Skip to main content

 

การปฏิวัติที่คัดง้าง ‘งานว่าด้วยทุน’

The Revolution against ‘capital’

By Antonio Gramsci [1917] Translated by Jakkapon P.

 

การปฏิวัติบอลเชวิค (The Bolshevik revolution) ได้กลายเป็นส่วนแตกหักขั้นสุดท้ายของการปฏิวัติที่แพร่ขยายออกไปอย่างมหาศาลในหมู่ประชาชนชาวรัสเซีย บรรดากลุ่มสุดโต่ง (Maximalists) ในรัสเซียนั้น ได้รับอำนาจที่จำเป็นที่จะยุติการกระทำที่ฉุดรั้งความก้าวหน้า ยุติการขวางกั้นเส้นทางไปสู่อนาคต และยุติการพยายามสถาปนาการลงหลักปักฐานของสังคมกระฎุมพีในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา พวกเขาได้เข้าครอบครองอำนาจ ได้ลงมือสถาปนาระบอบเผด็จการของตนเองขึ้นมาและพวกเขาได้พัฒนารูปแบบของระบบสังคมนิยมขึ้นที่หมายความว่าสภาวะการปฏิวัตินั้นจะถูกคลี่คลายลงในที่สุดเพื่อที่จะทำให้สิ่งต่างๆสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างสงบสุข โดยปราศจากความขัดแย้งครั้งใหญ่จำนวนมาก ด้วยรากฐานต่างๆนี้เองที่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจะสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดของตัวมันเองได้

การปฏิวัติบอลเชวิคนั้นเป็นการปฏิวัติที่วางรากฐานอยู่บนเรื่องของอุดมการณ์มากกว่าเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นจริง (ด้วยเหตุนี้เอง ในตอนสิ้นสุดของวัน เราจึงไม่ต้องการจะรับรู้สิ่งใดอื่นใดที่มากไปกว่าสิ่งที่เรารับรู้อยู่แล้ว) มันจึงเป็นการปฏิวัติที่คัดง้างกับงานเขียน ว่าด้วยทุน ของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx’s Capital) ในรัสเซียนั้นงานว่าด้วยทุนของมาร์กซ์ถูกนับว่าเป็นหนังสือของชนชั้นกระฎุมพีมากกว่าจะเป็นหนังสือของชนชั้นกรรมาชีพ มันกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า ในรัสเซียนั้นมันจำเป็นจะต้องมีชนชั้นกระฎุมพี มันจำเป็นจะต้องมียุคสมัยของระบบทุนนิยม มันจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาตามประเทศก้าวหน้าในตะวันตก ก่อนที่ชนชั้นกรรมาชีพนั้นจะคิดถึงเรื่องของการกลับเข้ามาสู่อำนาจ  ก่อนที่ชนชั้นกรรมาชีพจะคิดถึงเรื่องความต้องการทางชนชั้น หรือกระทั่งเรื่องการปฏิวัติ สภาวการณ์นั้นกลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนืออุดมการณ์ สภาวการณ์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ระเบิดออกมาและความคิดเชิงวิพากษ์ทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นในรัสเซียนั้นควรจะต้องถูกพัฒนาต่อตามกฎของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (law of historical materialism) พรรคบอลเชวิคนั้นได้ประกาศละทิ้งแนวทางของคาร์ล มาร์กซ์ และพวกเขาก็ยืนยันถึงเรื่องนี้ผ่านการกระทำอันชัดเจนของพวกเขา ผ่านความสำเร็จของพวกเขา ที่ทำให้เห็นว่ากฎของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่สิ่งที่แข็งทื่อเหมือนก้อนหินอย่างใครคิด หรืออย่างที่ใครบางคนอาจจะเคยคิดมาก่อนหน้า

แน่นอนว่ามันมีปรากฏการณ์จำนวนหนึ่งอันเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ในปรากฏการณ์นี้ และถ้าหากว่าพรรคบอลเชวิคนั้นปฏิเสธสิ่งที่ถูกนำเสนอเอาไว้ในงานว่าด้วยทุนลงทั้งหมดพวกเขาย่อมจะไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่พวกเขาทำจึงไม่ใช่การปฏิเสธงานว่าด้วยทุนลงทั้งหมด หากแต่ทำให้มันมีชีวิตชีวาขึ้นต่างหาก พวกเขานั้นไม่ใช่ ‘นักมาร์กซิสต์’ และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงไม่หยิบใช้งานของมาร์กซ์มาตีความอย่างผิวเผิน หรือนำมมาใช้ในฐานะของคำประกาศเผด็จการที่ไม่อาจจะโต้แย้งได้ พรรคบอลเชวิคนั้นอยู่นอกปริมณฑลความคิดแบบมาร์กซิสต์ นอกความต่อเนื่องของความคิดของนักคิดจิตนิยมสายเยอรมันและอิตาเลียน และนั่นทำให้พวกเขาอยู่นอกเหนืออิทธิพลของการแทรกแทรงความคิดของมาร์กซ์โดยพวกปฏิฐานนิยม (Positivism) และพวกธรรมชาตินิยม (Naturalism) ในแง่ของวิธีคิดแบบนี้นั้นปัจจัยกำหนดหลักของประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไร้ชีวิต หากแต่เป็นมนุษย์ สังคมนั้นถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ มนุษย์ที่มีบางสิ่งร่วมกัน ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน  และด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้ร่วมกันพัฒนาเจตจำนงร่วมทางสังคม (collective social will) ขึ้นมา พวกเขามีความเข้าใจต่อแก่นแท้ของระบบเศรษฐกิจ พวกเขาประเมินผลมันและปรับปรุงแก้ไขมันโดยสอดคล้องตรงตามเจตจำนงของพวกเขา จนกระทั่งมันได้กลายไปเป็นกำลังขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจ ที่เป็นสิ่งซึ่งให้กำเนิดรูปธรรมที่เป็นจริงและมีชีวิตและเคลื่อนไหว

มาร์กซ์นั้นคาดการณ์ถึงสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ แน่นอนว่าเขานั้นไม่อาจจะทำนายถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ (the European war) หรือยิ่งกว่านั้น เขาย่อมไม่อาจจะทำนายได้ว่าสงครามนี้จะกินระยะเวลายาวนานเท่าไหร่ และมันจะส่งผลกระทบขนาดไหน มาร์กซ์นั้นย่อมไม่อาจจะทำนายได้หรอกว่าสงครามครั้งนี้ที่กินระยะเวลา 3 ปีกว่าอันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานที่บรรยายไม่ได้นั้น จะกลายเป็นสิ่งซึ่งกระตุ้นเจตจำนงร่วมของประชาชนชาวรัสเซียให้ตื่นขึ้นมาใหม่  เจตจำนงอันเป็น สิ่งธรรมดา อย่างง่ายที่เพียงแต่ต้องการช่วงเวลาอันยาวนานสำหรับการพัฒนาเพื่อที่จะทำให้สังคมมั่นคงขึ้น หากแต่มันก็เป็น สิ่งธรรมดา ที่ต้องการประสบการณ์ทางชนชั้นอันยาวนาน มนุษย์นั้นขี้เกียจ และมนุษย์จำเป็นจะต้องจัดการตัวเอง ประการแรกคือเรื่องภายนอก มนุษย์นั้นจำเป็นต้องมีรูปแบบการดำรงอยู่ในรูปแบบของร่างกายตนเองและต้องมีการคบค้าสมาคมกับผู้อื่น หากแต่ในเรื่องภายใน ในเรื่องที่เป็นมิติของความคิด ของเจตจำนง […] มันเป็นสิ่งที่ต้องการความต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและต้องการพื้นที่รองรับการกระทำของร่างกายภายนอก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมันจึงเป็นเรื่อง ธรรมดา กฎของการวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์นั้นเข้ายึดกุมความจริง และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นกระจ่างชัดขึ้น และ โดยทั่วไป แล้วมองว่าประวัติศาสตร์ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยชนชั้นทั้งสองในโลกทุนนิยมนั้นต่างก็สามารถที่จะสร้างประวัติศาสตร์ได้ ชนชั้นกรรมาชีพนั้นได้ลิ้มรสความเจ็บปวด ความสูญเสีย จากสถานการณ์ที่เป็นผลพวงจากสงครามมาอย่างเต็มที่ ชนชั้นกรรมาชีพนั้นยังคงยากจน และยังคงสามารถสร้างแรงกดดันให้แก่ชนชั้นกระฎุมพีที่จะต้องสร้างเงื่อนไขที่ดีกว่าเดิมขึ้นมา การต่อสู้นี้ทำให้ชนชั้นกระฎุมพีพัฒนาเทคนิคทางการผลิตที่ดีกว่าเดิมขึ้นมาได้ ซึ่งนั่นก็ทำให้มันสามารถตอบสนองต่อความต้องการสูงสุดของชนชั้นกรรมาชีพได้ในทันที นี่เป็นหนทางที่ยาวนานและยากลำบากที่จะเดินหน้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งสามารถที่จะช่วยเร่งการพัฒนาการผลิตและเพิ่มการขยายตัวของจำนวนสินค้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะตลอดเส้นทางนั้นมีคนจำนวนมากที่ตกหล่นหายไป และบรรดาผู้เสียสละนั้นก็ได้แต่หวังเพียงว่าคนที่เหลือรอดอยู่จะมีความเร่าร้อนที่มากขึ้น มวลชนจำนวนมหาศาลนั้นอยู่ในสถานการณ์ของความสับสนอลหม่านอย่างถาวร และก็เพราะความสับสนนี้เองที่ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่มีระเบียบในวิธีคิดของตนเองมากขึ้น พวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่ตระหนักถึงอำนาจของตนเองมากขึ้น ตระหนักถึงความสามารถของตนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบทางสังคม และกลายเป็นผู้ที่จะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติ เมื่อเหตุการณ์ต่างๆนั้นดำเนินไปภายใต้ระเบียบที่แน่นอน เมื่อประวัติศาสตร์เดินทางผ่านสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยการเพิ่มขึ้นของความหมายและความสำคัญ  แน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่คล้ายกันในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตามในรัสเซียนั้น สงครามเพียงแต่เป็นตัวช่วยในการจุดชนวนเจตจำนงของประชาชนขึ้นมา ภายหลังต้องอาศัยอยู่อย่างทุกข์ทนจากผลของสงครามกว่าสามปี พวกเขาพบความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางชนชั้นได้อย่างรวดเร็ว สภาวะความอดอยากเป็นสิ่งที่กำลังคืบคลานเข้ามา ความหิวโหย หรือความตายจากการขาดอาหารเป็นสิ่งที่จะถาโถมเข้าใส่ทุกคน และจะทำลายชีวิตของผู้คนนับสิบล้านลงในทันที ดังนั้นเจตจำนงที่แตกต่างกันจึงผันมารวมกัน ในขั้นแรกนั้นมันเป็นการรวมตัวกันเพียงผิวเผิน หากแต่หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นในระดับจิตวิญญาณภายหลังการปฏิวัติ

ความคิดแบบสังคมนิยมเป็นสิ่งที่เปิดทางให้ประชาชนชาวรัสเซียได้เข้าถึงบทเรียนของชนชั้นกรรมาชีพ ความคิดแบบสังคมนิยมเป็นสิ่งที่มอบชีวิตให้กับประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพในทันที มอบชีวิตให้แก่การต่อสู้ของพวกเขาที่มีต่อระบบทุนนิยม อันเป็นเส้นทางอันยาวนานในการต่อสู้แสนเจ็บปวดที่พวกเขาจำเป็นจะต้องผ่านมันไปเพื่อปลดแอกตนเองจากเงื้อมมือของระบอบศักดินาที่ทำให้พวกเขากลายเป็นคนยากจน มันเป็นสิ่งที่เปิดทางให้กับการสถาปนาจิตสำนึกใหม่ขึ้น ความคิดแบบสังคมนิยมได้มอบการกำเนิดให้แก่เจตจำนงทางสังคมของประชาชนชาวรัสเซีย แล้วทำไมพวกเรายังจะต้องรอคอยต่อไปอีกในเมื่อประวัติศาสตร์ของอังกฤษนั้นกำลังซ้ำรอย และทำไมเราต้องรอให้ชนชั้นกระฎุมพีก่อร่างสร้างตัวขึ้นในรัสเซีย การต่อสู้ทางชนชั้นนั้นได้ถูกจุดประกายขึ้นแล้ว จิตสำนึกทางชนชั้นได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว เช่นนี้แล้วการล่มสลายของโลกทุนนิยมจะไม่มาถึงในท้ายที่สุดหรอกหรือ? ประชาชนชาวรัสเซียนั้นได้ข้ามผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไปแล้วในความคิดของพวกเขา และในวิธีคิดของพวกเขาด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนน้อยก็ตาม พวกเขาได้เอาชนะประสบการณ์และบทเรียนเช่นว่านี้ไปแล้ว พวกเขากลายเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการเพื่อที่จะสถาปนาตัวของพวกเขาเองขึ้นมา เช่นเดียวกับที่เจตจำนงของพวกเขาต้องการประสบการณ์ของพวกนายทุนในตะวันตกเพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายของตัวเองในช่วงเวลาสั้นๆ นั่นคือการต้องการเรียนรู้ระบบการผลิตแบบตะวันตก อเมริกาเหนือนั้นในแง่ของทุนนิยมแล้ว นับว่าเป็นประเทศที่ก้าวหน้ากว่าอังกฤษ นั่นก็เพราะว่าในอเมริกาเหนือนั้นชาวแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxonxs) ได้เริ่มต้นจากจุดที่อังกฤษพึ่งจะไปถึงภายหลังการพัฒนาการอย่างยาวนาน ส่วนชนชั้นกรรมาชีพในรัสเซีย ที่ได้รับการศึกษาแบบระบบสังคมนิยม จะเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของตนเองจากระดับขั้นของการผลิตขั้นสูงที่อังกฤษมีอยู่ในวันนี้ ซึ่งจุดเริ่มต้นนี้จะเป็นอะไรบางอย่างที่อาจจะประสบความสำเร็จขึ้นได้ในที่อื่น และจากความสำเร็จนี้มันย่อมจะขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจที่มาร์กซ์มองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะขาดไปได้สำหรับการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน (Collectivism) นักปฏิวัตินั้นจำเป็นจะต้องสร้างเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเติมเต็มอุดมการณ์ของตนเอง อย่างเต็มที่และสมบูรณ์แบบ และพวกเขาย่อมจะต้องทำมันให้สำเร็จโดยใช้เวลาน้อยกว่าที่ระบบทุนนิยมใช้ การคิดเชิงวิพากษ์แบบสังคมนิยมในการวิพากษ์ระบบของชนชั้นกระฎุมพี ซึ่งโจมตีข้อบกพร่องของระบบและการกระจายทรัพย์สินที่ไม่เป็นธรรม นั้นย่อมจะเปิดทางให้นักปฏิวัติสามารถทำสิ่งที่ดีกว่าเดิมได้ ทำให้นักปฏิวัติหลีกเลี่ยงการโจมตีแต่ข้อบกพร่องของระบบ ที่จะทำให้เราไม่ตกอยู่ในกับดักแบบเดิม ในเบื้องแรกนั้นสำนึกร่วมกันอาจจะเกิดขึ้นจากความลำบากยากจนที่มีร่วมกัน หากแต่ในระยะถัดมานั้นเราย่อมจะสามารถชี้นำต่อไปได้ว่าความลำบากทั้งหลายนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากผลพวงของระบอบของชนชั้นกระฎุมพี ระบบทุนนิยมในรัสเซีย ในตอนนี้ นั้นไม่สามารถจะทำสิ่งใดที่มากไปกว่าระบบกรรมสิทธิ์ส่วนรวมสามารถทำได้ อันที่จริงมันอาจจะทำได้น้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ ดังเช่นที่มันจะพบว่าตัวมันเองต้องเผชิญหน้ากับชนชั้นกรรมาชีพที่เต็มไปด้วยความไม่พอใจและต่อต้านมัน อันเนื่องมาจากการที่พวกเขาไม่สามารถทนยอมรับความยากจนและความเจ็บปวดที่ระบบหยิบยื่นมาให้ได้อีกต่อไป ความทุกข์ทรมานทั้งหลายที่จะถูกทิ้งไว้ภายหลังการได้รับสันติภาพนั้นจะเป็นเพียงสิ่งที่ถูกแบกรับไว้โดยชนชั้นกรรมาชีพ ตราบเท่าที่พวกเขายังรู้สึกว่าเจตจำนงของพวกเขานั้นดำรงอยู่ แต่ด้วยการแบกรับนี่เองก็หมายความว่าพวกเขานั้นสามารถที่จะมอบจุดจบให้แก่มันได้ด้วยเช่นกันในห้วงเวลาใดก็ตามที่พวกเขาสามารถกระทำได้.

 

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ : ความหมาย, ลักษณะ และหลักการ(Marxism: Meaning, Features a
จักรพล ผลละออ
 สภาพวิสัยAntonio Gramsci 1917
จักรพล ผลละออ
 สหภาพแรงงาน : อดีต ปัจจุบัน และอนาคตคาร์ล มาร
จักรพล ผลละออ
 หนังสือพิมพ์และชนชั้นแรงงานAntonio Gramsci 1916
จักรพล ผลละออ
 วันแรกแห่งเดือนพฤษภา : สัญลักษณ์แห่งยุคใหม่และการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานNestor Makhno (1928) 
จักรพล ผลละออ
 สุนทรพจน์ในวันกรรมกรสากลครั้งแรก (ฉบับย่อ)
จักรพล ผลละออ
 วันสตรีสากลAlexandra Kollontai (1920)