Skip to main content

ภาพ: Michael Hogue

การที่คนรวยมีอำนาจทางการเมืองมากกว่าคนจนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยที่ทุกคนมีคะแนนโหวตเพียงคนละเสียงเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้  สองนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันคือ มาร์ติน จิเลนส์ (Martin Gilens) จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และเบนจามิน เผจ (Benjamin Page) จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์เทิร์น ได้เสนอข้อค้นพบที่สร้างความคับข้องใจให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งยังมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของระบอบประชาธิปไตยทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

งานวิจัยของทั้งสองคนมีที่มาจากผลงานชิ้นก่อนหน้าของจิเลนส์ที่ได้เก็บรวบรวมผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับนโยบายเกือบ 2,000 นโยบายระหว่างปี 1981 ถึงปี 2002 ด้วยความอุตสาหะ ทั้งคู่ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ว่า รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ได้ปรับใช้นโยบายที่ผ่านการสำรวจความเห็นของประชาชนภายในเวลา 4 ปีหลังออกสำรวจหรือไม่ ทั้งยังติดตามผลลัพธ์ของนโยบายเหล่านั้นว่าสอดคล้องกับความพึงพอใจของผู้ลงคะแนนที่ได้รับส่วนแบ่งจากการกระจายรายได้ในระดับที่แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

เมื่อพิจารณาอย่างแยกส่วน ดูเหมือนว่าความพึงพอใจของผู้ลงคะแนนระดับ “ปานกลาง” หรือผู้ลงคะแนนที่ได้รับส่วนแบ่งจากการกระจายรายได้ในระดับปานกลางจะมีอิทธิพลต่อการตอบสนองขั้นสุดท้ายของรัฐบาลเป็นอย่างมาก แนวนโยบายที่ผู้ลงคะแนนระดับปานกลางมีแนวโน้มจะชื่นชอบมักถูกนำไปปฏิบัติจริงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม จิเลนส์และเผจชี้ว่า ข้อมูลดังกล่าวสร้างภาพจำผิดๆ ให้กับการเป็นตัวแทนของการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะอันที่จริง ความพึงพอใจของผู้ลงคะแนนระดับปานกลางและความพึงพอใจของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่มีต่อชุดนโยบายหนึ่ง ๆ นั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ยกตัวอย่างเช่น ผู้ลงคะแนนจากทั้งสองกลุ่มอาจต้องการเห็นทั้งการป้องกันประเทศที่เข้มแข็งและเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองเหมือนๆ กัน ตัวทดสอบที่ดีกว่าจึงต้องดูว่ารัฐบาลทำอย่างไรเมื่อคนทั้งสองกลุ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันไป

พวกเขาได้เปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้ลงคะแนนระดับปานกลางกับผู้ลงคะแนนที่เป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งพวกเขานิยามว่าเป็นปัจเจกชนที่ได้รับส่วนแบ่งจากการกระจายรายได้สูงสุดร้อยละ 10 ของประเทศ เพื่อหาว่าผู้ลงคะแนนฝ่ายใดมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลมากกว่ากัน ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเทียบกันแล้ว อิทธิพลของผู้ลงคะแนนระดับปานกลางลดลงจนแทบไม่มีนัยสำคัญใดๆ ขณะที่อิทธิพลของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจยังคงมีความสำคัญมากเช่นเดิม

ชัดเจนว่าเมื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำแตกต่างจากคนที่เหลือในสังคม ความเห็นของพวกเขาแทบจะเป็นสิ่งเดียวที่รัฐบาลรับฟัง (ดังที่จิเลนส์กับเผจอธิบายไว้ เราควรมองว่าความพึงพอใจของคนรวยที่สุดร้อยละ 10 นั่นเองที่เป็นตัวแทนของความคิดเห็นของผู้ที่มั่งคั่งร่ำรวยจริงๆ เช่นพวกคนรวยสุดร้อยละ 1 ซึ่งเป็นชนชั้นนำขนานแท้)

นอกจากนี้ จิเลนส์กับเผจยังได้รายงานผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันของกลุ่มผลประโยชน์จัดตั้งซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ ดังที่พวกเขากล่าวว่า เมื่อรัฐบาลพิจารณาถึงความพึงพอใจของชาวอเมริกันผู้มั่งคั่งกับแนวร่วมสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์แล้ว เมื่อนั้น “สิ่งที่สาธารณชนทั่วไปคิดก็แทบไม่มีผลอะไรเลย”

ผลลัพธ์ที่น่าทดท้อใจนี้นำไปสู่คำถามที่สำคัญ นั่นคือ นักการเมืองที่ไม่ได้ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่ได้รับเลือกตั้งได้อย่างไร และที่สำคัญกว่านั้นคือ พวกเขายังได้รับการเลือกตั้งซ้ำๆ ทั้งที่โดยมากแล้วมัวแต่ทำตามข้อเรียกร้องของพวกคนรวยได้อย่างไร

คำอธิบายส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้ลงคะแนนจำนวนใหญ่มีความเข้าใจว่าระบบการเมืองทำงานอย่างไรและตอบสนองผลประโยชน์ให้กับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจอย่างไรน้อยมาก ดังที่จิเลนส์กับเผจเน้นย้ำ หลักฐานของพวกเขาไม่ได้บ่งชี้ว่านโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้พลเมืองระดับปานกลางเสียประโยชน์ ซ้ำพลเมืองทั่วไปยังได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าความพึงพอใจของพวกเขานั้นคล้ายคลึงกับความพึงพอใจของชนชั้นนำนั่นเอง ความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจของคนทั้งสองกลุ่มนี้จึงทำให้ผู้ลงคะแนนยากจะรับรู้ถึงความลำเอียงของนักการเมือง

กระนั้น คำอธิบายอีกส่วนหนึ่งซึ่งร้ายแรงกว่าอาจอยู่ที่ยุทธศาสตร์ที่ผู้นำทางการเมืองใช้เพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง

นักการเมืองที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจต้องพยายามหาทางดึงดูดประชาชนด้วยวิธีการอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การใช้การเมืองเรื่องชาตินิยม การเมืองเรื่องการแบ่งแยก และการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ ซึ่งล้วนเป็นการเมืองที่มีรากฐานอยู่บนคุณค่าทางวัฒนธรรมและระบบสัญลักษณ์มากกว่าผลประโยชน์ในแง่การเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เมื่อนักการเมืองลงทุนกับวิธีการทำนองนี้ ผู้ที่ชนะเลือกตั้งจึงหมายถึงผู้ที่ประสบความสำเร็จในการแสดงให้เห็นถึงลักษณะทางวัฒนธรรมหรือจิตวิทยาที่แฝงอยู่ในตัวเรามากกว่าจะเป็นผู้แทนผลประโยชน์ของตัวเราเอง

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เคยกล่าวไว้ว่า ศาสนาคือ “ฝิ่นสำหรับประชาชน” ความหมายของเขาก็คือ อารมณ์อ่อนไหวทางศาสนาอาจบดบังความขาดแคลนทางวัตถุที่แรงงานหรือผู้ถูกกดขี่ต่างประสบอยู่ในชีวิตประจำวันของตน

ทำนองเดียวกัน ความรุ่งเรืองของสิทธิทางศาสนาและสงครามทางวัฒนธรรมว่าด้วย “คุณค่าของครอบครัว” และประเด็นที่สร้างข้อถกเถียงในวงกว้างอื่นๆ (เช่น การย้ายถิ่น) ทำหน้าที่ปกป้องการเมืองอเมริกันให้มองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ผลลัพธ์ของมันคือการที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถรักษาอำนาจของตนไว้ได้ แม้ว่าแนวนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจจะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเองก็ตาม

การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ส่งผลร้ายเพราะมันมีแนวโน้มจะลากเส้นแบ่งที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มของผู้ที่ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษและเรียกร้องให้กีดกันผู้ที่มีความแตกต่างทั้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา คุณค่า หรือผู้ที่มาจากประเทศอื่นออกไป ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดอยู่ในประเทศประชาธิปไตยที่ไม่เสรีอย่าง รัสเซีย ตุรกี หรือฮังการี ซึ่งผู้นำของแต่ละประเทศดึงดูดประชาชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานเสียงของตนผ่านสัญลักษณ์ของชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

การกระทำดังกล่าวได้โหมไฟอารมณ์ให้กับการต่อต้านชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา ทั้งยังเป็นวิธีที่สร้างผลลัพธ์อันงดงามให้กับการเลือกตั้งในระบอบการเมืองที่เป็นตัวแสดงของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ (และมักทุจริตไปจนถึงหยดสุดท้าย)

ความเหลื่อมล้ำที่ขยายกว้างขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วได้สร้างความเสียหายสองประการให้กับการเมืองแบบประชาธิปไตย เพราะไม่เพียงจะนำไปสู่การลดทอนสิทธิการเลือกตั้งของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างไปเรื่อยๆ เท่านั้น แต่มันยังคอยอุปถัมภ์ค้ำจุนพิษภัยของการเมืองของการแยกเขาแยกเราในหมู่ชนชั้นนำไว้อีกด้วย.

หมายเหตุ:

แปลจาก Dani Rodrik “How the Rich Rule” Project Syndicate. http://www.project-syndicate.org/commentary/dani-rodrik-says-that-widening-inequality-drives-economic-elites-toward-sectarian-politics

ดานี รอดริก (Dani Rodrik) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวตุรกี และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ ประจำสถาบันการศึกษาระดับสูง (Institute for Advanced Study) ปรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา