Skip to main content

 

มาร์กซิสม์ 101 – ทำไมเราจึงควรเป็นนักสังคมนิยม

(Marxism 101 – why you should be a socialist)

By Rob Sewell. Translated by Jakkapon P.

 

Rob Sewell บรรณาธิการของ Socialist Appeal นั้นมองปัญหาที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในวิกฤตการณ์ของระบบทุนนิยม การขยายตัวของความเหลื่อมล้ำในโลกในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนผ่านชีวิตความเป็นอยู่ของเราบนเงื่อนไขของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และอธิบายว่าเพราะเหตุใดเราจึงควรเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมโลก

“ในปัจจุบันนี้เรามีองค์ความรู้มากพอที่จะส่งจรวจไปยังดาวพลูโต ดาวเคราะห์ที่ห่างไกลที่สุดในระบบสุริยะของเรา หรือกระทั่งสร้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง แต่ทว่าในขณะเดียวกันนั้นเรากลับไม่มีพลังอำนาจที่จะแก้ไขปัญหาที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันลงได้”

คำกล่าวนี้เป็นจริงขนาดไหน?  ความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้นเป็นสิ่งที่พิเศษอย่างแท้จริง หากแต่เรากลับไม่สามารถจะสร้างที่อยู่อาศัยที่เพียงพอเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนถูกบีบบังคับให้ต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนนได้ หรือกระทั่งไม่สามารถจะสร้างตำแหน่งงานที่เหมาะสมสำหรับบรรดาคนรุ่นใหม่ของเราได้

นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศล้าหลังที่ขาดแคลนทรัพยากร บรรดาผู้คนที่ได้รับความทุกข์ทรมานเหล่านี้ต่างก็ “อาศัย” อยู่ใน Glasgow, Newcastle และ London ตลอดจนใน San Paulo และ Cairo

ในอีกทางหนึ่งนั้นบรรดามหาเศรษฐีทั้งหลาย อย่างเช่น Donald Trump และบรรดาเพื่อนผู้ประกอบที่มั่งคั่งร่ำรวยของเขาใน London และที่อื่นๆนั้นต่างก็อาศัยอยู่ในคฤหาสน์หรืออพาทเมนต์สุดหรู มีห้องสะสมงานศิลปะราคาแพง มีเรือยอชท์สุดหรูราคาหลายล้านดอลลาห์ มีรถยนต์หรูราคาแพงอีกนับสิบคัน และยังสามารถท่องเที่ยวไปทั่วโลกได้ด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว พวกเขาต่างมีพนักงานขับรถและคนรับใช้ที่คอยก้มหน้ารับใช้และทำตามคำสั่งที่พวกเขาต้องการให้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

สภาวะการผูกขาดทั้งอำนาจและความมั่งคั่งเอาไว้ในมือของคนกลุ่มเดียวนี้กลายเป็นเรื่องน่าใจหายอย่างแท้จริง บรรดาผู้ร่ำรวยหรือมหาเศรษฐีจำนวน 85 คนนั้นถือครองทรัพย์สินที่มากกว่าทรัพย์สินของคนส่วนใหญ่ของโลกรวมกันเสียอีก

ในขณะที่บรรดาคนรวยกำลังนั่งดื่มไวน์และทานอาหารในร้านอาหารสุดหรู ตัวเลขของแรงงานผู้เป็นแม่ที่ต้องอดอาหารกลางวันเพื่อสละอาหารกลางวันให้ลูกที่ต้องไปโรงเรียนก็ขยายตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ บรรดาคนธรรมดาสามัญในปัจจุบันนี้ต่างก็ถูกบีบบังคับให้ต้องทำงานด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ถ้าหากว่าพวกเขาโชคดีที่พอจะยังมีงานทำ ในขณะที่บรรดาคนรวยกำลังเสวยสุขอยู่บนความหรูหราฟุ่มเฟือยนั้น บรรดาโรคร้ายและความเจ็บป่วยต่างๆก็ย้อนกลับมาแพร่กระจายอยู่ท่ามกลางเมืองที่เต็มไปด้วยความยากจน นี่คือสภาพความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่สังคมศิวิไลซ์ในศตวรรษที่ 21!

 

empty houses

ไม่จำเป็นต้องมีวลีคำหลอนหรือเหตุผล

ในสังคมที่มีความเจริญและรุ่งเรืองนั้นโรงงานอุตสาหกรรมมักจะมีการปิดตัวลงหรือ “หยุดทำการผลิต” เป็นระยะๆ พร้อมกับการผลักแรงงานออกจากโรงงานให้กลายไปเป็นคนว่างงาน และทักษะต่างๆของแรงงานนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการอีกต่อไป คนว่างงานนั้นจ้องมองไปที่โรงงานซึ่งว่างงานพร้อมคำถามมากมาย แรงงานจำนวนมากในปัจจุบันถูกจัดวางตำแหน่งงานในงานระยะสั้นพร้อมกับการตัดลดค่าจ้างลง มันเป็นสภาวะเสมือนกับว่าประเทศทั้งประเทศนั้นกำลังเผชิญหน้าอยู่กับภัยพิบัติร้ายแรงทางธรรมชาติ ผู้คนนั้นมีความต้องการขั้นพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตหากแต่พวกเขากลับไม่มีเงินมากเพียงพอที่จะซื้อสิ่งของประทังชีพได้ เหตุผลหรือคำอธิบายเรื่องนี้อยู่ที่ไหนกัน?

บรรดาผู้แก้ตัวแทนชนชั้นนายทุนนั้นกล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเลือกในการจะ “ปิดการทำงาน” เป็นระยะๆ นี่คือวิถีทางที่ระบบตลาดทำงาน – นั่นคือการปิดโรงงานและไล่คนงานออกจากงานนั้นก็เป็นเสมือนการตัดเอาใยไม้หรือกิ่งที่แห้งเหี่ยวออกจากต้นไม้เพื่อให้มันดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ พวกเขายังคงย้ำต่อไปอีกว่านี่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ มันเป็นเช่นนี้แหละ (ซึ่งมันไม่จริง) และดังนั้นแล้วมันย่อมจะเป็นเช่นนี้เสมอไป

หากทว่าคำถามสำคัญคือ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือที่เราจะนั่งมองมนุษย์คนอื่นอาศัยอยู่ในสลัมแออัดหรือนั่งมองมนุษย์คนอื่นต้องพยายามต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดไปวันๆโดยอาศัยอยู่ตามท้องถนนอย่างเฉยเมย ในขณะที่มันมีที่พักอาศัยจำนวนมากถูกปล่อยว่างเอาไว้เพื่อรอการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์? มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือที่เราจะนั่งมองมนุษย์คนอื่นต้องทนหิวโหยในขณะที่ชาวนานั้นถูกจ้างให้ออกจากการทำการผลิตบนที่ดินเช่า? มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์งั้นหรือที่เราจะนั่งมองมนุษย์คนอื่นต้องตายลงเพียงเพราะว่าเขาไม่มีเงินทองมากพอสำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาล? เราจะตอบคำถามนี้อย่างมักง่ายว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เหมือนเช่นที่เราได้รับการกล่อมเกลามาตลอดชีวิตหรือเปล่าล่ะ?

ทำไมเราจึงไม่ร่วมกันสร้างระบบการวางแผนหรือการจัดการเหนือชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราที่จะทำให้มนุษย์ทุกคนสามารถได้รับประโยชน์จากการความมั่งคั่งที่พวกเราสร้างขึ้น แทนที่จะมอบผลผลิตความมั่งคั่งเหล่านั้นไปให้กับคนกลุ่มน้อยเพียงไม่กี่คน? ในโลกนี้มีคนจำนวนมากที่มีทักษะเพียบพร้อมรวมถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ มนุษยชาตินั้นสามารถกระทั่งส่งยานอวกาศไปยังดาวพลูโตหรือไกลกว่านั้นได้ และยังสามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้อีกมากมาย มันเป็นสิ่งชัดเจนว่าเรามีทรัพยากรมนุษย์ที่เก่งกาจมากมาย  ซึ่งหมายรวมไปถึงคนที่อยู่ในระหว่างตกงานด้วยเช่นกัน การสร้างที่พักอาศัยให้เพียงพอต่อมนุษย์ทุกคนนั้นย่อมจะเป็นเพียงเรื่องง่ายๆที่เราสามารถจะทำมันให้เกิดขึ้นจริงได้มาตั้งนานแล้วด้วยซ้ำ

แต่ทว่า รอประเดี๋ยวก่อน! บรรดาผู้ถือครองที่ดินและบริษัทก่อสร้างทั้งหลายนั้นคือพวกผู้ประกอบการหรือนายทุน ถ้าหากว่าพวกเขาไม่ได้กำไรขนาดใหญ่แล้วล่ะก็พวกเขาย่อมไม่ยอมลงมือสร้างบ้านให้กับบรรดาผู้ที่ต้องการมันอย่างแน่นอน สิ่งเดียวที่พวกเขาให้ความสนใจก็คือเงิน ถ้าไม่มีกำไร พวกเขาก็ไม่สร้างบ้าน ในความเป็นจริงแล้วยิ่งจำนวนบ้านที่มีอยู่น้อยลงเท่าไหร่ จำนวนผู้ต้องการซื้อยิ่งมากขึ้น ราคาของบ้านก็ยิ่งสูงขึ้น และนั่นหมายถึงว่าพวกนายทุนเหล่านี้ย่อมจะสามารถสร้างกำไรให้ตัวเองได้มากยิ่งขึ้น ในโลกที่สับสนอลหม่านนี้ ยิ่งเกิดความยากลำบากความทุกข์ทรมานมากขึ้นเท่าไหร่ พวกนายทุนก็ยิ่งสามารถหากำไรจากเรื่องเหล่านี้ได้มากขึ้นเท่านั้น

แน่นอนว่าพวกนายทุนไม่มีวันมาพูดอะไรแบบนี้ให้พวกคุณฟังหรอก สิ่งเดียวที่พวกเขาจะทำคือความปกปิดคุณจากข้อเท็จจริงว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นต่างหาก

 

บ่อนคาสิโนแห่งระบบทุนนิยม

บรรดาชนชั้นนายทุนผู้ครอบครองสิ่งสวยงามและความมั่งคั่งทั้งหลายนั้นมีความสนใจอยู่เพียงเรื่องเดียวนั่นคือ – การสร้างเงิน พวกเขาไม่ได้ทำงานที่หนักหนาอะไรมากมาย บรรดานักลงทุนที่ร่ำรวยส่วนมากนั้นจ้างผู้จัดการและนักบัญชีมาเพื่อทำการลงทุนและสร้างกำไรให้กับพวกเขา และต่อให้บรรดานายทุนเหล่านี้ทำงานอย่างหนัก พวกเขาก็ไม่ได้สร้างสิ่งใดที่มีมูลค่าทางสังคมขึ้นมา พวกเขาเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งขึ้นมาจากการทำงานของผู้อื่น พวกเขาทานอาหาร สวมใส่เสื้อผ้า และอาศัยอยู่ในบ้านที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกำลังแรงงานของคนอื่น และไม่ได้มอบสิ่งใดตอบแทนกลับคืน

ชนชั้นแรงงานนั้นสร้างมูลค่าและความงอกงามมากกว่าที่พวกเขาได้รับกลับมาผ่านค่าจ้าง นี่คือจุดกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่ากำไร ชนชั้นแรงงานนั้นจะได้รับค่าแรงในจำนวนที่เพียงพอจะทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้จนกระทั่งมาทำงานและรอรับเงินค่าจ้างในวันถัดไป การขูดรีดนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างชัดเจนเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในยุคกลาง ที่ทาสติดที่ดินนั้นถูกบังคับให้ทำงานฟรีๆบนที่ดินของขุนนางหรือเจ้าที่ดิน หากแต่มันเป็นเรื่องเดียวกัน ชนชั้นนายทุนนั้นสร้างเงินและกำไรจากทุกวิถีทาง หากแต่สุดท้ายแล้วมันมาจบลงที่การพยายามลดและกดขี่แรงงานให้มากขึ้น

ในช่วงหนึ่งศตวรรษก่อน ชนชั้นนายทุนนั้นได้ผลิตสิ่งของขึ้นอย่างจริงจัง หากแต่ในปัจจุบันนี้ชนชั้นนายทุนนั้นต้องการที่จะสร้างเงินโดยปราศจากปัญหากวนใจในการผลิตสินค้า ถ้าหากว่าคุณลองดูการจัดลำดับรายชื่อมหาเศรษฐีในหนังสือพิมพ์ the Sunday Times คุณจะเห็นว่าบรรดามหาเศรษฐีจำนวนมากร่ำรวยขึ้นมาจากการได้รับมรดก การถือครองสินทรัพย์ การลงทุนด้านประกันชีวิต การธนาคาร บริการทางการเงิน ฯลฯ มีนายทุนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการทำการผลิต พวกเขาซื้อและขายพันธบัตรหรือเงินตรา พวกเขาซื้อขายกันกระทั่งพันธบัตรขยะ และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ซื้อมันมาจากบู๊ทขายของเก่าหรืออะไรพวกนั้น – หากแต่มันเป็นสัญญาทางการเงินที่สร้างขึ้นมาจากสถาบันทางการเงินซึ่งมีความเสี่ยงในการลงทุนสูงมาก

ตลาดหลักทรัพย์นั้นแทบไม่ต่างอะไรกับบ่อนพนันคาสิโนเลยแม้แต่น้อย แต่เรื่องที่เลวร้ายก็คือชีวิตความเป็นอยู่ของคนนับล้านนั้นถูกแขวนเอาไว้บนการทอยลูกเต๋าของบรรดามหาเศรษฐีเหล่านี้ นี่มันเป็นเรื่องเลอะเทอะบ้าบออะไรกัน?

สำหรับบรรดานายทุนแล้วพวกเขาไม่เคยพ่ายแพ้อย่างจริงจัง “การซื้อขาย” และไม่ “ทำการผลิต” นั้นคือเป้าหมาย และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขนาดใหญ่ การเทคโอเวอร์เหนือบริษัทอื่น หรือการซื้อขายบริษัท ตามแต่คำที่เราเรียกมันนั้น มันไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่พวกเขากำลังซื้อขายกันนั้นคืออะไร ไม่สนใจว่ามันเป็นอาวุธที่จะสร้างการทำลายล้างในวงกว้างหรืออะไรก็ตาม พวกเขาจะยอมขายกระทั่งคุณยายทวดของตัวเองหากว่าพวกเขาสามารถสร้างกำไรจากการขายยายทวดของตัวเองได้ ดังเช่นที่นายธนาคารนักลงทุนคนหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นถูกกำหนดโดย “ความโลภอันทรงพลังที่แพร่กระจายอยู่ในชีวิตทางธุรกิจของเรา”

 

monopoly

ชนชั้นนายทุน : ผู้สร้างความมั่งคั่งหรือปรสิตสังคม?

เราขอยกตัวอย่างของมหาเศรษฐีนาม Warren Buffet ธุรกิจของเขานั้นมีเงินสดคงคลังอยู่ที่ราวๆ 67$ พันล้าน เพื่อจะลงทุนใน “การซื้อกิจการอื่นๆ” หรือการซื้อบริษัทอื่น เขาอธิบายว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นเสมือนกับการ “ล่าช้าง” มันเป็นกิจกรรมยามว่างที่เราแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย นาย Buffet นั้นจัดการบริหารและเปลี่ยนธุรกิจสิ่งทอที่กำลังระส่ำระสายให้กลายเป็นการรวมกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ที่มีมูลค่าในตลาดรวมแล้วกว่า 354$ พันล้าน ซึ่งแน่นอนว่าบรรดาบริษัทจำนวนมากนั้นเข้าร่วมผ่านการถูกซื้อขาด! บริษัทของเขายังคงดำเนินการแบบดังกล่าวโดยข้ามไปสู่การลงทุนและซื้อขายบริษัทในกิจการประกันภัยและการกู้ยืม การรถไฟ กิจการด้านการผลิตและกิจการพลังงาน และยังคงรักษาการลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทเอาไว้ เขายังได้ออกทุนให้เกิดการควบรวมบริษัทระหว่าง Kraft และ Heinz และการซื้อกิจการของ Canada’s Tim Hortons coffee ซึ่งเป็นผลลูกโซ่มาจากการซื้อ Burger King การเข้าซื้อกิจการครั้งล่าสุดของเขาคือการซื้อ Van Tuyl บริษัทเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาที่เขาซื้อมาในราคา 4.1$ พันล้าน

“ด้วยการซื้อกิจการของ Van Tuyl นี้ทำให้เราได้ถือครองบริษัทจำนวน 9.5 บริษัทที่จะได้ถูกจัดอันดับเอาไว้ในลิสต์บริษัท 500 อันดับต้น” นาย Buffett เขียนในจดหมายประจำปีของเขาที่ส่งให้ผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ “นั้นทำให้มันเหลือบริษัทอีก 490.5 ที่จะเป็นเหมือนปลาในท้องทะเล”

นาย Buffet สามารถสร้างกำไรทั้งหมดนี้ขึ้นมาราวกับการตกผลามือเดียวได้อย่างไรในขณะที่ถือครองบริษัทและ “ผลประโยชน์” จำนวนมากเอาไว้? คำตอบก็คือบรรดานายทุนยุคเก่าที่ไม่เพียงแต่ถือครองบริษัทหากแต่ลงไปทำการควบคุมกิจการของตนเองด้วยตัวเองนั้นได้หายไปจนเกือบหมดแล้ว ในปัจจุบัน นายทุนจำนวนมากทำเช่นเดียวกับ Buffett นั่นคือการจ้างผู้จัดการมาบริหารงานแทนตนเอง

แต่ว่าคนแบบนาย warren ก็ยังคงทำงานหนักไม่ใช่หรือ? ด้วยการทำการซื้อขายกิจการทั้งหลายนี้ พวกเขาย่อมจะเหนื่อยล้าหมดแรงเมื่อเสร็จงานแน่นอน หากทว่าคำถามก็คืองานเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นขนาดไหนในภารกิจของการสร้างความมั่งคั่งที่แท้จริง?

John Strachey สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคแรงงานอังกฤษ ตอบคำถามดังกล่าวเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยมตั้งแต่เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเขากล่าวว่า ลองจินตนาการถึงประเทศสักประเทศที่ถนนทุกเส้นนั้นจะมีด่านเก็บค่าผ่านทางอยู่ตลอด (แม้ว่าถนนเหล่านี้จะได้รับการบำรุงรักษาจากค่าใช้จ่ายสาธารณะดังเช่นในปัจจุบัน) ลองสมมติว่าบรรดาผู้ถือครองด่านเก็บค่าผ่านทางนี้ดำรงชีวิตอยู่โดยอาศัยการเก็บค่าผ่านทางเมื่อยานพาหนะใดๆก็ตามวิ่งเข้ามา พวกเขาก็จะลงมาและปิดประตูด่าน และต่อรองขอเรียกเก็บค่าผ่านทางในราคาสูง นักเศรษฐศาสตร์ในประเทศแบบที่ว่านี้ย่อมจะกล่าวอย่างแน่นอนว่าผู้ถือครองด่านนั้นย่อมจะได้รับเงินทุกเหรียญเท่าที่เขาต้องการ และพวกเขาย่อมชี้ไปหาข้อเท็จจริงที่ว่าพวกผู้ถือครองประตูเหล่านี้นั้นทำงานหนักอย่างมาก ในการวิ่งลงมาเปิดและปิดประตูด่านผ่านทาง เพื่อจะทำให้การสัญจรสามารถดำเนินไปได้

บรรดากิจการดังกล่าวนี้ รวมถึงค่าธรรมเนียมขนาดมหึมาที่พวกเขาเรียกเก็บเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ย่อมจะพูดว่า ผู้ประกอบการที่ครอบครองด่านเก็บค่าผ่านทางที่ทำงานอย่างหนักหน่วงนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อระบบและไม่สามารถจะขาดไปได้ ตลอดจนกล่าวว่า ประเทศดังกล่าวนั้นจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากพวกนายประตูเหล่านี้ หรือหากเราหยุดการจ่ายเงินให้พวกนายด่านเหล่านี้ และถ้าหากว่าไม่มีผู้ใดตั้งคำถามว่าการจราจรจะดำเนินการได้ดีหรือดียิ่งกว่านี้ไหมหากว่าไม่มีด่านเก็บค่าผ่านทางพวกนี้ พวกเขาย่อมได้รับการตอบกลับมาว่าจงอย่าถามคำถามที่ไม่ตรงประเด็น

นักเศรษฐศาสตร์จะบอกเราว่าไม่ว่าผู้คนที่ทำงานหนักและได้รับค่าตอบแทนที่สูงมากก็ไม่ได้หมายความว่างานของพวกเขานั้นเป็นงานที่ไร้ค่า ความคิดนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพียงแค่ในกรณีตัวอย่างของพวกเจ้าของด่านเก็บค่าผ่านทางที่เราพึ่งพูดถึงเท่านั้น  หากแต่ในทุกวันนี้มันถูกนำไปใช้อธิบายถึง ผู้จัดการกองทุนป้องกันภัย, นักเก็งกำไรพันธบัตร, โบรคเกอร์, นายธนาคาร และบรรดานักลงทุนทั้งหลายที่เราเรียกโดยทั่วไปว่ากลุ่มกิจการขนาดยักษ์

พวกเขาทั้งหมดนั้นเหมือนกัน ความแตกต่างของพวกเขานั้นมีแค่วิธีการที่พวกเขาใช้หาเงิน บรรดาผู้บริหารระดับสูงของเราอธิบายถึงช่วงเวลาของเราว่าเป็น “ยุคสมัยแห่งการมอบความสุขให้กับตัวเองด้วยเงินของผู้อื่น” พวกเขาใช้ชีวิตอย่างหรูหรา พวกเขาจ้างคนรับใช้จำนวนมหาศาล ผู้คอยทำตามคำสั่งของพวกเขาราวกับเป็นทาสในอดีต ชนชั้นแรงงานที่มีทักษะนับแสนจากทุกๆพื้นที่นั้นถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับตอบสนองความต้องการของบรรดาปรสิตสังคมเหล่านี้.

 

การผลิตจนล้นเกิน

แต่ว่าปัญหาของบรรดานายทุนก็คือ พวกเขาไม่สามารถสร้างการบริโภคด้วยตัวเองที่จะตอบสนองต่อการเพิ่มขยายความมั่งคั่งของพวกเขาได้ ต่อให้พวกเขาจะกินไข่ปลาคาร์เวียหรือดื่มแชมเปญไปมากแค่ไหนก็ตาม – หากทว่ามันก็ยังมีขีดจำกัดของมันอยู่ คุณอาจจะสามารถอยู่อาศัยในคฤหาสน์หรูหรือขับรถยนต์หรูได้เพียงแค่หนึ่งคันในเวลาเดียวกัน ดังนั้นแล้ว เมื่อเงินของพวกเขาถูกนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เป็นเงินที่มากขึ้น ผ่านการทำงานของผู้อื่น พวกเขาย่อมจะได้รับความร่ำรวยและเงินทองมหาศาลกลับมาเกินกว่าที่ใครจะฝันถึง พวกเขามีตำแหน่งแห่งที่ระดับสูงทั้งในมิติของธุรกิจ รัฐ และการเมือง พวกเขาคือคน 1% ที่อยู่บนจุดสูงสุดของยอดพีระมิดของสังคม พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาชนชั้นสูง

บรรดาคนร่ำรวยหรือมหาเศรษฐีจำนวนมากนั้นไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมาจากการทำงาน หากแต่ผ่านความโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยและได้รับมรดกตกทอด เรื่องเล่าของ คนจนที่ต่อสู้จนกลายเป็นคนรวย นั้นเป็นเพียงนิยายปรัมปราเก่าแก่ของสังคม

เราได้รับการสั่งสอนมาว่า “จงขยันทำงานอย่างหนักแล้ววันหนึ่งคุณก็จะร่ำรวยเอง” แน่นอนว่ามันอาจจะมีปัจเจกบุคคลบางคนที่สามารถบริหารจัดการตัวเองและคืบคลานขยับตัวเองออกจากชนชั้นแรงงานหรือห่างไกลจากความยากจนได้ หากแต่หนทางที่ระบบทุนนิยมดำเนินการไปนั้น ชนชั้นแรงงานนั้นสามารถทำงานอย่างหนักและยาวนานได้ตราบเท่าที่ร่างกายของพวกเขาสามารถรับไหวหากแต่พวกเขาก็ยังคงเป็นได้แค่ชนชั้นแรงงาน การทำงานอย่างหนักไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น หากแต่มันกลับทำให้บรรดานายจ้างของพวกเขาร่ำรวยยิ่งขึ้น ในปัจจุบันนี้การกระจายรายได้ระดับชาติที่มีต่อแรงงานนั้นกำลังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ส่วนแบ่งของนายทุนนั้นกลับขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนของบรรดาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทนั้นได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานกว่า 295.9 เท่าในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2013 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 1965 ที่ห่างกัน 20 เท่า ขณะที่ในอังกฤษนั้นค่าเฉลี่ยเงินเดือนของนายจ้างนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นราวๆ 5 ล้านปอนด์ – หรือปรับตัวขึ้นถึง 183 เท่าจากค่าแรงของแรงงาน ซึ่งขยับตัวขึ้นจาก 160 เท่าในปี 2010 และในหมู่ผู้บริหารระดับสูงเองนั้นได้รับเงินมากกว่า 156 ล้านปอนด์ นี่คือผลที่ตามมาอย่างแน่นอนของระบบทุนนิยม

กฎของระบบทุนนิยมนั้นดำเนินการอยู่ในและดำเนินการผ่านความโกลาหลของระบบตลาด ดังเช่นที่มาร์กซ์ได้อธิบายเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว กฎเหล่านี้ทำงานอยู่เบื้องหลังหน้าฉากของสังคม ที่มนุษย์ทุกคนนั้นต่างก็คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่ใช่คิดถึงมนุษย์ทุกคน ดังนั้นแล้วการเกิดวิกฤตจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในระบบทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความขัดแย้งสำคัญที่สุดนั้นคือการที่ชนชั้นแรงงานไม่สามารถซื้อสินค้าที่ตนเองเป็นผู้ผลิตขึ้นมาได้ ระบบทุนนิยมนั้นพยายามจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพียงชั่วคราว ผ่านการลงทุน หากแต่ว่าการแก้ปัญหาแบบดังกล่าวนั้นก็เดินทางมาถึงขีดจำกัดของตัวมันเอง ความสามารถในการผลิตที่มากขึ้นนั้นหมายถึงจำนวนสินค้าที่ถูกผลิตมากขึ้นและผลักดันเข้าไปในระบบตลาด และนี่คือวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

ระบบอัตโนมัติ และ ปัญหาการตกงาน

คนว่างงานจำนวนมหาศาลนั้นกลายมาเป็นเรื่องปกติของสังคม เราจะมองว่าคนว่างงานเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อมีจำนวนมากกว่า 10% แต่หากตัวเลขคนว่างงานอยู่ที่ระดับ 5% นั้นพวกเขาจะมองว่ามันเป็นสถานการณ์ที่มี “การจ้างงานเต็มอัตรา”! คนนับล้านโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นถูกปล่อยให้เน่าเปื่อยกลายเป็นคนว่างงาน ความสามารถที่พวกเขามีนั้นถูกทิ้งให้กลายเป็นของเสีย ศักยภาพของคนนับล้านที่จะทำการผลิตนั้นถูกทิ้งให้เสียเปล่าไปในทุกๆปีเนื่องจากปัญหาคนว่างงาน ระบบทุนนิยมนั้นกำลังติดอยู่ภายในทางตัน... และสิ่งต่างๆนั้นกำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ รายงานในปี 2013 จากOxford Martin School นั้นแสดงให้เห็นว่าตำแหน่งงานกว่าครึ่งในสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการยกเลิกตำแหน่งงานซึ่งจะหายไปในระหว่างหนึ่งถึงสองทศวรรษช้างหน้า ลองจินตนาการดูสิว่าการจ้างงานกว่าครึ่งของระบบจะหายไป!

ผู้ปกป้องระบบทุนนิยมนั้นกล่าวว่าปัญหาดังกล่าวนี้เชื่อมโยงอยู่กับการนำระบบอัตโนมัติและการขยายตัวของหุ่นยนต์เข้ามาใช้ นี่เป็นการโยนความผิดอย่างหน้าไม่อายที่สุด! ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีหุ่นยนต์นี้ควรจะเปิดทางให้เกิดอิสรภาพของคนทั้งมวลจากความเหนื่อยยาก หากแต่ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นมันส่งให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว การนำเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงาน ทำให้ผู้คนกลายเป็น “สิ่งฟุ่มเฟือย” ในขณะที่กลุ่มคนที่ยังคงได้ทำงานนั้นก็จะถูกบีบบังคับให้ต้องทำงานหนักขึ้นและหนักขึ้น คุณไม่ได้ทำงานเพื่อมีชีวิตอยู่อีกต่อไปหากแต่กลับกันคุณต้องมีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน มนุษย์ทุกคนถูกจับมาวางไว้บนลู่วิ่งที่เริ่มจะหมุนเร็วขึ้นและเร็วขึ้นเรื่อยๆ ตำแหน่งงานจำนวนมากจะค่อยๆสลายหายไปโดยตัวมันเอง ในอดีตนั้นการทำงานของคนหนึ่งคนจะได้รับการตอบแทนที่มากเพียงพอต่อการเลี้ยงดูคนทั้งครอบครัว แต่ในปัจจุบัน การจะเลี้ยงดูคนทั้งครอบครัวนั้นจำเป็นจะต้องมีคนออกไปทำงานมากขึ้นถึง 2-3 คนต่อครอบครัว หรืออาจจะมากกว่านั้น และอาจจะต้องรับงานบางเวลามาทำเสริมร่วมอีกด้วยและเมื่อชนชั้นแรงงานนั้นต้องทำงานหนักขึ้นและหนักขึ้นเรื่อยๆ ชนชั้นนายทุนก็จะยิ่งร่ำรวยมากขึ้นเรื่อยๆด้วย

“เราจำเป็นจะต้องเพิ่มกำลังการผลิต” บรรดานายทุนกล่าว ในอีกความหมายหนึ่งก็คือพวกเขากล่าวว่าพวกเราต้องทำการผลิตมากขึ้นโดยที่ใช้คนทำงานน้อยลง! แน่นอนเรื่องเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างผลประโยชน์ให้กับบรรดานายทุนอีกเช่นเคย จำนวนแรงงานที่น้อยลงต้องผลิตสินค้าจำนวนที่มากขึ้นนั้นหมายถึง “การผลิตที่มีคุณภาพ” หากแต่คำถามคือใครกันที่จะมาซื้อสินค้าเหล่านี้เมื่อบรรดาแรงงานถูกไล่ออกจากงาน? หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรชนิดใหม่นั้นไม่สามารถจะซื้อหรือบริโภคสินค้าได้ และแล้วเราก็มาถึงทางตันในวิกฤตของการผลิตจนล้นเกิน

เป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างยิ่งที่เราสามารถมีเครื่องมือที่ช่วยประหยัดเวลาในการผลิตได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาแต่เรากลับต้องพบกับชีวิตการทำงานที่มีเวลาว่างน้อยลงเรื่อยๆอย่างไม่เคยมีมาก่อน ถ้าหากว่าเราหยิบใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีหุ่นยนต์อย่างถูกต้องในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้ทำงานแทนที่งานที่ใช้แรงงานในจำนวนมากและทำลายกำแพงของชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานลงเพื่อพวกเราทุกคน แทนที่เราจะต้องทำงานอย่างยาวนาตลอดทั้งวัน ลองจินตนาการถึงสังคมที่เราจะทำงานเพียงแค่วันละสามชั่วโมง ในวันทำงานแค่ห้าวันสัปดาห์ พร้อมกับได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นดูสิ? และแน่นอนว่าภายใต้สังคมนิยมนั้นเราสามารถจะลดชั่วโมงการทำงานลงได้อีกเรื่อยตั้งแต่ลดเหลือ 10 หรือ 5 หรือกระทั่งเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

มันไม่มีสิ่งใดที่จะหยุดยั้งเราได้ – เมื่อทรัพยากรทั้งหมดนั้นมีพร้อมอยู่แล้ว หากแต่การจะทำเช่นนั้นเราจำเป็นจะต้องทำให้มันกลายเป็นสิ่งสาธารณะ – เราไม่ได้หมายถึงร้านค้าหรือสถานประกอบการเล็กๆ (ที่เรากำลังพยายามจะช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากกรงขังของบรรดาเจ้าของที่ดินและนายธนาคาร) – หากแต่เรากำลังหมายถึงการทำให้กิจการขนาดใหญ่ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มมหาเศรษฐีที่ผูกขาดธุรกิจทั้งหลายใน 150 อันดับแรกของโลกที่ควบคุมระบบเศรษฐกิจกลายเป็นของสาธารณะ เราไม่ได้จะเข้ายึดครองหรือแทนที่บรรดาผู้ถือครองจอมเจ้าเล่ห์เหล่านี้ เหมือนที่พวกเขาเคยทำกับเราตลอดมา หากแต่เราจะยึดครองบรรดาทรัพย์สมบัติของพวกเขาและควบคุมมันด้วยกระบวนการผลิตแบบวางแผนที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อทำการผลิตที่จะตอบสนองต่อความต้องการของคนทั้งมวล เราจะสร้างการผลิตที่วางรากฐานอยู่บนความต้องการของผู้คนทั้งมวล ไม่ใช่บนความโลภของพวกนายทุน ที่จะทำให้การผลิตนั้นขยายตัวขึ้นราว 20-25% ในทุกๆปี ซึ่งการสร้างสรรค์ความเจริญงอกงามนี้ย่อมจะส่งผลให้เราสามารถเริ่มโครงการสร้างบ้านจำนวนมากให้เพียงพอต่อมนุษย์มุกคนบนโลกได้ และลดราคาค่าเช่าลงเหลือเพียง 2% ของรายได้ (แทนที่ค่าเช่าแบบปัจจุบันที่มีราคาสูงถึง 50% ของรายได้) เตรียมระบบพลังงานทั้งไฟฟ้าและแก๊สฟรีสำหรับมนุษย์ทุกคน ระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะฟรี ที่จะลดทอนปัญหามลพิษและช่วยส่งเสริมสุขภาพของเราให้ดียิ่งขึ้น (และในทางเดียวกันนั้นมันย่อมจะช่วยลดความตึงเครียดในระบบการรักษาลงด้วย) เราย่อมจะสามารถสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลให้มากขึ้น เพื่อจะทำการศึกษากลายเป็นสวัสดิการฟรี และทำให้มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย พวกเขาจะได้ร่ำเรียนตราบเท่าที่พวกเขายังคงสนใจที่จะเรียนมัน.

 

work to live

ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนที่มีเหตุมีผลและเป็นประชาธิปไตย

ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนของสังคมนิยมนั้นย่อมจะทำให้ไม่เพียงแต่ลดวันทำงานลง หากแต่จะเป็นการลดระดับอายุในการเกษียณงานลงด้วย ระบบเศรษฐกิจรัสเซียภายหลังการปฏิวัติปี 1917 นั้นแม้ว่าในภายหลังแล้วมันจะถูกทำลายลงและแทนที่ด้วยระบอบเผด็จการข้าราชการของสตาลิน ที่ทำลายโอกาสของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนลงไป หากแต่ในห้วงเวลาหนึ่งก่อนการครองอำนาจของสตาลิน ในช่วงระหว่างปี 1958 ถึง 1968 นั้น มีการสร้างบ้านพักอาศัยขึ้นในรัสเซียกว่า 100 ล้านหลังคาเรือน ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าทั้งยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริการวมกัน ลองจินตนาการภาพว่าหากการปฏิวัติเกิดขึ้นในอังกฤษ ด้วยวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เข้มข้นของแรงงาน และวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่สูงกว่ารัสเซียในยุคเดียวกันนั้น มันจะสร้างความสำเร็จอันใหญ่โตขนาดไหนให้เกิดขึ้นบนรัฐสังคมนิยมอังกฤษ

อืม นี่มันคือความคิดบ้าบอคอแตกนายทุนจะกล่าวเช่นนี้ แน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติที่ย่อมจะเกิดขึ้นได้ เพราะภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นพวกเราต่างก็ถูกฉุดรั้งเอาไว้ไม่ให้ลงมือกระทำการสร้างสรรค์สิ่งพิเศษเหล่านี้ พวกเขามักจะโต้เถียงเรื่องการผลิตเพื่อสร้างกำไรอยู่เสมอ ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมพวกเขาไม่เอาเรื่องแรงจูงใจจากกำไรโยนทิ้งไปเสียล่ะ? การนำเอาระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ที่ทำให้เกิดเวลาว่างที่มากขึ้นนั้นควรจะเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้คนได้นำไปใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เต็มที่ ในขั้นแรกนั้น มันควรจะต้องเริ่มจากการปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระจากความเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและสังคม และดังนั้นแล้วแก่นแท้ของแนวคิดประชาธิปไตยของคนงานก็คือการปลดแอกตนเองให้เป็นอิสระจากบรรดานายทุนและนายธนาคารทั้งหลาย

แต่ว่าพวกคนงานน่ะไม่สามารถจะขับเคลื่อนสังคมได้หรอก พวกนายทุนมักกล่าวเช่นนี้ คำถามคือทำไมไม่ใช่ชนชั้นแรงงานที่พูดประโยคนั้น ชนชั้นแรงงานคือกลุ่มคนที่ทำงานทุกชนิดที่เป็นงานที่เป็นจริง มีแต่ชนชั้นแรงงานเท่านั้นที่สามารถจะบอกได้ว่าหนทางที่ดีที่สุดที่จะขับเคลื่อนงานในสถานที่ทำงานของพวกเขาคืออะไร พวกเขาสามารถทำมันได้ดียิ่งกว่าพวกนายทุนที่เป็นเจ้าของกิจการในปัจจุบันเสียอีก หากแต่พวกเขานั้นย่อมจะไม่นำเรื่องนี้ไปบอกกับนายจ้างอย่างแน่นอนเพราะนั่นจะทำให้พวกเขาถูกไล่ออกจากงาน! “ความมีประสิทธิภาพ” ในทุกวันนี้นั้นหมายถึงวิธีการที่ดีที่สุดที่จะสร้างเงินและกำไรจำนวนมากให้กับนายทุน โดยการให้คนงานจำนวนน้อยทำงานที่มากขึ้น แต่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน ความมีประสิทธิภาพนั้นย่อมจะหมายถึงการสร้างผลประโยชน์ที่กว้างขวางให้กับคนทั้งมวล แน่นอนว่าเราย่อมยินดีรับความช่วยเหลือจากอดีตช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ และวิศวกรจากบริษัทเหล่านี้มาช่วยเมื่อสังคมนิยมมาถึง นักวิทยาศาสตร์นั้นย่อมจะมีส่วนช่วยในการสร้างโลกที่ดียิ่งกว่าด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยประหยัดกำลังแรงงานและลดชั่วโมงการทำงานลงมากขึ้น

ถ้าหากการผลิตนั้นได้รับการวางแผน มันย่อมจะไม่มีปัญหาคนว่างงาน มนุษย์ทุกคนนั้นย่อมจะได้รับการการันตีว่าพวกเขาจะได้รับงานที่เหมาะสม และค่าตอบแทนที่คู่ควร ในเมื่อการผลิตนั้นเพิ่มขึ้น ค่าตอบแทนก็ย่อมจะสูงขึ้นเช่นกัน

ความสูญเสียอย่างมหาศาลภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นย่อมจะถูกทำให้หายไปด้วยระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนของสังคมนิยม ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายด้านอาวุธซึ่งกลายมาเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสังคม ในปัจจุบันนี้เรามีหัวรบขีปนาวุธนิวเคลียร์จำนวนกว่า 15,700 หัวอยู่บนโลกพร้อมกับพลังอำนาจที่มากพอจะทำลายล้างโลกได้หลายรอบ รัฐบาลมหาอำนาจนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านอาวุธทำลายล้างนี้ขึ้นไปถึง 1 ล้านล้านดอลลาห์ในทศวรรษถัดไป มันเป็นการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองอะไรเช่นนี้! มันคงเป็นการดีกว่านี้หากเราสามารถเปลี่ยนโรงงานผลิตอาวุธเหล่านี้ให้กลายไปเป็นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเราให้ดียิ่งขึ้นได้.

เราย่อมจะใช้ทรัพยากรของเราอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพื่อการทำสงครามและการต่อสู้ แต่ใช้มันเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และความผาสุกของมนุษย์ทั้งมวลให้ดีขึ้น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นั้นจะไม่ถูกใช้ไปอย่างไร้ค่ากับการพยายามสร้างระเบิดที่ใหญ่ที่สุดหรือการสร้างอาวุธทำลายล้างที่สลับซับซ้อน แต่วิทยาศาสตร์จะถูกใช้ไปเพื่อสร้างความผาสุกให้กับมวลมนุษย์ทั้งหมด.

 

จากการได้รับสิ่งตอบแทนตามความสามารถสู่การได้รับสิ่งตอบแทนตามความต้องการ

ระบบประชาธิปไตยของเรานั้นกำลังถูกรุกคืบเข้ามายึดครองมากขึ้นโดยชนชั้นปกครองที่พยายามจะต่ออายุยืดเวลาให้กับความมีอภิสิทธิ์ของชนชั้นตัวเองเหนือผู้อื่น” คำอธิบายจากSteve Hiltonแกนนำและนักยุทธศาสตร์การเมืองของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ “ไม่สำคัญว่าใครนั่งอยู่ในรัฐสภา บรรดาคนกลุ่มเดิมก็ยังคงอยู่ในอำนาจ นี่มันคือประชาธิปไตยเพียงในนาม ที่ดำเนินการไปด้วยชนชั้นนำเพียงส่วนหนึ่งโดยที่ไม่สำคัญเลยว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นเช่นไร” นี่คือสภาพที่เราพบอยู่ในปัจจุบัน ระบบทุนนิยมนั้นคือระบบที่ดำรงอยู่เพื่อคนรวย โดยคนรวย และเป็นระบบของคนรวย บนพื้นที่ของเผด็จการชนชั้นนายทุนและนายธนาคาร ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสร้างระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยของคนงาน สร้างสังคมที่ขับเคลื่อนไปด้วยชนชั้นแรงงานเพื่อชนชั้นแรงงาน

การใช้ทรัพยากรแบบวางแผนในระบบสังคมนิยมนั้นคือหนทางที่ก้าวหน้า เพราะกระทั่งบรรดานายทุนที่เอาแต่พร่ำสอนถึงความถูกต้องของระบบตลาดนั้น พวกเขาก็ยังไม่ยอมรับเอาระบบตลาดเข้ามาใช้ในโรงงานหรือสถานประกอบการของตนเองเลย ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นต้องได้รับการวางแผนจนกระทั่งถึงขั้นสุดท้าย ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด นี่คือหนทางเดียวที่จะทำให้การผลิตในโรงงานนั้นได้รับการจัดการ และแน่นอนว่ามันไม่มีระบบตลาดเข้ามาเกี่ยวสักนิด! สิ่งที่เราเสนอมาตลอดนั้นคือการบอกว่าระบบเศรษฐกิจทั้งหมดจะต้องได้รับการวางแผนมากกว่าการไปพึ่งพิงอำนาจของระบบตลาดที่มองไม่เห็น และแน่นอนว่าด้วยการวางแผนนี้ เราไม่ได้หมายถึงการใช้ระบบของเผด็จการผู้จัดการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หากแต่ทุกลำดับขั้นนั้นต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยเข้ามาเกี่ยวข้อง

บรรดาขื่อคานของสังคม – ธนาคารและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ – จะต้องถูกควบคุมกิจการให้ดำเนินไปโดยปราศจากค่าตอบแทนและต้องดำเนินการไปภายใต้การควบคุมและการบริหารงานของระบบประชาธิปไตยคนงาน  กิจการพลังงานนั้นย่อมจะอยู่ภายใต้การควบคุมของคนสามัญไม่ใช่ชนชั้นสูง นี่ย่อมจะเปิดทางให้เราเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนเต็มรูปแบบและในที่สุดแล้วมันจะช่วยเติมเต็มชีวิตของมนุษยชาติทั้งผองจนถึงขีดสุด ศิลปะและวัฒนธรรมทั้งหลาย ที่เคยถูกผูกขาดเอาไว้กับบรรดาชนชั้นสูง จะกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายนั้นสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่

และในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อการผลิตได้ขยายตัวออกไปและซากเดนของสังคมทุนนิยมได้ถูกทำลายลงจนหมดสิ้น สังคมย่อมเปลี่ยนผ่านไปสู่การวางตนเองอยู่บนคุณค่าและหลักการที่ว่า”จากการได้รับสิ่งตอบแทนตามความสามารถสู่การได้รับสิ่งตอบแทนตามความต้องการ” หรือในอีกคำหนึ่งคือ การเข้าสู่สังคมไร้ชนชั้นที่วางรากฐานอยู่บนความสมานฉันท์และความสามัคคีที่จะช่วยกันเติมเต็มความต้องการของคนทั้งผอง ความทุกข์ทรมานที่เกิดจากระบบทุนนิยมในท้ายที่สุดแล้วย่อมจะสูญสลายไปและจบสิ้นลงในฐานะขยะทางประวัติศาสตร์ และเราย่อมจะก้าวหน้าไปสู่สังคมใหม่ของมวลมนุษยชาติที่เต็มไปด้วยสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองเพื่อผองมนุษย์ทั้งปวง

จงอย่าหยุดยืนนิ่งเฉยอย่างดูดาย ขอท่านทั้งหลายจงร่วมกับเราในการต่อสู้นี้!

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่[Young People Today are uniquely radical because Capi
จักรพล ผลละออ
เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้[When Rioting Works]
จักรพล ผลละออ
 ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Be
จักรพล ผลละออ
Covid-19 และระบบทุนนิยมกำลังนำคนนับล้านไปสู่การอดตายCapitalism threatens mass starvationBy Oliver Bro
จักรพล ผลละออ
ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยมWhy I’m a SocialistBY BARRY EI
จักรพล ผลละออ
มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตรExplaining the coming crisis of capitalism
จักรพล ผลละออ
 สังคมนิยมประชาธิปไตย คือเรื่องที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยDemocratic Socialism Is About Democr
จักรพล ผลละออ
แถลงการณ์องค์กรมาร์กซิสต์สากล เนื่องในวันสตรีสากลสหายทั้งห
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)By John H. Munro.
จักรพล ผลละออ
 25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์(The Principles of Communism)By Frederick Engels.