันในการทำงานร่วมกันเพื่อรับใช้อุดมการณ์ร่วมแบบหนึ่งซึ่งจะเป็นการทำงานเพื่อรับใช้ชนชั้นปกครอง ในความเป็นจริงแล้วชนชั้นปกครองนั้นจำเป็นต้องรักษาระดับการควบคุมเหนือ กอร. อยู่เสมอเพื่อให้มั่นใจถึงเสถียรภาพของ กปร. “ตามความรู้ของผมแล้ว ไม่มีชนชั้นใดที่สามารถถือครองอำนาจรัฐเป็นระยะเวลายาวนานได้โดยปราศจากการใช้อำนาจในการสร้างการครอบงำเหนือและในกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ” มันเป็นเรื่องยากสำหรับชนชั้นปกครองอย่างมากในการที่จะรักษาการควบคุมเหนือ กอร. ที่มีความแตกต่างหลากหลาย และมีความเป็นอิสระในตนเอง (มุมมองทางความคิดหรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกันอาจจะส่งเสียงท้าทายขึ้นในหน่วยใดของ กอร.ก็ได้) และนี่คือเหตุผลว่าทำไมมันจึงมีการต่อสู้อย่างต่อเนื่องในการพยายามสร้างการครองอำนาจนำ

ในส่วนท้ายนี้มันถือเป็นเรื่องคุ้มค่าที่เราจะกล่าวถึงว่าตามความคิดของอัลธูแซร์แล้ว “สิ่งที่ชนชั้นกระฎุมพีมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด กล่าวคือ กลไกทางอุดมการณ์ในการสร้างการครอบงำที่ชนชั้นกระฎุมพีให้ความสำคัญมากที่สุดนั้นก็คือ กลไกทางการศึกษา ซึ่งได้ปรากฏขึ้นมาแทนที่กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐในยุคก่อนหน้าก็คือศาสนสถาน” ด้วยการทำงานผ่านการศึกษา กลุ่มปัจเจกบุคคลแต่ละคนซึ่งออกจากระบบการศึกษาในช่วงระดับที่ต่างกัน (ชนชั้นแรงงานที่ออกจากระบบการศึกษาก่อน กลุ่มกระฎุมพีน้อยที่จะออกจากระบบเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และบรรดาผู้นำที่สำเร็จทักษะเฉพาะทางระดับสูง) ก็จะเข้าสู่ระบบการทำงานพร้อมกับอุดมการณ์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตซ้ำระบบที่ดำรงอยู่ “ใครก็ตามที่ออกจากระบบมาระหว่างทางนั้นล้วนแล้วแต่ได้รับการติดตั้งอุดมการณ์ซึ่งเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ที่จะช่วยเข้ามาเติมเต็มสังคมชนชั้นได้” ขณะที่ กอร. หน่วยอื่นๆนั้นก็จะทำหน้าที่สนับสนุนการผลิตซ้ำอุดมการณ์นำ แต่ “ไม่มีกลไกทางอุดมการณ์รัฐส่วนไหนที่มีสภาวะผูกพันธะ (มีอิสระ) ต่อการก่อรูปทางสังคมของระบบทุนนิยม” สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำงานของ กอร. คือเหตุผลที่สถานศึกษานั้นทำการปกคลุมตนเองด้วยการปกปิดและซุกซ่อนเป้าหมายที่แท้จริงของตนเองผ่านการสร้างความคลุมเครือทางอุดมการณ์ “อุดมการณ์ที่นำเสนอภาพของโรงเรียนในฐานะของพื้นที่ที่เป็นกลางและปราศจากการปนเปื้อนของอุดมการณ์ ที่ครูอาจารย์นั้นให้ความเคารพต่อ “จิตสำนึก” และ “เสรีภาพ” ของเด็กๆทุกคนที่ให้ความไว้วางใจต่อพวกเขา (ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่) โดยผู้ปกครองของเด็ก (ผู้ที่เป็นอิสระด้วย กล่าวคือ เป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจเหนือลูกๆของตน) อันเป็นการเปิดหนทางไปสู่เสรีภาพ, คุณธรรม, และความรับผิดชอบเพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ผ่านประสบการณ์ของพวกเขา ผ่านองค์ความรู้ วรรณกรรมและ การปลดปล่อยคุณงามความดี” ตามมุมมองของอัลธูแซร์แล้ว “บรรดาครูอาจารย์เหล่านี้ ผู้อยู่ในเงื่อนไขอันน่าหวาดกลัว จะต้องพยายามที่จะเปลี่ยนอาวุธจำนวนไม่มากของตนเท่าที่พวกเขาพอจะสามารถหาได้ในประวัติศาสตร์และเรียนรู้ว่าพวกเขาได้ทำการสอนเพื่อ ‘ต่อต้าน’ อุดมการณ์ ระบบและภาคปฏิบัติการที่พวกเขาตกอยู่ในกับดัก ... คือรูปแบบของพวกวีรชน”.