Skip to main content

 

มาร์กซิสม์ 101 – ความคิดปฏิวัติของคาร์ล มาร์กซ์

(Marxism 101 – The revolutionary ideas of Karl Marx)

By Alan Woods. Translated by Jakkapon P.

 

เป็นเวลากว่า 130 ปีแล้วภายหลังการเสียชีวิตของคาร์ล มาร์กซ์ หากแต่ทำไมเรายังต้องเอ่ยถึงชายผู้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 1883 กันอีก? ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1960 เมื่อ Harold Wilson นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานอังกฤษ ประกาศว่าเราจะต้องไม่มองหาวิถีทางแก้ปัญหาจากสุสานไฮเกท (Highgate cemetery – สุสานที่ฝังศพมาร์กซ์) และใครกันที่จะปฏิเสธคำกล่าวนั้น? ในเมื่อถ้าคุณไปที่สุสานดังที่เรากล่าวมานั้นสิ่งที่คุณจะพบย่อมจะมีเพียงแต่เศษกระดูกและขี้เถ้าและบางครั้งอาจจะเจอป้ายหลุดศพอันน่าเกลียด

อย่างไรก็ตามเมื่อเราพูดถึงความสำคัญของคาร์ล มาร์กซ์ในปัจจุบันนั้น เรากำลังอ้างอิงถึงความคิดของเขาไม่ใช่หลุมฝังศพของมาร์กซ์ – ความคิดที่ได้ยืนหยัดผ่านการทดสอบของช่วงเวลาอันยาวนานและในตอนนี้ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามันมีชัยชนะเหนือกาลเวลา แม้กระทั่งผู้ที่เป็นศัตรูของมาร์กซิสม์นั้นก็ต้องยอมรับมันไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม การพังทลายของระบบเศรษฐกิจในปี 2008 นั้นได้แสดงให้เห็นแล้วว่าใครกันแน่ที่ล้าสมัย และแน่นอนว่าคำตอบนั้นไม่ใช่ความคิดของคาร์ล มาร์กซ์อย่างแน่นอน

เป็นเวลานับทศวรรษที่นักเศรษฐศาสตร์นั้นไม่เคยที่จะทำเรื่องผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนเช่นที่มาร์กซ์ได้คาดการณ์เอาไว้ถึงการเสื่อมถอยลงของระบบเศรษฐกิจซึ่งล้าสมัยไปแล้ว ความคิดของมาร์กซ์นั้นถูกมองว่าเป็นเพียงความคิดโบราณในศตวรรษที่ 19 และใครก็ตามที่พยายามปกป้องแนวคิดนี้ก็เป็นเพียงพวกยึดติดตำราที่ไร้ความหวัง หากแต่สถานการณ์ในปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว และกลายเป็นว่าบรรดาผู้ที่พยายามปกป้องความคิดของระบบทุนนิยมต่างหากที่จะต้องถูกโยนทิ้งลงไปในถังขยะของประวัติศาสตร์ ในขณะที่ความคิดของมาร์กซ์นั้นได้รับการยืนยันถึงความถูกต้องอย่างสมบูรณ์

ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ Gordon Brown ได้ออกมาประกาศอ้างอย่างมั่นอกมั่นใจถึง “จุดจบของความรุ่งเรืองและการเสื่อมถอย” หากแต่ภายหลังวิกฤตการณ์ในปี 2008 นั้นเขาก็จำต้องกลืนน้ำลายตัวเอง วิกฤตของเงินยูโรนั้นแสดงให้เห็นว่าชนชั้นกระฎุมพีนั้นไม่มีปัญญาจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกรีซ สเปน และอิตาลีได้ ซึ่งในทางกลับกันนั้นมันเป็นปัญหาที่คุกคามต่อความมั่นคงในอนาคตของหน่วยเงินกลางในสหภาพยุโรป รวมถึงคุกคามถึงความมั่นคงในอนาคตของสหภาพยุโรปเองด้วย และมันย่อมจะกลายไปเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจใหม่ในระดับโลกได้อย่างง่ายดาย ซึ่งย่อมจะเกิดเป็นวิกฤตที่รุนแรงเสียยิ่งกว่าวิกฤตในปี 2008 เสียอีก

แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีบางคนนั้นจะถูกบีบให้ยอมรับสิ่งที่กำลังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือความจริงที่ว่าระบบทุนนิยมนั้นบรรจุเมล็ดพันธุ์ที่เป็นต้นตอในการทำลายตัวเองเอาไว้ภายในตัวระบบ นั่นคือระบบของความวุ่นวายและเป็นอนาธิปไตยอันเกิดขึ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ที่ผลักไสผู้คนออกจากหน้าที่การงานและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเมือง

สิ่งหนึ่งในวิกฤตการณ์ในปัจจุบันที่เราเผชิญอยู่นั้นคือมันเป็นวิกฤตการณ์ที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย กระทั่งในห้วงเวลาไม่นานมานี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีจำนวนมาก็ยังเชื่อในระบบตลาด เชื่อว่าถ้าหากเราปล่อยให้ระบบตลาดดำเนินไปด้วยตัวเองแล้วมันย่อมจะสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ และมันย่อมจะเกิดให้เกิดสมดุลของความต้องการซื้อและความต้องการขายขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ (“สมมติฐานว่าด้วยระบบตลาดที่มีประสิทธิภาพ”) ดังนั้นมันจึงแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย และกำลังทำความผิดซ้ำเดิมเช่นเดียวกับวิกฤตในปี 1929 และ ยุคแห่งความตกต่ำครั้งใหญ่ (the Great Depression)

การคาดการณ์ของมาร์กซ์ถึงวิกฤตของการผลิตจนล้นเกินนั้นถูกมองว่าเป็นเพียงสิ่งตกค้างและขยะทางประวัติศาสตร์ ผู้ที่ยังปฏิบัติตามและเชื่อในมุมมองของมาร์กซ์ที่มองว่าระบบทุนนิยมนั้นกำเนิดขึ้นมาพร้อมความขัดแย้งภายในตัวเองที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และเป็นระบบที่บรรจุเมล็ดพันธุ์ที่จะทำลายตัวมันเองเอาไว้ภายในระบบนั้นถูกมองว่าเป็นพวกคนเมายา พวกเขามักจะกล่าวว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นหรอว่าระบบคอมมิวนิสต์มันเป็นสิ่งที่ผิดหรอกหรือ? ประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้จบลงด้วยชัยชนะอันชัดเจนของระบบทุนนิยมในฐานะที่มันเป็นเพียงระบบทางเศรษฐกิจ-สังคมเพียงระบบเดียวที่เป็นไปได้หรอกหรือ?

หากแต่ในห้วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา (ซึ่งนับว่าไม่ใช่ช่วงเวลาที่ยาวนานเลยหากเทียบกับประวัตศาสตร์ของสังคมมนุษย์) ประวัติศาสตร์ทั้งหมดนั้นได้หมุนกลับแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และในตอนนี้เองที่การวิพากษ์หรือพูดถึงความคิดของมาร์กซ์และมาร์กซิสม์นั้นได้เปลี่ยนท่วงทำนองออกไปอย่างชัดเจนแทบจะทันที ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของมาร์กซ์นั้นถูกนำกลับมาพิจารณาอย่างละเอียดและจริงจังโดยแท้จริง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากหันมามองข้อเขียนของมาร์กซ์เพื่อที่จะมองหาคำอธิบายว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นในได้ขยายจำนวนออกไปเรื่อยและนั่นคือข้อยืนยันถึงความสำคัญของความคิดของมาร์กซ์

 

ความคิดกระแสรอง

ในเดือนกรกฎาคม ปี 2009 ภายหลังการเริ่มต้นของสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ สำนักข่าว The Economist นั้นได้จัดงานสัมมนาขึ้นในลอนดอนเพื่ออภิปรายกันบนคำถามที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ? ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้นั้นได้เปิดเผยให้เห็นว่าจำนวนของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เพิ่มมากขึ้นนั้นไม่ได้มีส่วนสำคัญอะไรเลย ขณะที่ Paul Krugman เจ้าของรางวัลโนเบลนั้นกลับยอมรับความจริงอันน่าประหลาดใจ เขากล่าวว่า “ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา พัฒนาการในระบบเศรษฐกิจมหภาคนั้น ในขั้นที่ดีที่สุดมันคือสิ่งที่ไร้ประโยชน์ หรือ หากกล่าวในทางที่แย่ที่สุดแล้วมันเป็นสิ่งที่สร้างความอันตรายอย่างมาก” คำประกาศนี้ของเขานั้นเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะถูกสลักเป็นคำจารึกบนหลุมฝังศพของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระฎุมพี

และในตอนนี้เหตุการณ์แบบดังกล่าวก็ได้กระแทกกระทั้นเข้าในหัวของนักคิดกระฎุมพีบางคน เราได้เห็นบทความจำนวนมากที่ออกมายอมรับอย่างเสียไม่ได้ว่าสิ่งที่มาร์กซ์พูดนั้นคือเรื่องที่ถูกต้อง กระทั่งในหนังสือพิมพ์ทางการของวาติกัน L’Osservatore Romano ก็ยังเผยแพร่บทความออกมาในปี 2009 ที่ยกย่องการวิเคราะห์เรื่องความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของมาร์กซ์ อันกลายเป็นการประกาศยอมรับชายผู้ประกาศว่าศาสนานั้นเป็นยาฝิ่นของประชาชนโดยนครรัฐวาติกัน หนังสือว่าด้วยทุน นั้นได้กลายเป็นหนังสือขายดีขึ้นมาในเยอรมนี และในญี่ปุ่นนั้นมีการนำเอางานชิ้นนี้ไปเผยแพร่ในรูปแบบของการ์ตูนมังงะ

George Magnus นักวิเคราะห์เศรษฐกิจอาวุโสของธนาคาร UBS นั้นก็ได้เขียนบทความซึ่งมีชื่อหัวข้อที่น่าสนใจว่า “ให้โอกาสคาร์ล มาร์กซ์เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจโลก” ซึ่งธนาคาร UBS นั้นถือว่าเป็นเสาหลักหนึ่งของการสถาปนาระบบทุนนิยมการเงิน ที่มีสำนักงานทั่วโลกกว่า 50 ประเทศและมีสินทรัพย์จำนวนกว่า 2 ล้านล้านดอลลาห์ และในบทความนี้ที่เขาเขียนให้กับ Bloomberg View นั้น Magnus ได้เขียนว่า “ระบบเศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้ได้แบกรับเอาสิ่งแปลกประหลาดบางอย่างเอาไว้ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่มาร์กซ์ได้เล็งเห็นมาก่อน”

ในบทความนี้ Magnus ได้เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงบรรดาผู้ผลิตนโยบายที่ “ดิ้นรนเพื่อทำความเข้าใจต่ออุปสรรคของความตื่นตระหนกทางการเงิน การประท้วง และความผิดปกติอื่นๆที่บ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจโลก” และเขาได้เสนอว่าบรรดานักคิดนโยบายเหล่านี้นั้นควรที่จะต้องศึกษางานของ “นักเศรษฐศาสตร์ที่ตายไปนานแล้ว อย่างคาร์ล มาร์กซ์”

“ขอให้เราลองพิจารณา อย่างเช่น พิจารณาการคาดการณ์ของมาร์กซ์ที่มีต่อความขัดแย้งโดยธรรมชาติของนายทุนและแรงงานว่ามันแสดงตัวเองออกมาได้อย่างไร ดังเช่นที่มาร์กซ์ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ ว่าด้วยทุน การแสงหากำไรและผลประโยชน์ของบริษัทนั้นย่อมจะนำไปสู่ความต้องการแรงงานที่น้อยลงเรื่อยๆโดยธรรมชาติ อันก่อให้เกิด ‘อุตสาหกรรมของการสำรองกำลังมหาศาล’ ของคนจนและแรงงานที่ไม่ถูกจ้างงาน ‘การสะสมความมุ่งคั่งเอาไว้ที่ด้านเดียวนั้น ย่อมหมายถึงการสะสมความยากจนขึ้นในอีกฟากหนึ่งในเวลาเดียวกัน’”

Magnus ได้อธิบายต่อไปว่า

“กระบวนการที่มาร์กซ์อธิบายถึงนั้นเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ตลอดพัฒนาการของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความพยายามบริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกาที่จะลดต้นทุนการผลิตและหลีกเลี่ยงการจ้างงานเพื่อจะเร่งการสร้างกำไรให้กับบริษัทที่เป็นส่วนแบ่งของผลผลิตทางเศรษฐกิจให้ขยับตัวไปอยู่ในระดับที่สูงยิ่งขึ้นในช่วงเวลามากกว่าหกทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราคนว่างงานนั้นอยู่ที่ 9.1 เปอร์เซ็นและค่าจ้างที่แท้จริงนั้นหยุดนิ่ง”

“ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในสหรัฐอเมริกา ในเวลาเดียวกันนั้นถูกนับได้ว่ามันเข้าใกล้ระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 ในช่วงเวลาก่อนปี 2008 นั้นความแตกต่างทางรายได้นั้นถูกปกปิดเอาไว้ด้วยกลไกง่ายแบบระบบบัตรเครดิต ซึ่งทำให้คนจนสามารถที่จะเข้าถึงการใช้ชีวิตอย่างร่ำรวยได้ หากแต่ตอนนี้ปัญหาที่แท้จริงกำลังจะปรากฏขึ้นแล้ว”

The Wall Street Journal นั้นได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ Dr.Nouriel Roubini นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ซึ่งบรรดาลูกศิษย์ผู้ยกย่องเขาได้เรียกขานเขาว่า “Dr. Doom” อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ของเขาถึงวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 บทสัมภาษณ์อันน่าอัศจรรย์นี้ได้รับการเผยแพร่เป็นวิดิโอ ซึ่งสมควรได้รับการศึกษาอย่างระมัดระวังเพราะในวิดิโอนั้นเป็นการแสดงถึงความคิดของนักยุทธศาสตร์ของทุนนิยมที่มีสายตายาวไกลมาก

Roubini ได้เสนอในบทสัมภาษณ์ว่าห่วงโซ่ของระบบเครดิตนั้นได้แตกสลายลง และดังนั้นแล้วระบบทุนนิยมจึงได้ก้าวเข้าสู่วงจรอุบาทว์ที่เกิดกำลังการผลิตส่วนเกิน (การผลิตจนล้นเกิน) ความต้องการซื้อของผู้บริโภคตกต่ำลง อัตราหนี้สินที่สูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการขยายตัวของการขาดความมั่นใจในการลงทุน ซึ่งในทางกลับกันนั้นจะสะท้อนออกมาในการร่วงลงอย่างชัดเจนในตลาดหุ้น การลดลงของราคาสินทรัพย์ และการล่มสลายลงของระบบเศรษฐกิจที่เป็นจริง

แต่ Roubini นั้นก็เป็นเช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ นั่นคือเขาไม่มีข้อเสนอในการแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน นอกจากข้อเสนอให้สร้างการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบโดยธนาคารกลางเพื่อป้องกันการพังทลายอื่นที่อาจจะเกิดขึ้น หากแต่เขาก็ได้ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเฉพาะแต่นโยบายทางการเงินอย่างเดียวนั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหา และรัฐบาลหรือธุรกิจต่างๆก็ไม่อาจจะช่วยอะไรได้ ยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นต่างก็ดำเนินกามาตรการรัดเข็มขัดเพื่อจะแก้ไขปัญหาหนี้ทางเศรษฐกิจของตัวเอง ในขณะที่พวกเขาควรจะสร้างแรงจูงใจและการกระตุ้นทางการเงินที่มากขึ้น บทสรุปของ Roubini นั้นไม่อาจจะมองแง่ร้ายได้มากกว่า เขากล่าวว่า “คาร์ล มาร์กซ์นั้นได้พูดไว้อย่างถูกต้อง ในจุดหนึ่งนั้นระบบทุนนิยมสามารถทำลายตัวมันเองได้” และ “พวกเรานั้นคิดว่าระบบตลาดสามารถทำงานได้ หากแต่มันไม่ได้ทำงาน

ปีศาจของมาร์กซิสม์นั้นยังคงตามหลอกหลอนชนชั้นกระฎุมพีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าคาร์ล มาร์กซ์นั้นจะเสียชีวิตไปแล้วกว่าร้อยสามสิบปี หากแต่คำถามคือ มาร์กซิสม์นั้นคืออะไร? การจะอธิบายความคิดและแง่มุมต่างๆของมาร์กซิสม์ออกมาอย่างถูกต้องภายใต้บทความเพียงชิ้นเดียวนั้นย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นแล้วเราจึงจำกัดข้อเขียนนี้ให้อยู่ในเรื่องพื้นฐาน และดังนั้นแล้วมันจึงเป็นบทความที่ไม่ได้สมบูรณ์นักด้วยความหวังว่ามันจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านบทความชิ้นนี้ได้ไปศึกษาข้อเขียนของมาร์กซ์เพิ่มเติมด้วยตนเอง และในท้ายที่สุดนี้มันย่อมไม่มีใครที่จะอธิบายความคิดของมาร์กซ์ไปได้ดีไปกว่าตัวของมาร์กซ์เอง

พูดอย่างกว้างแล้วความคิดของมาร์กซ์นั้นสามารถแบ่งแยกออกได้เป็นสามส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงถึงกัน – อันเป็นสิ่งที่เลนินเรียกว่าเป็นสามต้อตอและสามเสาหลักสำคัญของมาร์กซิสม์ ซึ่งสามส่วนนี้ประกอบไปด้วย เศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ (Marxist economics) วัตถุนิยมวิภาษวิธี (dialectical materialism) และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) ซึ่งแต่ละส่วนนั้นดำรงอยู่ในความสัมพันธ์เชิงวิภาษต่อส่วนอื่นๆ และไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจส่วนใดส่วนหนึ่งของมันโดยแยกขาดจากส่วนอื่นๆได้ จุดเริ่มต้นที่เหมาะสมนั้นน่าจะเป็นเอกสารการก่อตั้งการเคลื่อนไหวแบบมาร์กซิสม์ที่ถูกเขียนขึ้นในช่วงอันธการก่อนการปฏิวัติยุโรปในปี 1848 ซึ่งนับได้ว่าเป็นงานเขียนที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์

 

แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์

เนื้อหาอันกว้างขวางของหนังสือเล่มนี้นั้นถูกเขียนขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งร้อยห้าสิบปีก่อนซึ่งในปัจจุบันนี้มันกลายเป็นเพียงสิ่งน่าสนใจทางประวัติศาสตร์ หากแต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในหนังสือ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ นั้นคือวิถีทางของตัวหนังสือที่มันคาดการณ์ถึงปรากฏการณ์ขั้นรากฐานที่สุดที่ได้ยึดกุมความสนใจของเราในระดับโลกในยุคสมัยปัจจุบันเอาไว้ มันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างแท้จริงที่หนังสือซึ่งถูกเขียนเอาไว้เมื่อปี 1847 นั้นสามารถแสดงให้เห็นภาพของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างถูกต้องและเด่นชัด กล่าวตามความจริงแล้ว แถลงการณ์ นี้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันมากขึ้นยิ่งกว่าในห้วงเวลาที่มันถูกเผยแพร่ในปี 1848 เสียอีก

ลองพิจารณาจากตัวอย่างหนึ่งดู ในห้วงเวลาที่มาร์กซ์และเองเกลเริ่มต้นเขียนงานชิ้นนี้นั้น ความคิดเรื่องบริษัทความชาติขนาดใหญ่ในระดับโลกนั้นยังคงเป็นเพียงอนาคตอันห่างไกลอย่างยิ่ง แม้กระนั้นพวกเขาก็ยังสามารถอธิบายได้ว่าบริษัทอิสระและการแข่งขันเสรีนั้นย่อมจะนำไปสู่การเข้มข้นขึ้นของทุนและการผูกขาดเหนือกำลังการผลิตอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ มันเป็นเรื่องตลกอย่างจริงจังที่จะอ่านแถลงการณ์ที่เขียนโดยบรรดาผู้ปกป้องระบบตลาดซึ่งกล่าวหาว่าข้อเขียนของมาร์กซ์นั้นผิดไป ในเมื่อความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเราในปัจจุบันนั้นนี้ตรงไปตามการคาดการณ์ของมาร์กซ์แทบทุกอย่าง

ในระหว่างทศวรรษที่ 1980 มันเป็นเรื่องตามกระแสนิยมที่จะกล่าวอ้างว่าสิ่งเล็กๆนั้นคือความงดงาม หากแต่เราไม่ได้กำลังจะเริ่มการอภิปรายเรื่องสุนทรียศาสตร์ของความใหญ่ กลาง หรือเล็ก ที่แต่ละคนนั้นมีสิทธิที่จะมองกันได้อย่างแตกต่าง หากแต่เรากำลังจะเสนอความจริงไม่อาจจะโต้แย้งได้อย่างสมบูรณ์ว่ากระบวนการเข้มข้นขึ้นของทุนที่มาร์กซ์คาดการณ์ไว้นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว มันได้เกิดขึ้นและในความเป็นจริงมันได้เดินทางไปถึงระดับที่สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อนในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้เอง

ในสหรัฐอเมริกาที่กระบวนการเข้มขึ้นของทุนนี้ได้แสดงตัวเองออกมาในรูปแบบที่ชัดเจน ทรัพย์สินของบริษัทจำนวน 500 บริษัทนั้นถูกคำนวณว่ามีสัดส่วนเป็น 73.5 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดของประเทศในปี 2010 ซึ่งหมายความว่าถ้าหากบรรดาบริษัท 500 บริษัทนี้ร่วมกันสร้างประเทศอิสระขึ้นมาประเทศหนึ่งแล้ว มันจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเลย ในปี 2011 บริษัททั้ง 500 แห่งนี้ได้สร้างกำไรที่มีมูลค่ากว่า 824.5 พันล้านดอลลาห์ – ซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากตัวเลขในปี 2010 กว่า 16 เปอร์เซ็นต์ ในระดับโลกนั้นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลก 2,000 บริษัทนั้นมีรายได้รวมกันกว่า 32 ล้านล้านดอลลาห์ มีกำไรจำนวน 2.4 ล้านล้านดอลลาห์ มีสินทรัพย์รวมมูลค่า 138 ล้านล้านดอลลาห์ และมีมูลค่าทางตลาดอยู่ที่ 38 ล้านล้านดอลลาห์ และอัตรากำไรที่ขยายตัวขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์กว่า 67 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2010 และ 2011

ในห้วงเวลาที่มาร์กซ์และเองเกลเขียน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ นี้มันไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ใดๆในยุคนั้นที่จะช่วยสนับสนุนข้อเขียนของพวกเขา ในทางกลับกัน ระบบทุนนิยมในยุคสมัยของทั้งสองนั้นยังคงเป็นระบบที่มีรากฐานอยู่บนกิจการขนาดเล็ก ระบบตลาดเสรี และการแข่งขันเสรีทั้งสิ้น ส่วนในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของโลกทุนนิยมนั้นถูกกำหนดโดยอำนาจในมือของบรรดาบริษัทข้ามชาติผูกขาดขนาดใหญ่ อย่างเช่น Exxon และ Walmart บรรดาปิศาจขนาดมหึมานี้ได้ถือครองกองทุนที่มีมูลค่าสูงเสียยิ่งกว่างบประมาณรายปีของหลายประเทศเสียอีก การคาดการณ์ของ แถลงการณ์ นี้ได้ปรากฏเป็นจริงมากขึ้นและชัดเจนมากขึ้นรวมถึงสมบูรณ์มากขึ้นเสียยิ่งกว่าที่มาร์กซ์เคยวาดฝันไว้เสียอีก

กระบวนการรวมศูนย์ของทุนและกระบวนการเข้มข้นขึ้นของทุนได้ดำเนินการไปถึงสัดส่วนที่ไม่เคยมีมาก่อน จำนวนการควบรวมบริษัทนั้นเป็นสิ่งที่รับมาพร้อมกับลักษณะซึ่งแพร่หลายในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าทุกประเทศ ในหลายกรณี การควบรวมบริษัทนั้นเชื่อมโยงกับปฏิบัติการที่คลุมเครืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ – นั่นคือการวางข้อตกลงลับ การร่วมกันกำหนดราคา ตลอดจนการหลอกลวง การฉ้อโกง และการปล้นชิงในรูปแบบอื่นๆ ดังเช่นเรื่องอื้อฉาวในการจัดการอัตราผลประโยชน์ของ Libor โดย Braclays และธนาคารใหญ่อื่นๆที่ถูกเปิดโปงออกมา กระบวนการเข้มข้นขึ้นของทุนนี้ไม่ได้มีความหมายว่ามันทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตด้วย หากแต่เป็นสิ่งตรงกันข้ามอย่างที่สุด ในหลายกรณีนั้นมันไม่ได้ทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ใหม่หากแต่เป็นการปิดโรงงานและสำนักงานที่มีอยู่และลอยแพพนักงานจำนวนมากออกเพื่อที่จะรักษาการสร้างกำไรของบริษัทเอาไว้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มการผลิต ดังกรณีตัวอย่างการควบรวมธนาคารใหญ่ของสวิสเซอร์แลนด์เข้าด้วยกัน เพื่อรักษาการสร้างกำไรด้วยการปลดพนักงานออกกว่า 13,000 ตำแหน่ง

 

โลกาภิวัฒน์และความเหลื่อมล้ำ

เราจะขยับไปต่อถึงการคาดการณ์อันถัดไปของมาร์กซ์ ซึ่งถูกเขียนเอาไว้ตั้งแต่ในปี 1847 มาร์กซ์ได้อธิบายว่าพัฒนาการของระบบตลาดโลกนั้นจะทำให้ “การปิดกั้นและความเป็นปัจเจกชนในระดับชาตินั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ในทุกประเทศ – กระทั่งประเทศที่ยิ่งใหญ่และทรงอำนาจที่สุด – นั้นย่อมจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของระบบเศรษฐกิจระดับโลก อันจะเป็นสิงที่ตัดสินชะตากรรมของทั้งผู้คนและประเทศชาติต่างๆ” การคาดการณ์ทางทฤษฎีที่หลักแหลมนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าอย่างไรขอบเขตของมรรควิธีแบบมาร์กซิสม์

โลกาภิวัตน์นั้นถูกพิจารณาในฐานะของปรากฏการณ์ใหม่ แต่แน่นอนว่าการกำเนิดขึ้นของระบบตลาดเชิงเดี่ยวระดับโลกนั้นเป็นสิ่งที่ถูกคาดการณ์เอาไว้ใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อนานมาแล้ว การครองอำนาจเหนืออย่างเด็ดขาดของระบบตลาดโลกนั้นได้กลายมาเป็นความจริงขั้นเด็ดขาดในยุคสมัยของเรา การเข้มข้นขึ้นอย่างมหาศาลของระบบแบ่งงานกันทำในระดับโลกนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นได้ยืนยันถึงความถูกต้องในข้อวิเคราะห์ของมาร์กซ์

ถึงกระนั้นก็ตาม มันยังคงมีความพยายามอันทรงพลังที่จะพิสูจน์ว่ามาร์กซ์ผิดในการเสนอเรื่องกระบวนการเข้มข้นขึ้นของทุน ที่ทำให้เกิดกระบวนการแบ่งแยกทางชนชั้นออกเป็นสองขั้ว บรรดาความคิดอันพิสดารนี้สอดคล้องอยู่กับความฝันของกระฎุมพีที่จะพยายามค้นหายุคทองของบริษัทเสรีขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เหมือนกับคนชราที่พยายามใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างยาวนานเพื่อทดแทนช่วงเวลาในวัยหนุ่มที่หายไป

หากแต่เป็นเรื่องโชคร้ายที่มันไม่มีโอกาสสำหรับระบบทุนนิยมที่จะรื้อฟื้นพลังในวัยหนุ่มของตัวมันเองได้อีกต่อไป ระบบทุนนิยมนั้นได้เดินทางมาถึงช่วงเวลาสุดท้ายของตัวมันเองเมื่อนานมาแล้ว นั่นคือช่วงเวลาของระบบทุนนิยมผูกขาด วันเวลาของการประกอบกิจการขนาดเล็ก ที่แม้ว่ามันจะเป็นเพียงการหวนนึกถึงความหลังของพวกกระฎุมพีนั้นได้กลายไปเป็นอดีตเสียแล้ว ในทุกๆประเทศนั้นต่างก็มีกลุ่มทุนผูกขาดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มทุนธนาคารและมีความพัวพันอยู่กับรัฐกระฎุมพีซึ่งมีอำนาจปกครองเหนือชีวิตของสังคม การแบ่งชนชั้นเป็นสองขั้วนั้นยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ขาดสาย และมีแนวโน้มว่ามันจะเร่งความเร็วมากขึ้นด้วย

ลองพิจารณากรณีตัวอย่างของสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา ที่ครอบครัวซึ่งร่ำรวยที่สุด 400 ครอบครัวในสหรัฐอเมริกานั้นมีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าทรัพย์สินของคนจนจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศรวมกัน เฉพาะทายาทของ Wal-Mart จำนวนหกคนนั้น “มีเงิน” มากกว่าคนจนจำนวน 30% ของประเทศรวมกันเสียอีก คนจนจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐอเมริกานั้นถือครองทรัพย์สินเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเท่านั้น ขณะที่คนร่ำรวยจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐอเมริกานั้นขยายการถือครองส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของตัวเองจาก 17.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 1978 ไปอยู่ที่ 37.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2011

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้นช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยและคนจนนั้นได้ขยายตัวขึ้นอย่างคงที่จนกลายเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ ในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกค่าเฉลี่ยรายได้ของคนรวยนั้นจำนวนสิบเปอร์เซ็นต์ของสังคมนั้นมีจำนวนมากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนจนประมาณเก้าเท่าตัว นั่นคือตัวเลขที่สูงมาก และตัวเลขสถิติของ OECD นั้นก็ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างด้านรายได้ที่เกิดขึ้นจากในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษนั้นได้ขยายตัวเข้าไปยังประเทศอื่นๆอย่าง เดนมาร์ก เยอรมนี และสวีเดน ซึ่งโดยปกติแล้วมีระดับความเหลื่อมล้ำต่ำมาก

ความร่ำรวยอันต่ำช้าของนายธนาคารนั้นได้ถูกเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวออกมา หากแต่ปรากฏการณ์นี้นั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะในแวดวงการเงินเท่านั้น ในหลายๆกรณีนั้นบรรดาผู้จัดการของบริษัทขนาดใหญ่นั้นได้รับเงินเดินที่มากกว่าแรงงานที่ได้ค่าแรงต่ำสุดในบริษัทเดียวกันถึง 200 เท่า ความแตกต่างที่มากเกินไปนี้จะกระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจซึ่งกลายไปเป็นความโกรธแค้นที่ไหลพรั่งพรูลงสู่ถนนจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง แนวโน้มที่เติบโตขึ้นนี้แสดงออกให้เห็นผ่านการนัดหยุดงาน การนัดหยุดงานทั่วประเทศ การเดินขบวนและการลุกฮือประท้วง นอกจากนี้มันยังสะท้อนออกมาในการเลือกตั้งผ่านการประท้วงต่อต้านการลงคะแนนเสียงให้กับพรรครัฐบาลและพรรคการเมืองอื่นๆที่มีอยู่ ดังเช่นที่เราเห็นผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในอิตาลี

ผลสำรวจของนิตยสาร Time นั้นได้แสดงให้เห็นว่าคนจำนวนกว่า 54% นั้นมีมุมมองที่ชื่นชอบ #Occupy movement ส่วน 79% นั้นคิดว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นขยายตัวมากจนเกินไป 71% คิดว่าบรรดาผู้บริหารระดับสูงของสถาบันทางการเงินควรจะถูกดำเนินคดี อีก 68% คิดว่าคนรวยนั้นควรจะต้องจ่ายภาษีมากขึ้น มีเพียง 27% เท่านั้นที่ชื่นชอบขบวนการเคลื่อนไหว Tea Party movement (มีคนไม่ชอบจำนวน 33%) แน่นอนว่ามันคงเร็วเกินไปที่เราจะพูดถึงการปฏิวัติในสหรัฐอเมริกา หากแต่ตัวเลขเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวิกฤตของระบบทุนนิยมนั้นได้ก่อให้เกิดการขยายตัวทางอารมณ์ที่ตั้งคำถามและวิพากษ์ระบบอย่างกว้างขวางมากขึ้นในหมู่ประชาชน นี่คือกระบวนการสะสมการตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐอเมริกา

 

การแพร่ขยายตัวของจำนวนคนว่างงาน

จากข้อความใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ นั้นบอกเราว่า “และในที่นี้เองที่มันได้กลายเป็นสิ่งยืนยันว่าชนชั้นกระฎุมพีนั้นไม่เหมาะสมที่จะเป็นชนชั้นปกครองในสังคมอีกต่อไป และดังนั้นแล้วพวกเขาจึงต้องสถาปนาตนเองเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายเพื่อที่จะรักษาเงื่อนไขในการดำรงอยู่ของชนชั้นตัวเองเหนือสังคม ชนชั้นกระฎุมพีนั้นไม่เหมาะสมที่จะเป็นชนชั้นปกครองก็เพราะมันไร้ความสามารถที่จะรับประกันการดำรงอยู่ของทาสภายใต้ระบบทาสของตัวเองได้ เพราะมันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ชนชั้นกระฎุมพีนั้นปล่อยให้บรรดาทาสของตนจมลงอยู่กับรัฐ ที่จะต้องคอบรองรับแล้วเลี้ยงดูบรรดาทาสเหล่านี้แทนที่จะเป็นทาสที่คอยหล่อเลี้ยงรัฐ ดังนั้นแล้วสังคมย่อมไม่อาจจะดำรงอยู่ได้ภายใต้ระบบแบบกระฎุมพีอีกต่อไป”

ในข้อเขียนของมาร์กซ์และเองเกลที่เรายกมาด้านบนนี้มันได้กลายมาเป็นความจริงตามตัวอักษรในปัจจุบัน ความรู้สึกที่ว่าชีวิตของเรานั้นถูกกำหนดมาจากอำนาจที่อยู่เหนือการควบคุมของเรานั้นได้ขยายตัวมากขึ้นในทุกๆส่วนของสังคม สังคมในปัจจุบันนั้นกำลังถูกกัดกร่อนโดยความรู้สึกไม่มั่นคงและความกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัยนั้นได้กลายมาเป็นปฏิบัติการของสังคมทั้งมวล

จำนวนคนว่างงานมหาศาลที่เราประสบอยู่นี้เป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าสิ่งใดๆที่มาร์กซ์ได้คาดการณ์เอาไว้ มาร์กซ์ได้กล่าวถึงกำลังสำรองของแรงงาน หรือกล่าวคือ ความยากจนของแรงงานที่สามารถจะนำไปใช้เพื่อรักษาการกดค่าแรงและปฏิบัติงานเป็นกำลังสำรองในยามที่ระบบเศรษฐกิจนั้นรื้อฟื้นขึ้นมาจากสภาวะซบเซา หากแต่ลักษณะของการว่างงานที่เราพบในปัจจุบันนั้นไม่ใช่กำลังสำรองในแบบที่มาร์กซ์กล่าว ซึ่งในมุมมองแบบนายทุนนั้นกำลังสำรองที่มาร์กซ์กล่าวนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก

สภาพที่เราเจอนั้นไม่ใช่วงจรของการว่างงานแบบที่ชนชั้นแรงงานคุ้นเคยจากรูปแบบในอดีต ที่จำนวนคนว่างงานนั้นย่อมจะน้อยลงและค่อยๆหายไปเมื่อระบบเศรษฐกิจนั้นได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา หากแต่สภาพในปัจจุบันนั้นมันเป็นการวางงานถาวร เป็นการวางงานตามโครงสร้าง และเป็นการวางงานแบบอินทรีย์ซึ่งมันจะไม่ลดจำนวนลงหรือถูกแก้ไขแม้ว่าระบบเศรษฐกิจจะ “เจริญรุ่งเรือง” ขึ้นมาอีกก็ตาม นี่คือตุ้มถ่วงถาวรที่กระทำการเป็นเสมือนตัวฉุดรั้งกิจกรรมทางการผลิต เป็นอาการที่เกิดจากการที่ระบบที่ดำเนินอยู่นั้นได้ไปถึงทางตัน

ในช่วงหนึ่งทศวรรษก่อนวิกฤตในปี 2008 นั้นตามรายงานขององค์การสหประชาชาติมีการเผยแพร่ตัวเลขว่าจำนวนคนว่างงานทั่วโลกมีจำนวนประมาณ 120 ล้านคน ขณะที่ในปี 2009 นั้นตัวเลขจากองค์การแรงงานสากล (International Labour Organization) ได้แสดงให้เห็นว่ามีคนว่างงานทั่วโลกจำนวน 198 ล้านคน และคาดว่ามันจะขยายตัวไปถึง 202 ล้านคนในปี 2013 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้หรือกระทั่งสถิติอย่างเป็นทางการอื่นๆเกี่ยวกับตัวเลขคนว่างงานนี้ ได้นำเสนอตัวเลขที่น้อยกว่าความเป็นจริงที่ผิดกับสถานการณ์จริงไป ถ้าหากเราบวกรวมเอาตัวเลขของผู้คนที่ถูกบังคับให้ต้องทำงานใน “อาชีพ” ที่ไม่มีความมั่นคงมารวมด้วยแล้ว ตัวเลขของคนว่างงานและผู้ที่ถูกจ้างงานไม่เต็มวันทั่วโลกนั้นจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านคน

แม้ว่าดารพูดคุยทั้งหมดถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจในเยอรมนี หากแต่ประเทศที่เคยเป็นแหล่งพลังงานทางเศรษฐกิจในยุโรปอย่างเช่น ฝรั่งเศสนั้น กลับตกอยู่ภายใต้สภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจจนการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเกือบจะเป็นศูนย์ เช่นเดียวกับในญี่ปุ่นที่การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นแทบจะหยุดลง ซึ่งแตกต่างจากความทุกข์ยากและความหายนะที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนับล้าน ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์แล้วมันแสดงให้เห็นถึงความสูญเสียอย่างมากของการผลิต และการสิ้นเปลืองในระดับมหาศาล ซึ่งแตกต่างจากคำหลวกลวงของผู้นำแรงงานในอดีตเพราะการวางงานจำนวนมากได้หวนกลับมาและได้แพร่กระจายไปทั่วโลกเสมือนกับมะเร็งที่ลุกลามไปทั่วส่วนประกอบต่างๆของสังคม

วิกฤตของระบบทุนนิยมนั้นได้ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อคนรุ่นใหม่ อัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นท่ามกลางหมู่คนรุ่นใหม่นั้นถีบตัวสูงขึ้นในทุกหนทุกแห่ง และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเคลื่อนไหวประท้วงของขบวนการนักศึกษาในอังกฤษ, ขบวนการ indignados ของคนรุ่นใหม่ในสเปน, การเข้ายึดสถานศึกษาในกรีซ รวมถึงการลุกฮือในตูนิเซีย และอียิปต์ที่เกิดขึ้นเมื่อคนรุ่นใหม่กว่า 75% นั้นตกอยู่ในสถานะคนว่างงาน

ตัวเลขคนว่างงานในยุโรปนี้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขคนว่างงานในสเปนนั้นอยู่ที่เกือบ 27 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวเลขคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนว่างงานนั้นสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 55 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในกรีซนั้นคนรุ่นใหม่ไม่ต่ำกว่า 62 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นคนว่างงาน – หรือกล่าวได้ว่าคนรุ่นใหม่จำนวนสองในสามนั้นเป็นคนว่างงาน คนรุ่นใหม่ทั้งหมดนั้นกำลังถูกบังคับให้กลายเป็นผู้เสียสละเหนือแท่นบูชายัญแห่งกำไร คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่พยายามจะหาทางรอดด้วยการเรียนต่อในระดับสูงนั้นต่างก็พบว่าเส้นทางดังกล่าวถูกปิดกั้นเอาไว้ ในกรณีของประเทศอังกฤษ ที่ระบบการศึกษานั้นควรจะเป็นสวัสดิการ ในตอนนี้คนรุ่นใหม่ในอังกฤษต่างก็พบว่าถ้าหากพวกเขาต้องการศึกษาและเรียนรู้ทักษะในระดับที่สูงขึ้นจากการศึกษาขั้นสูงนั้นพวกเขาจำเป็นต้องแลกมันมาด้วยการเป็นหนี้ (กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา – ผู้แปล)

และสำหรับกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงเวลาของการปลดเกษียณ แรงงานนั้นที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณนั้นต่างก็พบว่าพวกเขาจำเป็นต้องทำงานหนักขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อพบกับเงินบำนาญจำนวนน้อยนิดที่ทำให้แรงงานจำนวนมากกลายเป็นคนยากจนในวัยชรา ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่านั้นต่างเผชิญกับปัญหาที่ไม่ต่างกัน โอกาสเดียวที่พวกเขาเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบันนี้คือวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคง บรรดาคำหลอกลวงเก่าแก่ของกระฎุมพีที่พูดถึงคุณค่าด้านศีลธรรมและคุณค่าของครอบครัวนั้นถูกเปิดเผยออกมาว่าเป็นแต่เพียงความกลวงเปล่า การแพร่กระจายของคนว่างงาน คนไร้บ้าน หนี้สินมหาศาล และความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างรุนแรงนั้นได้ทำให้คนทั่งรุ่นอายุถูกผลักเข้าไปสู่ความเป็นคนนอกคอกที่ละทิ้งครอบครัว และทำให้เกิดการสร้างฝันร้ายของความยากจน ความสิ้นหวัง ความหมดอาลัยตายอยากและความเลวทรามขึ้น.

 

วิกฤตของการผลิตจนล้นเกิน

ในปกรณัมกรีกโบราณนั้นมีตัวละครหนึ่งที่ชื่อว่า Procrustes ผู้มีนิสัยอันน่ารังเกียจในการตัดเท้า ศีรษะ หรือแขกของแขกผู้มาเยือนเพื่อที่จะทำให้ร่างกายของแขกนั้นพอดีกับเตียงของเขา ในปัจจุบันนี้ระบบทุนนั้นก็เป็นเสมือนกับเตียงนอนของ Procrustes นั่นเอง ชนชั้นกระฎุมพีนั้นกำลังทำลายล้างปัจจัยการผลิตอย่างเป็นระบบเพื่อที่ทำให้ตัวเองมีขนาดพอดีกับขีดจำกัดอันคับแคบของระบบทุนนิยม ความป่าเถื่อนทางเศรษฐกิจนี้เป็นเหมือนกับนโยบายนโยบายของการตัดและเผาทำลายในระดับกว้างขวาง

George Soros นั้นเปรียบเทียบว่ามันเป็นเสมือนกับลูกตุ้มเหล็กขนาดใหญ่ที่ถูกใช้เพื่อทุบทำลายอาคารสูง หากแต่มันไม่ใช่เพียงอาคารสูงเท่านั้นที่ถูกทุบทำลายหากแต่เป็นระบบเศรษฐกิจและรัฐทั้งหมดด้วย คำขวัญในปัจจุบันที่เราพบอยู่นั้นคือการอดออม ลดการจ่ายที่ไม่จำเป็นและปรับลดมาตรฐานคุณภาพชีวิตลง ในทุกๆประเทศนั้นชนชั้นกระฎุมพีต่างก็ประกาศคำขวัญเดียวกันนั่นคือ “เราจะต้องตัดลดงบประมาณสาธารณะ!” รัฐบาลทุกประเทศในโลกทุนนิยมไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลฝ่ายขวา หรือ “ฝ่ายซ้าย” นั้นต่างก็อยู่ภายใต้การแสวงหานโยบายแบบเดียวกัน และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาจากการแปรปรวนภายในตัวนักการเมือง หรือเกิดจากความโง่เขลา หรือ เจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ (แม้ว่ามันจะมีอยู่อย่างมากมายด้วยเช่นกัน) หากแต่มันเป็นการแสดงออกของทางตันที่ระบบทุนนิยมนั้นพบเข้าโดยตัวมันเอง

นี่เป็นการแสดงออกของความจริงที่ระบบทุนนิยมนั้นได้ไปถึงขีดจำกัดของตัวมันเองและไม่สามารถจะพัฒนากำลังการผลิตได้อีกต่อไปดังเช่นที่มันเคยทำได้ในอดีต มันเป็นเสมือนกับพ่อมดฝึกหัดที่ได้ร่ายคาถาอันทรงพลังที่ไม่สามารถควบคุมได้ขึ้นมา หากแต่ด้วยการตัดลดงบประมาณภาครัฐนั้น ในเวลาเดียวกันมันก็เท่ากับการลดความต้องการซื้อและตัดทอนระบบตลาดทั้งหมดลง เฉพาะแต่ในห้วงเวลาที่กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีก็ยอมรับว่ามันมีปัญหาเรื่องการผลิตจนล้นเกินขึ้นมาอย่างจริงจังในระดับโลก ยกตัวอย่างหนึ่งเช่น กรณีภาคการผลิตยานยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องมูลฐานอย่างยิ่งเพราะมันเกี่ยวพันอยู่กับภาคการผลิตอื่นๆ เช่น เหล็ก, พลาสติก, เคมีภัณฑ์ และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์

กำลังการผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีจำนวนประมาณสามสิบเปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าทั้งบริษัท Ford, General Motors, Fiat, Renault, Toyota และบริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์อื่นๆนั้นจะต้องปิดโรงงานของตัวเองลงราวๆหนึ่งในสามและลอยแพพนักงานจำนวนหนึ่งในสามในทันที และบริษัทเหล่านี้ก็ยังคงไม่สามารถที่จะขายยานยนต์ที่พวกเขาผลิตขึ้นมาจนกว่ามันจะมีราคาและอัตราส่วนกำไรที่พวกเขาพอใจ สถานการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในหลายส่วนของภาคการผลิต วิกฤตที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่มีทางที่จะสิ้นสุดลงเว้นแต่และจนกว่าปัญหาของกำลังการผลิตส่วนเกินนี้จะถูกแก้ไขลงอย่างจริงจัง

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของระบบทุนนิยมนี้สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างง่ายดาย ถ้าหากยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นหยุดการบริโภคลง จีนย่อมไม่สามารถทำการผลิตได้ และถ้าหากจีนไม่สามารถทำการผลิตได้ดังเช่นที่มันเคยทำมาก่อน ประเทศอย่าง บราซิล อาเจนติน่า และออสเตรเลียนั้นย่อมจะไม่สามารถส่งออกวัตถุดิบทางการผลิตของตนเองได้ โลกในปัจจุบันนี้เชื่อมโยงถึงกันอย่างแนบแน่น ดังนั้นวิกฤตที่เกิดในแถบยุโรปย่อมส่งผลถึงเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกานั้นย่อมจะส่งผลกระทบชี้ขาดถึงระบบเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ดังนั้นแล้วโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นนี้โดยตัวมันเองได้แสดงให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ระดับโลกของระบบทุนนิยม.

 

สภาวะความแปลกแยก

ด้วยการมองการณ์ไกลอันน่าเหลือเชื่อ มาร์กซ์และเองเกลนั้นได้คาดการณ์ถึงเงื่อนไข ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้รับการยืนยันจากชนชั้นแรงงานในทุกประเทศ

“อันเนื่องมาจากการใช้เครื่องจักรที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางและระบบแบ่งงานกันทำ งานของชนชั้นกรรมาชีพนั้นย่อมจะสูญเสียลักษณะเชิงปัจเจกของมันทั้งหมด และ ในท้ายที่สุดแล้วก็คือชนชั้นแรงงานได้สูญเสียลักษณะดึงดูดทั้งหมดของตนเองไป เขาย่อมจะกลายไปเป็นเพียงส่วนผนวกเพิ่มของเครื่องจักร และนี่คือสิ่งสามัญที่สุดเพียงสิ่งเดียว เป็นสิ่งน่าเบื่อหน่ายอย่างที่สุด และเป็นทักษะพิเศษที่หามาได้อย่างง่ายดายที่สุด และนั่นคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับแรงงาน ดังนั้นแล้วต้นทุนการผลิตของผู้ใช้แรงงานจึงถูกจำกัดวงให้คับแคบลง เกือบจะทั้งหมด ให้เหลือเพียงปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตที่เขาต้องการสำหรับการดำรงชีพ และเพียงพอสำหรับการมีลูก หากแต่ราคาของสินค้าซึ่งหมายถึงราคาของแรงงานด้วยนั้นเท่าเทียมกับต้นทุนหากผลิต ในเชิงสัดส่วนแล้วเป็นเสมือนความน่ารังเกียจที่เกิดจากการทำงานที่หนักขึ้นและค่าจ้างที่ลดต่ำลงไม่เพียงเท่านั้นในสัดส่วนที่เป็นการใช้เครื่องจักรและการแบ่งงานกันทำนั้นยังสูงขึ้น ในสัดส่วนเดียวกันความเหน็ดเหนื่อยของแรงงานก็สูงตามไปด้วย ทั้งจากการขยายเวลาการทำงานออกไป จากเพิ่มความเข้มข้นของงานในชั่วโมการทำงานหรือจากการเพิ่มความเร็วการผลิตของเครื่องจักร ฯลฯ”

ในปัจจุบันนี้สหรัฐอเมริกาได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับที่อังกฤษเคยดำรงอยู่ในยุคสมัยของมาร์กซ์ – นั่นคือการเป็นประเทศทุนนิยมก้าวหน้าที่สุด ดังนั้นแล้วแนวโน้มทั่วไปของระบบทุนนิยมจึงปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในสหรัฐอเมริกา ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา รายได้ค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐอเมริกานั้นขยับตัวสูงขึ้นกว่า 725% ในขณะที่ค่าตอบแทนของแรงงานนั้นขยับขึ้นเพียง 5.7% เท่านั้น บรรดาผู้บริหารระดับสูงนี้ต่างได้รับเงินเดือนเฉลี่ยมากกว่าเงินเดือนของแรงงานในบริษัทราว 244 เท่า ค่าแรงขั้นต่ำตามประกาศของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันนั้นอยู่ 7.25 ดอลลาห์ต่อชั่วโมง ตามรายงานของ Center for Economic Policy Research ที่เสนอว่าถ้าหากค่าแรงขั้นต่ำนั้นปรับตัวตามผลผลิตจากแรงงานแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานจะต้องเพิ่มขึ้นมาเป็น 21.72 ดอลลาห์ต่อชั่วโมงในปี 2012 และถ้าหากว่าเรานำเอาอัตราเงินเฟ้อเข้ามาร่วมคำนวณด้วย เราจะเห็นว่าค่าแรงเฉลี่ยของแรงงานอเมริกันนั้นมีมูลค่าต่ำกว่าค่าแรงในปี 1968 เสียอีก ในแง่นี้เองความเจริญทางเศรษฐกิจทั้งหลายในปัจจุบันนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เกิดมาจากการเสียสละอย่างไม่เต็มใจของชนชั้นแรงงาน

ในขณะที่คนนับล้านนั้นถูกบีบบังคับให้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากอันเนื่องมาจากการถูกบีบบังคับให้กลายเป็นคนว่างงานนั้น ผู้คนนับล้านอีกส่วนหนึ่งก็ถูกบีบบังคับให้ต้องทำงานถึงสองหรือสามอาชีพ และต้องทำงานราว 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือมากกว่านั้นโดยปราศจากการได้รับค่าจ้างการทำงานล่วงเวลา ผู้ชายจำนวน 85.8 เปอร์เซ็นต์ และผู้หญิงกว่า 66.5 เปอร์เซ็นต์นั้นต้องทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามรายงานขององค์การแรงงานสากลนั้นกล่าวว่า “แรงงานชาวอเมริกันนั้นต้องทำงานหนักมากกว่าแรงงานชาวญี่ปุ่นราว 137 ชั่วโมงต่อปี  มากกว่าแรงงานชาวอังกฤษราว 260 ชั่วโมงต่อปี และต้องทำงานมากกว่าแรงงานชาวฝรั่งเศสราว 499 ชั่วโมงต่อปี”

จากข้อมูลของ US Bureau of Labor Statistics BLS นั้นได้แสดงให้เห็นว่ามูลค่าในผลผลิตของแรงงานต่อหัวนั้นได้เพิ่มขึ้นราว 400 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 1950 ในทางทฤษฎีนั้นหมายความว่า หากแรงงานต้องการดำรงชีพด้วยมาตรฐานคุณภาพชีวิตแบบเดิมในปี 1950 นั้นแรงงานต้องทำงานเพียงหนึ่งในสี่ของค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ในปี 1950 หรือทำงานเพียง 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่อย่างนั้น มาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงานก็จะต้องสูงขึ้นราวสี่เท่าในทางทฤษฎี หากแต่ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม มาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงานส่วนใหญ่นั้นลดต่ำลงอย่างมาก ขณะที่อัตราความเครียด การบาดเจ็บ และการเจ็บป่วยจากการทำงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้สะท้อนออกมาให้เห็นในการขยายตัวของอาการซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย อัตราการหย่าร้าง ความรุนแรงในครอบครัว การเกิดเหตุกราดยิง และความเจ็บป่วยทางสังคมอื่นๆ

สถานการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในอังกฤษ ช่วงภายใต้รัฐบาล Thatcher ที่ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมกว่า 2.5 ล้านตำแหน่งถูกปิดลง และระดับของการผลิตนั้นยังคงอยู่ในระดับเดียวกันกับในปี 1979 อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการขูดรีดแรงงานอังกฤษอย่างมหาศาล มิใช่จากการนำเอาเครื่องจักรเข้ามาใช้ ในปี 1995 Kenneth Calman อธิบดีกรมอนามัยอังกฤษได้ออกประกาศเตือนว่า “การสูญเสียชีวิตการทำงานและการว่างงานนั้นได้ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของความเครียดซึ่งส่งผลสัมพันธ์ต่ออาการเจ็บป่วย”

 

การต่อสู้ทางชนชั้น

มาร์กซ์และเองเกลนั้นได้อธิบายเอาไว้ใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ว่ากลไกอันต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคมนั้นเกิดขึ้นผ่านการต่อสู้ทางชนชั้น สำหรับระบบทุนนิยมนั้นการต่อสู้ทางชนชั้นถูกทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นผ่านกระบวนการแบ่งขั้วทางสังคมเป็นสองชนชั้นซึ่งเป็นศัตรูกัน นั้นคือชนชั้นกระฎุมพีและชนชั้นกรรมาชีพ พัฒนาการขนาดมหึมาทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในช่วง 200 ปีที่ผ่านมานั้นดำเนินไปเพื่อเพื่อกระบวนการเข้มข้นขึ้นของอำนาจทางเศรษฐกิจในเงื้อมมือของคนส่วนน้อย

“ประวัติศาสตร์ของทุกสังคมที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนั้นคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น” นี่คือวลีหนึ่งอันโด่งดังใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งความคิดนี้ถูกคนจำนวนมากมองว่าเป็นความคิดที่ล้าหลังไปนานแล้ว ในช่วงเวลาอันยาวนาของการขยายตัวของทุนหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการจ้างงานเต็มอัตราในระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก้าวหน้า การยกระดับคุณภาพชีวิตและการปฏิรูป (การสร้างรัฐสวัสดิการ) การต่อสู้ทางชนชั้นนั้นจึงถูกมองว่าเป็นสิ่งของในอดีตไปโดยปริยาย

มาร์กซ์นั้นคาดการณ์เอาไว้ว่าพัฒนาการของระบบทุนนิยมนั้นย่อมจะนำไปสู่กระบวนการเข้มข้นขึ้นของทุน อันเป็นการสะสมทุนและความมั่งคั่งอย่างกว้างขวางไว้ในมือของคนกลุ่มหนึ่ง และเป็นการสร้างความยากจน ความทุกข์ทรมาน และความเหน็ดเหนื่อยอันเหลือทนให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม เป็นเวลานับทศวรรษที่ความคิดเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นนี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องไร้สาระโดยนักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพี และ นักสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัย ซึ่งยืนยันว่าสังคมนั้นได้กลายไปเป็นสังคมที่รับประกันความเสมอภาคมากขึ้น อันเป็นสังคมที่ทุกๆคนนั้นกลายเป็นชนชั้นกลาง แน่นอนว่าบรรดาภาพมายาเหล่านี้ได้ระเหยหายไปแล้วในปัจจุบัน

ข้อโต้แย้งที่นักสังคมวิทยากระฎุมพีชื่นชอบอย่างมากที่กล่าวว่า ชนชั้นแรงงานไม่ได้มีการดำรงอยู่อีกต่อไปนั้นกลายเป็นสิ่งที่ผิดความเป็นจริงไปอย่างมาก ในช่วงเวลาไม่นานมานี้กลุ่มชั้นของประชากรชนชั้นแรงงานที่มองว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลางนั้นถูกทำให้กลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งครู ข้าราชการพลเรือน ลูกจ้างธนาคาร ฯลฯ นั้นถูกลากลงมาอยู่ในชั้นเดียวกับชนชั้นแรงงานและขบวนการชนชั้นแรงงาน

ข้อโต้แย้งเก่าที่บอกว่าทุกๆคนนั้นสามารถประสบความสำเร็จได้ และพวกเราทุกคนต่างก็เป็นชนชั้นกลางนั้นถูกแสดงให้เห็นแล้วว่ามันผิดจากเหตุการณ์ที่เป็นจริง ในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ในช่วง 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมา มันเกิดเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับข้อโต้แย้งดังกล่าวขึ้น บรรดาชนชั้นกลางที่ควรจะคิดว่าความก้าวหน้าในชีวิตนั้นต้องเริ่มต้นจากศูนย์นั้น ไม่ได้คิดแบบดังกล่าวอีกต่อไป

ความมั่นคั่งในหน้าที่การงานนั้นได้หายไป การค้าขายและอาชีพเก่าแก่ได้หายไปจำนวนมาก และ การทำงานอาชีพเดียวตลอดชีวิตนั้นกลายเป็นเพียงความทรงจำ บันไดที่จะใช้ปีนป่ายเพื่อขยับตำแหน่งแห่งที่ทางชนชั้นนั้นถูกถีบออกไปจนหมดและสำหรับชนชั้นกลางจำนวนมากแล้วการดำรงอยู่ของพวกเขาไร้ซึ่งความทะเยอทะยานใดๆทั้งสิ้น คนกลุ่มน้อยนั้นอาจจะพอใจกับเงินบำนาญที่มากพอสำหรับการใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสุขสบาย หากแต่ผู้คนกลุ่มอื่นที่มีจำนวนมากนั้นกลับกำลังใช้ชีวิตอยู่แบบวันต่อวัน และมองไม่เห็นอนาคตของตนเอง

ถ้าหากจะมีทรัพย์สินใดที่ผู้คนถือครองไว้ ทรัพย์สินนั้นย่อมจะเป็นบ้านของพวกเขา หากแต่ในการหดตัวทางเศรษฐกิจนั้นราคาบ้านในหลายประเทศก็ตกลง และอาจจะคงสถานะแบบนี้ไปเป็นปี ความคิดแบบประชาธิปไตยที่มีระบบการถือครองทรัพย์สินนั้นถูกแสดงออกมาประหนึ่งภาพลวงตา บ้านนั้นไม่ได้กลายเป็นสินทรัพย์ที่จะช่วยเหลือกองทุนในชีวิตหลังบำนาญได้อีกต่อไป และการครอบครองบ้านนั้นกลายเป็นภาระอันหนักอึ้ง เงินจำนองบ้านนั้นยังคงต้องจ่ายไม่ว่าคุณจะมีงานทำหรือไม่ก็ตาม คนจำนวนมากนั้นติดอยู่กับกับดักของความเท่าเทียมเชิงลบ ติดอยู่กับหนี้สินขนาดมหึมาที่ไม่มีวันจ่ายหมด นี่คือยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาในฐานะขงสิ่งที่เราอาจจะเรียกได้ว่าพวกเรานั้นเป็น ทาสของระบบหนี้

นี่คือการลงโทษที่ร้ายแรงของระบบทุนนิยม อย่างไรก็ตามกระบวนการที่ทำให้คนกลายเป็นกรรมาชีพนี้ก็หมายความว่าขุมกำลังสำรองทางสังคมของกลุ่มปฏิกิริยานั้นได้ถูกลดทอนลงอย่างมากจากการที่แรงงานคอปกขาวนั้นถูกผลักดันให้ขยับเข้าไปใกล้จารีตของชนชั้นแรงงานมากขึ้น ในการเคลื่อนไหวมวลชนช่วงหลังนี้ กลุ่มแรงงานที่ไม่มีใครนึกฝันว่าจะเข้าร่วมการเดินขบวนหรือกระทั่งการเข้าร่วมสหภาพแรงงานอย่างเช่น กลุ่มครู และข้าราชการ นั้นต่างก็ได้โดดเข้ามาร่วมการต่อสู้ในแนวหน้าร่วมกับชนชั้นแรงงานในการต่อสู้ทางชนชั้น

 

จิตนิยม หรือ วัตถุนิยม?

มรรควิธีแบบจิตนิยมนั้นเป็นสิ่งที่กำเริดออกมาจากวิถีทางที่ผู้คนนั้นคิดและพูดเกี่ยวกับตัวเอง หากแต่มาร์กซ์อธิบายว่าความคิดดังกล่าวนั้นไม่ใช่สิ่งที่กำเนิดขึ้นมาเอง หากแต่มันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นจริงไม่มากก็น้อย สะท้อนถึงสภาวการณ์ทางภาวะวิสัย แรงกดดันทางสังคม และความขัดแย้งที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ และประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นผลลัพธ์จากเจตจำนงเสรีหรือความปรารถนาที่มีจิตสำนึกของ “มหาบุรุษ” อย่างกษัตริย์ นักการเมือง หรือ นักปรัชญา หากแต่ตรงกันข้าม ความก้าวหน้าของสังคมนั้นขึ้นอยู่กับพัฒนาการของกำลังการผลิต ซึ่งไม่ได้เกิดจากการวางแผนอย่างมีจิตสำนึก หากแต่เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นเบื้องหลังมนุษย์

มาร์กซ์นั้นเป็นผู้แรกที่นำเอาความคิดแบบสังคมนิยมมาจัดวางไว้บนรากฐานทางทฤษฎี ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์แบบเป็นวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถจะก่อร่างขึ้นบนรากฐานของมโนภาพอันบิดเบี้ยวของความเป็นจริงที่เลื่อนลอยเสมือนผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติในความคิดของมนุษย์ได้ หากแต่มันต้องวางรากฐานอยู่บนความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริง วิธีการดังกล่าวของมาร์กซ์นั้นเริ่มต้นด้วยการจำแนกความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบทางสังคมกับรูปแบบทางการเมืองและวิถีการผลิตของสังคมแต่ละช่วงในประวัติศาสตร์ออก และนี่เองคือสิ่งที่เราเรียกขานว่าเป็นมรรควิธีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม

ใครบางคนนั้นอาจจะรู้สึกไม่ชอบพอกับทฤษฎีแบบดังกล่าวที่กีดกันมนุษย์ออกไปจากบทบาทของตัวละครเอกในหน้าประวัติศาสตร์ ในทางเดียวกันนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับบรรดาศาสนจักรและนักปรัชญาที่สนับสนุนก็เคยโจมตีกาลิเลโอที่ประกาศว่าศูนย์กลางของระบบสุริยะนั้นคือดวงอาทิตย์ไม่ใช่โลก หรือหลังจากนั้นคือการที่พวกเขาโจมตีแนวคิดของดาวินที่เสนอว่ามนุษยชาตินั้นไม่ได้กำเนิดมาจากการสร้างสรรค์ของพระเจ้า หากแต่เป็นผลผลิตของกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ

อันที่จริงแล้วมาร์กซิสม์นั้นไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของกลไกทางอัตวิสัยในประวัติศาสตร์ หรือบทบาทอันมีจิตสำนึกของมนุษยชาติในพัฒนาการของสังคม มนุษย์นั้นเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หากแต่มันไม่ได้เกิดจากเจตจำนงเสรีหรือเจตนารมณ์ที่มีจิตสำนึกของพวกเขาทั้งหมด ในคำกล่าวของมาร์กซ์นั้นเขากล่าวว่า “ประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้ทำอะไรเลย” มัน “ไม่ได้ครอบครองความรุ่งเรืองใด” มัน “ไม่ได้ลงทุนใดในการต่อสู้” หากแต่เป็นมนุษย์ มนุษย์ที่มีชีวิตอย่างแท้จริงที่เป็นผู้กระทำสิ่งเหล่านั้นต่างหากที่เป็นผู้ครอบครองและต่อสู้ไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์” หากแต่ตัวมันนั้นเป็นอย่างที่มันเป็น คือเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แยกออกไป และหยิบใช้เอากำลังของมนุษย์เป็นวิธีการเพื่อบรรลุความประสงค์ของมัน ดังนั้นแล้วประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่สิ่งใดเลยนอกจากการกระทำของมนุษย์เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของตัวมนุษย์เอง” (Marx and Engels, The Holy Family, Chapter VI)

สิ่งที่มาร์กซิสม์พยายามทำทั้งหมดนั้นคือการอธิบายถึงบทบาทของปัจเจกบุคคลในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของสังคม ซึ่งอยู่ภายใต้กฎทางภาวะวิสัยที่แน่นอน และกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วปัจเจกบุคคลนั้นเป็นภาพแสดงตัวแทนของผลประโยชน์เฉพาะทางชนชั้น ความคิดนั้นไม่ได้มีการดำรงอยู่ที่เป็นอิสระ เช่นเดียวกับที่มันไม่ได้มีส่วนในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ มาร์กซ์กล่าวไว้ในงานเรื่อง อุดมการณ์เยอรมัน ว่า “ชีวิตนั้นไม่ได้ถูกกำหนดโดยจิตสำนึก หากแต่จิตสำนึกนั้นถูกกำหนดโดยชีวิต”

ความคิดและการกระทำของมนุษย์นั้นถูกวางเงื่อนไขโดยความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นพัฒนาการของสิ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงเชิงอัตวิสัยของมนุษย์ หากแต่วางตัวอยู่ร่วมกับกฎที่แน่นอนซึ่งในขันสุดท้ายแล้วสะท้อนถึงความต้องการในการพัฒนากำลังการผลิต ความสัมพันธ์ภายในระหว่างกลไกเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดเครือข่ายโยงใยอันซับซ้อนซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะมองเห็นได้ และการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมเหล่านี้คือรากฐานของทฤษฎีทางประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์

ยกตัวอย่างกรณีที่ชัดเจนกรณีหนึ่งเช่น ในห้วงเวลาของการปฏิวัติอังกฤษ Oliver Cromwell นั้นเชื่ออย่างรุนแรงว่าตัวเขากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิของปัจเจกบุคคลทุกคนที่จะได้สวดภาวนาต่อพระเจ้าที่พวกเขานับถือได้ หากแต่พัฒนาการทางสังคมที่เดินไปนั้นได้พิสูจน์แล้วว่าการปฏิวัติของครอมเวล (Cromwellian Revolution) นั้นเป็นจุดชี้ขาดของการก้าวขึ้นสู่อำนาจของชนชั้นกระฎุมพีอังกฤษ เพราะรูปธรรมของพัฒนาการในกำลังการผลิตของอังกฤษในศตวรรษที่ 17 นั้นย่อมจะไม่มีทางก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบอื่นได้

หรือในอีกกรณีหนึ่งคือการปฏิวัติฝรั่งเศสอันยิ่งใหญ่ในช่วงปี 1789-1793 ที่บรรดาผู้นำการปฏิวัตินั้นต่างต่อสู้ภายใต้การชูธงคำขวัญเรื่อง “เสรีภาพ ความเสมอภาค และ ภราดรภาพ” พวกเขาเชื่อว่าตัวเองนั้นกำลังต่อสู้เพื่อระบอบการปกครองที่วางตัวอยู่บนกฎหมายนิรันดรของความยุติธรรมและเหตุผล อย่างไรก็ตาม หากไม่พิจารณาถึงเจตนารมณ์และความคิดของพวกเขาแล้ว สิ่งที่กลุ่ม Jacobins ทำนั้นก็คือการเตรียมหนทางสำหรับระบอบการปกครองของชนชั้นกระฎุมพีในฝรั่งเศสนั่นเอง และจากมุมมองที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้วเราย่อมจะเห็นว่ามันไม่มีทางจะเกิดผลลัพธ์อื่นใดได้ภายใต้เงื่อนไขของพัฒนาการทางสังคมในยุคนั้น

จากจุดยืนของขบวนการแรงงานนั้น คุณูปการสำคัญของมาร์กซ์คือการที่มาร์กซ์เป็นผู้แรกที่อธิบายว่าความคิดสังคมนิยมนั้นไม่ใช่เพียงความคิดที่ดี หากแต่อธิบายว่ามันเป็นผลลัพธ์ของพัฒนาการทางสังคมที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ นักคิดสังคมนิยมก่อนหน้ามาร์กซ์ – บรรดานักสังคมนิยมเพ้อฝัน – ต่างก็พยายามที่จะค้นหากฎสากลและหลักการที่อาจจะเป็นการวางรากฐานให้เกิดชัยชนะของเหตุผลของมนุษย์เหนือความอยุติธรรมของระบบสังคมชนชั้น สิ่งที่พวกเขาทำนั้นมีเพียงแต่หนทางในการพยายามค้นหาความคิด และปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งนี่เป็นกระบวนการแบบจิตนิยม

มาร์กซ์นั้นแตกต่างจากพวกเพ้อฝัน เขาไม่เคยพยายามมองกฎของสังคมโดยทั่วไป หากแต่มาร์กซ์นั้นวิเคราะห์กฎของการเคลื่อนไหวของสังคมแบบเฉพาะเจาะจง นั่นคือสังคมทุนนิยม และอธิบายว่ามันกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร มันวิวัฒนาการตัวเองอย่างไร ตลอดจนทำไมตัวมันเองถึงจะต้องล่มสลายไปในช่วงเวลาหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมาร์กซ์ได้นำเสนอภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้เอาไว้ในงานเรื่องว่าด้วยทุนทั้งสามเล่มของเขา

 

มาร์กซ์ และ ดาวิน 

ชาร์ล ดาวิน นักวิทยาศาสตร์ผู้มีสัญชาติญาณแบบนักวัตถุนิยม ผู้อธิบายถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตว่าเป็นผลลัพธ์จากผลกระทบของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ คาร์ล มาร์กซ์อธิบายถึงพัฒนาการของมนุษยชาติจากพัฒนาการของสิ่งแวดล้อม “ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น” ที่เราเรียกว่าสังคม ทั้งสองแนวคิดนั้นเป็นเสมือนเส้นทางที่แตกต่างกัน ในทางหนึ่ง ลักษณะอันซับซ้อนอย่างมากของสังคมมนุษย์เมื่อเปรียบเทียบกับความเรียบง่ายของธรรมชาติ และถัดมาคือการเร่งจังหวะของการเปลี่ยนแปลงในสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการอันเชื่องช้าและยาวนานของการวิวัฒนาการจากการคัดสรรทางธรรมชาติ

บทรากฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิต – หรือในอีกคำหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นทางสังคม – นั้นมันก่อให้เกิดรูปแบบทางกฎหมายและการเมืองที่ซับซ้อนขึ้นพร้อมกับภาพสะท้อนของอุดมการณ์ วัฒนธรรม และศาสนาที่หลากหลาย โครงสร้างอันซับซ้อนทางความคิดและรูปแบบนี้ในบางเวลาได้ย้อนกลับไปถึงโครงสร้างส่วนบนของสังคม ที่แม้ว่ามันจะวางรากฐานอยู่บนรากฐานทางเศรษฐกิจ หากแต่โครงสร้างส่วนบนนี้ได้กำเนิดขึ้นเหนือรากฐานทางเศรษฐกิจและมีปฏิสัมพันธ์อยู่เหนือมัน และในบางครั้งโครงสร้างส่วนบนกลายเป็นตัวตัดสินด้วย ความสัมพันธ์เชิงวิภาษระหว่างโครงสร้างส่วนล่างและโครงสร้างส่วนบนนี้มีความซับซ้อนอย่างมากและไม่ได้มีลักษณะที่ชัดเจนตลอดเวลา หากแต่ในขั้นสุดท้ายแล้ว โครงสร้างส่วนล่างนั้นย่อมจะกลายไปเป็นกำลังตัดสินนำ

ความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินนั้นคือการแสดงออกทางกฎหมายของความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น ในขั้นแรกนั้นความสัมพันธ์นี้ – ร่วมด้วยการแสดงออกทางกฎหมายและการเมือง – ล้วนมีส่วนช่วยเหลือต่อพัฒนาการของกำลังการผลิต หากแต่พัฒนาการของกำลังการผลิตนั้นมีแนวโน้มที่จะไปถึงการต่อต้านขีดจำกัดที่ถูกนำเสนอขึ้นมาโดยความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินที่ดำรงอยู่ และความสัมพันธ์นั้นย่อมจะกลายไปเป็นอุปสรรคของการพัฒนากำลังการผลิต และในจุดนี้เองที่จะนำพาให้เราก้าวเข้าไปสู่ห้วงเวลาของการปฏิวัติ

นักจิตนิยมนั้นมองจิตสำนึกของมนุษย์ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของการกระทำทุกอย่างของมนุษย์ เป็นพลังขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์ หากแต่ประวัติศาสตร์ทั้งหมดนั้นได้พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง จิตสำนึกโดยทั่วไปของมนุษย์นั้นไม่ได้มีลักษณะก้าวหน้าหรือมีลักษณะปฏิวัติ จิตสำนึกของมนุษย์นั้นมีลักษณะการตอบสนองตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปได้เชื่องช้ามาก และมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง ผู้คนจำนวนมากนั้นจึงไม่นิยมชมชอบการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้วยการปฏิวัติ ความหวาดกลัวตามธรรมชาติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงนี้หยั่งรากลึกอยู่ในจิตสำนึกร่วมของผู้คน ยี่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกป้องกันตัวเองที่มีต้นกำเนิดมาจากจิตสำนึกในอดีตที่ผ่านมาอย่างยาวนานของมนุษยชาติ

ในเชิงกฎทั่วไปแล้ว เราสามารถจะกล่าวได้ว่าสังคมนั้นไม่เคยตัดสินที่จะพัฒนาตัวเองไปข้างหน้ายกเว้นมันถูกบีบบังคับให้ต้องทำภายใต้แรงกดดันของความจำเป็นอย่างถึงที่สุด ตราบเท่าที่มันเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความยุ่งเหยิงผ่านชีวิตบทรากฐานของความคิดเก่า ที่ปรับปรุงตัวเองให้เข้ากันได้กับความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ มนุษย์ก็ย่อมจะดำรงอยู่ภายใต้สังคมและเส้นทางแบบดังกล่าวต่อไป เช่นเดียวกับแรงเฉื่อยในเครื่องจักร บรรดาจารีตธรรมเนียม ความเคยชิน และกิจวัตรซ้ำซากนั้นได้ก่อให้เกิดตัวถ่วงอันหนึกอึ้งขึ้นบนจิตสำนึกของมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าความคิดทั้งหลายนั้นมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตามหลังปรากฏการณ์ มันจึงจำเป็นจะต้องใช้แรงทุบขนาดใหญ่จากปรากฏการณ์ใหญ่เพื่อจะเอาชนะความเฉื่อยชานี้และทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามต่อสังคมที่ดำรงอยู่ รวมถึงตั้งคำถามต่อความคิดและคุณค่าของสังคมด้วย

สิ่งที่การปฏิวัติทั้งหลายแสดงให้เราเห็นนั้นคือความเป็นจริงที่ว่าความขัดแย้งทางสังคมที่พรั่งพรูออกมาจากความขัดแย้งระหว่างพัฒนาการทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมที่ดำรงอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจทนทานได้อีกต่อไป ซึ่งความขัดแย้งใจกลางนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยวิถีทางเดียวนั่นคือการโค่นล้มระเบียบสังคมที่ดำรงอยู่อย่างถอนรากถอนโคน และสถาปนาความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ที่จะทำให้โครงสร้างส่วนล่างนั้นสามารถดำเนินไปร่วมกับโครงสร้างส่วนบนได้เท่านั้น

ในการปฏิวัติที่โครงสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจนั้นจะต้องพบกับการเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรงแล้ว มันย่อมจะทำให้โครงสร้างส่วนบนทางกฎหมายและการเมืองนั้นย่อมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในแต่ละกรณี ความสัมพันธ์ทางการผลิตใหม่ที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้นนั้นมักจะก่อร่างขึ้นภายในหน่ออ่อนที่ดำรงอยู่ในสังคมเก่านั้นเอง ซึ่งจะนำเสนอความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบสังคมใหม่

 

วัตถุนิยมประวัติศาสตร์

มาร์กซิสม์นั้นได้วิเคราะห์ถึงกำลังสำคัญที่ซ่อนตัวอยู่ภายหลังพัฒนาการของสังคมมนุษย์ ตั้งแต่การพัฒนาจากสังคมชนเผ่ายุคแรกมาจนกระทั่งถึงสังคมสมัยใหม่ในปัจจุบัน และหนทางที่มาร์กซิสม์ใช้ในการติดตามร่องรอยของถนนที่คดเคี้ยวเส้นนี้นั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่ามโนทัศน์แบบวัตถุนิยมต่อประวัติศาสตร์ มรรควิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์นี้ได้เปิดโอกาสให้เราสามารถทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องราวต่อเนื่องที่ไม่ได้เชื่อมโยงต่อกันและเป็นเรื่องราวของอุบัติการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน หากแต่มันเป็นความเข้าใจอย่างชัดเจนต่อประวัติศาสตร์ในฐานะที่มันเป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน ประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องราวต่อเนื่องของการกระทำและปฏิกิริยาซึ่งปกคลุมเหนือการเมือง เศรษฐกิจและลำดับขั้นทั้งหมดของพัฒนาการทางสังคม และภารกิจในการจะตีแผ่ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงวิภาษที่ซับซ้อนระหว่างปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้นั้นคือภารกิจของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

นักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษนาม Edward Gibbon ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Decline and Fall of the Roman Empire ได้เขียนเอาไว้ว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็น “สิ่งที่เล็กน้อยยิ่งกว่าการจดบันทึกอาชญากรรม ความโง่เขลา และเรื่องเคราะห์ร้ายของมนุษยชาติ” (Gibbon, The Decline and Fall of the Roman Empire, vol. 1, p. 69) โดยทั่วไปแล้วการตีความประวัติศาสตร์แบบหลังสมัยใหม่นั้นไม่ได้เป็นการตีความที่ก้าวหน้าไปกว่าเดิมเลยแม้แต่น้อย ประวัติศาสตร์นั้นถูกมองในฐานะของเส้นเรื่องยาวของ “เรื่องเล่า” ที่ไม่เชื่อมโยงต่อกัน และไม่มีความเชื่อมโยงอินทรีย์และไม่มีความหมายหรือตรรกะภายในตัวเอง ไม่มีระบบเศรษฐกิจไหนที่สามารถจะกล่าวได้ว่าดีกว่าหรือแย่กว่าระบบอื่นๆ และดังนั้นแล้วมันย่อมไม่สามารถเกิดการตั้งคำถามต่อความก้าวหน้าหรือความเสื่อมถอยได้

ประวัติศาสตร์จึงปรากฏออกมาในที่นี้ในฐานะของสิ่งที่ไม่มีความหมายโดยแท้จริง และเป็นสิ่งลี้ลับของอุบัติการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม มันไม่ได้ถูกปกครองเอาไว้โดยกฎที่เราจะสามารถทำความเข้าใจได้ และการพยายามที่จะทำความเข้าใจมันนั้นย่อมจะกลายเป็นการกระทำที่ไร้ค่า บรรดาความแปรปรวนของหัวข้อการอภิปรายแบบดังกล่าวนี้คือความคิดที่กลายเป็นความคิดยอดนิยมในแวดวงวิชาการในปัจจุบัน ที่กล่าวว่ามันไม่มีสิ่งใดที่เหนือกว่าหรือต่ำกว่าในรูปแบบของพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม พวกเขากล่าวอ้างว่ามันไม่มีสิ่งใดที่เรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้า ซึ่งพวกเขาพิจารณาว่ามันเป็นเพียงความคิดยุคเก่าที่ตกค้างมาจากศตวรรษที่ 19 เมื่อมันถูกทำให้โด่งดังขึ้นมาโดยกลุ่มเสรีนิยมวิคตอเรียน กลุ่มนักสังคมนิยมเฟเบียน และ – คาร์ล มาร์กซ์

การปฏิเสธความก้าวหน้าในประวัติศาสตร์นี้เป็นลักษณะสำคัญของจิตวิทยาของกระฎุมพีในห้วงเวลาของการถดถอยลงของระบบทุนนิยม นี่คือภาพสะท้อนอย่างตรงไปตรงมาของข้อเท็จจริงที่ว่า ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นความก้าวหน้าได้ไปถึงขีดจำกัดของระบบทุนนิยมแล้ว และมันย่อมจะก่อให้เกิดความถดถอยต่อระบบทุนนิยม ชนชั้นกระฎุมพีและปัญญาชนตัวแทนของชนชั้นนั้นโดยธรรมชาติแล้วย่อมไม่ปรารถนาที่จะยอมรับต่อข้อเท็จจริงนี้ ยิ่งไปกว่านั้นคือพวกเขาไม่สามารถกระทั่งจะตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ได้

ตราบเท่าที่ความคิดนี้ยังคงจมอยู่ภายในจิตสำนึกที่มันสามารถจะนำไปสู่ปริมณฑลที่ปราศจากการวิวัฒนาการของมนุษย์ แม้ว่ามันจะมีนักคิดผู้ชาญฉลาดอย่าง Stephen Jay Gould ผู้เขียนทฤษฎีเรื่อง punctuated equilibrium ซึ่งได้เปลี่ยนผ่านความรับรู้เรื่องวิวัฒนาการของเราไป โดยเสนอว่ามันเป็นเรื่องผิดที่เราจะพูดถึงความก้าวหน้าจากสิ่งที่ต่ำกว่าไปสู่สิ่งที่สูงกว่าในวิวัฒนาการ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจุลินทรีย์ย่อมจะสามารถวิวัฒนาการขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับมนุษย์ได้ ในแง่หนึ่งนั้นมันเรื่องที่ถูกต้องที่ว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้นมีความสัมพันธ์กัน (จีโนมของมนุษย์นั้นเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้) มนุษยชาตินั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากอำนาจของพระเจ้าหากแต่เป็นผลผลิตจากการวิวัฒนาการ หากแต่มันจะเป็นเรื่องถูกหรือไม่ที่จะมองวิวัฒนาการว่าเป็นเสมือนการออกแบบที่ยิ่งใหญ่ ที่จงใจจะสร้างสิ่งมีชีวิตในลักษณะต่างๆขึ้นมาตั้งแต่แรก ไม่ว่าอย่างไรก็ตามในการจะต่อต้านหรือปฏิเสธความคิดที่ผิลพลาดนั้นมันไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปสู่ข้อเสนอที่สุดขั้วในอีกฝั่งหนึ่งซึ่งจะเป็นการนำเราไปสู่ความผิดพลาดอื่นๆ

นี่ไม่ใช่การตั้งคำถามถึงการยอมรับการสร้างสรรค์ดลบันดาลใดๆที่สัมพันธ์ต่อการแทรกแซงของพระเจ้าหรือหลักการยึดจุดมุ่งหมายเป็นหลัก หากแต่มันเป็นเรื่องชัดเจนว่ากฎของการวิวัฒนาการซึ่งอยู่ภายในธรรมชาตินั้นเป็นข้อเท็จจริงในการกำหนดพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และสิ่งมีชีวิตยุคแรกนั้นก็ได้บรรจุเอาหน่ออ่อนของพัฒนาการอื่นๆในอนาคตเอาไว้ เราสามารถที่จะอธิบายถึงพัฒนาการของอวัยวะต่างๆขอมนุษย์ได้โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงถึงอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ และในตำแหน่งที่แน่นอนนั้นเราก็ได้เข้าถึงดารพัฒนาระบบประสาทส่วนกลางและสมอง ในท้ายที่สุดด้วยรูปแบบของมนุษย์โฮโมชาเปียนเราก็ได้เข้าถึงลักษณะของความเป็นมนุษย์ วัตถุได้กลายไปเป็นจิตสำนึกด้วยตัวมันเอง

และเพื่อจะตอบแทนต่อบรรดานักคิดของเรา เราควรจะเพิ่มเติมมุมมองของเราเข้าไปอีก แน่นอนว่าหากจุลินทรีย์นั้นมีมุมมองของตัวเอง มันย่อมจะสามารถแสดงความคัดค้านอย่างถึงที่สุดออกมาแน่ หากแต่เราเป็นมนุษย์และเราต้องมองมันผ่านสายตาแบบมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเราก็ต้องยืนยันว่าวิวัฒนาการนั้นตามข้อเท็จจริงแล้ววิวัฒนาการไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวให้กลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นทั้งหมด – กล่าวในอีกทางหนึ่งคือการพัฒนาจากระดับต่ำไปสู่ระดับที่สูงขึ้น

 

พลังขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์

ในงานเรื่อง The Critique of Political Economy มาร์กซ์ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างกำลังการผลิตและ “โครงสร้างส่วนบน” เอาไว้ดังต่อไปนี้

“ในการผลิตทางสังคมซึ่งมนุษย์ได้แบกรับเอาไว้นั้นได้พาตัวเองเข้าไปสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นอนอันเป็นสิ่งซึ่งเป็นอิสระและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเจตจำนงของพวกเขา ความสัมพันธ์ทางการผลิตนี้สอดคล้องอยู่กับลำดับขั้นของพัฒนาการที่แน่นอนของพลังทางการผลิตเชิงวัตถุของตัวมนุษย์เอง ... นั่นคือวิถีการผลิตในชีวิตเชิงวัตถุจะกำหนดลักษณะโดยทั่วไปของสังคม, การเมือง และกระบวนการระดับจิตวิญญาณของชีวิตมนุษย์ ดังนั้นจิตสำนึกของมนุษย์จึงไม่ใช่สิ่งที่กำหนดการดำรงอยู่ของมนุษย์ หากแต่ในทางตรงกันข้าม การดำรงอยู่ทางสังคมของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่กำหนดจิตสำนึกของมนุษย์”

ดังที่มาร์กซ์และเองเกลได้ชี้ให้เราเห็นนี้ บรรดาผู้ที่มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ (มนุษย์ทุกคน – ผู้แปล) นั้นย่อมจะไม่ได้ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าอะไร หรือพลังอะไรที่เป็นแรงขับดันของพวกเขาในการกระทำต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งนั้นมนุษย์พยายามจะหาเหตุผลต่างๆนานามาเพื่อสนับสนุนการกระทำของตนเองในวิถีทางที่แตกต่างกันไป หากแต่บรรดาการกระทำทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่ดำรงอยู่และมีรากฐานมาจากโลกที่เป็นจริง

เช่นเดียวกันกับที่ชาร์ล ดาวินได้อธิบายว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ และสิ่งมีชีวิตต่างๆนั้นล้วนแล้วแต่ผ่านกระบวนการในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่พวกมันย่อมจะสามารถเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการได้ ดังนั้นแล้วมาร์กซ์และเองเกลจึงอธิบายว่าระบบสังคมหนี่งๆนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่คงทนถาวรไปได้ตลอดกาล ในทุกๆระบบสังคมนั้นย่อมจะสร้างความเชื่อว่าตัวระบบที่เป็นอยู่นี้คือภาพแสดงตัวแทนของรูปแบบทางสังคมแบบเดียวที่เป็นไปได้สำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งหมายถึงว่าสถาบันของระบบ ศาสนา คุณธรรมของสังคมที่เราอาศัยอยู่นี้คือโลกใบสุดท้ายที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้อีกแล้ว แน่นอนว่านี่เป็นภาพมายาของทุกยุคทุกสมัย

วิธีคิดแบบดังกล่าวที่เรายกมาด้านบนนี้คือวิธีคิดที่กลุ่มชนเผ่ากินคน, นักบวชอียิปต์โบราณ, พระนางมารี อองตัวเนต และซาร์นิโคลัส นั้นเชื่อถืออย่างถึงที่สุด และขณะเดียวกันมันก็เป็นสิ่งที่บรรดาชนชั้นกระฎุมพีและบรรดาผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมพยายามบอกและยืนยันกับเราอยู่ตลอดเวลา คือการประกาศขึ้นมาอย่างชัดเจนว่า ระบบที่เราเรียกกันว่า “บริษัทอิสระ” (ตลาดเสรี-ทุนนิยม – ผู้แปล) นั้นคือระบบสังคมเดียวที่เป็นไปได้ – แม้กระทั่งในห้วงเวลาที่ระบบนี้กำลังพังทลายลงพวกเขาก็ยังยืนยันเช่นเดิมนี้

ในปัจจุบันนี้ความคิดเรื่อง “วิวัฒนาการ” นั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้รับการยมรับในหมู่คนที่ได้รับการศึกษา ซึ่งความคิดเรื่องวิวัฒนาการของดาวินนั้นนับว่าเป็นความคิดที่มีลักษณะปฏิวัติอย่างมากในยุคสมัยของเขา ซึ่งได้รับการยอมรอบในฐานะของความคิดที่เกือบจะเป็นความคิดแบบตัตวศาสตร์ (truism) อย่างไรก็ตามวิวัฒนาการนั้นถูกทำความเข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึงกระบวนการที่เชื่องช้าและเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยปราศจากการขาดช่วงหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ซึ่งในทางการเมืองนั้นความเข้าใจแบบดังกล่าวถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้งเพื่อสนับสนุนความคิดของกลุ่มปฏิรูปนิยม (reformism) ซึ่งเป็นเรื่องโชคร้ายอย่างยิ่งเพราะมันจัดวางตัวเองอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ผิดไปอย่างมาก

กลไกที่แท้จริงของการวิวัฒนาการนั้นยังคงเป็นความลับกระทั่งในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างมากที่กระทั่งตัวดาวินเองนั้นก็ยังไม่เข้าใจเรื่องการวิวัฒนาการนี้ หากแต่ในช่วงทศวรรษล่าสุดหรือใกล้เคียงนี้เองที่มีการเสนอการค้นพบใหม่ทางวิชาว่าด้วยสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ ที่นำเสนอโดย Stephen J. Gould เขาได้เสนอการค้นพบทฤษฎีของการเว้นวรรคทางสมดุล (theory of punctuated equilibria) ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่าวิวัฒนาการนั้นไม่ใช่กระบวนการที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เขาค้นพบว่ามันมีห้วงเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทางด้านวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเลย หากแต่ในห้วงเวลาหนึ่งที่แน่นอน เส้นทางของการวิวัฒนาการนี้ก็แตกออกด้วยการระเบิดครั้งใหญ่ กลายเป็นการปฏิวัติทางชีววิทยาที่ถูกกำหนดลักษณะโดยการสูญพันธุ์ลงของสิ่งมีชีวิตบางสปีชีส์และการเจริญรุดหน้าของสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นๆ

ความคล้ายคลึงกันระหว่างสังคมและธรรมชาติที่เรานำเสนอขึ้นมานี้แน่นอนว่าเป็นเพียงการเปรียบเทียบอย่างผิวเผิน หากแต่เพียงแค่การยกตัวอย่างอย่างผิวเผินในประวัติศาสตร์ขึ้นมานั้นก็เพียงพอแล้วที่จะแสดงให้เห็นว่าคำอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้าของนักปฏิรูปนั้นเป็นสิ่งที่ผิด สังคมนั้นก็เหมือนเช่นธรรมชาติมันย่อมจะมีช่วงเวลาอันยาวนานที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้าและค่อยเป็นค่อยไป หากแต่ตัวมันเองก็ประสบกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน – นั่นคือช่วงเวลาของสงคราม และการปฏิวัติ อันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เส้นทางของการพัฒนาทางสังคมนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด และเหตุผลรากฐานของการปฏิวัตินั้นก็คือความจริงที่ว่าระบบเศรษฐกิจ-สังคมใดๆก็ตามที่มีอยู่นั้นได้ดำเนินไปถึงขีดจำกัดของตัวมันเองแล้วและไม่สามารถจะก่อให้เกิดการพัฒนากำลังการผลิตได้อีกต่อไปเหมือนเช่นแต่ก่อน

 

มุมมองแบบพลวัตต่อประวัติศาสตร์

บรรดาผู้ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของกฎใดๆก็ตามที่ปกครองเหนือพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์นั้นย่อมจะมองประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองแบบอัตวิสัย และจุดยืนแบบศีลธรรม อย่างเช่น Gibbon ที่ต่างก็หัวหมุนอยู่กับปรากฏการณ์ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของความรุนแรงที่ไม่มีเหตุผล ความไร้มนุษยธรรมของมนุษย์ที่กระทำต่อมนุษย์คนอื่น และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย หากแต่ในมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ที่มีต่อประวัติศาสตร์ไม่ว่าอย่างไรก็ตามสิ่งที่เราต้องการนั้นไม่ใช่คำพร่ำสอนของบรรดานักบวชหากแต่เป็นมุมมองแบบเหตุผล ที่อยู่เหนือขึ้นไปและล้ำหน้ากว่าข้อเท็จจริงแยก มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องมองเห็นแนวโน้มทั้งประวัติศาสตร์ทั้งหมดในมุมกว้าง การมองและสังเกตการเปลี่ยนของระบบสังคมแบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้เรามองเห็นพลังขับเคลื่อนขั้นพื้นฐานที่ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนผ่านนี้

ด้วยการประยุกต์เอามรรควิธีแบบวัตถุนิยมวิภาษวิธีมาใช้กับประวัติศาสตร์นั้น มันย่อมจะทำให้เรามองเห็นได้อย่างชัดเจนแทบจะทันทีว่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นมีกฎบ่างอย่างของตัวมันเองอยู่ และด้วยเหตุนี้เองเราอาจจะสรุปได้ว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถจะทำความเข้าใจต่อมันได้ในฐานะของสิ่งที่เป็นกระบวนการอันต่อเนื่อง การอุบัติขึ้นและการล่มสลายของการก่อรูประบบเศรษฐกิจ-สังคมที่แตกต่างกันสามารถอธิบายได้ด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าระบบนั้นๆมีความสามารถหรือไม่มีความสามารถที่จะพัฒนาปัจจัยการผลิต และขยายขอบฟ้าของวัฒนธรรมมนุษย์ให้สูงขึ้น รวมถึงขยายความสามารถของมนุษย์ในการมีอำนาจเหนือธรรมชาติได้หรือไม่

ผู้คนจำนวนมากนั้นเชื่อว่าสังคมนั้นเป็นสิ่งที่คงที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง และคุณค่าทางศีลธรรม ศาสนาและอุดมการณ์ของสังคมนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งกลายมาเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ธรรมชาติของมนุษย์” หากแต่ถ้าเราพิจารณาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสักนิดเราจะเห็นว่าความคิดดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ประวัติศาสตร์นั้นประกาศและแสดงตัวมันเองออกมาในฐานะของกระบวนการของการอุบัติขึ้นและการล่มสลายลงของระบบเศรษฐกิจ-สังคมที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับปัจเจกบุคคลโดยทั่วไป สังคมย่อมมีการเกิด พัฒนา ไปถึงข้อจำกัดของตัวมันเอง และเข้าสู่ระยะของการเสื่อมถอยและในท้ายที่สุดแล้วย่อมจะถูกเข้าแทนที่ด้วยการก่อตัวทางสังคมใหม่

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความสามารถในการดำรงอยู่ของระบบเศรษฐกิจ-สังคมใดๆก็ตามนั้นถูกกำหนดเอาไว้ด้วยความสามารถของตัวระบบในการพัฒนากำลังการผลิต ดังนั้นแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจึงจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนากำลังการผลิต ส่วนกลไกอื่นๆอันประกอบด้วย ศาสนา, การเมือง, ปรัชญา, ศีลธรรม, จิตวิทยาหรือจิตสำนึกที่แตกต่างกันของชนชั้นที่แตกต่างกัน และ คุณภาพเชิงปัจเจกบุคคลของบรรดาผู้นำ นั้นย่อมจะต้องถูกนำเข้าสู่สมการที่ซับซ้อน หากแต่สิ่งต่างๆที่เรากล่าวมานี้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ตกลงมาจากฟ้า และการวิเคราะห์อย่างรอบคอบนั้นจะแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆล้วนแล้วแต่ถูกกำหนด – ในวิถีทางแบบความขัดแย้งและวิถีทางแบบวิภาษวิธี – โดยสภาพแวดล้อมประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง และโดยแนวโน้มและกระบวนการที่เป็นอิสระของเจตจำนงของมนุษย์

มุมมองทางสังคมที่ว่าพัฒนาการทางสังคมนั้นเป็นเส้นกราฟที่พุ่งตรงขึ้นอย่างสม่ำเสมอในการพัฒนาปัจจัยการผลิตและขยับขยายเพดานความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างมากกับความคิดในระดับจิตของสังคมที่อยู่ในช่วงของการหยุดการพัฒนาและช่วงเวลาของการเสื่อมถอย บริบททั่วไปทางประวัติศาสตร์นั้นคือตัวกำหนดทุกสิ่ง มันส่งผลกระทบต่อสภาพทั่วไปของศีลธรรมที่แพร่หลาย ส่งผลต่อทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อสถาบันทางการเมืองและศาสนาที่ดำรงอยู่ และมันยังส่งผลต่อกระทั่งภาพลักษณ์และคุณภาพของผู้นำทางการเมืองระดับปัจเจกบุคคลด้วย

ระบบทุนนิยมในช่วงแรกเริ่มนั้นมีขีดความสามารถที่สูงส่งอย่างมาก มันได้ก่อให้เกิดการพัฒนากำลังการผลิตให้ก้าวหน้าไปอย่างยากจะหาที่เปรียบได้ และทำให้ตัวมันเองนั้นสามารถนำพามนุษย์ไปสู่ความก้าวหน้าทางอารยธรรมที่สูงขึ้นได้ ผู้คนนั้นย่อมจะรู้สึกว่าสังคมนั้นก้าวหน้าขึ้น แม้ว่าตัวระบบที่เป็นอยู่นั้นจะมีลักษณะของความอยุติธรรมและการขูดรีดอยู่ก็ตาม ความรู้สึกแบบดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดคติการมองโลกในแง่ดีขึ้น และกลายไปเป็นรากฐานความคิดของกลุ่มเสรีนิยมเก่า ที่มีวิธีคิดว่าปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ดีกว่าอดีต และอนาคตอันใกล้ที่จะมาถึงนี้ย่อมจะเป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่าปัจจุบัน

ซึ่งวิธีคิดแบบดังกล่าวนั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป ความคิดมองโลกแง่ดีแบบเก่าและความศรัทธาอย่างหน้ามืดตามัวนั้นมันถูกพิสูจน์และถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกไม่พอใจอย่างลึกซึ้งต่อปัจจุบันและการมองโลกในแง่ลบที่มีต่ออนาคต นี่คือการแพร่กระจายออกไปของความรู้สึกหวาดกลัวและความไม่มั่นคงอันเป็นภาพสะท้อนทางจิตวิทยาที่ชัดเจนว่าระบบทุนนิยมนั้นไม่สามารถที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญหรือรับบทบาทสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าใดๆได้อีกต่อไป

ในช่วงศตวรรษที่ 19 แนวคิดเสรีนิยม อันเป็นอุดมการณ์หลักของชนชั้นกระฎุมพีนั้นยึดรากฐานและยืนหยัด (ในทางทฤษฎี) เพื่อความก้าวหน้าและระบบประชาธิปไตย หากแต่เสรีนิยมใหม่ในโลกสมัยใหม่นั้นเป็นเพียงหน้ากากที่ปกปิดความจริงอันน่าเกลียดของการขูดรีดอย่างละโมบที่รุนแรงที่สุด นั่นคือการทำร้ายทารุณโลกทั้งใบ การบ่อนทำลายสภาพแวดล้อมโดยไม่มีการคำนึกถึงชีวิตของลูกหลานในอนาคตแม้แต่น้อย สิ่งเดียวที่บรรดาผู้บริหารบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ปกครองที่แท้จริงของสหรัฐอเมริกาและโลกทั้งใบคำนึงถึงก็คือการทำให้ตัวเองร่ำรวยยิ่งขึ้นผ่านการล้นชิงคนทั้งโลก ด้วยวิธีการซื้อกิจการ, คอร์รัปชั่น, การปล้นชิงทรัพย์สินสาธารณะด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, ใช้วิธีการทำนาบนหลังคน ซึ่งนี่ล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะเอกลักษณ์ของชนชั้นกระฎุมพีในห้วงสมัยแห่งการถดถอยของระบบทุนนิยม

 

การอุบัติและการล่มสลายของสังคม

“การเปลี่ยนผ่านระบบทางสังคมจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบนั้นย่อมจะถูกกำหนดโดยความเติบโตของกำลังการผลิตอยู่เสมอ กล่าวคือ ความเติบโตของกระบวนการและองค์การของชนชั้นแรงงาน จนกระทั่งไปถึงจุดหนึ่งที่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งมีลักษณะเชิงปริมาณในเชิงลักษณะและจะไม่เกิดความผันผวนในระดับรากฐานของสังคม กล่าวคือ รูปแบบที่แพร่หลายของระบบการถือครองทรัพย์สิน หากแต่จุดดังกล่าวนั้นจะไปถึงขีดสุดเมื่อพัฒนาการของกลังการผลิตนั้นพัฒนาไปไกลจนไม่สามารถจะจำกัดตัวเองอยู่ภายในรูปแบบการถือครองทรัพย์สนแบบเก่าได้อีกต่อไป เมื่อนั้นแล้วมันย่อมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในระเบียบทางสังคม พร้อมด้วยการปะทะกันอย่างรุนแรง” (Leon Trotsky, Marxism in Our Time, April 1939.)

การให้เหตุผลโต้แย้งร่วมที่ใช้ต่อต้านระบบสังคมนิยมนั้นคือการเสนอว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์นั้นมีลักษณะที่เห็นแก่ตัวและละโมบโลภมากอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ไม่ได้มีลักษณะเช่นนั้นเลยในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากมายอันเนื่องมาจากวิวัฒนาการของมนุษย์ ในขณะที่มนุษย์นั้นใช้กำลังแรงงานเปลี่ยนแปลงธรรมชาติรอบกายนั้นในขณะเดียวกันมันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวมนุษย์เองด้วย เช่นเดียวกันกับการให้เหตุผลว่ามนุษย์นั้นมีลักษณะเห็นแก่ตัวและโลภมากโดยธรรมชาติ ก็เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์หักล้างได้ด้วยข้อเท็จจริงของวิวัฒนาการของมนุษย์

บรรพบุรุษยุคแรกของมนุษย์เรา กลุ่มบรรพบุรุษที่อยู่ระหว่างการวิวัฒนาการและยังไม่นับว่าเป็นมนุษย์เต็มที่นั้นถือว่ามีรูปร่างที่เล็กกว่าและมีความสามารถเชิงกายภาพที่อ่อนแอมากเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นในยุคเดียวกัน พวกเขาล้วนไม่มีกรงเล็บหรือเขี้ยวที่แข็งแกร่ง การยืนสองขาของพวกเขานั้นหมายความว่าพวกเขาย่อมจะไม่สามารถวิ่งได้เร็วพอที่จะจับสัตว์สี่เท้าอย่างเช่น กวาง หรือละมั่ง ที่พวกเขาต้องการจะกินได้ ขนาดของสมองของพวกเขาก็มีขนาดเกือบจะเท่ากับสมองของลิงชิมแพนซี และหากนำเอาไปเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ทุ่งซาวันนาของแอฟริกาตะวันออกแล้วจะเห็นว่าพวกเขามีข้อเสียเปรียบต่อสัตว์อื่นๆมากที่สุด – ยกเว้นแต่เพียงข้อเดียวที่เป็นข้อได้เปรียบของพวกเขา

เองเกลนั้นได้เขียนอธิบายเอาไว้ในบทความของเขาเรื่อง Labour in the Transition of Ape to Man โดยอธิบายว่าการยืนตรงของบรรพบุรุษของมนุษย์นั้นทำให้แขนของพวกเขากลายเป็นอิสระได้อย่างไร และพัฒนาการของขาหน้ามาเป็นแขนนี้ก็ทำให้เกิดวิวัฒนาการที่พวกเขาสามารถจะปีนต้นไม้ได้ หรือใช้แขนและมือเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ การผลิตเครื่องมือจากหินนั้นแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในเชิงคุณภาพอย่างก้าวกระโดดที่ทำให้บรรพบุรุษของเราเกิดความก้าวหน้าทางวิวัฒนาการ หากแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือลักษณะของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนอย่างแข็งขันของบรรพบุรุษของเรา ที่มีลักษณะการทำการผลิตและใช้วิถีชีวิตร่วมกันซึ่งในทางเดียวกันนั้นลักษณะแบบดังกล่าวนี้เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดต่อการก่อให้เกิดการพัฒนาระบบภาษาขึ้น

ทารกแรกเกิดของบรรพบุรุษของเรานั้นมีความอ่อนแออย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับทารกแรกเกิดของสัตว์ชนิดอื่นๆในยุคเดียวกัน ในขณะที่บรรพบุรุษของเรานั้นดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์และการเก็บผลไม้กินที่ทำให้พวกเขาต้องย้ายถิ่นฐานพักอาศัยไปเรื่อยๆเพื่อหาอาหาร ดังนั้นแล้วพวกเขาจึงจำเป็นจะต้องพัฒนาความร่วมมือร่วมใจกันอย่างมาในชุมชนเพื่อปกป้องทารกหรือเด็กๆที่อ่อนแอและเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าชนเผ่าหรือชุมชนของพวกเขานั้นจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ดังนั้นเราจึงสามารถที่จะพูดอย่างชัดเจนที่สุดว่าหากไม่มีความร่วมมือกันและความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างถึงที่สุดแล้ว สายพันธุ์ของมนุษย์เรานั้นคงจะสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ก่อนที่มนุษย์เราจะถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีก

ลักษณะแบบดังกล่าวนั้นยังเป็นสิ่งที่เห็นได้อยู่กระทั่งในปัจจุบัน ในกรณีที่เกิดมีเด็กสักคนกำลังจมน้ำอยู่ ผู้คนจำนวนมากนั้นย่อมจะช่วยกันพยายามช่วยเหลือชีวิตของเด็กคนนั้นกระทั่งย่อมเสี่ยงชีวิตของตนเองเพื่อช่วยเด็กที่จมน้ำ และมีคนจำนวนมากที่ยอมโดดลงไปในแม่น้ำนั้นเพียงเพื่อจะช่วยชีวิตเด็ก ซึ่งนี่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการคำนวณบนรากฐานของความเห็นแก่ตัว หรือกระทั่งอธิบายด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ทางสายเลือดของครอบครัว ผู้คนที่พยายามช่วยเหลือเด็กนั้นอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าคนที่เขากำลังจะช่วยเป็นใคร หรือพวกเขาไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะได้รับรางวัลอะไรตอบแทนจากการทำเช่นนั้น พฤติกรรมที่กระทำไปด้วยความเห็นใจต่อผู้อื่นนี้เป็นลักษณะโดยธรรมชาติและมีที่มาจากสัญชาตญาณเรื่องความสมัครสมานสามัคคีที่หยั่งรากลึกอยู่ในจิตใจของมนุษย์ การให้เหตุผลอธิบายว่ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวโดยธรรมชาติจึงเป็นเพียงภาพสะท้อนของความน่ารังเกียจและสภาวะความแปลกแยกที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของสังคมทุนนิยม อันเป็นการป้ายสีความเลวทรามให้แก่มนุษยชาติทั้งมวล

 ห้วงเวลาอันเวิ้งว้างยาวนานในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของเผ่าพันธุ์ของเรานั้น บรรดาผู้คนต่างก็อาศัยในสังคมที่ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในความหมายแบบสมัยใหม่นั้นไม่มีอยู่ มันเป็นระบบสังคมที่ไม่มีระบบเงินตรา ไม่มีนายจ้าง ไม่มีชนชั้นแรงงาน ไม่มีนายธนาคารและเจ้าที่ดิน ไม่มีระบบรัฐ ไม่มีองค์กรทางศาสนา ไม่มีตำรวจและไม่มีนักโทษ กระทั่งระบบครอบครัวแบบที่เราเข้าใจกันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้นก็ยังไม่มีอยู่ในยุคนั้น ในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากนั้นพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นโลกที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ พวกเขามองว่าการจะเข้าถึงสภาวะธรรมชาตินั้นมีเพียงวิธีการเดียวคือการออกบวช หากแต่บรรพบุรุษของเรานั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ค่อนข้างดีโดยไม่มีสถาบันทางสังคมต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น

การเปลี่ยนผ่านจากสังคมบุพกาลที่อาศัยการล่าสัตว์สะสมอาหารมาเป็นการลงหลักปักฐานเพื่อทำการเพาะปลูกและการปศุสัตว์นั้นได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติสังคมครั้งใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งนักโบราณคดี (และนักมาร์กซิสต์) ชาวออสเตรเลียนาม Gordon Childe ได้เรียกมันว่า Neolithic Revolution และเนื่องด้วยสังคมการเกษตรนั้นจำเป็นต้องใช้น้ำในการเพาะปลูก มันจึงก่อให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นไปในด้านการสร้างนวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการน้ำที่เป็นปัจจัยสำหรับการผลิต เช่น การสร้างระบบชลประทาน การขุดบ่อเก็บน้ำ การสร้างเขื่อน และการกระจายน้ำในระดับกว้าง ซึ่งเป็นภารกิจทางสังคมในยุคนั้น

ระบบชลประทานขนาดใหญ่นั้นจำเป็นต้องมีการจัดการในระดับกว้าง มันจำเป็นจะต้องมีการใช้แรงงานจำนวนมากเพื่อปฏิบัติงานพร้อมกับการจัดการและวินัยการบริหารระดับสูง ดังนั้นมันจึงเกิดระบบการแบ่งงานกันทำขึ้นโดยเริ่มจากระบบการแบ่งงานกันทำในระบบสังคมนี้ที่แบ่งแยกงานกันตามเพศโดยวางรากฐานอยู่บนงานของการดูแลและเลี้ยงดูเด็กๆในชุมชน  จนกระทั่งพัฒนาต่อขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น การทำงานเป็นกลุ่มนั้นจำเป็นต้องมีผู้นำกลุ่ม หัวหน้างาน ผู้ควบคุม ฯลฯ และแรงงานจำนวนมากเพื่อจะดูแลระบบการผลิต

การปฏิบัติงานร่วมกันในระดับกว้างแบบดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องมีการวางแผน รวมถึงการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่เหนือเกินความสามารถของกลุ่มชนเล็กๆที่จะจัดการกันเองได้ภายในเผ่าที่เป็นเสมือนหน่วยย่อยของสังคมเก่า และความต้องการการบริหารจัดการละการขับเคลื่อนแรงงานจำนวนมากนี้เองที่ก่อให้เกิดการสถาปนาระบบรัฐศูนย์กลางขึ้น พร้อมกับระบบการจัดการแบบรวมศูนย์และระบบกองทัพเช่นในอียิปต์โบราณ และเมโลโปเตเมีย

เครื่องจับเวลาและมาตราชั่งตวงวัดนั้นกลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับการผลิต และตัวมันเองก็ได้กลายไปเป็นพลังการผลิตหนึ่งด้วย ดังนั้นแล้ว Heredotus จึงเป็นผู้แรกที่เริ่มวางรากฐานทางเรขาคณิตขึ้นในอียิปต์โบราณเพื่อจะคำนวณถึงพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมในแต่ละปี ดังนั้นแล้วคำว่าเรขาคณิตนั้นโดยตัวมันเองแล้วจึงมีความหมายที่เกี่ยวกับการวัดพื้นที่โลกไม่มากก็น้อย

การศึกษาเรื่องสวรรค์ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์นั้นทำให้บรรดานักบวชอียิปต์โบราณสามารถคาดการณ์ถึงช่วงเวลาที่จะเกิดน้ำท่วมในแม่น้ำไนล์ได้ ฯลฯ ดังนั้นแล้ววิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากความต้องการทางเศรษฐกิจ ในงานเรื่อง Metaphysics นั้นอริสโตเติลได้เขียนเอาไว้ว่า “มนุษย์นั้นจะกลายไปเป็นนักปรัชญาเมื่อปัจจัยที่จำเป็นของชีวิตได้รับการตอบสนองแล้ว” (Metaphysics, I. 2) คำกล่าวนี้นั้นถูกต้องตรงกันอย่างยิ่งกับหลักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ – และเป็นการกล่าวล่วงหน้ามาร์กซ์ถึง 2,300 ปี

หัวใจหรือแก่นแท้ของการแบ่งแยกคนออกเป็นกลุ่มคนรวยกับคนจน ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ผู้มีการศึกษากับผู้โง่เขลานั้นคือการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มแรงงานสมองกับแรงงานกาย บรรดาหัวหน้างานนั้นบ่อยครั้งจะถูกยกเว้นจากการใช้แรงงานกายซึ่งนี่ถือเป็นความอัปยศอย่างที่สุด มวลชนจำนวนมหาศาลนั้นถูกกีดกันออกมาจากวัฒนธรรมและองค์ความรู้ และถูกปล่อยให้ติดอยู่ภายใต้การหลอกลวงของภาพมายาและเรื่องเหนือธรรมชาติ ซึ่งความลับขององค์ความรู้นั้นแทบจะถูกปิดกั้นเอาไว้โดยพวกนักบวชและบรรดาชนชั้นสูงผู้ผูกขาดการเข้าถึงองค์ความรู้นี้

และจุดนี้เองที่ทำให้เราพอจะมองเห็นภาพร่างเค้าโครงของสังคมชนชั้น การแบ่งกลุ่มคนทางสังคมออกเป็นชนชั้นต่างๆ นั่นคือผู้ขูดรีดและผู้ถูกขูดรีด ในสังคมใดๆก็ตามที่ศิลปะ, วิทยาศาสตร์ และการปกครองนั้นถูกผูกขาดเอาไว้โดยคนกลุ่มน้อยของสังคม บรรดาคนกลุ่มน้อยนี้ย่อมจะหยิบใช้องค์ความรู้ต่างๆนี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง นี่คือความลับขั้นมูลฐานของสังคมชนชั้นและมันยังคงดำรงอยู่มาอย่างน้อยร่วม 12,000 ปี

แม้ว่าในระหว่างห้วงเวลาดังกล่าวนั้นมันจะมีการเปลี่ยนแปลงขั้นมูลฐานจำนวนมากในรูปแบบของระบบเศรษฐกิจและชีวิตทางสังคม หากแต่ความสัมพันธ์ขั้นมูลฐานระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง คนรวยกับคนจน ผู้ขูดรีดและผู้ถูกขูดรีดนั้นยังคงเป็นเช่นเดิม ในทางเดียวกันนั้นแม้ว่ารูปแบบของการปกครองนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายรูปแบบ หากแต่รัฐนั้นยังคงดำรงอยู่ในฐานะของสิ่งที่มันเช่นเดิม นั่นคือเป็นเครื่องมือของการบีบบังคับและเป็นการแสดงออกของกฎของชนชั้น

การอุบัติขึ้นของสังคมทาสนั้นถูกแทนที่ตามมาด้วยระบบศักดินาในยุโรป ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วมันถูกแทนที่ด้วยระบบทุนนิยม การอุบัติขึ้นของชนชั้นกระฎุมพีซึ่งเริ่มต้นขึ้นจากเมืองและนครต่างๆในอิตาลีและเนเธอร์แลนด์ได้เดินทางไปถึงจุดแตกหักด้วยการปฏิวัติกระฎุมพีในฮอลแลนด์และอังกฤษในศตวรรษที่ 16 และ 17 และการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในฝรั่งเศสระหว่างปี 1789-1793 ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านอย่างลึกซึ้งทางวัฒนธรรม, ศิลปะ, วรรณกรรม, ศาสนา และปรัชญา.

 

ว่าด้วยรัฐ

รัฐนั้นคือกำลังในการปราบปรามแบบพิเศษที่ดำรงอยู่เหนือสังคมและพยายามที่จะแยกตัวเองให้ออกจากสังคม กำลังแบบดังกล่าวนี้มีต้นกำเนิดอยู่ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ต้นกำเนิดของรัฐนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตามเป็นสิ่งที่สอดคล้องอยู่ตามสภาพการณ์ ท่ามกลางชนเผ่าเยอรมันและชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองมันมีการสถาปนาระบบกองทหารที่ดำรงอยู่รายล้อมรอบผู้นำทัพ ซึ่งนี่เป็นกรณีเดียวกันกับกรณีของกรีก ดังเช่นที่เราจะเห็นได้จากบทกวีของโฮเมอร์ (Homer)

ในสังคมยุคแรกนั้นบรรดาหัวหน้าเผ่าต่างก็สุขสำราญอยู่กับอำนาจปกครองที่พวกเขาได้รับมันผ่านความเข้มแข็งทางร่างกายของตน หรือจากคุณสมบัติส่วนบุคคลอื่นๆ แต่ในปัจจุบันนี้นั้นอำนาจของชนชั้นปกครองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆต่อคุณสมบัติส่วนบุคคลของผู้นำเหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป หากแต่มันหยั่งรากลึกอยู่ในรูปธรรมทางสังคมและความสัมพันธ์ทางการผลิตและอำนาจของเงินตรา คุณสมบัติหรือความสามารถของปัจเจกชนในชนชั้นปกครองนั้นอาจจะดี แย่ หรือไม่แตกต่างกันเลยก็ได้ หากแต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป

รูปแบบของสังคมชนชั้นในยุคแรกเริ่มนั้นได้แสดงให้เห็นถึงสถานะของรัฐในฐานะที่เป็นเสมือนสิ่งโหดร้าย ที่มีการบังคับใช้แรงงานจำนวนมหาศาลและรวมถึงมีการปราบปรามมวลชนและลิดรอนสิทธิทั้งหมดของประชาชน และในห้วงเวลาเดียวกันนั้นด้วยการพัฒนาระบบแบ่งงานกันทำ ด้วยการจัดการสังคมและนำพาระบบการปฏิบัติงานร่วมกันไปสู่พัฒนาการระดับสูงกว่าสังคมยุคก่อนหน้า มันทำให้เกิดการใช้กำลังแรงงานจำนวนมหาศาลนั้นสามารถขับเคลื่อนไปได้ และด้วยเหตุนั้นเองมันจึงทำให้เกิดการขยับตัวของกำลังแรงงานการผลิตของมนุษยชาติให้ขยับตัวขึ้นสู่ระดับสูงขึ้น

ในรากฐานของสังคมแล้ว การดำรงอยู่ของรัฐนั้นต้องพึ่งพาอาศัยกำลังแรงงานของมวลชนชาวนาจำนวนมหาศาล รัฐนั้นต้องการให้ชาวนาจำนวนมหาศาลจ่ายภาษีให้กับรัฐและใช้แรงงานสร้างการผลิตให้รัฐ – นี่คือสองเสาหลักที่ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้ ใครก็ตามที่ควบคุมระบบการผลิตนี้ย่อมจะเป็นผู้ควบคุมอำนาจและควบคุมรัฐ ต้นกำเนิดของอำนาจรัฐนั้นหยั่งรากอยู่บนความสัมพันธ์ทางการผลิต ไม่ใช่ความสามารถหรือคุณสมบัติส่วนบุคคล อำนาจรัฐในสังคมแบบดังกล่าวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีลักษณะเชิงรวมศูนย์และมีความเป็นระบบขุนนางข้าราชการ ในเบื้องต้นที่สุดนั้นอำนาจรัฐมีลักษณะหรือเอกลักษณ์แบบศาสนาและถูกก่อตัวขึ้นร่วมกับอำนาจของบรรดานักบวช และเมื่อดำเนินไปถึงจุดสูงสุดแล้วมันทำให้เกิดการสถาปนาระบบเทวะ-ราชาขึ้นอยู่เหนือสุดของสังคมตามมาด้วยกลุ่มข้าราชการขุนนางจำนวนมหาศาล

ดังนั้นแล้ว บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นจึงมีลักษณะเป็นสิ่งแปลกประหลาดมาตั้งแต่ต้น ความสัมพันธ์ทางสังคมที่แท้จริงนั้นปรากฏอยู่ในรูปแบบของสิ่งที่แปลกแยกออกไป และมันยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ในปัจจุบัน ในสหราชอาณาจักร ความแปลกประหลาดดังกล่าวนี้ปรากฏออกมาในรูปแบบของวัฒนธรรมการปกครอง ในพิธีกรรมต่างๆของรัฐ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกานั้นมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป นั่นคือการชูวัฒนธรรมเรื่องระบบประธานาธิบดี ผู้มีสถานะเป็นประมุขของรัฐ อย่างไรก็ตามในเชิงแก่นแท้ของระบบแล้วรูปแบบของอำนาจรัฐทุกรูปแบบนั้นยังคงเป็นภาพแสดงตัวแทนของการปกครองเด็ดขาด (domination) ของชนชั้นหนึ่งที่อยู่เหนือชนชั้นอื่นๆที่เหลือในสังคม กระทั่งในรูปแบบของอำนาจรัฐที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยที่สุดนั้นมันก็ยังคงเป็นรูปแบบที่ดำรงอยู่เพื่อระบบเผด็จการของชนชั้นเดียว – นั่นคือชนชั้นปกครอง – อันเป็นชนชั้นที่ถือครองและควบคุมปัจจัยการผลิต (means of production) ทั้งหมดเอาไว้

รัฐสมัยใหม่นั้นคืออสุรกายของระบบราชการที่กลืนกินเอาความมั่งคั่งและความเจริญงอกงามจำนวนมหาศาลที่ชนชั้นแรงงานสร้างขึ้นไป นักมาร์กซิสต์นั้นเห็นพ้องต้องกันกับนักอนาธิปไตยที่ว่ารัฐนั้นคือเครื่องมือปราบปรามอันน่าหวาดกลัวที่จำเป็นจะต้องทำลายทิ้งไปเสีย หากแต่คำถามคือ เราจะทำลายมันลงอย่างไร? ใครจะเป็นผู้ทำลายมันลง? และเราจะใช้สิ่งใดเข้ามาแทนที่มัน? นี่ถือเป็นคำถามสำคัญขั้นพื้นฐานสำหรับการปฏิวัติใดๆก็ตาม ในคำกล่าวที่มีต่อแนวคิดอนาธิปไตยในระหว่างช่วงสงครามกลางเมืองภายหลังการปฏิวัติรัสเซียนั้น ทรอสกี้ได้กล่าวสรุปจุดยืนของนักมาร์กซิสต์ที่มีต่อรัฐเอาไว้อย่างชัดเจนดังนี้

“ชนชั้นกระฎุมพีมักจะกล่าวว่า : จงอย่าคิดจะเข้าไปเกี่ยวพันกับอำนาจรัฐ เพราะมันเป็นสิทธิพิเศษทางชนชั้นที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมาเฉพาะแต่ในชนชั้นของผู้ที่ได้รับการศึกษาเท่านั้น หากแต่นักอนาธิปไตยนั้นจะกล่าวว่า : จงอย่าไปแตะต้องอำนาจรัฐ เพราะมันคือเครื่องมือประดิษฐ์อันโหดเหี้ยม เป็นเครื่องมือที่เปรียบเสมือนปิศาจร้าย จงอย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมันโดยเด็ดขาด ชนชั้นกระฎุมพีกล่าวว่า : จงอย่าไปยุ่งกับมันเพราะมันเป็นสิ่งน่าหวาดกลัว นักอนาธิปไตยกล่าวว่า : จงอย่าไปยุ่งกับมันเพราะมันเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย ทั้งสองกลุ่มนั้นต่างพูดตรงกันว่า : จงอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจรัฐ หากแต่พวกเราในฐานะมาร์กซิสต์จะกล่าวว่า : จงอย่าเพียงแตะต้องอำนาจรัฐ แต่จงยึดเอามันมาไว้ในมือของเรา และทำให้อำนาจรัฐดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ทางชนชั้นของเรา จงใช้มันเพื่อบ่อนทำลายระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและปลดแอกชนชั้นแรงงานเสีย” (Leon Trotsky, How The Revolution Armed, Vol. 1, 1918)

มาร์กซิสม์อธิบายว่ารัฐนั้นเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาจากองค์กรติดอาวุธของมนุษย์ นั่นคือ องค์กรกองทัพ, ตำรวจ, ศาล และเรือนจำ ในการต่อต้านความคิดอันสับสนของกลุ่มอนาธิปไตยนั้น มาร์กซ์เสนอว่าชนชั้นแรงงานจำเป็นต้องมีอำนาจรัฐเพื่อจะเอาชนะการต่อต้านของชนชั้นผู้ขูดรีด หากแต่ข้ออภิปรายนี้ของมาร์กซ์กลับถูกบิดเบือนจากทั้งชนชั้นกระฎุมพีและจากกลุ่มอนาธิปไตย เมื่อมาร์กซ์เอ่ยคำว่า “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” ซึ่งมีความหมายเพียงแค่การสื่อถึง “การปกครองทางการเมืองของชนชั้นแรงงาน” เท่านั้น

ในปัจจุบันนี้ คำว่าเผด็จการที่เราเข้าใจกันอยู่นี้ไม่ใช่เผด็จการในความหมายเดียวกันกับในยุคของมาร์กซ์ เพราะเผด็จการที่เราได้รับความเข้าใจในทุกวันนี้นั้นมาจากการก่ออาชญากรรมอันน่าหวาดกลัวของฮิตเลอร์และสตาลิน ที่ได้สร้างฝันร้ายให้แก่มวลมนุษยชาติด้วยการสถาปนาระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นพร้อมการรวบอำนาจและรักษาอำนาจผ่านการตั้งค่ายกักกันและกลุ่มตำรวจลับ หากแต่บรรดาสิ่งเหล่านี้นั้นไม่ได้อยู่ในความคิดของมาร์กซ์เลย สำหรับเขาแล้วคำว่าเผด็จการที่เขาใช้นั้นมีรากฐานมาจากสาธารณรัฐโรมัน ที่หมายถึงในห้วงเวลาของสงครามนั้นบรรดากฎทั่วไปต่างๆจะต้องถูกลดความสำคัญลงเป็นเวลาชั่วคราว

เผด็จการของโรมันนั้นเป็นระบบผู้ปกครองที่ผิดธรรมดา (Magistratus extraordinarius) ที่มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการทำกิจกรรมทางการเมืองที่อยู่เหนือไปจากอำนาจปกติของผู้ปกครอง ตำแหน่งนี้นั้นในครั้งแรกมีชื่อเรียกว่า เจ้านายของประชาชน (Magister Populi) หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ตำแหน่ง เจ้านายเหนือกองทัพของพลเมือง เรากล่าวอีกแง่หนึ่งได้ว่า นี่คือตำแหน่งทางการทหารซึ่งเกี่ยวพันอยู่กับการนำกองทัพเข้ารบในสงคราม และเมื่อห้วงเวลาที่ได้รับแต่งตั้งสิ้นสุดลง ผู้นำเผด็จการย่อมจะต้องลงจากอำนาจ ความคิดเรื่องเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างสตาลินในรัสเซีย ที่อำนาจรัฐถูกใช้ไปเพื่อกดขี่ปราบปรามชนชั้นแรงงานเพื่อรักษาผลประโยชน์และอภิสิทธิ์ของชนชั้นข้าราชการนั้นถูกนำมาสร้างความน่าหวาดกลัวให้กับความคิดของมาร์กซ์

มาร์กซ์วางรากฐานความคิดเรื่องเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพของเราโดยเปรียบเทียบกับกรณีของคอมมูนปารีส ในปี 1871 อันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มวลชนจำนวนมหาศาลนำโดยชนชั้นแรงงานได้โค่นล้มระบบรัฐเก่า และในท้ายที่สุดแล้วได้เริ่มต้นภารกิจการเปลี่ยนผ่านสังคม มวลชนในยุคนั้นได้แสดงความกล้าหาญ ความคิดริเริ่ม และการสร้างสรรค์อย่างน่าอัศจรรย์ขึ้นมาด้วยตัวเองโดยปราศจากการวางแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน การจัดการองค์กร หรือผู้นำ ซึ่งมาร์ฏซ์และเองเกลได้สรุปเอาบทเรียนจากคอมมูนปารีสมากล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่ถูกพิสูจน์อย่างชัดเจนโดยคอมมูนปารีสนั้นคือชนชั้นแรงงานนั้นไม่สามารถที่จะยึดกุมเอาเครื่องมือของรัฐที่ถูกสร้างมาแต่เดิมเอาไว้เฉยๆ และหยิบใช้มันตามเป้าประสงค์เดิมของตัวมันได้ ...” (Preface to the 1872 German edition of the Communist Manifesto)

กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบสังคมนิยม – ระบบสังคมที่สูงขึ้นซึ่งวางรากฐานอยู่บนแก่นแท้ของกระบวนการประชาธิปไตยและการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ทุกคน – จะสามารถดำเนินการไปจนสำเร็จเสร็จสิ้นได้ก็ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นและมีจิตสำนึกของชนชั้นแรงงานในการจะขับเคลื่อนสังคม, อุตสาหกรรม, และรัฐ และนี่ไม่ใช่สิ่งที่จะได้นับการมอบให้อย่างเมตตาจากชนชั้นปกครองอย่างกลุ่มข้าราชการหรือข้าราชการ

ภายใต้การปกครองของเลนินและทรอสกี้ รัฐโซเวียตนั้นได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายที่จะช่วยอำนวยหนทางในการดึงเอาชนชั้นแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจการควบคุมและการปกครอง เพื่อจะทำให้มั่นใจว่ามันจะเกิดกระบวนการอันต่อเนื่องของการลดทอน “กลไกพิเศษ” ของบรรดากลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐและอำนาจรัฐลง การควบคุมที่เข้มงวดนี้ถูกจัดวางอยู่เหนือระบบค่าจ้าง, อำนาจ, และสิทธิพิเศษของกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อที่จะป้องกันการก่อตัวของชนชั้นอภิสิทธิ์ขึ้น

รัฐของชนชั้นแรงงานที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิคในปี 1917 นั้นไม่ใช่ทั้งการสถาปนาระบบรัฐราชการและระบบเผด็จการ แต่ในทางตรงกันข้าม ก่อนที่กลุ่มข้าราชการของสตาลินจะเข้ายึดอำนาจไปจากมวลชนนั้น ระบบการปกครองภายในโซเวียตถือเป็นรัฐที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดที่เคยมีมา บรรดากฎเกณฑ์พื้นฐานของอำนาจของโซเวียตนั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยมาร์กซ์หรือเลนิน หากแต่พวกเขาวางรากฐานของมันขึ้นมาจากประสบการณ์และบทเรียนอันเป็นรูปธรรมที่ได้รับมาจากคอมมูนปารีส และถูกนำมาอธิบายในภายหลังโดยเลนิน

เลนินนั้นได้กล่าวคำสัตย์สาบานว่าตัวเขานั้นจะขอเป็นศัตรูของกลุ่มข้าราชการ เลนินตอกย้ำอยู่เสมอว่ารัฐแบบเดียวที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องการนั้นจะต้องเป็นรัฐที่ “ประกอบสร้างขึ้นด้วยเจตจำนงที่เมื่อถึงจุดหนึ่งนั้นตัวมันเองจะต้องถูกทำลายลงในที่สุด” แก่นแท้ของรัฐของชนชั้นแรงงานนั้นไม่มีสิ่งใดที่เกี่ยวพันต่อระบบข้าราชการอันชั่วร้ายที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และไม่เกี่ยวข้องใดๆกับระบบที่ดำรงอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบสตาลิน เงื่อนไขรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยของคนงานนั้นถูกนำเสนอขึ้นในงานชิ้นสำคัญของเลนินนั่นคืองานเรื่อง : รัฐและการปฏิวัติ (The State and Revolution) ที่กล่าวว่า

1.จะต้องมีการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับสิทธิในการเพิกถอนเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด

2.จะต้องไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนที่จะได้ค่าแรงสูงไปกว่าแรงงานที่มีฝีมือ

3.จะต้องไม่มีกองทัพประจำการหรือสถาบันของตำรวจ หากแต่จะมีระบบกองกำลังติดอาวุธของพลเมือง

4.ในระยะยาว บรรดาภารกิจในการบริหารจัดการทั้งหลายจะต้องถูกเปลี่ยนมือไปสู่การจัดการร่วมกันของทั้งสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป “ใครก็ตามในสังคมนั้นย่อมจะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ – เมื่อทุกๆคนนั้นเป็น ‘ข้าราชการ’ ในทางกลับกันแล้วย่อมจะแปลว่ามันไม่มีใครสามารถเป็นข้าราชการได้”

นี่คือเงื่อนไขขั้นพื้นฐานที่เลนินได้วางไว้ หากแต่ไม่ใช่รากฐานที่สมบูรณ์ทั้งหมดสำหรับระบบสังคมนิยมหรือสังคมคอมมิวนิสต์ หากแต่เป็นเงื่อนไขรากฐานสำหรับก้าวแรกหรือช่วงระยะเวลาแรกของรัฐของชนชั้นแรงงาน – นั่นคือห้วงเวลาแรกในการเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากสังคมทุนนิยมไปสู่ระบบสังคมนิยม

ผู้แทนและเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆของโซเวียตนั้นเป็นสภาของคนงานและนายทหารจากการเลือกตั้งที่ไม่ได้ประกอบไปด้วยบรรดานักการเมืองและข้าราชการผู้เชียวชาญ หากแต่ประกอบขึ้นจากแรงงาน ชาวนา และทหารทั่วๆไปผู้เป็นสามัญชน มันไม่ใช่ระบบการปกครองของอำนาจที่แปลกแยกซึ่งยืนอยู่เหนือสังคม หากแต่เป็นอำนาจปกครองที่มีรากฐานจากการมีส่วนร่วมโดยตรงของผู้คนจากเบื้องล่าง กฎหมายที่ถูกตราขึ้นนี้ก็จะไม่ใช่กฎหมายที่เหมือนกับกฎหมายที่ถูกตราขึ้นด้วยอำนาจรัฐแบบนายทุน รัฐของชนชั้นแรงงานนั้นเป็นอำนาจรัฐที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากอำนาจรัฐที่ดำรงอยู่ผ่านระบบรัฐสภาสาธารณรัฐประชาธิปไตย-กระฎุมพี อันเป็นรูปแบบการปกครองที่แพร่หลายอยู่ในยุโรปและอเมริกา หากแต่อำนาจรัฐของชนชั้นแรงงานนั้นจะอยู่ในรูปแบบเดียวกันกับรูปแบบของคอมมูนปารีสในปี 1871

มันเป็นความจริงที่ว่าด้วยเงื่อนไขของการเป็นประเทศล้าหลัง ยากจน และขาดการรู้หนังสืออย่างถึงที่สุดในปี 1917 นั้นทำให้ชนชั้นแรงงานรัสเซียไม่สามารถที่จะเข้าถึงอำนาจรัฐที่พวกเขายึดมาได้โดยตรง การปฏิวัตินั้นจึงต้องถูกทำลายลงจากกระบวนการเสื่อมอำนาจของชนชั้นข้าราชการที่ในท้ายที่สุดได้ก่อให้เกิดการสถาปนาระบอบสตาลินขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นั้นแตกต่างจากคำโกหกของบรรดานักประวัติศาสตร์กระฎุมพี เพราะสตาลินนั้นไม่ใช่ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากพรรคบอลเชวิค หากแต่เป็นศัตรูตัวสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างสตาลินและมาร์กซ์นั้นมีลักษณะเกือบจะคล้ายคลึงกับความสัมพันธ์ระหว่างนโปเลียนและจาโกแบง

สหภาพโซเวียตยุคแรกนั้นในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีลักษณะเป็นรัฐในรูปแบบที่เราเข้าใจโดยทั่วไป หากแต่เป็นเพียงองค์กรที่แสดงออกถึงอำนาจการปฏิวัติของชนชั้นแรงงาน หรือหากจะใช้คำกล่าวของมาร์กซ์ โซเวียตในช่วงนี้เป็น “ระบบกึ่งรัฐ” อันเป็นรัฐที่ถูกออกแบบมาเพื่อที่มันจะต้องสูญสลายหายไปและหลอมรวมไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคม ที่จะช่วยมอบหนทางไปสู่ระบบการจัดการแบบส่วยรวมของสังคมเพื่อผลประโยชน์ของทุกคนในสังคม โดยปราศจากการใช้กำลังและการบีบบังคับ และนี่เองคือเดียวที่เป็นแก่นแท้ของมโนทัศน์แบบมาร์กซิสต์ที่มีต่อรัฐของชนชั้นแรงงาน

 

การอุบัติขึ้นของชนชั้นกระฎุมพี

ทรอสกี้นั้นได้ชี้ให้เราเห็นว่าการปฏิวัตินั้นคือพลังกลไกขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์ ดังนั้นแล้วมันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การอุบัติขึ้นของชนชั้นกระฎุมพีในอิตาลี ฮอลแลนด์ อังกฤษ และถัดมาคือในฝรั่งเศสนั้นจะเป็นการอุบัติขึ้นที่มาพร้อมกับการขยายตัวอย่างเฟื่องฟูของวัฒนธรรม ศิลปะ และวิทยาศาสตร์ ในบรรดาประเทศที่กล่าวมาซึ่งชนชั้นกระฎุมพีได้รับชัยชนะจากการปฏิวัติในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 นั้นมันก่อให้เกิดการพัฒนากำลังการผลิตและเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์ด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และปรัชญาที่มาคู่ขนานกัน ซึ่งกลายเป็นการบ่อนทำลายอำนาจครอบงำทางอุดมการณ์ของศาสนาจักรไปตลอดกาล

ในทางกลับกัน บรรดาประเทศที่ยังคงถูกปกครองเอาไว้ด้วยระบอบปฏิกิริยาแบบศักดินา-ศาสนานั้นก็กำลังบีบคั้นให้เกิดการก่อร่างหน่ออ่อนของสังคมใหม่ขึ้นภายในตัวสังคมเก่าเอง เพื่อจะขยับตัวเองไปให้พ้นจากฝันร้ายอันยาวนานและน่าอดสูของความถดถอย ความล้าหลัง และความเสื่อมถอย สเปนนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของกรณีนี้

ในยุคสมัยแห่งการเฟื่องฟูขึ้นของระบบทุนนิยม เมื่อมันได้แสดงบทบาทในฐานะของพลังแห่งความก้าวหน้าในประวัติศาสตร์นั้น อุดมการณ์แรกสุดของชนชั้นกระฎุมพีนั้นจำเป็นต้องทำการต่อสู้อย่างรุนแรงในการต่อสู้เพื่อต่อต้านและทำลายป้อมปราการทางอุดมการณ์ของระบบศักดินา เริ่มต้นจากการท้าทายศาสนจักรคาทอลิก ก่อจะตามมาในภายหลังด้วยการโค่นล้มอำนาจของเจ้าที่ดินศักดินา ซึ่งชนชั้นกระฎุมพีในห้วงเวลาของการก่อตัวนี้ถือว่าเป็นภาพแสดงตัวแทนของชนชั้นปฏิวัติและชนชั้นที่มีจิตสำนึกที่สุด จำเป็นจะต้องทำลายแนวป้องกันทางอุดมการณ์ของสังคมศักดินาคือ กรอบคิดทางปรัชญาและศาสนาที่เติบโตขึ้นในปริมณฑลรอบข้างศาสนสถาน รวมถึงอำนาจทางการทหารของบรรดาศักดินา

การอุบัติขึ้นของระบบทุนนิยมนั้นเริ่มต้นขึ้นในเนเธอร์แลนด์ และในนครต่างๆทางตอนเหนือของอิตาลี ระบบทุนนิยมนั้นกำเนิดขึ้นพร้อมกับทัศนคติใหม่ ซึ่งค่อยๆผนึกตัวเองเข้าจนกลายไปเป็นศีลธรรมและความเชื่อทางศาสนาแบบใหม่อย่างช้าๆ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจของระบบศักดินาที่อำนาจนั้นแสดงตัวเองผ่านการถือครองที่ดินและเงินตรากลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญรองลงมา หากแต่การขยายตัวของการค้าและการผลิตรวมถึงการเกิดขึ้นครั้งแรกของความสัมพันธ์ในระบบตลาดซึ่งทำให้เกิดความจำเป็นในการผลิตเงินขึ้นมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนรวมถึงทำให้เงินมีอำนาจมากขึ้น ธนาคารขนาดใหญ่อย่างเช่น Fuggers นั้นถือกำเนิดขึ้นและกำลังท้าทายอำนาจของกษัตริย์ในยุคนั้น

การนองเลือดในสงครามศาสนาระหว่างศตวรรษที่ 16 และ 17 นั้นเป็นเพียงเปลือกนอกของความขัดแย้งทางชนชั้นที่หยั่งรากลึกมาก และผลลัพธ์เดียวที่จะเกิดขึ้นได้จากการต่อสู้นี้ก็คือการก้าวขึ้นสู่อำนาจของชนชั้นกระฎุมพี และความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใหม่ (ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม) หากแต่บรรดาผู้นำในการต่อสู้นี้นั้นต่างก็ไม่มีใครคาดคิดหรือมีความรู้ถึงเรื่องนี้มาก่อน

การปฏิวัติอังกฤษในช่วงปี 1640-1660 นั้นถือเป็นการเปลี่ยนผ่านทางสังคมครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อระบบศักดินาเก่านั้นถูกทำลายลงและแทนที่ด้วยระเบียบทางสังคมใหม่แบบทุนนิยม สงครามกลางเมืองอังกฤษนั้นคือการต่อสู้ทางชนชั้นที่โค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้า Charles I และระเบียบสังคมแบบศักดินาของพวกปฏิกิริยาที่หยั่งรากลึกอยู่เบื้องหลังลง ระบบรัฐสภานั้นกลายเป็นภาพตัวแทนของของการขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ในเมืองและชนบทซึ่งท้าทายและโค่นล้มระบอบเก่าลง ด้วยการนำตัวกษัตริย์มาประหารและโค่นล้มระบอบสภาขุนนางลง

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา Oliver Cromwell นั้นได้วางรากฐานสำหรับการปกครองของชนชั้นกระฎุมพีให้เกิดขึ้นในอังกฤษ หากแต่ในการที่จะกระทำเช่นนั้น คือในการที่จะกวาดล้างสิ่งตกค้างทั้งหลายของระบบศักดินา-สมบูรณาญาสิทธิราชย์ทิ้งให้หมดนั้น เขาจำเป็นต้องบีบบังคับให้พวกกระฎุมพีที่ขี้ขลาดถอยออกไป สลายอำนาจของระบบรัฐสภาออกไปและผนวกตัวเองเข้ากับกลุ่มชนชั้นกระฎุมพีน้อย บรรดาชาวนารายย่อยใน East Anglia อันเป็นชนชั้นของตัวเขาเอง รวมถึงผนวกกำลังกับกลุ่มสามัญชนและมวลชนกึ่งกรรมาชีพในเมืองใหญ่

ในฐานะของผู้นำกองทัพปฏิวัตินั้น Cromwell ได้ปลุกเร้าจิตวิญญาณการต่อสู้ของมวลชนด้วยการหยิบยืมอำนาจของไบเบิลมาใช้ ด้วยการอ้างถึงนักบุญและอาณาจักรของพระเจ้าบนพื้นโลก บรรดาทหารของเขานั้นไม่ได้เข้าร่วมการต่อสู้ภายใต้การชูธงเรื่องผลประโยชน์ เงินทอง หรือกำไร หากแต่เข้าร่วมภายใต้ร่มธงของความเชื่อทางศาสนา จิตวิญญารเริ่มต้นทางความเชื่อนี้เองในภายหลังได้ถูกเติมเต็มเข้าไปด้วยจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติ (และกระทั่งในบางครั้งนั้นถูกเติมเต็มด้วยจิตวิญญาณแบบคอมมิวนิสต์) เป็นสิ่งที่ปลุกระดมให้มวลชนเข้าร่วมการต่อสู้อย่างกระตือรือร้นและกล้าหาญเพื่อต่อต้าน Hosts of Baal

อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นสู่อำนาจแล้ว Cromwell ก็ไม่ได้ก้าวไปไกลกว่าขอบเขตที่ถูกตั้งขึ้นโดยประวัติศาสตร์และขีดจำกัดทางวัตถุของกำลังการผลิตในยุคสมัยนั้น เขาจำเป็นจะต้องหันกลับมาต่อต้านกลุ่มปีกซ้ายในขบวนการ ปราบปรามกลุ่ม Levellers ด้วยกำลัง และกำหนดนโยบายรัฐที่จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นกระฎุมพีรวมถึงสนับสนุนความสัมพันธ์ในการถือครองทรัพย์สินของชนชั้นนายทุนในอังกฤษ ในท้ายที่สุดเองนั้น Cromwell ก็ทำลายระบบรัฐสภาลงและสถาปนาการปกครองด้วยตนเองแบบเผด็จการไปจนกระทั่งสิ้นชีวิต อันทำให้ชนชั้นกระฎุมพีอังกฤษนั้นตระหนักถึงความน่ากลัวของการปฏิวัติที่อาจจะขยับไปไกลจนสามารถเป็นอันตรายต่อการถือครองทรัพย์สินของพวกเขา ดังนั้นเองพวกเขาจึงได้เชิญให้พระเจ้า Stuarts กลับขึ้นสู่บัลลังก์

การปฏิวัติในฝรั่งเศสระหว่างปี 1789-1793 นั้นถือว่ามีความเหนือกว่าการปฏิวัติอังกฤษในเชิงคุณภาพ กลุ่ม Jacobins นั้นยกเรื่องเหตุผลขึ้นมาชูธงปฏิวัติแทนการอาศัยอำนาจทางศาสนา พวกเขาต่อสู้ภายใต้ร่มธงของเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพเพื่อจะปลุกเร้าให้มวลชนสามัญชนและกลุ่มชนกึ่งกรรมาชีพเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อโนล้มระบบขุนนางศักดินาและระบบกษัตริย์

ในช่วงเวลาอันยาวนานก่อนที่จะเกิดการบุกทำลายกำแพงคุก Bastille ที่น่าเกรงขามนั้นการต่อสู้ในฝรั่งเศสเริ่มต้นจากการทำลายกำแพงที่มองไม่เห็นซึ่งมีความเกรงขามไม่ต่างกันนั่นคือกำแพงของศาสนา หากแต่เมื่อชนชั้นกระฎุมพีฝรั่งเศสได้ครองอำนาจและกลายเป็นชนชั้นปกครองซึ่งต้องเผชิญหน้ากับชนชั้นปฏิวัติใหม่นั่นคือชนชั้นกรรมาชีพ ชนชั้นกระฎุมพีฝรั่งเศสก็ลบเลือนความคิดเรื่องเหตุผลของตนเองลงอย่างรวดเร็ว

ภายหลังความพ่ายแพ้ของ Robespierre นั้น กลุ่มผู้สืบทอดอำนาจต่อก็ได้ครองอำนาจอย่างยาวนานและมั่นคง พวกเขาเสาะหาหลักเกณฑ์ที่มั่นคงและอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมที่จะช่วยปกป้องอภิสิทธิ์ของกลุ่มตนเอง และไม่นานนักพวกเขาก็ย้อนกลับไปหาอำนาจทางศาสนาอีกครั้งผ่านการหยิบใช้อำนาจของ Holy Mother Church ซึ่งในไม่นานนักอำนาจทางศาสนาก็เปิดรับผู้ปกป้องและเจ้านายใหม่ของมัน อำนาจทางศาสนานั้นทำให้ระบบทุนและกลุ่มทุนขนาดให่กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ในวิถีทางเดียวกันกับที่ตัวศาสนาเคยสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับระบบศักดินา และระบบนายทาสเมื่อครั้งอดีต.

 

การบิดเบือนความคิดของมาร์กซ์

ในงานเขียนคลาสสิกเรื่อง What is history? ของ E.H. Carr นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้น “มักจะสะท้อนออกมาผ่านความคิดของผู้บันทึกประวัติศาสตร์เสมอ” ดังนั้นแล้วคุณจึงควรที่จะ “ศึกษานักประวัติศาสตร์เสียก่อนที่จะเริ่มต้นศึกษาข้อเท็จจริง” คำกล่าวนี้ของเขาแสดงให้เห็นว่าการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้นไม่อาจจะแยกออกจากมุมมอง การเมือง หรือเรื่องอื่นๆได้

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำกล่าวว่าประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะ หรือในอีกคำกล่าวหนึ่งคือการเลือกและการตีความเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นถูกก่อรูปขึ้นโดยผลลัพธ์ที่ดำรงอยู่ของบรรดาความขัดแย้งอันเป็นสิ่งที่ส่งผลประทบต่อตัวนักประวัติศาสตร์และในทางเดียวกันนั้นส่งผลต่อความเข้าใจของนักประวัติศาสตร์ที่มีต่อนักอ่านว่าพวกเขาต้องการจะอ่านอะไร แม้ว่ามันจะมีการกล่าวอ้างของบรรดานักประวัติศาสตร์กระฎุมพีว่าพวกเขานั้นเขียนงานขึ้นมาตามข้อเท็จจริงเชิงรูปธรรม หากแต่บรรดาข้อเขียนเหล่านั้นก็ยังคงสะท้อนถึงมุมมองทางชนชั้นของผู้เขียนออกมาอยู่ดี มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหนีออกจากมุมมองบางอย่างที่มีต่อคำอธิบายเหตุการณ์ในอธิบาย การกล่าวอ้างเป็นสิ่งอื่นนั้นย่อมเป็นความพยายามที่จะคดโกงต่อผู้อ่านประวัติศาสตร์

เมื่อนักมาร์กซิสต์มองสังคมนั้นพวกเขาไม่ได้พยายามวางตัวเป็นกลาง หากแต่พยายามเปิดกว้างและมองหาการสนับสนุนปัจจัยสำหรับชนชั้นแรงงานและระบบสังคมนิยม อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้มาร์กซิสม์สูญเสียความเป็นวิทยาศาสตร์ในตัวเองไป หมอผ่าตัดที่กำลังทำภารกิจผ่าตัดใหญ่นั้นก็ย่อมจะห่างไกลจากความเป็นกลางเพราะเขากำลังพยายามที่จะช่วยชีวิตของคนไข้ที่กำลังผ่าตัดอยู่ ในแง่นี้หมอเองก็ห่างไกลจาก “ความเป็นกลาง” ของผลลัพธ์ หากแต่ด้วยเหตุผลหลายประการนั้นทำให้เขาจะต้องทำการผ่าตัดด้วยความระมัดระวังและแยกแยะเนื้อเยื่อและส่วนประกอบต่างๆของอวัยวะในร่างกายให้ออก ในทางเดียวกันนี้ นักมาร์กซิสต์ย่อมจะมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงการวิเคราะห์กระบวนการทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เพื่อที่เขาจะสามารถกำหนดผลลัพธ์ที่ออกมาได้ หากแต่เราไม่ได้กำลังพูดถึงความต่อเนื่องของข้อเท็จจริงแบบ “จากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งอื่นๆ” หากแต่เรากำลังพยายามมองหาความจริงและร่างภาพมันออกมาในรูปแบบของกระบวนการโดยทั่วไปและอธิบายมัน

จากแง่นี้เองที่ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวและทิศทางของประวัติศาสตร์นั้นถูก – และเป็นสิ่งที่ – ก่อรูปขึ้นโดยการต่อสู้ทางชนชั้นที่ทำให้ชนชั้นหนึ่งได้กลายไปเป็นแม่พิมพ์ผู้กำหนดรูปแบบของสังคมเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางชนชั้นของตนเอง

มีความพยายามจำนวนมากที่จะบ่อนทำลายความคิดแบบมาร์กซิสม์ด้วยการหันไปใช้ภาพล้อเลียนที่มุ่งโจมตีมรรควิธีของมาร์กซิสต์ในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ มันไม่มีสิ่งใดที่จะง่ายไปกว่าการสร้างหุ่นฟางขึ้นมาเพื่อที่จะทำลายมันลงอีกครั้ง การบิดเบือนที่พบได้บ่อยนั้นคือการบิดเบือนว่ามาร์กซ์และเองเกลนั้นลดทอนทุกอย่างลงไปเหลือเพียงเรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น การกล่าวอ้างแบบไร้สาระนี้ได้รับการตอบโต้และอธิบายตอบกลับไปหลายครั้งโดยมาร์กซ์และเองเกล ดังเช่นข้อความด้านล่างที่เรายกมาจากส่วนหนึ่งในจดหมายของเองเกล

“สอดคล้องกันกับมโนทัศน์แบบวัตถุนิยมที่มีต่อประวัติศาสตร์ องค์ประกอบที่มีอำนาจในการกำหนดขั้นสุดในประวัติศาสตร์นั้นคือการผลิตและการผลิตซ้ำชีวิต ผมและมาร์กซ์ไม่เคยยืนยันเรื่องอื่นใดนอกเหนือจากนี้ ดังนั้นแล้วถ้าหากใครสักคนบิดเบือนคำกล่าวนี้ไปสรุปเอาว่าองค์ประกอบทางเศรษฐกิจนั้นเป็นปัจจัยกำหนดเพียงตัวเดียวแล้ว เขาคนนั้นย่อมจะเปลี่ยนแปลงข้อเสนอของผมและมาร์กซ์ไปสู่สิ่งที่ไร้ความหมาย, เป็นนามธรรม และไร้เหตุผล”

วัตถุนิยมประวิตศาสตร์นั้นไม่มีสิ่งใดที่เกี่ยวพันร่วมกันกับลัทธินับถือโชคลาง มนุษย์นั้นไม่ใช่เพียงสัตว์เลี้ยงของอำนาจทางประวัติศาสตร์ที่มองไม่เห็น แต่ในทางเดียวกันนั้นมนุษย์ก็ไม่ใช่ตัวแสดงที่มีเจตจำนงเสรีทั้งหมดที่สามารถจะกำหนดโชคชะตาของเองโดยไม่สนใจเงื่อนไขทางสังคมที่ดำรงอยู่ซึ่งถกกำหนดโดยพัฒนาการทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้ ซึ่งดังนั้นแล้วในขั้นท้ายที่สุดมนุษย์ถูกกำหนดจากระบบสังคม-เศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ไม่ว่ามันจะทำงานได้หรือไม่ ดังที่เองเกลอธิบายว่า

“มนุษย์นั้นสร้างประวัติศาสตร์ของตนเอง ไม่ว่าผลลัพธ์ของประวัติศาสตร์จะออกมาเป็นเช่นไร ในตัวของแต่ละบุคคลนั้นย่อมจะกระทำการตามความต้องการที่มีจิตสำนึกของตนเอง และนี้จึงเป็นสิ่งที่แม่นยำว่าผลลัพธ์ของบรรดาเจตจำนงจำนวนมหาศาลนี้จะดำเนินการไปในทิศทางที่แตกต่างกันและมันย่อมจะสร้างผลกระทบที่หลากหลายที่ส่งผลเหนือโลกภายนอกอันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์” (Ludwig Feuerbach)

มาร์กซ์และเองเกลนั้นได้ตอกย้ำและวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มคนที่นำเอามรรควิธีแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ไปใช้แบบผิดๆ ในจดหมายของเขาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1890 นั้นเองเกลเขียนว่า

“โดยทั่วไปแล้ว คำว่า ‘สิ่งซึ่งเป็นวัตถุ’ นั้นเป็นคำที่ถูกใช้โดยนักเขียนรุ่นใหม่จำนวนมากในเยอรมนีในฐานะของคำศัพท์ที่กล่าวถึงว่าทุกสิ่งทุกอย่างและทุกสรรพสิ่งนั้นถูกปิดป้ายกำกับเอาไว้โดยปราศจากการศึกษาเพิ่มเติม นั่นคือ พวกเขาติดอยู่กับผ้ายกำกับนี้และมีความเอนเอียงในการพิจารณาปมปัญหา หากแต่มโนทัศน์ทางประวัติศาสตร์ของเรานั้นอยู่เหนือการชี้นำในการศึกษาทั้งปวง และไม่ใช่เพียงตัวประกอบสำหรับการก่อสร้างความรู้ใหม่ภายหลังกระบวนการแบบสำนักเฮเกลเลียน ประวัติศาสตร์ทั้งปวงนั้นควรจะต้องถูกนำมาศึกษาใหม่ เงื่อนไขของการดำรงอยู่ของการก่อตัวของสังคมที่แตกต่างกันนั้นจะต้องถูกนำมาทำการตรวจสอบก่อนที่มันจะถูกนำไปอนุมานเอาเองจากมุมมองการเมือง, กฎหมาย, สุนทรียศาสตร์, ปรัชญา, ศาสนา, ฯลฯ ที่สอดคล้องกับตัวมัน จนกระทั่งถึงบัดนี้มันก็สำเร็จไปเพียงเล็กน้อยเพราะมีคนจำนวนไม่มากที่จะทำงานในเรื่องนี้อย่างซีเรียส ในพื้นที่การศึกษาแบบใหม่นี้เราสามารถที่จะได้รับความช่วยเหลือจำนวนมากจากใครก็ตามที่ต้องการจะทำงานอย่างซีเรียสซึ่งสามารถที่จะบรรลุการได้รับความช่วยเหลือ และได้แยกแยะตนเอง หากแต่ทว่าแทนที่มันจะเป็นเช่นนั้นบรรดาคนรุ่นใหม่ในเยอรมนีจำนวนมากกลับหยิบใช้เรื่องวัตถุนิยมประวัติศาสตร์เพียงเพื่อที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่พวกเขาไม่เคยมีเท่านั้น – สำหรับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแล้วมันยังคงเป็นเพียงองค์ความรู้ระดับเด็กทารกที่ต้องสวมใส่ผ้าอ้อมอยู่เลย! – พวกเขาศึกษาเพื่อจะนำเอามันไปจัดเรียงให้เป็นระเบียบอย่างรวดเร็วเท่าที่จะทำได้ และหลังจากนั้นพวกเขาก็ทำเสมือนกับว่าตนเองนั้นกลายเป็นผู้ที่เปี่ยมองค์ความรู้น่าเกรงขามเสียแล้ว” (Marx and Engel, Collected Works, volume 49, p. 8)

ในจดหมายฉบับอื่นที่ส่งถึง Conrad Schmidt เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ปี 1890 นั้นเองเกลได้เขียนว่า “สิ่งที่บรรดาสุภาพบุรุษทั้งหลายไม่มีก็คือวิภาษวิธี พวกเขาไม่เคยมองเห็นอะไรมากไปกว่านี่คือต้นเหตุและนั่นคือผลกระทบ และนี่คือความเป็นนามธรรมอันกลวงเปล่า ความคิดขั้วตรงข้ามอันเลื่อนลอยแบบนี้จะดำรงอยู่ก็แต่ในโลกที่เป็นจริงในระหว่างวิกฤต ในขณะที่กระบวนการอันกว้างใหญ่ทั้งหมดนั้นเริ่มต้นขึ้นในรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ (แม้ว่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์ของพลังที่ไม่เท่าเทียมกัน, การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ไกลจากผู้เข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่สุด, ปฏิสัมพันธ์ที่เป็นส่วนใหญ่ที่สุดและเป็นตัวชี้ขาดที่สุด) และนั่นเองในที่นี้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นกลายเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันและไม่มีสิ่งใดที่เป็นสิ่งสัมบูรณ์ – นี่คือสิ่งที่พวกเขาไม่เคยมองเห็นหรือเริ่มต้นที่จะมองเห็น” (Marx and Engel, Collected Works, volume 49, p.59)

มาร์กซิสม์นั้นไม่เคยปฏิเสธคำถามที่มีต่อความคิดหากแต่พยายามที่จะมองหาการทดสอบว่าอะไรคือสิ่งที่ให้กำเนิดความคิดมากกว่า ในแง่เดียวกันนั้นมาร์กซิสม์ก็ไม่ได้ปฏิเสธบทบาทของปัจเจกบุคคลหรือกล่าวให้ถึงที่สุดคือโอกาสวาสนาหากแต่เราแทนที่มันและนำมันมาจัดวางในทิศทางและบริบทที่ถูกต้อง การเกิดอุบัติเหตุรถชน หรือการถูกกระสุนลูกหลงนั้นแจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ได้ หากแต่มันไม่ใช่พลังขับเคลื่อนทางประวัติศาสตร์

เฮเกลนั้นอธิบายว่าความจำเป็นที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้แสดงตัวเองออกมาผ่านโอกาสวาสนาความบังเอิญ กระสุนของมือสังหารที่ยิงเข้าใส่และปลิดชีพของ Archduke Ferdinand ใน Sarajevo นั้นเป็นอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์อันกลายไปเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการระเบิดออกของสงครามระหว่างมหาอำนาจซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นในฐานะของผลลัพธ์ของความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง และการทหารที่ไม่อาจจะเอาชัยชนะกันได้ระหว่างประเทศมหาอำนาจในยุโรปก่อนปี 1914

 

ปรัชญามาร์กซิสต์

จากที่กล่าวมาในหัวข้อก่อนหน้านี้ได้นำให้เรามาสู่คำถามสำคัญว่าด้วยปรัชญามาร์กซิสต์ ในข้อเขียนของมาร์กซ์และเองเกลนั้นมันไม่ได้มีการพูดถึงปรัชญาอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับในข้อเขียนของเฮเกล หากแต่งานเขียนอันทรงคุณค่านี้ได้บ่งบอกว่า หากตัวงานของมันได้รับการพัฒนาต่อย่อมจะสามารถสร้างให้เกิดคุณค่าเพิ่มเติมต่อระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ หากแต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่งานแบบดังกล่าวนั้นยังไม่เคยถูกดำเนินการอย่างจริงจัง

มันเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่งสำหรับใครก็ตามที่หวังจะศึกษาวัตถุนิยมวิภาษวิธีอย่างครบถ้วนละเอียดลออ แม้ว่าหัวข้อดังกล่าวนี้จะมีความสำคัญอย่างมหาศาล หากแต่มันไม่มีหนังสือหรืองานเขียนเล่มไหนของมาร์กซ์และเองเกลที่พูดถึงและตอบคำถามเรื่องวัตถุนิยมวิภาษวิธีโดยตรงและครอบคลุมเลย อย่างไรก็ตามมรรควิธีแบบวิภาษวิธีนี้มีเค้าเงื่อนและสอดแทรกตัวอยู่ในงานเขียนทุกชิ้นของมาร์กซ์ ซึ่งบางทีตัวอย่างที่ดีที่สุดของการนำหลักวิภาษวิธีไปปรับใช้กับพื้นที่เชิงปฏิบัติการ (ในกรณีนี้คือเศรษฐศาสตร์การเมือง) นั้นอาจจะพบได้จากงานเรื่องว่าด้วยทุนทั้งสามเล่ม

เป็นเวลายาวนานมากที่มาร์กซ์นั้นตั้งใจที่จะเขียนหนังสือว่าด้วยวัตถุนิยมวิภาษวิธี หากแต่เขาก็ไม่ได้เขียนมันขึ้นมาเนื่องมาจากการต้องเขียนงานเรื่องว่าด้วยทุน ยิ่งไปกว่านั้นในความตั้งใจที่จะเขียนงานเรื่องวัตถุนิยมวิภาษวิธีนี้ยังถูกรบกวนเนื่องจากมาร์กซ์ต้องสร้างข้อเขียนทางการเมืองจำนวนมากและเป็นข้อเขียนที่มักจะพัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับการเคลื่อนไหวของแรงงานอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสถาปนาสมาคมแรงงานสากล (สากลที่ 1) ภารกิจต่างๆนี้ได้ยึดกุมเอาเวลาในชีวิตจำนวนมากของเขาไป รวมถึงเวลาในชีวิตจำนวนมากของมาร์กซ์นั้นยังถูกจำกัดด้วยอาการป่วยอันเนื่องมาจากชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากจนและยากลำบากของเขาที่ทำให้เขาไม่สามารถผลิตงานบางชิ้นออกมาได้ตามที่ตั้งใจ

ภายหลังจากที่มาร์กซ์เสียชีวิตนั้น เองเกลก็วางแผนที่จะเขียนหนังสือว่าด้วยปรัชญาตามความตั้งใจของมาร์กซ์ ซึ่งเองเกลก็ได้มอบมรดกที่แสนวิเศษผ่านข้อเขียนเรื่องปรัชญามาร์กซิสต์ไว้ให้แก่พวกเรา อย่างเช่นงานเรื่อง Ludwig Feuerbach and the End of Classical German Philosophy, Anti-Duhring และ Dialectics of Nature หากแต่เป็นเรื่องโชคร้ายอย่างยิ่งที่เองเกลนั้นก็ล้มเหลวในการเขียนหนังสือที่ชัดเจนเกี่ยวกับปรัชญามาร์กซิสต์ขึ้นอันเนื่องมาจากหลายเหตุผล

เหตุผลประการแรกนั้นก็เนื่องมาจากแนวโน้มการขยายตัวของพวกนักฉวยโอกาสในพรรคประธิปไตยสังคมในเยอรมนีที่บีบบังคับให้เองเกลต้องละทิ้งงานวิจัยทางปรัชญาของเขาเพื่อหันไปเขียนงานโต้แย้งต่อต้านลัทธิฉวยโอกาสซึ่งในท้ายที่สุดแล้วได้กลายมาเป็นงานชิ้นสำคัญในกลุ่มงานมาร์กซิสม์คลาสสิก นั่นคืองานเรื่อง Anti-Duhring อันโด่งดัง ซึ่งในท่ามกลางเนื้อหาของงานชิ้นนี้เองก็สอดแทรกเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และสนับสนุนปรัชญามาร์กซิสต์อยู่

หลังจากนั้น เองเกลก็ได้ย้อนกลับมาสู่การเตรียมการศึกษาสำหรับการเขียนงานปรัชญาที่ครอบคลุมของเขา แต่ด้วยการเสียชีวิตของมาร์กซ์ในวันที่ 14 มีนาคม ปี 1883 เขาก็จำเป็นต้องละทิ้งงานนี้อีกครั้งเพื่อไปสานต่องานเรื่องว่าด้วยทุนเล่มที่สองและสามต่อจากมาร์กซ์ให้สำเร็จ และในท้ายที่สุดแล้วก็ทำให้งานปรัชญาที่เองเกลตั้งใจจะเขียนนั้นไม่ได้สำเร็จลงจนกระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิตของเขา

 

มาร์กซ์ และ เฮเกล

ปรัชญาวิภาษวิธีนั้นได้เติบโตขึ้นจนถึงจุดสูงสุดผ่านปรัชญาของนักปรัชญาจิตนิยมชาวเยอรมันนาม George Hegel (เฮเกล) คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของเขานั้นคือการศึกษาและค้นพบหลักการวิภาษวิธีใหม่ ซึ่งวิภาษวิธีนี้กำเนิดขึ้นครั้งแรกในยุคกรีก เฮเกลได้พัฒนาหลักวิภาษวิธีนี้จนมันมีระดับที่สูงขึ้น หากแต่เขาพัฒนามันขึ้นมาบนรากฐานของความคิดแบบจิตนิยม ซึ่งเองเกลกล่าว่ามันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ การอ่านเฮเกลนั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกถึงความคิดที่แท้จริงอันยิ่งใหญ่ที่ต่อสู้เพื่อจากสลัดตัวเองให้หลุดพ้นออกจากกรอบกำหนดของภาพมายาทางความคิด ในที่นี้เองเราพบว่ามันมีความคิดที่มีความพิเศษอย่างลึกซึ้งและการปรากฏขึ้นของความรู้แจ้งอันยิ่งใหญ่ แต่ทว่ามันถูกฝังอยู่ท่ามกลางความไร้เหตุผลของความคิดแบบจิตนิยม และนี่เป็นประสบการณ์ที่น่าผิดหวังที่เราได้รับจากการอ่านเฮเกล!

หลายครั้งที่งานเขียนของเฮเกลนั้นพยายามจะนำพาเราเข้าใกล้สู่ตำแหน่งแบบวัตถุนิยม หากแต่ในห้วงเวลาสุดท้ายแล้วเขากลับดึงเรากลับไปสู่จุดยืนแบบจิตนิยม ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ปรัชญาแบบเฮเกลเลียนจึงเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง ไม่เรียบร้อยและไม่สมบูรณ์แบบ มันจึงกลายเป็นงานของมาณ์กซ์และเองเกลที่จะต้องนำพาปรัชญาแบบเฮเกลเลียนไปสู่บทสรุปในเชิงตรรกะและในการทำเช่นนั้นเองก็คือการปฏิเสธตัวมันอย่างถึงที่สุดและแทนที่มันด้วยสิ่งใหม่ที่มีคุณภาพสูงยิ่งกว่า

เฮเกลนั้นนำเสนอปรัชญาตามธรรมเนียมดั้งเดิมไปไกลเท่าที่มันสามารถไปได้ และเพื่อที่จะนำพาปรัชญาให้สามารถขยับไปไกลกว่าเดิมนั้นมันจำเป็นจะต้องก้าวไปให้ไกลกว่าขอบเขตแบบปรัชญาตามธรรมเนียม นั่นคือการปฏิเสธตัวมันเองในกระบวนการพัฒนาปรัชญา นั่นหมายถึงปรัชญาจำเป็นจะต้องย้อนตัวเองกลับจากปริมณฑลอันคลุมเครือของความคิดการคาดเดากลับมาสู่ปริมณฑลของโลกที่เป็นจริงของวัตถุ หรือของมนุษย์ที่มีชีวิตจริง กลับมาสู่โลกที่เป็นจริงของประวัติศาสตร์ที่แท้จริงและต่อสู้กับสิ่งที่แยกตัวปรัชญาออกจากโลกที่เป็นจริง

ปมปัญหาของฟอยเออร์บาคและนักเฮเกลเลียนฝ่ายซ้ายบางคน อย่างเช่น Moses Hess นั้นคือการที่พวกเขาเพียงแต่กล่าวปฏิเสธต่อเฮเกล พวกเขาลบล้างปรัชญาของเฮเกลผ่านการปฏิเสธมัน การเปลี่ยนไปสู่จุดยืนแบบวัตถุนิยมของ Hess นั้นถือเป็นความอาจหาญหนึ่ง มันจำเป็นต้องอาศัยความกล้าหาญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่อยู่ท่ามกลางการปกครองแบบปฏิกิริยาทั่วยุโรป และอยู่ภายใต้การปกครองแบบปราบปรามของปรัสเซีย การประกาศตัวของ Hess นั้นมอบแรงบันดาลใจอย่างมากให้แก่มาร์กซ์และเองเกลในวัยหนุ่ม หากแต่เมื่อพูดอย่างถึงที่สุดแล้วการประกาศตัวนี้เป็นความล้มเหลว

เราอาจจะสามารถปฏิเสธเมล็ดข้าวได้ด้วยการเหยียบทำลายมันลงไปบนพื้นดิน หากแต่มโนทัศน์แบบวิภาษวิธีว่าด้วยการปฏิเสธนั้นไม่ใช่เพียงการทำลาย แต่มันคือการทำลายในขณะที่สร้างการรักษาสิ่งที่สมควรถูกรักษาเอาไว้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นแล้วเราจึงอาจจะปฏิเสธเมล็ดข้าวได้ด้วยการปล่อยให้มันเจริญเติบโตขึ้นเช่นกัน

เฮเกลได้ชี้ให้เห็นว่าคำพูดเดียวกันที่ออกมาจากปากของวัยรุ่นนั้นไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากับการกล่าวออกมาจากปากของคนแก่ ที่มีชีวิตมานานกว่าและมีประสบการณ์ที่มากกว่า นี่เป็นเช่นเดียวกันกับปรัชญา ในการย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นของปรัชญานั้น ตัวปรัชญาไม่ได้เป็นเพียงแค่การตอกย้ำถึงสถานะที่สูงขึ้นกว่าในระยะยาว มันไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่ไร้เดียงสาเพียงเพราะเราย้อนกลับไปหาต้นกำเนิดในยุคโบราณของมันที่หมายความว่าเราย้อนกลับไปหาความเป็นเด็กของปรัชญา หากแต่เรากำลังย้อนกลับไปหาความคิดเก่าของปรัชญากรีกที่ถูกทำให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี และด้วยพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม

นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเชิงกลไกของวงล้อขนาดใหญ่ หรือการวนซ้ำของสิ่งที่มาก่อนหน้าอย่างไร้เหตุผล เหมือนกระบวนการกำเนิดใหม่ที่ไร้ที่สิ้นสุดซึ่งถูกอ้างถึงในความเชื่อทางศาสนา หากแต่เป็นการปฏิเสธของการปฏิเสธ (negation of the negation) ซึ่งวางตัวสู่การย้อนกลับไปหาระดับขั้นของการพัฒนาก่อนหน้ามัน แต่เป็นการย้อนกลับไปด้วยระดับทางคุณภาพที่สูงขึ้น มันจึงเป็นทั้งสิ่งเดิมและไม่ใช่สิ่งเดิมในขณะเดียวกัน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเฮเกลจะไปถึงข้อสรุปบางจุดที่ลึกและมีความสำคัญ และขยับเข้าใกล้ความเป็นวัตถุนิยม (ตัวอย่างเช่นในงานเรื่อง The Philosophy of History) หากแต่เฮเกลก็ยังคงตกอยู่ภายใต้โลกทัศน์แบบจิตนิยมของตัวเอง เขาไม่เคยนำเอามรรควิธีแบบวิภาษวิธีของตัวเองไปใช้กับโลกที่เป็นจริงของสังคมและธรรมชาติอย่างถูกต้อง เพราะสำหรับเฮเกลแล้วพัฒนาการที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวนั้นคือพัฒนาการของโลกของความคิดนั่นเอง.

 

การปฏิวัติปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์

ในบรรดาทฤษฎีทั้งหมดของมาร์กซ์นั้น ไม่มีทฤษฎีไหนที่จะถูกโจมตี บิดเบือน และใส่ร้ายยิ่งไปกว่าทฤษฎีเรื่องวัตถุนิยมวิภาษวิธี และนี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เป็นเช่นนั้นเมื่อทฤษฎีดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นรากฐานและพื้นฐานสำคัญของแนวคิดมาร์กซิสม์ ซึ่งไม่ว่าจะมากหรือน้อยนั้นก็ถือได้ว่ามันเป็นมรรควิธีของสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์ ความคิดแบบมาร์กซิสม์นั้นเป็นมากกว่าความคิดทางการเมืองหรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หากแต่ว่ามันเป็นปรัชญาด้วย มันเป็นความคิดที่ครอบคลุมพื้นที่ไม่เฉพาะแต่มิติทางการเมืองและการต่อสู้ทางชนชั้นเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมไปถึงประวัติศาสตร์ทั้งมวลของมนุษย์ ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ความคิดและธรรมชาติอีกด้วย

ในปัจจุบันนี้ อุดมการณ์ของชนชั้นกระฎุมพีนั้นอยู่ในกระบวนการของการเสื่อมถอย ไม่เพียงแต่ในพื้นที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้นหากแต่ยังรวมถึงพื้นที่ในทางปรัชญาอีกด้วย ในช่วงการเจริญรุ่งเรืองของระบบทุนนิยมนั้น ชนชั้นกระฎุมพีสามารถจะก่อให้เกิดนักคิดผู้ยิ่งใหญ่อย่างเฮเกลและค้านท์ขึ้นมาได้ แต่ในยุคปัจจุบันที่ระบบกำลังเสื่อมถอยนี้มันกลับไม่สามารถสร้างนักคิดหรือแนวคิดใดๆที่มีคุณค่าขึ้นมาได้เลย และในปัจจุบันนี้มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะอ่านงานปรัชญากระแสหลักที่ผลิตมาจากมหาวิทยาลัยกระแสหลักแล้วจะไม่รู้สึกว่าบรรดางานเหล่านั้นเต็มไปด้วยความน่าเบื่อหน่าย และไร้เหตุผล

การต่อสู้เพื่อต่อต้านอำนาจของชนชั้นปกครองนั้นไม่อาจจะหยุดลงเพียงแค่พื้นที่ในโรงงาน บนท้องถนน ในรัฐสภาหรือในสภาท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่เราจำเป็นต้องทำการต่อสู้อย่างเข้มข้นในพื้นที่ปริมณฑลทางอุดมการณ์ด้วย อันเป็นพื้นที่ที่อิทธิพลของความคิดแบบกระฎุมพีนั้นเป็นอันตรายและเป็นอุปสรรคสำคัญไม่น้อยกว่ากันเลย พื้นที่ทางอุดมการณ์นี้เป็นพื้นที่ที่ความคิดแบบกระฎุมพีหลบซ่อนตัวเองอยู่เบื้องหลังหน้ากากของความเป็นธรรมจอมปลอมและความเป็นจริงที่เป็นเปลือก มาร์กซิสม์นั้นจำเป็นจะต้องต่อสู้และสร้างทางเลือกที่ครอบคลุมเพื่อต่อสู้กับแบบแผนแบบเก่าและการบิดเบือนความคิด

มาร์กซ์ในวัยหนุ่มนั้นได้รับอิทธิพลทางความคิดอย่างมหาศาลจากปรัชญาแบบเฮเกลอันเป็นความคิดที่ครอบงำเหนือมหาวิทยาลัยในเยอรมนีในยุคนั้น คำสอนทั้งหมดของเฮเกลนั้นวางรากฐานอยู่บนความคิดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่คงที่ผ่านความขัดแย้ง ในแง่นี้เองมันได้แสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติที่แท้จริงในปรัชญา และเป็นความคิดเรื่องพลวัตร ที่เป็นความคิดเรื่องการปฏิวัตินี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้มาร์กซ์ในวัยหนุ่ม รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นความคิดทั้งหมดของมาร์กซ์

มาร์กซ์และเองเกลนั้นปฏิเสธความคิดของเฮเกลและนำระบบความคิดของเฮเกลไปสู่สิ่งที่เป็นด้านตรงข้าม หากแต่ในเวลาเดียวกันนั้นทั้งสองคนก็ยังคงรักษาความคิดที่มีคุณค่าในทางปรัชญาของเฮเกลเอาไว้อย่างครบถ้วน พวกเขาวางรากฐานทางความคิดของตนเองลงบน “แก่นแท้ที่มีเหตุมีผล” บนความคิดของเฮเกล และพัฒนาความคิดต่างๆให้ต่อยอดขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น

ในความคิดของเฮเกลนั้นการต่อสู้ที่แท้จริงของพลังทางประวัติศาสตร์นั้นได้แสดงออกมาผ่านรูปแบบที่คลุมเครือของการต่อสู้ทางความคิด หากแต่ว่ามาร์กซ์ได้อธิบายว่าบรรดาความคิดนั้นไม่มีประวัติศาสตร์และไม่มีการดำรงอยู่ที่แท้จริงโดยตัวมันเอง ดังนั้นแล้วความเป็นจริงที่ปรากฏในความคิดของเฮเกลจึงเป็นเพียงภาพมายา เป็นรูปแบบของความแปลกแยก ในความคิดของฟอยเออร์บาค มุมมองที่มีต่อวัตถุนั้นก็ไม่ใช่มุมมองที่ดีไปกว่าความคิดของเฮเกลนัก เมื่อเขาเสนอว่ามนุษย์นั้นปรากฏขึ้นในด้านเดียวอันเป็นด้านที่เป็นลักษณะซึ่งไม่เป็นจริง ดังนั้นแล้วประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่เป็นจริงนั้นจึงปรากฏอยู่แต่เพียงในมุมมองแบบปรัชญามาร์กซิสต์เท่านั้น

ด้วยปรัชญาของมาร์กซ์ทั้งความคิดแบบวิภาษวิธีและวัตถุนิยมนี้เอง ที่ทำให้ปรัชญาได้ย้อนกลับไปสู่รากของตัวมันเอง ในที่นี้เองที่ทฤษฎีและภาคปฏิบัติการนั้นได้กลับมาดำรงอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว ปรัชญานั้นถูกดึงออกมาจากการศึกษาที่มืดมนและสุญญากาศ และได้กลับมาสู่ด้านที่สว่างและมีชีวิตชีวาขึ้น อันทำให้ปรัชญากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่อาจจะแยกออกได้ ในพื้นที่ของความขัดแย้งที่มองไม่เห็นของความคิดที่ปราศจากวัตถุนั้น เรากำลังอยู่ภายใต้ความขัดแย้งที่แท้จริงของโลกและสังคมในทางวัตถุ และแทนที่เราจะใคร่ครวญถึงความสัมบูรณ์ที่ห่างไกลและไร้ขอบเขตนั้น ปรัชญาของมาร์กซ์ทำให้เราย้อนกลับมาหามนุษย์ที่เป็นจริงซึ่งอาศัยและดำรงอยู่ในสังคมที่เป็นจริง อันเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์และกำลังต่อสู้อยู่ในการต่อสู้ที่เป็นจริง

วิภาษวิธีที่ปรากฏอยู่ในงานของเฮเกลนั้นถูกครอบคลุมเอาไว้ด้วยความแปลกประหลาดและอยู่ภายใต้หน้ากากของภาพมายา มันคือการ “กลับหัวกลับหาง” หรืออาจจะกล่าวได้ว่าวิภาษวิธีของเฮเกลนั้นไม่ใช่การพยายามมองหากระบวนการที่เป็นจริงซึ่งดำรงอยู่ในสังคมและธรรมชาติ หากแต่เป็นการมองหาภาพสะท้อนที่เจือจางของบรรดากระบวนการทั้งหลายที่สะท้อนออกมาในความคิดของมนุษย์ โดยเฉพาะในความคิดของนักปรัชญา ตามความเห็นของเอเกลนั้นเขากล่าวว่า วิภาษวิธีในมือของเฮเกลนั้นเป็นความผิดลพลาดอย่างมหาศาลที่สุด แม้ว่าเฮเกลจะเป็นผู้ปราดเปรื่องขนาดไหนก็ตาม

เองเกลยังชี้ให้เห็นต่อไปว่ามาร์กซ์นั้นเป็นคนแรกและเป็นคนเดียวที่ควรจะขจัดความเป็นมายาที่ผสมปนเปอยู่ภายในตรรกะของเฮเกลออกไป และสกัดเอาแก่นแท้ของวิภาษวิธีออกมา ซึ่งนี่เป็นการแสดงให้เห็นการค้นพบที่แท้จริงในปริมณฑลทางความคิด ผ่านการรื้อสร้างมรรควิธีแบบวิภาษวิธีขึ้นมาใหม่ อันทำให้มาร์กซ์นั้นได้สถาปนาพัฒนาการทางความคิดที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวขึ้นมา

ในขณะที่ปรัชญาของเฮเกลนั้นทำเพียงแต่การอธิบายตีความสิ่งต่างๆผ่านรูปแบบมุมมองทางความคิดและจิตวิญญาณ (กล่าวคือ อธิบายผ่านจุดยืนแบบจิตนิยม) มาร์กซ์กลับแสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของความคิดของมนุษย์นั้นเป็นเพียงภาพสะท้อนของพัฒนาการที่ดำรงอยู่ในธรรมชาติและสังคม ดังเช่นที่มาร์กซ์กล่าวว่า “วิภาษวิธีของเฮเกลนั้นถือเป็นรากฐานของวิภาษวิธีทั้งมวล หากแต่มันจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเราขจัดเอารูปแบบที่เป็นภาพมายาและสิ่งเหนือธรรมชาติของมันออกไป และนี่คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างวิภาษวิธีของผมและเฮเกล” (Letter to Kugelmann, 6 March 1868, MECW, Volume 42, p. 543)

 

วิภาษวิธีคืออะไร?

ทรอสกี้ได้ให้คำนิยามถึงวิภาษวิธีเอาไว้ในผลงานเขียนอันโด่งดังเรื่อง The ABC of Dialectical Materialism ดังนี้ “วิภาษวิธีนั้นไม่ใช่ทั้งเรื่องเหนือธรรมชาติหรือเรื่องแต่งเพ้อฝัน หากแต่เป็นวิทยาศาสตร์ของรูปแบบทางความคิดของเราตราบเท่าที่มันไม่ได้ถูกจำกัดเอาไว้ภายใต้ปมปัญหาในชีวิตประจำวัน หากแต่มันพยายามจะไปถึงการทำความเข้าใจต่อกระบวนการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นและอธิบายมันออกมา วิภาษวิธีและระบบตรรกะทั่วไปนั้นมีความสัมพันธ์ต่อกันคล้ายกับความสัมพันธ์ระหว่างคณิตศาสตร์ขั้นสูงกับคณิตศาสตร์ปกติ”

การผสมผสานกันระหว่างมรรควิธีแบบวิภาษวิธีกับปรัชญาแบบวัตถุนิยมนั้นได้ก่อให้เกิดเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพและมีพลังที่สุด หากแต่ว่าคำถามสำคัญคือวิภาษวิธีนั้นคืออะไรกันแน่? แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ในบทความนี้ทำให้เราไม่สามารถที่จะอธิบายถึงกฎของวิภาษวิธีทั้งหมดที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเฮเกลและถูกทำให้สมบูรณ์แบบโดยมาร์กซ์ทั้งหมดในที่นี้ได้ ซึ่งในเชิงรายละเอียดเกี่ยวกับปรัชญาว่าด้วยวิภาษวิธีนี้ผมได้อธิบายเอาไว้อย่างละเอียดในหนังสือเรื่อง Reason in Revolt: Marxist Philosophy and Modern Science แทน ส่วนในบทความชิ้นนี้นั้นผมจะพยายามอธิบายถึงเค้าโครงร่างสำคัญของวิภาษวิธีแทน

ในงานเรื่อง Anti-Duhring นั้นเองเกลให้อธิบายถึงลักษณะของวิภาษวิธีเอาไว้ดังนี้ “วิภาษวิธีนั้นโดยแก่นแท้แล้วมันคือวิทยาศาสตร์ของกฎโดยทั่วไปของการเคลื่อนไหวและพัฒนาการของธรรมชาติ สังคมและความคิดของมนุษย์” และในงานเรื่อง Dialectics of Nature เองเกลยังได้ร่างเค้าโครงของกฎสำคัญของวิภาษวิธีเอาไว้ดังนี้

ก) กฎของการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพ ข) กฎของเอกภาพของด้านตรงข้าม และ การเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งอื่นๆเมื่อความขัดแย้งดำเนินไปถึงจุดแตกหัก ค) กฎของพัฒนาการผ่านความขัดแย้ง หรือในอีกทางหนึ่งคือ กฎของการปฏิเสธของการปฏิเสธ

แม้ว่างานเขียนเรื่องวิภาษวิธีนี้จะยังไม่เป็นงานที่เสร็จสมบูรณ์และมีลักษณะกระจัดกระจาย หากแต่งานเขียนเรื่อง Dialectics of Nature ของเองเกลนี้ก็ยังถือว่าเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญมากควบคู่ไปกับงานเรื่อง Anti-Duhring ที่ถือเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญสำหรับผู้ศึกษาความคิดแบบมาร์กซิสม์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเองเกลนั้นยังคงต้องพึ่งพาองค์ความรู้และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยนั้น กล่าวโดยสรุปแล้วบางแง่มุมในงานเขียนของเองเกลนั้นส่วนใหญ่แล้วยังคงมีประโยชน์และเกี่ยวพันอยู่กับประวัติศาสตร์ หากแต่สิ่งที่น่าแปลกใจในงานเรื่อง Dialectics of Nature นั้นไม่ใช่ทั้งรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงที่ถูกพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ในยุคหลัง หากแต่ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งในงานชิ้นนี้คือความคิดจำนวนมากที่ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าโดยเองเกล – ซึ่งความคิดจำนวนมากนั้นเป็นความคิดที่เสนอในเชิงคัดง้างกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยของเขา – ซึ่งถูกพิสูจน์ถึงความถูกต้องอย่างชัดเจนด้วยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในปัจจุบัน

ตลอดทั้งงานเขียนชิ้นนี้ เองเกลได้ตอกย้ำถึงความคิดที่ว่าวัตถุและการเคลื่อนไหว (ในตอนนี้เราควรจะเรียกมันว่าพลังงาน) นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ การเคลื่อนไหวนั้นคือวิถีการดำรงอยู่ของวัตถุ มุมมองแบบพลวัตรของวัตถุ ของจักรวาลนี้ ได้บรรจุเอาความจริงอันลึกซึ้งที่เราต่างได้รับความเข้าใจเอาไว้ หรือเป็นเช่นเดียวกับการคาดเดาของนักปรัชญากรีกในยุคแรกอย่าง Heraclitus ที่กล่าวว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นและไม่เป็น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นอยู่ท่ามกลางการลื่นไหล” ทุกๆสรรพสิ่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างคงที่อยู่ตลอดเวลา มันมีการขยับไปสู่การดำรงอยู่และการสูญสลายตลอดเวลา

กล่าวอย่างง่ายขึ้น มวลของวัตถุนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น ลูกข่างที่กำลังหมุนอยู่นั้นย่อมจะมีมวลเท่ากันกับลูกข่างที่ไม่ได้เคลื่อนไหว ดังนั้นแล้วมวลของลูกข่างจึงอาจจะถูกสรุปได้ว่ามันมีความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง โดยไม่คำนึงถึงความเร็ว หากแต่ในเวลาต่อมานั้นข้อสรุปดังกล่าวนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าผิด ในความเป็นจริงแล้วมวลของวัตถุนั้นเพิ่มขึ้นตามความเร็วของตัวมัน หากแต่การเพิ่มขึ้นของมวลนั้นจะเห็นได้ก็เพียงแต่ในกรณีที่การเคลื่อนที่ของวัตถุมีความเร็วขยับเข้าใกล้ความเร็วแสงเท่านั้น สำหรับมุมมองเชิงปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน เราอาจจะยอมรับได้ว่ามวลของวัตถุนั้นมีความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงโดยไม่คำนึงถึงความเร็วที่วัตถุกำลังเคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่วัตถุเคลื่อนที่เร็วขึ้นการกล่าวอ้างนี้จะเป็นสิ่งที่ผิดไปในทันที และยิ่งวัตถุเคลื่อนที่เร็วขึ้นเท่าไหร่ การกล่าวอ้างเช่นนี้ก็ย่อมจะผิดมากขึ้นเท่านั้น

ศาสตรจารย์ Feynman ได้แสดงความคิดเห็นต่อกฎที่ว่านี้เอาไว้ว่า “[…] ในทางปรัชญาแล้ว เรามีความเข้าใจผิดพลาดไปอย่างมากจากกฎเรื่องการประมาณ มโนภาพทั้งหมดของเราที่มีต่อโลกจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปในทันทีแม้ว่ามวลของวัตถุนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยก็ตาม นี่คือสิ่งที่พิเศษของปรัชญา หรือความคิดที่อยู่เบื้องหลังกฎต่างๆ และกระทั่งความเปลี่ยนแปลงเล็กๆบางประการนั้นในบางครั้งก็อาจจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งขึ้นในความคิดของเราได้ ...” (R. Feynman, Lectures on Physics)

ตัวอย่างที่ชัดเจนนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างขั้นพื้นฐานระหว่างกลศาสตร์พื้นฐาน กับฟิสิกส์สมัยใหม่ ในทางเดียวกันนั้นเองมันก็มีความแตกต่างขนาดใหญ่ระหว่าง คณิตศาสตร์พื้นฐาน ที่ใช้การคำนวณทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน กับคณิตศาสตร์ระดับสูง (แคลคูลัสเชิงอนุพันธ์ กับ แคลคูลัสเชิงปริพันธ์) ซึ่งถูกเสนอขึ้นโดยเองเกลในงานเรื่อง Anti-Duhring และ Dialectics of Nature

ความแตกต่างแบบเดียวกันนี้ดำรงอยู่ในความแตกต่างระหว่างระบบตรรกะทั่วไปกับวิภาษวิธี ในชีวิตประจำวันนั้นกฎของระบบตรรกะทั่วไปอาจจะเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตามในกระบวนการที่มีความซับซ้อนมากขึ้น กฎของระบบตรรกะทั่วไปจะกลายเป็นสิ่งที่กลับหัวกลับหาง และข้อจำกัดของข้อเท็จจริงของตรรกะทั่วไปนี้จะทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ผิดพลาด

 

ปริมาณ และ คุณภาพ

จากมุมมองแบบวัตถุนิยมวิภาษวิธีนั้น จักรวาลของวัตถุเป็นสิ่งที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ หากแต่เป็นการประกอบขึ้นของมวลของวัตถุ (หรือพลังงาน) ในการเคลื่อนไหวอย่างคงที่ นี่คือความคิดรากฐานของปรัชญามาร์กซิสต์และมันยังเป็นความคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากข้อค้นพบของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ดำเนินการมากว่าหนึ่งศตวรรษ

ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน ปรากฏการณ์ใดๆก็ตามที่ปรากฏต่อสายตาเราเสมือนว่าเป็นสิ่งที่คงที่ และเราจะพิจารณาลึกลงไปถึงเบื้องหลังภาพฉากหน้าที่ทำให้เห็นว่าในความเป็นจริงแล้วมันมีการเคลื่อนที่อยู่ แม้ว่าการเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะมองเห็นได้ในการพิจารณาอย่างผิวเผินครั้งแรกหรือด้วยการพิจารณาด้วยตาเปล่า ตัวอย่างเช่น แก้วที่บรรจุน้ำหนึ่งใบ “หากเรามองมันด้วยสายตาของเรา ด้วยสายตาเปล่าๆของเราแล้ว เราย่อมจะเห็นว่ามันไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น แต่หากเราสามารถมองมันด้วยความละเอียดที่มากขึ้นนับพันล้านเท่า เราก็ย่อมจะมองเห็นได้ว่าแก้วน้ำหนึ่งใบนี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ โมเลกุลของน้ำในพื้นผิวด้านบนนั้นมีการเคลื่อนที่ออกไปและมีการเคลื่อนที่กลับมาอยู่เสมอ” (Richard P. Feynman, The Feynman Lectures on Physics, chapter 1, p. 8.)

คำกล่าวด้านบนนี้ไม่ใช่คำกล่าวของเองเกล หากแต่เป็นคำกล่าวของศาสตราจารย์ Richard P. Feynman นักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดัง ที่สอนทฤษฎีฟิสิกส์อยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียร์ (California Institute of Technology) ซึ่งเขาได้กล่าวย้ำในสิ่งเดียวกับที่เองเกลได้ยกตัวอย่างเอาไว้เมื่อนานมาแล้วคือเรื่องกฎของการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพ

น้ำซึ่งเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นจากอะตอมของไฮโดรเจนและออกซิเจนนั้นอยู่ในสถานะที่มีการเคลื่อนไหวอย่างคงที่ โมเลกุลของน้ำนั้นย่อมจะไม่แยกออกจากกันและกลายเป็นธาตุประกอบเนื่องจากแรงดึงดูดร่วมกันของโมเลกุล อย่างไรก็ตามหากว่าอุณหภูมิของน้ำขยับไปถึงตำแหน่ง 100 ° C ภายใต้ความดันบรรยากาศปกติแล้ว มันย่อมจะไปถึงจุดวิกฤตที่แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลนั้นไม่มีกำลังเพียงพออีกต่อไป และธาตุองค์ประกอบนั้นย่อมจะสลายพันธะระหว่างกันและเปลี่ยนสถานะไปในทันที

ตัวอย่างที่ยกมานี้อาจจะเป็นเพียงเรื่องที่ดูเล็กน้อย หากแต่มันเป็นข้อสรุปการค้นพบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม อีกทั้งมันยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากๆในสาขาวิชาของฟิสิกส์สมัยใหม่ นั่นคือสาขาการศึกษาเรื่องระยะของการเปลี่ยนแปลง การศึกษานี้เสนอว่าวัตถุนั้นมีระยะ (หรือสถานะ) การดำรงอยู่สี่รูปแบบ คือ ของแข็ง, ของเหลว, แก๊ส และ พลาสม่า บวกกับสถานะพิเศษแบบอื่นๆอีกไม่มาก เช่น ของเหลวระเหย หรือ ก๊าซเสื่อมสภาพ

ในทางทั่วไปแล้ว ของแข็งซึ่งถูกทำให้ถึงจุดเดือด (หรือถูกลดความดันรอบข้างลง) ย่อมจะเปลี่ยนสถานะไปสู่การกลายเป็นของเหลว และในที่สุดแล้วอาจจะกลายไปเป็นก๊าซได้ ตัวอย่างเช่น น้ำแข็ง (น้ำที่แข็งตัวจากจุดเยือกแข็ง) เมื่อถูกให้ความร้อนเข้าไปมันย่อมจะละลายกลายเป็นของเหลว และเมื่อน้ำนี้ถูกให้ความร้อนจนถึงจุดหนึ่งมันย่อมจะเกิดการระเหยจนเป็นไอน้ำ แต่หากว่าไอน้ำนี้ถูกให้ความร้อนในอุณหภูมิที่สูงขึ้นไปอีก อันเป็นระยะเปลี่ยนผ่านในตำแหน่งอุณหภูมิที่ 12,000 K = 11,726.85 เซลเซียส ไอน้ำเหล่านี้ย่อมจะกลายไปเป็นพลาสม่า

นี่คือสิ่งที่นักมาร์กซิสต์เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงจำนวนมหาศาลนั้นในท้ายที่สุดแล้วจะก่อให้เกิดการก้าวกระโดดทางคุณภาพ – อันเป็นระยะของการเปลี่ยนผ่าน ในกรณีนี้เราจะขอยกตัวอย่างหนึ่งเช่น ถ้าสารตัวหนึ่งถูกทำให้เย็นลงเช่น ตะกั่ว หรือ ไนโอเบียม มันย่อมจะเป็นการลดแรงต้านทานไฟฟ้าของสารเหล่านี้ จนกระทั่งไปถึงอุณหภูมิวิกฤตของตัวมัน (โดยทั่วไปแล้วจะมีระดับอยู่เหนือ -273 ° C) แน่นอนว่าในจุดนี้เอง แรงต้านทานไฟฟ้าทั้งหลายของตัวมันย่อมจะสลายหายไปทันที นี่คือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าเป็น “การก้าวกระโดดทางควอนตัม” อันเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากการมีแรงต้านทานไฟฟ้าเล็กน้อยไปสู่การไม่มีแรงต้านทานไฟฟ้าเลย

เราอาจจะหาตัวอย่างที่คล้ายคลึงกันนี้ได้อีกไม่จำกัดจากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ Marc Buchanan นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันได้เขียนหนังสือที่น่าสนใจที่เรียกว่า Ubiquity ในหนังสือเล่มนี้เขาได้ยกตัวอย่างถึงกรณีตัวอย่างจำนวนมากเอาไว้ เช่น ภาวะหัวใจวาย, การเกิดไฟป่า, การเกิดหิมะถล่ม, การเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวนประชากรสัตว์, วิกฤตของตลาดหุ้น, สงคราม และตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการแฟชั่น และวงการศิลปะ (ซึ่งผมอยากจะขอเพิ่มหัวข้อของการปฏิวัติเอาไว้ในลำดับของกรณีตัวอย่างเหล่านี้ด้วย)

บรรดาตัวอย่างที่ยกมานี้ดูเหมือนว่ามันจะไม่มีความเชื่อมโยงใดๆถึงกันได้เลย แต่แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎแบบเดียวกัน ซึ่งอาจจะแสดงออกมาได้ผ่านสมการทางคณิตศาสตร์ที่เราเรียกว่ากฎของอำนาจ (power law) ซึ่งสมการหรือสิ่งเหล่านี้นั้นในทางคำศัพท์แบบมาร์กซิสต์แล้วเราเรียกมันว่ากฎของการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพ และสิ่งที่การศึกษาเรื่องนี้แสดงออกมาให้เห็นก็คือกฎที่เราพูดถึงนี้ดำรงอยู่ในทุกหนทุกแห่ง หรือกล่าวได้ว่า มันเป็นการแสดงให้เห็นว่ามันดำรงอยู่ในทุกระดับของจักรวาล และกฎนี้คือกฎสากลของธรรมชาติดังเช่นที่เองเกลได้กล่าวเอาไว้

 

วิภาษวิธี กับ ประจักษ์นิยม

“เอาข้อเท็จจริงมาให้เราดูสิ!” นี่คือคำสั่งแบบเผด็จการที่ปรากฏออกมาเสมือนว่าจะเป็นปฏิบัติการขั้นสูงสุดของพวกสัจจะนิยม พวกเขามักจะถามว่ามันจะมีอะไรที่เป็นรูปธรรมยิ่งไปกว่าข้อเท็จจริง? แต่คำถามหรือคำตอบในมุมมองที่ปรากฏว่าถูกต้องในมุมมองแบบสัจจะนิยมนั้นย่อมจะกลายไปเป็นสิ่งซึ่งตรงกันข้าม สิ่งใดก็ตามที่สถาปนาข้อเท็จจริงขึ้นในห้วงเวลาหนึ่งนั้นสามารถที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่นที่แตกต่างออกไปอย่างมากได้ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นดำรงอยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ และไม่ว่าจะช้าหรือเร็วสรรพสิ่งต่างๆย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวมันเอง

มรรควิธีแบบวิภาษวิธีนั้นได้พาเราเจาะทะลุผ่านการปรากฏไปสู่สิ่งที่เหนือกว่าและทำให้เรามองเห็นกระบวนการที่อยู่ภายในเปลือกนอก วิภาษวิธีนั้นเป็นสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ขั้นแรกของวิทยาศาสตร์ของการเชื่อมต่อระดับสากลทั้งหมด มันได้สร้างมุมมองที่ครอบคลุมและเป็นพลวัตรที่มีต่อกระบวนการและปรากฏการณ์ มันวิเคราะห์สิ่งต่างๆออกมาในความสัมพันธ์ของตัวมันไม่ใช่การแบ่งแยก วิเคราะห์การเคลื่อนที่ของมันไม่ใช่การหยุดนิ่ง และวิเคราะห์ชีวิตของสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ตาย

องค์ความรู้ของวิภาษวิธีนั้นหมายถึงความเป็นอิสระจากการสวดบูชาอย่างทาสของการสถาปนาข้อเท็จจริง ของสิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการคิดเชิงประจักษ์นิยมแบบผิวเผิน ในแง่การเมืองแล้วนี่เป็นเพียงลักษณะของลัทธิปฏิรูปนิยมที่พยายามที่จะปกปิดความเป็นอนุรักษ์นิยม ความขาดวิสัยทัศน์ และความขี้ขลาดของตัวเองเอาไว้และซ่อนมันเอาไว้เบื้องหลังสิ่งที่เรียกในทางภาษาแบบปรัชญาได้ว่าเป็นนักปฏิบัตินิยม, ศิลปะของความเป็นไปได้, “ความเป็นจริง” ฯลฯ

วิภาษวิธีนั้นเป็นสิ่งที่เปิดทางให้เราสามารถผ่านทะลุสิ่งที่ดำรงอยู่ สิ่งที่สัมผัสในทันที หรือก็คือมันเปิดทางให้เราเข้าไปสู่สิ่งที่เหนือกว่าโลกของรูปลักษณ์ภายนอก และปลดเปลื้องให้เราสามารถมองเห็นกระบวนการที่ถูกปกปิดเอาไว้ซึ่งดำรงอยู่ภายใต้เปลือกนอกที่ห่อหุ้มมันเอาไว้ เราชี้ให้เห็นว่าภายใต้ภาพปรากฏของความเงียบสงบและความสงบนิ่งปราศจากการเคลื่อนไหวนั้น มันมีกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงในระดับย่อยอยู่ ไม่เฉพาะแต่ในโลกทางฟิสิกส์เท่านั้นหากแต่ยังเป็นเช่นเดียวกันกับโลกทางสังคมและในมิติทางจิตวิทยาของมวลชนอีกด้วย

มันเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดมาเมื่อไม่นานนักที่ผู้คนจำนวนมากนั้นเชื่อว่าความเจริญรุ่งเรืองนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ต่อไปชั่วนิรันดร มันได้กลายเป็นหรืออย่างน้อยคือพยายามจะกลายเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจจะตั้งคำถามต่อมันได้ และใครก็ตามที่ตั้งคำถามต่อข้อเท็จจริงนี้ย่อมจะถูกมองว่าเป็นเพียงคนบ้าไร้สาระ หากแต่ในปัจจุบันนี้ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจจะถูกตั้งคำถามได้นั้นได้กลายเป็นเพียงคำโกหกที่พังทลายลง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นด้านตรงข้ามกับตัวมันเอง อะไรที่เคยเป็นความจริงที่ไม่อาจจะโต้แย้งได้ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นคำโกหกหลอกลวง ซึ่งในภาษาแบบเฮเกลนั้นกล่าวได้ว่า : ความเป็นเหตุเป็นผลนั้นได้กลายไปเป็นความไม่เป็นเหตุเป็นผล

เฟรดริก เองเกลนั้นเป็นผู้แรกที่ใช้มรรควิธีแบบวิภาษวิธีตั้งแต่เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน ซึ่งทำให้เขาสามารถมองเห็นและเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่จำนวนมากที่ไกลกว่าเพดานขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในยุคเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่เองเกลเสนอในยุคของเขานั้นได้ถูกพิสูจน์ความถูกต้องออกมาแล้วโดยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แน่นอนว่าเองเกลนั้นไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่อง หากแต่เขาเป็นเพียงผู้ที่มีองค์ความรู้กว้างไกลในเรื่องวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในช่วงเวลาของเขาเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม จากพื้นฐานของความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่มีต่อมรรควิธีในการวิเคราะห์แบบวิภาษวิธีของเองเกลนั้น เองเกลได้สร้างคุณูปการจำนวนมหาศาลให้กับการตีความแบบปรัชญาที่มีต่อวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน แม้ว่าการตีความแบบดังกล่าวนั้นจะยังคงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในแวดวงวิทยาศาสตร์ได้จนกระทั่งในปัจจุบัน

แน่นอนว่า ปรัชญานั้นไม่สามารถที่จะกำหนดหรือบังคับควบคุมกฎของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้ กฎดังกล่าวนี้สามารถแต่เพียงที่จะพัฒนาต่อบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ที่จริงจังและเข้มงวดต่อธรรมชาติ ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์นั้นก็ถูกกำหนดลักษณะโดยความต่อเนื่องของความคล้ายคลึงกัน ด้วยการทดลองและการสังเกตอย่างต่อเนื่องนั้นย่อมจะทำให้เราสามารถเข้าใกล้ความเป็นจริงเข้าไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่เคยที่จะขยับเข้าไปใกล้การรับรู้ความจริงทั้งหมดทั้งมวล นี่เป็นกระบวนการที่ไม่มีที่สิ้นสุดของการเจาะลึกเข้าไปในความลับของวัตถุและจักรวาลที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ ความจริงของทฤษฎีวิทยาศาสตร์นั้นจะสามารถสถาปนาขึ้นได้ก่อต่อเมื่อมันทำผ่านการปฏิบัติการ การสำรวจและการทดลองเท่านั้น มิใช่โดยผ่านการบัญญัติหรือการกำหนดของปรัชญา

ปมปัญหาจำนวนมากที่นักปรัชญาถกเถียงกันมาอย่างหนักในอดีตนั้นได้ถูกพิสูจน์แล้วด้วยวิทยาศาสตร์ แต่กระนั้นก็ตามมันก็ยังคงมีความผิดพลาดที่ร้ายแรงอยู่ในการที่จะตีเสียว่าปรัชญานั้นไม่มีบทบาทใดๆต่อวิทยาศาสตร์เลย มันจึงมีมุมมองต่อปรัชญาในสองแง่มุมที่ยังคงมีคุณค่าอยู่ในปัจจุบันซึ่งไม่ถูกควบรวมเข้าไปเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์นั่นคือ ระบบตรรกะทั่วไป และ วิภาษวิธี

เองเกลนั้นได้ยืนยันว่า “วิภาษวิธี ที่ปลงเปลื้องภาพมายาทิ้ง ได้กลายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นไม่อาจจะขาดได้” สำหรับวิทยาศาสตร์ วิภาษวิธีนั้นแน่นอนว่าตัวมันเองไม่ได้มีอำนาจวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดของวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ได้ แต่กระนั้นก็ตามปรัชญาที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงต่อกันได้นั้นย่อมจะกลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่สามารถช่วยเหลือในการนำทางการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ให้ดำเนินไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องและป้องกันไม่ให้วิทยาศาสตร์นั้นตกไปสู่การสรุปข้อเท็จจริงตามอำเภอใจและจากการเสนอสมมติฐานที่เพ้อฝันที่ไม่ได้นำไปสู่อะไรเลย ปมปัญหาจำนวนมากที่เผชิญอยู่เบื้องหน้าวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนั้นถือกำเนิดขึ้นอันเนื่องมาจากการขาดเค้าโครงทางปรัชญาอันเป็นรากฐานสำคัญของวิทยาศาสตร์

 

วิภาษวิธี และ วิทยาศาสตร์

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากนั้นมองปรัชญาอย่างดูถูกเหยียดหยาม และตราบเท่าที่ปรัชญาสมัยใหม่นั้นยังคงถูกพิจารณาอยู่ การดูถูกนี้ย่อมจะกลายเป็นสิ่งที่มันสมควรได้รับ ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งร้อยห้าสิบปีที่ผ่านมาปริมณฑลของปรัชญานั้นเป็นเสมือนกับทะเลทรายอันแห้งแล้งที่มีเพียงร่องรอยอันเลือนรางของความมีชีวิต ขุมสมบัติที่ถูกซุกซ่อนไว้ของอดีต พร้อมกับความรุ่งเรืองในยุคโบราณของมันและความแวววาวของการอภิปราย กลายเป็นสิ่งที่เลือนหายและแตกดับลงไป ไม่เฉพาะแต่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้นหากแต่กระทั่งคนธรรมดาทั่วไปก็ย่อมจะมองว่าปรัชญานั้นเป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่สามารถจะอธิบายอะไรได้

กระนั้นเองการดูถูกเหยียดหยามปรัชญาของนักวิทยาศาสตร์นั้นก็ไม่ได้มีรากฐานที่มั่นคง ถ้าหากว่าเราพิจารณามันอย่างจริงจังในระดับขั้นของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ – หรือกล่าวให้แม่นยำคือการพิจารณาสมมุติฐานและสิ่งหนุนหลังทางทฤษฎีของมันแล้ว เราย่อมจะมองเห็นว่าวิทยาศาสตร์นั้นในความเป็นจริงแล้วมันไม่เคยเป็นอิสระจากปรัชญาเลย

นักวิทยาศาสตร์ผู้ภาคภูมิใจในตัวเองว่าพวกเขานั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากปรัชญานั้นในความเป็นจริงแล้วพวกเขากำลังทำทุกสิ่งที่มีลักษณะเป็นสมมุติฐานที่มีความเป็นปรัชญาในเชิงลักษณะของมัน และในข้อเท็จจริงแล้วปรัชญาที่ไร้จิตสำนึกและขาดการวิพากษ์นี้ไม่ใช่สิ่งที่มีอำนาจเหนือหรือมีลักษณะนำในธรรมเนียมทางปรัชญาแบบดั้งเดิม หากแต่เป็นสิ่งที่ด้อยกว่าและไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นมันยังเป็นต้อเหตุให้เกิดความผิดพลาดในเชิงปฏิบัติอีกจำนวนมาก

ความก้าวหน้าอันโดดเด่นของวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้นกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ปรัชญานั้นกลายไปเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่ไร้สาระ ในโลกที่เรานั้นสามารถเดินทางไกลออกไปในอวกาศได้และสามารถที่จะติดตามสังเกตการเคลื่อนไหวอันซับซ้อนของอะตอมขนาดย่อยได้ บรรดาคำถามเก่าแก่ของนักปรัชญาย่อมจะถูกตอบและแก้ไขปมปัญหาทางปรัชญาไปจนหมดสิ้น ในทางเดียวกันนั้นบทบาทความสำคัญของนักปรัชญาก็ย่อมจะถูกลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราต้องตอกย้ำอีกครั้งก็คือมันยังคงมีพื้นที่สำคัญสองพื้นที่ที่ปรัชญายังคงมีความสำคัญอยู่นั่นคือ ในพื้นที่ของตรรกะทั่วไป และ วิภาษวิธี

ความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ในการประยุกต์ใช้มรรควิธีแบบวิภาษวิธีต่อประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์นั้นถูกเผยแพร่ออกมาในปี 1962 ผ่านงานเขียนอันโด่งดังของ TS Kuhn เรื่อง The Structure of Scientific Revolutions งานชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่ใกล้เคียงกับความเป็นกลไกว่ามันยึดกุมกันอยู่อย่างไร “ทุกสิ่งที่ดำรงอยู่นั้นจำเป็นจะต้องสลายตัวลง” คำกล่าวนี้ไม่เพียงจะถูกใช้กับสิ่งมีชีวิตเท่านั้นหากแต่ยังถูกนำไปใช้ต่อทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ด้วย

ตามข้อเท็จจริงแล้ว เองเกลนั้นเสนอความคิดและมุมมองทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่แตกต่างอย่างมากจากผู้คนที่ร่วมสมัยกับเขา (อย่างเช่นความคิดของนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยกับเองเกล) เขาไม่เพียงแต่จะอธิบายถึงความเคลื่อนไหว (พลังงาน) ว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะแยกออกจากวัตถุได้เท่านั้น หากแต่ยังอธิบายว่าความแตกต่างระหว่างวิทยาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่จะก่อขึ้นได้เพียงภายในการศึกษารูปแบบที่หลากหลายของพลังงานและการเปลี่ยนผ่านแบบวิภาษวิธีจากรูปแบบทางพลังงานแบบหนึ่งไปสู่รูปแบบอื่น นี่คือสิ่งที่เรารู้จักกันในปัจจุบันในนามของการแปลงสถานะ (phase transition)

วิวัฒนาการทั้งมวลของวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ยี่สอบนั้นเป็นสิ่งที่ปฏิเสธการแบ่งองค์ความรู้เป็นแต่ละส่วนแบบดั้งเดิม (old compartmentalisation) และเลือกที่จะหยิบใช้เอากระบวนการเคลื่อนผ่านแบบวิภาษวิธีจากวิทยาศาสตร์ในรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่งแทน ในยุคสมัยของมาร์กซ์และเองเกลข้อเสนอของพวกเขาได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ศัตรูของพวกเขา ด้วยการที่ทั้งสองนำเสนอว่าความแตกต่างระหว่างสสารอินทรีย์และสสารอนินทรีย์นั้นมีความสัมพัทธ์ต่อกัน พวกเขาอธิบายว่าสสารอินทรีย์นั้น – สิ่งมีชีวิตเริ่มแรก – เป็นสิ่งที่พัฒนาออกมาจากสสารอนินทรีย์ในห้วงเวลาที่แน่นอนห้วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพแสดงตัวแทนของการก้าวกระโดดเชิงคุณภาพในการวิวัฒนาการ พวกเขากล่าวว่าสัตว์ต่างๆ อันหมายรวมถึงมนุษย์ที่มีความคิด มีจิตใจ และมีความเชื่อนั้นก็นับได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่ซับซ้อนของสสารต่างๆในวิถีทางของการรวมตัวที่แน่นอน

ความแตกต่างระหว่างสสารอินทรีย์และสสารอนินทร์ ที่ค้านท์นำเสนอว่ามันเป็นกำแพงแยกขาดที่ไม่อาจจะข้ามผ่านไปได้นั้นได้ถูกทำลายลง ดังเช่นที่ Feynman นั้นชี้ให้เห็นว่า “ทุกสรรพสิ่งนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยอะตอม และนี่นับว่าเป็นสมมุติฐานสำคัญ ยกตัวอย่าง สมมุติฐานที่มีความสำคัญที่สุดในทางชีววิทยานั้นคือการตั้งสมมุติฐานว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่สัตว์กระทำ อะตอมก็จะทำด้วย หรือกล่าวในอีกทางหนึ่ง มันไม่มีสิ่งใดเลยที่สิ่งมีชีวิตได้กระทำลงไปแล้วจะไม่สามารถถูกทำความเข้าใจได้จากจุดยืนมุมมองที่ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาจากอะตอม ซึ่งจะกระทำการต่างๆในทิศทางที่สอดคล้องอยู่กับกฎทางฟิสิกส์” (R. Feynman, Lectures on Physics)

ในมุมมองแบบวิทยาศาสตร์นั้นมองว่า มนุษย์คือสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากการรวมตัวกันของอะตอมที่จัดเรียงตัวกันในทิศทางและรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง หากแต่มันก็ไม่ใช่เพียงการรวมตัวกันของอะตอมเท่านั้น ร่างกายของมนุษย์นั้นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนอย่างพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนอวัยวะอย่างสมองของมนุษย์ อันเป็นโครงสร้างและการทำงานของสิ่งที่เราเพียงแต่เริ่มต้นที่จะทำความเข้าใจต่อมันเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นอะไรบางสิ่งที่ห่างไกลจากภาพอันสวยงามและมหัศจรรย์ในเทพนิยายปรัมปราของศาสนา

ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่มาร์กซ์นั้นได้นำเสนอการปฏิวัติในปริมณฑลทางเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้น ดาวินก็กำลังกระทำในสิ่งเดียวกันในปริมณฑลทางชีววิทยา และมันไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใดที่ในขณะที่ข้อเสนอของดาวินนั้นได้สร้างพายุของความไม่พอใจและความไม่เข้าใจต่อสิ่งที่เขาเสนอขึ้นอย่างใหญ่หลวงนั้น ในทันทีทันใดนั้นเองมาร์กซ์และเองเกลกลับสามารถทำความเข้าใจต่อข้อเสนอของดาวินได้อย่างรวดเร็วในฐานะงานชิ้นเอกของความคิดแบบวิภาษวิธี แม้ว่าตัวดาวินเองจะไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ก็ตาม และคำอธิบายสำหรับเรื่องตลกอันย้อนแย้งนี้ก็คือการที่กฎของวิภาษวิธีนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้ในทันที หากแต่เป็นการสะท้อนถึงกระบวนการบางอย่างที่ดำรงอยู่อย่างแท้จริงในธรรมชาติและในสังคม

การค้นพบระบบพันธุกรรมนั้นได้เปิดเผยให้เห็นถึงกลไกที่แท้จริงที่ทำหน้าที่กำหนดการเปลี่ยนผ่านของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่งไปสู่สปีชีส์อื่นๆ การศึกษาจีโนมของมนุษย์นั้นได้เปิดทางไปสู่มิติใหม่ให้กับงานของดาวิน เป็นการแสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นมีลักษณะทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบพื้นฐานจำนวนมาก กระทั่งกับแบคทีเรีย ในช่วงไม่กี่ปีถัดมานั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้นำเสนอผลงานการทดลองที่จะสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาจากสสารอนินทรีย์ อันจะเป็นการหักล้างความเชื่อเรื่องผู้สรรสร้างขั้นสูงอย่างเช่นพระเจ้าลงไปในที่สุด

นับเป็ฯห้วงเวลายาวนานอย่างมากที่นักวิทยาศาสตร์นั้นต่างก็ถกเถียงกันว่าการเกิดสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ๆขึ้นมานั้นเป็นผลมาจากห้วงเวลาอันยาวนานของการพัฒนาอย่างเชื่องช้าทีละเล็กละน้อย หรือเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในห้วงเวลาฉับพลัน จากจุดยืนมุมมองแบบวิภาษวิธีนั้นเรามองว่ามันไม่มีความขัดแย้งใดๆเลยระหว่างข้อเสนอทั้งสองแบบที่กล่าวมา ห้วงเวลาอันยาวนานของการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุล (การเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณ) นั้นย่อมจะไปถึงจุดวิกฤตของตัวมันเองที่จะก้อให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่าการก้าวกระโดดเชิงคุณภาพขึ้นมาอย่างฉับพลันทันที

มาร์กซ์และเองเกลนั้นเชื่อว่าทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นหลักฐานพิสูจน์ที่ชัดเจนของข้อเท็จจริงที่ว่าการทำงานของธรรมชาตินั้นมีลักษณะที่เป็นวิภาษวิธีอย่างถึงที่สุด กล่าวคือ มันเป็นการทำงานผ่านการพัฒนาการ ผ่านความขัดแย้ง ในช่วงเวลาประมาณสามทศวรรษที่ผ่านมา ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างแรงกล้าจากสถาบันที่มีเกียรติอย่าง British Museum ที่นำเสนอการอภิปรายอย่างแหลมคมซึ่งทำลายความเงียบงันที่มีมากว่าศตวรรษลงไป และข้อโต้แย้งหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาโจมตีการอภิปรายปกป้องความคิดเรื่องการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเชิงคุณภาพของห่วงโซ่ของการวิวัฒนาการก็คือการกล่าวหาว่านี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า British Museum นั้นถูกความคิดแบบมาร์กซิสต์เข้าแทรกแซงครอบงำไปแล้ว!

อย่างไรก็ตาม วิชาชีววิทยานั้นไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะต้องยอมรีบความคิดเรื่องการวิวัฒนาการแบบเก่า ที่เป็นการวิวัฒนาการอย่างเชื่องช้า ค่อยเป็นค่อยไป เป็นกระบวนการที่เป็นเส้นตรงและไม่มีการสะดุดหยุดนิ่ง และปราศจาการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และยอมรับความคิดเรื่องการก้าวกระโดดทางปริมาณที่ถูกกำหนดลักษณะโดยการสูญพันธุ์ลงไปของสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์และการกำเนิดขึ้นมาของสายพันธุ์ใหม่ๆ ในวันที่ 17 เมษายน ปี 1982 นั้น The Economist ได้เผยแพร่บทความเนื่องในโอกาสครอบรอบร้อยปีของดาวินที่มีเนื้อหาบางส่วนดังนี้

“มันย่อมจะเป็นเรื่องที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าการเกิดการผ่าเหล่าเล็กๆที่ส่งผลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงระดับสำคัญของการพัฒนาการนั้นย่อมจะเป็นต้นตอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิวัฒนาการขนาดใหญ่ขึ้น (ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนแปลงขนาดเล็กในวิถีของการปฏิบัติการของพันธุกรรมนั้นย่อมจะนำไปสู่การขยายตัวของขนาดสมองอย่างมีนัยสำคัญ) หลักฐานทั้งหลายที่สนับสนุนเรื่องนี้นั้นถูกรวบรวมและนำเสนออย่างชัดเจนผ่านการที่พันธุกรรมจำนวนมากนั้นมีลักษณะของการผ่าเหล่าอย่างเชื่องช้าแต่ว่าเป็นการผ่าเหล่าอย่างคงที่ ดังนั้นแล้วนักวิทยาศาสตร์จึงได้ยุติข้อถกเถียงที่ว่า สิ่งมีชีวิตต่างๆนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างคงที่และต่อเนื่องอย่างเชื่องช้าในห้วงเวลาอันยาวนาน หรือ สิ่งมีชีวิตนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเลยเป็นห้วงเวลายาวนานก่อนจะเกิดการวิวัฒนาการอย่างฉับพลันขึ้น ด้วยการนำเสนอว่ามันอาจจะมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงทั้งสองแบบนี้ดำรงอยู่ร่วมกันก็ได้”

รูปแบบของทฤษฎีวิวัฒนาการแบบเก่านั้นยังคงยืนยันว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงสปีชีส์ขึ้นก็แต่เพียงในรูปแบบที่ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนเช่นการที่การผ่าเหล่าทางพันธุกรรมนั้นถือกำเนิดขึ้นและจะถูกคดเลือก อย่างไรก็ตามทฤษฎีใหม่ที่นำเสนอขึ้นโดย Stephen Jay Gould และ Niles Eldridge ที่ถูกเรียกว่าเป็น “punctuated equilibrium” ที่สอดคล้องกับการเสนอว่าความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมนั้นจะกำเนิดขึ้นผ่านการก้าวกระโดดอย่างฉับพลัน และนับเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งที่ Stephen Jay Gould นั้นได้นำเสนอและชี้ให้เห็นว่าถ้าหากนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกับสิ่งที่เองเกลได้เขียนเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์เอาไว้ให้มากกว่านี้ พวกเขาคงไม่ต้องเสียเวลานับร้อยปีไปกับการวนเวียนอยู่ในข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาด.

 

การล้มละลายของประเทศทั้งมวล

ระยะแรกเริ่มของวิกฤตที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2008 นั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดลักษณะโดยการเพิกเฉยของธนาคารขนาดใหญ่ ระบบธนาคารทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆในโลกนั้นถูกรักษาเอาไว้ด้วยการอัดฉีดเงินนับพันล้านดอลลาห์และพันล้านยูโรจากรัฐ หากแต่คำถามที่ควรจะถูกตั้งขึ้นก็คือ ความคิดแบบเก่าเรื่องระบบตลาดเสรีนั้นยังคงมีค่าเหลืออยู่อีกหรือไม่ และถ้าหากว่ามันยังคงมีค่าอยู่แล้วมันจะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ได้หรือไม่? แล้วความคิดเก่าที่เสนอว่ารัฐไม่ควรเข้ามายุ่งย่ามในการทำงานทางเศรษฐกิจอีกล่ะ?

การอัดฉีดเงินสาธารณะจำนวนมากนั้นไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรเลย วิกฤตยังคงเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการแก้ไข หากแต่เป็นเพียงการเปลี่ยนจากวิกฤตหนึ่งไปสู่วิกฤตใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นก็เนื่องมาจากการขาดทุนจำนวนมหาศาลของธนาคารที่เป็นเสมือนหลุมดำในทางการเงินสาธารณะ แล้วใครกันที่จะต้องเป็นคนจ่ายเงินเพื่อชดใช้ในเรื่องนี้? แน่นอนว่ามันย่อมไม่ใช่พวกนายธนาคารผู้มั่งมี ผู้เป็นเสมือนประธานของการทำลายล้างระเบียบทางการเงินโลก ที่กำลังสะสมเงินตอบแทนจำนวนมากลงกระเป๋าตนเองและกำลังเสวยสุขพร้อมเงินโบนัสที่ตนเองได้มา

ไม่เลย! การขาดทุนที่เกิดจากบรรดานายธนาคารที่นักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองพากันพร่ำบ่นอยู่ว่าเป็นเรื่องร้ายแรงนั้น กลับกลายเป็นภาระที่คนยากจนและบรรดาผู้ได้ความมั่นคงทางสังคมต้องเป็นคนจ่าย และในทันทีทันใดนั้นเองมันก็ทำให้รัฐไม่มีเงินมากพอสำหรับดูแลบรรดาคนชรา, ผู้ป่วย, คนว่างงาน หากแต่มันกลับมีเงินจำนวนมหาศาลสำหรับอุดหนุนให้กับพวกนายธนาคารอยู่เสมอ นี่คือวิถีทางของระบบรัดเข็มขัดถาวร หากแต่นี่ก็เป็นเพียงการสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา ด้วยการตัดทอนความต้องการซื้อลงนี้ก็ทำให้เกิดการลดทอนของขนาดตลาดลงมากขึ้น และยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติมวิกฤตของการผลิตจนล้นเกิน

ในตอนนี้เองนักเศรษฐศาสตร์ก็เริ่มทำนายถึงการล่มสลายทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ ที่อัตราสกุลเงินและรัฐบาลนั้นจะล่มจมลง อันจะเป็นการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างอันเปราะบางของระบบการเงินโลก และถึงแม้ว่านักการเมืองทั้งหลายจะนำเสนอเรื่องความจำเป็นในการยับยั้งการขาดทุน หากแต่ระดับของหนี้ที่สะสมเอาไว้นั้นก็มีจำนวนมากเกินกว่าจะสามารถจ่ายคืนได้ กรีซนั้นเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนของข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ อนาคตอันใกล้ที่กำลังจะมาถึงนั้นจะเป็นยุคสมัยของวิกฤตที่รุนแรงและหนักหนาขึ้น เกิดความตกต่ำด้านมาตรฐานการดำรงชีพ เกิดความลำบากยากแค้นและปัญหาความยากขนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับความวุ่นวายที่มากขึ้นในอนาคตและการต่อสู้ทางชนชั้นในระดับที่สูงขึ้น นี่คือวิกฤตในเชิงระบบของระบบทุนนิยมในระดับโลก

พวกโซฟิส (sophists) บางคนอาจจะถามว่า “ถ้าหากว่าระบบสังคมนิยมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แล้วทำไมมันยังจำเป็นต้องมีคนที่ต่อสู้เพื่อให้ได้มันมากันล่ะ?” ถ้าตอบให้ตรงประเด็นที่สุดก็อาจจะกล่าวได้ว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะจะสร้างความมั่นใจแบบกำหนดนิยมและเข้าไปสู่การเป็นบทบาทนักปฏิวัติที่มุ่งมั่น ในศตวรรษที่สิบเจ็ดนั้น Calvinists นั้นเป็นพวกกำหนดนิยม พวกเขาเชื่อมั่นอย่างที่สุดในโชคชะตาที่ถูกกำหนดมาแล้ว พวกเขาเชื่อว่าชะตากรรมและนฤพานของมนุษย์ทุกคนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะเกิด

แต่ถึงกระนั้นก็ตามการกำหนดที่เป็นกฎเหล็กนี้ก็ไม่ได้ปกป้องกลุ่ม Calvinists จากการเป็นกลุ่มนักปฏิวัติที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการต่อสู้กับระบบศักดินาที่กำลังล่มสลาย และต่อสู้กับกลไกทางอุดมการณ์ของระบบศักดินานั่นคือโบสถ์โรมันคาทอลิก ที่มั่นเป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากการที่พวกเขานั้นเชื่อมั่นในความยุติธรรมและชัยชนะที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ของต้นตอของการต่อสู้ พวกเขาต่อสู้อย่างกล้าหาญมากขึ้นก็เพื่อเร่งให้เกิดชัยชนะที่มาถึงเร็วขึ้น

สังคมเก่านั้นกำลังตายลงด้วยตัวของมันเองและสังคมใหม่นั้นกำลังต่อสู้เพื่อที่จะกำเนิดขึ้นมา หากแต่ใครก็ตามที่ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากระบบสังคมเก่านั้นย่อมจะไม่ยอมรับต่อความจำเป็นที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ของเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่าบรรดาชนชั้นปกครองนั้นย่อมยินดีที่จะลากเอาสังคมทั้งมวลให้ล่มจมไปพร้อมกับ การยืดลมหายใจต่อไปของระบบทุนนิยมนั้นได้ก่อให้เกิดอันตรายอันร้ายแรงต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ ภารกิจของเราในวันนี้นั้นคือการช่วยเหลือการถือกำเนิดขึ้นของสังคมใหม่ และเพื่อทำให้มั่นใจว่ามันจะถือกำเนิดและลงหลักปักฐานอย่างรวดเร็วและง่ายดายที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยมีการสูญเสียให้น้อยที่สุด

ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับการใส่ร้ายจากบรรดาศัตรูของเรา นักมาร์กซิสต์นั้นไม่ใช่กลุ่มคนที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง หากแต่เราก็เป็นผู้ที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง และเรารู้ดีว่าประวัติศาสตร์ทั้งมวลที่ผ่านมาในช่วงหนึ่งพันปีนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มีชนชั้นปกครองหรือกลุ่มอภิสิทธิ์ชนใดที่จะยอมมอบอำนาจ ความมั่งคั่ง และอภิสิทธิ์ของชนชั้นตนและยอมศิโรราบโดยไม่ทำการต่อสู้ และนั่นย่อมหมายถึงการที่ชนชั้นปกครองนั้นย่อมจะต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิต และมันยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ในปัจจุบัน

มันเป็นเพราะการเสื่อมถอยของระบบทุนนิยมนี่เองที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยการสร้างความรุนแรงและหายนะจำนวนมากขึ้นทั่วโลก และเพื่อการที่จะลดทอนโอกาสเกิดความรุนแรง เพื่อที่จะยุติความวุ่นวายและสงคราม เพื่อยืนยันถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบสังคมนิยมอย่างสันติและมีระเบียบนั้น เงื่อนไขเบื้องต้นที่เราจำเป็นต้องมีก็คือชนชั้นแรงงานจะต้องขับเคลื่อนเพื่อการต่อสู้และจะต้องเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะ

 

“ถนนทุกสายมุ่งไปสู่ความหายนะ”

ภาพความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้นช่างตรงกันข้ามกับมโนภาพอันฟันเฟื่องที่มีไว้ปลอบประโลมเราว่าระบบทุนนิยมนั้นเป็นระบบที่จะหยิบยื่นอนาคตที่มั่นคงปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองให้แก่พวกเราทุกคน สิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบันนั้นคือความเป็นจริงของโลกที่ผู้คนนับล้านต้องทุกข์ทรมานจากความยากจนและความอดอยาก ในขณะที่บรรดามหาเศรษฐีนั้นกำลังร่ำรวยขึ้นในทุกๆวัน ผู้คนทั้งหลายนั้นอาศัยอยู่กับความหวาดกลัวต่ออนาคตที่ไร้ความมั่นคงซึ่งถูกกำหนดโดยวงจรอันป่าเถื่อนของระบบตลาด มิได้ถูกกำหนดโดยการตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลของผู้คนทั้งมวล

วิกฤตทางการเงิน, จำนวนคนว่างงานขนาดมหาศาล และความผันผวนทางการเมืองและสังคมที่เปลี่ยนให้ทุกอย่างกลับพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมืออยู่เสมอ นี่คือปัญหาที่เราพบเจออยู่ในปัจจุบัน มันสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะต้องถูกแก้ไขและสามารถแก้ไขได้อย่างถาวรภายในชั่วข้ามคืนตามมุมมองของผู้คน ซึ่งนี่เองคือสิ่งที่ทำให้ผู้คนเริ่มจะตั้งคำถามต่อสิ่งที่เขาเผชิญ สภาพการณ์ของความไม่สงบและความระส่ำระสายนี้เองคือสิ่งที่จะช่วยตระเตรียมจิตวิทยาขั้นพื้นฐานสำหรับการปฏิวัติ ที่ในท้ายที่สุดแล้วการปฏิวัตินั้นจะกลายเป็นเพียงตัวเลือกเดียวเท่าที่ผู้คนจะสามารถจินตนาการออกหรือนึกฝันถึงได้ ในแง่นี้เราสามารถจะยกเอากรณีของประเทศกรีซขึ้นมาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนกรณีหนึ่งได้

ผู้คนทั้งหลายนั้นต่างก็รับรู้ดีว่าระบบทุนนิยมนั้นกำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤต หากแต่คำถามคืออะไรคือวิธีการในการแก้ไขวิกฤตนี้กัน? ถ้าหากว่าระบบทุนนิยมนั้นคือระบบอันไร้ระเบียบและเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงที่ในท้ายที่สุดแล้วมันจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะเดินหน้าไปสู่วิกฤตได้แล้ว เราก็ควรจะสรุปได้ว่าการที่จะทำลายวิกฤตทั้งหลายลงได้นั้นมันจำเป็นจะต้องทำลายระบบทุนนิยมลงไปด้วย มันเหมือนกับว่าถ้าหากคุณพูดว่า “A” คุณก็จำเป็นจะต้องพูดถึง “B” “C” และ “D” ด้วย หากแต่กระบวนการเหล่านี้คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีปฏิเสธที่จะทำมัน

คำถามที่น่าสนใจข้อถัดมาก็คือ แล้วในปัจจุบันนี้มันไม่มีกลไกใดๆเลยหรือที่จะทำให้ชนชั้นกระฎุมพีนั้นสามารถนำพาเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมให้หลุดพ้นออกจากวิกฤตของการผลิตจนล้นเกินได้? แน่นอนว่ามันมีอยู่อย่างแน่นอน! วิธีการหนึ่งก็คือการลดอัตราผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนลงเพื่อเร่งอัตราผลกำไรและกระตุ้นการลงทุน หากแต่อัตราผลประโยชน์ในปัจจุบันนี้ก็ขยับจนแทบจะเข้าใกล้ศูนย์ไปเต็มทีแล้ว หากจะลดอัตราส่วนนี้ลงเพิ่มเติมอีกเราอาจจะต้องพูดถึงอัตราส่วนผลประโยชน์ที่เป็นลบ นั่นหมายความว่าบรรดาธนาคารสถาบันทางการเงินต่างๆจะต้องจ่ายเงินเพิ่มให้กับผู้ที่มาขอกู้เงินไป แน่นอนว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องบ้าบอทั้งเพ หากแต่พวกเขาก็เคยมีการอภิปรายเรื่องนี้กันอยู่ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังอยู่ในสภาวะสิ้นหวังเข้าตาจน

ส่วนวิธีการอื่นนั้นก็คือการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งนี่เป็นวิธีการที่บรรดาเคนส์เชียน และบรรดานักปฏิรูปนั้นต่างก็เรียกร้องหา ซึ่งในแง่แรกนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาแบบนี้เป็นการตีแผ่ให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี แสดงให้เห็นว่าภาคส่วนเอกชนนั้นอ่อนแอ และไร้พละกำลัง ซึ่งทำให้มันต้องหันมาขอพึ่งพาอาศัยรัฐเช่นเดียวกับชายผู้ไม่มีขาที่ต้องพึ่งพาไม้ค้ำยันในการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามวิธีการแก้ไขปัญหาแบบนี้ก็ไม่ได้เสนอทางออกใดๆเช่นกัน

นี่เป็นความจริงที่ชัดเจนว่าในทุกวันนี้บรรดามหาเศรษฐีและธนาคารต่างๆ จำเป็นจะต้องพึ่งพาอาศัยรัฐเพื่อความอยู่รอด ในห้วงเวลาที่ตัวเองกำลังตกที่นั่งลำบาก หากแต่คนพวกนี้เองนั้นเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่เคยประกาศว่ารัฐนั้นไม่ควรเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้พวกเขากลับวิ่งโร่หน้าตั้งเข้าไปหารัฐพร้อมแบมือที่ว่างเปล่าตีหน้าเศร้าเรียกร้องขอเงินอุดหนุนขนาดใหญ่จากรัฐ และรัฐบาลนั้นก็อนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลให้แก่พวกเขาแทบจะทันที งบประมาณสาสาธารณะจำนวนหลายพันล้านปอนด์นั้นถูกส่งมอบให้กับบรรดาธนาคารต่างๆ ซึ่งเมื่อนับรวมแล้วอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 13 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ หากแต่วิกฤตของระบบทุนนิยมนั้นกลับดำเนินต่อไปอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมดที่กระทำมาตลอดช่วงสี่ปีที่ผ่านมานั้นคือการเปลี่ยนผ่านสิ่งที่เป็นเสมือนหลุมดำทางการเงินของธนาคารให้กลายมาเป็นหลุมดำของการเงินสาธารณะ เพื่อจะปกป้องบรรดาธนาคารต่างๆเอาไว้นั้น พลเมืองทุกคนถูกคาดหวังให้ต้องเสียสละ แต่สำหรับพวกนายธนาคารและบรรดานายทุนแล้วพวกเขากลับไม่ต้องเสียสละอะไรทั้งสิ้น พวกชนชั้นนายทุนเหล่านี้ยังกลับสำเริงสำราญอยู่กับเงินที่มาจากบรรดาผู้จ่ายภาษี พวกเขานั้นเป็นเสมือนโรบินฮู้ดในด้านกลับดีๆนี่เอง

การดำรงอยู่ของงบประมาณขาดดุลขนาดใหญ่ของภาครัฐนั้นแสดงให้เห็นว่าวิธีการแก้ไขปัญหาแบบเคนส์เชียนว่าด้วยการเพิ่มงบประมาณภาครัฐนั้นพังทลายลงด้วยตัวของมันเอง รัฐนั้นจะสามารถใช้จ่ายเงินที่มันไม่ได้เป็นเจ้าของได้อย่างไร? หนทางเดียวที่เปิดกว้างให้กับมันนั้นก็คือการพิมพ์เงินเพิ่ม หรือ ในอีกชื่อเรียกหนึ่งที่ดูสละสลวยกว่าก็คือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing – QE.) การอัดฉีดทุนเทียมจำนวนมากเหล่านี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนั้นอยู่ภายใต้กฎของผลตอบแทนที่ลดลง มันส่งผลกระทบที่คล้ายคลึงกับผู้เสพยาที่ฉีดยาเสพติดจำนวนมากขึ้นให้กับตัวเองเพื่อที่จะเข้าถึงผลในรูปแบบเดิม ในทางเดียวกันกระบวนการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบนี้ก็เป็นเสมือนการวางยาพิษให้กับระบบและเป็นการบ่อนทำลายตัวระบบเอง

สิ่งที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการแก้ปัญหาที่สิ้นหวังซึ่งในไม่ช้าไม่นานมันจะส่งผลออกมาในการขยายตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ในวิถีทางนี้เองมันคือการเตรียมปัจจัยพื้นฐานสำหรับการเกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงและลึกขึ้นในห้วงเวลาถัดไป นี่เป็นผลลัพธ์ที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ของข้อเท็จจริงที่ว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นระบบทุนนิยมได้พยายามเดินทางไปไกลกว่าข้อจำกัดของตัวมันเอง และเพื่อที่จะเลื่อนเวลาของความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึงให้ไกลออกไปที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเขาจึงหยิบใช้กลไกจำนวนมากมายที่พวกเขาต้องการเพื่อที่จะหลึดพ้นออกไปจากวิกฤตในปัจจุบัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมวิกฤตในแต่ละรอบของระบบทุนนิยมจึงเป็นวิกฤตที่รุนแรงขึ้นและแก้ไขยากขึ้นในทุกๆครั้ง ดังเช่นที่มาร์กซ์ได้อธิบายเอาไว้ว่า วิธีเดียวที่ชนชั้นนายทุนจะแก้ไขวิกฤตของพวกเขาได้นั้น “ก็ด้วยการปูทางไปสู่วิกฤตใหม่ที่ยิ่งใหญ่และอันตรายยิ่งกว่าเดิม และด้วยการลดทอนปัจจัยที่จะทำให้เกิดวิกฤตขึ้นมาใหม่ได้” (แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์)

ในอดีตนั้นศาสนจักรมักจะประกาศว่า “ถนนทุกสายมุ่งไปสู่โรม” หากแต่ในวันนี้ชนชั้นกระฎุมพีนั้นได้คำขวัญใหม่แล้วนั่นคือ ถนนทุกสายมุ่งไปสู่ความหายนะ นี่เป็นสิ่งที่เหลือจะคิดได้ว่าวิกฤตของระบบทุนนิยมซึ่งผลักให้โลกทั้งใบเข้าสู่ความวุ่นวาย วิกฤตที่ทำให้ผู้คนนับล้านกลายไปเป็นคนว่างงานที่ต้องตกระกำลำบากท่ามกลางความยากจนและความสิ้นหวัง วิกฤตที่ปล้นชิงเอาอนาคตไปจากคนรุ่นใหม่ และทำลายระบบประกันสุขภาพ, ที่พักอาศัย, ระบบการศึกษา และวัฒนธรรม – ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการสร้างวิกฤตทางการเมืองและสังคม วิกฤตของระบบทุนนิยมนั้นได้ตระเตรียมเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปฏิวัติเอาไว้ในทุกหนทุกแห่ง

และนี่ไม่ใช่ปัญหาที่รอการพิสูจน์ในทางทฤษฎีอีกต่อไป นี่คือข้อเท็จจริง ถ้าหากว่าเราลองมองย้อนกลับไปในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ลองบอกสิว่าเราจะเห็นอะไรบ้าง? สิ่งที่เราจะเห็นก็คือขบวนการปฏิวัติจำนวนมากนั้นได้เกิดขึ้นจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง จากตูนิเซีย, อียิปต์, กรีซ, สเปน กระทั่งในสหรัฐอเมริกานั้นเราก็ยังเห็นขบวนการเคลื่อนไหวของ #Occupy และกระทั่งการประท้วงใน Wisconsin

บรรดาเหตุการณ์เหล่านี้คือการแสดงออกที่ชัดเจนถึงข้อเท็จจริงที่ว่าวิกฤตของระบบทุนนิยมนั้นได้ก่อให้เกิดฟันเฟืองขนาดมโหฬารขึ้นในระดับโลก และจำนวนของผู้คนที่ต่อต้านระบบที่ขยายตัวขึ้นนั้นก็จะเป็นการเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การปฏิวัติในที่สุด ตราบเท่าที่บรรดาคนกลุ่มน้อยนั้นยังคงยึดครองเอาที่ดิน ธนาคาร และบริษัทขนาดใหญ่เอาไว้ในมือ มันย่อมจะเป็นสิ่งที่ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้านคนบนโลก ที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของบรรดาคนกลุ่มน้อยนั้น

ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ขยายถ่างจนกว้างเกินกว่าจะรับไหวนั้นดำรงอยู่และขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคม รากฐานของความฝันแบบเก่าของพวกลัทธิประชาธิปไตยสังคมถึงสันติสุขทางชนชั้นและความร่วมมือกันทางสังคมนั้นได้แตกสลายลงอย่างไม่อาจจะกู้คืนได้ ข้อเท็จจริงเหล่านี้นั้นได้ถูกสรุปออกมาโดยสโลแกนของกลุ่ม Occupy Wall Street ที่กล่าว่า “สิ่งหนึ่งที่พวกเราล้วนแล้วแต่เหมือนกันนั่นก็คือการที่พวกเราเป็นคนจำนวน 99 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่อาจจะยอมทนก้มหน้าฝืนต่อความฉ้อฉลและความละโมบโลภมากของได้พวกคน 1 เปอร์เซ็นต์นี้ได้อีกต่อไป”

ประเด็นก็คือขบวนการเคลื่อนไหวประท้วงในปัจจุบันนั้นยังคงสับสนในจุดมุ่งหมายของตัวเองอยู่ ขบวนการเหล่านี้ยังขาดการเชื่อมร้อยเข้าหากันและขาดการนำที่ชัดเจน หากแต่มันก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกโดยทั่วไปของผู้คนที่มีความโกรธซึ่งถูกสร้างขึ้นภายใต้หน้าฉากอันสงบของสังคมที่ในไม่ช้าไม่นานนั้นความไม่พอใจเหล่านี้ย่อมจะหาทางระเบิดออกมา อีกทั้งขบวนการเหล่านี้นั้นยังเป็นขบวนการที่ทำการต่อสู้เพื่อต่อต้านระบบทุนนิยมอีกด้วย และดังนั้นแล้วไม่ว่าจะช้าหรือเร็วคำถามว่าด้วยการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มระบบทุนนิยมนั้นจะต้องถูกเสนอขึ้นท่ามกลางสังคมอย่างแน่นอน

ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น ดังที่มาร์กซ์ได้อธิบายเอาไว้ว่า พลังการผลิตนั้นเป็นสิ่งที่สั่งสมประสบการณ์ของพัฒนาการที่น่าประทับใจที่สุดในประวัติศาสตร์เอาไว้ ในขณะที่ความคิดของบรรดาชนชั้นปกครองนั้น กระทั่งในห้วงเวลาของการปฏิวัติ มันก็ยังคงเป็นความคิดที่ล้าหลังกว่าความก้าวหน้าในการผลิต เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อยู่ไกลโขนัก.

 

การคุกคามต่อวัฒนธรรม?

ความแตกต่างระหว่างพัฒนาการอย่างรวดเร็วของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ ความเชื่องช้าอย่างน่าประหลาดใจในพัฒนาการของอุดมการณ์ของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่แสดงออกมาในรูปแบบที่ชัดเจนในประเทศทุนนิยมที่ก้าวหน้าที่สุดของโลก นั่นคือในสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกานั้นเป็นดินแดนที่วิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ความเจริญก้าวหน้าในเทคโนโลยีของสหรัฐนั้นถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปลดแอกครั้งสุดท้ายของมนุษย์ เป็นสิ่งที่จะทำลายล้างความยากจน และการไม่รู้หนังสือ, ความโง่เขลา, โรคภัยไข้เจ็บให้หายไป และสถาปนาการมีอำนาจของมนุษย์เหนือธรรมชาติผ่านการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน หนทางนั้นได้เปิดออกให้แก่เราไม่เพียงแต่บนโลกเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงในอวกาศอีกด้วย แต่กระนั้นเองในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นนี้ ความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติหรือเรื่องโชคลางก็ยังคงเป็นสิ่งที่มีอำนาจสูงอยู่ เก้าในสิบของชาวอเมริกันนั้นเชื่อถึงการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตศักดิ์สิทธิ์ และเจ็ดในสิบนั้นเชื่อในชีวิตหลังความตาย

ในวันคริสมาสต์ ปี 1968 เมื่อมนุษย์คนแรกนั้นสามารถบินรอบดวงจันทร์ได้ ซึ่งเขาจำเป็นจะต้องเลือกข้อความที่จะส่งกลับมาถึงชาวอเมริกันจากยานอวกาศของเขา โดยเขาเลือกจะใช้ข้อความจากหนังสือเล่มแรกในคัมภีร์แห่งปฐมกาล (The book of Genesis) จากหนังสือที่มีนับล้านบนโลกใบนี้ และที่นั่นเองท่ามกลางยานอวกาศที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทันสมัยและข้าวของสมัยใหม่ทั้ง นักบินอวกาศผู้นั้นก็ประกาศถ้อยคำประวัติศาสตร์โดยกล่าวว่า “ในจุดเริ่มต้นนั้นพระเจ้าได้สร้างสวรรค์และโลกของเราขึ้นมา” เป็นเวลากว่า 130 ปีแล้วหลังการเสียชีวิตของดาร์วิน กระนั้นก็ตาม มันก็ยังมีผู้คนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาที่เชื่อว่าทุกคำในไบเบิลนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างแท้จริง และยังมีคนอีกมากที่หวังจะให้โรงเรียนนั้นสอนการกำเนิดของมนุษย์ผ่านข้อความที่เขียนเอาไว้ในคัมภีร์แห่งปฐมกาล  มากกว่าที่จะให้สอนทฤษฎีวิวัฒนาการที่วางรากฐานอยู่บนการเสนอเรื่องการคัดสรรค์ทางธรรมชาติ และเพื่อที่จะทำให้ความคิดแบบนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นนั้น พวกเขาถึงกับพยายามเปลี่ยนชื่อเรียกของพระเจ้าให้กลายเป็น “ผู้สรรสร้างที่ทรงปัญญา” หากแต่คำถามหนึ่งก็ถูกตั้งขึ้นในทันทีเช่นเดียวกันนั่นคือใครเป็นผู้สรรสร้าง ผู้สรรสร้างที่ทรงปัญญาขึ้นมา? และแน่นอนว่าพวกเขาไม่คำตอบให้กับคำถามที่มีเหตุมีผลนี้ และก็ยังไม่สามารถอธิบายได้อีกด้วยว่าทำไม “ผู้สรรสร้างที่ทรงปัญญา” ของพวกเขาถึงได้สร้างโลกใบนี้ขึ้นมาอย่างมักง่ายนัก

เหตุใดเขาจึงสร้างโลกใบนี้ขึ้นมาพร้อมกับสิ่งต่างๆอย่างเช่น โรคมะเร็ง, กาฬโรค, โรคฝี, โรคเอดส์, การมีประจำเดือน และโรคไมเกรนด้วย? ทำไมเขาถึงสร้างพวกผีดูดเลือด, ปลิง และพวกนายธนาคารขึ้นมา? และลองคิดให้มากขึ้น เหตุใดมันจึงเป็นเรื่องที่ปรากฏขึ้นมาว่าพันธุกรรมของเรานั้นเป็นสิงที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากสิ่งไร้ประโยชน์ทั้งสิ้น? ในแง่นี้เองผู้สรรสร้างที่ทรงปัญญาของเรานั้นย่อมจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ทรงปัญญาในที่สุด ตามคำกล่าวของ Alfonso the Wise กษัตริย์แห่งคาสตีล (1221-1284) นั้นกล่าวว่า “ถ้าหากว่าฉันได้พบกับพระผู้สร้าง ฉันจะให้คำแนะนำที่มีประโยชน์แก่เขาเพื่อที่เขาจะได้สร้างสิ่งต่างๆทั้งหลายให้มันดียิ่งกว่านี้” อันที่จริง สติปัญญาโดยทั่วไปของเด็กอายุสิบเอ็ดขวบนั้นอาจจะสามารถทำงานนี้ได้ดียิ่งกว่าพระเจ้าเสียอีก

เป็นความจริงที่ว่าในปัจจุบันนี้อำนาจของศาสนานั้นกำลังเสื่อมถอยลงในประเทศตะวันตก ตัวเลขของผู้ศรัทธาในศาสนานั้นลดน้อยลงทุกวัน ในประเทศอย่างสเปนและไอร์แลนด์นั้นกำลังประสบกับความยากลำบากในการจะหานักบวชหรือบาทหลวงหน้าใหม่ การขยายฐานผู้ศรัทธาเองก็กำลังเสื่อมถอยลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาล้มเหลวในการชักชวนให้คนรุ่นใหม่กลายมาเป็นผู้ศรัทธาในศาสนา อย่างไรก็ตามความเสื่อมถอยของศาสนานั้นก็ได้เปิดทางกับความเชื่อแบบยุคโบราณเข้ามาแพร่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ที่เราจะสามารถสังเกตเห็นได้จากการที่สื่อต่างๆ ภาพยนตร์ กระทั่งร้านหนังสือนั้นก็เต็มไปด้วยสื่อและงานศิลป์ที่วางรากฐานอยู่บนเรื่องเหนือธรรมชาติ และเรื่องลี้ลับทั้งสิ้น

มันมีแต่เพียงสัญญาณการเสื่อมสลายของระบบสังคมภายนอกที่ดำรงอยู่ภายนอกตัวมันเองเท่านั้นที่ตัวมันนั้นยุติบทบาทการเป็นพลังก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ไปแล้วและตัวมันเองนั้นจะต้องก้าวเข้าสู่สภาวะของความขัดแย้งกับความต้องการพัฒนากำลังการผลิตอย่างแน่นอน ในแง่นี้เองการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานเพื่อที่จะผ่าเอาเนื้อร้ายที่เกิดจากสังคมกระฎุมพีออกไปนั้นจึงถือว่าเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องผลสัมฤทธิ์ของวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของมนุษยชาติจากการล่มสลายกลายเป็นความไร้อารยธรรมอันป่าเถื่อนอีกด้วย

ทางเลือกของมนุษยชาตินั้นถูกเปิดออกให้เราเลือกอย่างชัดเจนแล้วว่าเราจะเลือกอะไรระหว่าง การเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ระบบสังคมนิยม การทำลายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของชนชั้นกระฎุมพีลง และเริ่มต้นก้าวไปสู่พัฒนาการที่สูงขึ้นในพัฒนาการของอารยธรรมมนุษยชาติ หรือจะเลือกทางที่นำไปสู่การล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ บรรดานักนิเวศวิทยาและนักอนุรักษ์ต่างก็เสนอถึงการเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเตือนว่ามันเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษยชาติ แน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาพูดมานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหากแต่ข้อเสนอของพวกเขานั้นก็แทบไม่ต่างอะไรจากบรรดาหมอจบใหม่ที่ชี้ให้เห็นถึงอาการของโรคได้ แต่ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยถึงที่มาหรือธรรมชาติของรคหรือเสนอวิธีการรักษามันได้

ความเสื่อมถอยของระบบนั้นเป็นสิ่งที่รับรู้ได้จากทุกระดับ ไม่เพียงแต่ในพื้นที่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่กระทั่งในปริมณฑลทางศีลธรรม, วัฒนธรรม, ศิลปะ, ดนตรี และปรัชญาเองก็เช่นกัน การดำรงอยู่ของระบบทุนนิยมที่พยายามฝืนตนเองให้อยู่ต่อไปนั้นต้องแลกมาด้วยความเสื่อมถอยลงของกำลังการผลิต อีกทั้งมันยังบ่อนทำลายวัฒนธรรมของมนุษย์ลงด้วย  รวมทั้งเร่งให้เกิดการพังทลายลงของคุณค่าทางศีลธรรมในทุกระดับของสังคม อันจะเป็นการสร้างผลหายนะให้แก่สังคมมนุษย์ในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น การดำรงอยู่ของระบบทุนนิยมนั้นจะก้าวเข้าไปสู่ความขัดแย้งกับการดำรงอยู่ของระบบประชาธิปไตยและสิทธิในสหภาพแรงงานของชนชั้นแรงงานอีกด้วย

การเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดอาชญากรรมและความรุนแรง, สื่อลามก, ความเห็นแก่ตัวแบบกระฎุมพี และ ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆที่ไม่แตกต่างกันซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้อื่น, ลัทธินิยมความรุนแรง, การสลายตัวของระบบครอบครัวและการล่มสลายลงของศีลธรรมตามธรรมเนียมเดิม, การใช้สารเสพย์ติด และการติดสุรา – บรรดาสิ่งเหล่านี้นั้นเป็นสิ่งยั่วยุมอมเมาที่คอยบ่อนทำลายความโกรธที่มีต่อระบบให้เลือนหายไปซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยพวกปฏิกิริยา – และเป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงอาการของการเสื่อมถอยในยุคปลายของระบบทุนนิยม ในทางเดียวกันนั้นปรากฏการณ์ที่เหมือนกันนี้ก็เกิดขึ้นเช่นกันในช่วงเวลาของการเสื่อมถอยของระบบสังคมทาสในสมัยจักรวรรดิโรมัน

ระบบทุนนิยมซึ่งให้ความสำคัญกับกำไรมาก่อนสิ่งอื่นๆนั้น เป็นระบบที่ปล่อยควันพิษเข้าสู่อากาศที่พวกเราใช้หายใจ ปล่อยสารพิษลงในแหล่งน้ำที่เราใช้ดื่มและในอาหารที่เรากิน เรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่ในวงการอาหารที่พบสารปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ที่เกิดในยุโรปนั้นเป็นเพียงยอดปลายของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้ราเห็นเท่านั้น ถ้าหากเรายินยอมให้บรรดามหาเศรษฐีและนายทุนธนาคารเหล่านี้ได้เป็นผู้คุมกฎต่อไปอีกถึงห้าทศวรรษหรือนานกว่านั้น มันย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการเสื่อมสลายของโลกที่เดินไปถึงจุดวิกฤตที่เราไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้อีกต่อไปแล้ว และนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายอนาคตการดำรงอยู่ของมนุษยชาติทั้งมวล ดังนั้นแล้วการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นจึงเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่หรือยอมแพ้แล้วตายไปเสีย

 

ความจำเป็นของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการเสนอโฆษณาชวนเชื่อทางเศรษฐกิจที่พยายามจะทำให้เราเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจวางแบบแผนของสังคมนอยมนั้นเป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว และเสนอว่า “ระบบตลาด” นั้นเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ และเป็นระบบที่จะสามารถแก้ไขปัญหาการว่างงาน และนำพาโลกของเราไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและสันติสุขที่แท้จริงได้

หากแต่ในปัจจุบันนี้ อันเนื่องมาจากการพังทลายทางเศรษฐกิจในปี 2008 ความเป็นจริงนั้นเริ่มจะปรากฏขึ้นสู่สังคมโลกว่าระเบียบทางสังคมที่เป็นอยู่นั้นไม่สามารถที่จะยืนยันกระทั่งการสร้างการตอบสนองให้แก่ปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพของมนุษย์ได้ อย่างเช่น – อาชีพการงาน, ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับการดำรงชีพ, ที่พักอาศัย, การศึกษาขั้นพื้นฐาน และบริการทางสาธารณสุข, เงินบำนาญที่เหมาะสม, สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย, อากาศและแหล่งน้ำที่บริสุทธิ์ – ไม่เฉพาะแต่ผู้คนในประเทศโลกที่สามเท่านั้น แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ของโลกแล้วพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยเหล่านี้ได้

ระบบแบบที่เป็นอยู่ย่อมจะเป็นสิ่งที่ถูกโจมตีได้จากใครก็ตามที่ไม่ได้ตาบอดมัวเมาด้วยการให้เหตุผลที่เป็นเท็จ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการปกป้องผลประโยชน์จำนวนมหาศาลให้กับบรรดาชนชั้นนายทุนที่เป็นผู้สร้างวิกฤตในสังคมขึ้นมา

ประเด็นแก่นกลางของแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นั้น – อันเป็นการสื่อสารถึงข้อความของการปฏิวัติเอาไว้ในที่นี้ – คือการเสนออย่างแม่นยำว่าระบบทุนนิยมนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะดำรงอยู่ได้อย่างถาวรตลอดกาล และนี่คือความจริงขั้นพื้นฐานที่สุดที่บรรดาผู้ปกป้องระบบทุนนิยมในยุคของเรานั้นไม่สามารถจะยอมรับมันได้โดยง่าย ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติมาก! มันเป็นเรื่องหลงผิดร่วมกันที่ระบบเศรษฐกิจ-สังคมต่างๆตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้นจะเสนอคำพูดเช่นนี้เป็นสิ่งสุดท้ายในกระบวนการก้าวหน้าทางสังคม และกระทั่งจากจุดยืนของความคิดแบบสามัญเราก็สามารถจะมองเห็นได้ว่าคำกล่าวเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ถ้าหากว่าเรายอมรับได้ว่าธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้ แล้วทำไมสังคมถึงจะไม่สามรถเปลี่ยนแปลงไปได้กัน?

ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้ได้แสดงให้เห็นว่าระบบทุนนิยมนั้นได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดของมันในการทำภารกิจการสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคมแล้ว บรรดาผู้มีปัญญาทั้งหลายนั้นย่อมตระหนักได้ว่าการปลดปล่อยกำลังการผลิตให้พัฒนาอย่างเป็นอิสระนั้นจำเป็นต้องมีการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันของระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศผ่านระบบการวางแผนร่วมกันซึ่งจะเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการหยิบใช้ทรัพยากรธรรมชาติของโลกเราอย่างสมดุลเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนทั้งโลกอย่างแท้จริง

ข้อเสนอนี้ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อมันถูกยืนยันโดยบรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับความคิดแบบสังคมนิยมเลยสักนิด หากแต่พวกเขานั้นมีความไม่พอใจต่อเงื่อนไขอันเลวร้ายที่มนุษย์จำนวนสองในสามของประชากรโลกนั้นต้องดำรงชีวิตอย่างยากลำบากอันเนื่องมาจากผลของความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งที่ข้อเสนอของพวกเขานั้นไม่มีใครรับฟัง เมื่อข้อเสนอของพวกเขานั้นต้องเผชิญหน้าท้าทายกับผลประโยชน์มหาศาลของบริษัทหรือทุนขนาดใหญ่ที่ครอบงำระบบเศรษฐกิจโลกเอาไว้ และเผชิญหน้ากับบรรดานายทุนที่ไม่เคยสนใจใยดีต่อสิ่งอื่นใดนอกเหนือไปจากความโลภและการมองหาผลกำไรให้แก่ตนเองเท่านั้น

ความเหนือกว่าของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนที่เหนือกว่าระบบเศรษฐกิจที่ไร้ระเบียบแบบทุนนิยมนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้กระทั่งโดยบรรดาพวกกระฎุมพีเอง แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถยอมรับมันได้ก็ตาม ในปี 1940 เมื่อกองทัพของฮิตเลอร์เข้ายึดครองฝรั่งเศส และอังกฤษถอยกลับเข้าไปตั้งหลักในเกาะบริเตนนั้น พวกเขาแก้ไขสถานการณ์อย่างไร? พวกเขาพูดไหมว่า “ให้ระบบตลาดเป็นตัวตัดสิน”? ไม่เลย! พวกเขาหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ แปรรูปอุตสาหกรรมหลักทั้งหมดเข้ามาเป็นของรัฐและบดทอนอำนาจการควบคุมเศรษฐกิจของรัฐบาลลง พวกเขาหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนอย่างมีเหตุมีผลแทน คำถามคือทำไมพวกเขาจึงเลือกที่จะหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนแทนระบบตลาด? คำตอบที่ง่ายและชัดเจนที่สุดก็คือมันเป็นระบบที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

แน่นอน มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีแผนการผลิตอย่างแท้จริงภายใต้ระบบทุนนิยม แม้กระนั้นก็ตามการวางแผนทางเศรษฐกิจของรัฐแบบทุนนิยมที่ถูกเสนอโดยเชอร์ชิลในช่วงเวลาแห่งสงครามนั้นก็ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการต่อต้านฮิตเลอร์ หรือหากจะยกตัวอย่างที่ชัดเจนกว่านั้นก็คือกรณีของสหภาพโซเวียต สงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปนั้นในความเป็นจริงแล้วมันคือความขัดแย้งระหว่างเยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ที่ต้องการยึดครองทรัพยากรทั้งหมดในยุโรปและสหภาพโซเวียต

และก็เป็นสหภาพโซเวียตนี่เองที่เอาชนะกองทัพของฮิตเลอร์ได้ เหตุผลขั้นพื้นฐานที่สุดสำหรับชัยชนะอันยิ่งใหญ่นี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้โดยบรรดาผู้สนับสนุนระบบทุนนิยม หากแต่มันก็เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนในตัวของมันเอง นั่นคือการดำรงอยู่ของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนในระดับชาตินั้นเป็นสิ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตสามารถสร้างความได้เปรียบอย่างมากในสงคราม แม้ว่าในช่วงนั้นสหภาพโซเวียตจะอยู่ภายใต้การปกครองของสตาลินที่เป็นพวกปฏิกิริยา ซึ่งดำเนินนโยบายผิดพลาดจนสหภาพโซเวียตเกือบจะล่มสลายในช่วงต้นของสงคราม หากแต่ในช่วงเวลาไม่นานนักสหภาพโซเวียตก็สามารถรื้อฟื้นตัวเองได้และเพิ่มขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมทหารเพื่อตอบโต้กลับในช่วงหลัง

อุตสาหกรรมของรัสเซียในยุคนั้นแทบจะเทียบกับยุโรปทั้งทวีปได้ ด้วยโรงงานกว่า 1,500 แห่งและคนงานนับล้านคน – ซึ่งพวกเขาขนส่งผลผลิตเหล่านี้ผ่านทางรถไฟข้ามไปเทือกเขายูราลไปจรดชายแดนเยอรมนี ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนนั้นสหภาพโซเวียตก็สามารถผลิตรถถัง ปืน และเครื่องบินรบในจำนวนที่มากกว่ากองทัพเยอรมนีได้ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพอันมหาศาลของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน กระทั่งในช่วงที่มันอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบข้าราชการสตาลิน

สหภาพโซเวียตนั้นสูญเสียชีวิตพลเมืองไปกว่า 27 ล้านคนในสงครามโลกครั้งที่สอง – ซึ่งเป็นจำนวนราวครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตในสงครามทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมถอยอย่างร้ายแรงในอุตสาหกรรมและการเกษตรกรรมของรัสเซีย หากแต่ในช่วงเวลาเพียงสิบปีสหภาพโซเวียตก็สามารถรื้อฟื้นการผลิตทั้งหมดขึ้นมาใหม่ได้ และกระทำได้โดยปราศจากการพึ่งเงินตราจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศแบบที่กระทำกันในยุโรปตะวันตก ซึ่งนี่นับได้ว่าเป็นปาฏิหารย์ทางเศรษฐกิจหลังสงครามอย่างแท้จริง

แน่นอนว่า ระบบสังคมนิยมนั้นจะต้องวางรากฐานอยู่บนความเป็นประชาธิปไตย – ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยทางการแบบปลอมๆเหมือนในอังกฤษและในสหรัฐอเมริกา ที่ใครๆก็สามารถพูดได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร หากแต่ว่าบรรดานายทุนธนาคารและอภิมหาเศรษฐีนั้นจะเป็นผู้กำหนดว่าพวกเขาควรได้อะไร – แต่ระบบสังคมนิยมนั้นจะวางรากฐานอยู่บนแก่นแท้ของประชาธิปไตยที่มีการควบคุมและบริหารจัดการสังคมทั้งมวลโดยชนชั้นแรงงาน

ความคิดแบบดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน มันเป็นความคิดที่วางรากฐานอยู่บนสิ่งที่ดำรงอยู่แล้ว ขอให้เราลองยกตัวอย่างสักหนึ่งกรณี ซึ่งตัวอย่างนี้นับว่าเป็นเรื่องประหลาดใจแก่ตัวผู้เขียนอย่างมากว่า ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างเทสโก้นั้นสามารถคำนวณจำนวนน้ำตาล, ขนมปัง และนมที่เป็นที่ต้องการในพื้นที่ต่างๆของกรุงลอนดอนที่มีผู้อยู่อาศัยกว่าหมื่นคนอย่างแม่นยำได้อย่างไร คำตอบก็คือพวกเขากระทำมันโดยการวางแผนที่เป็นวิทยาศาสตร์ และมันไม่เคยผิดพลาดเลยสักครั้ง ถ้าหากว่าระบบการวางแผนนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำงานได้ในระดับของห้างร้านแบบเทสโก้ แล้วเหตุใดมันถึงจะไม่สามารถใช้ระบบการวางแผนแบบเดียวกันนี้กับสังคมทั้งหมดได้กันล่ะ?

 

สังคมนิยม และ สากลนิยม

ใครก็ตามที่อ่านแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นั้นย่อมจะมองเห็นได้ว่ามาร์กซ์และเองเกลส์ ได้คาดการณ์เรื่องเหล่านี้เอาไว้แล้วตั้งแต่เมื่อ 150 กว่าปีก่อน พวกเขาได้อธิบายว่าระบบทุนนิยมนั้นจะต้องพัฒนาขึ้นไปในระดับโลก ในวันนี้ ข้อวิเคราะห์นี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงโดยสภาพการณ์ที่เราเผชิญอยู่ ในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ไม่มีใครที่สามารถจะปฏิเสธการครอบงำของระบบตลาดโลกได้ อันที่จริงแล้วนี่ถือเป็นปรากฏการณ์ขั้นเด็ดขาดในช่วงเวลาที่เราอาศัยอยู่ด้วยซ้ำไป

เป็นความจริงที่ว่าในห้วงเวลาที่แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ได้ถูกเขียนขึ้นนี้ ในทางปฏิบัติแล้วมันแทบไม่มีข้อมูลในเชิงประจักษ์ใดๆเลยที่จะสนับสนุนสมมุติฐานของมาร์กซ์และเองเกลส์ ประเทศเดียวที่นับได้ว่ามีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพัฒนาขึ้นนั้นคืออังกฤษ ขณะที่อุตสาหกรรมในฝรั่งเศสและเยอรมนีนั้นเพียงแต่พึ่งกำเนิดขึ้นและยังคงหลนเร้นอยู่ภายในกำแพงภาษีที่ประเทศตนเองตั้งขึ้น  - ซึ่งนี่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกหลงลืมได้อย่างง่ายดายในปัจจุบัน ดังเช่นที่บรรดารัฐบาลตะวันตกและนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายนั้นพยายามเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆในโลกต้องเปิดระบบเศรษฐกิจของตนเอง

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากพากันพูดถึง “โลกาภิวัตน์” ซึ่งวาดภาพฝันเอาไว้ว่ามันจะเป็นยาครอบจักรวาลที่ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาวงจรอุบาทว์ของระบบทุนนิยมไปได้อย่างถาวร หากแต่ภาพฝันดังกล่าวนั้นก็พังทลายลงไม่มีชิ้นดีอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008

ซึ่งนี่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประเทศที่เหลือทั่วโลก มันเป็นการแสดงให้เห็นด้านกลับของ “โลกาภิวัตน์” ในระดับที่ระบบทุนนิยมนั้นพัฒนาจนกลายไปเป็นระบบเศรษฐกิจโลกนั้น ในห้วงเวลาเดียวกันมันก็ได้ตระเตรียมเงื่อนไขสำหรับการเกิดความเสื่อมถอยอย่างรุนแรงในระดับโลกเอาไว้ด้วย วิกฤตที่เกิดขึ้นในส่วนใดๆก็ตามของระบบเศรษฐกิจโลกนั้นย่อมจะส่งผลกระทบถึงที่อื่นๆในทันที โลกาภิวัตน์นั้นจึงห่างไกลจากการเป็นตัวแก้ไขวงจรอุบาทว์ของระบบทุนนิยมนัก  หากแต่มันกลับกลายเป็นส่วนที่เข้ามาขยายวิกฤตของระบบให้กว้างไกลยิ่งกว่าเดิม

ปัญหาขั้นมูลฐานนั้นก็คือตัวระบบโดยตัวมันเอง ในคำกล่าวของมาร์กซ์นั้นเขากล่าวไว้ว่า “กำแพงที่แท้จริงที่ขวางกั้นการผลิตแบบทุนนิยมนั้นก็คือตัวทุนโดยตัวมันเอง” (Capital, vol. 3, Part III) บรรดานักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งโต้แย้งว่ามาร์กซ์นั้นผิดและวิกฤตของระบบทุนนิยมนั้นเป็นเพียงเรื่องเก่าในอดีต (the “new economic paradigm”) นั้นต่างก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพวกเขาเองที่ผิด สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เราเผชิญอยู่นี้เต็มไปด้วยลักษณะของวงจรทางเศรษฐกิจที่มาร์กซ์ได้อธิบายเอาไว้เมื่อนานมาแล้วทั้งสิ้น กระบวนการของการเข้มข้นขึ้นของทุนนั้นได้ดำเนินไปถึงจุดที่โอนเอนอย่างยิ่ง ซึ่งมันไม่ได้นำไปสู่การพัฒนากำลังการผลิตอย่างเช่นที่มันเคยเป็นมาในอดีต  แต่ในทางตรงกันข้าม โรงงานต่างๆนั้นถูกปิดตัวลงและผู้คนนับพันคนกลับถูกไล่ออกจากงาน

ทฤษฎีทางเศรษฐกิจว่าด้วยการเงินนิยม (The economic theories of monetarism) – ที่เป็นเสมือนคัมภีร์ไบเบิลของลัทธิเสรีนิยมใหม่ – นั้นได้ถูกเขียนสรุปเอาไว้โดย John Kenneth Galbraith ดังนี้ “คนจนนั้นมีเงินมากจนเกินไป และคนรวยนั้นไม่มีเงินมากพอ” อัตราของผลกไรที่ถูกบันทึกนั้นย่อมจะมาพร้อมกับอัตราความเหลื่อมล้ำที่ถูกบันทึกไว้เสมอ The Economist นั้นได้ชี้ให้เห็นว่า “แนวโน้มเดียวที่เป็นจริงมาตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมาคือแนวโน้มของการเข้มข้นขึ้นอย่างมหาศาลของรายได้ของกลุ่มคนระดับสูง”

บรรดาคนกลุ่มน้อยนั้นต่างก็ร่ำรวยอย่างมหาศาล ในขณะที่ส่วนแบ่งของแรงงานในรายได้ประชาชาตินั้นถูกลดลงอย่างต่อเนื่อง และส่วนคนจนที่จนที่สุดในสังคมนั้นก็กำลังจมลงสู่ความยากจนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เฮอร์ริเคนแคทรีนานั้นเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดเผยให้เห็นว่าพลเมืองของสหรัฐอเมริกาจำนวนไม่น้อยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ต่างจากพลเมืองในประเทศโลกที่สามเลยสักนิด

ในสหรัฐอเมริกานั้นแรงงานในปัจจุบันทำการผลิตที่มากขึ้นกว่าช่วงสิบปีที่ผ่านมาถึง 30 เปอร์เซ็นต์ หากแต่ค่าแรงของพวกเขากลับไม่ถูกปรับขึ้นเลย โครงสร้างทางสังคมนั้นกำลังปรับตัวแข็งขึ้น มันกำลังเกิดสภาวะตึงเครียดขึ้นอย่างมากในสังคมกระทั่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศร่ำรวยในโลก ซึ่งนี่เป็นการตระเตรียมเงื่อนไขสำหรับการระเบิดออกอย่างรุนแรงของการต่อสู้ทางชนชั้น

และนี่ไม่ใช่เพียงเรื่องที่เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ในทุกประเทศทั่วโลกต่างก็เผชิญกับปัญหาของการว่างงานสูง การปฏิรูปและการขายสัมปทานกลายเป็นสิ่งที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง เพื่อที่จะสามารถแข่งขันในระบบตลาดโลกได้ อิตาลีนั้นจำเป็นต้องปลดพนักงานออกกว่า 500,000 คน และแรงงานที่เหลือนั้นก็ต้องยอมรับการถูกปรับลดค่าแรงลง 30 เปอร์เซ็นต์เพื่อที่จะได้ทำงานต่อ

ในห้วงเวลาหนึ่งนั้น ระบบทุนนิยมประสบความสำเร็จในการเอาชนะความขัดแย้งนี้โดยการขยายการค้าโลก (โลกาภิวัฒน์) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โลกทั้งใบนั้นถูกลากเข้ามาสู่ระบบตลาดโลก ชนชั้นนายทุนนั้นค้นพบตลาดใหม่และหนทางในการลงทุนในจีนและประเทศอื่นๆ หากแต่ว่าตอนนี้มันก็เดินทางมาถึงขีดจำกัดของมันแล้ว

ชนชั้นนายทุนชาวยุโรปและอเมริกันไม่มีความกระตือรือร้นในการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์อีกต่อไป เมื่อสินค้าราคาถูกจำนวนมหาศาลของจีนถูกผลักดันเข้าสู่ระบบตลาด ในสภาเซเนทของสหรัฐอเมริกานั้นเริ่มมีการเสนอให้ใช้มาตรการป้องกันทางการค้ามากขึ้น

ความไม่มั่นคงของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้กำลังไหลออกไปนอกกระแส การเจริญเติบโตของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากแรงงานค่าแรงต่ำที่อาศัยกำลังซื้อเทียมจากระบบเครดิตที่ก่อให้เกิดการสร้างหนี้สิน บรรดากลไกเหล่านี้ย่อมจะเปลี่ยนกลับไปสู่การเป็นด้านตรงข้าม วิกฤตครั้งใหม่นั้นกำลังเตรียมตัวที่จะปรากฏกายขึ้นในระดับโลก ดังนั้นแล้วโลกาภิวัฒน์จึงเป็นสิ่งที่เปิดเผยตนเองแล้วว่ามันคือวิกฤตในระดับโลกของระบบทุนนิยม

 

มันไม่มีทางเลือกอื่นแล้วหรือ?

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ชนชั้นกระฎุมพีนั้นมีความคิดที่คับแคบ พวกเขายังคงยึดมั่นอยู่กับความคิดล้าสมัยของระบบทุนนิยมอย่างแข็งขันกระทั่งในห้วงเวลาที่พวกเขาจำเป็นต้องยอมรับว่าระบบทุนนิยมนั้นกำลังพังทลายและจะต้องล่มสลายลง การจินตนาการว่ามนุษยชาตินั้นไม่สามารถตะคิดหาทางเลือกอื่นใดสำหรับแทนที่ระบบทุนนิยมที่กำลังจะพังทลายลงนั้นถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นมนุษยชาติอย่างยิ่ง

มันเป็นความจริงอย่างถึงที่สุดจริงๆหรือว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วนอกจากระบบทุนนิยม? คำตอบคือไม่ มันไม่เป็นความจริงเลยสักนิด ทางเลือกของเรานั้นมีอยู่มันคือระบบที่วางรากฐานอยู่บนการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนจำนวนมากไม่ใช่การผลิตเพื่อสร้างกำไรให้กับคนกลุ่มน้อย มันจะเป็นระบบที่เข้ามาแทนที่สภาวะความวุ่นวายและความไร้ระเบียบด้วยการวางแผนที่ประสานผลประโยชน์กัน ซึ่งจะเป็นการเข้าแทนที่กฎของบรรดาปรสิตที่ร่ำรวยส่วนน้อยด้วยกฎของคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ทำการผลิตความมั่งคั่งทั้งหมดให้แก่สังคม ซึ่งชื่อเรียกของทางเลือกที่ว่านี้ก็คือระบบสังคมนิยม

เราอาจจะเล่นสำบัดสำนวนกับคำต่างๆได้ หากแต่ชื่อของระบบใหม่นี้จะต้องเป็นระบบสังคมนิยม – ที่ไม่ใช่ระบบรัฐข้าราชการและระบบอำนาจนิยมแบบที่มันเคยปรากฏอยู่ภายใต้ยุคของสตาลินในรัสเซีย หากแต่จะต้องเป็นระบบที่ยึดแก่นแท้ของประชาธิปไตยที่วางรากฐานอยู่บนความเป็นเจ้าของ การควบคุม และการจัดการกำลังการผลิตทั้งมวลโดยชนชั้นแรงงาน ความคิดเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากต่อความเข้าใจหรือไม่? มันเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินไปหรือไม่ที่จะเสนอว่ามนุษยชาตินั้นสามารถที่จะถือครองและกำหนดโชคชะตาของตนเองและขับเคลื่อนสังคมไปบนพื้นฐานของการวางแผนการผลิตที่เป็นประชาธิปไตย?

ความจำเป็นของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นโดยมาร์กซ์หรือนักคิดคนใด หากแต่มันเป็นสิ่งที่กำเนิดมาจาก ความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในเชิงวัตถุวิสัย ความเป็นไปได้ของโลกสังคมนิยมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดมาจากเงื่อนไขในปัจจุบันของระบบทุนนิยมโดยตัวมันเอง และทุกสิ่งที่จำเป็นนั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชนชั้นแรงงาน ที่จะเข้ายึดกุมการขับเคลื่อนสังคม เวนคืนเอาทรัพย์สินจากธนาคารและบรรดาอภิมหาเศรษฐี และผลักดันกำลังผลิตทั้งหลายที่ไม่ถูกใช้เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆของสังคม

มาร์กซ์นั้นเขียนไว้ว่า “ไม่มีระเบียบทางสังคมใดๆที่จะถูกทำลายลงก่อนที่พลังการผลิตทั้งมวลที่จำเป็นนั้นจะถูกพัฒนาจนพร้อม” (Karl Marx, Preface to A Contribution to the Critique of Political Economy) เงื่อนไขเชิงวัตถุสำหรับการสร้างสังคมใหม่ของมนุษย์ชาติในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิมนั้นได้ถูกสถาปนาขึ้นแล้วโดยพัฒนาการของระบบทุนนิยม ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมาพัฒนาการของอุตสาหกรรม, การเกษตรกรรม, วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นั้นได้ก้าวกระโดดไปไกลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์

“ชนชั้นกระฎุมพีนั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการปฏิวัติเครื่องมือในการผลิตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งดังนั้นแล้วย่อมจะเกิดให้เกิดการปฏิวัติความสัมพันธ์ทางการผลิตอย่างคงที่ด้วย และด้วยเหตุนั้นมันย่อมจะเป็นการปฏิวัติความสัมพันธ์ทั้งมวลของสังคม การอนุรักษ์วิถีการผลิตแบบเก่าไว้ในรู)แบบที่ไม่เปลี่ยนแปลงนั้น ในทางตรงข้ามแล้วมันจะกลายเป็นเงื่อนไขแรกของการดำรงอยู่ของชนชั้นอุตสาหกรรมยุคแรกทั้งหมด การปฏิวัติการผลิตอย่างสม่ำเสมอ ความวุ่นวายของเงื่อนไขทางสังคมทั้งหมด ความไม่มั่นคงและความยุ่งยากที่เป็นนิรันดรนั้นคือสิ่งที่แยกเอายุคสมัยของกระฎุมพีออกจากช่วงเวลาอื่นๆก่อนหน้า” (Marx and Engels, Manifesto of the Communist Party, Chapter I. Bourgeois and Proletarians.)

ข้อเขียนของมาร์กซ์นี้เป็นจริงและเหมาะสมกับยุคสมัยของเราเป็นอย่างยิ่ง! กระบวนการแก้ปัญหาต่อปัญหาที่เราเผชิญหน้าอยู่นี้ได้ดำรงอยู่แล้ว ในช่วง 200 ปีหลังที่ผ่านมานี้ระบบทุนนิยมได้สร้างกำลังการผลิตขนาดมโหฬารเอาไว้ หากแต่มันยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มศักยภาพของมัน วิกฤตในปัจจุบันที่เราพบนั้นเป็นเพียงการประกาศข้อเท็จจริงที่ว่าอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้นได้เติบโตขึ้นจนถึงจุดที่มันไม่สามารถจะอยู่ภายใต้พื้นที่อันคับแคบของระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและระบบรัฐชาติได้อีกต่อไปแล้ว

พัฒนาการของกำลังการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นการก้าวกระโดดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ เช่น การเกิดขึ้นของพลังงานนิวเคลียร์, ไมโครอิเล็กทรอนิกส์, ระบบโทรคมนาคม, คอมพิวเตอร์, เครื่องจักรอุตสาหกรรม ... สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราการสร้างสรรค์นั้นได้เดินทางไปถึงระดับที่สูงกว่าที่เราอาจจินตนาการได้ในห้วงเวลาของมาร์กซ์ ซึ่งมันได้มอบความคิดที่ชัดเจนให้แก่เราสามารถจินตนาการได้ว่ามันจะเกิดสิ่งใดขึ้นบ้างที่สามารถเป็นไปได้ในอนาคตภายใต้ระบบสังคมนิยม ที่วางรากฐานอยู่บนระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนแบบสังคมนิยม เหนือระบบเศรษฐกิจโลก วิกฤตที่เราพบในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงการประกาศต่อต้านของกำลังการผลิตที่มีต่อขีดจำกัดอันคับแคบของระบบทุนนิยม เมื่ออุตสาหกรรม, การเกษตรกรรม, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นได้รับการปลดปล่อยจากขีดจำกัดของระบบทุนนิยม เมื่อนั้นกำลังการผลิตย่อมจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการทั้งมวลของมนุษยชาติได้ในทันทีอย่างไม่ยากเย็นนัก และเมื่อนั้นเองมันจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มนุษยชาตินั้นจะเป็นอิสระอย่างแท้จริงในการเข้าถึงศักยภาพขั้นสูงสุดของตนเอง การลดชั่วโมงการทำงานนั้นจะก่อให้เกิดเงื่อนไขทางวัตถุสำหรับแก่นแท้ของการปฏิวัติอารยธรรมมนุษย์ วัฒนธรรม, ศิลปะ, ดนตรี, บทกวีวรรณกรรม และวิทยาศาสตร์นั้นย่อมจะทะยานขึ้นไปสู่ระดับที่สูงเสียยิ่งกว่าที่เราจะสามารถจินตนาการได้.

 

หนทางเดียวที่มี

เมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน Francis Fukuyama นั้นได้ประกาศถึงจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ หากแต่ว่าประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้สิ้นสุดลง อันที่จริง ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของเผ่าพันธุ์เรานั้นจะเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังก็ต่อเมื่อเราได้มอบจุดขบให้แก่สังคมชนชั้นที่กดคนลงเป็นทาส และสถาปนาการควบคุมเหนือชีวิตและโชคชะตาของเราแล้วเท่านั้น และนี่คือสิ่งที่ระบบสังคมนิยมเป็นอย่างแท้จริง นั่นคือระบบที่จะพามนุษยชาติก้าวกระโดดจากปริมณฑลแห่งความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไปสู่ปริมณฑลแห่งเสรีภาพ

ในทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 นั้นมนุษยชาติกำลังยืนอยู่บนทางแยกสองทาง ในทางหนึ่งนั้นคือความสำเร็จอย่างสูงสุดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้ตระเตรียมเครื่องมือสำหรับการแก้ปัญหาทั้งหมดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาให้แก่เรา ที่ทำให้เราสามารถรักษาโรคภัยทั้งหลายได้ ทำลายปัญหาการไม่รู้หนังสือและคนไร้บ้านลง และทำให้เกิดความผาสุก

และในอีกทางหนึ่งนั้น ความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันดูเหมือนจะกำลังล้อเลียนภาพฝันที่เรากล่าวไว้ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้นถูกใช้ไปเพื่อสร้างอาวุธทำลายล้างแรงสูง และในทุกหนทุกแห่งนั้นกลับเต็มไปด้วยความยากจน ความอดอยาก ความไม่รู้หนังสือ และโรคภัยไข้เจ็บ ผู้คนนับล้านทั่วโลกกำลังตกอยู่ภายใต้ความทุกข์ทรมาน ขณะที่บรรดาคนร่ำรวยนั้นกลับยิ่งร่ำรวยยิ่งขึ้นจากความทุกข์ทรมานนี้ เราสามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปดวงจันทร์ได้ หากแต่ในทุกๆปีกลับต้องมีคนกว่าแปดล้านคนตายเพียงเพราะเขาไม่มีเงินมากพอที่จะใช้ดำรงชีพ มีเด็กๆกว่า 100 ล้านคนเกิดขึ้น มีชีวิตอยู่และตายลงบนถนน และพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการมีหลังคาบ้านไว้คุ้มหัวนั้นเป็นอย่างไร

ลักษณะที่ชัดเจนที่สุดของสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นคือความวุ่นวายและความระส่ำระสายที่เข้าควบคุมโลกทั้งใบเอาไว้ มันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในทุกระดับตั้งแต่ เศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง, การทูต และการทหาร

คนจำนวนมากนั้นพยายามหนีห่างจากความป่าเถื่อนเหล่านี้เนื่องจากมันเป็นเรื่องน่ารังเกียจ มันดูเสมือนว่าโบกทั้งใบนั้นกำลังเดินหน้าไปสู่ความบ้าคลั่ง อย่างไรก็ตามการยอมรับมันนั้นก็เป็นเพียงสิ่งไร้ประโยชน์ มาร์กซิสม์นั้นสอนเราว่าประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ไร้ความหมาย สถานการณ์ในปัจจุบันนั้นไม่ใช่การแสดงออกถึงความบ้าคลั่งหรือความชั่วร้ายโดยธรรมชาติของมนุษย์ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่อย่างสปิโนซานั้นเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่ว่าจะหัวเราหรือร้องไก้ จงเข้าใจมัน!” มันฟังดูเป็นคำที่ช่วยแนะนำอย่างมาก สำหรับเมื่อเรานั้นไม่สามารถจะเข้าใจโลกที่เราอาศัยอยู่แล้ว เราก็ย่อมไม่สามารถจะเปลี่ยนมันได้เช่นกัน

ในช่วงเวลาที่มาร์กซ์และเองเกลส์เขียนแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นั้นพวกเขาทั้งสองยังเป็นแค่คนหนุ่มที่มีอายุ 29 และ 27 ปีตามลำดับเท่านั้น พวกเขาเขียนมันในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่เต็มไปด้วยการโต้กลับของพวกปฏิกิริยา และชนชั้นแรงงานนั้นก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ตัวแถลงการณ์นี้ถูกเขียนขึ้นในบรัซเซล อันเป็นสถานที่ที่ผู้เขียนนั้นถูกบังคับให้ลี้ภัยในฐานะของผู้ลี้ภัยทางการเมือง และในห้วงเวลาที่แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นี้ได้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1848 การปฏิวัติก็ได้ระเบิดขึ้นบนท้องถนนในปารีส และในช่วงเวลาไม่กี่เดือนตามมานั้นมันก็ได้แพร่ขยายไฟแห่งการปฏิวัติไปทั่วทั้งยุโรป

ภายหลังการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต บรรดาผู้สนับสนุนระบอบเก่านั้นต่างก็พากันแสดงความยินดี พวกเขาประกาศถึงจุดสิ้นสุดของระบบสังคมนิยม และกระทั่งประกาศถึงจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ พวกเขาต่างให้สัญญาถึงยุคสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและประชาธิปไตย อันเป็นผลพวงจากปาฏิหาริย์ของระบบตลาดเสรี แต่ในตอนนี้เพียงแค่สิบห้าปีให้หลังนั้นบรรดาความฝันพวกนั้นกลับกลายเป็นเพียงควันที่ลอยหายไปในอากาศ

สิ่งที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้หมายความว่าอะไร? มันหมายความว่าพวกเรากำลังร่วมเป็นสักขีพยานในการตายอันเจ็บปวดทรมานของระบบสังคมที่ไม่สมควรจะดำรงอยู่ หากแต่ตัวมันนั้นปฏิเสธที่จะตาย และนี่คือคำอธิบายที่แท้จริงของสงคราม, การก่อการร้าย, ความรุนแรงและความตายที่เป็นองค์ประกอบหลักของช่วงสมัยที่เราอาศัยอยู่

แต่ในขณะเดียวกันนั้นเราก็กำลังจะเป็นสักขีพยานในการถือกำเนิดขึ้นของระบบสังคมใหม่ – สังคมที่ใหม่และเป็นธรรม อันเป็นโลกที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพของมนุษย์ทุกคน โดยปราศจากเหตุการณ์นองเลือด พลังใหม่นี้กำลังจะถือกำเนิดขึ้นจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง – นั่นคือกำลังของการปฏิวัติของแรงงาน, ชาวนา และคนรุ่นใหม่ ประธานาธิบดีชาเวซนั้นเคยกล่าวเตือนไว้ที่การประชุมสหประชาชาติว่า “โลกทั้งใบนั้นได้ตื่นขึ้นแล้ว และผู้คนทั้งหลายจะลุกยืนขึ้น”

ข้อความดังกล่าวนั้นเป็นจริงอย่างที่สุด ผู้คนนับล้านกำลังเริ่มต้นที่จะโต้กลับ การเดินขบวนขนาดใหญ่เพื่อต่อต้านสงครามในอิรักนั้นนำพาผู้คนนับล้านออกสู่ท้องถนน และนี่คือตัวชี้วัดถึงการเริ่มต้นของการตื่นขึ้น หากแต่การเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังขาดทิศทางที่ชัดเจนในการจะเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุด

บรรดาผู้ที่ดูถูกถากถางและหัวเราะเยาะเย้ยนั้นผ่านเวลาของตนเองมาแล้ว นี่เป็นเวลาที่เราจะขับไล่พวกเขาออกไปให้พ้นทางของเราและนำการต่อสู้ไปข้างหน้า คนในช่วงอายุใหม่นั้นกำลังต้องการที่จะต่อสู้เพื่อการปลดแอกตนเองอย่างแข็งขัน พวกเขากำลังมองหาร่มธง มองหาความคิดและวิถีทางที่สามารถปลุกเร้าพวกเขา และนำพวกเขาไปสู่ชัยชนะ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมีแต่เพียงการต่อสู้เพื่อระบบสังคมนิยมในระดับโลกเท่านั้นที่เป็นไปได้ คำกล่าวของคาร์ล มาร์กซ์นั้นถูกต้องอย่างยิ่ง “จงเลือกทางเลือกว่าจะให้มนุษยชาติเดินไปในทิศทางไหนระหว่างสังคมนิยมกับความป่าเถื่อน”

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่[Young People Today are uniquely radical because Capi
จักรพล ผลละออ
เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้[When Rioting Works]
จักรพล ผลละออ
 ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Be
จักรพล ผลละออ
Covid-19 และระบบทุนนิยมกำลังนำคนนับล้านไปสู่การอดตายCapitalism threatens mass starvationBy Oliver Bro
จักรพล ผลละออ
ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยมWhy I’m a SocialistBY BARRY EI
จักรพล ผลละออ
มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตรExplaining the coming crisis of capitalism
จักรพล ผลละออ
 สังคมนิยมประชาธิปไตย คือเรื่องที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยDemocratic Socialism Is About Democr
จักรพล ผลละออ
แถลงการณ์องค์กรมาร์กซิสต์สากล เนื่องในวันสตรีสากลสหายทั้งห
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)By John H. Munro.
จักรพล ผลละออ
 25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์(The Principles of Communism)By Frederick Engels.