มาร์กซิสม์ 101 – มายาคติเกี่ยวกับมาร์กซิสม์
(Marxism 101 – The myths about Marxism)
By Marxist Student Federation. Translated by Jakkapon P.
ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการโฆษณาชวนเชื่อขนานใหญ่เพื่อต่อต้านแนวคิดมาร์กซิสม์และมรดกตกทอดจากการปฏิวัติแบบมาร์กซิสม์ นับตั้งแต่การล่มสลายลงของระบอบสตาลินนิสม์ – ซึ่งไม่ใช่สังคมนิยม หากแต่เป็นระบอบที่บิดเบือนแนวคิดมาร์กซิสม์ไปอย่างมโหฬารอันเต็มไปด้วยความโหดร้าย – ทั้งสื่อสารมวลชน, มหาวิทยาลัย, นักวิชาการ และนักประวัติศาสตร์มากมายต่างก็กระทำการโจมตีเพื่อบิดเบือนและทำลายวิธีคิดแบบมาร์กซิสม์อยู่ตลอดเราจึงได้นำเอาภาพมายาคติที่มีต่อแนวคิดมาร์กซิสม์และสังคมนิยมที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดมายกไว้เพื่ออธิบายตอบโต้ดังนี้
ระบบสังคมนิยมนั้นไม่สามารถไปกันได้กับระบบประชาธิปไตย
ระบอบสตาลินนิสต์ในสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันตก จีน และในที่อื่นๆนั้นต่างก็ถูกนำมาใช้เป็นกรณีตัวอย่างเพื่อโจมตีแนวคิดมาร์กซิสม์ บรรดาความเข้าใจผิดจำนวนมากที่มีต่อแนวคิดมาร์ฏซิสม์นั้นสามารถทำให้กระจ่างชัดได้ด้วยการเชื่อมโยงไปถึงการสถาปนารัฐบาลของชนชั้นแรงงานเป็นครั้งแรกในโลกที่มาพร้อมการปฏิวัติที่ชัดเจน – นั่นคือการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิครัสเซีย การปฏิวัติเดือนตุลาปี 1917 ที่ถูกลดทอนและอธิบายเอาไว้ในฐานะของ “การรัฐประหาร” และไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ในแง่ที่ให้คุณค่ากับแนวคิดมาร์กซิสม์เท่ากับการพยายามยกอาชญากรรมของสตาลินขึ้นมาโจมตีมาร์กซิสม์
มันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าระบอบสตาลินนั้นมีชนชั้นข้าราชการขนาดใหญ่ที่อยู่บนจุดสูงสุดของสังคม และปราบปรามสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักการประชาธิปไตย ซึ่งบรรดานักประวัติศาสตร์นั้นได้ยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อ “พิสูจน์” ว่าระบบสังคมนิยมและระบบประชาธิปไตยนั้นไม่สามารถดำเนินไปด้วยกันได้
อย่างไรก็ตามการศึกษาการปฏิวัติรัสเซียนั้นได้เปิดเผยให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของสังคมภายหลังการสิ้นสุดการปฏิวัติ เช่น การยกเลิกกฎหมายที่เลือกปฏิบัติและต่อต้านกลุ่มคนรักเพศเดียวกันและเปิดให้มีการทำแท้งเสรี นำระบบการรักษาดูแลสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ การเติบโตทางเศรษฐกิจและการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ทางด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม
หากแต่ดอกผลอันงอกงามทั้งหลายของการปฏิวัตินี้ถูกทำลายลงภายใต้การปกครองของสตาลิน หากแต่กระบวนการถดถอยย้อนกลับไปสู่การอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมนี้ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เกิดจากแนวคิดมาร์กซิสม์อย่างแน่นอน – เหมือนที่บรรดาชนชั้นนายทุนและผู้รับใช้พยายามจะกล่อมให้เราเชื่อว่ามันเป็นความผิดของมาร์กซิสม์ – หากแต่เป็นผลจากการพยายามสร้างระบบสังคมนิยมขึ้นภายในประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีล้าหลังอย่างมาก
เราควรจะย้อนกลับมามองว่าระบบประชาธิปไตยภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ลองมองไปรอบตัว มองไปในโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ที่ – แม้ว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจนั้นกระจายตัวไปทั่วและผู้คนทั่วโลกต่างก็ต้องประหยัดอดออมมากขึ้น – หากทว่าบรรดาคนรวยก็ยังคงร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าทั้งสังคม และระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นั้นดำเนินไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของบรรดาคนกลุ่มเล็กในสังคม นั่นคือ บรรดานายธนาคาร นักอุตสาหกรรม นักลงทุน – หรือกล่าวคือ ชนชั้นนายทุนที่มีจำนวนเพียง “1%“ ของสังคม ที่มีอำนาจขึ้นมาจากการถือครองและควบคุมหัวใจสำคัญในระบบเศรษฐกิจเอาไว้ เป็นกลุ่มคนที่มีปากเสียงมากที่สุดในการกำหนดความเป็นไปของสังคม แต่สำหรับบรรดาคนกลุ่มใหญ่ของโลก – ที่เหลืออีก 99% นั้น – กลับมีสิทธิเสียงที่น้อยกว่าในการจะกำหนดความเป็นไปของสังคม
ในแง่นี้แล้วระบบทุนนิยมนั้นจึงสามารถจะเรียกได้อีกอย่างว่าเป็น ระบบเผด็จการของนายทุน การพูดเช่นนี้นั้นไม่ได้หมายความว่าเรากำลังปฏิเสธรูปแบบกระบวนการประชาธิปไตยที่รัฐบาลมีให้เรา ด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา หรือเสรีภาพในการพูด ฯลฯ หากแต่เรากำลังแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่าสถานะการดำรงอยู่ของประเทศทั้งหลายนั้นดำรงอยู่เพื่อยืดเวลาและขยายการถือครองทรัพย์สินและความสัมพันธ์ทางอำนาจ มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆว่า รัฐในระบบสังคมทุนนิยมนั้นดำรงอยู่เพื่อปกป้องรักษาระบบทุนนิยมและสิทธิพิเศษของชนชั้นนายทุนเอาไว้
เราสามารถมองเห็นกรณีนี้ได้อย่างชัดเจนในยุโรปที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งนั้นถูกโยนทิ้งไว้อีกฟากหนึ่งแล้วถูกแทนที่ด้วยบรรดาเทคโนแครตที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งได้รับการผลักดันมาจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission) และธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป(European Central Bank) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ถูกกระทำไปในนามของ ”ผลประโยชน์ของชาติ” กล่าวคือเพื่อผลประโยชน์ของนักลงทุนในธุรกิจการเงินและบรรดานักธุรกิจในกิจการขนาดใหญ่ มาตรการรัดเข็มจัดที่ดำเนินอยู่ในกรีซและสเปนนั้นทำให้เกิดภาพความสยดสยองที่เป็นจริงในชีวิตที่เทียบเท่ากับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ สถานการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่บรรดามหาเศรษฐีนั้นนั่งดูตัวเลขเงินของตนอย่างเกียจคร้านในบริษัทยักษ์ใหญ่ของตัวเอง โดยที่ไม่มีแรงจูงใจจะทำการลงทุนใดๆเพราะพวกเขาไม่สามารถหากำไรจากการลงทุนได้
ในทางตรงกันข้ามกันระบบเผด็จการของนายทุน มาร์กซ์และเลนินนั้นพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ” ซึ่งหมายถึงสังคมที่ถูกปกครองด้วยชนชั้นแรงงาน – นั่นคือกลุ่มคนที่ต้องพึ่งพาค่าจ้างเพื่อเอาตัวรอดภายใต้สังคมทุนนิยม ในระบบสังคมนิยมนั้น ระบบเศรษฐกิจนั้นย่อมจะดำเนินไปหากแต่ไม่ใช่เพื่อการสร้างกำไรเพื่อคนส่วนน้อย แต่เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ทั้งสังคม ภายใต้กระบวนการวางแผนการผลิตที่มีเหตุมีผลและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมันจะไม่ใช่เพียงแค่การมาออกเสียงเพื่อเลือกนักการเมืองตามวาระ หากแต่บรรดาคนสามัญนั้นจะสามารถออกเสียงหรือส่งเสียงได้ในทุกๆวันเพื่อการขับเคลื่อนสังคม
สิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซียภายใต้การปกครองของระบอบสตาลินนิสม์นั้นอาจจะทำให้คนจำนวนมากมองว่ามาร์กซิสม์ คอมมิวนิสม์ และสังคมนิยมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นเผด็จการ และเป็นความคิดที่ต่อต้านกับแนวคิดประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งกระบวนการคิดเช่นนั้นนับว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก นักมาร์กซิสต์นั้นเป็นนักต่อสู้ตัวยงในการต่อสู้เพื่อสิทธิตามแนวคิดประชาธิปไตย อันเป็นเครื่องมืออันสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สิทธิในการรวมตัวและชุมนุมนั้นทำให้แรงงานสามารถสร้างสหภาพแรงงานที่พรรคการเมืองที่ทรงพลังขึ้นเพื่อสร้างการต่อสู้ร่วมกัน สิทธิในการพูดนั้นทำให้นักปฏิวัติสามารถแพร่ขยายแนวคิดของการปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งสิทธิทั้งหลายนี้จะได้รับมาก็เนื่องจากชัยชนะในการต่อสู้ของแรงงาน ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ได้รับมาจาก”การสั่งสอนหรือการมอบให้”ของชนชั้นปกครอง
ดังนั้นแล้วสิทธิตามหลักประชาธิปไตยภายใต้ระบบทุนนิยมจึงเป็นเพียงพิธีการตามกฎหมายหรือพิธีกรรมชั่วครองเท่านั้น ความต้องการของชนชั้นนายทุนในการจะรักษาการครอบครองอำนาจนั้นหมายถึงชัยชนะในการเรียกร้องสิทธิหรือการปฏิรูปใดๆก็ตามของชนชั้นแรงงานนั้นย่อมจะถูกทำลายลงได้อย่างแน่นอนเมื่อวิกฤตการณ์นั้นเริ่มส่งผลกระทบ และนายทุนเริ่มที่จะต่อต้านผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อผลประโยชน์ของพวกเขา ดังนั้นแล้วมันจึงเกิดกรณีของการขึ้นสู่อำนาจของบรรดาเทคโนแครตที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในยุโรปเพื่อจะวางมาตรการรัดเข็มขัดในบางประเทศแม้ว่าประชากรส่วนมากนั้นจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
ในทางกลับกัน นักสังคมนิยมนั้นต่อสู้เพื่อสิทธิทางประชาธิปไตยทุกอย่างของชนชั้นแรงงาน สิ่งที่นักมาร์กซิสต์เสนอนั้นก็คือหนทางที่จะยืนยันได้ว่าการดำเนินการของสิทธิเหล่านี้นั้นจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และในท้ายที่สุดนี้ประชาธิปไตยที่แท้จริงย่อมจะถูกตั้งคำถามขึ้นว่ามันคืออะไร – ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นก็คือเวลาหรือยุคที่คนสามัญนั้นจะสามารถเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองและการขับเคลื่อนสังคมได้มากกว่าจะต้องนั่งทำงานหนักราว 50-60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อย่างที่เป็นอยู่
ด้วยการดำเนินการทางเศรษฐกิจภายใต้ระบบการวางแผนที่มีเหตุมีผล เราย่อมสามารถขจัดปัญหาการว่างงานให้หมดไปและกระจายการทำงาน ดังนั้นย่อมจะทำให้เกิดการลดชั่วโมงการทำงานต่อวันลงและทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น การลงทุนด้านเทคโนโนยีจะถูกนำมาใช้เพื่อลดเวลาการทำงานให้สั้นลงเรื่อยๆจนกระทั่งสามารถสร้างเงื่อนไขทางวัตถุที่แท้จริงที่จะทำให้ผู้คนนั้นสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแบบประชาธิปไตยและการวางแผนทางเศรษฐกิจในสังคมได้อย่างเต็มที่
พวกมาร์กซิสต์เป็นพวกนิยมความรุนแรง
คำถามที่เรามักจะพบอยู่บ่อยครั้งคือ ถ้าหากว่านักมาร์กซิสต์นั้นสนับสนุนหลักการและสิทธิแบบประชาธิปไตยแล้ว ทำไมมันจึงเกิดการปฏิวัติที่ใช้ความรุนแรง และ “ความน่าสะพรึงกลัวสีแดง” ของกองทัพแดงและการนองเลือดในสงครามกลางเมืองรัสเซียขึ้น?
เราจำเป็นจะต้องเริ่มต้นการตอบคำถามนี้ด้วยการเน้นย้ำว่านักมาร์กซิสต์นั้นสนับสนุนและนิยมชมชอบการปฏิวัติอย่างสันติถึงที่สุด หากแต่มันก็เป็นความจริงที่ว่านักมาร์กซิสต์นั้นไม่ใช่นักสันติวิธี และพวกเราตระหนักดีว่าในการพยายามจะเปลี่ยนผ่านสังคมด้วยการนำเอาทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งทั้งหลายมาเปลี่ยนให้เป็นสิ่งของสาธารณะและอยู่ภายใต้การควบคุมที่เป็นประชาธิปไตยนั้น บทเรียนทางประวัติศาสตร์ได้สอนเราแล้วว่าการปฏิวัตินั้นย่อมจะต้องพบกับการตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงจากชนชั้นปกครองที่ครองอำนาจ ผู้พยายามจะปกป้องสิทธิประโยชน์และอภิสิทธิ์ของชนชั้นตนเอง
และเราจำเป็นจะต้องตอกย้ำอีกครั้งด้วยว่าความพยายามกล่าวหานักมาร์กซิสต์ว่าพวกเราเป็นพวกหัวรุนแรงและนิยมความรุนแรงนั้นเป็นการใส่ร้ายอย่างแท้จริงจากชนชั้นนายทุน ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่คำถามเรื่องความรุนแรงของการปฏิวัติถูกโยนมาใส่นักมาร์กซิสต์แล้วมันย่อมเป็นเรื่องปกติที่เราจะตั้งคำถามกลับถึงการนองเลือดและการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบทุนนิยม ลองอธิบายมาถึงการใช้โดรนทิ้งระเบิดโจมตีผู้คนในปากีสถาน หรือสงครามที่เกิดขึ้นในอิรักและอัฟกานิสถานสิ? หรือผู้นำเผด็จการอันโหดเหี้ยมของละตินอเมริการะหว่างช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 ในชิลี อาเจนตินา บราซิล ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
เราได้พบเห็นการใช้ความรุนแรงอันโหดเหี้ยมของระบบทุนนิยมที่กระทำต่อผู้คนจำนวนมากบนโลกมากขึ้นเรื่อยๆ และโหดเหี้ยมเสียยิ่งกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง – มันคืออุตสาหกรรมการฆ่าล้าง – ที่การกระทำทั้งหมดนั้นเป็นไปเพียงเพื่อการพยายามจัดวางระเบียบและแย่งชิงตลาดโลกระหว่างอำนาจจักรวรรดินิยมที่แตกต่างกัน
แล้วกรณีการปฏิวัติของ Cromwell หรือ Jacobins หรือการปฏิวัติอเมริกาล่ะ? บรรดาชนชั้นปกครองในปัจจุบันนี้พายามอย่างหนักที่จะบิดเบือน ปฏิเสธ และปิดบัง กระบวนการปฏิวัติและความรุนแรงที่พวกเขาเคยใช้ในการสร้างการปฏิวัติต่อต้านการปกครองของระบบกษัตริย์ และระบบศักดินาในอดีตเพื่อสถาปนาระบบใหม่ของตัวเอง บรรดานักปฏิวัติในอาณานิคมอเมริกาเองก็ไม่ได้ใช้วิธีการที่นุ่มนวลหรือสันติในการต่อต้านบรรดาทหารของจักรวรรดิอังกฤษในสงครามประกาศอิสรภาพเหมือนกันนั่นแหละ!
และท้ายที่สุด ใครกันที่เป็นผู้สั่งการให้มีการสังหารหมู่และปราบปรามคอมมูนปารีสในปี 1871 ที่ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กนับหมื่นคนถูกประหาร และ คนอีกหลายพันต้องถูกเนรเทศอันเนื่องมาจากการพยายามสถาปนารัฐของคนงานขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
การใช้ความรุนแรงทั้งในสมัยใหม่และในประวัติศาสตร์ที่เรากล่าวมานี้คือความรุนแรงในนามของทุนนิยม – และกระทั่งในปัจจุบัน บรรดาชนชั้นนายทุนก็ยังพยายามใส่ร้ายการปฏิวัติรัสเซียและพรรคบอลเชวิคอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจาก การปฏิวัติรัสเซียนั้นคือการลุกฮือขึ้นต่อสู้ของบรรดาทาสในระบบทุนนิยมและได้รับชัยชนะในการต่อสู้เป็นครั้งแรก
และความเป็นจริงที่ไม่มีใครกล่าวถึงก็คือ การปฏิวัติเดือนตุลานี้เป็นการปฏิวัติที่สูญเสียเลือดเนื้อน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์! อันที่จริงแล้วการปฏิวัติ “อันนองเลือด” ในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อโค่นล้มระบบซาร์และสถาปนาระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้นมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากเสียยิ่งกว่าอีก อันที่จริงแล้วจำนวนผู้เสียชีวิตในฐานะนักแสดงในภาพยนตร์ของเซียร์เกย์ ไอเซนสไตน์ (Sergei Eisenstein) นั้นมีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตจริงๆในการปฏิวัติเดือนตุลาเสียอีก!
ความรุนแรงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิคหากแต่เกิดขึ้นจากการปฏิปักษ์ปฏิวัติของบรรดาชนชั้นปกครองที่พยายามต่อต้านการปฏิวัติต่างหากและมันเกิดขึ้นทันทีภายหลังการปฏิวัติ – ซึ่งไม่ใช่ “การรัฐประการ” การปฏิวัติเดือนตุลานั้นเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของมวลชนทั้งแรงงาน ทหารและชาวนา – กลุ่มชนชั้นสูงในสังคมรัสเซียนั้นเริ่มต้นการต่อต้านการปฏิวัติด้วยการลอบทำลายฐานเศรษฐกิจและเริ่มต้นปฏิบัติการทางทหารเพื่อทำลายรัฐบาลของชนชั้นแรงงาน ซึ่งพวกเขาได้รับความช่วยเหลือในการปฏิบัติการครั้งนี้จากกองทัพต่างชาติ ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และประเทศทุนนิยมมหาอำนาจใกล้เคียง ความน่าสะพรึงกลัวของกองทัพปฏิปักษ์ปฏิวัตินั้นดำเนินการไปอย่างรวดเร็วและเลือดเย็น ซึ่งทำให้ผู้คนนับแสนคนต้องล้มตายลงไป
บรรดาชนชั้นปกครองต่างพากันพูดว่า “การทดลองระบบสังคมนิยม” ของสหภาพโซเวียตนั้นคือความล้มเหลว หากแต่ลองจินตนาการภาพสิว่า ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว เมื่อใครสักคนเดินเข้าไปในห้องทดลองที่มีการทดลองไปเพียงครึ่งเดียวและพยายามที่จะทำลายเครื่องมือของนักทดลองลง ... หลังจากนั้นก็ออกมาประกาศอย่างหน้าไม่อายว่าการทดลองนี้ล้มเหลว! แน่นอนนี่คือระบบตรรกะของบรรดานายทุนในปัจจุบัน ผู้ละเลยที่จะพูดถึงความจริงที่ว่าพวกเขาดำเนินการแทรกแซงทางการทหารเพื่อทำลายการพยายามของชนชั้นแรงงานในทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการสถาปนาระบบสังคมนิยม
และในท้ายที่สุดนี้ เราจำเป็นจะต้องย้ำเตือนอีกครั้งว่า การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของชนชั้นแรงงานในปัจจุบันซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างสันติได้นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งเดียวที่ยังคงปกป้องรักษาระบบทุนนิยมเอาไว้นั้นก็คือบรรดาผู้นำนักปฏิรูปขององค์กรแรงงานผู้ไม่มีความปรารถนาที่จะแตกหักกับระบบทุนนิยมและสร้างระบบสังคมนิยม ส่วนเส้นใยที่หายไปนั้นก็คือการขาดองค์กรนำที่มีจิตสำนึกของการปฏิวัติในฐานะของพรรคปฏิวัติ ที่จะสามารถเป็นองค์กรนำสร้างการต่อสู้ในปัจจุบันให้ไปสู่การต่อสู้ในระดับสากลได้ เพื่อจะทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้ให้กำเนิดประวัติศาสตร์ อันจะทำให้ระบบสังคมนิยมนั้นถือกำเนิดขึ้นอย่างนุ่มนวลที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และนี่คือภารกิจของเราในปัจจุบัน!
ระบบทุนนิยมนั้นเป็นระบบที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด
นอกเหนือจากการพยายามโจมตีระบบสังคมนิยมในเรื่องความรุนแรงแล้ว มันยังคงมีความพยายามอยู่บ่อยครั้งที่จะความไม่มีประสิทธิภาพของระบบสังคมนิยมมาเปรียบเทียบกับความมีประสิทธิภาพของระบบทุนนิยม การยกเอากรณีความยากจนของประเทศ “สังคมนิยม” – จากระบอบเหมาในจีนถึงคาสโตรในคิวบา และจากสหภาพโซเวียตไปจนถึงเกาหลีเหนือ – นั้นทำให้เกิดความคิดในหมู่ผู้คนจำนวนมากที่เป็นเสมือนภาพของฝันร้ายหากว่าตัวเองจะจินตนาการถึงชีวิตที่ไปไกลกว่าระบบทุนนิยม
ปัญหาประการแรกของข้อโต้แย้งเหล่านี้คือการเหมารวมนิยามเอาว่าบรรดาประเทศเหล่านี้เป็นสังคมนิยม แน่นอนว่าแง่มุมที่สำคัญหรือลักษณะสำคัญของระบบสังคมนิยมนั้นเคยปรากฏขึ้นในสหภาพโซเวียต และยังคงปรากฏอยู่บ้างจนถึงปัจจุบันในคิวบา อย่างไรก็ตามมันยังคงเป็นลักษณะที่ห่างไกลจากการเป็นประเทศสังคมนิยมที่เพียบพร้อม ในระบบสังคมที่แท้จริงนั้นการวางแผนทางเศรษฐกิจนั้นจะไม่ใช่การวางแผนในลักษณะแบบบนลงล่าง ที่วางรากฐานอยู่กับระบบราชการ หากแต่จะต้องเป็นระบบการวางแผนจากล่างขึ้นบนโดยใช้ระบบการควบคุมที่เป็นประชาธิปไตยของแรงงานในสถานที่ทำงาน และตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งในระดับชาติและระดับสากล เพื่อที่จะใช้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาร่วมวางแผนว่าจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไร
ในกรณีอื่น การเปรียบเทียบประเทศคิวบากับประเทศทุนนิยมก้าวหน้านั้นเป็นกระบวนการที่ผิดพลาด อันเนื่องจากว่าผลพวงของความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองที่ปรากฏขึ้นในประเทศทุนนิยมก้าวหน้านั้นล้วนแล้วแต่มาจากการขูดรีดอย่างรุนแรงที่กระทำต่อประเทศอาณานิคม (อย่างเชนที่กระทำต่อคิวบา) ในขณะที่ประเทศอย่างคิวบานั้นเริ่มต้นการพัฒนาตัวเองขึ้นมาจากรากฐานทางเศรษฐกิจที่ด้อยพัฒนาอย่างมาก กรณีเปรียบเทียบที่เหมาะสมนั้นน่าจะเป็นการยกกรณีของประเทศในหมู่เกาะแถบแคริบเบียนที่ระบบทุนนิยมนั้นมีโอกาสจะได้แสดงให้เห็นว่าตัวมันสามารถทำอะไรเพื่อผู้คนในประเทศได้บ้าง – ประเทศไฮติ (Haiti) นั้นถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ตรงประเด็นที่สุด มันเป็นประเทศทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความยากจนอย่างถึงที่สุดและกระบวนการขูดรีดที่ใช้แรงงานเด็กในการผลิตรองเท้าไนกี้เพื่อป้อนให้กับตลาดของประเทศสหรัฐอเมริกา
ภายใต้แรงกดดันจากสภาพการณ์อันนับไม่ถ้วนนี้เอง การปฏิวัติรัสเซียจึงเริ่มเสื่อมถอยลงในช่วงทศวรรษที่ 1920 อันเป็นสิ่งที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยของคนงานที่วางรากฐานตัวเองอยู่บนระบบโซเวียตที่มีประสิทธิภาพ (สภาท้องถิ่นของคนงาน ทหาร และชาวนา) กลับกลายมาถูกครอบงำเอาไว้อย่างหนักด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ของพวกข้าราชการที่นำโดยสตาลิน
ถึงกระนั้นก็ตาม ส่วนเสี้ยวหนึ่งของความก้าวหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นภายใต้ระบบสังคมนิยมนั้นสามารถจะพบเห็นได้บ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก “คอมมิวนิสต์” ระหว่างศตวรรษที่ยี่สิบ ทั้งๆที่มันยังถูกกดทับเอาไว้ด้วยระบบราชการ และการปราบปรามอย่างรุนแรงที่มีต่อฝ่ายตรงข้ามและการบิดเบือนเส้นทางทางการเมืองไป หากแต่สหภาพโซเวียตก็ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของตัวเองที่วางรากฐานอยู่บนระบบอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่ผลิตสินค้าที่จำเป็นเพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองได้
ในปี 1917 นั้น รัสเซียได้ปลดแอกตัวเองออกจากระบบศักดินาอย่างแท้จริง และแน่นอนว่าในช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่กี่ปีมันก็ถูกดึงกลับไปสู่ความล้าหลังของระบบสตาลิน กระนั้นเองในห้วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตก็ยังสามารถเอาชนะกองทัพรถถังของฮิตเลอร์ได้ กระทั่งในห้วงเวลาหลังสงครามโดบปราศจากความช่วยเหลือจากแผนมาร์แชล (Marshall Aid) นั้นอุตสาหกรรมทั้งหมดในยุโรปตะวันออกก็สามารถรื้อฟื้นตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี และในช่วงทศวรรษที่ 1950 นั้นรัฐสตาลินนิสต์ก็พัฒนาจนมีอุตสาหกรรมก้าวหน้า ที่สร้างความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม อีกทั้งสหภาพโซเวียตนั้นยังเป็นประเทศแรกที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศได้อีกด้วย
ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนนั้นมีความสามารถที่จะสร้างตำแหน่งงานเต็มอัตรา ระบบการศึกษาฟรีในทุกระดับ ไปจนกระทั่งสร้างการลงทุนเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในด้านเทคโนโลยี ดังเช่นที่มันสามารถเกิดขึ้นได้กระทั่งภายใต้ระบอบอันเลวร้ายของสตาลินในรัสเซีย และคาสโตรในคิวบา ในขณะที่อำนาจของบรรดานายทุนนั้นถูกแขวนเอาไว้บนเชือก ซึ่งกำลังสั่นไหวภายใต้ความกดดันนั้น ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนของสหภาพโซเวียตกลับสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 20% และอุตสาหกรรมหนักนั้นขยายตัวขึ้นกว่า 400% ในยุดเดียวกัน
แน่นอนว่าเราจะต้องไม่หลงลืมเรื่องที่ว่า ระบบของสตาลินที่สร้างการพัฒนาเหล่านี้นั้นต้องแลกมาด้วยชีวิตมนุษย์จำนวนมากมาย และการบิดเบือนหลักการมาร์กซิสม์ของระบอบสตาลินนิสต์นั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยกเว้น หรือยอมรับได้
ผลลัพธ์ในอีกด้านหนึ่งที่เป็นไปได้ของเรื่องนี้ก็คือระบบการควบคุมเศรษฐกิจของแรงงานที่มีการวางแผนและเป็นประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาสังคมและวิทยาศาสตร์อย่างเป็นอิสระสูงสุด การเสนอความจริงเหล่านี้เป็นเพียงการเสนอเรื่องเล็กน้อยเพื่อให้สามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลหากว่าระบบประชาธิปไตยของคนงานได้สถาปนาขึ้นอย่างมีคุณภาพ
ลองนำตัวอย่างที่เรากล่าวไปเปรียบเทียบกับความเน่าเปื่อยอันมหาศาลของระบบทุนนิยม ที่มาพร้อมกองภูเขาขยะที่พวกเขาทุ่มมันใส่กลุ่มประเทศโลกที่สามสิ การพังทลายของชั้นบรรยากาศโลกผ่านการใช้พลังงานถ่านหิน ขณะรายจ่ายจำนวนมหาศาลถูกนำไปใช้จ่ายกันในด้านกำลังทหาร
เราถูกสอนอยู่เสมอว่า “อำนาจที่มองไม่เห็น” ของระบบตลาดนั้นคือหนทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดสรรทรัพยากร แต่ขณะเดียวกันนั้นเรากลับอาศัยอยู่บนในวิกฤติที่ลึกและยิ่งใหญ่ที่สุดของระบบทุนนิยมเท่าที่โลกเคยเจอ วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อตัวเลขบัญชีธนาคารของบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกานั้นถือครองเงินสดเอาไว้กว่า 8 แสนล้านปอนด์ และ 2 ล้านล้านดอลลาห์ตามลำดับ – หากแต่เงินเหล่านี้ถูกเก็บเอาไว้เฉยๆเพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถสร้างกำไรจากการลงทุนได้
ภายใต้กรณีเช่นนี้เราจะนับว่าระบบทุนนิยมมีประสิทธิภาพได้อย่างไรกัน? ระบบทุนนิยมจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไรในขณะที่มันยังคงจัดสรรให้มีบ้านที่ว่างเปล่าเพื่อรอเก็งกำไรอยู่พร้อมๆกับการมีคนไร้บ้าน มันปล่อยให้มีโรงงานและสำนักงานที่ว่างเปล่าในขณะที่มันยังคงมีความต้องการสินค้าและบริการของผู้คนจำนวนมหาศาล มันปล่อยให้มีคนว่างงานนับล้านและมีคนอีกหลายล้านที่ต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า เราสามารถเรียกมันว่าระบบที่มีประสิทธิภาพได้อย่างงั้นหรือ? และแน่นอนบรรดาความขัดแย้งกันเองนี้คือระบบตรรกะของทุนนิยม
ความต้องการที่จะมีบ้านพักสำหรับทุกคน ตำแหน่งงานสำหรับมนุษย์ทุกคน และการทำลายกำแพงที่ขวางกั้นไม่ให้เราได้เข้าถึงระบบสาธารณสุขและระบบการศึกษาที่ฟรีนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมและมีเหตุมีผลแล้ว! กำแพงชั้นต้นที่ขวางกั้นเราจากสิ่งที่กล่าวมานี้และขวางกั้นเราจากการสร้างพัฒนาการทางสังคมนั้นคือระบบทุนนิยม – อันเป็นระบบที่ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าตัวมันนั้นคือระบบที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างแท้จริง!
ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความละโมบโลภมาก
คำถามที่ว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติของมนุษย์” นั้นคือคำถามที่ถูกยกขึ้นมาบ่อยที่สุดในการโต้แย้งความคิดแบบสังคมนิยม – หากทว่าข้อโต้แย้งนี้ก็เป็นข้อโต้แย้งที่ง่ายมากต่อการหักล้าง
ผู้คนจำนวนมากนั้นเชื่อว่าวิธีคิดของมนุษย์นั้นย่อมจะไม่มีทางเปลี่ยนแปลง และดังนั้นแล้ววิธีคิดของเราย่อมจะเป็นวิธีคิดแบบเดียวกับที่เรากำลังคิดอยู่ในตอนนี้ หากแต่ตัวอย่างจำนวนหนึ่งนั้นสามารถจะแสดงให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่จะหนีห่างจากความจริงได้ ความจริงที่เรากล่าวถึงนี้ ก็เช่นเดียวกับสรรพสิ่งในธรรมชาติ จิตสำนึกของมนุษย์และสังคมนั้นย่อมจะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มาร์กซ์ได้อธิบายว่า”เงื่อนไขทางวัตถุนั้นกำหนดจิตสำนึก” ในอีกทางหนึ่งก็คือการกล่าวว่า สิ่งแวดล้อมทางสังคมนั้นเป็นตัวกำหนดวิธีคิดส่วนใหญ่ของเรา ตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าเรากำเนิดขึ้นมาเป็นชาวนาในประเทศจีนเมื่อหนึ่งพันปีก่อน มุมมองของเราที่มีต่อโลกใบนี้ย่อมจะแตกต่างออกไปอย่างมาก! ขณะเดียวกันหากว่าเราเกิดเป็นชนชั้นสูงในจีนเมื่อหนึ่งพันปีก่อน เราก็ย่อมมีมุมมองและวิธีคิดที่แตกต่างออกไปอย่างมากกับกรณีที่เราเกิดมาเป็นชาวนา
การดำรงอยู่ของมนุษย์นั้นก้าวขึ้นไปสู่จุดบนสุดของห่วงโซ่อาหารได้มิใช่ด้วยการต่อสู้แข่งขันกับสัตว์ชนิดอื่นด้วยการทำลายอีกฝ่ายในการต่อสู้เพื่อ “ฆ่าล้าง” หากแต่เราขึ้นไปสู่จุดสูงสุดนั้นด้วยการร่วมมือกัน มีเพียงแต่วิธีการร่วมมือกันเท่านั้นที่ทำให้มนุษย์สามารถนำทรัพยากรที่มีมารวมกันเพื่อการล่าสัตว์ สร้างที่พักอาศัย และกระทั่งการเพาะปลูกและการทำปศุสัตว์ ฯลฯ
ขอให้ลองดูกรณีตัวอย่างของทารกมนุษย์ เมื่อเปรียบเทียบกับกวางแรกเกิดที่สามารถจะลุกยืนและออกวิ่งได้เพียงแค่ไม่กี่นาทีหลังการคลอด หากแต่ทารกหรือวัยเด็กของมนุษย์นั้นไม่สามารถจะช่วยเหลือตัวเองได้เลยเป็นเวลานับปี ทารกมนุษย์นั้นไม่สามารถจะรอดชีวิตหลังกำเนิดได้ด้วยซ้ำหากปราศจากการช่วยเหลือดูแลจากผู้อื่น ในมุมมองเช่นนี้แล้ว สังคมมนุษย์บุพกาลย่อมต้องการความร่วมมือกันถ้าหากว่าพวกเขาต้องการจะอยู่รอดจากสัตว์ที่ดุร้าย รวบรวมทรัพยากร ออกหาอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ ฯลฯ สำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์จำนวนมากแล้ว มันไม่มีชนชั้น และเราอาศัยอยู่ร่วมกันภายในเผ่าขนาดเล็ก แบ่งแยกงานและสิ่งที่หามาได้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกคนในเผ่าเป็นสำคัญ
แม้ว่าในเชิงผิวเผินแล้ว ในปัจจุบันนั้นเราถูกทำให้กลายเป็น “ปัจเจกบุคคล” หากแต่ในความเป็นจริงแล้วเราก็ยังคงต้องพึ่งพามนุษย์คนอื่นๆอีกนับพัน หรือกระทั่งนับล้านทั่วโลกอยู่ มันเป็นไปได้หรือที่ใครสักคนจะออกแบบรถยนต์ทั้งคันขึ้นมาได้ด้วยตัวคนเดียว ทำการขุดและแปรรูปโลหะและแร่ธาตุอื่นๆที่จำเป็นได้ด้วยตัวคนเดียว สร้างโรงงานด้วยตัวเอง และนำวัตถุดิบทั้งหมดมาสร้างรถยนต์ด้วยตัวคนเดียว? และเพื่อจะยิ่งทำให้คำถามดังกล่าวนี้ไปไกลยิ่งกว่าเดิม เราอาจจะต้องถามด้วยว่าคนๆเดียวกันนี้สามารถขุดหาน้ำมันด้วยตัวเองเพื่อเอามาเติมรถยนต์ที่เขาสร้างขึ้นมาได้ไหม? หรือเขาสามารถสร้างถนนให้รถยนต์คันนี้วิ่งได้ด้วยตัวคนเดียวได้ไหม? แล้วอาหารที่เขาจำเป็นจะต้องกินล่ะ เขาสามารถผลิตมันด้วยตัวคนเดียวได้ไหม? รายการของสิ่งที่ต้องทำนั้นย่อมจะขยายออกไปไกลเรื่อยๆและเรื่อยๆ – และนี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างเพียงผิวเผินเท่านั้น มันเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น คนส่วนมากไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองถึงคนอื่นๆได้ด้วยการเชื่อมโยงผ่านระบบตลาดโลกและการแลกเปลี่ยนสินค้า
พวกเรานั้นทำงานร่วมกันและอาศัยอยู่ร่วมกัน หากแต่เรายังจำเป็นต้องมีตำรวจในอัตราส่วน 24/7 เพื่อจะให้มั่นใจว่าพวกเรานั้นจะไม่ฆ่ากันเอง? เรามีชีวิตอยู่เพื่อไล่ฆ่าคนอื่นๆเพื่อ ”สร้างความก้าวหน้า” อย่างงั้นหรือ? และหากว่ามันเป็นเช่นนั้นแล้วล่ะก็มันย่อมไม่มีสิ่งใดสำเร็จขึ้นได้และพวกเราทั้งหมดนั้นย่อมจะอดตายกันในช่วงเวลาเพียงวันเดียวไปนานแล้ว!
เช่นนั้นแล้วทำไมผู้คนทั้งหลายต่างมีความคิดอันแปลกประหลาดว่าพวกเราทั้งหมดนั้นต่างเป็น “ปัจเจกบุคคล” ล่ะ? ต้องกล่าวย้ำอีกครั้งว่าเงื่อนไขทางวัตถุนั้นกำหนดจิตสำนึก มาร์กซ์และเองเกลได้อธิบายว่าในสังคมใดๆก็ตาม อุดมการณ์นำในสังคมนั้นย่อมจะเป็นอุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง ในปัจจุบันนี้นั่นหมายถึงอุดมการณ์ของชนชั้นนายทุน – นั่นคืออุดมการณ์แห่งการแข่งขันและความละโมบโลภมาก
ชนชั้นนายทุนนั้นใช้อำนาจของพวกเขาทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะมีอิทธิพลเหนือวิธีคิดของเรา ผ่านการครอบงำในระบบการศึกษา ผ่านสื่อ ผ่านศาสนา ฯลฯ พวกเราถูกสร้างให้ยินยอมน้อมรับต่อคุณค่าของระบบทุนนิยม – นั่นคือทัศนคติแบบ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ซึ่งส่อความหมายถึงว่าวิธีการเดียวที่จะทำให้คุณก้าวหน้าขึ้นไปได้นั้นคือการเหยียบคู่แข่งของคุณให้จมดิน เราถูกสร้างขึ้นมาให้มองไปรอบตัวแล้วไม่สนใจต่อปัญหาคนไร้บ้าน ปัญหาความอดอยาก และผู้ที่ต้องตายในสงคราม ฯลฯ – หรืออย่างมากที่สุดที่เราจะทำก็คือการสวดภาวนาเพื่อพวกเขา และมอบ “การทำทาน” เล็กๆน้อยๆให้พวกเขาเพื่อบรรเทาจิตสำนึกของเราลง
บรรดา “คุณค่า” ดังกล่าวนี้เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มเล็กจำนวนน้อยนิดในสังคม – นั่นคือบรรดานายทุนอภิมหาเศรษฐี! ส่วนมนุษย์คนอื่นๆที่เหลือ ที่ใช้ชีวิตประจำวันในทุกๆวันนั้นไม่ได้รับอะไรเลยจากอุดมการณ์แห่งความละโมบโลภมากนี้ สิ่งที่ผู้คนต้องการมากที่สุดนั้นคือความสงบสุข ความมั่นคง งานที่เหมาะสม ระบบการศึกษาและการดูแลรักษาที่ดีพอ เวลาว่างสำหรับอยู่กับครอบครัวและคนที่เรารัก ฯลฯ มีเพียงแต่ชนชั้นนายทุนเท่านั้นที่พยายามสร้างการแข่งขันเชิงปัจเจกบุคคลระหว่างบริษัทหนึ่งกับบริษัทอื่นๆ
ความขัดแย้งภายในที่สำคัญหนึ่งของสังคมทุนนิยมนั้นคือการที่เรามีการผลิตทางสังคม – กล่าวคือเราผลิตสิ่งของขึ้นมาโดยใช้ความร่วมมือทางสังคม ดังเช่นตัวอย่างเรื่องรถยนต์ที่เรายกตัวอย่างไว้ด้านบน – หากแต่การถือครองมูลค่าส่วนเกินที่เกิดจากการผลิตนั้นกลับถูกถือครองเอาไว้ส่วนบุคคล กล่าวคือ เราได้สร้างมูลค่าขึ้นมาโดยใช้ความร่วมมือทางสังคม หากแต่มูลค่าส่วนเกินจากการผลิตทั้งหมดนั้นกลับถูกยึดครองเอาไว้โดยพวกคนกลุ่มน้อย! คนงานนับพันที่เป็นผู้รู้จริงเรื่องกระบวนการการผลิตรถยนต์ในโรงงานนั้น กลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าพวกเขาจะผลิตอะไรหรือผลิตอย่างไร หรือกระทั่งจะจัดการอย่างไรกับความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจากการผลิต – หากแต่ชนชั้นนายทุนนั้นกลับเข้ามากำหนดทุกอย่าง
นักสังคมนิยมนั้นต้องการจะยุติความขัดแย้งดังกล่าวนี้ด้วยการสร้างการควบคุมทางสังคมขึ้นเหนือความมั่งคั่งอันเป็นผลผลิตทางสังคม ความมั่งคั่งที่ว่านี้ถูกผลิตขึ้นจากชนชั้นแรงงาน ดังนั้นแล้วมันจึงควรจะนำไปใช้เพื่อยกระดับค่าจ้างที่สูงขึ้น สวัสดิการที่ดีขึ้น ระบบสาธารณสุข การศึกษา เทคโนโลยีใหม่ๆที่ดีขึ้นเพื่อจะนำมาลดชั่วโมงการทำงานของแรงงานลง
นี่ไม่ใช่ความคิดเพ้อฝัน – เงื่อนไขเชิงวัตถุที่จำเป็นสำหรับสังคมนิยมนั้นได้ปรากฏขึ้นมานานแล้ว กำแพงกั้นขวางเดียวที่มีอยู่นั้นคือการที่ชนชั้นนายทุนนั้นถือครองอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจไว้ มีเพียงแต่การรวมตัวกันของชนชั้นแรงงานทั่วโลกเท่านั้นที่จะสามารถยุติสถานการณ์ดังกล่าวได้ และนั่นจะหมายถึงจุดสิ้นสุดของความน่าสะพรึงกลัว ความยากลำบาก ความยากจน และความไร้ศักยภาพของระบบทุนนิยมที่จะต้องยุติลงเพื่อพวกเราทั้งปวง และเมื่อนั้นเองที่สังคมใหม่จะได้ถือกำเนิดขึ้น
ลองจินตนาการถึงทารกที่กำเนิดขึ้นในโลกที่ปราศจากความหิวโหย ไม่มีความโลภ ไม่มีความยากจน ไม่มีการว่างงาน ฯลฯ ด้วยเงื่อนไขแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนี้ ทารกที่เติบโตขึ้นมาย่อมจะมีจิตสำนึกที่แตกต่างออกไป – กล่าวคือพวกเขาย่อมจะมองโลกในมุมมองที่แตกต่างจากปัจจุบันไปอย่างมาก ภายใต้ระบบสังคมนิยม ผู้คนย่อมปฏิสัมพันธ์ต่อกันในฐานะของมนุษย์ที่สัมพันธ์กัน ไม่ใช่เพียงในฐานะของสินค้าที่สามารถซื้อขายได้
เหตุผลของปัญหาขนาดใหญ่มหึมาที่เรากำลังทนทุกข์ทรมานอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นคือความขาดแคลน – กล่าวอย่างง่ายก็คือมันมีทรัพยากรไม่เพียงพอเมื่อนายทุนได้แย่งชิงเอาส่วนแบ่งทั้งหมดไป ยกตัวอย่างจากในธรรมชาติ ถ้าหากว่าคุณจับหนูมา 100 ตัวแล้วขังมันไว้พร้อมกับอาหารที่เพียงพอต่อหนู 100 ตัว และส่วนเกินไว้อีกนิดหน่อย คุณย่อมจะได้รับสัตว์เลี้ยงที่ว่านอนสอนง่าย เป็นมิตร และชอบการอยู่ร่วมกัน หากแต่ถ้าคุณจับหนู 100 ตัวนี้ขังไว้ด้วยกันแล้วให้อาหารที่เพียงพอต่อหนูแค่ 50 ตัว คุณย่อมจะเห็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มันจะกลายเป็นสถานการณ์ของความเสื่อมถอยไปสู่การต่อสู้ การฆ่ากันเอง ความโลภ ความเห็นแกตัว และการนองเลือด แน่นอนว่า มนุษย์และสังคมมนุษย์นั้นซับซ้อนกว่านี้มาก และมีความแตกต่างจากหนู 100 ตัวที่เรานำมาทดลองเป็นตัวอย่าง หากทว่ากรณีตัวอย่างนี้ได้แสดงให้เห็นถึงประเด็นสำคัญของปัญหา
ดังเช่นที่เราทราบกัน ปัญหาของระบบทุนนิยมนั้นไม่ใช่การผลิตที่น้อยเกินไป หากแต่ความสามารถในการผลิตของสังคมนั้นมีมากเกินกว่าความสามารถในการซื้อ กำลังการผลิตนั้นพัฒนาตัวเองไปไกลกว่าระบบตลาด สินค้าจำนวนมากถูกทิ้งไว้ในโกดังและโรงงานที่ทำการผลิตก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นเพราะผู้คนไม่มีเงินมากพอจะซื้อสินค้าเหล่านี้ ดังเช่นที่มาร์กซ์ได้กล่าวเอาไว้ว่า ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นปัญหาของมันคือปัญหาความยากจนท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์
“ธรรมชาติของมนุษย์” นั้นจึงเป็นเหมือนกันทุกสรรพสิ่ง นั่นคือมันอยู่ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง มนุษย์นั้นได้สรรสร้างละครโศกนาฏกรรม ละครตลก เพลง บทกวี ภาพวาด ประติมากรรม และงานสรรสร้างอื่นๆอีกนับไม่ถ้วนที่แสดงให้เห็นถึงความสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางโลกทัศน์ของเราในแต่ละห้วงเวลา หากว่าเราพิจารณาผ่านงานศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือพิพิธภัณฑ์แประวัติศาสตร์ คุณจะเห็นลำดับขั้นของพัฒนาการในจิตสำนึกของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ดังเช่นที่มาร์กซ์ได้อธิบายไว้ว่า “นักปรัชญานั้นเอาแต่อธิบายโลกไปต่างๆนานา – หากแต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือการเปลี่ยนแปลงโลก” และด้วยการเปลี่ยนแปลงโลกนี้เองที่จะทำให้วิธีคิดของเราเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน!